Advance search

พุเม้ยง์

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ที่พยายามรักษาภูมิปัญญา วัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชนแบบเดิมไว้ ท่ามกลางการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อมชุมชน นับถือลัทธิด้ายเหลือง มีเจ้าวัดถึงสามคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ถือว่ามากที่สุดในแถบจังหวัดอุทัยธานี

หมู่ที่ 8
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
อบต.ทองหลาง โทร. 0-5651-8155
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
11 พ.ย. 2022
11 พ.ย. 2022
สมศักดิ์ แก้วนุช
15 พ.ย. 2023
ภูเหม็น
พุเม้ยง์

คำว่า “ภูเหม็น” ชาวบ้านเล่าว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “พุเม้ยง์” ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลว่าน คนไทยเรียกกันว่า “ว่านเข้าพรรษา” คล้าย ๆ ต้นข่าใบใหญ่มีดอกสีเหลือง บ้างก็สีขาวอมชมพูสวยงามมาก

ในอดีตพื้นที่บริเวณชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น “พุเม้ยง์” เต็มไปด้วยดอกเข้าพรรษาที่มีอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริเวณข้าง ๆ ลำห้วยที่เต็มไปด้วยทุ่งว่านดอกเข้าพรรษาตลอดทั้งลำห้วย เดิมชาวบ้านเรียกลำห้วยนี้ว่า“พุเม้ยง์บ่อง” ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ว่านสุกเหลือง” หรือ “ว่านเข้าพรรษา” ซึ่งคำว่า “พุ” แปลว่า“ว่าน”คำว่า“เม้ยง์”แปลว่า“สุก”ส่วนคำว่า“บ่อง”แปลว่า“เหลือง” ดังนั้น ชื่อของหมู่บ้านจึงถูกเรียกตามชื่อของลำห้วยนั่นเอง แต่ระยะเวลาผ่านไป คำเรียกชื่อหมู่บ้านก็สั้นลง เหลือเพียงคำว่า “พุเม้ยง์” และเนื่องจากชาวกะเหรี่ยงในสมัยก่อนพูดภาษาไทยไม่ชัด และเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของสำเนียงภาษาโผล่ว จึงฟังเป็น “พุเม้น” บ้าง “พุเหม้น” บ้าง สุดท้ายเรียก “ภูเหม็น”

นอกจากนั้น ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นในอดีตถูกรายล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพันธุ์พืชอันหลากหลายนานาชนิดและอุดมสมบูรณ์ อาศัยอยู่ป่าเขาและลำห้วย คำว่า “ภูเหม็น” ในปัจจุบันนั้น จึงคาดว่ามาจากการที่ทางราชการได้สำรวจรายชื่อหมู่บ้าน และเห็นว่าหมู่บ้านนี้อยู่บนภูเขา และชาวบ้านเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “พุเม้ยง์” ทางการอาจจะฟังไม่ถนัด จึงบันทึกชื่อหมู่บ้านเป็น “ภูเหม็น” และกลายเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ที่พยายามรักษาภูมิปัญญา วัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชนแบบเดิมไว้ ท่ามกลางการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อมชุมชน นับถือลัทธิด้ายเหลือง มีเจ้าวัดถึงสามคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ถือว่ามากที่สุดในแถบจังหวัดอุทัยธานี

หมู่ที่ 8
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
61170
15.304416
99.515546
องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง

ในอดีตพื้นที่แถบตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานีเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่กระจายตัวอยู่เป็นกลุ่มตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยชุมชนพุเม้ยง์อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 400 ปีแล้ว (ตามคำบอกเล่าสมาชิกชุมชนที่อ้างอิงจากอายุของต้นไม้ใหญ่และต้นไม้มีอายุต้นอื่นในชุมชนสามารถกำหนดอายุต้นไม้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยปี) 

สมาชิกชุมชนบางส่วนย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านคอกควายและบ้านใหม่คลองเคียน อำเภอบ้านไร่ และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ชุมชนประสบปัญหาความหนาแน่นของประชากรจึงทำให้สมาชิกชุมชนบางส่วนย้ายไปตั้งชุมชนใหม่นอกพื้นที่ (บ้านภูเหม็นโท)

  • ปี 2527 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองระดับท้องถิ่น พื้นที่ชุมชนย้ายจากที่เคยขึ้นกับอำเภอบ้านไร่มาเป็นอำเภอห้วยคต / ช่วงนี้เริ่มมีเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ชาวบ้านแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ทำกิน
  • ปี 2528 มีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน / การเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน มีการตกลงแบ่งที่ดินกันภายในชุมชน
  • ปี 2535 นโยบายสวนป่าไผ่เขียว ตลกดู่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนจำนวน 1000 ไร่ เกิดความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐเนื่องจากปัญหาการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในชุมชน การขยายตัวของสวนป่า ความสับสนเรื่องแนวเขตพื้นที่สวนป่า
  • ปี 2557 พื้นที่ทำไร่และที่อยู่อาศัยบริเวณหมู่บ้านพุเม้ยง์กลางถูกประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคตจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. / ปัญหาการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่วนอุทยาน การห้ามเข้าใช้ประโยชน์ ปัญหาการทำ MOU ยินยอมออกจากพื้นที่โดยที่ชุมชนไม่เข้าใจเนื้อหาในสัญญาเซ็นยินยอม
  • ปี 2563 ชุมชนพุเม้ยง์ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษโดยมีการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ปี 2564 วนอุทยานห้วยคตกำหนดแนวเขตพื้นที่ใหม่ ยกเลิกแนวเขตที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน (พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษหรือพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม)

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านละว้า หมู่ 3 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านคลองหวาย หมู่ 7 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองจอก หมู่ 7 ตำบลสุขฤทัย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านคลองแห้ง หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

สภาพพื้นที่กายภาพ

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูงและภูเขา ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน จำนวน 2 สาย คือลำห้วยอีเอ็น/ลำห้วยคลองแห้ง

ป่าชุมชน มี 3 แห่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแผ้วถางทำเกษตรกรรมหรือก่อสร้างที่พักที่อยู่อาศัยใด ๆ ยังพอมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอยู่บ้าง ส่วนพื้นที่ที่มีการบุกเบิกแบ่งเป็น เขตที่อยู่อาศัยหรือส่วนหมู่บ้านมีการปลูกบ้านอยู่รวมกับเป็นกลุ่มโดยภายในหมู่บ้านมีป่าหมู่บ้านหรือกุรุชุ และส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่รอบนอกหมู่บ้าน มีการทำไร่หมุนเวียน ไร่ผัก ไร่เหล่า (ไร่ที่ว่างเว้นจากการทำไร่) ไร่เชิงเดี่ยว และสวนป่าไม้สักของอุตสาหกรรมป่าไม้

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

แหล่งน้ำธรรมชาติหลักๆ มาจากลำห้วยคลองแห้งที่ไหลมาจากผืนป่าห้วยขาแข้ง ผ่านบ้านคลองแห้ง บ้านพุเม้ยง์บน พุเม้ยง์กลาง และไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว ทรัพยากรพืชที่ใช้ประโยชน์ มีทั้งที่มาจากป่าชุมชน และจากในพื้นที่เกษตรกรรม

ทรัพยากรสัตว์ ส่วนใหญ่สัตว์ป่าตามธรรมชาติ เช่น กระรอก หนู ตะกวด พังพอน ไก่ป่า อึ่ง ส่วนในลำห้วยจะนิยมหาปลา ปู โดยนิยมนำสัตว์ป่ามาทำเป็นอาหาร 

ทรัพยากรพืชที่ใช้ประโยชน์ มีทั้งที่มาจากป่าชุมชน และจากในพื้นที่เกษตรกรรม

ภูมิปัญญาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ตามเป้าหมายการใช้งาน การค้นหาทรัพยากรสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ สะท้อนให้เห็นองค์ความรู้สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรที่ต้องการ 

การค้นหาทรัพยากรสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ สะท้อนให้เห็นองค์ความรู้สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรที่ต้องการ เทคนิควิธีในการจัดการทรัพยากรเพื่อนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ อาหาร ยาสมุนไพร จำหน่ายภายนอกชุมชน

การทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนที่พึ่งพาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล ปริมาณน้ำฝน การจัดการหญ้าวัชพืช แมลงศัตรูพืช พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น พระแม่โพสพ พระแม่คงคา ผีบรรพบุรุษ เจ้าป่าเจ้าเขา

สถานที่สำคัญและพื้นที่ทางสังคม

นอกเหนือจากป่าชุมชนและป่าช้า พื้นที่สำคัญทางศาสนาและพื้นที่ทางสังคมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบ้านพุเม้ยง์บน ยกเว้นพื้นที่ทางสังคมในระดับกลุ่มบ้านหรือหมู่บ้าน ที่อยู่แยกกระจายไปตามหมู่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน

ป่าชุมชน

พื้นที่สาธารณะของชุมชน สมาชิกชุมชนใช้ประโยชน์จากต้นทุนธรรมชาติ หาของป่า วัสดุทำบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีทั้งหมด 3 แห่ง อยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของชุมชน 

ลานวัฒนธรรม (กะหลกเท่ง)

พื้นที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำ และพื้นที่จัดงานกิจกรรมชุมชน

เจดีย์ (กลุ่ง, โกร่งน้อง)

พื้นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของชุมชน จะมีการรวมตัวกันของสมาชิกชุมชนเพื่อประกอบพิธีทุกวันพระ

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมกะเหรี่ยง

บริเวณบ้านนายอังคาร ครองแห้ง เป็นสถานที่จัดประชุม และที่รวมตัวกันของเหล่าเด็ก ๆ (ช่วงแรก ๆ มีสัญญาณ Wifi จึงมีเด็กมาเล่นมือถือเยอะ) เป็นที่พูดคุยวงสนทนาของผู้ใหญ่ในชุมชน และกลุ่มทอผ้า รวมถึงเป็นที่แรกที่คนภายนอกที่เข้ามาชุมชนจะแวะมาที่นี่ก่อนด้วย

