Advance search

สำรวจหน้าตักชุมชนผ่าน “แผนที่ความคิดชุมชนของเรา”

29 พ.ย. 2565 | ผู้สร้าง: สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี
เมื่อเอ่ยถึง “แผนที่ความคิด” หรือที่เรานิยมเรียกทับศัพท์ว่า “ไมน์ดฺแมพ” (Mind map) ผู้คนทั่วไปอาจนึกถึงกลุ่มก้อนความคิดน้อยใหญ่ ทั้งที่เป็นรูปวาดหลากสี หรือคำสำคัญที่กระจัดกระจายอยู่บนกระดาษแผ่นใหญ่ ซึ่งถูกเรียงร้อยลดหลั่นความสัมพันธ์กันไปเป็นลำดับชั้น ตามการจัดลำดับความคิดและความสร้างสรรค์ของผู้สร้าง เครื่องมือชิ้นนี้ถือเป็นเครื่องมือยอดนิยมที่มักถูกนำมาใช้ เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มลงมือสำรวจชุมชน อย่างไรก็ดี แม้เครื่องมือชิ้นนี้จะให้อิสระทางความคิดกับผู้สร้าง ในการขีดและเขียนความคิดให้เป็นรูปธรรมภายใต้โจทย์ที่วางไว้ แต่เพื่อให้ขอบเขตและแนวทางการระดมความคิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดให้แผนที่ความคิดมีหัวข้อบางอย่างเป็นจุดตั้งต้นอาจเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ข้อมูลที่จะได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่ตั้งไว้