ชุมชนริมคลองบางนกแขวกเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีลักษณะของบ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ โดยภายในชุมชนแห่งนี้มีทั้งชาวคริสต์และชาวพุทธอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างยาวนาน ทำให้ภายในชุมชนจึงมีสถานที่ทางศาสนาทั้งอาสนวิหารพระแม่บังเกิดของศาสนาคริสต์และวัดเจริญสุขารามวรวิหารของศาสนาพุทธตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ซึ่งทั้งสองสถานที่นี้ค่อนข้างมีความสวยงาม
ชื่อของชุมชนแห่งนี้ตั้งตามชื่อตำบลบางนกแขวก โดยแต่เดิมตำบลบางนกแขวกมีชื่อว่า ตําบลบ้านโพธิ์งาม แต่ด้วยมีนกแขวกมาอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก เลยทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนชื่อมาเป็นตำบลบางนกแขวกและเรียกมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนริมคลองบางนกแขวกเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีลักษณะของบ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ โดยภายในชุมชนแห่งนี้มีทั้งชาวคริสต์และชาวพุทธอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างยาวนาน ทำให้ภายในชุมชนจึงมีสถานที่ทางศาสนาทั้งอาสนวิหารพระแม่บังเกิดของศาสนาคริสต์และวัดเจริญสุขารามวรวิหารของศาสนาพุทธตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ซึ่งทั้งสองสถานที่นี้ค่อนข้างมีความสวยงาม
ชุมชนริมคลองบางนกแขวก ในเขตตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นชุมชนลักษณะเรือนแถวไม้ริมน้ำเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ขนานริมสองฝั่งคลองบางนกแขวก (ช่วงบริเวณปากคลองดำเนินสะดวก) คือนับตั้งแต่ปากคลองดำเนินสะดวกที่ติดกับแม่น้ำแม่กลองเรื่อยมาจนถึงบริเวณประตูน้ำบางนกแขวกหรือบริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร โดยชุมชนแห่งนี้ตามประวัติพบว่าได้มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งในช่วงก่อนการขุดคลองดำเนินสะดวกไม่นานนักคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนก็คือชาวจีนคาทอลิก ที่แต่เดิมก่อนการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ริมคลองบางนกแขวกชาวจีนคาทอลิกเหล่านี้ได้อยู่อาศัยบริเวณตำบลสี่หมื่นในฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองอันมีวัดคริสต์ที่เรียกว่า วัดศาลาแดงหรือวัดรางยาว เป็นศูนย์กลางของชุมชน แต่ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2393 เมื่อพื้นที่บริเวณที่ตั้งเดิมของวัดมีความคับแคบแออัดจากการขยายตัวของผู้คนโดยรอบประกอบกับวัดคริสต์ที่สร้างในพื้นที่ก็เล็กจนไม่สามารถรองรับต่อชาวคริสตชนที่มีทั้งหมดได้จึงมีการริเริ่มที่จะย้ายวัดคริสต์มาตั้งวัดใหม่ในบริเวณปากคลองบางนกแขวก ที่อยู่ทางตอนล่างของชุมชนเดิม โดยการย้ายวัดครั้งนี้ได้มีผลทำให้ได้นำเอาชุมชนชาวจีนคาทอลิกส่วนหนึ่งย้ายลงตามมาด้วย จนเกิดเป็นอพยพของคนจีนส่วนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานอาศัยบริเวณนี้ โดยชาวจีนที่ย้ายมาได้มีการหักร้างถากถางป่าบริเวณริมคลองบางนกแขวกสำหรับจัดเตรียมที่จะสร้างวัด (ระยะแรกที่ย้ายมานี้พบว่ายังไม่ได้มีการสร้างวัดในทันทีแพราะยังต้องอาศัยทุนทรัพย์ ชาวจีนจึงทำได้เพียงจัดเตรียมพื้นที่ไว้เท่านั้น) ในขณะเดียวกันก็ถางป่าในการตั้งถิ่นฐานในการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยไปด้วย จุดนี้จึงถือเป็นการริเริ่มบุกเบิกตั้งบ้านเรือนบริเวณริมคลองบางนกแขวกนี้ขึ้นมา โดยหลังจากการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของคนกลุ่มแรกอย่างชาวจีนคาทอลิกที่เข้าพร้อมกับการย้ายวัดแล้วจะพบว่าชาวจีนเหล่านี้ยังได้มีการชักชวนให้ชาวจีนจากชุมชนบริเวณเดิม รวมถึงชาวจีนจากชุมชนวัดกัลป์หว่าร์ที่ติดต่อกันทางคริสต์ศาสนา เข้ามาอยู่อาศัยจับจองพื้นที่บริเวณใกล้พื้นที่วัดนี้ ทำให้ในช่วงหลังนี้จะพบชาวจีนคาทอลิกมักจะมีมาอยู่อาศัยบริเวณบางนกแขวกเพิ่มขึ้น รวมถึงยังไปถากถางอยู่อาศัยในฝั่งตรงข้ามแม่กลองที่เรียกว่าบางช้างอีกด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ชาวจีนคาทอลิกที่อพยพมาจากตำบลสี่หมื่นจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณริมคลองบางนกแขวกจนเกิดเป็นการริเริ่มบุกเบิกพื้นที่บริเวณนี้ในการอยู่อาศัยเป็นชุมชน