Advance search

ชุมชนไตหย่า บ้านน้ำบ่อขาว มีจุดเด่นในด้านการทำนากก และการทำเสื่อกก หรือสาดไตหย่า ซึ่งถือเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไตหย่านับตั้งแต่ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย 

บ้านน้ำบ่อขาว
ห้วยไคร้
แม่สาย
เชียงราย
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5276-6609, เทศบาลห้วยไคร้ โทร. 0-5376-3235
วิไลวรรณ เดชดอนบม
9 ม.ค. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
28 ก.พ. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
13 ก.พ. 2023
บ้านน้ำบ่อขาว

ด้วยสภาพที่ตั้งของหมู่บ้านมีแหล่งน้ำใสสะอาดไหลผ่าน จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านน้ำบ่อขาว


ชุมชนไตหย่า บ้านน้ำบ่อขาว มีจุดเด่นในด้านการทำนากก และการทำเสื่อกก หรือสาดไตหย่า ซึ่งถือเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไตหย่านับตั้งแต่ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย 

บ้านน้ำบ่อขาว
ห้วยไคร้
แม่สาย
เชียงราย
57220
20.268916
99.852810

“ไตหย่า” คือกลุ่มชาติพันธุ์ไตกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ตำบลโมซาเจียง อำเภอซินผิง จังหวัดยี่วซี มณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแดง ชาวจีนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ฮวาเย่าไต” แปลว่าไตที่มีผ้าคาดเอวเต็มไปด้วยลวดลาย มาจากผ้าคาดเอวที่มีลวดลายและตกแต่งด้วยแถบผ้าหลากสีสันของผู้หญิงชาวไตหย่า ความเป็นมาของชุมชนไตหย่า บ้านน้ำบ่อขาว อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พบว่าชาวไตหย่าเดินอพยพจากเมืองโมซาเจียงเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2470 สืบเนื่องมาจากสาเหตุหลัก 5 ประการ

ประการแรก มาจากเหตุผลทางความเชื่อด้านศาสนา เมื่อมีมิชชันนารีเข้าไปเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวไตหย่า ในขณะนั้นมีชาวไทยจากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางร่วมไปกับคณะมิชชันนารีด้วย จึงได้สอนให้ชาวไตหย่าเรียนรู้ภาษาและอักษรล้านนาและได้รับรู้ว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ให้อิสระเรื่องการนับถือศาสนา ทำให้ชาวไตหย่าหลายคนตัดสินใจหันมานับถือศาสนาคริสต์ ประการที่สอง เนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง ด้วยขณะนั้นมีเหตุการณ์ปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล มีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ไปเป็นทหาร ชาวไตหย่าที่ไม่อยากเป็นทหารจึงหลบหนีมาที่ประเทศไทย ประการที่สาม ชาวไตหย่าถูกกีดกันด้านการศึกษาจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีการขัดขวางไม่ให้ชาวไตหย่าคบค้าสมาคมกับคนจากคณะมิชชันนารีเพราะเกรงว่าหากชาวไตหย่าได้รับการศึกษาแล้วจะเกิดกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลจีน ประการที่สี่ ต้องการมีที่ทำกินเป็นของตนเอง และประการที่ห้า ชาวไตหย่าต้องการอาศัยอยู่ในดินแดนที่สงบสุข ชาวไตหย่าบางคนจึงได้อาสาเป็นลูกหาบติดตามคณะมิชชันนารีมายังประเทศไทย โดยเดินเท้ามาทางสิบสองปันนาผ่านประเทศพม่าเข้ามายังประเทศไทย เมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วจึงได้พากันจับจองที่ดินทำกินและสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณบ้านหนองกลมหรือบ้านสันธาตุในปัจจุบัน ทว่าบริเวณนั้นมีน้ำไหลผ่านน้อย ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ชาวไตหย่าจึงได้เคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้ย้ายมาอยู่ที่บ้านป่าสักขวาง ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากมีพื้นที่เหมาะแก่การทำนา มีน้ำไหลผ่านจากห้วยไร่ ต่อมาไม่นานชาวไตหย่าที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้เดินทางกลับไปที่เมืองหย่า เพื่อไปรับชาวไตหย่าเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2484 ชาวไตหย่าบางส่วนได้เริ่มมองหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เนื่องจากบ้านป่าสักขวางมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่ทำกินไม่เพียงพอ จนได้พบกับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำใสสะอาด จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านน้ำบ่อขาว ซึ่งอยู่ในเขตตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันชุมชนน้ำบ่อขาวเป็นชุมชนที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวไตหย่า และมีจำนวนชาวไตหย่ามากกว่าชุมชนอื่น ๆ  

