Advance search

ย่านถนนราชดำเนิน

ชุมชนย่านถนนราชดำเนิน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักในย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ชุมชนย่านนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งธุรกิจ แหล่งการค้า อาทิ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัด 

ย่านถนนราชดำเนิน
ท่าวัง
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 เม.ย. 2024
ย่านถนนราชดำเนิน


ชุมชนย่านถนนราชดำเนิน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักในย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ชุมชนย่านนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งธุรกิจ แหล่งการค้า อาทิ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัด 

ย่านถนนราชดำเนิน
ท่าวัง
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
80000
ทน.นครศรีธรรมราช โทร. 0-7580-9571
8.413512358
99.96830776
เทศบาลนครนครศรีธรรมราช

ประวัติศาสตร์ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน

ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน มีพัฒนาการควบคู่กับประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช เพราะความสำคัญของเมืองในอดีตทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และสังคมวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาประวัติชุมชนย่านถนนราชดำเนิน ธนากร อนุรักษ์ (2558) ศึกษาและจำแนกพัฒนาการของเมืองนครศรีธรรมราช ที่เกี่ยวข้องกับประวัติย่านชุมชนฯ ดังนี้

  • ยุคก่อนวัฒนธรรมลังกา ช่วงก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเล เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศประเทศจีนและประเทศอินเดีย เริ่มมีพัฒนาการจากการเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ทางการค้าทางทะเล เริ่มมีต่างชาติเข้ามาทำการค้าขาย พื้นที่นี้จึงเริ่มพัฒนาและมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามสำเนียงของชาติที่เข้ามาทำการค้า ชื่อที่เป็นที่ยอมรับคือ เมืองตามพรลิงค์ ซึ่งเป็นแคว้นที่มีบทบาทสำคัญในด้านการค้า ทำให้มีการอพยพมาถิ่นฐานในพื้นที่ มีบทบาทในด้านการเมืองการปกครองต่อหัวเมือง และชุมชนใกล้เคียง ด้านรูปแบบทางวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากประเทศอินเดีย ปรากฏหลักฐานให้สามารถศึกษาได้ในปัจจุบัน ร่องรอยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏหลักฐานทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเป็นหลัก ศาสนาที่เข้ามาในเมืองตามพรลิงค์ เป็นศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศว นิกายและลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งเป็นศาสนาแรกซึ่งได้รับอิทธิพลจาก ประเทศอินเดีย

  • ยุควัฒนธรรมลังกา ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เรียกบริเวณนี้ว่า "หาดทรายแก้ว" กลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอพยพมาจากศรีลังกา มีทั้งคณะพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เข้ามารวมกลุ่มกับกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มชาวฮินดูที่ถิ่นฐานอยู่เดิมในพื้นที่ กระทั่งกลายเป็นกลุ่มคนพื้นเมือง โดยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักของคนในพื้นที่ ซึ่งการเข้ามาของศาสนาพุทธใน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ได้เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกในศรีลังกาเป็นช่วงสำคัญที่ส่งผลให้ศาสนาพุทธในพื้นที่มีความเจริญรุ่งเรือง ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 พระเจ้าศรีธรรมโศกราชก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ปูชนียสถานสำคัญในการสถาปนาพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช และพระบรมธาตุเจดีย์ก็เป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชน มีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมด้าน สถาปัตยกรรมของเมือง การสร้างวัดในพื้นที่บริเวณนี้เกิดขึ้นหลายแห่งจากการเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา และการก่อตั้งพระบรมธาตุเจดีย์ได้เกิดวรรณกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตำนานและนิทานประจำถิ่น ที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีคติความเชื่อของคนในพื้นที่

  • ยุคสมัยสุโขทัย ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นครศรีธรรมราชมีเมืองขึ้น 12 เมือง แต่ละเมืองใช้ตรา 12 นักษัตร เป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง แต่หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 อาณาจักรสุโขทัย บันทึกว่าสุโขทัยอยู่เหนืออำนาจอาณาจักรนครศรีธรรมราช เมืองนครศรีธรรมราชต้องส่งเครื่องบรรณาการถวาย อย่างไรก็ดีหลักฐานที่ปรากฏทั้งในศิลาจารึกหลักต่าง ๆ หรือพงศาวดารเมืองไม่ปรากฏสภาพความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ในสมัยสุโขทัยมากนัก

  • สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะของเมืองนครศรีธรรมราชรวมถึงความเป็นอยู่ ไม่แตกต่างจากยุคสมัยสุโขทัย เนื่องจากช่วงนี้มีการเข้ามาของต่างชาติเพื่อล่าเมืองขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีด้านการค้าขายระหว่างประเทศมีพ่อค้าชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฮอลันดาเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย เมืองนครศรีธรรมราชจึงยังคงสถานะศูนย์กลางด้านการค้าและการเป็นเมืองท่า ด้านศาสนาคือ การส่งทูตมาขอสมณวงศ์ให้ไปประดิษฐานที่กรุงลังกา จึงได้นิมนต์พระอุบาลีไปยังกรุงลังกา ต่อมาเรียกว่า ลัทธิสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ ด้านการเมืองการปกครองเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทำนุบำรุงศาสนาบ้านเมือง จนเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่าง ๆ