ป่าช้า สะว้าคู้ก่า  

พื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน เป็นสถานที่ฝังศพบรรพบุรุษของชุมชน ปัจจุบันเป็นสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

ชุมชนพุเม้ยง์มีจำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 179 ครัวเรือน จำนวนประชากร จำนวน 674 คน นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแล้วยังมีคนไทยและคนลาวที่เข้ามาอยู่อาศัยและขอใช้พื้นที่ทำกินในชุมชน หรือผ่านการแต่งงานกับชาวกะเหรี่ยงในชุมชนแล้วจึงย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน

โพล่ง
  • อาชีพหลัก ชุมชนบ้านพุเม้ยง์มีอาชีพหลักทำเกษตรกรรมแบบไร่เชิงเดี่ยวและไร่หมุนเวียน ปลูกพืชเศรษฐกิจ / รับจ้างทำงานเกษตรกรรมภายในและบริเวณรอบนอกชุมชนในช่วงฤดูเพาะปลูก เก็บเกี่ยว
  • อาชีพเสริม หาของป่า (หน่อไม้ เห็ด)
  • การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ผ่านร้านขายของชำในชุมชนที่มีเจ้าของเป็นคนไทย - ลาว โดยนำสินค้าจากภายนอกมาจำหน่ายและรับซื้อรับหิ้วสินค้าจากภายนอก
  • การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรมอย่าง มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด หรือในบางช่วงที่มีสินค้าชนิดอื่น เช่น เห็ดโคน หน่อไม้ป่า กล้วย และการซื้อสินค้าจากภายนอกจากรถกับข้าว(รถพุ่มพวง)ที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดรอบนอกชุมชน
  • การออกไปทำงานนอกชุมชน รับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น หักข้าวโพด ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยนิยมทำบริเวณรอบนอกชุมชนที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก มีการทำงานนอกชุมชนในลักษณะงานประจำเป็นส่วนน้อย (ส่วนใหญ่เป็นคนที่เรียนจบและไปหางานทำข้างนอก)

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน

สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มครอบครัว ภายในชุมชนแบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน(กลุ่มบ้าน) ได้แก่ บ้านท่ากะได ส่วนใหญ่นามสกุลครองแห้ง (อยู่ใกล้กับบ้านคลองแห้ง) บ้านพุเม้ยง์บน และบ้านพุเม้ยง์กลาง 

โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน

ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน จะมีแกนนำชุมชนอีกกลุ่ม นำโดยนายอังคาร ครองแห้ง บ้านพุเม้ยง์บน และนางหน่อย ภูเหม็น บ้านพุเม้ยง์กลาง

ส่วนในทางศาสนาความเชื่อ และการประกอบพิธีกรรมของชุมชน มีเจ้าวัดเป็นผู้นำทางด้านศาสนา โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 คน

การรวมกลุ่ม 

ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น  กลุ่มเกษตรกรที่ช่วยกันถือแรงในกลุ่มตัวเอง  กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ  กลุ่มเด็กและเยาวชน  กลุ่มทางการนำโดยนางหน่อย ภูเหม็น มีสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงในชุมชน รวมตัวกันเพื่อซ้อมรำในงานต่าง ๆ  ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมากจะเป็นกลุ่มเด็กที่รวมตัวกันเพื่อหากิจกรรมทำยามว่าง เช่น กลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง ซึ่งมีหลายกลุ่ม

1.กลุ่มที่เป็นทางการ

กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมชนบ้านภูเหม็นเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการออมทรัพย์ของชุมชน และใช้ในการระดมทุนให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตร   ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ปัจจุบันนี้ยังคงมีสมาชิกเหลืออยู่จำนวนมาก สมาชิกแต่ละคนจะต้องจ่ายเงินออมมาเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ คนละ 360 บาท ต่อปี และปัจจุบันนี้ เมื่อรัฐบาลได้จัด ให้มีกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์บ้านภูเหม็นส่วนหนึ่งหันไปใช้บริหารกองทุนหมู่บ้านแทน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงยืนหยัดร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ ประชากรในชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก โดยให้ครอบครัวสมาชิกจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวละ 50 บาท ต่อ 1 ศพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทางญาติในการจัดงานศพ แต่หากสมาชิกรายใดพอมีทุนทรัพย์ก็อาจจะให้มากกว่า 50 บาท ก็ได้ตามความสมัครใจ

กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น โดยเฉพาะเรื่องการทอผ้ากะเหรี่ยง และให้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพด้านการทอผ้า เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มแม่บ้านหลังจากฤดูกาลเกษตร กลุ่มแม่บ้านจะได้รวมตัวกันทอผ้ากะเหรี่ยง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงสร้างตลาดในการจำหน่ายในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

กลุ่มเลี้ยงสัตว์ มหาวิทยาราชภัฏนครสวรรค์ ได้เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นนั้นมีรายได้เสริมจากการทำไร่ทำสวนในปัจจุบัน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพื่อให้ชาวบ้านมีเงินเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานให้ได้เรียนหนังสือ และให้บุตรหลานมีงานที่ที่ดี ๆ ในอนาคต ซึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์สนับสนุนให้มีการเลี้ยงในครัวเรือน ได้แก่ ปลาดุก หอย อ้น เป็ด เป็นต้น และปัจจุบันนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 50 คน และสมาชิกเริ่มมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าในอนาคตสมาชิกจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2.กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  

กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ มีการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์บางกลุ่มหลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้นั่งทอผ้ากะเหรี่ยง  ซึ่งเป็นผ้าทอมือโดยใช้กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ทอผ้าเพื่อการจำหน่ายหรือทำการตลาดแต่อย่างใด

กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้มีการรักษาประเพณีวัฒนธรรมและการทำพิธีกรรมในชุมชนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ประเพณีและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่บรรพชนมอบให้ไว้ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นสามารถรักษาไว้ได้เกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น การมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ถึง 3 คน ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในหนึ่งรอบปีปฏิทินของชุมชน และการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละครอบครัว ก็ได้อาศัยเจ้าวัดและแม่ย่าช่วยกันขจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นโชคร้าย ผีสางนางไม้ และสิ่งที่เป็นอัปมงคลให้ออกไปจากชุมชน ซึ่งในการประกอบพิธีกรรมก็จะมีการรวมตัวกันของชาวบ้านเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งแยกกันไปตามเครือญาติที่สนิทชิดเชื้อ 

กลุ่มศรัทธาวัด มีชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นกลุ่มหนึ่งที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าด้วยความศรัทธาได้รวมตัวกันไปทำบุญที่วัดป่าภูเหม็นเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ตลอดปี ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์จำวัด จำนวน 5 รูป จึงอีกสถานที่หนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ หารือเรื่องการทำการเกษตร และมีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ให้ผู้คนในชุมชนมีความรักความผูกพันกัน ซึ่งเป็นที่มาของความรักความสามัคคีของในชุมชน

กลุ่มทำการเกษตร ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4-5 หลังคาเรือน ที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวกัน ลงแขกปลูกข้าวไร่ ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกขุดมันสำปะหลัง โดยจะเป็นลักษณะของการเอาแรงกัน เริ่มจากบ้านหนึ่งหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จนครบทุกบ้าน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรประจำปี 

ในช่วงที่มีการทำเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการทำงานในไร่ อาทิ การปลูก การตัดหญ้า พ่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเคมี หรือการถอนหญ้าในไร่ข้าวหรือไร่ผัก ช่วงเก็บเกี่ยวจะมีทั้งการจ้างวานสมาชิกในชุมชนให้ไปช่วยกันเก็บเกี่ยว หรือบางกลุ่มอาจใช้ระบบถือแรง

อดีตช่วงว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนบางคนจะทอผ้าผืนเก็บไว้ หรือสานอุปกรณ์ต่าง ๆสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและจำหน่ายแก่บุคคลภายนอกในโอกาสต่าง ๆ แต่ปัจจุบันมีงานทำในไร่ตลอด หากหมดช่วงฤดูทำไร่หมุนเวียนหรือไร่ข้าวก็จะไปทำงานในฝั่งไร่เชิงเดี่ยว เช่น หักข้าวโพด ถอนหญ้า ถอนมัน หักสับปะรด เป็นต้น

ส่วนเด็กและเยาวชนจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเรียนในโรงเรียนภายนอกชุมชน (ระบบเวลาเดียวกันกับโรงเรียนทั่วไป) เด็กเล็กจะอยู่ในชุมชน ช่วงเลิกเรียนจะกลับมายังหมู่บ้านและรวมตัวกันหากิจกรรมเล่นกัน ส่วนวันเสาร์อาทิตย์จะมีเรียนภาษากะเหรี่ยงที่สอนโดยสมาชิกในชุมชน สำหรับเด็กโต(มัธยม) ที่ออกไปเรียนไกลจากชุมชนจะนอนหอพักใกล้กับโรงเรียนและจะกลับบ้านแค่ช่วงเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดยาว ถ้าระดับอุดมศึกษาจะออกจากบ้านไปเรียนนานกว่าปกติ กลับบ้านหนึ่งครั้งต่อเดือนเป็นต้น

การพักผ่อนและงานอดิเรก

เวลาพักผ่อนมักจะรวมตัวกัน พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารไปพร้อม ๆ กับกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่ละโอกาส เช่น ประชุมความเป็นไปในหมู่บ้าน ประชุมจัดเตรียมงาน หรือรวมตัวกันทอผ้า จักสาน เป็นต้น

บางคนก็จะมารวมตัวกันที่ศูนย์การเรียนรู้หรือตามบ้านที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือไปมาหาสู่กันตามบ้านต่าง ๆ

พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน การแต่งกาย

อาหารส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชนเช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในไร่ ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์และผักภายนอกมักซื้อจากรถพุ่มพวงและร้านขายของชำที่จะรับสินค้าจากข้างนอกเข้ามาขายเช่น เนื้อหมู ไก่ ไส้กรอกลูกชิ้น ผักกาด ผักกะหล่ำ เต้าหู้หลอด ไข่ไก่ ส่วนเครื่องปรุงเช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันพืช จะซื้อจากร้านขายของชำเป็นหลัก 