แต่ทว่าเมื่อพิจารณาภายในพื้นที่ชุมชนปัจจุบันแล้วจะพบว่าชาวจีนคาทอลิกเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้เท่านั้น เพราะชุมชนริมคลองบางนกแขวกต่อมาไม่นานนักหลังจากชาวจีนคาทอลิกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ยังพบผู้คนกลุ่มอื่น ๆ อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยริมคลองบางนกแขวกของคนกลุ่มอื่น ๆ นี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากการขุดคลองดำเนินสะดวกเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ทรงเล็งเห็นว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสมุทรสาครได้มีคลองภาษีเจริญ ที่ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างสองพื้นที่นี้สะดวกดีแล้ว แต่ถ้ามีคลองที่เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรีขึ้นมาก็จะยิ่งทำให้การเดินทางในพื้นที่บริเวณนี้สะดวกมากขึ้น จากจุดนี้พระองค์จึงมีพระราชดำริให้มีการขุดคลองดำเนินสะดวกขึ้นมา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลองขณะนั้น ซึ่งการขุดคลองดำเนินสะดวกนี้มีการขุดเริ่มจากปากคลองที่เชื่อมแม่น้ำท่าจีนในตำบลบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผ่านมาถึงอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และไปสิ้นสุดที่ปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลองที่ตำบลบางนกแขวก ซึ่งผลของการขุดคลองนี้เสร็จสิ้น ทำให้มีการอพยพของผู้คนจากทั่วสารทิศอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามลำคลองนี้จำนวนมาก ในที่นี้รวมถึงบริเวณในพื้นที่ริมคลองบางนกแขวกที่เป็นพื้นที่ช่วงปากคลองดำเนินสะดวกที่ติดกับแม่น้ำแม่กลองด้วย ซึ่งพื้นที่นี้หลังการขุดคลองดำเนินสะดวกจะพบว่าได้มีการอพยพเข้ามาของ ชาวจีน ชาวไทย รวมถึงชาวลาวและชาวเขมรบางส่วนเป็นจำนวนมาก จนทำให้ไม่นานนักพื้นที่ริมคลองบางนกแขวกแห่งนี้ที่เคยเป็นพื้นที่รกร้างบางส่วนที่เหลือจากชาวจีนคาทอลิกที่เข้ามาอยู่อาศัยก่อนหน้าจึงถูกเติมเต็มไปด้วยบ้านเรือนของผู้คนที่เชื่อมต่อขนานกันริมสองฝั่งคลอง อาจกล่าวได้ว่าการที่ผู้คนต่าง ๆ ภายนอกที่อพยพเข้ามาหลังการขุดคลองดำเนินสะดวกเสร็จสิ้นนี้เมื่อมาประกอบกับชาวจีนคาทอลิกที่มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงก่อนการขุดคลอง จึงทำให้พื้นที่บริเวณริมคลองบางนกแขวกเริ่มเกิดวิถีชีวิต เกิดสังคม เกิดการแลกเปลี่ยนและประติสัมพันธ์ระหว่างกันในพื้นที่จนในที่สุดก็ทำพื้นที่แห่งนี้ก่อเกิดเป็นชุมชนริมคลองบางนกแขวกขึ้นมานั่นเอง
โดยหลังการเกิดขึ้นของชุมชนริมคลองบางนกแขวกแล้วจะพบว่าชาวบ้านภายในชุมชนได้มีการประกอบอาชีพในลักษณะที่หลากหลาย เช่น การทำอาชีพชาวสวน การทำชีพค้าขาย การทำอาชีพรับจ้าง เป็นต้น ซึ่งการประกอบอาชีพนี้เหล่านี้ของชาวบ้านมักพบว่าจะเน้นและขึ้นอยู่ที่ความถนัดของแต่ละบุคคลนั้น ๆ เป็นสำคัญ อย่างชาวจีนที่มีความถนัดที่การค้าก็อาจจะประกอบอาชีพทำการค้าเปิดร้านริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ ชาวไทยที่มักถนัดในการทำสวนตั้งแต่บรรพบุรุษก็อาจประกอบอาชีพชาวสวนปลูกพืชผักในชุมชน แต่อย่างไรตามเนื่องด้วยแต่ละบุคคลมีความถนัด ความชำนาญและมีการสืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษมาไม่เหมือนกันในแต่ละครอบครัว ดังนั้นจุดนี้ก็อาจพบบางส่วนที่เป็นชาวจีนที่มีการถนัดในการทำสวนประกอบอาชีพชาวสวนปลูกผักขาย และชาวไทยที่ถนัดในการค้าประกอบอาชีพทำการค้าขายริมคลองได้ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของการนับถือศาสนาของชาวบ้านภายในชุมชนจะพบว่าชาวบ้านภายในชุมชนริมคลองบางนกแขวกแห่งนี้ได้มีกลุ่มการการนับถือศาสนาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อพยพมาหลังการขุดคลองเสร็จสิ้น มีทั้งชาวจีนที่เลือกไม่เข้ารีตและมีชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธแต่เดิม ซึ่งชาวพุทธเหล่านี้จะมีศูนย์กลางทางศาสนาคือวัดเจริญสุขารามวรวิหารที่อยู่ในบริเวณประตูน้ำบางนกแขวก ส่วนในกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนคาทอลิกที่อพยพจากตำบลสี่หมื่น รวมไปถึงชาวจีนบางส่วนที่เป็นพวกอพยพหลังขุดคลองที่เลือกเข้ารีต