  • สมัยกรุงธนบุรี ผลกระทบหลักที่ทำให้เกิดความระส่ำระส่ายภายในเมืองนครศรีธรรมราชคือ การเสียกรุงศรีอยุธยา ทำให้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงความไม่สงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง มีการแย่งชิงอำนาจภายใน กล่าวได้ว่าขณะนั้นทั้งสภาพสังคมและความเป็นอยู่ของเมืองในด้านต่าง ๆ หยุดชะงัก ทั้งการทำนุบำรุงศาสนา ความเป็นอยู่ภายในของประชาชน เนื่องจากความไม่มั่นคงในด้านการเมือง

  • สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครศรีธรรมราชถูกลดอำนาจมาเป็นหัวเมืองชั้นเอก ขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อยเนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับฝรั่งชาติตะวันตกจากการล่าอาณานิคมในภูมิภาค หลายประเทศเสียเอกราชตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก กระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช

พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม ของเมืองนครศรีธรรมราชดังกล่าวข้างต้น สัมพันธ์กับการเกิดชุมชนโบราณที่กระจายในละแวกพื้นที่ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน ถึงแม้ว่าชุมชนโบราณบางชุมชน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน แต่ในมุมมองของภูมิทัศน์วัฒนธรรมย่านชุมชนถนนราชดำเนิน ก็ไม่สามารถแยกชุมชนโบราณออกจากการกล่าวถึงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเมืองนครศรีธรรมราชได้ ธนากร อนุรักษ์ (2558) พบว่า ชุมชนโบราณละแวกย่านชุมชนถนนราชดำเนิน ประกอบด้วย

  • ชุมชนโบราณวัดนาสน เขตตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช พืชผลทางการเกษตรคือ วัดนาสนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปมากมีบ้านเรือนหนาแน่น และปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนเป็นพืชเศรษฐกิจ
  • ชุมชนโบราณวัดพระเขียน ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนประกอบอาชีพการเกษตร จากหลักฐานน่าจะเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่การสร้างเมืองนครศรีธรรมราช วัดพระเขียนเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณโดยรอบวัดพระเขียนเป็นที่พักอาศัย พื้นที่รอบนอกจะเป็นพื้นที่นาข้าว

  • ชุมชนโบราณวัดหญ้า ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเกษตรกรรมเก่าแก่ วัดหญ้าเป็นศูนย์กลางของชุมชน พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว

  • ชุมชนโบราณบ้านหัวอิฐ ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาชื่อบ้านหัวอิฐ สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งช่างอิฐที่มีฝีมือ อิฐที่ได้นำไปก่อสร้างเมือง และแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ของเมืองนครศรีธรรมราช กำแพงเมือง สภาพปัจจุบันของชุมชนมีการสร้างบ้านทับชุมชนโบราณแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จนรูปแบบอาคาร บ้านเรือนในอดีตสูญหายไป ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในด้านการค้า เป็นตลาดการค้า ผักผลไม้ที่สำคัญและใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช
  • ชุมชนโบราณบ้านหัวมีนา ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของเมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านอาศัยติดกับคลอง สามารถนำเรือเล็กจากปากอ่าวมาจอดเทียบในคลองชุมชน สมาชิกมีความชำนาญการประมงจึงเป็นอาชีพหลักของประชากรในชุมชน ปัจจุบันบ้านหัวมีนาได้ถนนนครศรีธรรมราช -สงขลาตัดผ่าน แบ่งเป็นชุมชนฝั่งตะวันออกและตะวันตก ชุมชนนับถือศาสนาพุทธและมุสลิม

  • ชุมชนโบราณหัวท่า ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของย่านกำแพงเมืองเก่า ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เดิมเป็นที่เก็บรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากชุมชนใกล้เคียง เพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ปัจจุบันมีชุมชนใหม่สร้างทับกับชุมชนเก่า กระทั่งแทบไม่เห็นถึงร่องรอยของสภาพในอดีต

  • ชุมชนโบราณกำแพงเซา ชาวบ้านเรียกว่า บ้านแพงเซา ตั้งอยู่ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระมหาธาตุ วัดท้าวราษฎร์เป็นศูนย์กลางชุมชน ลักษณะเป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมไม่ถึงบริเวณนี้จึงทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด

  • ชุมชนโบราณกำแพงโคก ชาวบ้านเรียกว่า บ้านแพงโคก ชุมชนตั้งอยู่ทิศตะวันออกขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช อดีตเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ในตำบลท่าไร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดกำแพงโคกเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมัชฌิมภูมิ พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาข้าว

  • ชุมชนโบราณกำแพงสูง ตั้งอยู่ทิศใต้ของเขตกำแพงเมืองเก่า ในตำบลกำแพงเซา อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตวัดท่าเรือเป็นศูนย์กลางของชุมชน แต่ปัจจุบันเป็นวัดร้าง และเดิมเป็นพื้นที่เพาะปลูกปัจจุบันเป็นพื้นที่อาศัยเป็นชุมชนสมัยใหม่ ไม่เหลือลักษณะของชุมชนโบราณ