การแต่งกาย เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะแต่งกายเหมือนเด็กทั่วไป บางวันอาจแต่งกายโดยชุดกะเหรี่ยงดั้งเดิมของชุมชน ส่วนผู้ใหญ่ ผู้หญิงจะนิยมนุ่งผ้าถุงทอพื้นสีแดงส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สวมเสื้อมีทั้งเสื้อกะเหรี่ยงและเสื้อทั่วไปในช่วงที่ไม่ได้ทำเกษตรกรรม แต่หากมีการทำเกษตรกรรมจะนุ่งกางเกงขายาว เสื้อแขนยาวที่นิยมเรียกกันว่า “เสื้อแถมปุ๋ยยา” ส่วนในช่วงพิธีกรรมจะแต่งกายด้วยชุดตามประเพณีเดิม

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม

ศาสนาพุทธแบบเจ้าวัด ลัทธิด้ายเหลือง การนับถือพุทธของชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์จะมีเจ้าวัดและแม่ย่าเป็นผู้นำจิตวิญญาณในฐานะผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน ส่วนลัทธิด้ายเหลืองหมายถึงสีของด้ายที่สมาชิกชุมชนหรือผู้นับถือจะผูกด้ายสีเหลืองไว้ที่ข้อมือตลอดเวลาตั้งแต่แรกเกิด โดยกลุ่มด้ายเหลืองจะไม่นิยมใช้เหล้าประกอบพิธีกรรมและไม่ดื่มเหล้า 

ความสัมพันธ์/อิทธิพล ในอดีตเจ้าวัดและแม่ย่ามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำชุมชน มีบทบาทในการรักษาโรคเนื่องจากเป็นผู้มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพรและโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชนในปัจจุบัน (ยกเว้นพิธีกรรมในระดับครอบครัว)  นอกจากนี้ตำแหน่งเจ้าวัดมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน การแต่งตั้งเจ้าวัดใหม่จะสามารถทำได้เมื่อมีเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่และผู้แต่งตั้งต้องเป็นผู้อาวุโส ซึ่งเจ้าวัดของบ้านพุเม้ยง์ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าวัดบ้านอีมาดอีทราย 

การทำพิธีเรียกขวัญข้าว

ก่อนการปลูกข้าวจะมีการปักตะไคร้เพื่อป้องกันในกรณีฟ้าผ่า หากฟ้าผ่าในไร่ทีไม่มีการปักตะไคร้จะเชื่อว่าไม่สามารถทำไร่ในพื้นที่นั้นได้ การทำพิธีเรียกขวัญข้าวจะทำก่อนเริ่มปลูกข้าวหรือหยอดเมล็ด ผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม โดยนิยมทำในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือตามช่วงเวลาของฝน การทำพิธีเรียกขวัญข้าวโดยใช้เสียมทำจากไม้ไผ่ขาว เสียบไว้ที่ทิศตะวันออก นำเมล็ดข้าววางใกล้กับเสียม และใช้เทียนในการทำพิธี จำนวนเทียนขึ้นอยู่กับจำนวนพันธุ์ข้าวที่ปลูกในไร่ 1 แปลง จุดเทียนตรงที่วางเสียมและพันธุ์ข้าว พรมด้วยน้ำขมิ้นและรอจนกว่าเทียนจะดับจึงค่อยเริ่มหยอดข้าว หลังหยอดข้าวเสร็จ 1 วันจะปักสะเดิ่งในไร่ข้าว

ความสัมพันธ์/อิทธิพล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสมาชิกชุมชนเสมือนหลักประกันผลผลิตทางการเกษตร เป็นการรักษาสภาวะสมดุลของขวัญที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติและในเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลูกในไร่ การปักสะเดิ่งยังหมายถึงการบอกกล่าวพระแม่ธรณีให้ช่วยปกป้องรักษาข้าวไร่

การปักสะเดิ่งในลำห้วย

พิธีกรรมปักสะเดิ่งในลำห้วยจะทำเฉพาะวันพระใหญ่ ก่อนที่จะเริ่มพิธีกรรมในช่วงกลางวันผู้ชายจะตัดไม้และทำสะเดิ่งสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรม เมื่อถึงเวลาชาวบ้านจะมารวมตัวกันในลำห้วย ใช้เทียน 1 เล่มและดอกไม้ 1 ดอก โดยจะทำพิธีในตอนกลางคืน โดยนำสะเดิ่งที่ทำขึ้นมา 3 อัน พรมด้วยน้ำขมิ้นก่อนนำไปปัก โดยปักไว้กลางลำห้วยและข้างลำห้วย ส่วนอันสุดท้ายจะนำไปทำเจดีย์จำลองขนาดเล็ก เมื่อปักเสร็จก็จุดเทียนและนำไปติดไว้ที่สะเดิ่งหรือบริเวณรอบๆพื้นที่ประกอบพิธีกรรม เช่น ในลำน้ำ ต้นไม้ ก้อนหิน จากนั้นผู้สูงอายุจะอธิษฐานและพรมน้ำขมิ้นอีกครั้ง โดยทำเพื่อขอขมาพระแม่คงคาและพระแม่ธรณีเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล

ความสัมพันธ์/อิทธิพล เป็นพิธีกรรมระดับชุมชน ประกอบพิธีกรรมโดยเจ้าวัดและแม่ย่า แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งน้ำธรรมชาติ และบทบาทของพระแม่คงคาที่มีต่อสมาชิกชุมชน

พิธีไหว้ขนมจีนขี้เหนียว

ในอดีตบ้านที่เป็นเจ้าภาพพิธีกรรมจะทำเส้นขนมจีนด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากหมู่บ้านต้นน้ำไล่ไปตามสายน้ำจนพ้นเขตหมู่บ้าน โดยจะต้องทำและส่งทุกบ้านด้วยตัวเอง พิธีกรรมจะทำกลางหมู่บ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยนำขนมจีนที่ทำเอง หมาก บุหรี่มาไว้ในกระทงไม้ไผ่ แล้วนำไปส่งท้ายหมู่บ้านเพื่อให้สัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนและเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขามากินเพื่อให้มารบกวนภายในหมู่บ้าน และเป็นการขอให้สิ่งดี ๆ เข้ามาในหมู่บ้านและสิ่งไม่ดีให้ออกจากหมู่บ้านไป ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการจัดงานเลี้ยงขนมจีนภายในบ้านของผู้จัดงาน และให้คนในหมู่บ้านไปรวมตัวกันเพื่อรับประทานขนมจีนเป็นกลุ่มใหญ่แทน หมู่บ้านที่เข้าร่วมการทำพิธีไหว้ขนมจีนกับประกอบด้วย บ้านคลองแห้ง บ้านท่ากะได บ้านพุเม้ยง์บน และบ้านพุเม้ยง์กลาง

ความสัมพันธ์/อิทธิพล เป็นความสัมพันธ์ในระดับหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้าน ที่แต่ละปีผู้รับผิดชอบในการทำขนมจีนจะเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละบ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านคือการจัดพิธีกรรมไล่เรียงตามลำน้ำจากต้นน้ำไปปลายน้ำ 

พิธีทำบุญไหว้เจดีย์

พิธีทำบุญไหว้เจดีย์จะตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือน 3, เดือน 5 และเดือน 7 ของทุกปี โดยในเดือน 5 จะเป็นวันปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง นอกจากนี้จะมีการไหว้เจดีย์ทุกวันพระ โดยพิธีจะเริ่มในช่วงเย็นหรือพลบค่ำ มีเจ้าวัดและแม่ย่า (ภรรยาของเจ้าวัด) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม พิธีกรรมจะเริ่มจากแม่ย่าเดินพรมน้ำรอบศาลาและเจดีย์ เดินตามเข็มนาฬิการาว 3 รอบ จากนั้นจึงจะเริ่มทำพิธีไหว้และสวดมนต์ โดยผู้ชายจะอยู่ทางทิศเหนือของศาลาและเจดีย์ ส่วนผู้หญิงอยู่ทิศใต้ โดยในพิธีกรรมจะใช้ดอกไม้และเทียน 3 แท่ง เทียนจะต้องเป็นเทียนที่ทำมาจากขี้ผึ้งธรรมชาติและเคลือบด้วยผงขมิ้น(เพื่อไม่ให้ละลายติดกัน)

ความสัมพันธ์/อิทธิพล เจดีย์เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความศรัทธาต่อความเชื่อของชุมชน ความสมบูรณ์ของเจดีย์จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชน ชาวกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญกับเจดีย์ มีการทำนุบำรุง ซ่อมแซม เป็นประจำทุกปี และทำบุญทุกวันพระ และมีงานใหญ่ประจำปีทุกปี สมาชิกชุมชนมีอำนาจในการกำหนดช่วงเวลาในการจัดงานเนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสมาชิกในชุมชนในการดำเนินงานต่าง ๆ

กิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจ

การรวมตัวกันหาอึ่ง ช่วงหลังฝนตกหนักจะมีอึ่งออกมาเดินทั่วไปในพื้นที่ชุมชน สมาชิกชุมชนจะออกไปหาจับอึ่งเพื่อนำมารับประทาน

การจับปลาหน้าฝน เป็นการจับปลาเพื่อนำมารับประทานในครัวเรือน มีทั้งที่หาจากแหล่งน้ำในชุมชน และแหล่งน้ำนอกชุมชนคืออ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว มักรวมตัวกันไปจับเป็นกลุ่ม

การเกี่ยวข้าว เป็นการรวมตัวกันเกี่ยวข้าวโดยใช้ระบบถือแรงหรือการจ้างสมาชิกในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นการถือแรงในครอบครัว

