Advance search

บ้านวังน้ำเย็น

ชุมชนท่องเที่ยวทางธรรมชาติน้องใหม่ของตำบลเมืองลี หมู่บ้านเก่าแก่กลางขุนเขาแห่งอุทยานแห่งชาติขุนสถาน 

หมู่ที่ 5
วังน้ำเย็น
เมืองลี่
นาหมื่น
น่าน
วิไลวรรณ เดชดอนบม
16 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
7 มี.ค. 2024
บ้านวังน้ำเย็น

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากทั้งทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก "บ้านวังน้ำเย็น"


ชุมชนชนบท

ชุมชนท่องเที่ยวทางธรรมชาติน้องใหม่ของตำบลเมืองลี หมู่บ้านเก่าแก่กลางขุนเขาแห่งอุทยานแห่งชาติขุนสถาน 

วังน้ำเย็น
หมู่ที่ 5
เมืองลี่
นาหมื่น
น่าน
55180
อบต. เมืองลี โทร. 08-0676-9292
18.2137326118207
100.497653782367
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลี

บ้านวังน้ำเย็น เดิมมีชื่อว่า บ้านน้ำลีเหนือ กล่าวกันว่าก่อตั้งมาแล้วประมาณ 400-500 ปี มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด สายน้ำที่ไหลวนหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านผู้อยู่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้มานานแสนนาน จึงได้ชื่อว่า "บ้านวังน้ำเย็น" โดยสันนิษฐานว่าพื้นที่แถบนี้เดิมเคยมีชนเผ่าขมุตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอพยพมาจากที่ใด แต่ภายหลังชาวขมุได้อพยพออกจากพื้นที่นี้ไป โดยไม่มีใครทราบว่าไปอยู่ที่ใด พวกเขาได้ทิ้งหม้อไห ถ้วยชามที่ใช้แล้วไว้ทั่วบริเวณพื้นที่ราบแต่ยังคงมีบางครอบครัวที่ยังคงตั้งรกรากอยู่ต่อ คือ ครอบครัวของนายบุญ และนายสัน ตันแสน จากนั้นไม่นานายศรีริ มาละโส ชาวบ้านธงน้อยซึ่งหลบหนีการเกณฑ์ทหารก็ได้มาพักพิงและแต่งงานกับชาวขมุ และมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน 

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านวังน้ำเย็น หมู่ที่ 5 ตั้งอยู่ในตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน โดยหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีลักษณะทางกายภาพเป็นที่ราบเชิงเขาซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อน ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นภูเขาสูง คือ เทือกเขาขุนลี หรือเทือกเขาภูคา ซึ่งบริเวณเทือกเขาขุนลีนี้เป็นป่าทึบ จึงเป็นแหล่งหาเก็บของป่าและล่าสัตว์ของคนในชุมชน เช่น หน่อไม้ เห็ด ต๋าว (ลูกชิด) หวาย และสัตว์ป่า มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขุนสถาน หมู่ที่ 3 ตำบลสันทะ อำเภอนานัย จังหวัดน่าน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาหมอหมู่ที่ 3 ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวักน่าน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านน้ำอูน หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

ลักษณะภูมิอากาศทั่วไป

  • ฤดูร้อน ระหว่าง เดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน
  • ฤดูฝน ระหว่าง เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว ระหว่าง เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • ป่าไม้ : บริเวณโดยรอบบ้านวังน้ำเย็นทั้งหมดเป็นป่าเขาซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เช่น หมีควาย กวาง ไก่ป่า เลียงผา กระจง หมูป่า ตัวนิ่ม อีเห็น ส่วนพันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ไม้แดงดง ไม้ยมหอม ไม่กระยาง ไม้ไผ่ หวายหมี หวายฝาด หวายขม หวายผิวดีด เห็ดโคน ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญให้แก่ชาวบ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านวังน้ำเย็นยังใช้ประโยชน์จากป่ามากมาย เช่น การสร้างบ้านเรือน และของป่าที่สามารถนำออกมาขายเป็นรายได้เสริมได้ 
  • น้ำ : ทรัพยากรน้ำของบ้านวังน้ำเย็นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เพราะบ้านวังน้ำเย็นมีลำน้ำลีไหลผ่านหมู่บ้าน ซึ่งลำน้ำลีนี้เป็นลำน้ำที่เกิดจากลำน้ำขุนลีไหลมาบรรจบกับลำน้ำขุนสถาน ชาวบ้านเรียกว่า น้ำลีเหนือ ลำน้ำลีเป็นลำน้ำขนาดเล็กที่ไหลอยู่ตลอดปี และเป็นลำน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำนานาชนิดที่ชาวบ้านนำมาบริโภค เช่น ปลากั้ง ปลาจาด ปลาปุง ปลามัน ปูผา กบภูเขา

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านวังน้ำเย็น ตำบลเมืองลี่ อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 150 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 72 คน ประชากรหญิง 78 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 48 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) 

