เส้นทางเข้าสู่อำเภอฮอด สืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวปกาเกอะญอ
หมู่บ้านแห่งนี้เป็นจุดผ่านของชาวบ้านบ้านใกล้เคียงเพื่อจะเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอฮอด ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "กองปะ"
เส้นทางเข้าสู่อำเภอฮอด สืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวปกาเกอะญอ
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 ในอดีตบ้านกองปะขึ้นอยู่กับหมู่ที่ 11 ตำบลบ่อหลวง มีจำนวนครัวเรือน 6 ครัวเรือน โดยหมู่บ้านแห่งนี้เป็นจุดผ่านสำคัญของหมู่บ้านบริเวณโดยรอบเพื่อเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอฮอด ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "กองปะ" ต่อมาจำนวนครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ชาวบ้านอพยพจากหมู่ที่ 11 ตำบลบ่อหลวง มาตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่เป็นบ้านกองปะ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งหมู่บ้านมีภูเขาสูงรอบล้อม สลับกับพื้นที่ราบลุ่ม มีต้นไม้รายล้อมตามบริเวณต่าง ๆ ของหมู่บ้าน
มีประชากรชาวปกาเกอะญอทั้งหมด 137 คน และครัวเรือนจำนวน 39 ครัวเรือน
ปกาเกอะญอประชากรในหมู่บ้านมีอาชีพทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลัก คือ ข้าวโพด, ฟักทอง, มะเขือเทศ, ถั่ว และมีสถานประกอบการร้านค้าจำนวน 1 แห่ง
ประเพณีแต่งงาน ผู้หญิงจะเป็นผู้เลือกคู่ครองเอง เจ้าสาวจะต้องทอเสื้อผ้า กางเกง ย่ามไว้ให้ เจ้าบ่าว ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องฆ่าหมูฆ่าไก่เพื่อทำพิธีกรรมบอกต่อผีบรรพบุรุษและเป็นอาหารเลี้ยงแขก แต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง 1 ฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนแยกไปปลูกบ้านใกล้กัน
ประเพณีปีใหม่ โดยหัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้ระบุวันล่วงหน้า แต่ละหมู่บ้านจะมีปีใหม่แต่ละปีไม่ตรงกัน เพราะเป็นพิธีที่หมายถึงการเริ่มต้นของฤดูกาลการเกษตร และอยู่เย็นเป็นสุข
การเลี้ยงผี การเลี้ยงผีมีหลายพิธีและต่างวาระกัน เช่น การเลี้ยงผีเพื่อขอขมาลาโทษต่อเจ้าบ้านเจ้าเมือง ซึ่งเป็นผีป่า ผีหลวงผีฟ้า และการเลี้ยงผีเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย กะเหรี่ยงทอผ้าจนเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่า เสื้อเด็กและหญิงสาวจะเป็นชุดทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาวทอหรือปักประดับลวดลายให้ งดงามส่วนหญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อนตกแต่งด้วย ลูกเดือย หรือทอยกดอก ยกลาย สำหรับผู้ชายกะเหรี่ยงนั้นส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่ง ด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อผู้หญิง นุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). บ้านกองปะ. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2567. ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง". https://www.ศศช.com
ศศช.บ้านกองปะ ศสกร. อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2567. Facebook. https://www.facebook.com/people/