1.ชื่อ-นามสกุล : ข้าวฟ่าง 

อายุ : 30 กว่าปี 

ที่อยู่ : พุเม้ยง์ 

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี : การทำเกษตรกรรมไร่หมุนเวียน จักสานโงว สะเดิ่ง

2.ชื่อ-นามสกุล : นายอ้วน เยปอง

เกิดปี : พ.ศ. 2501

ที่อยู่ : หมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี : นายอ้วน เยปอง เป็นเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ปัจจุบันเป็นเจ้าวัดที่อาวุโสสูงสุดในชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกบ้าน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น รวมถึงยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสาน สามารถทำเครื่องใช้ภายในบ้านไว้ใช้เอง และสอนเพื่อนบ้านทำเครื่องจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนในรายการง่าย ๆ เช่น ตะกร้า กระบุง กระด้ง ไซดักปลา เป็นต้น ที่สำคัญ เจ้าวัดอ้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากะเหรี่ยงโปว์ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน และยังอ่านภาษามอญได้อีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าเจ้าวัดอ้วนนั้นมีคัมภีร์ใบลานโบราณเก็บไว้เป็นจำนวนมาก มีสภาพสมบูรณ์ และคัมภีร์ใบลานเหล่านี้ล้วนเขียนเป็นภาษามอญแทบทั้งสิ้น นับว่าเป็นปูชนียบุคคลคนสำคัญของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เพราะว่าในปัจจุบันนี้ยังคงถ่ายทอดภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ให้กับลูกหลานอย่างต่อเนื่อง

3.ชื่อ-นามสกุล : นายอังคาร ครองแห้ง

อายุ : 59

ที่อยู่ : ติดกับลานวัฒนธรรม และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมกะเหรี่ยง บ้านพุเม้ยง์บน 

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี : ไร่หมุนเวียน จักสาน วิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยง การประกอบพิธีกรรม

4.ชื่อ-นามสกุล : นายม่องตะเลตะ ภูเหม็น

เกิดปี : พ.ศ. 2503

ที่อยู่ : หมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี : นายมองตะเลตะ ภูเหม็น เป็นเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) อยู่ในปัจจุบัน เป็นเจ้าวัดที่มีความอาวุโสลำดับที่สองในชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกบ้าน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับโรคภัยที่มีกระบวนการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และโรคภัยที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้หวัด เป็นต้น รวมถึงยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเครื่องจักสาน สามารถสานเครื่องใช้ภายในบ้านไว้ใช้เอง และสอนเพื่อนบ้านทำเครื่องจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนในรายการง่าย ๆ เช่น ตะกร้า กระบุง กระด้ง ไซดักปลา เป็นต้น 

5.ชื่อ-นามสกุล : นางปรัง ภูเหม็น

เกิดปี : พ.ศ. 2506

ที่อยู่ : หมู่ 8 บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี : นางปรัง ภูเหม็น มีสถานะเทียบเท่ากับเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงชาวบ้านจึงไม่ได้เรียกว่าเจ้าวัด ชาวบ้านเรียกว่า “แม่ย่า” มีความอาวุโสเป็นลำดับที่สามของผู้ประกอบพิธีในชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกบ้าน เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโปว์ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้ากะเหรี่ยง สามารถสอนลูกหลานในการทอผ้าได้ ให้คำแนะนำในการครองเรือนและการดำรงวิถีชีวิตแบบสังคมกะเหรี่ยงสำหรับชาวกะเหรี่ยงวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ และการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่หมุนเวียนแบบบรรพบุรุษ

1.ทุนทางกายภาพ 

1.1 ลำห้วยพุเม้ยง์ ประวัติความเป็นมา 

สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” มีต้นกำเนิดมาจากผืนป่าห้วยขาแข้งที่แสนอุดมสมบูรณ์ ไหลผ่านหลายชุมชนในชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามชื่อชุมชนนั้น ๆ จนมาถึงชุมชนบ้านภูเหม็น ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” แปลว่า มีดอกเข้าพรรษาจำนวนมากขึ้นอยู่เต็มสองฟากลำห้วยสีเหลืองอร่ามสวยงามมาก และอยู่คู่กับชุมชนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเริ่มก่อตั้งชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ลำห้วยน้ำไม่เคยท่วมไม่เคยเกรี้ยวกราดจนทำให้ผู้คนล้มตาย แต่เคยแห้งจนผู้คนเกือบตายในฤดูแล้ง จนเกิดการสร้างฝายชุมชนแบบง่าย ๆ ด้วยไม้ไผ่กั้นแม่น้ำสายนี้อยู่เป็นช่วง ๆ ทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวาขึ้น และบ่อยครั้งที่ลำห้วยแห่งนี้เกือบแห้งขอด ทางการจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อบาดาลให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ต้องอาศัยน้ำในลำห้วยทุกอย่าง และต่อมาชุมชนได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อทำประปาหมู่บ้าน

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตร ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับลำห้วยสายนี้มาอย่างยาวนาน 

สถานภาพปัจจุบัน “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” จะมีมวลน้ำปริมาณมากในฤดูฝน บางปีไหลเชี่ยว บางปีมีน้ำพอใช้ บางปีมีน้ำน้อย ล้วนเป็นไปตามสถานการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาของไทยและของโลก ที่สำคัญมีความเกี่ยวข้องกับผืนป่าที่โอบอุ้มลำห้วยแห่งนี้ด้วย เมื่อผืนป่าถูกทำลายเหลือน้อยลง สายน้ำก็เล็กลงเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์ของผืนป่า แต่ถึงอย่างไรลำห้วยสายนี้ก็ยังคงมีความสำคัญต่อผู้คนในชุมชนไม่ลดน้อยลงเลย 

การสืบทอดและความยั่งยืน “ลำห้วยพุเม้ยง์บ่อง” มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่สายน้ำไหลผ่านนั้นค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้ไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำในลำห้วย เพราะฉะนั้น การสืบทอดทรัพยากรน้ำในชุมชนแห่งนี้ จึงยังไม่มีความยั่งยืน ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเอง ต้องขุดสระทำน้ำประปา และขุดบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้ดื่มกินและใช้ทำการเกษตร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนควรปลูกป่าทดแทนผืนป่าที่สูญเสียไป เพื่อรักษาสมดุลทางระบบนิเวศสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่าและรักษาสายน้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

1.2 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในที่ดินทำกิน

1) ยุคแรก พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในราชอาณาจักรไทย พบว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์) บ้านภูเหม็น เพราะยังไม่ได้ประกาศป่าสงวนแห่งชาติบริเวณพื้นที่บ้านภูเหม็นตั้งอยู่ ชาวบ้านยังคงดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ด้วยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งพื้นที่ทำกินของชุมชนชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า “ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ป่าเป็นของธรรมชาติ น้ำเป็นของธรรมชาติ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลรักษาและปกป้อง เมื่อเราใช้ป่าเราก็ต้องรักษาป่า เราจะใช้น้ำเราต้องรักษาน้ำ มีเจ้าแห่งป่า เจ้าแห่งผืนดิน และเจ้าแห่งสายน้ำ

การทำไร่หมุนเวียน เป็นการใช้พื้นที่ทำกินในระยะสั้นแล้วปล่อยให้พื้นที่ฟื้นตัวในระยะยาว แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถือว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยการหมุนเวียนปล่อยให้ที่ดินแปลงเดิมที่เคยทำไร่ทิ้งไว้ ให้ผืนดินและระบบนิเวศฟื้นตัวที่เรียกว่า“ไร่ซาก” หรือ“ไร่เหล่า” โดยปล่อยไว้ให้มีสภาพเป็นป่ารกร้าง เพื่อให้ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมาสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปชาวบ้านจะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7 – 10 ปี แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเป็นการรักษาหน้าดินภายในไร่หมุนเวียน ซึ่งในไร่หมุนเวียนนี้จะมีพืชผักหลายชนิด เช่น ฟัก แตง ถั่ว งา พริก ฯลฯ ซึ่งปลูกผสมผสานกับข้าวไร่ เรียกได้ว่า ในไร่หมุนเวียนนอกจากจะมีข้าวเป็นหลักแล้ว ยังมีอาหารที่เป็นพืชผักชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นพื้นที่ชีวิต เป็นโรงครัวของชาวกะเหรี่ยง“ไร่หมุนเวียน” จึงคือความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และยังเป็นระบบเกษตรเชิงนิเวศ ที่รักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างสมดุล

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นดำรงชีพตามวิถีวัฒนธรรม โดยการทำไร่หมุนเวียนมาโดยตลอด จนถือได้ว่าพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในขณะนั้น กะเหรี่ยงคือองค์ประกอบสำคัญในการดูแลรักษา ผ่านภูมิปัญญาของชุมชน จนมาถึงประมาณปี พ.ศ. 2526 – 2527 ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง จากเดิมเคยขึ้นกับอำเภอบ้านไร่ ถูกย้ายมาเป็นอำเภอห้วยคตจนถึงปัจจุบัน และในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านนี้เอง เจ้าหน้าที่รัฐได้ให้ชาวบ้านทุกคนได้แสดงความเป็นเจ้าของในพื้นที่ที่แต่ละคนทำกิน เพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แล้วรัฐเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ส่งผลให้ชุมชนหลายคนเริ่มหันมาจับจองพื้นที่ เพื่ออ้างสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ ซึ่งสวนทางกับวิถีวัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังอดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านภูเหม็น นายบ่อป่อย ภูเหม็น ได้อธิบายไว้ว่า “ตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นอำเภอห้วยคต เจ้าหน้าที่รัฐก็ให้เราเริ่มจับจองพื้นที่ แสดงสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของ หลายคนก็เริ่มชี้บอกว่าที่ของตนตรงโน้น ตรงนี้ การทำไร่หมุนเวียนแบบเดิมก็เริ่มค่อย ๆ เลือนหายไปตั้งแต่ตอนนั้น