สภาพสังคมของชุมชนบ้านวังน้ำเย็นนั้นมีลักษณะเป็นสังคมแบบเครือญาติที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น มีลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย การตั้งบ้านเรือน มักจะตั้งอยู่ติดกับถนนกลางหมู่บ้านและอยู่บ้านเรือนของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ลักษณะของบ้านเรือนส่วนใหญ่จะสร้างเป็นบ้านแบบยกใต้ถุนสูง มุงหลังคาด้วยสังกะสี ฝาบ้านทำด้วยไม้ บริเวณใต้ถุนบ้านใช้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน พูดคุย รับแขก นั่งจักสานของใช้ต่าง ๆ และเป็นที่เก็บของ เก็บถ่าน เก็บฟืน แต่ในปัจจุบันจะเริ่มเห็นรูปแบบบ้านที่ถูกสร้างตามสมัยนิยมมากขึ้น คือ สร้างด้วยอิฐ ปูน หลังคากระเบื้อง เป็นต้น

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบและที่นามีน้อย การทำเกษตรกรรมจึงมีลักษณะเป็นเกษตรกรรมทำไร่ตามภูเขาเป็นหลัก ปลูกข้าวไร่ ปลูกพืชผักในการบริโภคเลี้ยงครอบครัว หาเก็บของป่า เลี้ยงสัตว์และรับจ้างทั่วไปในระหว่างว่างเว้นจากการทำไร่นา แต่ส่วนใหญ่จะเก็บผลผลิตที่ได้เอาไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ไม่นิยมขาย นอกจากนี้ ยังมีการทำไร่ข้าวโพด โดยใช้พื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนสำหรับปลูกข้าวโพดเพื่อจำหน่ายผลผลิตให้กับสหกรณ์การเกษตรอำเภอนาหมื่น แล้วส่งต่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรจะหารายได้เสริม คือ การหาของป่า เช่น หน่อไม้ หวาย ผักต่าง ๆ มัน กลอย เห็ด ผลไม้ป่า ฯลฯ ออกมาขาย ซึ่งของป่าบางชนิดมีราคาสูงและเป็นที่นิยมอย่างมากของกลุ่มคนพื้นราบ การหาของป่าจึงนับเป็นหนึ่งอาชีพซึ่งเป็นแหล่งรายได้เสริมที่สำคัญของชาวบ้านวังน้ำเย็นในช่วงว่างเว้นจากฤดูกาลทำเกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีการทำไม้กวาด เครื่องหวาย เลี้ยงหมู ตลอดจนเลี้ยงควายเพื่อขายด้วย 

อนึ่ง ปัจจุบันบ้านวังน้ำเย็นเริ่มมีการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการสร้างโฮมสเตย์ ที่พัก ลานกางเต็นท์ ร้านอาหาร สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมและสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่รายล้อมไปด้วยภูเขา ลำธารและน้ำตก โดยจะมีไกด์ท้องถิ่นเป็นผู้นำทางตามเส้นทางท่องเที่ยวด้วย หากนักท่องเที่ยวต้องการ

การดำเนินชีวิตในรอบ 1 ปี ของคนในชุมชนบ้านวังน้ำเย็น มีทั้งการปลูกพืช การเก็บเกี่ยว และการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกครั้งต่อไป หมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ทั้งยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางพุทธศาสนาและ พิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ อีกด้วย ดังนี้

  • มกราคม มีประเพณีตานข้าวใหม่ หรือการทำบุญข้าวใหม่ ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือก ข้าวสารใส่กระทงพร้อมข้าวสุก อาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ ประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชา “ผีปู่ผีย่า ผีฟ้าผีน้ำ ผีค้ำดินดำ” เป็นการขอบคุณที่คอยปกปักรักษาทำให้เกิดผลผลิตที่ดี และถือเป็นการเฉลิมฉลองข้าวใหม่ด้วย 
  • กุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่ไม่มีกิจกรรมตามประเพณีหรือความเชื่อ ชาวบ้านจะเข้าป่าเพื่อหาของป่าและทำจักสาน
  • มีนาคม เก็บเกี่ยวถั่วเหลือง
  • เมษายน ปีใหม่เมือง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเป็นช่วงเวลาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด
  • พฤษภาคม เริ่มปลูกข้าวโพด
  • มิถุนายน ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด
  • กรกฎาคม ปลูกข้าวนาและประเพณีเข้าพรรษา
  • สิงหาคม ปลูกข้าวนา
  • กันยายน ไม่มีกิจกรรมตามประเพณีและพิธีกรรม
  • ตุลาคม ประเพณีกินสลาก (ต๋านก๋วยสลาก) ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน งานของดีเมืองลี
  • พฤศจิกายน เก็บเกี่ยวข้าวนาและผลิตข้าวโพด เก็บมะแข่น ประเพณียี่เป็ง
  • ธันวาคม เก็บมะแข่น เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพด
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย


ขุนสถาน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกริกฤทธิ์ ประทุมทอด. (2553). การพึ่งพิงป่าของคนในชุมชน : กรณีศึกษา บ้านวังน้ำเย็น ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เชียงใหม่นิวส์. (2564). สำเนียงเหนือ ในเชียงใหม่. สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.chiangmainews.co.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2566). ประเพณีทานข้าวใหม่ – ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า. สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน. (2567). ข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/Muangleenanth