ชาวผู้ไทบ้านเรณู มีประเพณีที่เรียกว่า “ประเพณีดูดอุ” คือการนำเหล้าอุ อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ผูกติดกับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทเรณูนครมาใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาวผู้ไทเรณูนคร และเป็นอีกหนึ่งของฝากของดีประจำจังหวัดนครพนม
ชาวผู้ไทบ้านเรณู มีประเพณีที่เรียกว่า “ประเพณีดูดอุ” คือการนำเหล้าอุ อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ผูกติดกับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทเรณูนครมาใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาวผู้ไทเรณูนคร และเป็นอีกหนึ่งของฝากของดีประจำจังหวัดนครพนม
บ้านเรณู ในเขตปกครองตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาว “ผู้ไท” หรือที่คนทั่วไปเรียกชาวเรณูที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ว่า “ผู้ไทเรณูนคร” จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในเมืองเรณูนครระบุตรงกันว่าบรรพบุรุษของชาวผู้ไทเรณูนครว่า ผู้ไทกลุ่มนี้มีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนู (เมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู แคว้นสิบสองจุไท ประเทศเวียดนาม) ก่อนอพยพมาอยู่ที่เมืองวัง และเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3
บุญมาก แก้วมณีชัย (สัมภาษณ์, 9 มกราคม 2543 อ้างถึงใน วิลาวัลย์ เอื้อวงศ์กูล, 2542: 56) เล่าว่า ชาวผู้ไทเรณูนครที่อพยพเข้ามาในยุคแรก นำโดยท้าวเพชรท้าวสาย คราแรกได้พากันตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหนองหาน จังหวัดสกลนคร เพราะเห็นว่าเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ แต่อยู่ได้เพียง 5-6 เดือน ก็มีผู้คนล้มตายจากโรคปอดบวมเป็นจำนวนมาก ท้าวเพชรท้าวสายจึงพาชาวผู้ไทเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองวัง ระหว่างเดินทางกลับ ได้หยุดพักที่โพธิ์สามต้นเพื่อแวะนมัสการพระภิกษุทา เจ้าสำนักธาตุพนม พระภิกษุทาจึงได้ขอร้องว่าอย่ากลับไปเมืองวังอีกเลย และได้แนะนำให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดงหวายสายบ่อแก เพราะเป็นพื้นที่ที่ปูปลาน้ำบ่อทานาเกลืออุดมสมบูรณ์ ท้าวเพชรท้าวสายจึงพาชาวผู้ไทไปสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณบ้านดงหวายสายบ่อแก แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “เรณูนคร” ในเวลาต่อมา
บ้านเรณูตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเรณูนคร ห่างจากจังหวัดนครพนม 50 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอธาตุพนม 15 กิโลเมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเล 150 เมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ จดพื้นที่ บ้านโพนสาวเอ้ ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม
- ทิศใต้ จดพื้นที่ บ้านบ่อสะอาด ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม
- ทิศตะวันออก จดพื้นที่ บ้านโพนทอง ต.โพนทอง อ.เรณูนคร จ.นครพนม
- ทิศตะวันตก จดพื้นที่ บ้านโนนสังข์และบ้านโคกสาย ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม
ลักษณะภูมิประเทศ บ้านเรณูเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา ทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นที่ราบและป่าโปร่ง ส่วนทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีป่าไม้ เพราะที่ดินส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ดินเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนใหญ่เป็นดินชุดเรณู และดินชุดนครพนม แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ ห้วยบ่อแก และห้วยแคน