ชุมชนย่านถนนราชดำเนิน มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของเมืองนครศรีธรรมราช การศึกษาของ ธนากร อนุรักษ์ (2558) กำหนดขอบเขตชุมชนย่านถนนราชดำเนิน โดยมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในตำบลคลัง ตำบลท่าวัง รวมถึงบางส่วนของตำบลปากพูน สังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่นเทศบาลนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ดีพื้นที่บางส่วนอยู่ในการดูแลของเทศบาลเมืองปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ด้านที่ตั้งชุมชนย่านถนนราชดำเนิน ตั้งอยู่บนหาดทรายชายทะเลหรือ หาดทรายแก้ว ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นแนวสันดอนทรายชายฝั่งด้านอ่าวไทย ทิศเหนือตั้งแต่อำเภอท่าศาลาทอดยาวแนวเหนือใต้ พื้นที่แนวสันทรายมีการแยกตัวลักษณะลอนคลื่น 2 – 3 แนว สันทรายที่แยกมานี้เป็นที่ตั้งของตัวเมืองนครศรีธรรมราช อาณาเขตติดต่อของชุมชนย่านถนนราชดำเนิน มีพื้นที่ติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ กองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ ตำบลปากพูน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ พื้นที่เกษตรกรรม ตำบลนาเคียน และ ตำบลโพธิ์เสด็จ
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลท่าเรือ
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่บ้าน และ ถนนสายเศรษฐกิจพัฒนาการคูขวาง ตำบลท่าชัก และ ตำบลปากนคร

ลักษณะสัณฐานของชุมชนฯ เป็นการวางตัวในแนวเหนือใต้สองข้างแนวถนนราชดำเนิน ด้านตะวันตกของชุมชนฯ เป็นแนวเทือกเขานครศรีธรรมราชที่วางตัวแนวเหนือใต้ขนานกับชุมชนฯ จึงทำให้พื้นที่มีเส้นทางน้ำไหลผ่านมายังพื้นที่ โดยมีต้นน้ำจากเทือกเขานครศรีธรรมราช เส้นทางน้ำที่ไหลผ่านในชุมชนฯ อาทิ

  • คลองท่าวังไหล ผ่านอำเภอลานสกา มายังพื้นที่ชุมชนฯ อดีตคลองท่าวังมีความสำคัญในการเป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายกับต่างชาติ
  • คลองหน้าเมือง ต้นน้ำจากอำเภอลานสกา ไหลผ่านกำแพงเมือง สะพานนครน้อยและสะพานหลังจวนผู้ว่า
  • คลองวัดชายนา ไหลมาจากอำเภอลานสกา ที่ผ่านมาใช้เป็นเส้นทางหลักสำหรับการคมนาคมจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปยังอำเภอปากพนัง
  • คลองสวนหลวง เป็นคลองเส้นเดียวกับคลองวัดชายนา แต่แยกสายไปยังชุมชนหัวท่า ใช้เป็นคลองสำหรับระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย
  • คลองคูพาย ไหลมาจากอำเภอลานสกา ผ่านอำเภอพระพรหม อำเภอเมือง ไหลออกอ่าวไทยทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำในเขตพื้นที่ตัวเมือง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มอาชีพบริเวณพื้นที่ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน สมาชิกชุมชนมีการกลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มอาชีพด้านหัตถกรรม กลุ่มด้านการแปรรูปสินค้าประมง ผลผลิตที่ได้จากกลุ่มทั้ง 2 กลุ่มอาชีพ ทำรายได้และสร้างชื่อเสียงกลุ่มให้เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกจังหวัดนครศรีธรรมราช ธนากร อนุรักษ์ (2558) จำแนกกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในย่านชุมชนถนนราชดำเนินดังนี้

  • ชุมชนตำบลในเมือง สมาชิกชุมชนบางส่วนมีการรวมกลุ่มทำหัตถกรรมพื้นบ้าน กระทั่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของเมืองนครศรีธรรมราชคือ หัตถกรรมเครื่องถมและผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา ปัจจุบันยังมีกลุ่มที่ยังอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องถมและย่านลิเภา 2 แห่ง คือ กลุ่มที่อยู่ในตำบลในเมือง ได้แก่ กลุ่มเครื่องถม และกลุ่มนครหัตถกรรม ทว่าในตำบลคลังเหลือแห่งเดียวคือ ร้านถมลายไทยที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิม และได้รับการยกย่องให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)

  • ชุมชนในตำบลคลัง พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป กลุ่มอาชีพที่โดดเด่นของตำบลคลังคือ กลุ่มทอผ้ายกเมืองนคร เดิมกลุ่มทอผ้ายกเมืองนครอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเก่า แต่เมื่อเทศบาลสนับสนุนการท่องเที่ยวจึงมีการรวมกลุ่มทอผ้ายกเมืองนคร บริเวณถนนท่าช้าง รวมเป็นศูนย์สินค้าพื้นเมืองและหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยคงรูปแบบผ้ายกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะดั้งเดิม เรียกว่า ผ้ายกทอง