จากสถานการณ์ที่รัฐเริ่มให้จับจองพื้นที่เพื่อแสดงสิทธิ์ ให้จับจองพื้นที่เป็นเจ้าของ ความขัดแย้งในตอนนั้นจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชนกันเอง แต่เป็นความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเริ่มจับจองพื้นที่ หลายคนหลายครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐบีบให้ต้องหาที่เป็นของตนเอง ซึ่งแต่เดิมกะเหรี่ยงเชื่อว่า ที่ดินเป็นของเจ้าป่าเจ้าเขา เราเพียงมาขอใช้เท่านั้น ใช้แล้วเราก็คืนให้ธรรมชาติดูแล ด้วยวิธีการทำไร่หมุนเวียน แต่สถานการณ์ตอนนั้น ทำให้คนในชุมชนเริ่มแย่งพื้นที่ทำกินกันเอง เจ้าหน้าที่รัฐก็บีบบังคับให้ต้องจับจองเพราะต้องแสดงสิทธิ์ว่าใครทำกินอยู่ตรงไหน แค่ไหน เป็นการให้กรรมสิทธิ์ความเป็นปัจเจก ซึ่งขาดความเข้าใจในมิติวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์)

2) ยุค “ป่าสงวนแห่งชาติ” ประกาศทับพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยบ้านภูเหม็น ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 บริเวณพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชน กรมป่าไม้ได้ประกาศให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย โดยอ้างเหตุผลว่าบริเวณพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ป่าไม้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีต้นไม้สำคัญทางธรรมชาติจำนวนมาก อาทิ ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้กระบาก ไม้ประดู่ ไม้เลียงมัน ไม้เต็งรัง และไม้ชนิดอื่น ๆ ที่มีค่าจำนวนมาก และมีของป่ากับทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย จึงสมควรกำหนดให้หลาย ๆ พื้นที่ ตั้งแต่ตำบลลานสัก ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลไผ่เขียว ตำบลพลวงสองนาง อำเภอสว่างอารมณ์ ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ ตำบลทองหลาง ตำบลห้วยคต ตำบลเขากวางทองและตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528

สถานการณ์หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกิดการทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะบ้านภูเหม็น ป่าสงวนแห่งชาติได้ทับซ้อนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยง รัฐห้ามคนในชุมชนไม่ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐ แจ้งว่าเป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้ ด้วยข้อกฎหมาย ตาม “มาตรา 14 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ” และถ้าหากฝืนหรือละเมิดตามที่เจ้าหน้าที่รัฐห้าม คนนั้นจะถูกจับกุมทันที ทำให้ชาวบ้านหลายคนหวาดกลัว และไม่กล้าที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่เคยทำกิน หลายครอบครัวต้องถอยออกมาเพราะเกรงกลัวต่อกฎหมาย ชาวบ้านหลายคนไม่มีพื้นที่ทำข้าวไร่ บางคนต้องไปขอแบ่งปันกับเพื่อนบ้าน เพื่อความอยู่รอด ซึ่งนายอังคาร คลองแห้ง ได้กล่าวไว้ว่า “บรรพบุรุษของเราอยู่ทำไร่หมุนเวียนมานานกฎหมายมาทีหลัง รัฐมาทีหลัง แต่จะทำให้วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่ดีงามสูญหาย ชาวบ้านจะทำอย่างไร”

นับว่าเป็นบาดแผลและรอยปริแยกทางประวัติศาสตร์ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานคิดการอนุรักษ์ แต่ในทางกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาตินั้น ก็ยังพยายามเปิดช่องให้ชุมชนไปแย้งสิทธิ์ โดยให้ตรวจแปลงที่ดินทำกินที่ชุมชนเคยใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนทำเรื่องของสิทธิ์ โดยการเขียนคำร้องขอ แต่คนในชุมชนหลาย ๆ คนไม่มีใครรู้เรื่องดังกล่าว และไม่มีใครกล้าแย้ง เพราะยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจน บางรายก็กลัวไปต่าง ๆ นานา ว่าถ้าหากใครไปแจ้งให้ตรวจแปลงที่เคยใช้ประโยชน์ทำกิน อาจจะถูกจับก็เป็นได้ หรืออาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รู้ตัวว่าใครเข้าไปทำกิน ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อตัวเขาเอง ชาวบ้านจึงเลือกที่จะไม่แสดงตัวตน ในขณะที่อีกหลายคนทำเรื่องขอสิทธิ์ในการตรวจแปลง เพื่อรับการผ่อนปรน แต่ปรากฏว่าเรื่องก็เงียบหายไป จึงทำให้ชุมชนบ้านภูเหม็นไม่ได้รับการตอบรับจากการร้องขอแต่อย่างใด ทำให้ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในเรื่องการให้ประโยชน์ในที่ดินและป่าไม้ยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิม คือ อยู่ร่วมกันอย่างหวาดระแวง กลัว และมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยจึงยังคงไม่หมดไปจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น

3) ยุค “สวนป่า” ประกาศพื้นที่สวนป่าทับที่ดินทำกินชุมชนบ้านภูเหม็น เป็นยุคที่ทรัพยากรเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการสร้างอำนาจรัฐ ประกาศเป็นพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 ทำให้สวนป่าทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชุมชนบ้านภูเหม็น โดยรัฐใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนชาวบ้าน จะทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือพื้นที่ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียน ต้องขออนุญาตและต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อน จึงจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ นั้นได้ เช่น จะตัดไม้เพื่อมาใช้สร้างบ้าน หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยก็ต้องขออนุญาต ส่วนปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรและป่าไม้ที่เห็นชัด คือ การใช้รูปแบบการจัดการโดย “สวนป่า” เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนในชุมชน เนื่องจากว่าสวนป่าได้ทับซ้อนพื้นที่ทำกินดั้งเดิม หรือพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยทำไร่หมุนเวียน และจากปี พ.ศ. 2535 – 2557 สวนป่าที่รัฐพยายามใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินและป่าไม้นั้น พื้นที่และจำนวนสวนป่าได้ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ชาวบ้านที่เคยอาศัยพื้นที่ใช้ประโยชน์มาก่อน ต่างก็สับสนและไม่รู้ว่าขอบเขตของสวนป่ามีแค่ไหนเพียงใด นอกจากความไม่ชัดเจนเรื่องแนวเขต และวิธีการปฏิบัติที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำความเข้าใจร่วมกัน 

4) ยุค “ทวงคืนผืนป่า” นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” คือหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล คสช. ที่มีเป้าหมายเพื่อ “คืนความสุขและความเป็นธรรม” ให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก โดยมีแนวคิดหลักจะเรียกคืนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง หรือนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนที่ทำกินของเกษตรกรในอดีต คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) 14 มิถุนายน 2557 ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นจุดตั้งต้นของนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังจากนั้น วันที่ 17 มิถุนายน 2557 คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อเพิ่มกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้าไปในนโยบายทวงคืนผืนป่า ด้วยถ้อยคำว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ส่วนเกณฑ์ที่วัดว่าใครเป็นผู้ยากไร้นั้น ได้ใช้เกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์การถือครองที่ดินที่อยู่มาก่อนที่จะประกาศเขตฯ โดยกลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่นำไปสู่การถ่ายทำแผนที่ทางอากาศ ซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2545 ดังนั้น คนที่ทำกินมาก่อนปี 2545 ถือว่าไม่บุกรุก อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่เข้าถือครองที่ดินหลังปี 2545 กลับเป็นคนส่วนใหญ่ จึงต้องนำเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยเข้าไปจับอีกเกณฑ์หนึ่ง

5) ยุค “วนอุทยานห้วยคต” สถานการณ์ความขัดแย้งด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระหว่างรัฐกับชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นหลังจากรัฐบาล คสช. ประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า พบว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 บริเวณพื้นที่ทำกินและป่าไม้ในเขตพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศให้เป็นวนอุทยานห้วยคต โดยยกพื้นที่ที่เคยเป็นสวนป่า และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันพื้นที่เพิ่มอีก ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น จำนวน 15,530 ไร่

วนอุทยานห้วยคต อยู่ในเขตอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามประกาศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สภาพที่ตั้งวนอุทยานห้วยคต เป็นพื้นที่ป่าที่ราบต่ำ โดยพื้นที่นั้นห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประมาณ 7-10 กิโลเมตร

ผลจากการประกาศพื้นที่เป็นวนอุทยานห้วยคต ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและ พันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ทำให้พื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกัน ระหว่างพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนั้น พื้นที่วนอุทยานห้วยคตทับซ้อนกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเข้าห้ามไม่ให้ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคต และเริ่มมีการจับกุมชาวบ้านผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านกับพื้นที่วนอุทยานห้วยคต หลายคนต้องถูกดำเนินคดี และเสียค่าปรับ โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกหลังปี 2545 โดยอาศัยภาพถ่าย ทำให้ต้องโดนจับเมื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ชุมชนได้อธิบายว่า “พื้นที่ที่รัฐอ้างว่าบุกรุก จริง ๆ แล้วเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านทั้งนั้น ซึ่งแต่เดิมบางพื้นที่ชาวบ้านได้ปล่อยทิ้งไว้หลายปี เพื่อให้ป่าและระบบนิเวศฟื้นตัว แล้วก็จะกลับไปทำใหม่ ซึ่งเป็นวิถีการทำไร่หมุนเวียน

