ชุมชนอัมพวามีสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีคลองธรรมชาติที่ตัดเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลองทั้งสองด้าน ริมฝั่งคลองมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ชุมชนอัมพวามีสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีคลองธรรมชาติที่ตัดเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลองทั้งสองด้าน ริมฝั่งคลองมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ชุมชนริมคลองอัมพวา เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งสถาปัตยกรรม อาคารริมน้ำ ศิลปหัตถกรรม โบราณสถานและอาหาร เป็นชุมชนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองบริเวณสองฝั่งคลองอัมพวา ครอบคลุมพื้นที่เทศบาลตำบลอัมพวาและบางส่วนของตำบลบางช้าง
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาชองชุมชนริมคลองอัมพวามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พื้นที่บริเวณนี้เดิมอยู่ในแขวงบางช้างขึ้นอยู่กับเมืองราชบุรี ที่มีความเจริญในด้านการเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แขวงบางช้างเริ่มปรากฏมีสวนผลไม้และพืชผักที่อุดมสมบูรณ์มีความเจริญทางด้านเกษตรกรรมและการค้าขายจนมีตลาดเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” เป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนผลผลิตจากสวนแถบบางช้างและบริเวณใกล้เคียง แถบบางช้างเป็นที่รู้จักในนาม "สวนนอก" และเปรียบเทียบกับ "สวนใน" โดยมีคำเรียกที่ว่า "บางช้างสวนนอกบางกอกสวนใน" หมายถึง สวนบ้านนอก คือ สวนบางช้าง ส่วนสวนที่อยู่ในเมืองใกล้รั้ววังเจ้านาย คือ สวนใน
ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรี แขวงบางช้างแยกออกจากจังหวัดราชบุรีเรียกว่า "เมืองแม่กลอง" สมุทรสงครามมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พม่าส่งกองทัพผ่านเข้ามาถึงบริเวณตำบลบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมผู้คนสร้างค่ายป้องกันทัพพม่าจนข้าศึกพ่ายแพ้ไป ณ บริเวณค่ายบางกุ้ง นับเป็นการป้องกันการรุกรานของพม่าเข้ามายังไทยครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้น
บริเวณบางช้างเดิมนั้นเป็นนิวาสถานเดิมของ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1 (เดิมชื่อ นาค ท่านเป็นบุตรีของท่านทอง และท่านสั้น มหาเศรษฐีแขวงบางช้าง) ซึ่งอยู่สืบกันมาในบริเวณบางช้าง พระองค์ประสูติที่บ้านอัมพวา เมื่อทรงสมรสกับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (รัชกาลที่ 1 ณ เวลานั้น) และคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ท่านได้หลบภัยมาอยู่ที่อัมพวา และได้ย้ายตำหนักไปอยู่ ณ ที่ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม ณ ที่นั้นได้ให้ประสูติกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อมาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงพระองค์แรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทร์ฯ ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่นั้นมา เรียกกันว่า "ราชินิกุลบางช้าง" ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องเล่าว่า สกุล ณ บางช้างนี้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเศรษฐีบางช้างชื่อ น้อย บรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก เป็นนายตลาดหญิงทำหน้าที่เก็บอากรขนอนตลาดของชุมชน บางช้าง
ในปี พ.ศ. 2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่ตอนล่างของแขวงบางช้าง ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออัมพวาขึ้นอยู่กับเมืองสมุทรสงคราม มณฑลราชบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศรวมท้องที่ตำบลอัมพวาและตำบลกะพ้อมเข้าด้วยกันเป็นตำบลอัมพวา และทางราชการได้พิจาจารณาว่าตำบลอัมพวามีจำนวนประชากร ความเจริญ และรายได้ท้องถิ่น ถึงเกณฑ์ที่จะจัดตั้งเทศบาลได้ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกายกฐานะตำบลอัมพวาขึ้นเป็นเทศบาลตำบลอัมพวาในปี พ.ศ. 2483 มีตราประจำเทศบาลเป็นรูปวงกลม มีช้างเผือกอยู่ในป่ามะม่วง เทศบาลตำบลอัมพวาจึงหมายถึงตำบลในท้องที่ที่มีมะม่วงมากหรือตั้งอยู่ในป่ามะม่วง
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมคลองอัมพวา
เริ่มแรกจะมีการกระจายตัวอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตามคลองอัมพวา คลองบางจาก คลองดาวดึงส์ คลองลัดตาโชติ คลองผีหลอก คลองประชาชมชื่น คลองแควอ้อม คลองบางช้าง ซึ่งยึดวัดเป็นศูนย์กลางในการกระจายตัวของชุมชน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บริเวณชุมชนริมคลองอัมพวามีความหนาแน่นมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญอย่าง ตลาดน้ำอัมพวา โครงสร้างของชุมชนประกอบด้วยชุมชนชาวสวน ที่อยู่อาศัยกระจายตัวอยู่ในบริเวณที่ห่างออกจากปากคลองอัมพวา และมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นกลุ่มชุมชนแรกในพื้นที่ และชุมชนร้านค้าริมคลอง ที่มีลักษณะที่อยู่อาศัยแบบบ้านแถว ห้องแถวไม้ เรียงชิดกันไปตามลำคลองตั้งแต่ปากคลอง เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการก่อตัวของตลาดน้ำบริเวณปากคลอง โดยสามารถแบ่งการเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่
- ช่วงที่ 1 ก่อนสมัยอยุธยา พื้นที่บริเวณชุมชนริมคลองอัมพวา มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ไม่สามารถทำการเกษตรได้ รูปแบบการอยู่อาศัยจะเป็นการทำประมงพื้นบ้านหาอาหารเพื่อยังชีพโดยการจับสัตว์น้ำเป็นหลัก
- ช่วงที่ 2 สมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปแบบชุมชนเป็นกลุ่มบ้านสวนริมน้ำ การเกษตรกรรมและตลาดน้ำเพื่อการค้าขาย มีเรือนแพของชาวจีนอยู่บริเวณปากคลอง มีการค้าขายผลไม้ เครื่องอุปโภคบริโภคไปจนถึงเครื่องประดับ
- ช่วงที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 5 - พ.ศ. 2515 เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณสองฝั่งคลอง มีการอนุญาตให้ชาวบ้านถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเอง ในพื้นที่ริมน้ำแถวปากคลองอัมพวา และมีการอพยพเข้ามาของกลุ่มชาวจีน จึงทำให้บ้านเรือนและร้านค้าบริเวณตลอดสองฝั่งคลองเพิ่มมากขึ้น
- ช่วงที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึงปัจจุบัน การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีการสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าและชลประทาน ทำให้ความเจริญจากเดิมจะอยู่บริเวณริมแม่น้ำย้ายออกมากระจุกอยู่บริเวณริมถนนแทน ชาวบ้านชุมชนริมคลองอัมพวามีการขยายตัวชุมชนลึกเข้าไปจากริมฝั่งคลองมาขึ้น ย่านการค้าริมน้ำของชุมชนถูกลดบทบาทลง
ชุมชนอัมพวาหรือเทศบาลตำบลอัมพวาเป็นชุมชนริมน้ำที่ยังคงเอกลักษณ์การตั้งถิ่นฐานริมน้ำในอดีตตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองบริเวณสองฝั่งคลองอัมพวา แบ่งออกเป็น 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,505 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ 71 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสมุทรสงครามทางรถยนต์ 6 กิโลเมตร ซึ่งชุมชนอัมพวามีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบางช้าง
- ทิศใต้ ติดกับ น้ำแม่กลอง
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ้านปรก
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำแม่กลอง
ลักษณะภูมิประเทศ
ด้านทิศใต้กับทิศตะวันตกมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน พื้นที่เป็นที่ราบ มีลำคลองผ่านหลายสาย ได้แก่ คลองอัมพวา คลองวัดนางวัง คลองวัดบางกะพ้อม คลองบางจาก คลองดาวดึงส์ คลองลัดตาโชติ ซึ่งคลองเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน น้ำไหลขึ้นลงตลอดปี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ ได้แก่ สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ สวนมะพร้าว สวนมะม่วง ฯลฯ
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศในชุมชนจะมีฝนตกชุกประมาณเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทะเลจีนใต้ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนัก จึงทำให้อากาศไม่ร้อนจัดมากนัก
จากการสำรวจข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนคลองอัมพวา จำนวนหลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 4,508 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,144 คน หญิง 2,364 คน
ผู้คนในชุมชนอัมพวามีโครงสร้างของกลุ่มชุมชนดังต่อไปนี้
ชุมชนชาวสวน มีลักษณะที่อาศัยกระจายตัวอยู่ในบริเวณที่ห่างออกมาจากปากคลองอัมพวา ซึ่งคาดว่าเป็นชุมชนเริ่มแรกในพื้นที่และมีความสัมพันธ์กับการก่อตั้งวัดมาก่อน
ชุมชนร้านค้าริมคลอง มีลักษณะที่อยู่อาศัยแบบบ้านแถว ห้องแถวไม้ เรียงชิดไปตามลำคลองตั้งแต่ปากคลอง คาดว่าเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นมาไล่เลี่ยกับการก่อตัวของตลาดน้ำบริเวณปากคลอง
วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม จากอดีตที่คลองอัมพว่าเป็นตลาดน้ำสำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ชุมชนคลองอัมพวาจึงมีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง สภาพสังคมมีความเป็นอยู่ที่หนาแน่นคึกคักตลอดสองฝั่งคลอง วิถีชีวิตชุมชนใช้น้ำเป็นเส้นทางหลัก ปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้ามามีถนนเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่สะดวกการสัญจรทางน้ำลดความสำคัญลง รูปแบบการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางน้ำเลือนหายไป ชาวสวนเปลี่ยนมาขนสงผลผลิตทางรถยนต์แทนการลำเสียงขนส่งทางเรือมากขึ้น ย่านร้านค้าตลาดริมน้ำเปลี่ยนบทบาทมาให้บริการเพียงในระดับชุมชน หมู่บ้านในละแวกใกล้ ๆ ส่งผลถึงสภาพสังคมของชุมชนเปลี่ยนไป โดยผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายออกไป คนวัยหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกพื้นที่ชุมชนที่มีแหล่งงานรองรับ เข้าไปศึกษาในกรุงเทพฯ บริเวณชุมชนจึงมีความเงียบเหงา การค้าเหลือน้อยลง คนอยู่น้อยลง มีเพียงคนในวัยสูงอายุและเด็กเป็นส่วนใหญ่ ด้านวัฒนธรรมประเพณีและเทศกาลดั้งเดิมของชุมชนริมน้ำเริ่มขาดการส่งเสริม เปลี่ยนตามกระแสสังคมที่ทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามสภาพสังคม การดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนริมน้ำ และการสืบทอดทางวัฒนธรรมก็ยังคงเหลืออยู่อีกมาก
วิถีชีวิตด้านเกษตรกรรม โดยทั่วไปเศรษฐกิจของอัมพวาขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรม พื้นที่ของชุมชนคลองอัมพวาอยู่บริเวณที่ราบลุ่มซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากเหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ยืนต้น โดยจะกระจายตัวอยู่ทุก ๆ ส่วนของชุมชนปะปนที่อยู่อาศัย พืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ชุมชน คือ มะพร้าว ลิ้นจี่ และส้มโอ โดยใช้แม่น้ำลำคลองและถนนในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร
1. คุณป้าบุบผา อั้นจินดา ผู้สืบทอดการทำหมวกไห่หน่ำโล้ย หรือหมวกกะโล่ ป้าบุบผาผู้ที่ยังสามารถสานหมวกไห่หน่ำโล้ยตั้งแต่ต้นจนจบสิ้นกระบวนการได้ อีกทั้งรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหมวกไห่หน่ำโล้ย ป้าบุบผาให้ร่วมสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาโดยไม่หักค่าใช้จ่าย
2. คุณพ่อวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นครู แต่มีความสนใจในศิลปะโบราณวัตถุ จึงทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องเครื่องปั้นดินเผา จากประสบการณ์หลายปีในการซ่อมแซมโบราณวัตถุที่ชำรุดกับการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา ทำให้คุณพ่อวิรัตน์ได้พัฒนาเทคนิคการเผา การเคลือบ การเขียนและการลงสีตามกรรมวิธีดั้งเดิมแท้ ๆ ขึ้นมาใหม่ และได้ถ่ายทอดงานศิลปะนี้ให้แก่ลูกหลานเพื่อสืบทอดคุณค่าแห่งเครื่องเบญจรงค์ต่อไป
3. คุณลุงสมทรง แสงตะวัน ปราชญ์ชาวบ้านแห่ง "ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม" คุณลุงสมทรงเป็นก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งมีแนวคิดที่เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำชุมชนที่มีรูปแบบกิจกรรมในการพึ่งตนเองอย่างสมดุลตามบริบทและวิถีชีวิตของชุมชน คือ การทำผลไม้กลับชาติ โดยพยายามคิดหาวิธีแปรรูปพืชผักที่ไร้ค่าเพราะรสชาติไม่อร่อย เช่น บอระเพ็ด มะระขี้นก มะละกอ มะนาว ตะลิงปลิง มาทำให้มีรสชาติหวานหอม อร่อย ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนที่ทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่แล้ว
สถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคลองอัมพวา
- เรือนแถวไม้ดั้งเดิม เรือนแถวโครงสร้างไม้ชั้นเดียว หลังคากระเบื้องปูนแผ่นหรือสังกะสีต่อเนื่องกันหลายหลัง ชายคาสังกะสีคลุมทางเดิน ประตูบานเฟี้ยมไม้ ช่องระบายลมรูปแบบต่าง ๆ มีการสร้างบ้านต่อเติมไปทางด้านหลังโดยมีครัวและห้องน้ำคั่นอยู่ มีลักษณะเด่น คือ ความต่อเนื่องของเส้นแนวหลังคาและชายคา
- บ้านเดี่ยวไม้ดั้งเดิม บ้านเดี่ยวไม้มีโครงสร้างชั้นเดียวหลังคาจั่วสังกะสี บ้านเดี่ยวโครงสร้างไม้สองชั้นหลังคากระเบื้องปูนแผ่น นอกจากนี้ยังมีร้านค้าเดี่ยวโครงสร้างไม้ชั้นเดียวหลังคากระเบื้องปูนแผ่นหรือสังกะสี ชายคาสังกะสีคลุมทางเดิน ประตูบานเฟี้ยมไม้ ลักษณะจะกลมกลืนกับร้านแถวโครงสร้างไม้ชั้นเดียว
