Advance search

เจ็ดยอด

ศูนย์กลางของชุมชนคือวัดเจ็ดยอด ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจาก ในปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ วัดเจ็ดยอด และนับเป็นครั้งที่ 8 ของโลก 

หมู่ที่ 2
เจ็ดยอด
ช้างเผือก
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
เกียรติศักดิ์ เถาวัลย์ไพร
18 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
1 มิ.ย. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
21 ส.ค. 2023
เจ็ดยอด

ชื่อชุมชนเจ็ดยอด มีที่มาจากศาสนสถานที่ตั้งอยู่ภายในชุมชน คือ วัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะของเจดีย์อันเป็นเอกลักษณ์ คือ มีถึงเจ็ดยอดใน 1 เจดีย์ มีลักษณะใกล้เคียงกับมหาเจดีย์พุทธคยา ในประเทศอินเดีย เป็นวัดประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์พระเจ้าติโลกราช มณฑปและสถูปโบราณอื่น ๆ 


ศูนย์กลางของชุมชนคือวัดเจ็ดยอด ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจาก ในปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ วัดเจ็ดยอด และนับเป็นครั้งที่ 8 ของโลก 

เจ็ดยอด
หมู่ที่ 2
ช้างเผือก
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50300
ทต.ช้างเผือก โทร. 0-5322-6324
18.8092808
98.9719390
เทศบาลตำบลช้างเผือก

ชุมชนเจ็ดยอดเป็นชุมชนในเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่โดยรอบวัดเจ็ดยอด ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-12 ด้วยฝีมือช่างชาวอินเดีย และได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชสร้างด้วยศิลาแลงก่อสร้างเป็นพระสถูปเจดีย์มีจำนวนเจ็ดยอดด้วยกัน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเทพโดยรอบมีความเก่าแก่และงดงาม ซึ่งตามความเชื่อของชาวล้านนา พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็ง คือ โพธิบัลลังก์ วิหารมหาโพธิเจดีย์ ประเทศอินเดีย แต่เพราะอยู่ไกลจึงมีการอนุโลมให้เป็นพระเจดีย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

วัดเจ็ดยอดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2491 และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ล้านนาวัดหนึ่งของเชียงใหม่

พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระองค์ได้ทรงผนวช ณ วัดป่าแดงหลวง ที่ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1994 ทรงสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี เป็นอย่างมาก

ในครั้งนั้นพระเถระชาวลังกาได้นำต้นศรีมหาโพธิ์มาจากลังกาทวีป มาปลูกไว้ที่วัดป่าแดงหลวง พระเจ้าติโลกราชได้สดับพระธรรมเทศนา เรื่องอานิสงส์การปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ จึงโปรดให้นำหน่อของต้นศรีมหาโพธิ์ที่วัดป่าแดงหลวง มาปลูกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1998 และขนานนามว่า “วัดมหาโพธาราม” รวมทั้งรับสั่งให้สีหโคตรเสนาบดี (หมื่นด้ามพร้าคต) เดินทางไปอินเดีย ดูรูปแบบเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา เพื่อมาสร้างไว้ ณ บริเวณวัดนี้ และได้นิมนต์พระอุตตมปัญญามหาเถระมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ วัดเจ็ดยอด และนับเป็นครั้งที่ 8 ของโลก โดยได้อาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจากทั่วแคว้นแดนล้านนามากกว่า 100 รูป มาร่วมประชุมทำสังคายนา ใช้เวลา 1 ปี จึงแล้วเสร็จ เรียกได้ว่าเป็นการชำระตรวจสอบความถูกต้องโดยใช้ตัวอักษรล้านนาจารึกเป็นภาษาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพระธรรมทินมหาเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราชเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์

หลังจากที่พระเจ้าติโลกราชได้สร้างพระมหาเจดีย์เจ็ดยอดเรียบร้อยแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้สร้างสัตตมหาสถาน อันหมายถึง สถานที่สำคัญรวม 7 แห่ง ไว้ใกล้เคียงกับพระมหาเจดีย์แห่งนั้น ปัจจุบันเหลือในวัดเจ็ดยอดเพียง 3 แห่ง