จากเหตุการณ์ข้างต้น มีชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น หมู่ที่ 8 จำนวน 40 ครัวเรือน ที่มีพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเดิมเมื่อปี 2528 และถูกประกาศให้เป็นสวนป่าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2535 มาโดยตลอด และต่อมาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ให้ชาวบ้านไปแจ้งว่าใครใช้ประโยชน์ในที่ทำกินอยู่ตรงไหน ให้ไปแสดงสิทธิ์ในการใช้ทำประโยชน์ในพื้นที่สวนป่า ชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการรังวัดอะไร หรือให้แสดงสิทธิ์เพื่ออะไรบ้าง คิดแต่ว่ารัฐจะพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินที่ให้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่ได้มาดำเนินการถ่ายรูปและชูป้าย รวมทั้งให้ชี้ไปที่แปลงที่ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ ต่อมาทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการให้ชาวบ้านยินยอมคืนพื้นที่ทำกินที่เคยใช้ประโยชน์อยู่มอบให้กับรัฐ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่พอใจ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งของการรวมตัวกันลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรม โดยการไปร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ รวมทั้งร้องเรียนกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์มาก่อนที่จะประกาศเป็นป่าสงวนฯ และปัจจุบันอยู่ในสวนป่าซึ่งกำลังถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ “วนอุทยานห้วยคต” มีพื้นที่ของชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์ประมาณ 3,000 ไร่ โดยสภาพพื้นที่ไม่ค่อยมีต้นไม้ และอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในการทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในส่วนของภูเหม็นบน (เป็นกลุ่มบ้านที่อยู่ทางด้านบนของบ้านภูเหม็น) มีปัญหาเฉพาะที่ทำกินทับซ้อนกับเขตวนอุทยานห้วยคต ส่วนชุมชนกะเหรี่ยงภูเหม็นล่าง (กลุ่มบ้านที่อยู่ทางเข้าหมู่บ้านด้านล่างซึ่งอยู่ห่างจากภูเหม็นบนประมาณ 1 กิโลเมตร) มีปัญหาทับซ้อนทั้งพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านด้วย จำนวนประมาณ 70 ครัวเรือน

ทั้งนี้ การที่กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่สวนป่าให้เป็นวนอุทยานห้วยคต เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ซึ่งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย ข้อมูลเมื่อปี 2545-2547 มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ มีแปลงปลูกไม้สักและประดู่ และมีการประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคต เมื่อปี 2557 มีเนื้อที่รวม 15,530 ไร่ ซึ่งพบว่า มีชาวกะเหรี่ยง(โปว์) อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงบุคคลภายนอกบ้านกะเหรี่ยงภูเหม็น จำนวน 203 ไร่ และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่รัฐจึงได้มีมาตรการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ได้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงและให้ความยินยอม (MOU) ระหว่างราษฎรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นวนอุทยานห้วยคต 

1.3 เทือกเขาสำคัญ ประวัติความเป็นมา อย่างที่รู้กันดีว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นิยมตั้งถิ่นฐานบนที่ราบสูงที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นก็เหมือนกัน บรรพบุรุษเล็งเห็นว่าบริเวณนี้มีเทือกเขาจำนวนมากสลับซับซ้อน แต่เป็นภูเขาที่ไม่สูงมากนัก เป็นเนินเขาที่มีผืนดินปกคลุมและมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเทือกเขาเชื่อมโยงมาจากเขตมรดกโลกห้วยขาแข้ง เหมาะแก่การถากถางทำไร่หมุนเวียนตามแนวทางของวิถีบรรพบุรุษที่ได้มีการถ่ายทอดต่อเนื่องมาจากรุ่นสู่รุ่น บรรพบุรุษจึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในบริเวณชุมชนภูเหม็น (พุเม้ยง์) แห่งนี้ และตามที่ชาวบ้านเล่าให้ฟัง คือ ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมานานมากแล้วกว่า 400 ปี ดังนั้น จะพูดถึงเทือกเขาสำคัญ ๆ ที่ล้อมรอบชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ 1. เทือกเขาตะน่องโหว่ว 2. เทือกเขาทิวาพร่อง 3. เทือกเขาคุหล่งจื๊อ(กะโหลกโศก) 4. เทือกเขาทิเหม่งไคร่เคร่ 5. เทือกเขาเฌ่อพะเพ่อ 6. เทือกเขาแก่งกะดุก 7. เทือกเขาหนองปลาร้า เป็นต้น เป็นกลุ่มเทือกเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่าและพืชพรรณธัญญาหาร หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนมายาวนาน

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เทือกเขาสำคัญ ๆ 7 แห่งนี้ เป็นผืนป่าที่โอบล้อมชุมชนเป็นแนวป้องกันลมพายุไม่ให้พัดสร้างความเสียหายให้ชุมชน สร้างความชุ่มชื้นดึงฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล สร้างอาหารป่าหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น เป็นแหล่งต้นน้ำทำให้มีน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตร ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับเทือกเขาเหล่านี้มาอย่างยาวนาน 

สถานภาพปัจจุบัน จำนวนประชากรในชุมชนบ้านภูเหม็นมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้ไม้จากป่าชุมชนในการสร้างบ้านเรือน ต้องถากถางเพื่อการทำการเกษตรเพื่อดำรงชีพ จึงทำให้ป่าไม้ลดจำนวนลงมาก ทำให้ชุมชนมีอากาศที่ร้อนอบอ้าวกว่าสมัยก่อน และเมื่อปี 2566 ก็เกิดพายุพัดบ้านเรือนของชาวบ้านเสียหายกว่า 28 หลัง และทำให้ต้นไม้ใหญ่คู่บ้าน (ต้นสมพงยักษ์) จำนวน 5 ต้น ที่มีอายุกว่า 100 ปี มีอันต้องล้มลงอย่างไม่น่าเชื่อ ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เวลาฝนตกหนักน้ำก็เอ่อไหลหลากอย่างน่ากลัว ฤดูแล้งก็แล้งยาวนานน้ำในลำห้วยแทบจะแห้งขอด อากาศไม่ชุ่มชื้นและไม่ร่มเย็นดังเช่นในอดีต

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวบ้านจะต้องหาวิธีปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลายเพื่อเร่งสร้างระบบนิเวศให้กลับมาเป็นเหมือนในอดีต วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นจะได้เป็นไปดังคำขวัญอีกครั้ง “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั้นมีป่า” ดังที่ผู้คนได้ขนานนามว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักษาป่ามากที่สุด เพื่อให้ป่าไม้เกิดความยั่งยืนต่อไป

2.ทุนมนุษย์ 

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้กว่า 400 ปีมาแล้ว บ้างก็เล่าว่าบรรพบุรุษย้ายมาจากชายแดนประเทศเมียนมาร์ เข้ามาทางอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค ศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเดินทางต่อเข้าอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่ในตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ และพื้นที่ตำบลอื่น ๆ ของอำเภอบ้านไร่ รวมถึงบางส่วนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านภูเหม็นในปัจจุบันนี้ บางส่วนก็กระจัดกระจายออกไปยังชุมชนอื่น ๆ ของอำเภอห้วยคตในปัจจุบัน 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกข้อมูลหนึ่ง เล่าว่าในสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น ท้าวมหาพรหมได้พาผู้คนกลุ่มหนึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากสุโขทัยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองอู่ไทย (ตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉางในปัจจุบัน) มาอยู่รวมกับชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาก่อน ดังนั้น ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นจึงสันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของตนอาจจะอยู่ที่เมื่ออู่ไทยก็เป็นได้ เมื่อถูกคนไทยพื้นเมืองรุกราน จึงถอยร่นขึ้นภูเขาไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ชุมชนบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ในปัจจุบัน ซึ่งบรรพบุรุษกลุ่มแรกที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้ คือ นายภุ่มเบิก นายภุ่มโถตา นายภุ่มโท่เค้า และนางพิไล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเท่าที่มีการบันทึกเหตุการณ์จากอดีตถึงปัจจุบัน และจากการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษปากต่อปาก ทราบว่า เมื่อบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้แล้วไม่เคยย้ายไปอยู่ที่ไหนอีก อยู่ที่นี่มายาวนานกว่า 400 ปี มีแต่กะเหรี่ยงโปว์กลุ่มอื่น ๆ ที่ย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มเติมในชุมชนนี้ จากที่มีไม่กี่ครัวเรือนก็กลายเป็นหลักสิบหลักร้อย และปัจจุบันนี้มีอยู่เกือบ 200 ครัวเรือน มีประชากรกว่า 700 คน ถือว่าเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่ใหญ่มากของจังหวัดอุทัยธานี

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญา และปูชนียบุคคลอยู่ในชุมชนมากมายหลายต่อหลายรุ่น กลุ่มบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีความสำคัญต่อชุมชนมากและผู้คนให้ความเคารพนับถือ คือ เจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) ที่มีการสืบทอดสายเลือดและจิตวิญญาณกันมารุ่นต่อรุ่น ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ถึง 3 คนด้วยกัน และบุคคลที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ผู้นำชุมชน ทั้งผู้นำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่ช่วยกันปกป้องคุ้มภัยดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน เฉพาะผู้ใหญ่บ้านที่ทางการแต่งตั้งก็เดินทางมาถึงคนที่ 12 แล้ว ถือได้ว่าทุนมนุษย์ในชุมชนนี้มีความสำคัญมาก

สถานภาพปัจจุบัน ปัจจุบันมีเจ้าวัด (ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ) จำนวน 3 คน คือ เจ้าวัด 2 คน และแม่ย่า 1 คน มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้ง 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลางประจำหมู่ 8 บ้านภูเหม็น จำนวน 1 คน ประชาชนชาวภูเหม็นอีกกว่า 700 คน ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและมีความเข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง อยู่อาศัยกันด้วยความรักความสามัคคี พึ่งพากันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและร่มเย็น

การสืบทอดและความยั่งยืน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้จะมีการสืบทอดเรื่องราวการเป็นเจ้าวัด วิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี มรดกภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน และอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ต่อไปอีกหลายต่อหลายรุ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

3.ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 

3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นได้มีการสืบทอดเรื่องของการทอผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้จะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงเป็นประจำ มีแต่สุภาพสตรีที่อาวุโสมากจึงจะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงให้เห็นอยู่เป็นประจำ แต่คนกะเหรี่ยงโปว์ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงไว้ติดบ้าน 2 – 3 ชุด หากเมื่อไหร่ที่ผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยง ทุกคนก็พร้อมที่จะหยิบขึ้นมาใส่เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ได้ทันที รวมถึงหากมีการรวมตัวกันเพื่อไปร่วมกิจกรรมในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด ทุกคนจะสวมใส่เสื้อผ้าด้วยชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ต่อหน้าสาธารณชนด้วยความภาคภูมิใจ 