บ้านเรณูมีประชากรทั้งสิ้น 2,230 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่ ได้แก่ บ้านเรณู หมู่ที่ 1 มีประชากร 257 คน บ้านเรณู หมู่ที่ 2 มีประชากร 518 คน บ้านเรณู หมู่ที่ 5 มีประชากร 358 คน บ้านเรณู หมู่ที่ 9 มีประชากร 255 คน บ้านเรณู หมู่ที่ 13 มีประชากร 478 คน และบ้านเรณู หมู่ที่ 14 มีประชากร 364 คน ประชากรในหมู่บ้านทั้งหมดเป็นชาวผู้ไท
ผู้ไทอาชีพหลัก : ทำนา
อาชีพเสริม : การทอผ้าพื้นเมือง ร้านค้าชุมชน และการขายของที่ระลึก เช่น เหล้าอุ
การซื้อขายแลกเปลี่ยนนอกชุมชน : มีการนำเสื้อผ้าพื้นเมืองที่เป็นงานหัตถกรรมของชุมชนออกไปเร่ขายตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
ศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเรณูนับถือศาสนาพุทธ ทุกปีจะมีการประกอบประเพณีพิธีกรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และบุญเทศน์มหาชาติ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีการนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตลอดจนการเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตามคติความเชื่อที่ว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้วจะกลายเป็นดวงวิญญาณคอยคุ้มครองดูแลความประพฤติของลูกหลาน ฉะนั้น สิ่งใดที่คิดว่าผีไม่ชอบ ชาวบ้านจะไม่ทำ หากฝ่าฝืนบุคคลผู้นั้นจะต้องได้รับบทลงโทษจากผี โดยผีจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย
ประเพณี และพิธีกรรม
พิธีกรรมเหยา: เป็นพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากการนับถือผี และความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทาย เมื่อคนในครอบครัวเกิดความเจ็บป่วยมักจะเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี จึงต้องมีการเจรจาต่อรองกับผี เรียกว่า “แก้ผี” เพื่อให้ทราบว่าผีต้องการอะไร แล้วจะได้ดำเนินการตามความต้องการของผี โดยผู้ที่ทำพิธีดังกล่าว เรียกว่า “หมอเหยา”
เลี้ยงผีตาแฮก: พิธีกรรมเลี้ยงผีตาแฮกหรือผีนา เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ผีนาหรือพระแม่โพสพช่วยคุ้มครองต้นข้าวให้อุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่นาจะมีการสร้างศาลเล็ก ๆ ขึ้นตามคันนา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำพิธี ในพิธีกรรมจะมีการจัดหมาก กอกยา ไข่ไก่ และอุ เป็นของเซ่นไหว้ผีตาแฮก การเลี้ยงผีตาแฮกจะจัดขึ้นช่วงต้นฤดูฝน ก่อนการไถคราด โดยนิยมทำในวันพุธ ภายหลังการเซ่นไหว้บอกกล่าวผีตาแฮก จะมีการลงมือทำนาให้เป็นเคล็ด โดยปลูกข้าว 7 ต้น บริเวณศาลตาแฮก จากนั้นจึงจะทำนากันตามปกติ อนึ่ง การเลี้ยงผีตาแฮกยังกระทำในกรณีที่คนในครอบครัวเกิดอาการเจ็บป่วย แล้วเชื่อว่าเกิดจากผิดผีนา จะต้องมาทำพิธีแก้ผีอยู่ที่นา ซึ่งพิธีกรรมนี้จะเกี่ยวข้องวนเวียนไปตลอดช่วงชีวิตของชาวผู้ไทที่ยังคงนับถือผี
ประเพณีดูดอุ: อุ หรือ ช้าง เป็นเหล้าที่หมักด้วยแกลบผสมข้าวเล็กน้อย บรรจุในไหขนาดเล็ก ใช้ดินเหนียวปิดปากไหให้สนิทป้องกันอากาศเข้า ก่อนดื่มต้องเติมน้ำ แล้วใช้ไม้ซางเสียบลงไปในไห การดูดอุเป็นประเพณีที่ชาวผู้ไทใช้ต้อนรับแขก ปัจจุบันชาวผู้ไทเรณูนคร เป็นกลุ่มผู้ไทเพียงกลุ่มเดียวที่ยังคงใช้อุหรือช้างในการต้อนรับแขก ซึ่งเรียกว่า “แขกเมือง” ประเพณีดูดอุบางทีเรียกว่า “ประเพณีขี่ช้างคู่” หรือ “ประเพณีชนช้างเรณูนคร”
นอกจากประเพณีพิธีกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ชาวผู้ไทส่วนใหญ่ยังมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับคนอีสานทั่วไป คือ การทำบุญ 12 เดือน หรือฮีตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกบจารีตประเพณี แม้ว่าอาจจะมีความแตกต่างด้านรายละเอียด รูปแบบ และวิถีปฏิบัติบางประการ ถึงกระนั้นประเพณี 12 เดือน ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ และเป็นภาระหลักของชาวผู้ไทเรณูที่ต้องถือปฏิบัติ อีกทั้งยังมีบทบาทในฐานะของการเป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างชาวอีสานและชาวผู้ไท
อนึ่ง นอกจากประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อแล้ว เมืองเรณูนครยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านศิลปวัฒนธรรม “การฟ้อนผู้ไทเรณูนคร” อันเป็นวัฒนธรรมที่ชาวผู้ไทในอำเภอเรณูนครทุกพื้นที่สืบทอดปฏิบัติ รวมถึงชาวผู้ไทบ้านเรณูด้วย ในอดีตการฟ้อนผู้ไทเรณูนคร จะเน้นความสนุกสนาน เป็นการฟ้อนของหนุ่ม ๆ เพื่ออวดบรรดาสาว ๆ ในงานบุญมหาชาติ งานนมัสการพระธาตุพนม พระธาตุเรณู และงานเทศกาลอื่น ๆ รวมถึงการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ทุนวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น
โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญ
วัดธาตุเรณู สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยจำลองแบบจากพระธาตุพนมองค์เดิมทุกประการ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 9.37 เมตร สูง 35 เมตร บรรจุคัมภีร์พระธรรม (พระไตรปิฎก) พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เพชรนิลจินดา หน่องา และของมีค่าจากประชาชนที่มีศรัทธาบริจาค โดยมีนายช่างควบคุมการก่อสร้างชื่อ นายเม้า เป็นคนอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (ขณะก่อสร้างยังอุปสมบถอยู่) ก่ออิฐหนาสองช่วงแผ่นอิฐและปั้นปูนลวดลาย แล้วเสร็จประมาณ พ.ศ. 2461 ยังไม่ทันได้จัดงานฉลอง ย่างเข้าเดือน 6 ฝนตกหนักพระธาตุที่ก่อสร้างพังทลายทั้งหมด จึงต้องก่อสร้างใหม่ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระธาตุทั้งสี่ด้านก่ออิฐหนาสี่ช่วงแผ่นอิฐ แต่ไม่ได้ตีเข็มรากฐานหรือผูกโครงเหล็ก และปั้นลวดลายพระธาตุเรณูจนเสร็จเรียบร้อย จัดงานสมโภชในปี พ.ศ. 2463 เป็นปีแรก โดยกำหนดให้วันขึ้น 11 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 รวมทั้งสิ้น 5 วัน 5 คืน เป็นเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูประจำปี
ส่วนโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระองค์แสน ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดพระธาตุเรณู เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง เป็นพระเนื้อทองตันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร สร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่สร้างมาก่อนวัดพระธาตุเรณู เล่ากันต่อมาว่าส้รางในสมัยพระครูอ้วน ภูมิปาโล เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู พระองค์แสนมีน้ำหนัก 10 หมื่น ชาวบ้านนิยมใช้มาตราชั่ง 12 กิโลกรัม เป็น 1 หมื่น ดังนั้น 10 หมื่น จึงเท่ากับ 120 กิโลกรัม การนับในปัจจุบัน 10 เป็น 1 แสน เพราะเหตุนี้จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระองค์แสน"
เหล้าอุเรณูนคร