ในความเก่าแก่นั้นวัดเจ็ดยอดแฝงไว้ด้วยความวิจิตรงดงามและแปลกอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ พระเจดีย์มียอดตั้งแต่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมนับได้เจ็ดยอดด้วยกัน ฐานประดับงานปูนปั้นรูปเทพยดานั่งขัดสมาธิเพชร ประนมหัตถ์อยู่กลางพระอุระ และเทพยดาพนมมือยืน ทรงเครื่องภูษาภรณ์อันเป็นสมัยนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยโบราณ สวมเครื่องศิราภรณ์ทรงเทริด มีทั้งแบบทรงสูงและทรงเตี้ย จะเห็นยอดศิราภรณ์ประดิษฐ์ด้วยลายวิจิตรแตกต่าง ๆ กันไปในแต่ละองค์ น่าเสียดายที่รูปปูนปั้นเหล่านี้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ด้านในชั้นล่างเป็นวิหารหรือห้องโถงมีพระประธานประดิษฐานอยู่ ด้านหลังหรือทิศตะวันตกของมหาวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่อีกองค์หนึ่ง ในห้องโถงมีทางขึ้น-ลงเพื่อขึ้นไปนมัสการองค์พระเจดีย์ ส่วนเจดีย์สี่เหลี่ยมบริวารทั้งสี่มุมนั้นมีซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่องค์ บริเวณด้านทิศตะวันออกของเจดีย์สี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ทรงระฆังอีกสององค์

วัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดขอดนั้นเป็นแหล่งโบราณสถานแห่งหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความงดงามทางด้านประติมากรรม สถาปัตยกรรมทางศาสนาเป็นจำนวนมาก โดยมารุต อัมรานนท์ (2546) ได้อธิบายถึงโบราณสถานที่สำคัญในวัดเจ็ดยอดมากมาย หนึ่งในนั้นได้แก่สถูปเจ็ดยอดโดยเอกสารต่าง ๆ มีความเห็นแตกต่างกันออกไปและข้อกล่าวอ้างของนักวิชาการและปราชญ์ทางโบราณคดีที่สำคัญต่างก็มีเหตุผลที่นำมาสนับสนุนความเชื่อ ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งเมืองโบราณที่ตำนานเรียกว่า “เมืองแม่ระมิง” ซึ่งมีมาก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่โดยเลียนแบบมาจากเจดีย์พุทธถยาที่อินเดีย ต่อมา ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศดิศกุล ได้ทรงทำเชิงอรรถไว้ถึงข้อสันนิษฐานล่าสุดว่า เจดีย์เจ็ดยอดนี้อาจได้แบบอย่างมาจากพม่าที่วิหารมหาโพธิซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 1858 โดยสร้างเลียนแบบพุทธคยาและนายเรอจินัล เลอเมย์ (Reginald Le May) ได้กล่าวว่า เจดีย์เจ็ดยอดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามังราย โดยเลียนแบบมหาเจดีย์ที่พุกาม

นอกจากนี้ก็มีกลุ่มที่มีความเชื่อว่า เจดีย์เจ็ดยอดนี้ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช เช่น ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ได้อ้างถึงตำนานเชียงใหม่ว่า หมื่นด้ามพร้าคตราชบุรุษ เป็นนายช่างผู้สร้างเจดีย์เจ็ดยอด, นายอี ดับบลิว ฮัตชินสัน ( E.W. Hutchinson) อ้างว่าเจดีย์เจ็ดยอดนี้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช โดยการจำลองแบบเจดีย์พุทธคยาที่อินเดีย นาย เอ. บี. กริสโวลด์ (A.B.Griswold) กล่าวว่า เจดีย์เจ็ดยอด เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 1998 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยการจำลองแบบเจดีย์พุทธคยาที่อินเดีย ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดล์ (George Cocdes) และนายบัวส์ เซอดีเย่ (Boisselier) เชื่อว่าพระเจ้าติโลกราชทรงสร้างเจดีย์เจ็ดยอดในโอกาสฉลอง 2000 ปี แห่งพุทธศาสนา โดยจำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยาที่อินเดียและคนสุดท้าย นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (นักโบราณคดี กรมศิลปกร) เชื่อว่า เจดีย์เจ็ดยอดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยเลียนแบบเจดีย์มหาโพธิ์ที่พุกาม นอกจากนี้สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ (2542, 1919) ยังได้กล่าวเกี่ยวกับการสร้างเจดีย์ไว้ว่า "เมื่อ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทินมหาเถร ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ทำสังคายนาพระไตรปีฎก ณ วัดนี้ ใช้เวลา 1 ปี จึงสำเร็จ" แล้วจึงได้มีการการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังการรวม 7 ครั้งและเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนอกจากเจดีย์ที่มีความสำคัญและความสวยงามมากแล้ว ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกมากมายทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยว เยี่ยมชมความสวยงามทางด้านโบราณสถาน ศาสนสถาน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีประวัติสืบเนื่องมายาวนาน