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ในรอบระยะเวลา 1 ปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น จะมีการแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงอย่างพร้อมเพรียงกันในหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ชาวกะเหรี่ยง งานไหว้เจดีย์ของชุมชนกะเหรี่ยง ประเพณีกินข้าวใหม่ งานสงกรานต์และประเพณีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยง งานแต่งงาน และงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชน เป็นต้น

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงเป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้สวมใส่กันมากนัก แต่ชาวกะเหรี่ยงทุกคนมีความรักและมีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงมาก และมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ทุกครั้งที่ได้สวมใส่ 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ทุกคนรักและหวงแหนในอัตลักษณ์วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายของตนเอง ทุกคนพร้อมใจกันที่จะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สรรค์สร้างเอาไว้ และจะสืบทอดต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตอย่างยั่งยืน

3.2 อาหารกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แห่งหนตำบลใดที่ไหนก็ตาม จะนำวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินไปด้วยเสมอ และชุมชนภูเหม็นก็เช่นเดียวกัน ได้รับการสืบทอดเรื่องอาหารการกินแบบกะเหรี่ยงโปว์มาจากบรรพบุรุษ และทุกวันนี้ยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงได้ทุกครัวเรือน

สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ชาวภูเหม็นสามารถทำอาหารกะเหรี่ยงได้ทุกวัน จะมีเพียงอาหารบางประเภทเท่านั้นที่มีข้อห้าม สำหรับวัตถุดิบบางรายการ หรือข้อห้ามสำหรับอาหารบางรายการ ที่จะไม่ให้มีในพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่ง ส่วนใหญ่จะสามารถทำได้ในทุกฤดูกาล และเป็นรายการอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงในท้องถิ่นได้ มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และส่วนใหญ่มีรสชาติเผ็ดร้อนคล้ายอาหารของคนไทยพื้นเมือง 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน และมีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนไม่มีวันจะสูญหาย 

สถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกอย่างมากมาย แถมสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ยังโหมกระหน่ำใส่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงอย่างหนักหน่วง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนรุ่นใหม่หันมาทำอาหารไทยและอาหารสากลกันมาก แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารของบรรพบุรุษเอาไว้ได้

การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่ายังคงสอนวิถีการดำรงชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารกะเหรี่ยงโปว์ต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง และจะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป 

ตัวอย่างเมนู น้ำพริกกับผักพื้นบ้าน

  • ชื่อทางการ: น้ำพริกกับผักพื้นบ้าน
  • ชื่อท้องถิ่น: ชือเก้

ผักพื้นบ้านสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุมชน ชนิดของผักพื้นบ้านบางชนิดเปลี่ยนแปลงไปตามที่พบได้ตามแต่ละฤดูกาล เช่น ช่วงเดือนพฤศจิกาจะมีชะเอมเทศเป็นต้น ผักบางชนิดจะพบเห็นหรือหารับประทานได้ตลอดทั้งปี เช่น ผักกูด ผักหนาม

ส่วนน้ำพริกมีหลายชนิด เช่น น้ำพริก(ชือเก้ทง) น้ำพริกปลาร้าหรือปลากระป๋อง เป็นน้ำพริกที่รับประทานบ่อยที่สุด น้ำพริก(ชือเก้หว่าย) น้ำพริกที่ทำจากปลาร้าเหมือนกับชือเก้ทง แตกต่างกันตรงที่ชือเก้หว่ายจะมีปริมาณน้ำมากกว่า น้ำพริก(ชือเก้เจี่ยว) ใช้เนื้อสัตว์ป่าเช่น นก กระรอก กระแต เอามาสับละเอียดตำใส่รวมกับน้ำพริก ลักษณะคล้ายแกง

  • สถานภาพปัจจุบัน: ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน(รับประทานเป็นประจำ) ยกเว้นน้ำพริกบางชนิดที่วัตถุดิบหายไปจากชุมชนแล้ว เช่น ชือเก้เจี่ยวที่ใส่แย้ (ชุมชนบอกว่าอร่อยกว่าเนื้ออื่น ๆ )
  • อุปกรณ์ที่ใช้: สากครก สำหรับตำน้ำพริก หม้อต้ม

3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์ ประวัติความเป็นมา อย่างที่ได้นำเสนอไปตอนต้นว่า ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) มีการอนุรักษ์สืบสานวิถีวัฒนธรรมประเพณีของบรรพชนกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงโปว์แห่งนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ผู้คนอยู่อาศัยร่วมกันหลายช่วงวัย ทำให้มีผู้นำในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีเทศกาลประเพณีผู้คนก็ไม่เขินอายที่จะสวมใส่เสื้อผ้ากะเหรี่ยง มาเข้าร่วมงาน เมื่อผู้อาวุโสนำลูกบ้านก็ตาม ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชุมชนนี้จะมีการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

สถานที่และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลากว่า 400 ปีแล้วที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีวัฒนธรรมอื่นใดที่จะมาแทรกแซงวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์ได้ จะมีก็เพียงเล็กน้อย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยสนใจเรื่องของภาษาเขียนเท่าใดนัก ซึ่งเยาวชนอาจจะเห็นว่าไม่ค่อยจำเป็นมากนักในยุคปัจจุบัน แต่วิถีวัฒนธรรมอื่น ๆ ยังคงรักษาไว้ได้อย่างครบถ้วน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงโปว์วัยอาวุโสที่มีความภาคภูมิใจกับวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของตนเอง และมุ่งมั่นสืบทอดให้กับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อไม่ให้เลือนหาย

สถานการณ์ปัจจุบัน ในปีหนึ่ง ๆ จะมีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมทุกเดือนตามปีปฏิทิน เพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมตามวิถีกะเหรี่ยงโปว์ โดยเฉพาะชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีเจ้าวัดถึง 3 คน ดังนั้น ในแต่ละปีจะมีการไหว้เจดีย์ 3 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 และวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 และยังมีพิธีกรรมอื่น ๆ ตามความเชื่ออีกตลอดทั้งปี 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปม แต่ทว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นก็สามารถรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ได้อย่างดี ทำให้มั่นใจได้ว่าวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นจะมีความยั่งยืนตลอดไป

3.4 งานช่างฝีมือดั้งเดิม

โงว

  • ชื่อทางการ : โงว
  • ชื่อท้องถิ่น : โงว
  • ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว : พบได้ทั่วไปในชุมชนกะเหรี่ยงในแถบภาคตะวันตก ใช้ในการเก็บผลผลิต ทำจากไม้ไผ่ โดยนำต้นไผ่มาผ่าซีกเหลาทำตอก(บล้าช่า) แล้วจึงสานขึ้นรูปโงว 
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน : ต้นไผ่เป็นวัตถุดิบ/ต้นทุนทางธรรมชาติที่หาได้ทั่วไปในชุมชน โงวแสดงถึงความเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่ใช้ในการเก็บผลผลิตจากไร่ และความสัมพันธ์กับป่า ที่ชุมชนใช้โงวในการขนของป่ากลับมา การสานโงวนิยมทำในช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม หรือในช่วงเวลาว่างระหว่างวัน มีทั้งที่ใช้เองในครอบครัว และจำหน่ายแก่คนภายนอก(มีหลายขนาด) แต่ที่ใช้เองในชุมชนจะเป็นขนาดใหญ่
  • สถานภาพปัจจุบัน : พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน
  • การถ่ายทอดและการสืบทอด : ในระดับครอบครัว (เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน)
  • อุปกรณ์ที่ใช้ : ไม้ไผ่ มีดตัดต้นไผ่ และมีดเหลาตอก ผ้าสำหรับทำสายสะพาย

กระแตะ

  • ชื่อทางการ : กระแตะ
  • ชื่อท้องถิ่น : คลี้
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน : ใช้สำหรับตากใบยาสูบหลังจากหั่นเป็นเส้น ๆ แล้ว ชาวกะเหรี่ยงนิยมสูบใบยาสูบเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น โดยมักสูบกับกระดาษห่อที่ซื้อได้จากร้านขายของชำ หรือห่อกับใบตองแห้ง
  • สถานภาพปัจจุบัน : ยังพบเห็นได้ในชุมชน
  • อุปกรณ์ที่ใช้ : ไม้ไผ่ มีดตัดต้นไผ่ และมีดเหลาตอก

3.5 ศิลปะการแสดง

รำกะเหรี่ยงโพล่ง

  • ชื่อทางการ : รำกะเหรี่ยงโพล่ง
  • ชื่อท้องถิ่น : รำโพล่ง
  • ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว : เป็นศิลปะการแสดงที่สร้างขึ้นมาใหม่ เนื้อหาของเพลงบอกเล่าตัวตนของชุมชน
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน : เป็นช่องทางสร้างรายได้เยาวชนในช่วงที่มีเทศกาล(มีการจ้างหรือเชิญจากภายนอก)
  • สถานภาพปัจจุบัน : ยังคงทำอยู่(ตามที่มีการจ้างหรือเชิญ)
  • การถ่ายทอดและการสืบทอด : การเรียนการสอนแบบกลุ่ม (ผู้ใหญ่สอนเด็ก)
  • อุปกรณ์ที่ใช้ : เครื่องแต่งกายของชุมชน

3.6 การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

ขว้างสาก

  • ชื่อทางการ : ขว้างสาก
  • ประวัติความเป็นมาและการกระจายตัว : กีฬาขว้างสาก เป็นการนำสากตำข้าวมาขว้างแข่งกัน ผู้ที่ขว้างได้ไกลที่สุดเป็นผู้ชนะ
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน : กีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกะเหรี่ยงด้วยกันในละแวกใกล้เคียง
  • สถานภาพปัจจุบัน : ยังคงทำอยู่
  • การถ่ายทอดและการสืบทอด : ไม่ปรากฏชัดเจน แต่เป็นกีฬาที่จะมีการเล่นและซ้อมในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬา
  • อุปกรณ์ที่ใช้ : สากตำข้าว