เมื่อปี พ.ศ. 2535 ทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงชุมชนไตหย่าบ้านบ่อน้ำขาว ที่แม้ว่าจะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมพึ่งตนเองมาโดยตลอด สมาชิกในชุมชนหลายคนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางกลับคืนภูมิลำเนาบ้านเกิด เนื่องจากประสบกับปัญหาว่างงาน อีกทั้งบางคนยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดหยุดชะงักกะทันหัน คนในชุมชนว่างงาน ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้หลายครัวเรือนมีภาระหนี้สินที่ไม่สามารถใช้คืนได้ อีกทั้งยังขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ ทางศิษยาภิบาล (ศาสนาจารย์บุญทวี สิทธิวงศ์) อาจารย์สอนศาสนาประจำคริสตจักรนทีธรรมในขณะนั้น ได้ริเริ่มแนวคิดการออมทรัพย์ให้กับสมาชิกของคริสตจักร โดยเริ่มจากสมาชิกฝ่ายบุรุษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้นำความคิดนี้มาเสนอต่อกลุ่มสตรี จึงเกิดการลงทุนหุ้นก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์คณะสตรีคริสตรจักรนทีธรรมขึ้นใน พ.ศ. 2535 เมื่อการดำเนินการของกลุ่มเริ่มประสบความสำเร็จและเติบโตขึ้นในระดับหนึ่งจึงได้มีการโอนกิจการจากกลุ่มสตรีเป็นกลุ่มออมทรัพย์คริสตจักรนทีธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน 

หมู่บ้านน้ำบ่อขาว ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 40 กิโลเมตร ถนนเข้าสู่หมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต บางส่วนเป็นถนนดินแดงแต่มีไม่มาก สภาพถนนสามารถใช้งานได้ทุกฤดูกาล ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งพระตำหนักดอยตุง และวัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหล่านักท่องเที่ยวต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ภายในหมู่บ้านมีลำน้ำตัดผ่านกลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านน้ำบ่อขาวใช้ในการอุปโภคบริโภค บริเวณโดยรอบมีพื้นที่ราบลุ่มสำหรับทำการเกษตร และทางทิศเหนือของหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของอาคารพระวิหารคริสตจักรนทีธรรม สถานที่สำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคริสต์ศาสนิกชนชาวบ้านน้ำบ่อขาว  

คริสตจักรนทีธรรม ศาสนสถานที่สำคัญของชาวไตหย่า ชุมชนบ้านน้ำบ่อขาว เพราะนอกจากจะใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว คริสตจักนทีธรรมยังเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมของกลุ่มพึ่งตนเองชุมชนบ้านน้ำบ่อขาว  

ประชากร 

ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2557 ระบุว่าชุมชนบ้านน้ำบ่อขาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรรวม 360 คน แยกเป็นชาย 134 หญิง 170 ประชากรส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่า คิดเป็นร้อยละ 80 กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่-ไทลื้อ คิดเป็นร้อยละ 18 ที่เหลือคือชาวจีนยูนนานและกลุ่มชนพื้นเมืองเดิม   

ระบบเครือญาติ 

ระบบครอบครัวของชาวไตหย่าเป็นลักษณะครอบครัวขยาย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ลูก หลาน เหลน โหลน อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ลูกชายเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องพาภรรยาเข้ามาอาศัยอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ เพื่อปรนนิบัติรับใช้คนในครอบครัวสามี ทำงานทุกอย่างทั้งในบ้านและงานนอกบ้าน ครอบครัวชาวไตหย่าเป็นครอบครัวที่มีความผูกพันกันทางสายโลหิต สืบสายตระกูลทางฝ่ายบิดา โดยจำแนกลำดับชั้นสายโลหิตออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สืบสายโลหิตชั้นต้นหรือสายตรง และกลุ่มผู้สืบสายโลหิตชั้นรองหรือสายอ้อม การจัดลำดับญาติจะนับญาติสูงจากตนเองขึ้นไป 5 ระดับ และต่ำกว่าตนเองอีก 5 ระดับ  

ครอบครัวชาวไตหย่ามีการตั้งชื่อบุตรเรียกตามลำดับตั้งแต่คนแรกไปจนถึงคนสุดท้อง โดยแบ่งหญิงชาย แต่มีข้อแม้ว่าชื่อลูกจะต้องไม่ซ้ำกับปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ หากเด็กที่เกิดใหม่มีชื่อซ้ำกับญาติดังลำดับที่กล่าวมาจะต้องเลื่อนใช้ชื่อลำดับถัดไป สำหรับชื่อของบุตรในลำดับที่ 5 เป็นต้นไป สามารถใช้ซ้ำกันได้ แต่หากบุตรมีจำนวนมากกว่าชื่อที่กำหนดไว้ก็สามารถใช้ อาคาง อาโข่ อากิ่น หรือชื่อที่มีการผสมกันระหว่างภาษาจีนกับภาษาไตหย่าได้ 