โดยชาวคริสต์เหล่านี้จะมีศูนย์กลางทางศาสนาอยู่ที่โบสถ์อาสนวิหารแม่พระบังเกิดที่อยู่บริเวณฝั่งซ้ายของปากคลองบางนกแขวก กล่าวได้ว่าแม้ชุมชนแห่งนี้จะมีคนจาก 2 ศาสนาอยู่ร่วมกันแต่จะพบว่าความขัดแย้งในการอยู่อาศัยร่วมกันแทบจะไม่มี โดยชาวบ้านภายในชุมชนอาจจะมีการแยกทำกิจกรรมทางศาสนาตามการนับการนับถือของตน แต่ในการมีวิถีชีวิตและการมีส่วนร่วมในเรื่องอื่น ๆ รวมถึงการประติสัมพันธ์ระหว่างกันภายในชุมชนนั้นค่อนข้างมีความกลมกลืนและไม่มีการนำศาสนามาแบ่งกั้น ซึ่งส่วนนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของชุมชนริมคลองปากนกแขวกที่พบตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ชุมชนบางนกแขวกในช่วงนับตั้งแต่หลังการเกิดขึ้นของชุมชนจนถึงช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เนื่องด้วยในช่วงเวลานี้ผู้คนยังคงมีการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ชุมชนริมคลองบางนกแขวกที่มีแหล่งการค้าภายในชุมชน จึงมีภาพรวมของช่วงเวลานี้ที่โดดเด่นในเรื่องของความเจริญทางการค้าเป็นสำคัญ กล่าวคือ นับแต่หลังการขุดคลองดำเนินสะดวกและมีชาวบ้านเข้ามาตั้งบ้านเรือนริมคลองบางนกแขวกจนเกิดเป็นชุมชน แม้ชาวบ้านที่เข้ามาจะมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามการประกอบอาชีพที่ถือเป็นส่วนใหญ่และมีมากที่สุดก็คือการทำการค้าขาย โดยจะพบว่าชาวบ้านได้มีการใช้บ้านเรือนของตนเปิดเป็นร้านค้าที่ขายสินค้าต่าง ๆ ทุกวัน ทำให้ตลอดริมสองฝั่งคลองบางนกแขวกมักจะมีร้านค้าตลอดเส้นทางตั้งอยู่ประปราย และจะหนาแน่นที่สุดคือในส่วนบริเวณปากคลองเพราะถือเป็นทำเลที่ดีที่คนจะผ่านมากที่สุด (จะมีเรือที่ผ่านทั้งทางแม่น้ำแม่กลองและทั้งผ่านเข้าสู่คลองดำเนินสะดวก) ชาวบ้านที่ต้องการค้าขายจึงจะมักเลือกบริเวณนี้ตั้งบ้านเรือนที่เป็นร้านค้านับแต่ขุดคลองเสร็จ ทำให้ต่อมาบริเวณปากคลองบางนกแขวกแห่งนี้เต็มไปด้วยร้านค้าที่ติดกันหลายร้านและกลายมาเป็นแหล่งการค้าที่มีลักษณะเป็นตลาดริมน้ำขึ้นมา ทั้งนี้ด้วยการสัญจรทางน้ำที่ในช่วงเวลานี้ถือเป็นการสัญจรหลักและเส้นทางทั้งทางแม่น้ำแม่กลองและคลองดำเนินสะดวกถือเป็นเส้นทางเดินทางสำคัญในอดีต จุดนี้ผู้คนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาถึงตลาดและบริเวณชุมชนจึงมีจำนวนมาก ทำให้ไม่นานนักร้านค้าต่าง ๆ ริมคลองและตลาดริมน้ำบริเวณปากคลองแห่งนี้จึงมีความเจริญขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดริมคลองที่ต่อมาจะพบว่าค่อนข้างเฟื่องฟูอย่างมากจนมีโรงฝิ่น โรงงิ้วและปั๊มน้ำมันสำหรับเรือตั้งขึ้นอยู่ภายในบริเวณตลาดแห่งนี้
นอกจากบริเวณปากคลองจะมีตลาดริมน้ำแล้วยังพบว่ามีตลาดนัดอีกด้วย โดยที่พื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ค่อนข้างที่จะมีผู้คนผ่านไปมาจำนวนมากเพราะเป็นทำเลที่เรือมักจะเดินทางผ่านดังที่กล่าวไว้ข้างต้นยิ่งประกอบกับการที่บริเวณนี้มีตลาดริมน้ำก็ยิ่งส่งเสริมให้คนที่มีวัตถุประสงค์จะเข้ามาจับจ่ายซื้อของตรงบริเวณปากคลองนี้เป็นจำนวนมาก จุดนี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการมีตลาดนัดทางเรือขึ้นมา โดยตลาดทางเรือบริเวณปากคลองบางนกแขวกจะมีการจัดขึ้นในวันแรมขึ้น 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ซึ่งเมื่อถึงวันที่กำหนดคนจากทั้งในและนอกพื้นที่จะล่องเรือมาจอดที่ปากคลองเพื่อขายสินค้า อาทิเช่น ของคาว ของหวาน ของสด ผักผลไม้ ของแห้ง ให้แก่ผู้คน จุดนี้ทำให้จากแต่เดิมบริเวณปากคลองบางนกแขวกมีความที่คึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงวันที่มีตลาดนัดพื้นที่นี้ก็จะยิ่งจะคึกคักเป็นพิเศษมากขึ้น จนสามารถเห็นถึงความเนืองแน่นไปด้วยผู้คนทั้งบริเวณริมฝั่งและผู้ที่ล่องเรือมาในบริเวณปากคลองนั่นเอง
