Advance search

บ้านหนองขาว

บ้านหนองหญ้าดอกขาว

“ผ้าขาวม้า 100 สี ของดีบ้านหนองขาว” ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เอกลักษณ์ชุมชนบ้านหนองขาว ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชน

หนองขาว
หนองขาว
ท่าม่วง
กาญจนบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ก.ค. 2023
บ้านหนองขาว
บ้านหนองหญ้าดอกขาว

เดิมชื่อ “บ้านหนองหญ้าดอกขาว” ตั้งขึ้นตามลักษณะหนองน้ำใกล้ที่ตั้งหมู่บ้านที่มีหญ้าดอกขาวขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “บ้านหนองขาว”


ชุมชนชนบท

“ผ้าขาวม้า 100 สี ของดีบ้านหนองขาว” ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เอกลักษณ์ชุมชนบ้านหนองขาว ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชน

หนองขาว
หนองขาว
ท่าม่วง
กาญจนบุรี
71160
ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านและชุมชนบ้านหนองขาว โทร. 08-3314-9973
14.05470675
99.62945491
เทศบาลตำบลหนองขาว

บ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญรุ่งเรืองยุคสุวรรณภูมิ อันมี “อู่ทอง” เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าและการเดินทัพของพม่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยการรวมตัวกันของชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านดงรัง และหมู่บ้านดอนกระเดื่อง ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามการเดินทัพผ่านของทหารพม่า เมื่อครั้งเดินทัพมาจากทางด่านเจดีย์สามองค์เข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา ในราวพุทธศักราช 2310 เป็นเหตุให้เสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวบ้านพากันหลบหนีมาที่บริเวณหนองน้ำใหญ่ และตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านหนองหญ้าดอกขาว” หรือ “บ้านหนองขาว” ในปัจจุบัน

ในการต่อสู้กับพม่าครั้งนั้น บ้านเรือน วัดวาอารามของทั้ง 2 หมู่บ้านได้ถูกพม่าเผาทําลายเสียหายเป็นอย่างมาก ภายหลังจากการกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านจึงได้รวมตัวกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่โดยให้ชื่อว่า “หนองหญ้าดอกขาว” ตามหนองน้ำอันเป็นบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ ต่อมาชื่อหมู่บ้านจึงเหลือเพียง “บ้านหนองขาว” ปัจจุบัน ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 หมู่บ้านยังปรากฏให้เห็น โดยทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน หรือบ้านดงรังเดิม ยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป และขอบเขตขัณฑสีมา ซึ่งได้รับการบูรณะเป็นวัดใหม่ นามว่า “วัดส้มใหญ่” หรือ “วัดใหญ่คงรัง” ส่วนหมู่บ้านดอนกระเดื่อง อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านไป 1 กิโลเมตรเศษนั้นได้รับความเสียหายมาก เหลือให้เห็นเพียงซากเจดีย์บางส่วนเท่านั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนหนองขาวโกวิทพิทยาคม ซึ่งชาวบ้านจะเรียกบริเวณนี้ว่า “วัดโบสถ์” ซากของวัดที่ปรักหักพังทั้งสองแห่งนี้ คงสงวนไว้เป็นอนุสรณ์ของชาวตําบลหนองขาว เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงเรื่องราวในอดีตและภัยแห่งสงคราม (ลัดดา เฑียรบุญเลิศรัตน์ และคณะ, 2542: 342-343 อ้างถึงใน ผไท วงศ์อนุตรโรจน์, 2544: 51)

ลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม

พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านหนองขาวที่เป็นที่ราบลุ่มติดต่อกับบริเวณเนินเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะดินบริเวณที่ราบส่วนใหญ่ของบ้านหนองขาวเป็นกลุ่มดินที่มีเนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน ส่วนพื้นที่ราบดินล่างจะเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายหรือดินร่วนปนดินเหนียว พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จึงใช้สำหรับการทํานา แต่ดินในส่วนบริเวณที่ต่อกับเนินเขา จะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นจนถึงเนินเขาและพื้นที่ลาดเชิงเขา ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ในบางบริเวณมีเศษหินหรือดินกรวดปนอยู่ด้วย ทำให้ระบายน้ำได้ค่อนข้างดี พื้นที่เนินเขาส่วนนี้จึงถูกใช้เป็นที่ดินสำหรับทำไร่

ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นป่าและที่นา โดยเฉพาะบริเวณหลังวัดอินทารามที่มีป่าผืนสำคัญของหมู่บ้าน ชาวบ้านสามารถนำไม้จากป่าบริเวณนี้มาใช้ประโยชน์ ทำฟืน เก็บของป่า เช่น เห็ดโคน ในช่วงเวลาที่มีฝนตกภายหลังช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว เห็ดโคนจะขึ้นตามป่าเขา ชาวบ้านจะเข้าป่าเพื่อหาเห็ดโคนไปขายในเมือง โดยกลุ่มผู้ชายจะใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะเข้าไปหาเห็ดในบริเวณพื้นที่ป่าที่เชื่อมต่อระหว่างเขตอําเภอเมืองและอําเภอศรีสวัสดิ์ หาติดต่อกันเป็นวัน ๆ จนบางครั้งนําไปสู่การติดสารเสพติด เช่น ยาม้า ที่ใช้เพื่อให้ร่างกายได้มีแรงในการหาเห็ดโคนที่มีราคาสูงติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน

แม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่ป่าได้ลดน้อยลง เนื่องจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในบริเวณซอกเขา พื้นที่ในบริเวณเชิงเขาถูกแผ้วถางเป็นไร่ผักชีและผักสวนครัวต่าง ๆ แต่ยังพบการพึ่งพิงและใช้ประโยชน์จากป่า โดยในช่วงที่มีงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานสงกรานต์ และงานเทศน์มหาชาติ ฯลฯ ที่จําเป็นต้องมีการใช้ไม้ในการทําซุ้ม ใช้ไม้ไผ่ในการทําฉัตร และตกแต่งบริเวณวัด ชาวบ้านก็จะเข้าไปตัดไผ่และไม้มาใช้ในการจัดงานต่าง ๆ

พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว

พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาวจึงจัดเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนหนองขาว โดยจัดแสดงเรื่องราวการแบ่งภูมิประเทศของหนองขาว ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ของคนในชุมชนหนองขาวตามคำขวัญของตำบลที่กล่าวว่า “ท้องถิ่นคนขยัน กล่าวขวัญวัวลาน ตำนานหลวงพ่อ ผ้าทอหนองขาว สะเดาลือชื่อ ข้าวหอมซ้อมมือเลื่องลือน้ำตาลสด งดงามวัฒนธรรม”

สถิติประชากรตำบลหนองขาวจากเทศบาลตำบลหนองขาว รายงานจำนวนประชากรบ้านหนองขาว หมู่ที่ 10 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 145 ครัวเรือน ประชากร 454 คน แยกเป็นประชากรชาย 214 คน และประชากรหญิง 240 คน

ด้านระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านชุมชนบ้านหนองขาวนั้นมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เหนียวแน่น อันเป็นความสัมพันธ์ที่สืบต่อกันมาผ่านทางสายเลือด ซึ่งนำไปสู่การช่วยเหลือพึ่งพิงกันทั้งในเรื่องของการแลกเปลี่ยนสิ่งของ และการระดมแรงงาน ความสัมพันธ์เครือญาติของชาวบ้านหนองขาวถูกตอกย้ำให้ยิ่งเด่นชัดขึ้นผ่านงานประเพณีและพิธีกรรมมากมายของหมู่บ้าน เช่น ในละแวกบ้านใกล้เคียงกัน มักจะเป็นบ้านเรือนของญาติพี่น้องสายตระกูลเดียวกัน ซึ่งแยกกระจายออกจากบ้านพ่อแม่จากการตั้งเรือนหอ และการปลูกบ้านใกล้เคียงกับสายตระกูลที่มีการเคารพบรรพบุรุษเดียวกัน และโดยปกติครัวเรือนที่ปลูกบ้านใกล้เคียงกันเหล่านี้มักจะช่วยเหลือกันเมื่อครั้งมีงานบุญหรืองานประเพณีสำคัญ ความสัมพันธ์นี้เป็นสิ่งที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นกลมเกลียวกันอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือญาติให้คงอยู่ได้ภายใต้พลวัตความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชนออกไปใช้ชีวิตภายนอก เช่น การแต่งงานกับคนจากถิ่นฐานภูมิลำเนาอื่น หรือการออกไปทำงานต่างจังหวัด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่เคยแน่นแฟ้นประดุจเครือญาติของชาวบ้านหนองขาวค่อย ๆ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินออกไปทุกชั่วขณะ 

เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นดินอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกข้าวได้ผลดีกว่าพื้นที่อื่น ทำให้ชุมชนหนองขาวกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีมาตั้งแต่อดีต กอปรกับวิถีชีวิตของชาวบ้านหนองขาวตั้งแต่แรกเริ่มย้ายเข้ามาตั้งหมู่บ้านมีการทำเกษตร โดยเฉพาะการทำนาเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชาวบ้านหนองขาวเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ชาวบ้านหนองขาวส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดเอาอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก โดยการทำนาจะทำปีละ 1 ครั้ง อาศัยน้ำจากธรรมชาติ เช่น น้ำฝน และน้ำจากลำห้วยสายต่าง ๆ สำหรับสูบต่อเข้ามาในทุ่งนา

ในการทำนาของชาวบ้านหนองขาวจะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกว่า “เอาแรง” หรือการลงแขก เมื่อถึงฤดูกาลทำนาและเก็บเกี่ยว เจ้าของนาจะเดินไปตามบ้านญาติและเพื่อนฝูง ป่าวร้องประกาศนัดหมายวันที่จะขอแรงเพื่อฝูงญาติพี่น้องให้ไปช่วยทำนา เมื่อถึงวันนัดหมายเจ้าของนาก็จะตระเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อเลี้ยงดูคนที่มาช่วย เมื่อเสร็จสิ้นจากนาของบ้านหนึ่ง ก็จะเคลื่อนย้ายไปที่นาของบ้านต่อไป วนเช่นนี้เรื่อยไปกระทั่งทำนาแล้วเสร็จทุกคน

นอกจากการทำนาแล้ว การเกษตรอีกประเภทหนึ่งที่นับว่าเป็นอาชีพที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวบ้านหนองขาวมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน คือ การทำไร่ ลักษณะการทำไร่ของชาวบ้านหนองขาวแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การทำไร่พืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไร้ผักสวนครัว เช่น ผักชี มะเขือเทศ ถั่วลิสง และถั่วฝักยาว ฯลฯ โดยไร่ผักสวนครัวส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเชิงเขาใกล้พื้นที่ป่าทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งผักสวนครัวที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ ผักชี

การปลูกผักชีเริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2536-2537 โดยชาวบ้านนาพญา จากอำเภอพนมทวนได้เข้ามาเช่าที่ดินของชาวบ้านหนองขาวเพื่อทำไร่ผักชี ต่อมาชาวบ้านหนองขาวมองเห็นว่ารายได้ดีจึงหันมาปลูกผักชีกันเอง ทำให้มีการแผ้วถางบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะป่าบริเวณที่ลาดเชิงเขา การบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อแปลงที่ดินเป็นพื้นที่ทางการเกษตรนี้ หาใช่เพื่อทำเป็นไร่ผักชีเพียงอย่างเดียว แต่พื้นที่บริเวณนี้ยัมักทำเป็นไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และไร่ข้าวโพด สำหรับไร่อ้อยเมื่อถึงช่วงโรงงานน้ำตาลเปิด ประมาณเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ จะมีนายทุนนำคนงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นแรงงานในการตัดและส่งอ้อยเข้าโรงงาน ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่ต้องลงแรงเก็บเกี่ยวอ้อย และนำอ้อยเข้าไปจำหน่ายแก่โรงงานน้ำตาลด้วยตนเอง เพราะทั้งในกระบวนการปลูกและกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยนั้นใช้แรงงานจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่

การเลี้ยงวัว เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวหนองขาวมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกับการทำนาและการทำไร่ โดยวัวที่เลี้ยงในหมู่บ้านจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วัวเนื้อ วัวจากพม่า และวัวลาน

1. วัวเนื้อ เป็นวัวที่เลี้ยงไว้เพื่อเอาเนื้อไปจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ในแง่อื่น

2. วัวจากพม่า เป็นวัวที่นำมาจากพม่าสำหรับใช้แรงงานโดยเฉพาะ เมื่อถึงช่วงงานประเพณี เช่น งานสงกรานต์ ที่จะต้องใช้วัวไว้ลากเกวียนร่วมในขบวนก็จะใช้วัวกลุ่มนี้ โดยชาวบ้านจะไปยืมวัวจากแขกพม่าประมาณ 1-2 วัน เมื่อใช้เสร็จก็จะนำไปคืน