ลำดับการตั้งชื่อบุตรของชาวไตหย่า  

  • ลำดับที่ 1 อาหย่าย (บุตรชาย), อาเย (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 2 อาย (บุตรชาย)ี่, อาอี (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 3 อาสาม (บุตรชาย), อาหย่าม (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 4 อาใส่ (บุตรชาย), อาไอ (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 5 อาแหลว (บุตรชาย), อาแหล (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 6 อาแก่ว (บุตรชาย), อาแก่ว (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 7 อาเลิน (บุตรชาย), อาเลิน (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 8 อากอง (บุตรชาย), อากอง (บุตรสาว)
  • ลำดับที่ 9 อาหล่า (บุตรชาย), อาหล่า (บุตรสาว)

หมายเหตุ: หากบิดาชื่ออาหย่าย ลูกคนโตจะชื่ออาหย่ายซ้ำกับบิดาไม่ได้ ต้องใช้ชื่อในลำดับถัดไปแทน คือ อายี่  

ไตหย่า, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)

สภาพสังคม 

สภาพสังคมของชุมชนไตหย่า บ้านน้ำบ่อขาว คนในชุมชนอยู่อาศัยร่วมกันโดยพึ่งพา ช่วยเหลือ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคารพผู้อาวุโส มีความผูกพันและสามัคคีกัน โดยมีความเชื่อความศรัทธาในหลักคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าเป็นจุดศูนย์กลางในการดำเนินชีวิต ลักษณะการปกครองของหมู่บ้านขึ้นตรงต่อประชาคมเมืองเทศบาลจังหวัดเชียงราย มีคริสตจักรนทีธรรมเป็นศูนย์กลางในการรวบชาวไตหย่าให้อยู่ในกฎระเบียบของสังคมและชุมชน 

การประกอบอาชีพ 

การประกอบอาชีพของชาวไตหย่า ชุมชนบ้านน้ำบ่อขาว มีความผูกพันกับการทำเกษตรมาตั้งแต่อดีต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อการยังชีพเป็นหลัก แต่ปัจจุบันชาวไตหย่าส่วนใหญ่เข้าไปทำงานรับจ้างในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งรายได้จากการรับจ้างถือเป็นรายได้หลักของชาวไตหย่า จึงมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังทำเกษตรกรรมอยู่ นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ชาวไตหย่าบ้านน้ำบ่อขาวยังมีการทำศิลปหัตถกรรมในครัวเรือนอีกด้วย  

เกษตรกรรมที่สำคัญของชาวไตหย่าบ้านน้ำบ่อขาว คือ การทำนาข้าวและการทำนากก ซึ่งทำในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจะแบ่งพื้นที่จากนาข้าวเพื่อมาทำนากก การทำนากกนั้นเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชาวไตหย่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเรื่องเล่าในหมู่ชาวไตหย่าว่าต้นกกเป็นพันธุ์พืชที่บรรพบุรุษนำติดตัวมาด้วยตั้งแต่ครั้งเดินทางอพยพมาจากแคว้นยูนนาน การทำนากกจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน เมื่อต้นกกเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะทำการตัดเพื่อนำไปเตรียมเป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อกกต่อไป ซึ่งการทอเสื่อกกถือเป็นผลิตภัณฑ์หัตหกรรมครัวเรือนที่มีชื่อเสียงของชาวไตหย่า นอกจากการทำนาข้าว ทำนากก และหัตกรรมการทอเสื่อกกแล้ว ชุมชนไตหย่าบ้านน้ำบ่อขาวยังมีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านชุมชนไตหย่า เพื่อทำเบาะรองนั่งไว้สำหรับจำหน่าย ลวดลายที่ทำเป็นลวดลายปกติทั่วไป ไม่มีความโดดเด่นใด เมื่อทำเสร็จจะมีพ่อค้าจากนอกชุมชนเดินทางเข้ามารับซื้อเพื่อนำออกไปขายต่อ อนึ่ง ชุมชนน้ำบ่อขาวยังมีการจัดตั้ง “กลุ่มพึ่งตนเอง” ภายใต้การดำเนินการของคริสตจักรนทีธรรม เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่มสมาชิก และสนับสนุนการสร้างรายได้แก่สมาชิกในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ การดำเนินการของกลุ่มพึ่งตนเองมี 6 กิจกรรมที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีความก้าวหน้า สามารถสร้างรายได้แบ่งเงินปันผลคืนให้แก่สมาชิก และมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มร้านค้า กลุ่มเกลือเสริมไอโอดีน กลุ่มเสื่อกก กลุ่มของที่ระลึกตุ๊กตาไตหย่า และกลุ่มอบสมุนไพร 

กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2535 สมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์นี้จะเป็นสมาชิกของคริสตจักรนทีธรรมซึ่งมีเงินฝากทุกเดือนโดยวิธีการถือหุ้น มีการเปิดให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินได้แต่ต้องไม่เกิน 5 เท่าของเงินที่สะสมไว้ การดำเนินการของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์จะมีความคล้ายคลึงกับสหกรณ์เครดิตยูเนียน แตกต่างเพียงเมื่อสมาชิกจะกู้ยืมไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์มาค้ำประกัน เพียงแต่ต้องมีสมาชิกในกลุ่มสหกรณ์มาเป็นผู้ค้ำประกันให้  

กลุ่มร้านค้าชุมชน หรือร้านค้าของคริสตจักรนทีธรรม มีลักษณะคล้ายกับร้านขายของชำทั่วไป แต่มีการดำเนินการคล้ายกับสหกรณ์ ทุกสิ้นปีจะมีการแบ่งกำไรที่หักจากรายรับรายจ่ายออกเป็นส่วน ๆ ส่วนแรกหักให้แก่คริสตจักรนทีธรรม เพื่อนำไปเป็นทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ทางคริสตจักรรับผิดชอบ และกำไรส่วนที่เหลือจะนำไปจ่ายปันผลแก่สมาชิก สินค้าที่วางขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน  

กลุ่มเกลือเสริมไอโอดีน เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยคริสตจักรนทีธรรม ทางคริสตจักรจะสั่งเกลือจากโรงงานและให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต จากนั้นจะจำหน่ายให้กับสถานีอนามัยอำเภอแม่จัน และสถานีอนามัยอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นลูกค้ารายหลักของกลุ่มเกลือเสริมไอโอดีนบ้านน้ำบ่อขาว รวมถึงลูกค้าขาจร และคนในชุมชน  

กลุ่มเสื่อกก หรือเสื่อไตหย่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์การทอเสื่อกกของชาวไตหย่าบ้านน้ำบ่อขาว เนื่องจากปัจจุบันมีการปลูกต้นกกและทอเสื่อกกลดน้อยลงจากอดีตมาก  

กลุ่มทำของที่ระลึกตุ๊กตาไตหย่า กลุ่มกิจกรรมสร้างรายได้เสริมจากฝีมือและการระดมความคิดของสตรีไตหย่าในคริสตจักรนทีธรรม เพื่อช่วยกันออกแบบของที่ระลึกตุ๊กตาไตหย่า แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการธารน้ำใจต้านภัยเอดส์จำนวน 1,500 บาท และเงินอุดหนุนจากเทศบาลตำบลห้วยไคร้ 15,993 บาท 

กลุ่มห้องอบสมุนไพร เกิดจากความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน โดยยึดเอาวิถีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง จึงได้มีการรวมกลุ่มกันสร้างห้องอบสมุนไพรเพื่อบริการแก่สมาชิกและคนในละแวกใกล้เคียง เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิต เอดีพี แม่สาย และเงินจากศูนย์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคริสตจักรนทีธรรม  

ศาสนา ความเชื่อ และประเพณี  

แต่เดิมชาวไตหย่าไม่มีศาสนา แต่จะนับถือผีบรรพบุรุษ ชาวไตหย่าเชื่อว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ที่ตายไปเป็นผีแล้วจะตามปกปักษ์คุ้มครองลูกหลานที่ยังมีชีวิต ดังนั้นเมื่อพ่อ แม่ หรือบรรพบุรุษตายไปจึงเป็นหน้าที่สำคัญของลูกหลานที่ตั้งเครื่องเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่ดีที่สุดแก่ดวงวิญญาณของเหล่าบุพการีเพื่อทำให้ท่านพึงพอใจ หากท่านไม่พอใจจะบันดาลสิ่งไม่ดีให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการลงโทษ กระทั่งราวปีพุทธศักราช 2463 มีคณะมิชชันนารีเข้าไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาแก่ชาวไตหย่า ชาวไตหย่าบางส่วนจึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เมื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทยก็ยังคงรักษาความเชื่อตามหลักศาสนาคริสต์ไว้ ปัจจุบันชาวไตหย่าทั้งหมดในหมู่บ้านน้ำบ่อขาวจึงนับถือศาสนาคริสต์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าหากไม่ได้พบกับคำสอนของศาสนาคริสต์คงไม่มีชีวิตสุขสบายดังที่เป็นอยู่ การที่ชาวไตหย่าได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น ไตหย่าเชื่อว่าเป็นแผนการของพระเจ้าที่ต้องการนำพาพวกเขาให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส เป็นอิสระจากการกดขี่ข่มเหงของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้ามาสู่ความเป็นไทในประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ และให้อิสระในการดำเนินชีวิตและการนับถือศาสนา ฉะนั้นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวไตหย่าบ้านน้ำบ่อขาวจึงมีความสอดคล้องกับหลักคำสอนที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล เช่น การให้เกียรติบิดามารดา เชื่อฟังผู้อาวุโส รักซึ่งกันและกัน เป็นต้น มีกิจกรรมร่วมร้องเพลงสรรญเสริญพระเจ้า ฟังคำเทศนาที่คริสตจักรนทีธรรมทุกวันอาทิตย์ และมีการทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ตามความเชื่อทางศาสนาเป็นประจำทุกปี ได้แก่ งานชุมนุมใหญ่ประจำปี จัดขึ้นในวันที่ 2 ของเดือนมกราคม วันคริสต์มาส ทุกวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี งานตานข้าวใหม่หรือการถวายผลผลิตแรกของปีแก่พระเจ้า คริสตจักรนทีธรรมจะเป็นผู้กำหนดวันในการประกอบพิธีกรรม วันอีสต์เตอร์หรือวันที่พระเยซูคริสต์ฟื้นคืน ทางหน่วยงานของคริสต์เตียนจะเป็นผู้กำหนดวัน โดยปกติจะอยู่ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน  

ปัจจุบันประเพณี พิธีกรรม และกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนไตหย่าบ้านน้ำบ่อขาว ส่วนใหญ่จะเป็นประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา เนื่องจากชาวไตหย่าในชุมชนทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์เป็นศาสนาหลักประจำชุมชน การนับถือผีซึ่งเป็นความเชื่อในอดีตเมื่อครั้งก่อนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจึงไม่มีปรากฏแล้ว เพราะชาวไตหย่าเชื่อว่าพระเจ้าคือผู้นำพาพวกเขาให้หลุดพ้นจากความยากลำบาก และการถูกกดขี่ข่มเหง หากไม่มีคณะมิชชันนารีและศาสนาคริสต์ พวกเข้าคงต้องทนอยู่ในแผ่นดินนั้นต่อไปโดยไร้ซึ่งอิสรภาพดังเช่นปัจจุบัน  

วัฒนธรรมการบริโภคอาหาร 

ชาวไตหย่าบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก อีกทั้งยังมักจะนำเอาข้าวเหนียวมาคลุกกับหมูห่อด้วยใบตองมัดติดกันแล้วนำไปนึ่ง เรียกว่า “ข้าวต้มก๊บ” หรือ “ข้าวจ๋า” อาหารหลักอีกอย่างหนึ่งคือปลา หากมีปริมาณมากจะนำมาดองเพื่อเก็บไว้บริโภคตลอดปี การดองถือเป็นวิธีการถนอมอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวไตหย่า วัตถุดิบอื่นที่นิยมนำมาดอง ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และผัก นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ชาวไตหย่าชุมชนน้ำบ่อขาวนิยมรับประทานในปัจจุบัน ได้แก่ หุงผัก หลู่ เนื้อตำขิง ผัดกุยช่าย ยำจิ้นสุ่ม ข้าวแกงท่าง ข้าวแหลกล่อม และข้าวโหหมอก  

  • หลู่ (แลอาน) เป็นการประกอบอาหารที่ประกอบจากการนำเอาเครื่องในและเนื้อสัตว์หั่น  บาง ๆ นำมาต้มให้สุก จากนั้นนำไปคลุกกับผักกาดดอง ขิง สะระแหน่ ผักไผ่ ถัวลิสง ผักชีฝรั่ง ปรุงด้วยเกลือ  

  • เนื้อตำขิง คือการนำเอาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไปตากให้แห้ง นำมาตำให้ละเอียด แล้วใส่ขิงลงไป 

  • ผัดใบกุยช่าย เป็นการประกอบอาหารโดยนำเอาเครื่องในและเลือดเป็ด หรือไก่ หรือห่าน นำมาหั่นให้ละเอียด จากนั้นนำในกุยช่ายมาผัดรวมกันให้สุก ปรุงรสด้วยเกลือ 

  • ยำจิ้นสุ่ม หรือยำเนื้อดอง นำผักชี ต้นหอม และขิงมาสับให้ละเอียด แล้วนำเนื้อหมุหรือเนื้อวัวดองมาคลุกเคล้ากับถั่วลิสง  

  • ข้าวแกงท่าง เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ถั่วลิสง และน้ำอ้อย ภาษาไตหย่าเรียกว่า “ท่าง” นำไปห่อด้วยใบตองแล้วนึ่งจนสุก 