ในช่วงนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง พ.ศ. 2551 ภาพรวมของชุมชนแห่งนี้จะพบว่าเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงคือการค้าที่เคยเจริญได้ค่อย ๆ ซบเซาลงเรื่อย ๆ ซึ่งจุดนี้เป็นผลมาจากการที่บริเวณใกล้เคียงชุมชนมีการตัดถนนเกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อมีการตัดถนนจากเพชรเกษมเข้าถึงดำเนินสะดวก ตรงที่ชาวบ้าน เรียกว่า หัวรถ เพื่อเป็นท่าขนถ่ายสินค้าทางการเกษตร และเป็นท่ารถโดยสารเข้ากรุงเทพฯ เป็นผลทำให้ตลาดน้ำปากคลองบางนกแขวกได้รับผลกระทบเริ่มเห็นความคึกคักบริเวณนี้ลดลง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงแรก ๆ นี้ยังไม่มากนัก จนกระทั่งเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมต่อแหล่งชุมชนต่าง ๆ จนการสัญจรทางบกเข้ามาแทนที่และการสัญจรทางน้ำเริ่มหมดความสำคัญลงไป การค้าในชุมชนริมคลองบางนกแขวกที่อิงอยู่กับการสัญจรทางน้ำจึงพบเห็นความซบเซาลงอย่างมาก จนกระทั่งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 บรรยากาศความคึกคักทางการค้าที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตได้เริ่มหมดไป ผู้คนที่เคยค้าขายบางส่วนอพยพไปค้าขายตามริมฝั่งถนนส่วนชาวบ้านที่ยังคงอยู่มีการหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ร้านค้าต่าง ๆ ทั้งในบริเวณตามคลองและบริเวณปากคลองที่เคยเปิดขายสินค้าและบริการต่างปิดตัวลง นอกจากนี้ตลาดนัดทางเรือที่เคยมีในบริเวณนี้ก็พบว่าได้หายไปเมื่อการค้าบริเวณนี้ไม่คึกคักอีก ซึ่งจากทั้งหมดทั้งมวลนี้ในที่สุดด้วยความซบเซาของการค้าจึงส่งผลให้ชุมชนริมคลองบางนกแขวกแห่งนี้ที่เคยโดดเด่นในด้านของความเจริญทางการค้าอย่างมากในอดีตจึงเข้าสู่การเป็นชุมชนที่มีความเงียบเหงาเรื่อยมา
ทั้งนี้ต่อมาประมาณกลาง พ.ศ. 2552 ประเทศไทยได้เกิดกระแสที่โหยหาของเก่าและตลาดน้ำที่เคยเฟื่องฟู ส่งผลให้หลายชุมชนเริ่มเกิดการฟื้นฟูตลาดเก่าที่มีภายในชุมชน ในที่นี้รวมถึงตลาดในชุมชนริมคลองบางนกแขวกด้วย โดยพบว่าในช่วงเวลานี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ร่วมมือกันทำการฟื้นฟูตลาดปากคลองบางนกแขวกที่เคยเป็นจุดเด่นของชุมชนในอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจากการฟื้นฟูนี้ทำให้ภายในตลาดบริเวณปากคลองได้มีร้านรวงต่าง ๆ เปิดขายของต่าง ๆ แก่ผู้คน รวมถึงร้านเก่าแก่ภายในตลาดที่เคยปิดตัวลงไปและกลายเป็นแค่บ้านพักอาศัยก็ได้เปิดให้ผู้คนเข้าชื่นชมถึงความเก่าแก่ที่เป็นภาพในอดีต อาจกล่าวได้ว่าจากการฟื้นฟูนี้ถึงแม้จะไม่สามารถทำให้ตลาดปากคลองบางนกแขวกมีการค้าที่กลับมาเจริญเท่าในอดีตได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็สามารถดึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในด้านการค้าที่เคยเป็นวิถีชีวิตที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นให้กลับมาได้ จุดนี้ชุมชนริมคลองบางนกแขวกจึงมีเอกลักษณ์ความโดดเด่นในวิถีชีวิตด้านการค้าอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันตลาดปากคลองบางนกแขวกแห่งนี้ยังคงเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทุกวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. โดยภายในตลาดจะมีร้านค้าหลายร้านที่ยังคงลักษณะร้านค้าเก่าแก่เปิดให้คนนักท่องเที่ยวเยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีสินค้าของที่ระลึก อาหารที่หารับประทานยากและอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนบางนกแขวกเปิดขายอยู่ภายในตลาดแห่งนี้ด้วย อาจกล่าวได้ว่าตลาดปากคลองนกแขวกแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาครที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ตลาดอื่น ๆ ที่โด่งดังในเส้นทางของคลองดำเนินสะดวกนั่นเอง
ชุมชนริมคลองบางนกแขวกตั้งอยู่ภายในตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งตำบลบางนกแขวกนี้มีเนื้อที่ประมาณ 3.73 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,331 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ประมาณ 81 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 17 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ติดต่อกับตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีและตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ติดต่อกับตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามและตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
การเดินทางเข้าสู่ชุมชนริมคลองบางระแหง
ในการเข้าถึงชุมชนริมคลองบางนกแขวกจะพบว่าสามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทาง ดังนี้
1. การเดินทาง : รถยนต์ส่วนตัว สามารถเข้าสู่ชุมชนริมคลองบางนกแขวกได้ 2 เส้นทาง คือ