ทุนวัฒนธรรม
- วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมชื่อว่า “วัดอัมพวัน” ตามชื่อตำบล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอัมพวันเจติยาราม” ซึ่งมีความหมายว่า “สวนมะม่วงอันร่มรื่นเกษมสำราญเป็นที่เคารพบูชา” วัดนี้สร้างในสมัย ร.1 คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. 2325 วัดอัมพวันเจติยาราม มีความสำคัญยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นนิวาสสถานเดิมของหลวกยกบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี) และคุณนาก (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ใน รัชกาลที่ 1) ได้มาอาศัยอยู่หลังจากที่บ้านเดิมใกล้วัดจุฬามณีถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว เมื่ออพยพมาจากป่า บริเวณหลังวัดจุฬามณี จึงได้มาอาศัยอยู่ ณ ที่นี้ และได้คลอดบุตรคนที่ 4 คือ คุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ณ สถานที่แห่งนี้ เชื่อกันว่า คือ บริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันฯ ซึ่งรัชกาลที่ 3พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดา
- อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือที่รู้จักว่า “อุทยานรัชกาลที่ 2 ” ตั้งอยู่ใกล้ ๆ วัดอัมพวันเจติยาราม มีถนนสายอัมพวา – บางแขวกนกผ่านหน้าอุทยาน ซึ่งอุทยานแห่งนี้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดป้ายอุทยานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2522 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530
- วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองอัมพวา เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยท้าวแก้วผลึกหรือน้อย นายตลาดบางช้าง ต้นวงศ์ราชินีกูลบางช้าง บริเวณด้านหลังวัดนี้เป็นนิวาสถานของสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ตามลำดับ เนื่องจากวัดจุฬามณีมีอายุยาวนาน จึงได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2511 โดยหลวงพ่อเนื่องซึ่งปัจจุบันมรณภาพแล้วแต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย สังขารได้รับการบรรจุในโรงแก้วให้ประชาชนสักการะบูชา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติและวิถีชีวิตของชาวไทย
- หมวกไห่หน่ำโล้ย หรือ หมวกกะโล่ เป็นหมวกแบบจีนที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่นำติดตัวมา ด้วยความสวยงามและแข็งแรงอันเป็นลักษณะเด่นของหมวกชนิดนี้ทำให้ผู้คนทั่วไปเกิดความนิยม ชาวจีนจึงได้ถ่ายทอดวิชาการสานหมวกแก่คนในชุมชนอัมพวา โดยปัจจุบันมีผู้ที่สามารถสานหมวกชนิดนี้ได้ครบทุกขั้นตอนเหลือเพียงไม่กี่ท่าน หนึ่งในนั้นคือ คุณป้าบุบผา อั้นจินดา
- เครื่องเบญจรงค์ของจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ศิลปะและความประณีตอันทรงคุณค่าที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความมานะอุตสาหะในการฝึกฝนทุ่มเท ตลอดจนความสามารถในการเข้าถึงศิลปะอย่างแท้จริงของคนในชุมชน ทำให้จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์แบบโบราณได้อย่างประณีตบรรจง คล้ายเครื่องเบญจรงค์สมัยอยุธยาทั้งในเรื่องของสีและลวดลาย จนกลายเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องเบญจรงค์ที่สำคัญระดับประเทศในปัจจุบัน
โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
โครงการที่สร้างได้ให้แก่ผู้คนในชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวริมคลอง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวเกิดจากคุณประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งนำที่ดินดังกล่าวมาพัฒนาจนเกิดโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ในปี พ.ศ. 2551 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ และต่อมาในปี พ.ศ. 2554 คุณวณี ด้วงคุ้ม และคุณประทิน ด้วงคุ้ม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินสวนผลไม้ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา และ 2 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้นำพื้นที่ทั้งหมดมาจัดกิจกรรม แบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้