  • ตำบลท่าวัง ย่านการค้าเก่าแก่และสำคัญชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยเชื้อสายอินเดีย อาศัยและประกอบอาชีพค้าขาย กระจายตัวบริเวณสี่แยกท่าวัง คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะค้าขายทองคำ เครื่องประดับ เครื่องเพชร และห้างขายส่ง ชาวไทยเชื้อสายอินเดียสืบทอดร้านขายผ้ากว่า 100 ปี อย่างไรก็ดีคนในพื้นที่ ทำอาชีพประมงเป็นอาชีพดั้งเดิมเพราะพื้นที่ติดกับคลองท่าวัง สมาชิกชุมชนมีการรวมกลุ่มทำอาหารแปรรูปจากสัตว์น้ำตากแห้ง เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชุมชนวัดท่าโพธิ์ สินค้าแปรรูปที่ได้รับความนิยมและทำอย่างแพร่หลายคือ ปลาเค็มตากแห้ง ส่วนใหญ่จะส่งไป อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และบางส่วนขายที่ตลาดของเทศบาลนครศรีธรรมราช

ปฏิทินชุมชนย่านชุมชนถนนราชดำเนิน

ความรุ่งเรืองและความหลากหลายทางศาสนาในพื้นที่ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน เป็นบ่อของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน วิถีชีวิตในรอบปีและประเพณีในพื้นที่ล้วนแต่สัมพันธ์กับศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ธนากร อนุรักษ์ (2558) รวบรวมหลักฐานและข้อมูลประเพณีที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตในรอบปีของชุมชนพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราชดังนี้

ศาสนาพราหมณ์

  • ประเพณีสงกรานต์แห่นางดาน ประเพณีแห่นางดาน เทศกาลมหาสงกรานต์ หรือ ประเพณีแห่นางดาน เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีโล้ชิงช้าของศาสนาพราหมณ์ ประเพณีแห่นางดานนี้จะจัดในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปีโดยจะจัดในช่วงค่ำของวันที่ 14 เมษายน โดยขบวนแห่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากจะแต่งกายแบบพราหมณ์โบราณ และ ขบวนแห่มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดขบวนแห่ มีพราหมณ์พระครูนำขบวนเสลี่ยงเครื่องประดับ การฟื้นฟูประเพณีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการผสมผสานการแสดง แสง สี เสียง เพื่อเป็นที่น่าสนใจของผู้ที่มาร่วมงาน

ศาสนาพุทธ

  • ประเพณีให้ทานไฟ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาจัดโดยชุมชนมีส่วนร่วม จัดในหน้าหนาวราวเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ อุณหภูมิที่ลดลงอาจส่งผลกระทบต่อพระสงฆ์ ชุมชนจึงพร้อมใจเข้าวัดในยามเช้า จากนั้นช่วยกันก่อกองไฟกองใหญ่ บริเวณลานวัด หากวัดมีพระสงฆ์หลายรูปจะก่อหลายกอง เมื่อก่อไฟเสร็จจะนิมนต์พระสงฆ์มาผิงไฟ เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

  • ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู พิธีประเพณีมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ เดิมประกอบพิธีในเดือนสิบ หรือ เดือนหก แต่ปัจจุบันนิยมทำในวันขึ้น 13 ค่ำ และ 14 ค่ำ เดือนสาม หรือก่อนวันมาฆบูชา 1-2 วัน การกวนข้าวมธุปายาสยาคู ปัจจุบันได้กระทำในสามวัดด้วยคือ วัดนาบุญรอบ วัดศาลามีชัย และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

  • ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช จัดในวันเพ็ญเดือนสามหรือวันมาฆบูชา และวันเพ็ญเดือนหกหรือวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศรวมถึงชาวต่างชาติ ร่วมกันบริจาคเงินแล้วรวบรวมซื้อผ้าขาวมาเย็บต่อกันให้เป็นแถบยาว วาดภาพของพุทธประวัติลงบนผืนผ้า เรียกผ้าผืนนี้ว่า พระบฏ ปัจจุบันใช้ผ้าสีเหลืองหรือสีแดง เนื่องจากการวาดรูปบนผืนผ้าต้องใช้เวลานานจึงใช้ผ้าสีเหลืองแทน มีขบวนแห่ผ้าขึ้นไปสักการะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการห่มผ้าพระบฏรอบฐานขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

  • ประเพณีตักบาตรธูปเทียน เกิดจากพุทธศาสนิกชนนำธูปเทียนมาตักบาตร เพื่อถวายเทียนแก่พระสงฆ์ให้ได้ใช้ในช่วงเข้าพรรษา ในช่วงบ่ายของเดือนแปด แรมหนึ่งค่ำ มีการตักบาตรธูปเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ที่มาจากวัดต่าง ๆ ทั้งจากในเขตอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง บริเวณวิหารทับเกษตรหรือบริเวณหน้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์หลังจากนั้นจะเป็นการ สักการะพระพุทธเจ้า

