Advance search

ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ กระติ๊บข้าวเหนียว เศรษฐกิจของชุมชนผ่านการปลูกใบยาสูบและหมอลำซิ่ง

บ้านไผ่ล้อม
โนนภิบาล
แกดำ
มหาสารคาม
วุฒิกร กะตะสีลา
3 ก.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
7 ก.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
29 ก.ค. 2023
บ้านไผ่ล้อม

บริเวณพื้นที่ตั้งหมู่บ้านแรกเริ่มมีหนองน้ำ 1 แห่ง และบริเวณรอบ ๆ หนองน้ำนั้น มีต้นไผ่หลายต้นหลายกอเกิดขึ้นตามดินของหนองน้ำ จึงตั้งชื่อว่า “บ้านหนองไผ่” และแยกการปกครองออกเป็นบ้านหนองไผ่และบ้านไผ่ล้อมในปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ กระติ๊บข้าวเหนียว เศรษฐกิจของชุมชนผ่านการปลูกใบยาสูบและหมอลำซิ่ง

บ้านไผ่ล้อม
โนนภิบาล
แกดำ
มหาสารคาม
44190
16.00875797
103.4410053
องค์การบริหารส่วนตำบลโนนภิบาล

เมื่อประมาณทศวรรษที่ 2400 ชาวบ้านบ้านหนองไผ่ล้อม-บ้านไผ่ล้อม ได้อพยพมาจากบ้านหนองกุง ตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าสิ่งนี้คือลางร้าย จึงได้พากันย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหนองไผ่ในปัจจุบัน โดยเริ่มแรกย้ายมาทั้งหมด 4 ครัวเรือน ได้แก่

  1. พ่อใหญ่แก้ว บุญเสียง
  2. อาจารย์คูโท แม่ตั้ง
  3. พ่อสุด แม่มี
  4. แม่หนู ศรีละครดี

ราวทศวรรษที่ 2500 บริเวณที่ตั้งชุมชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าโคก คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีการพึ่งพาอาศัยกัน ประมาณปี พ.ศ. 2504-2509 ในยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่1 เป็นแผนงานสร้างรายได้จากภาคเกษตรกรรม จึงมีการมองหาช่องทางว่าจะนำพืชชนิดใดมาให้เกษตรกรปลูก แล้วนำผลผลิตไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม "ปอ" จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง ที่คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในราว พ.ศ. 2512 - 2518 นิยมกันมาก จึงทำให้คนในชุมชนบ้านหนองไผ่เริ่มมีการหันมาปลูกปอ ปลูกฝ้ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ป่าในชุมชนเริ่มหายไป เพราะคนในชุมชนได้มีการถางป่าหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าโคกเพื่อทำการปลูกปอ ทำให้ในปัจจุบันที่ดินของบ้านหนองไผ่ในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สำหรับการทำนาข้าว และเมื่อพื้นที่ป่าหายไปทำให้คนในชุมชนเริ่มมีการขยายตัวออกไปตั้งบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น

การปลูกปอทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชน ผู้คนส่วนใหญ่นำปอไปขายที่ในเมืองมหาสารคาม ที่ร้าน “สหสิน” ในชุมชนจึงเริ่มมีรถโดยสารเกิดขึ้น เพื่อเป็นการนำปอไปขายยังร้านในตัวเมือง และคนในชุมชนยังมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น นอกจากจะมีการนำปอไปขายกับทางร้านสหสินแล้ว ชาวบ้านได้เล่าว่า ได้มีนายฮ้อยจากบ้านมะค่าและบ้านหนองตื่น(พ่อใหญ่สา)มารับซื้อปอถึงที่บ้านหนองไผ่ ทำให้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียค่ารถโดยสารไปถึงในเมืองมหาสารคาม