1. พื้นที่สวนชัยพัฒนานุรักษ์ จัดพื้นที่สวนผลไม้ดั้งเดิม เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานไม่ใช้สารเคมี มีการปลูกพันธุ์พืชท้องถิ่น เช่น ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม มะพร้าวพันธุ์ต่าง ๆ ผสมผสานกับพืชอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น กล้วย ตะไคร้ มะปราง ฯลฯ โดยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวาในด้านการเกษตร ส่งเสริมให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรระหว่างเกษตรกรชาวสวน นักวิชาการ และผู้สนใจ
2. ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ และลานสวนชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชุมชน และคนในท้องถิ่นเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายหรือจัดแสดงสินค้าที่เป็นของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
3. ร้านค้าชุมชนของโครงการฯ เป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เป็นแกนกลางในการส่งเสริมการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ รวมถึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถต่อยอดพัฒนาสินค้า/ ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาธุรกิจของชุมชนด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป
4. ร้านชานชาลา เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม และอาหารว่าง โดยร้านชานชาลาจะเป็นพื้นที่เปิดเชื่อมโยงกิจกรรมริมคลองอัมพวา ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ และพื้นที่สวน รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ร้านชานชาลามีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมค้าขายริมคลองอัมพวา โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวซื้ออาหารจากเรือ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามารับประทานในร้าน เป็นหน้าบ้านที่อบอุ่น
5. ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวทางวัฒนธรรมชุมชนต่าง ๆ หมุนเวียนให้สอดคล้องกับการจัดงานเทศกาล และกิจกรรมภายในพื้นที่โครงการฯ เปิดโอกาสให้ชุมชน และผู้สนใจเข้าร่วมจัดนิทรรศการ โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ความภาคภูมิใจแก่ชุมชน ส่งเสริม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ความรู้ภูมิปัญญา ของชุมชน และท้องถิ่น
ชุมชนมรดกทางวัฒนธรรม
นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชมคลองอัมพวาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 กำหนดบทบาทเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนจากระบบค้าย่อยมาเป็นระบบการค้าสากล นอกจากนี้การสร้างถนนสุขุมวิทก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะถนนเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนแม่น้ำลำคลอง จึงทำให้วิถีชีวิตริมน้ำของชาวชุมชมคลองอัมพวาเลือนหายไป ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตริมน้ำ จึงต่อมาได้เกิดโครงการอนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อมพื้นที่คลองอัมพวาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ 1 แห่ง นอกจากนั้นเทศบาลตำบลอัมพวากับชุมชนริมคลองอัมพวาได้ร่วมมือกันฟื้นฟูตลาดน้ำอัมพวาขึ้นมาใหม่ จึงทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
จากความร่วมมือของหลายองค์กรที่ทำให้ชุมชนอัมพวาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2551 ชุมชนคลองอัมพวาได้ส่งโครงการอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เข้าประกวดในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคแห่งองค์การยูเนสโก โดยได้รับรางวัลชมเชยและได้รับการชื่นชมว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการคุ้มครองโครงการอาคารที่มีคุณค่าในฐานะที่เป็นมรดกของประเทศไทย
ปัญหาการก่อสร้างกรณี "โรงแรมชูชัยบุรีศรีอัมพวา"
ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 คณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยะรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาคมคนรักแม่กลอง กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการ "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา" โดยมีผู้ร้องเรียนว่า บริษัท เจม เพลส พร็อมเพอตี้ จำกัด ที่ดำเนินการก่อสร้างโรงแรมชูชัยบุรีศรีอัมพวา บริเวณตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
โดยมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้าง "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา" ดังนี้