3. วัวลาน ในอดีตเมื่อครั้งที่ยังใช้วัวลากเกวียนไถนา เมื่อหมดหน้าไถนา วัวจะอยู่ว่าง ช่วงเวลานี้ชาวบ้านจะใช้ฝึกวัวให้พร้อมที่จะลงนาในครั้งต่อไป จึงจัดให้มีการวิ่งลานโดยใช้ฟางปูพื้นเป็นลาน แล้วผูกวัวเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน มีหลักตรงกลางลาน ให้วัววิ่งวนรอบหลัก แต่ปัจจุบันการใช้วัวลากเกวียนไถนาไม่มีแล้ว วัวลานจึงกลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลสำคัญ หรือการนัดหมายกันของกลุ่มคนเล่นวัวในบางพื้นที่

การทอผ้า เป็นอาชีพเสริมที่สำคัญและสร้างชื่อเสียงในฐานะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหนองขาว เนื่องจากความเลื่องชื่อในคุณสมบัติด้านความทนทาและลวดลายที่วิจิตรงดงาม การทอผ้าของชาวบ้านหนองขาวแต่เดิมเป็นการทอโดยใช้หูก แต่ภายหลังมีการนำกี่กระตุกเข้ามาใช้ในกระบวนการการทอผ้า ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการทอให้เร็วขึ้น ต้นกำเนิดธุรกิจผ้าทอบ้านหนองขาวเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีชาวบ้านหนองขาวคนหนึ่ง คือ คุณอารีย์รัตน์ ปัจจุบันเป็นรองประธานกลุ่มแม่บ้านหนองขาว ได้เข้าร่วมอบรบการทอผ้าโดยใช้กี่กระตุก แล้วนำความรู้ที่อบรมกลับมาทอผ้าที่บ้าน และสอนให้ญาติพี่น้องต่อกันเป็นทอด ๆ เมื่อมีคนทอผ้ามากขึ้น กอปรกับผ้าทอบ้านหนองขาวเริ่มเป็นที่รู้จักจากผู้คนภายนอก จึงมีการลงทุนซื้อด้ายจากภาคอีสานผ่านคนกลางเป็นผู้จัดการดูแลเพื่อนำมาแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการทอผ้า โดยเชื่อค่าด้ายไว้เรียกว่า "ลูกกี่" เมื่อผ้าทอเสร็จก็จะนำกลับไปขายให้กับคนกลาง แล้วหักค่าด้ายออกไป ภายหลังกลุ่มทอผ้าบ้านหนองขาวได้กลายเป็นกลุ่มชุมชนกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งในกลุ่มสตรีอาสา และผ้าทอหนองขาวก็ได้กลายเป็นสินค้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สำหรับผ้าทอที่มีชื่อเสียงที่สุดของบ้านหนองขาวคือการทอผ้าขาวม้า หรือเรียกว่า “ผ้าขาวม้าร้อยสี” ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพสูงที่สามารถนำไปแปรประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด และเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของคนในชุมชนด้วย

นอกจากอาชีพหลากสาขาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ชาวบ้านหนองขาวยังมีอีกอาชีพหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำพาชาวบ้านหนองขาวได้ติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนภายนอก คือ การค้าขาย โดยการค้าขายของชาวบ้านหนองขาวจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ร้านค้าชุมชนที่ตั้งเรียงรายอยู่สองข้างถนนของหมู่บ้านในบริเวณที่มีบ้านเรือนหนาแน่น หรือร้านชำ และอีกลักษณะหนึ่ง คือ การค้าหาบเร่ และการค้าขายทางไกล การค้าลักษณะนี้เป็นการนำสินค้าจำพวกลูกตาล ถั่วต้มขนมไทย ใส่หาบขึ้นรถสองแถวไปขายบริเวณท่ารถ บขส. และตลาดในอำเภอเมือง

อนึ่ง บ้านหนองขาวเป็นชุมชนที่ได้รับการกล่าวขานถึงความร่วมมือร่วมใจที่คนในชุมชนมีให้แก่สาธารณะชุมชนมาตั้งแต่อดีต พบลักษณะการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนตามละแวกบ้านที่มีกลุ่มผู้นำของตนเอง ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนบ้านหนองขาวยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เช่น การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การจัดประเพณีสงกรานต์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นต้น การจัดกิจกรรมหรือการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นล้วนแล้วแต่มีระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นฐาน เพื่อสืบสาวให้เห็นถึงระบบรากฐานความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของชาวบ้าน สู่ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมของคนในชุมชน 