 สะบ้า

  • ชื่อทางการ : สะบ้า
  • สถานภาพปัจจุบัน : ไม่ปรากฏว่ามีการเล่นกันในช่วงเวลาปกติ จะเล่นเมื่อมีคนนอกเข้ามา(ในฐานะการสาธิตกีฬาพื้นบ้าน) และช่วงที่มีการแข่งขันกีฬา
  • อุปกรณ์ที่ใช้ : ลูกสะบ้า

 เดินขาหย่าง

  • ชื่อทางการ : เดินขาหย่าง
  • สถานภาพปัจจุบัน : ยังพอพบเห็นได้ในชุมชน ผู้ที่เล่นได้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่
  • การถ่ายทอดและการสืบทอด : ไม่ปรากฏ
  • อุปกรณ์ที่ใช้ : ไม้ไผ่

 เดินกะลา

  • ชื่อทางการ: เดินกะลา
  • สถานภาพปัจจุบัน: ยังพบเห็นได้ในชุมชน
  • การถ่ายทอดและการสืบทอด: ในระดับครอบครัว ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองมักทำให้เด็กในครอบครัวเล่น
  • อุปกรณ์ที่ใช้: กะลามะพร้าว เชือก

4.ทุนทางเศรษฐกิจ 

พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา ในอดีตบรรพบุรุษในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้นิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ที่สำคัญเป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือที่เรียกว่าการทำไร่หมุนเวียนนั่นเอง เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือนในหนึ่งรอบปีปฏิทินเท่านั้น ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย 

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัดมาก ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน ประกอบกับความเจริญทางวัตถุของชุมชนเมืองเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ชุมชน ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ ชาวบ้านจึงเปลี่ยนวิถีการเกษตรมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพหรือปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาเลี้ยงชีพ ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและความหมายมากมายต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นทั้งสิ้น 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย สับปะรด เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

5.ทุนทางสังคม/การเมือง 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก ดังจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านได้มีการแต่งตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนและดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2415 ทางการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกขึ้นดูแลชุมชน ชาวบ้านก็ให้ความเคารพนับถือ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี

ช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการที่ภาครัฐได้แต่งตั้งให้ดูแลชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำทุกรุ่นทุกยุคสมัย รวมถึงในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จนปัจจุบันนี้มีผู้ใหญ่บ้านถึง 12 คนแล้ว

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านทุกช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์ร้ายและดีมาอย่างยาวนานกว่า 400 ปี ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่ไปเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเรียนรู้และปรับตัวกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรู้คุณค่า 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีประชากรกว่า 700 คน เกือบ 200 ครัวเรือน จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ หมู่ที่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลางประจำหมู่ 8 ดูแลความเรียบร้อยและความสงบสุขของชุมชน

การสืบทอดและความยั่งยืน นับว่าเป็นความโชคดีที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้ มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และ ไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา และจะมีการดำรงรักษาไว้ให้เกิดความยั่งยืนเช่นนี้ตลอดไป

ภาษากะเหรี่ยงโปว์

เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน ภาษากะเหรี่ยงมีตัวอักษรกะเหรี่ยง แต่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเขียนหรืออ่านได้เนื่องจากเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และการเขียนไม่ใช่สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันของเด็ก

ดังนั้น ภาษากะเหรี่ยงของชุมชนพุเม้ยง์จึงคงอยู่ในลักษณะของภาษาพูดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนภาษาเขียนมีอยู่แค่ส่วนน้อย อย่างไรก็ตามทางชุมชนมีความพยายามผลักดันให้มีการอนุรักษ์ภาษา โดยการจัดตั้งห้องเรียนภาษาเพื่อสอนภาษาเขียนกะเหรี่ยงให้กับเยาวชนในชุมชน และผู้ที่สนใจเข้ามาเรียน โดยผู้ที่ทำหน้าที่สอนเป็นผู้อาวุโสในชุมชน


วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์  ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลทุกข์สุขและความสงบเรียบร้อยในชุมชน ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐเพื่อดูแลทุกข์สุขของราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาช่วยผู้ใหญ่บ้านในการดูแลและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและภาครัฐเป็นอย่างดี ในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ซึ่งได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือระดับท้องถิ่น จากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหรือการเรียกร้องหรือการร้องเรียนใด ๆ เกิดขึ้นในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้เลยสักครั้ง 

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นเป็นชุมชนที่ผู้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ความผูกพันความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความร่วมมือร่วมใจ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้วิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย

ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณและความเชื่อ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ผู้นำกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากแม้ชาวบ้านช่วยกันเต็มความสามารถแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ได้ ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้งจะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นหารือหรือรายงานให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อหาวิธีช่วยเหลือชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ชาวบ้านจะยังคงพร้อมใจให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่ภาครัฐเห็นสมควร อย่างเต็มกำลังความสามารถ จนกว่าจะคลี่คลาย

การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย ส่วนมากจะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้นำชุมชนพยายามขยายเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนชุมชนไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม   ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม

จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นอยู่หลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น


มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบันไปมาก เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ มีการค้าขายพริกหรือของป่าเพียงเล็กน้อย หาเงินไว้ซื้อเกลือเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ในยุค 50 ทศวรรษหลังสุดที่ผ่านมานี้ ผู้คนในชุมชนจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีพ จึงถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีเศรษฐกิจของชุมชนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง


การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมและปัญหาที่พบ ยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน (ยังไม่มีโฉนด) การขาดแคลนการส่งต่อสืบทอดองค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียน 

การพัฒนาชุมชนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชนห่างเหินกันมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดประชุมเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่คนเข้าร่วมประชุมตามหัวข้อที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับตนเอง หรือเข้าแค่ระยะแรก ๆ 


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นส่วนหนึ่งย้ายมาจากเมืองอู่ไทยเก่า บางส่วนย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเมียนมาร์ บางส่วนย้ายมาจากชุมชนใกล้เคียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเหมือนกัน และเนื่องด้วยชุมชนนี้ตั้งมานานกว่า 400 ปีแล้ว ดังนั้น ผู้คนในชุมชนจึงไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองไทยทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคน ได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้รับบริการทางสาธารณสุขเท่าที่คนไทยคนหนึ่งพึงได้รับ มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์นั้นพึงประสงค์


ในอดีตที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นแห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ไม่มี แต่ชุมชนก็อาศัยภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายหลังรัฐได้เข้ามาช่วยดำเนินการเรื่องระบบสาธารณูปโภคให้  เช่น การทำประปาหมู่บ้าน เดินไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันยังคงขาดเพียงเรื่องเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยังไม่มีเท่านั้น ภาพรวมในปัจจุบันคนในชุมชนถือได้ว่ามีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอในการดำเนินชีวิต


ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย และโรคเรื้อนไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขภาวะทุกบ้าน ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิดทุกคน ถือได้ว่าได้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่าประชาชนคนไทย


ในอดีตเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นได้รับการศึกษาแบบการศึกษาผู้ใหญ่เนื่องจาก ไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมามีโรงเรียนบ้านตลิ่งสูงตั้งอยู่ห่างเพียง 3 กิโลเมตร ทำให้เยาวชนได้รับการศึกษาภาคบังคับ เด็กและเยาวชนที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วบางคนไปเรียนต่อโรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอห้วยคต ซึ่งมีหลาย ๆ โรงเรียนอยู่ใกล้กับชุมชน และส่วนใหญ่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 80 และเยาวชนที่มีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสามารถเรียนจบระดับปริญญาตรีร้อยละ 10 เยาวชนส่วนหนึ่ง เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วไม่ได้เรียนต่อ ขอออกมาหางานทำช่วยพ่อแม่ บ้างก็เข้ากรุงเทพเพื่อหางาน บ้างก็แต่งงานสร้างครอบครัวอยู่ในชุมชนไปในที่สุด จึงถือเป็นความท้าทายของภาครัฐ ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ในการหาวิธีการให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีกันทุกคนในอนาคต


การละทิ้งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับคนทุกวัย การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมโดยเฉพาะความเชื่อและวิถีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เคยทำในอดีตก็เปลี่ยนไป เช่น ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านเป็นพื้นที่ปลอดสุรา แต่ปัจจุบันมีการดื่มกินกันมากขึ้น แต่บางบ้านก็ยังยึดถือปฏิบัติ ซึ่งอาจเกิดปัญหาตามมาได้

การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเคลื่อนไหวที่คนในชุมชนจะไม่ค่อยมาเข้าร่วม ต่างกับกิจกรรมทางความเชื่อ พิธีกรรมที่ยังมีการเข้าร่วมอยู่เป็นประจำ หรือยังมีจำนวนผู้เข้าร่วมเยอะอยู่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์. (2565). การถอดบทเรียนสิทธิชุมชนและนิเวศวัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนกะเหรี่ยงพุเม้ยง์ ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์. (3 พฤศจิกายน 2565). ปฏิทินนิเวศกับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. https://www.sac.or.th/

นัฐวุฒิ สิงห์กุล, และ วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์. (2562). พลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตกของไทย ระยะที่ 1 พื้นที่ศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์ ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่1 (พ.ศ. 2562). กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

วรวิทย์ นพแก้ว, กิตติพัฒน์ คงมะกล่ำ, สมบัติ ชูมา, อังคาร ครองแห้ง, และ รัตนา ภูเหม็น. (2563). แนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี. กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อังคาร ครองแห้ง, สัมภาษณ์, 16 พฤศจิกายน 2565

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

วรวิทย์ นพแก้ว และคณะ. (2563). วิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟู วิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อังคาร คลองแห้ง และคณะ. (2562). รายงานโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี.

กิตติพัฒน์ คงมะกล่ำ และ วรวิทย์ นพแก้ว. (2561). วิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการความขัดแย้งในด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี”. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

อบต.ทองหลาง โทร. 0-5651-8155