ราวทศวรรษที่ 2520 การปลูกปอเริ่มมีการลดลงเนื่องจากปอมีราคาที่ต่ำลง ชาวบ้านบ้านไผ่ล้อมเริ่มหันไปปลูกยาจี๊ด(ยาสูบ) เพราะได้ราคาที่ดีกว่า คนในชุมชนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปี พ.ศ. 2528เริ่มมีกลุ่มของหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมชุมชน นำโดยนายไสว พราหมมณี (ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามลำดับที่31 ดำรงตำแหน่ง ในปี พ.ศ. 2528-2531) และนางพวงเพชร พราหมณี (ภรรยา) ได้นำเงินส่วนตัวมาให้คนในชุมชนลงทุนเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท เพื่อก่อตั้งกลุ่มสานกระติบจากไม้ไผ่ ซึ่งใช้แหล่งทุนทรัพยากรในธรรมชาติที่มีอยู่ชุมชนให้เกิดประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เริ่มแรกมีนายเขน พระลิตและนายกัน พระลิต เป็นผู้ที่เริ่มทำกระติบข้าว ซึ่งทั้งสองคนนี้เป็นพี่น้องกัน มีการจักสานกระติบข้าวช่วยกันเพื่อไว้ใช้ในครัวเรือนมีลายที่ชื่อว่า “ลายผิดถูก” ชาวบ้านได้เห็นในความสวยงามและความประณีตจึงเริ่มมีการสั่งทำและขอซื้อกระติบข้าว จนเกิดเป็นการสร้างรายได้ ต่อมามีผู้คนในชุมชนเล็งเห็นถึงความสำคัญจึงมาขอให้ทั้ง 2 คนช่วยสอนจักสานกระติบข้าว เพื่อไว้ใช้ในครัวเรือน และเพื่อขายให้กับหมู่บ้านใกล้เคียงจนมีชื่อเสียงมาเรื่อย ๆ ซึ่งนายเขนและนายกัน พระลิต ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการจักสานให้กับคนในชุมชน จึงก่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มจักสานขึ้นมา โดยในการจัดตั้งกลุ่มจักสานนี้ มีนายทองดี ศรีสาโส เป็นประธานคนแรก และมีนายเขน พระลิต เป็นผู้ที่เริ่มทำกระติบข้าว มีลายที่ชื่อว่า ลายผิดถูก ซึ่งได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับคนในชุมชน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 คนในชุมชนเริ่มมีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกิดจากความสามารถและพรสวรรค์ของคนในชุมชน จึงได้มีการจัดตั้งคณะหมอลำขึ้น มีชื่อว่า พิศมัยน้อย เพชรแกดำ เป็นลำกลอนประยุกต์ (หมอลำซิ่ง) และมีหมอลำสุวรรรณา นอกจากนี้ยังมีการแสดงหนังประโมทัยและกลองยาวอีกด้วย ซึ่งได้มีการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมมายังรุ่นปัจจุบันให้อนุรักษ์ไว้ต่อไป ในปี พ.ศ. 2544 แยกออกมาเป็นหมู่บ้านเนื่องจากชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้นและเพื่อให้สะดวกในการปกครอง จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านไผ่ล้อม” มีการจัดตั้งกลุ่มและระดมหุ้นระหว่างมีสมาชิก 25 คน คนละ20 บาท และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ในช่วงยุครัฐบาลของนายกทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการส่งเสริมภูมิปัญญาของชาวบ้าน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมีการเข้ามาของ กศน.ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม จัดโครงการพัฒนาหมู่บ้าน ณ บ้านไผ่ล้อม หมู่ 13 โดยการช่วยลงทุนและให้เงินทุนกับกลุ่มจักสาน เป็นจำนวนเงิน 2,300 บาท ในปี พ.ศ. 2551 มีสมาชิกทั้งหมด 90 คนเริ่มมีพัฒนากร (นักพัฒนาชุมชน) มาจัดอบรมเริ่มมีลายใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ลายขิด ลายพระบรมธาตุนาดูน ลายช้าง เป็นต้น

บ้านไผ่ล้อมตั้งอยู่ตั้งอยู่ที่ ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากอำเภอแกดำ ไปทางทิศตะวันออก 8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดมหาสารคาม ระยะทาง 33 กิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด ประมาณ 416 คน และมีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านโนนสระพัง ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองแสง ตำบลหนองแสง  อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโสกแดง ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
  • ทิศตะวันตก  ติดกับ บ้านโคกก่อง ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มจักสานกระติบข้าวผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนบ้านไผ่ล้อม

การจักสานกระติบข้าว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานในปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริง ๆ เนื่องจากเกิดจากคนในชุมชนบ้านไผ่ล้อมจะบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก การใช้กระติบข้าวเหนียวจึงมีความจำเป็นที่ทุกครอบครัวจะต้องมีเพื่อเก็บข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วให้ยังคงความร้อนนิ่มอร่อย ซึ่งเกิดจากความ ชาญฉลาดของชาวบ้านบ้านไผ่ล้อม ในการนำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากแรกเริ่มมีการใช้เพียงครัวเรือนและในชุมชน มีการออกแบบลวดลายโดยการลองผิดลองถูก จนเกิดมาเป็นลายที่มีชื่อว่า ลายผิดถูก ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีนโยบายภาครัฐเข้ามาเพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น คนในชุมชนจึงมีการจัดตั้งกลุ่มจักสานขึ้น และได้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก กลุ่มจักสานบ้านไผ่ล้อมมีการเรียนรู้การจัดการบริหารร่วมกัน มีการถ่ายทอดและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อยมาและกลุ่มได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เรื่อยมา เช่น ลวดลาย วัสดุ เป็นต้น

จากที่ตอนแรกมีแค่ลายผิดถูก ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการสร้างสรรค์และประยุกต์ลวดลายใหม่ ๆ ให้เข้าบริบทสังคมในปัจจุบันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ได้แก่ ลายพระบรมธาตุนาดูน ลายขิด ลายช้าง เป็นต้น สื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อีสานและความศรัทธาต่อพระบรมธาตุนาดูน และกลุ่มจักสานบ้านไผ่ล้อมยังมีการพัฒนาในด้านรูปทรงจากในอดีตทำเป็นก่องข้าวแบบมีตีนสู่การพัฒนามาเป็นกระติบข้าวที่เห็นได้ในปัจจุบัน และมีการเสริมเปลี่ยนวัสดุจากที่เคยใช้ไม้ไผ่เป็นตีนกระติบข้าวก็เปลี่ยนมาเป็นพลาสติกเพื่อความแข็งแรงและคงทน กลุ่มจักสานได้มีการทำกระติบข้าวตามความต้องการของลูกค้า ลูกค้าสามารถเลือกลาย วัสดุ และสีได้เองตามต้องการ

  • เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
  • เดือนยี่ : บุญคูนลาน
  • เดือนสาม : บุญข้าวจี่
  • เดือนสี่ : บุญเผวส
  • เดือนห้า : บุญสงกรานต์
  • เดือนหก : บุญบั้งไฟ
  • เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ
  • เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษาถิ่นอีสานในการสื่อสาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระติบข้าวเหนียวผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่บ้านไผ่ล้อม(ที่มา:วุฒิกร กะตะสีลา,2565)

สัมภาษณ์ นายสำลี ประกอบ,2565

สัมภาษณ์ นายบุญร่วม หารประชุม,2565