เหล้าอุเรณูนคร เป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายร้อยปีในพื้นที่อำเภอเรณูนคร แต่ถึงกระนั้นสูตรและส่วนผสมของการหมักเหล้าอุก็ยังถือได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เพราะการใช้เหล้าอุในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นประเพณีดั้งเดิมที่ผูกติดอยู่กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในอำเภอเรณูนครมาอย่างยาวนาน จนภายหลังเหล้าอุได้กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอเรณูนคร และเป็นอีกหนึ่งของฝากของดีประจำจังหวัดนครพนม
สำหรับกรรมวิธีการทำเหล้าอุ จะเริ่มจากการหมักข้าวเหนียวและแป้งเหล้าในไห โดยแป้งเหล้าจะมีส่วนผสมของข่า พริกแห้ง อ้อยสามสวน แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว รากตดหมูตดหมา รากประสงค์ รากต้นหมาก และรากมะพร้าวไฟ บดให้รวมเข้ากันได้ดี แล้วนำข้าวเหนียวและข้าวจ้าวที่ผสมกันอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมที่บดแล้ว อัตราส่วน 1 ส่วนต่อข้าวเหนียวข้าวจ้าว 2 ส่วน จากนั้นใส่น้ำเล็กน้อยและปั้นให้เป็นก้อน เสร็จแล้วนำก้อนแป้งไปวางบนภาชนะแบนที่รองด้วยแกลบข้าว สุดท้ายนำเหล้าขาวพรมให้ทั่วและปิดด้วยผ้าขาวบาง 1 คืน รุ่งขึ้นนำไปตากแดดให้แห้ง เป็นอันเสร็จสิ้นพร้อมที่จะไปผ่านกระบวนการหมักเป็นเหล้า ในการหมักเหล้าอุนั้นจะต้องนำข้าวเหนียวผสมแกลบ อัตราส่วน 4 ต่อ 6 ใน 10 ส่วน แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาดและแช่น้ำค้างคืนไว้ก่อนที่จะนำไปหุงให้สุก ก่อนจะนำไปผึ่งลมให้เย็น และไปคลุกเคล้ากับแป้งเหล้าที่โขลกให้แหลก พอผสมกันได้ที่แล้วก็หมักไว้ในถุงหรือไห ประมาณ 2–3 วัน ให้ออกกลิ่นเหล้า แล้วนำไปหมักในไหสะอาด ปิดไหด้วยใบตองแห้งพับ และขี้เถ้าผสมน้ำ เก็บไว้อีก 7–15 วัน เปิดออกและเติมน้ำลงไปก็พร้อมรับประทานทันที โดยจะใช้ไม้กระแสนเจาะรูเพื่อดื่มเหล้าอุ
เหล้าอุมีชื่อเรียกอีกหนึ่งชื่อว่า “ช้าง” สอดคล้องกับประเพณี “ชนช้างเรณูนคร” เป็นประเพณีการเลี้ยงแขกด้วยเหล้าอุหรือที่เรียกว่า “เหล้าช้างเรณูนคร” พิธีนี้จะเริ่มด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวผู้ไทเมืองเรณูนคร และปิดท้ายด้วยการ “ชนช้าง” ที่จะให้ชายและหญิงแข่งกันดูดเหล้าอุจากไห แข่งกัน 3 ยก มีกติกาว่าห้ามพ่นน้ำ ต้องจ้องตากัน หากผู้ใดถอนริมฝีปากก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ โดยประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ชาวผู้ไทเรณูนครปฏิบัติสืบต่อกันมาเมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยือนท้องถิ่นของตน (ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา, 2565)
ฟ้อนผู้ไทเรณูนคร
การฟ้อนผู้ไทเรณูนคร เป็นประเพณีที่ชาวผู้ไทในอำเภอเรณูนครปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การฟ้อนนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำชนเผ่าผู้ไทเรณูนคร และจังหวัดนครพนม ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุวิชาการฟ้อนผู้ไทเรณูนครเข้าไว้ในหลักสูตร นักเรียนที่ศึกษาในสถานศึกษาภายในเขตอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จึงสามารถฟ้อนผู้ไทเรณูนครเป็นทุกคน
การฟ้อนผู้ไทเรณูนครจะนิยมแสดงในงานเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เช่น งานไหลเรือไฟ สงกรานต์ งานวันเพ็ญเดือนสาม และงานต้อนรับแขกเมือง โดยชายหญิงจะจับคู่ฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี ที่จะมีทั้งแบบดั้งเดิม ประกอบด้วย แคน กลองสองหน้า กลองหาง ฆ้องโหม่ง พังฮาด และกั๊บแก้บ ส่วนในวงโปงลางจะใช้เครื่องดนตรีครบชุดของวงโปงลาง ลายเพลงใช้ลายลมพัดพร้าว ผู้ฟ้อนจะต้องมีคุณลักษณะเป็นสาวโสด หญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อน เวลาฟ้อนจะไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญขณะฟ้อน ฝ่ายชายต้องห้ามถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงเด็ดขาด (เชื่อว่าจะเป็นการกระทำผิดผี เพราะชาวผู้ไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจถูกปรับไหมตามจารีตประเพณี)