ทั้งนี้ ชุมชนโดยรอบเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยโดยพึ่งพิงศาสนาพุทธเเละวัดมาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่ง มีการจัดตั้งสถานศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำให้ชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการสร้างที่พักอาศัยสำหรับเช่าของนักศึกษา รวมทั้งเกิดร้านค้าต่าง ๆ รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ เกิดเป็นย่านชุมชนและย่านการค้าขนาดเล็ก

ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ

ชุมชนเจ็ดยอด ตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 25.4 องศาเซลเซียส โดยมีค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20.1 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,100-1,200 มิลลิเมตร สภาพภูมิอากาศจังหวัดเชียงใหม่อยู่ภายใต้อิทธิพลมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งภูมิอากาศออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูฝน : เดือนมิ.ย.-ต.ค. มีฝนตกชุก เนื่องจากมีสภาพเป็นภูเขาสูง และมีป่าต้นน้ำจำนวนมาก ทำให้ความชุ่มชื้นในอากาศสูง โดยเฉพาะบนยอดดอยมีฝนตกเกือบทุกวัน
  • ฤดูหนาว : เดือน พ.ย.-ก.พ. อากาศไม่หนาวจัดมาก ท้องฟ้าแจ่มใสมีแดดตลอดวัน มีหมอกลงบ้างในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 14 องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน : เดือน มี.ค.-พ.ค. อากาศจะร้อนมากในช่วงกลางวันเนื่องจากสภาพเป็นแอ่งกระทะ ในช่วงกลางคืนอากาศจะเย็นลง อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส

สถิติประชากร หมู่ที่ 2 บ้านเจ็ดยอด เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า มีประชากรเพศชาย 131 คน เพศหญิง 141 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 272 คน ทั้งนี้ ประชากรส่วนมากเป็นประชากรแฝงซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่เข้ามาพักอยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อศึกษาในสถานศึกษาในละแวกใกล้เคียง ทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง มีบางส่วนที่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว รับราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ค้าขาย และในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมน้อย เนื่องจากพื้นที่มีราคาค่อนข้างสูงมาก การประกอบอาชีพเกษตรกรจึงไม่คุ้มกับต้นทุน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชากรแฝง คือ กลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่เป็นผู้เช่าอาศัยที่พัก

ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเทวาสถิตอยู่ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงเกิดประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนา โดยจะมีพิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ถือเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาที่ใช้ในชุมชนหรือในท้องถิ่นจะใช้ภาษาเหนือเป็นส่วนใหญ่ และใช้ภาษาไทยกลางร่วมด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2566). วัดเจ็ดยอด (วัดโพธารามมหาวิหาร). จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

ปรีดา บุญยรัตน์. (2558). แนวทางศึกษางานประติมากรรมปูนปั้นเทวดา วัดเจ็ดยอด สำหรับนำไปประกอบสร้างจินตนาการเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดง. ศิลปกรรมสาร, 10(1), 81-97.

มารุตน์ อัมรานนท์. (2526). ศิลปสถาปัตยกรรมวัดเจ็ดยอด (มหาโพธาราม) ศิลปะยุคทองของล้านนา. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาวิจัยศิลปสถาปัตยกรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

รัจนา นิยมะจันทร์. (2531). เครื่องประดับเทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด. เชียงใหม่: ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง. จาก https://cmi.onab.go.th/

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2525). ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

อนุรักษ์​ ชำนาญช่าง. (2554). การศึกษาสถาปัตยกรรมวัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม), มหาวิทยาลัยศิลปากร.

MGR Online. (2556). ธรรมาภิวัตน์ : วัดเจ็ดยอด พุทธคยา ณ เมืองไทย. จาก https://mgronline.com/