  • ประเพณีลากพระ พิธีชักพระหรือพิธีแห่พระ มีการทำสืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณ ช่วงเวลาคือ แรม 1 ค่ำเดือน 11 ตรงวันออกพรรษา ชาวบ้านช่วยออกมาลากเรือพระ แสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน เรือพระของวัดในเขตเมืองนครศรีธรรมราชลากไปรวมกัน 2 ที่ คือ บริเวณสนามหน้าเมืองและโรงเรียนเบญจมราชูทิศ เป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความสามัคคีของคนในพื้นที่ และความมีจิตสำนึกร่วมกันต่อประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราช

  • ประเพณีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ วันสงกรานต์ 13 เมษายน พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์พระคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานที่สนามหน้าเมืองเพื่อให้ ประชาชนได้สักการบูชาและสรงน้ำ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 3 คืน

  • ประเพณีสารทเดือนสิบ วันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบของทุกปี ชุมชนในภาคใต้ทำบุญและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษกลับขึ้นมาพบ ลูกหลานในเมืองมนุษย์เป็นเวลา 15 วัน ในช่วงประเพณีเดือนสิบเพื่อมารับส่วนบุญส่วนกุศล เสบียงอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามความเชื่อ ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จัดงานบุญเดือนสิบอย่างยิ่งใหญ่ ในช่วงวันแรม 14-15 ค่ำ เดือนสิบ

  • ประเพณีตรุษจีน เดิมเป็นประเพณีที่แต่ละครอบครัวกระทำกันภายในครอบครัว ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้จัดเป็นงานใหญ่ภายในเมืองนครศรีธรรมราช จัดครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 บริเวณจากสี่แยกท่าวังถึงวงเวียนสถานีรถไฟ กิจกรรมได้รับการตอบรับดี ประกอบกับสถานที่จัดงานเป็นย่านที่มีความมีความสำคัญต่อการค้าเมืองนครศรีธรรมราช

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมด้านศาสนาและศาสนสถานย่านถนนราชดำเนิน

ทุนวัฒนธรรมชุมชนด้านศาสนาของพื้นที่ มีความโดดเด่นแสดงถึงอัตลักษณ์ทางศาสนาของสมาชิกในชุมชนฯ หลักฐานที่แสดงถึงความหลากหลายด้านศาสนา และความศรัทธาของชุมชนฯ ต่อทุนวัฒนธรรมด้านศาสนาคือ จำนวนศาสนสถาน ความหลากหลายของศาสนสถานของแต่ละศาสนา และประเพณีทางศาสนาที่ชุมชนร่วมกันจัดในวาระสำคัญ จากการศึกษาของ ธนากร อนุรักษ์ (2558) พบว่าศาสนาและศาสนสถานในย่านชุมชนฯ ประกอบด้วย

พระพุทธศาสนาประดิษฐานในจังหวัดนครศรีธรรมราชมายาวนานนับพันปี สมาชิกในชุมชนใช้ศาสนาพุทธเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตทั้งแก่ตนเอง ครอบครัวและชุมชน ศาสนสถานสำคัญในย่านชุมชนฯ อาทิ

  • วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยทั่วไปเรียกว่า วัดพระธาตุ เป็นพระอารามหลวงคู่เมืองนครศรีธรรมราชมา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชและภาคใต้ วัดพระธาตุเป็นวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอิทธิพล จากศิลปะศรีวิชัย เจดีย์ทรงมณฑป มีหลังคาเป็นสถูปห้ายอด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 หลังจากนั้นส่วนประกอบอื่น ๆ ทยอยก่อสร้างต่อมาภายหลัง สร้างขึ้นในยุคสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ พระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ยอดเจดีย์หุ้มด้วยทองคำภายในบรรจุ ของมีค่าต่าง ๆ วัดพระธาตุความสำคัญต่อชุมชนคือ เป็นแหล่งกำเนิดประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้แก่ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสวดด้าน ในอดีตใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของเมือง ได้แก่ การแต่งตั้งเจ้าเมือง การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิธีแรกนาขวัญ พิธีโล้ชิงช้า
  • วัดประดู่พัฒนาราม โดยทั่วไปเรียกว่า วัดประดู่ หรือ วัดโด เป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าวัดได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางภาคเหนือของแคว้นล้านนา และศิลปะทางภาคอีสานบางส่วนผสมผสานกัน ผู้ก่อตั้งคือ ท่านพระพนมวัง และ นางเสตียงทอง วัดสร้างและตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเขตเมืองเก่า ชื่อวัดประดู่ น่าจะมาจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นประดู่เป็นจำนวนมาก ช่วงหนึ่งวัดถูกทิ้งร้างไม่มีพระมาจำพรรษา จากนั้นพี่สาวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบูรณปฏิสังขรณ์ และได้รับการบูรณะอีกครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับสร้างซุ้มพัทธสีมาศิลปะจีนประยุกต์ ปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐิต้นตระกูล ณ นคร มาจนถึงปัจจุบัน
  • วัดท่าโพธิ์วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองท่าวัง ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่เป็นชุมชนใหญ่ หลักฐานพบว่า มีวัดท่าโพธิ์ตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ และได้สร้างวัด ปี พ.ศ. 2027 สมัยรุ่งเรืองของวัดท่าโพธิ์ คือ สมัยพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) เป็นเจ้าอาวาส ในช่วง ปี พ.ศ. 2427-2477 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร ฉะนั้นจึงปลูกต้นโพธิ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวัดมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันวัดท่าโพธิ์มีความสำคัญต่อชุมชนคือ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมด้านศาสนาของชุมชน สืบเนื่องต่อจากเดิมที่ชุมชนโดยรอบเป็นชุมชนดั้งเดิม และเป็นท่าเรือการขนถ่ายสินค้าที่สำคัญในอดีต วัดท่าโพธิ์จึงเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของชุมชน นอกจากนี้วัดท่าโพธิ์มีความสำคัญในการเป็นโรงเรียนในระบบใหม่แห่งแรกของนครศรีธรรมราชคือ โรงเรียนสุขุมาภิบาลวิทยา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ รวมถึงวัดท่าโพธิ์เป็นแหล่งกำเนิดโรงเรียนช่างถม ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม นครศรีธรรมราช
  • วัดวังตะวันตก (วัดเสาธงทอง) สร้างโดยเจ้าพระยานคร (น้อย) ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดวังตะวันออก เดิมใช้เป็นที่พักค้างศพ เนื่องจากอยู่ใกล้กับประตูผีของแนวกำแพงเมืองเดิม ต่อมาเปลี่ยนจากที่พักศพเป็นอุทยานเรียกว่า วัดวังตะวันตก โดยเจ้าจอมปราง ผู้เป็นเจ้าเมือง นอกจากนี้ เดิมเป็นวัดประจำของพระยาศรีธรรมโศกราช ต่อมาเมื่อหมดเชื้อวงศ์ของพระยาศรีธรรมโศกราชจึงปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า สมัยรัตนโกสินทร์ มีพระสงฆ์มาปักกลดเป็น ครั้งคราวเนื่องจากถูกทิ้งร้าง เมื่อเจ้าพระยานครน้อยจึงสร้างวัดเพื่อให้พระสงฆ์อยู่ ประจำเพื่อเผยแพร่คำสอนและหลักธรรมให้แก่ชาวบ้าน ด้านการท่องเที่ยวมักจะนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาชมความงดงามของกุฏิไม้สักทรงไทย

  • วัดมเหยงคณ์ เดิมชื่อ วัดเสมาทอง ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินใกล้กับชุมชนตลาดแขก ก่อสร้างเมื่อใดไม่ระบุแน่ชัด จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ขุดค้นพบหลักศิลาจารึกคาดว่า สร้างในยุคสมัยใกล้เคียงกับวัดเสมาเมือง และวัดอื่น ๆ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ทำสงครามกับหัวเมืองต่าง ๆ จนทหารได้ล้มตายจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อยกทัพกลับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานคร (น้อย) ทำการทำนุบำรุงศาสนา ด้วยเห็นว่าการสู้รบยามสงครามมีการฆ่าชีวิตไปมากนับเป็นบาป จึงบรรเทาบาปด้วยการก่อสร้างวัดและทำนุบำรุงวัด รวมถึงศาสนสถานเพื่อทดแทน ทรงเลือกวัดเสมาทอง ขณะนั้นเสื่อมโทรมมากให้ กลับสู่สภาพเดิม จากบันทึกภายในวัดระบุปีการบูรณะวัด คือ พ.ศ. 2364 - 2366 ไม่มีการสมโภชน์เฉลิมฉลอง เปลี่ยนชื่อเป็น วัดมเหยงคณ์ ความหมายว่า ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ มาจนถึงปัจจุบัน

  • หอพระพุทธสิหิงค์ ลักษณะเป็นวิหารภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ 3 เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรแบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยสำริด ปิดทอง สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 700 โดยพระมหากษัตริย์ลังกา 3 พระองค์ อัญเชิญจากมาจากศรีลังกา โดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่งราชทูตไปกรุงลังกาและทำพิธีสมโภชเมือง ถือได้ว่าเป็นการประกาศและสถาปนาความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันตั้งอยู่ในวิหารระหว่างศาลและศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชนนิยมไปสักการะในช่วงวันตรุษสงกรานต์ ประเพณีการสรงน้ำบูชาพระพุทธสิหิงค์ และเป็นวันเดียวที่จะสามารถให้ประชาชนเข้าสักการะเพื่อความสิริมงคล

อย่างไรก็ดีพื้นที่ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน ยังมีศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนฯ อีกหลายแห่ง ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง

มัสยิดหรือสุเหร่า ในพื้นที่ย่านชุมชนถนนราชดำเนิน ประกอบด้วย

  • มัสยิดญาเมี๊ยะ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดมเหยงค์ ถนนราชดำเนินคั่นระหว่างวัดกับมัสยิด ญาเมี๊ยะ หมายถึง ที่ชุมชน มัสยิดญาเมี๊ยะ เป็นมัสยิดแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มัสยิดมีอายุราว 164 ปี คาดว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2430
  • มัสยิดซอลาฮุดดีน เป็นมัสยิดแยกตัวมาจาก มัสยิดญาเมี๊ยะ สร้างด้วยไม้ยกใต้ถุนสูง ที่ตั้งของมัสยิดห่างจากถนนราชดำเนิน 25 เมตร เมื่อ ปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานที่ดินวัดท่าช้างที่รกร้าง เพื่อก่อสร้างมัสยิดซอลาฮุดดีน ทั่วไปเรียกว่า มัสยิดท่าช้าง

เทวสถานศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพารมณ์ มีอิทธิพลในพื้นที่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8 - 12 จากหลักฐานทางโบราณคดีเทวรูป และรูปเคารพลัทธิไวษณพนิกายและไศวนิกาย สถานที่สำคัญทางศาสนาพราหมณ์ในพื้นที่ย่านชุมชนฯ ได้แก่

  • หอพระอิศวรและเสาชิงช้า โบราณสถานศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย คาดว่าสร้างในสมัยอยุธยา เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์และเป็นที่สถิตของเทพ รวมถึงใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อาทิพิธียัมปวายและตรีปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้า จัดช่วงขึ้น 7 ค่ำ เดือนอ้าย จนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ และพิธีแห่นางดานจะ จัดช่วงวันที่ 14 เมษายนของทุกปี ภายในหอพระอิศวรมีเทวรูปสำริดอื่น ๆ ปัจจุบันเทวรูปสำริดที่อยู่ในหอพระ อิศวรหลังนี้เป็นเทวรูปจำลอง ส่วนของจริงย้ายไปประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชทั้งหมด สิ่งสำคัญที่อยู่ภายในหอพระอิศวรเดิมคือ ศิวลึงค์แบบดั้งเดิม เป็นศิวลึงแบบประเพณีนิยมที่เดิมตั้งอยู่ภายนอกหน้าหอพระอิศวร แต่ปัจจุบันได้ย้ายเข้ามาเก็บรักษาไว้ภายในฐาน เคารพรูปสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุน้ำมนต์สำหรับทำพิธีกรรมต่าง ๆ บริเวณข้างหอพระอิศวรมีที่ตั้งเสาชิงช้า อย่างไรก็ดีเสาชิงช้าเดิม ตั้งอยู่บริเวณหน้าหอพระอิศวร แต่ย้ายมาด้านข้างหอพระอิศวรทางด้านทิศใต้ มีความสูง 11.60 เมตร โดยสร้างจำลองมาจากเสาชิงช้ากรุงเทพมหานครแต่ย่อให้มีขนาดเล็กกว่า พื้นที่ทั้งหมดของหอพระอิศวรและเสาชิงช้าอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร สำนักกรมศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กระทรวงวัฒนธรรม
  • หอพระนารายณ์ โบราณสถานศาสนาพราหมณ์ ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตรงข้ามหอพระอิศวรและเสาชิงช้า เป็นอาคารสร้างใหม่ อาคารหลังเดิมไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากรูปแบบเดิมก่อนการบูรณะไม่มีการบันทึก ภายในหอพระนารายณ์ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ แกะสลักด้วยหินทรายสีเทา ทรงหมวก กระบอกปลายสอบเข้า พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ ด้านหน้าหอพระนารายณ์เป็นลานกว้าง มีกำแพงก่ออิฐเตี้ยกั้นพื้นที่เป็นอาณาเขต ในพีธีแห่นางดานจะใช้พื้นที่ตั้งเวทีในการแสดงหนังตะลุง

  • ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช การสร้างตามรูปแบบพิธีกรรมแบบโบราณของชาวศรีวิชัย ซึ่งปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีกรรมโบราณอย่างครบถ้วน โดยรอบมีศาลบริวารรอบทั้งสี่ทิศคือ ศาลจตุโลกเทพทำหน้าที่คอบปกป้องเมืองให้แคล้วคาดปลอดภัยจากอาถรรพ์ สิ่งชั่ว ร้ายไม่ดีทั้งหลาย ภายในประดิษฐานเสาหลักเมืองแกะสลักจากไม้ตะเคียนทอง ลักษณะเป็นรูปแบบศรีวิชัยลวดลายและอักขระโบราณ ปลายยอดเสาเป็นเศียรพระพรหมแปดเศียรซ้อนกัน 2 ขั้น บริเวณยอดบนสุดเป็นยอดหลักชัยเมือง หุ้มด้วยทองคำซึ่งผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ นับสิบปี กว่าพิธีกรรมตั้ง ศาลหลักเมืองแล้วเสร็จ
  • ศาลพระเสื้อเมืองหรือศาลพระเสื้อทรงเมือง คติโบราณการสร้างพระเสื้อเมืองเพื่อเป็นที่สถิตของเทพหรือเทพารักษ์ผู้รักษาบ้านเมือง ภายในประดิษฐานรูป เคารพ 2 องค์ ลักษณะคล้ายกับท้าวกุเวรราช ประดิษฐานภายในวิหารม้าของวัดพระมหาธาตุมีการลงรักปิดทอง นอกจากนี้พบโบราณวัตถุหินสลักโบราณเท้าสิงห์ 1 คู่ และแท่นหินบด จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ ตำแหน่งตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่าและใกล้เคียงยังพบแท่นศิวลึงค์รูปหินสลัก แท่นบูชา ในช่วงสมัย พ.ศ. 2427 ชาวจีนที่เข้ามาค้าขายภายในเมืองนครศรีธรรมราชได้ มีบทบาทต่อการบูรณะซ่อมแซมศาลพระเสื้อ เมืองหลังนี้โดยเพิ่มเติมเทพเจ้ากวนอูและมีการตกแต่งแบบจีน อย่างไรก็ดีหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ศาลเจ้าหลังเดิมเสียหายเกือบทั้งหมด ทำให้ชาวจีนในเมืองนครศรีธรรมราช รวบรวมเงินก่อสร้างอาคารศาลพระเสื้อเมืองที่มีความแข็งแรงกว่าเก่า หลังจาก แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2508 จึงมีการนำเทพเจ้าจีน ปึงเถ่ากง และ ปึกเถ่าม่า มาประดิษฐานรวมกับเทวรูปองค์ ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร
  • ฐานพระสยมหรือพระสยมภูวนารถ หอพระอิศวรเดิมก่อนมีการสร้างหอพระอิศวร ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร คาดว่ามีอายุสมัยพุทธศตวรรษที่ 12 ขึ้นไป เทวสถานที่พบในบริเวณนี้เป็นฐานพระสยมที่มีความเก่าแก่ที่สุดในเมืองนครศรีธรรมราช สร้างโดยผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาของศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ เล่ากันว่า ฐานพระสยมแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับมนต์ดำ ปัจจุบันเหลือแค่ฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานเทวรูปศิลา ศิวลึงค์ศิลา และฐานโยนิ ประชาชนยังคงนำเครื่องหอม 154 ดอกไม้มาสักการะฐานพระสยม และบูชาศิวลึงค์เป็นประจำ แม้ว่าศาสนาพราหมณ์จะไม่มีอิทธิพล มากเหมือนสมัยก่อน 

ศาสนสถานศาสนาคริสต์ ในย่านชุมชนถนนราชดำเนิน

  • คริสตจักรเบธเลเฮม สถานที่สำคัญของคริสต์ศาสนิกชน นิกายโปรเตสแตนต์ ก่อตั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะเดียวกันเปิดเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ชื่อโรงเรียนอเมริกันสกูลฟอร์บอย (เอ เอ็ม ซี) ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ก่อนที่จะมีการขยายโรงเรียนและเปิดเป็นคริสตจักรมาจนถึงปัจจุบัน คริสต์ศาสนิกชนมาประกอบกิจกรรมทางศาสนาวันอาทิตย์ และเป็นสถานที่สำคัญในการประกอบ พิธีกรรมสำคัญ ต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพและวันคริสต์มาส
  • คริสตจักรคริสเตียนสัมพันธ์ มูลนิธิที่มีจุดประสงค์เพื่อการเผยแผ่ศาสนา ประกาศหลักธรรมของพระเยซูคริสต์ และเพื่อสาธารณะกุศลในการช่วยเหลือในด้าน ต่าง ๆ จัดตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2551
  • คริสตจักรพระกิตติคุณสมบูรณ์ ซอยประตูลอด ถนนราชดำเนิน ได้ กำเนิดจากคณะฟินนิช ฟรีฟอเร่น มิชชั่นก่อตั้งปี พ.ศ. 2530 มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง โดยนัดรวมตัวทุกวันศุกร์ - อาทิตย์ เน้นการจัดกิจกรรมค่ายศาสนา ให้แก่นักเรียนนักศึกษา รวมถึงการเผยแผ่ศาสนาในโรงเรียนต่าง ๆ ภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช

  • คริสตจักรร่มเกล้า สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2511 ตั้งอยู่บริเวณถนนหลังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปัจจุบันยังใช้ในการจัดพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ มีการรวบรวมสมาชิกจากกลุ่มกิจกรรมไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ภายในตัวเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเผยแผ่ศาสนาและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคริสตจักร

ชุมชนย่านถนนราชดำเนิน ใช้ภาษาไทยกลางในการเขียนอักษร ส่วนการสนทนาระหว่างกันของสมาชิกในชุมชนและในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยภาพรวมใช้ภาษาถิ่นภาคใต้ในการสื่อสารแต่สำเนียงหรือคำศัพท์บางคำอาจมีความแตกต่างกัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธนากร อนุรักษ์ (2558). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมย่านถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช. สถาปัตยกรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยศิลปากร. จาก http://ithesis-ir.su.ac.th/

เทศบาลนครนครศรีธรรมราช. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.nakhoncity.org/

รัตนาภรณ์ แตงชุม และคณะ. (ม.ป.ป.). ถนนราชดำเนินนครฯ เส้นทาง 3 ศาสนา 4 วัฒนธรรม. ภายใต้โครงการ โครงการห้องเรียนพิเศษมุ่งสู่แม่พิมพ์ -BTTP, จาก https://anyflip.com/