  • ข้าวแหลกล่อม เป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายบัวลอยของไทย แต่คลุกน้ำอ้อยแทนกะทิ   

  • ข้าวโหหมอก เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวที่นวดด้วยน้ำต้มหมู ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ นำหมูสามชั้นต้มสุกมาคลุกกับลูกจันป่นและพริกไทยป่น ห่อเป็นไส้ แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง นำไปนึ่งให้สุก 

วัฒนธรรมการแต่งกาย 

ปัจจุบันชาวไตหย่าส่วนใหญ่มักแต่งกายตามสมัยนิยม แต่เมื่อถึงช่วงเวลาที่มีงานประเพณีต่าง ๆ ชาวไตหย่าจะแต่งการด้วยชุดพื้นเมืองของชนเผ่า เครื่องแต่งกายของชาวไตหย่าจะมีลักษณะแตกต่างจากการแต่งกายของชนเผ่าไทกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของสตรี สตรีชาวไตหย่าจะประกอบด้วยผ้าซิ่นสองผืนซ้อนกัน ผืนแรกเรียกว่า “ผ้าไต่เซิน” เป็นผ้าพื้นสีดำประดับด้วยลายริ้วสีต่าง ๆ รอบชายซิ่น ขณะสวมใส่จะปล่อยชายด้านขวาให้ห้อยลงต่ำกว่าชายด้านซ้าย ผ้าผืนที่สอง เรียกว่า “ผ้าเซิน” เป็นผ้าพื้นสีดำประดับลายริ้วแต่ไม่เย็บข้างให้ติดกันเหมือนผ้าผืนแรก ใช้สวมทับผ้าผืนแรกโดยพันรอบตัวให้ชายผ้าขนานกับพื้นและคาดด้วยเข็มขัด เสื้อจะมีสองตัว ตัวแรกคือเสื้อน้อย เป็นเสื้อที่ไม่มีแขน คอตั้ง ตัวยาว ด้านหน้าของเสื้อประดับด้วยเม็ดเงินทั้งตัว เสื้อตัวที่สองเรียกว่า “เสื้อหลวง” เป็นที่สวมทับเสื้อน้อย มีลักษณะคล้ายเสื้อกั๊ก ขอบบริเวณคอ แขน และเอว ประดับด้วยแพรสีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้แผ่นแร่เงินบาง ๆ ขนาดเท่ากระดุมเสื้อ สอยเย็บติดกับชายเสื้อ สาบเสื้อ และขอบแขนเป็นลวดลายต่าง ๆ สตรีชาวไตหย่านิยมไว้ผมยาวเกล้ามวยสูงกลางศีรษะ พันด้วยผ้าสีดำ 2 ผืน ผืนแรกเรียกว่า “ผ้าโหแย่ง” เป็นผ้าผืนเล็กวางพาดศีรษะ ปล่อยสายยาวลงมาปิดหูทั้งสองข้าง ผืนที่สองเรียกว่า “ผ้าหว่างโท” พันรอบศีรษะทับผ้าดหแย่งอีกรอบหนึ่ง  

สำหรับเครื่องแต่งกายของชายชาวไตหย่าประกอบด้วยกางเกงขายาวขาตรงสีดำหรือสีคราม เสื้อคอจีนแขนยาวสีดำ กระดุมดำ แหวกข้าง เรียกว่า “เสื้อฮี้” ตัวเสื้อและกางเกงเป็นสีดำพื้นไม่ประดับลวดลายใด ๆ ชายชาวไตหย่าจะสามารถใส่ชุดพื้นเมืองประจำชนเผ่าของตนได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 18 ปี บริบูรณ์  

ที่อยู่อาศัย 

ในอดีตชาวไตหย่านิยมสร้างบ้านด้วยดิน แต่ภายหลังอพยพเข้ามาในประเทศไทยรูปแบบการสร้างบ้านของชาวไตหย่าเปลี่ยนแปลงไป คือ ไม่นิยมสร้างบ้านด้วยดิน เนื่องจากดินในประเทศไทยต่างจากประเทศจีน เมื่อถึงฤดูฝนดินที่นำมาสร้างบ้านจะถูกน้ำฝนชะล้างพังทลาย จึงต้องเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นในการสร้างบ้านตามแบบคนพื้นเมืองทั่วไป  

หุงผักต่าง ๆ เช่น หุงผักกาด ผักปัง ผักแว่น การหุงมีวิธีการทำคล้ายการจอผักของคนพื้นเมือง  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น  