- เส้นทางที่ 1 ขับรถมาตามถนนพระราม 2 จากนั้นเข้าถนน 325 ผ่านตัวเมืองแม่กลอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอัมพวา วิ่งผ่านอุทยาน ร.2 ตามถนน 6006 มาเรื่อยๆ ก็จะถึงโบสถ์คริสต์พระแม่บังเกิดซึ่งแปลว่าถึงตัวชุมชนแล้ว ทั้งนี้หากขับต่อมาโดยขึ้นสะพานข้ามคลองดำเนิน ชิดซ้ายจะเข้าตลาดน้ำบางนกแขวกโดยข้างหลังตลาดจะมีพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ส่วนตัว
- เส้นทางที่ 2 ขับรถมาตามถนนเพชรเกษม ผ่านนครปฐม เลี้ยวชายเข้าถนน 325 ผ่านตัวอำเภอดำเนินสะดวก จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าตลาดน้ำดำเนินสะดวกแล้ววิ่งตรงมาเรื่อยๆ จะพบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย แล้วขับรถตรงมาจะเจอโบสถ์คริสต์พระแม่บังเกิดซึ่งแปลว่าถึงตัวชุมชนแล้ว ทั้งนี้หากขับต่อมาโดยขึ้นสะพานข้ามคลองดำเนิน ชิดซ้ายจะเข้าตลาดน้ำบางนกแขวกโดยข้างหลังตลาดจะมีพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ส่วนตัว
2. การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สามารถเข้าสู่ชุมชนริมคลองบางนกแขวกได้ 3 เส้นทาง คือ
- จากสายใต้ใหม่นั่งรถประจำทางกรุงเทพฯ-แม่กลอง-อัมพวา-ดำเนินสะดวก สาย 996 มาลงที่อัมพวา แล้วต่อรถเมล์จากอัมพวามาลงบางนกแขวก แล้วเดินต่อมายังพื้นที่ชุมชน
- นั่งรถตู้สายอนุสาวรีย์ชัยฯ-อัมพวา บริเวณห้างเซ็นจูรี่ (ใต้ BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ) มาลงที่อัมพวา แล้วต่อรถสายแม่กลอง-บางคณฑี-บางนกแขวก มาลงที่บางนกแขวก แล้วเดินต่อมายังพื้นที่ชุมชน
- นั่งรถตู้สายอนุสาวรีย์ชัยฯ-แม่กลอง มาลงที่ตลาดแม่กลอง แล้วก็ต่อรถแม่กลอง-อัมพวา-บางคณฑี-บางนกแขวก มาลงที่บางนกแขวกบริเวณตลาด
ลักษณะทางกายภาพ
ชุมชนริมคลองบางนกแขวก เป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง โดยตัวชุมชนจะมีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมคลองบางนกแขวกที่เป็นคลองเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลองและคลองดำเนินสะดวก ซึ่งลักษณะของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมคลองนี้จะเป็นเรือนแถวไม้เก่าแก่ที่หันหน้าเข้าหาคลอง โดยคาดว่าสร้างตั้งแต่ในอดีตช่วงการคมนาคมทางน้ำยังสำคัญ จึงทำให้บ้านเรือนมีการสร้างสอดคล้องกับเส้นทางน้ำด้วยการหันหน้าเข้าหาคลองเพื่อการใช้ประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้ในส่วนลักษณะของดินในพื้นที่ชุมชนจะพบว่าเป็นดินเหนียวปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงทำให้ภายในพื้นที่มักมีสวนผลไม้และสวนผักภายในบริเวณอีกด้วย
ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของชุมชนบางนกแขวกภาพรวมโดยทั่วไปเหมือนกับพื้นที่อื่นๆในตำบลบางนกแขวก คือมีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้น มีฝนตกมาพอสมควรในฤดูฝน ในฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด ในฤดูร้อนไม่ร้อนจนเกินไปอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส พายุและฟ้าคะนองจะเกิดขึ้นในระหว่างฤดูฝนและฤดูร้อนคือระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม
ชุมชนริมคลองบางนกแขวกเป็นชุมชนที่ครอบคลุมพื้นที่ริมคลองบางนกแขวกตั้งแต่ปากคลองบางนกแขวกจนถึงบริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบตามแผนที่จะพบว่าเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านในตำบลบางนกแขวกนับตั้งแต่หมู่ 1,4,5,6,7 ดังนั้นจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนของชุมชนแห่งนี้จึงนับตามการรวมของจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านที่กล่าวข้างต้น จุดนี้ทำให้ชุมชนริมคลองบางนกแขวกจึงมีจำนวนประชากรรวมประมาณ 904 คน เป็นชาย 415 คนและเป็นหญิง 489 คน รวมถึงมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 530 ครัวเรือน โดยสามารถแบ่งเป็นรายละเอียดแต่ละหมู่บ้าน คือ
- หมู่ 1 มีประชากรรวม 76 คน เป็นชาย 27 คน เป็นหญิง 49 คน และมีจำนวนครัวเรือน 49 ครัวเรือน
- หมู่ 4 มีประชากรรวม 166 คน เป็นชาย 87 คน เป็นหญิง 79 คน และมีจำนวนครัวเรือน 65 ครัวเรือน
- หมู่ 5 มีประชากรรวม 227 คน เป็นชาย 102 คน เป็นหญิง 125 คน และมีจำนวนครัวเรือน 136 ครัวเรือน
- หมู่ 6 มีประชากรรวม 83 คน เป็นชาย 33 คน เป็นหญิง 50 คน และมีจำนวนครัวเรือน 36 ครัวเรือน