ประเพณี

หมู่บ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยเรื่องของประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ ซึ่งรายละเอียดของขนบธรรมเนียม การปฏิบัติของประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านหนองขาว สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทคือ ประเพณีตามเทศกาล ฤดูกาล และประเพณีตามช่วงอายุ

ประเพณีตามฤดูกาล

  • ประเพณีตรุษ : ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 4 และวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตที่สามารถผ่านพ้นอุปสรรค ภัยอันตราย และมีชีวิตยั่งยืนมาได้จนถึงวันตรุษนี้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการทําบุญทําทาน เพื่อไม่ให้มัวเมา หรือประมาทในชีวิต โดยถือเอาวันแรก คือ วันแรม 14 ค่ำ เป็นวันจ่ายเพื่อเตรียมสิ่งของไว้ทําบุญ และวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันกลาง มีการทำบุยตักบาตรและเฉลิมฉลองต่อเนื่องจนถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5
  • ประเพณีการตั้งศาล : หรือชาวบ้านหนองขาวเรียกกันว่า “งานปี” หรือ “งานประจำปี” คือ การนํา เครื่องเซ่นไปไหว้ตามศาลเจ้าต่าง ๆ ในหมู่บ้านตามที่บรรพบุรุษของแต่ละบ้านได้ตั้งศาลไว้ โดยการนํา “สํารับ” ซึ่งประกอบด้วย บายศรีปากชาม หัวข้าวหัวแกง ขนมต้มแดงต้มขาว หมากพลู ดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำ มาตั้งที่ศาลตามที่ครอบครัวนับถือ โดยศาลหลัก ๆ จะมีอยู่ 4 ศาล คือ ศาลพ่อแม่ ศาลเกยนอก ศาลหนองน้อย และศาลปู่เจ้าบ้านหรือศาลตาปู่ การตั้งศาลนี้จะเริ่มที่ศาลพ่อแม่ซึ่งเป็นศาลใหญ่ประจำหมู่บ้าน โดยในเย็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 จะทําบุญสวดมนต์ และเช้าวันรุ่งขึ้นจะทําบุญเลี้ยงพระ พอตอนสายชาวบ้านจะนําสํารับมาตั้ง และนํากลับไปในตอนเย็น ในการตั้งศาลจะมีการทรงเจ้าควบคู่ไปด้วย โดยหลังจากทําบุญเลี้ยงพระเสร็จและเริ่มตั้งสํารับ คนทรงก็จะเริ่มขึ้นทรง จะมีเจ้าขึ้นประทับทรงกันเป็นจำนวนมาก ดังเป็นการชุมนุมเจ้าประจําปีด้วย เพราะเมื่อถึงงานประจำปีนี้ชาวหนองขาวที่มีครอบครัวและไปอาศัยอยู่ต่างบ้าน จะต้องกลับมายังหมู่บ้านอันเป็นถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน

ประเพณีตามช่วงอายุ

  • งานบวช : เนื่องด้วยบ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก การบวชเป็นประเพณีสำคัญของครอบครัว กอปรกับความเชื่อของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่ว่าหากลูกชายบวช พ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ การบวชของชาวบ้านหนองขาวจึงถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่
  • การแต่งงาน เรือนหอ และหม้อยาย : ก่อนการแต่งงาน ชาวบ้านหนองขาวมีธรรมเนียมสำคัญที่ถือปฏิบัติมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ คือ ฝ่ายชายจะต้องมีเรือนหอก่อน พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจึงจะยกลูกสาวให้ โดยพ่อ แม่ของฝ่ายหญิงจะเป็นผู้จัดหาที่ดินให้ และมักจะเป็นที่ดินที่ติดกับบ้านของฝ่ายหญิง ดังนั้นบ้านเรือนบ้านหนอง ขาวจึงมีลักษณะที่ชิดติดกันเป็นกลุ่ม ๆ จนมีคํากล่าวที่ว่า “หนองขาวเป็นบ้านใหญ่ไก่บินไม่ตกดิน” ซึ่งแบบแผนการจัดที่อยู่อาศัยหลังการแต่งงานในลักษณะที่ฝ่ายชายย้ายเข้าบ้านของฝ่ายหญิงหรือปลูกเรือนในบริเวณบ้านของฝ่ายหญิงนี้ ถือว่าเป็นการจัดแบบ “มาตาลัย” ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป พี่สาวหรือน้องสาวของฝ่ายหญิงเมื่อแต่งงานก็จะนําสามีเข้ามาในครัวเรือนและต่างปลูกบ้านพํานักอาศัยในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน ทําให้เกิดครัวเรือนแบบ “มาตุพงศ์” หรือครัวเรือนที่เกี่ยวดองและสืบเชื้อสายร่วมกัน (ยศ สันตสมบัติ, 2534: 208-209) ตามธรรมเนียมการแต่งงานของชาวบ้านหนองขาวภายหลังจากการสร้างเรือนหอ จะมีอีกประเพณีหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการแต่งงานของชาวบ้านหนองขาว คือ “การรับหม้อยาย” เข้าสู่บ้านใหม่ หม้อยายมีลักษณะเป็นหม้อดินที่ภายในบรรจุไว้ด้วยขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปคน หม้อละ 1 คน เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนบรรพบุรุษ ดังนั้นเมื่อลูกหลานคนใดแต่งงานและมีบ้านใหม่เป็นของตนเองก็จะรับยายไปอยู่ด้วยกัน การรับยายจะรับในเดือน 6 เดือนเดียวกันกับช่วงที่มีการงานประจำปีหรืองานตั้งศาล โดยกำหนดจำเป็นต้องเป็นวันศุกร์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนในบ้านอยู่เป็นสุข สําหรับเครื่องไหว้ยายแต่ละครอบครัวจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่แนวทางของบรรพบุรุษจะปฏิบัติกันมา

งานศพ : งานศพที่บ้านหนองขาวจะตั้งศพไว้ที่บ้านของคนตาย เรียกว่า “บ้านผีตาย” ในงานศพจะมีการสวดพระมาลัยโดยกลุ่มผู้สวดประมาณ 6-8 คน ภายหลังการสวดอภิธรรมเสร็จ การสวดพระมาลัยนี้ถือเป็นการสวดเพื่ออยู่เป็นเพื่อนศพ และเพื่อเจ้าภาพ ส่วนอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ จนเมื่อถึงวันเผาศพ เจ้าภาพจะนิมนต์พระมาฉันเพลที่บ้าน จากนั้นนำศพใส่โลงแล้วช่วยกันนำศพไปที่วัด โดยมีพระสงฆ์เดินนำหน้าศพเช่นเดียวกับพิธีศพทั่วไป แต่ภายหลังเผาศพแล้วจะเก็บกระดูกเมื่อครบ 7 วัน นำกระดูกมาทำบุญ จึงถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีศพโดยสมบูรณ์

ความเชื่อเรื่องการทรงเจ้า

การทรงเจ้าเป็นระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่ยังคงปรากฏอยู่ในหมู่บ้านหนองขาว โดยส่วนใหญ่ร่างทรงจะถ่ายทอดตามสายตระกูล ผู้ที่รับสืบทอดหรือผู้ที่เจ้ากําหนดให้เป็นร่างทรง จะเกิดการเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ เมื่อไปรักษากับแพทย์ก็ไม่หายและต้องมาหาเจ้าในที่สุด และอาการเหล่านั้นจะหายไปเมื่อเจ้าทําการรักษา บุคคลผู้นั้นจึงจำต้องเป็นร่างทรงให้เจ้านั้น ๆ ในการขึ้นทรง ส่วนการประกอบพิธีประจำปีตามศาลในหมู่บ้าน ที่จำเป็นต้องมีการเตรียมการจัดหาสิ่งของต่าง ๆ จะมีคนที่ใกล้ชิดกับร่างทรงหรือคนที่ศรัทธาในเจ้าองค์นั้น ๆ มาคอยดูแลและจัดการให้ โดยมากแล้วผู้ที่ดูแลจะเป็นญาติที่ใกล้ชิดหรือเป็นผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากเจ้า เมื่อครั้งเจ็บป่วยหรือเมื่อครั้งมีเรื่องเดือดร้อน เมื่อเจ้าสามารถช่วยได้จึงศรัทธาและคอยติดตามดูแลในเรื่องต่าง ๆ ให้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผ้าขาวม้าร้อยสี