ภาษาพูด: ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ภาษาราชการ)
ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวอักษรของชาวผู้ไทว่า สาเหตุที่ชาวผู้ไทมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีภาษาเขียนนั้น เป็นเพราะในสมัยดึกดำบรรพ์พระยาแถงได้ประกาศให้ชนชาติต่าง ๆ มารับเอาหนังสือไปใช้ เจ้าเมืองผู้ไทได้จารึกตัวอักษรลงบนหนังวัวตากแห้ง ครั้นฝนตกตัวหนังสือเปียก เจ้าเมืองจึงนำหนังวัวไปผึ่งแดด แต่ถูกสุนัขคาบไป ชาวผู้ไทจึงไม่มีตัวอักษรใช้ (สิทธิ์ บุตรอินทร์, 2506: 50-52 อ้างถึงใน ศิวพร เตโช, 2542: 36)
นโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติ ที่เข้ามาในพื้นที่เมืองเรณูนครซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้ภายในเมืองเรณูนครและบริเวณโดยรอบได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นำเมืองเรณูนครเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการค้าระบบเงินตรา ขณะเดียวกันเพื่อนำพาประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม รัฐบาลให้การส่งเสริมการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ในภาคอีสาน รวมถึงการนำเข้าเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตรูปแบบใหม่ เกษตรกรในพื้นที่ต้องปรับตัวตามกระแสความนิยม และพาตนเองเข้าสู่กลไกตลาดที่มีนายทุนเป็นผู้ผูกขาดอย่างเต็มรูปแบบ นโยบายการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ที่เข้ามา ทำให้เรณูนครมีสภาพความเป็นเมืองมากขึ้น เศรษฐกิจเป็นระบบการค้ามากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจากความเรียบง่ายมาสู่ระบบสังคมที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนผ่านการศึกษา และการออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้เกิดการยอมรับและเลียนแบบพฤติกรรมของวัฒนธรรมใหม่เข้ามาในชุมชน ตลอดจนการเข้ามาของคนต่างถิ่นที่เข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวผู้ไทเมืองเรณูนคร ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวผู้ไทเรณูนครเปลี่ยนไปจากเดิม วัฒนธรรมฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่เคยปฏิบัติมาในอดีตถูกลดบทบาท และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ยังมีผลมาจากปัจจัยหลายประการที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมใหม่จากสังคมภายนอก รวมถึงอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมข้ามพรมแดน (วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล, 2542: 162)
บ้านเรณู มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 แห่ง คือโรงเรียนเรณูวิทยาคาร สังกัดสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ เปิดทำการสอนสองระดับ คือระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงไปเรียนที่โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา และมีบางส่วนไปศึกษาต่อที่จังหวัดนครพนมและพื้นที่อื่น ๆ นอกจากโรงเรียนของรัฐบาลแล้วยังมีโรงเรียนอนุบาลเอกชน 1 แห่ง คือ โรงเรียนอนุบาลเรณูนคร ดังนั้นการศึกษาของประชากรบ้านเรณูจึงจบการศึกษาภาคบังคับเป็นส่วนใหญ่