- หมู่ 7 มีประชากรรวม 352 คน เป็นชาย 166 คน เป็นหญิง 186 คน และมีจำนวนครัวเรือน 244 ครัวเรือน
การประกอบอาชีพ
ปัจจุบันพบว่าชาวบ้านชุมชนบางนกแขวกค่อนข้างมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเป็นชาวบ้านที่ยังคงประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตเดิมในพื้นที่ เช่น การประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประกอบอาชีพทำการค้า ส่วนที่สองจะเป็นชาวบ้านที่มักประกอบอาชีพอย่างอื่น อย่างการประกอบอาชีพเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด ทั้งนี้หากได้รับการศึกษาสูงขึ้นจะประกอบอาชีพ เช่น รับราชการ ธุรกิจส่วนตัว พนักงานบริษัท เป็นต้น โดยกลุ่มหลังนี้จะพบว่ามักจะเป็นชาวบ้านที่อพยพออกจากชุมชนไปทำงานในพื้นที่อื่นที่มีงานรองรับอย่างในตัวจังหวัดสมุทรสงครามและในกรุงเทพมหานครฯ
กลุ่มชาติพันธุ์
ชาวจีน หลังการเกิดขึ้นของชุมชนริมคลองบางนกแขวกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้เป็นส่วนมากก็คือชาวจีน ซึ่งมีทั้งชาวจีนคาทอลิกที่เข้ามานับแต่ช่วงก่อนการขุดคลองดำเนินสะดวกและชาวจีนที่เข้ามาหลังการขุดคลองดำเนินสะดวกเสร็จสิ้น โดยการเข้ามาของชาวจีนทั้งหลายนี้ส่งผลให้ต่อมามีการสืบเชื้อสายภายในพื้นที่และกลายมาเป็นบรรพบุรุษให้แก่ชาวบ้านภายในชุมชนริมคลองบางนกแขวก ดังนั้นจะพบว่าปัจจุบันลูกหลานในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่จึงมีเชื้อสายจีนต่างๆ เช่น จีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ จีนแคะ จีนกวางตุ้ง ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคนเหล่านี้เป็นชาวไทยเพราะเกิดและเติบโตมาภายใต้แผ่นดินไทย รวมถึงมีความผูกพันกับประเทศไทยในฐานะเป็นเมืองแม่ของตน จุดนี้ทั้งหมดจึงอยู่ภายใต้การเรียกว่าชาวไทยที่มีเชื้อสายจีนหรือชาวไทยเชื้อสายนั่นเอง
จีนวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
พบว่าชุมชนริมคลองบางนกแขวกจะมีลักษณะของวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจภายในชุมชนที่โดดเด่นนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรกจะเป็นวิถีชีวิตในการทำเกษตรกรรม โดยวิถีชีวิตในการทำเกษตรกรรมของคนในชุมชนนี้จะคล้ายกับผู้คนในชุมชนอื่นๆใกล้เคียงที่อยู่ในเส้นคลองดำเนินสะดวก คือจะนิยมการทำสวนต่างๆ เช่น สวนผลไม้อย่างสวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ สวนกล้วย และสวนผักอย่างสวนพริก สวนคะน้า สวนแตงกวา เป็นต้น ซึ่งในวิถีชีวิตในการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านชุมชนนี้นอกจากจะทำสวนและส่งขายผักผลไม้แบบสดแล้วยังมีการนำผักผลไม้มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย เช่น การนําผลผลิตที่ได้จากการทำสวนมะพร้าวมาแปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น หรือการนำกล้วยที่ปลูกได้มาทำกล้วยฉาบ เป็นต้น ซึ่งการแปรรูปนี้ถือเป็นว่าช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวสวนภายในชุมชนอีกทางหนึ่งและเป็นส่วนช่วยให้วิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมอย่างการทำสวนนี้ยังคงสามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะในช่วงราคาผลไม้หรือผักในตลาดลดลงนั่นเอง
ทั้งนี้วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจประการต่อมาที่พบในชุมชนริมคลองบางนกแขวกคือ การค้าขาย โดยในอดีตนั้นการค้าขายบริเวณริมคลองและบริเวณตลาดน้ำบางนกแขวกได้รุ่งเรืองมาก เพราะขณะนั้นการคมนาคมยังคงใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลักและชุมชนริมคลองบางนกแขวกก็อยู่ในเส้นทางหลักของการคมนาคมระหว่างจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร จุดนี้อาจกล่าวว่าเมื่อคนเดินทางมากการค้าก็ดีด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีถนนตัดผ่านได้ทำให้สภาพเศรษฐกิจของชุมชนปรับเปลี่ยนไปด้วย โดยคนเดินทางทางน้ำลดลงเพราะหันไปสัญจรทางบกการค้าขายในชุมชนที่อิงกับการสัญจรทางน้ำนี้จึงไม่รุ่งเรืองอีกต่อไป ไม่นานนักตลาดและร้านค้าต่างๆในชุมชนได้ปิดตัวลง จุดนี้จึงทำให้วิถีชีวิตการค้าของชุมชนจึงเลือนหายไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการฟื้นฟูตลาดในชุมชนขึ้นมาใหม่จุดนี้ได้ทำให้วิถีชีวิตการค้าของคนในชุมชนจึงกลับมาอีกครั้ง โดยปัจจุบันจะพบชาวบ้านมีการนำสินค้ามาวางขาย หรือเปิดร้านขายของและอาหารต่างๆภายในตลาดอันแสดงถึงวิถีชีวิตในการค้าขายนั่นเอง