“ผ้าขาวม้าร้อยสี” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชนชาวหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจถักทอขึ้นด้วยวิธีการทอกี่กระตุก ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าแบบโบราณ ที่มีการถักทออย่างประณีต โดยนิยมใช้ด้ายสีต่าง ๆ กว่าร้อยสีในการถักทอ ทำให้เกิดความวิจิตรงดงามบนลายผ้าที่โดดเด่น อีกทั้งผ้าขาวม้าในชุมชนยังมีสีสดใส ลวดลายแปลกตา เนื้อผ้าเป็นมันวาวคล้ายผ้าไหม ดูแลรักษาง่าย ทนทาน สีไม่ตก สามารถใช้งานได้ยาวนานจึงเป็นของดีของผ้าขาวม้าตำบลหนองขาวจวบจนทุกวันนี้  ผ้าขาวม้าร้อยสีแต่ละผืนจึงสวยงามแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการสร้างสรรค์ของผู้ทอผ้า จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผ้าขาวม้าร้อยสี”

ปัจจุบันผ้าขาวม้าร้อยสีเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง เนื่องจากทางจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการประชาสัมพันธ์ โดยจะเดินทางไปร่วมออกงานแสดงสินค้า เช่น ส่งตัวแทนจังหวัดออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อทำให้ผ้าขาวม้าของดีของชุมชนหนองขาวเป็นที่ยอมรับในสังคมหน้าใหม่ และเป็นการเพิ่มจำนวนการส่งออกผ้าขาวร้อยสีไปในหลายจังหวัดเพื่อนำไปใช้การทำเป็นเสื้อลายผ้า ขาวผ้าที่ใช้ใส่ในงานสำคัญต่าง ๆ ในงานโรงเรียนประถมศึกษา และหน่วยงานรัฐบาล เช่น นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พลวัตทางสังคมกับความอ่อนแรงทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่

สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ ส่งผลให้ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวบ้านหนองขาวเกิดความอ่อนแรงลง ด้วยไม่สามารถต้านทานต่อกระแสความรุนแรงของพลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับเอาอิทธิพลของวัฒนธรรมสมัยนิยมจากภายนอกเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้เริ่มละเลยต่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชน เช่น ปัจจุบันในงานวัด หรืองานบุญต่าง ๆ ก็จะไม่พบเห็นคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มาร่วมงานมากนัก หรือในประเพณีการทำบุญวันออกพรรษา ซึ่งในอดีตจะเป็นช่วงสําคัญที่หนุ่มสาวจะได้มีโอกาสสานสัมพันธ์ทำความรู้จัก แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบปะพูดคุยและสนิทสนมกันมากขึ้น ทําให้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การเข้าร่วมงานบุญงานวัดของคนรุ่นใหม่ลดลงเรื่อย ๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความอ่อนแรงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นต่อคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านหนองขาว คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจภาวะการว่างงาน ทำให้หนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาระดับสูง ยืนอยู่บนช่องว่างระหว่างสังคมท้องถิ่น และระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่ทำให้รากฐานความสามารถในการทำมาหากินและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนได้ขาดไป อันเป็นผลจากการเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับสภาพของชุมชนท้องถิ่น ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ซึมซับรับเอาแต่วัฒนธรรมสมัยนิยมเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ตระหนักถึงวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของเหล่าบรรพบุรุษในถิ่นฐานภูมิลำเนา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นวลพรรณ บุญธรรม. (2564). ผ้าขาวม้าร้อยสี. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://communityarchive.sac.or.th/

ผไท วงศ์อนุตรโรจน์. (2544). กระบวนการสร้างและพัฒนาเครือข่ายทางสังคม: กรณีศึกษา บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการวางแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

ผ้าขาวม้าร้อยสี อารีย์รัตน์ บ้านหนองขาว. (2565). สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/phakoawmarroisi/

ยศ สันตสมบัติ. (2534). แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). บ้านหนองขาว-พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาว. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://communityarchive.sac.or.th/

Google Earth. (2565). สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

muang-krabi. (2559). “ผ้าขาวม้าร้อยสี” สะท้อนความสามัคคีของชุมชนหนองขาว. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://district.cdd.go.th/