- ผู้ร้องเรียนได้สอบถามทางเทศบาลอัมพวา ถึงการขออนุญาตการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และได้รับคำตอบว่า "โครงการดังกล่าวได้ขออนุญาตให้ก่อสร้างเป็นที่พักอาศัย"
- กรณีที่มีข่าวว่า "โครงการดังกล่าวได้มีการทำประชาพิจารณ์แล้วนั้น" ผู้ร้องเรียนกลับไม่เคยทราบมาก่อน หากมีการทำประชาพิจารณ์ก็คงจะทำกับกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายในโครงการเท่านั้น
- เริ่มแรกชาวบ้านคิดว่าเป็นการสร้างรีสอร์ทเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นโรงแรมหรูหราซึ่งจะส่งผลทำลายการอนุรักษ์มรดกวัฒธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านริมฝั่งคลองอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
- การก่อสร้างเขื่อนและบันไดคอนกรีตยื่นลงไปในท่าน้ำ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้มีคำสั่งให้รื้อถอน แต่เจ้าของโครงการฯ ยังไม่มีการรื้อถอนแต่อย่างใด
- ผลกระทบจากการก่อสร้าง ทำให้บ้านบริเวณใกล้เคียงสั่นไหว และพังทลายลงบางส่วน ซึ่งผู้ก่อสร้างยังไม่ได้ดำเนินการรับผิดชอบแต่อย่างใด
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริง จึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 2 ส่วนดังนี้
แนวทางแก้ไขระยะสั้น
- ให้ปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อไม่ให้ทำลายทัศนีภาพความเป็นมรดกวัฒนธรรมเดิม
- ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
- ป้องกันและแก้ไขมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกกับชาวบ้าน พร้อมทั้งเยียวยาดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
- ให้เทศบาลเร่งออกเทศบัญญัตเพื่อป้องกันปัญหาได้ทันท่วงที
แนวทางแก้ไขระยะยาว
- กรมโยธาธิการและผังเมือง ควรรีบออกกฎหมายผังเมืองเพื่อกำหนดเขต หรือย่านอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม พร้อมทั้งให้ผู้รับผิดชอบ ควบคุมและดูแลการก่อสร้างที่อาจทำลายมรดกวัฒนธรรมของประเทศ
ปิ่น บุตรี. (2555). “ทรรศนะอุจาดอัมพวา” บทเรียนมีค่าของสังคมไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: https://mgronline.com/
ศรีสวัสดิ์ ปัณณะกิจการ. (2554). ค่านิยมความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนริมคลองอัมพวา. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการ, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ศูนย์บริการวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2546). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการนำร่องเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมคลองอัมพวา (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
สำนักกรรมาธิการ 3 และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (ม.ป.ป.). กรณีศึกษาที่ 1 โครงการก่อสร้าง "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา" อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. ในรายงานการพิจารณาศึกษาช่องว่างทางกฎหมายกับความสูญสลายของมรดกวัฒนธรรมในประเทศไทย โดยคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา (หน้า 4-10). ม.ป.ท.: สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (ม.ป.ป). โครงการ อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์เทศบาลตำบลอัมพวา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: http://km.rdpb.go.th/
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. (ม.ป.ป.). อำเภออัมพวา เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566, จาก: https://district.cdd.go.th/
อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์. (ม.ป.ป). ปราชญ์ชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: http://www.amphawanurak.com/
อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์. (2563). หมวกไห่หน่ำโล้ย หรือ หมวกกะโล่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: https://www.facebook.com/
อัมพวาทูเดย์. (ม.ป.ป). เครื่องถ้วยเบญจรงค์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: http://www.amphawatoday.com/
MGR Online. (2555). ถูกใจ (คนสร้าง) แต่ไม่ถูกที่ถูกทาง กรรณีศึกษา "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา". (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: https://mgronline.com/