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีการนับถือศาสนาแตกต่างกัน 2 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้จะมีกิจกรรม พิธีกรรมหรือประเพณีที่แสดงถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนี้
กลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ภายในชุมชนริมคลองบางนกแขวกพบว่าจะมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมคล้ายกับชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนาทั่วไปในภาคกลาง คือเมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในรอบปี เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น ชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธมักจะเดินทางไปกันที่วัดใกล้ชุมชนอย่างเจริญสุขารามวรวิหารและวัดโพธิ์งาม จากนั้นก็จะประกอบกิจกรรมการทำบุญต่างๆภายในวัด อย่างการตักบาตร ถวายสังฆทาน เวียนเทียน ปล่อยปลาหรือให้อาหารปลา เป็นต้น อาจกล่าวว่าภาพรวมวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมชาวพุทธชุมชนนี้ไม่หวือหวาโดดเด่นหรือมีกิจกรรมอะไรพิเศษนักส่วนใหญ่เน้นเป็นไปตามวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่ชาวพุทธทั่วไปพึงปฏิบัติตามปกติ
กลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ ในชุมชนริมคลองบางนกแขวกจะพบว่ามีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างโดดเด่นและเป็นอัตลักษณ์มาก โดยจะพบถึงพิธีกรรมหรือประเพณีที่แตกต่างไปจากชาวคริสต์กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในความเชื่อเรื่องความตายและพิธีศพ จุดนี้เนื่องจากมีการผสมผสานความเชื่อจีนดั้งเดิมในเรื่องการนับถือและการปฏิบัติต่อวิญญาณบรรพบุรุษไว้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพด้วย จนทำให้มีการปรับรูปแบบประเพณีหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับศพให้เป็นไปตามการผสมผสานทางความเชื่อนี้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปรับพิธีกรรมให้เข้ากับความเชื่อจีนดั้งเดิม แต่การปรับนี้ชาวคริสต์ก็จะปรับอย่างระมัดระวังไม่ให้ขัดแย้งกับระบบความเชื่อที่มีในคริสต์ศาสนาด้วย โดยพิธีกรรมหรือประเพณีศพของชาวคริสต์ชุมชนริมคลองบางนกแขวกอันแสดงถึงความผสมผสานกับความเชื่อจีนดังเดิม ได้แก่
พิธีกรรมยิ้บเหนียม คือ พิธีสวดภาวนาอุทิศแก่ผู้ตายเป็นภาษาจีนในคืนก่อนปลงศพ มีลักษณะคล้ายกับการสวดกงเต็กของจีน โดยคริสตชนชาวจีนมักกระทำพิธีนี้ให้แก่ผู้ตาย ซึ่งเป็นบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ตามคติความเชื่อเดิมของชาวจีนในเรื่องความจงรักภักดีต่อบรรพบุรุษ จึงกล่าวได้ว่าพิธียิ้บเหนียมนี้ไม่ได้เป็นหลักปฏิบัติทางจารีตของคริสต์ศาสนา แต่เป็นการปรับพิธีกรรมทางความเชื่อของชาวจีนให้เข้ากับพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาจนเกิดเป็นรูปแบบของพิธีกรรมใหม่ที่มีเฉพาะกลุ่มของชาวจีนขึ้นมา
โดยการประกอบพิธียิ้บเหนียมจะเริ่มขึ้นในคืนสุดท้ายของการภาวนาอุทิศที่เป็นการประกอบพิธีทางคริสต์ศาสนา และจะต่อเนื่องไปถึงวันปลงศพที่สุสานในเช้าวันถัดมา ระยะเวลาของการสวดภาวนาขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ตายและเครือญาติ กล่าวคือ หากผู้ตายหรือญาติของผู้ตายมีฐานะทางเศรษฐกิจดีหรือเป็นผู้กว้างขวางทางสังคมหรือมีกลุ่มเครือญาติขนาดใหญ่ ก็จะทำการสวดภาวนาเป็นเวลาหลายวัน แต่อย่างไรก็ดีโดยปกติแล้วจะมีการสวดภาวนาเป็นอย่างต่ำสามคืนแล้วฝังศพในวันที่สี่และจะไม่ค่อยสวดเกินเจ็ดวัน