ดนตรีพื้นบ้าน 

การละเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวไตหย่ามีลักษณะคล้ายดนตรีของชาวล้านนาและชาวไทกลุ่มอื่น ๆ การขับร้องเพลงของชาวไตหย่ามี 2 ประเภท ได้แก่ ฮ้องกำ และฮ้องคาม “ฮ้องกำ” เป็นการร้องเพลงเพื่อเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ส่วน “ฮ้องคาม” เปรียบเสมือนค่าว เครือ ซอ ของล้านนา ผู้ที่เล่นดนตรีของชาวไตหย่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชายหนุ่ม ส่วนผู้ร้องนั้นมีทั้งชายหนุ่มและหญิงสาว มีเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ติ่งเซ” เล่นประกอบการขับร้อง ติ่งเซเป็นเครื่องดนตรีประเภทสีติ้งต่อง มีลักษณะเหมือนพิณของชาวเขา หรือซึง แต่มีขนาดเล็กกว่า เนื้อหาบรรยายเรื่องราวของบรรพบุรุษที่เดินทางออกจากเมืองหย่ามายังประเทศไทย บรรยายสภาพความเป็นอยู่ของเมืองหย่า สภาพแวดล้อม การทำนา ทำสวน รวมถึงความใฝ่ฝันที่อยากจะกลับไปเยือนเมืองหย่าอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีโอกาสได้กลับไป  

ตัวอย่างเพลงฮ้องคามต่าวกาเมืองหย่า 

กุณเฒ่าออกเมิงหย่า มาอู่เมิงใน 

คอนว่าเมิงจ่าลี โจลี่ หย่า  

เมิงหว่านโตหย่าลี ลีโย 

ซ่อมเขา ลีโจ่ลี เห็ดเสิน ญามโจ่ญาม เอ๊... 

ห่อนหลังใต้น่าเก้อชา คามโขน่ะ 

ห่อนหลังเหนอ น่าเก้อชา คามลี เฮ ไจ่ อะ ย่อ   

การทอเสื่อกก (สาดไตหย่า) 

การทอเสื่อนับเป็นอาชีพเสริมที่ชาวไตหย่าริเริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ช่วงแรกการทอเสื่อเป็นอาชีพเฉพาะของชาวไตหย่า จนถูกเรียกว่า “สาดไตหย่า” การทอสาดไตหย่ามีวัตถุดิบสำคัญคือ “เส้นกก” ที่ได้จากการนำต้นกกไปตากแห้ง การตากต้นกกเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่จะแสดงให้เห็นว่าวัตถุดิบนั้นมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด โดยวิธีการตากต้นกกจะยึดหลักว่าตากตอนเช้า เก็บตอนเย็น หากยังไม่แห้งเช้าวันถัดมาค่อยนำออกไปตากใหม่ เพื่อป้องกันไม้ให้ต้นกกมีสีดำคล้ำและขึ้นราจากการถูกน้ำค้างหรือน้ำฝนในเวลากลางคืน การทอเสื่อกกมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ปืน” หรือ “ค้าง” ที่มีลักษณะคล้ายอุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้า การทอเสื่อหนึ่งผืนต้องใช้แรงงานคน 2 คน คนหนึ่งจะเป็นคนร่อนเส้นกกเข้าปืนหรือค้าง อีกคนหนึ่งเป็นคนทอ ใช้เวลาในการทอประมาณ 20-30 นาที แต่ละปีจะสามารถทอเสื่อกกได้ประมาณ 300-500 ผืนต่อครอบครัว เมื่อทอเสร็จแล้วจะมีพ่อค้าจากภายนอกเดินทางเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านเพื่อนำออกไปจำหน่ายนอกชุมชน การกำหนดราคาเสื่อกกมีอยู่ 2 ราคาตามลักษณะของเสื่อ เสื่อกกประเภทแรกคือเสื่อกกชั้นเดียวหรือที่เรียกว่า สาดลายตาน เสื่อประเภทนี้มีราคาไม่แพงนัก และเสื่อประเภทที่สองคือเสื่อกก 2 ชั้น หรือสาดลายลอง มีราคาสูงกว่าเสื่อกกชั้นเดียวประมาณหนึ่งเท่า  

การจักสาน 

เครื่องจักสานของชาวไตหย่าทำขึ้นเพื่อใช้ในการบรรจุผลิตผลทางการเกษตรในรูปแบบของตะกร้าหาบสานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า “ขอนกู่ล่าน” ตะกร้าชนิดนี้มีลักษณะแตกต่างจากตะกร้าทั่วไป เนื่องจากไม่ใช้เชือกในการทำสายหาบ แต่ใช้ไม้ไผ่ดัดโค้งเป็นสายหาบแทน นอกจากนี้ยังมีการสาน “ตุ้มเหงี่ยน” หรือที่ดักจับปลาไหลขนาดใหญ่ โดยการสานรูสำหรับปลาไหลลอดจะสานเท่าขนาดหัวแม่มือเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไหลขนาดใหญ่กว่าหัวแม่มือลอดเข้าไปในตุ้มเหงี่ยนได้ ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาไหลอีกทางหนึ่ง

การรักษาโรค 

ชาวไตหย่าชุมชนน้ำบ่อขาวมีวิธีการรักษาโรคซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากช่วงที่อพยพเข้ามาในระยะแรก การเดินทางเพื่อไปรักษาอาการเจ็บป่วยในสถานพยาบาลของรัฐนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก ชาวไตหย่าจึงใช้ความรู้ที่มีมาปรับประยุกต์เพื่อใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งภูมิปัญญาการรักษาโรคหลายอย่างยังคงปรากฏสืบทอดในชุมชนน้ำบ่อขาวอยู่จนปัจจุบัน ได้แก่ การนวดท้อง การขูดหลัง การกอกหัว การสับเสือฮาม และการแตงป่าง  

  • การนวดท้อง รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด โดยให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นในเวลาเช้าก่อนรับประทานอาหาร แล้วใช้มือกดช่องท่องบริเวณใต้ลิ้นปี่เรื่อยลงไปเพื่อไล่ลมที่อยู่ในท้อง หลังการนวดจะทำให้รู้สึกสบายตัว และรับประทานอาหารได้ดีขึ้น 
  • การขูดหลัง (การก่าแล้ว) รักษาอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ชาวไตหย่าเรียกอาการนี้ว่า “โจ่แล้ง” วิธีการรักษาคือนำน้ำมันหมู น้ำมันพืช หรือยาหม่อง ตามแต่ความสะดวก ทาบริเวณแผ่นหลัง แขน ขา หน้าอก แล้วใช้ก้นประป๋องที่ไม่มีความคมขูดผิวหนังจากบนลงล่างจนทั่ว หากยิ่งแดงช้ำมากแสดงว่าอาการเจ็บป่วยนั้นปรากฏออกมามาก หลังจากขูดแล้วจะใช้ผ้าสะอาดเช็ดคราบน้ำมันหรือยาหม่องออก และงดอาบน้ำ 1 วัน เพื่อไม่ให้อาการนั้นกลับมาอีก 
  • การกอกหัว ใช้รักษาอาการปวดหัว หรือปวดเมื่อยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมากเกินปกติแทนวิธีการขูด ในอดีตจะใช้เขาสัตว์เจาะรูตรงปลายแหลม ลนไฟครอบลงไปบริเวณที่ปวดแล้วใช้ปากดูด แต่ปัจจุบันเปลี่ยนวิธีการกอกมาเป็นพลาสติกที่ไม่ต้องใช้ปากดูด เนื่องจากเขาสัตว์นั้นหายาก อีกทั้งวิธีการกอกด้วยการดูดยังเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อร้ายแรงจึงเลิกใช้วิธีนี้ไป
  • การสับเสือฮาม เป็นการรักษาอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง โดยจะต้องทำในช่วงเช้าขณะพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ผู้รักษาจึงจะสามารถมองเห็นจุดแดงจากอาการปวดเมื่อย จากนั้นใช้ใบมีดโกนที่มีความคมขีดเป็นแผลขนาดเล็ก แล้วใช้ขิงทุบหรือเกลือป่นทารอบบาดแผลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำการสับเสือฮามแล้วจะต้องงดอาบน้ำเพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น  
  • การแตงป่าง เป็นการรักษาอาการจุกเสียดท้อง ในอดีตเรียกอาการป่างโต โดยให้หมอที่มีความชำนาญนำเข็มที่ทำจากซี่ของร่มจิ้มน้ำหมึกมาแทงบริเวณผิวหนังเกิดรอยคล้ายรอยสัก ปัจจุบันการแตงป่างไม่เป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากหมอที่มีความเชี่ยวชาญได้เสียชีวิตไป ชาวบ้านจึงนิยมไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลของรัฐมากกว่า  

ภาษาพูด : ภาษาไตหย่า (คล้ายภาษาไทลื้อหรือไทยอง) ภาษาไทย 

ภาษาเขียน : ไตหย่าไม่มีภาษาเขียน แต่จะใช้ภาษาไทยเขียนตามภาษาพูด  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กริช สะอิ้งทอง. (2551). ศักยภาพและการพัฒนาชุมชนไตหย่า หมู่บ้านน้ำบ่อขาว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  

เลหล้า ตรีเอกานุกูล. (2557). โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมชาติพันธุ์ไตหย่า บ้านน้ำบ่อขาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. 

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5276-6609, เทศบาลห้วยไคร้ โทร. 0-5376-3235