ทั้งนี้ขั้นตอนการทำพิธียิ้บเหนียมคือ จะเริ่มในตอนประมาณสองทุ่มในคืนสุดท้ายของการภาวนาอุทิศทางคริสต์ศาสนา โดยเมื่อถึงเวลาประกอบพิธีลูกหลานของผู้ตายจะเข้าไปยืนอยู่ด้านหลังศพที่ตั้งอยู่ภายในศาลาประชาคมหรือที่บ้าน ส่วนด้านหน้าศพจะมีผู้ประกอบพิธีที่เรียกว่าซินแซ (เป็นผู้นำสวดภาวนาภาษาจีน) ยืนอยู่ตรงกลาง ผู้ช่วยนำสวดอีกสามคนจะอยู่ทางขวา ส่วนบาทหลวงผู้ประกอบพิธีมิสซาหน้าศพจะอยู่ทางซ้าย เมื่อขึ้นตามตำแหน่งเรียบร้อยแล้วจะมีการเริ่มสวดภาวนาภาษาจีน ระหว่างการสวดกลุ่มผู้นำสวดทั้ง 5 คนและบรรดาลูกหลานของผู้ตายจะต้องยืนตลอดเวลา ส่วนบาทหลวงระหว่างการสวดจะมีการประพรมน้ำเสกลงบนโลงเสมือนการรดน้ำศพให้แก่ผู้ตายไปด้วย โดยเมื่อการสวดสิ้นสุดลง ซินแซจะประพรมน้ำเสกให้แก่ผู้ตายก่อนจะตามมาด้วยผู้นำสวดอีกสามคน จากนั้นลูกหลานจึงค่อยประพรมน้ำเสกตามลำดับตั้งแต่ลูกคนโตไปจนถึงหลาน แล้วค่อยต่อด้วยผู้มาร่วมงานเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งเมื่อผู้ร่วมงานคนสุดท้ายจะพรมน้ำเสกเสร็จจึงจะถือเป็นอันเสร็จการสวดภาษาจีนหรือพิธีกรรมยิ้บเหนียม อย่างไรก็ตามแม้จะเสร็จพิธียิ้บเหนียมแล้ว แต่ทว่าจะยังไม่ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นพิธีกรรมศพในวันนั้นเสียทีเดียว เพราะหลังจากจบพิธีกรรมยิ้บเหนียมจะมีการทำมิสซาหน้าศพโดยบาทหลวงอันเป็นพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาต่อ จนเมื่อจบพิธีมิสซาและผู้ร่วมงานได้รับการแจกด้ายแดง รวมถึงขนมถ้วยฟูที่อวยพรให้ผู้มาร่วมงานมีโชคดีแล้วจุดนี้จึงจะถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมในการสวดศพวันนั้นอย่างแท้จริง
พิธีปลงศพ เป็นพิธีต่อเนื่องจากพิธียิ้บเหนียมที่จะมีการเริ่มตั้งแต่ในช่วงเช้าตรู่ของวันถัดมา กล่าวคือจะเริ่มต้นด้วยการสวดศพด้วยภาษาจีนอีกรอบ แต่รอบนี้ไม่มีการประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาร่วมด้วยทำให้ไม่มีบาทหลวงในการสวดครั้งนี้ โดยเมื่อสวดเรียบร้อยลูกหลานและผู้ร่วมงานจะพรมน้ำเสกลงบนศพของผู้ตายตามลำดับเหมือนเช่นพิธีกรรมยิ้บเหนียม เมื่อการพรมน้ำเสกเสร็จสิ้นซินแซจะมีการตอกตะปูหีบบรรจุศพเพื่อเตรียมนำไปฝังยังสุสาน ซึ่งซินแซจะเลือกตะปูตามขนาดที่ต้องการ ซึ่งตะปูเหล่านี้ลูกหลานผู้ตายจะเป็นผู้เตรียมไว้ให้ จากนั้นซินแซก็จะใช้ตะปูตอกฝาหีบศพสามที่ ได้แก่
- ตะปูตัวที่หนึ่งตอกริมฝาหีบด้านซ้ายตรงส่วนศีรษะ
- ตะปูตัวที่สองตอกริมฝาหีบด้านขวาตรงศีรษะ
- ตะปูตัวที่สามตอกริมฝาหีบด้านซ้ายตรงลำตัว
โดยหลังจากซินแซตอกตะปูเสร็จสิ้น 3 ตัวแล้ว จะมีการให้ลูกหลานหรือผู้มีชื่อเสียง รวมถึงผู้ที่น่านับถือของครอบครัวตอกตะปูเพิ่มอีก 2 ตัวบนฝาโลง จนเมื่อลูกหลานตอกตะปูเสร็จสิ้นและมีการให้อั่งเปาแก่ซินแซก็จะถือเป็นการเสร็จพิธีตรงส่วนนี้ ต่อจากนั้นลูกหลานจะยกหีบศพขึ้นรถเข็นเพื่อจัดขบวนแห่ไปยังวัดเพื่อเตรียมทำพิธีมิสซาหน้าศพอีกครั้ง โดยในขบวนแห่ศพด้านหน้ารถเข็นศพจะมีการนำด้วยกระถางธูปและตะเกียง ตามด้วยรูปถ่ายของผู้ตาย ส่วนด้านหลังรถเข็นศพจะมีผู้เข้าร่วมพิธีเดินตามขบวนแห่ศพนี้ไปที่วัด เมื่อถึงวัดแล้วก็จะมีการทำพิธีกรรมตามศาสนาคริสต์ตามปกติเริ่มตั้งแต่รับศพจนถึงการทำมิสซาหน้าศพแบบชาวคริสต์ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นก็จะนำศพออกจากวัด โดยมีการแห่คล้ายกับการแห่ศพเหมือนตอนมาวัดแต่รอบนี้จะมีไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ตะเกียง เต้ากำยาน และบาทหลวงทำพิธีมากับการแห่ด้วย นอกจากนี้ขณะที่ขบวนเคลื่อนออกจากวัด วัดจะตีระฆังส่งวิญญาณผู้ตายและเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำพิธี ผู้ร่วมพิธีจะได้รับแจกดอกไม้และดินสอพองเพื่อนำไปวางหน้าศพในเวลานี้ด้วย จนเมื่อขบวนแห่ศพถึงสุสาน บาทหลวงจะทำพิธีปลงศพโดยกล่าวบทสวดส่งศพ จากนั้นผู้ร่วมพิธีจะนำดอกไม้และดินสอพองมาวางในถาดหน้าหีบศพ พร้อมกันนั้นจะมีการสวดภาวนาเป็นภาษาจีนไปด้วย เมื่อสวดจบผู้ร่วมพิธีจะได้รับแจกน้ำและขนมปุยฝ้าย ซึ่งถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสำหรับบรรดาแขกที่มาร่วมงาน ทั้งนี้อย่างไรก็ดีสำหรับลูกหลานและญาติพิธีกรรมยังคงมีต่อไปอีกหนึ่งขั้นตอน กล่าวคือหลังการสวดจบจะเข้าขั้นตอนที่มีแต่ลูกหลานเข้าร่วมอย่างการบรรจุหีบศพลงในหลุมหรือที่เรียกกันว่า “กุฎ” ที่สุสาน โดยบาทหลวงจะทำพิธีเปิดหลุมและประพรมน้ำเสกลงบนหลุมก่อนที่จะนำหีบศพลงบรรจุในหลุมนั้น ดอกไม้ที่ผู้ร่วมพิธีนำมาวางหน้าศพจะถูกโรยทับหีบศพจนทั่ว จนเมื่อเรียบร้อยแล้วจึงมีการปิดตายปากหลุม ซึ่งหลังจากปิดปากหลุมนี้จึงถือเป็นอันเสร็จพิธีปลงศพอย่างแท้จริง
หลังจากพิธีปลงศพหากเป็นคริสตชนทั่วไปจะไม่มีการไว้ทุกข์ แต่สำหรับชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวกจะไว้ทุกข์ให้กับผู้ตาย 100 วัน เช่นเดียวกับที่วิถีชาวจีนมี ซึ่งระหว่างการไว้ทุกข์จะมีการไหว้ทุกๆ 10 วันไปด้วย จนเมื่อครบ 100 วันแล้วจึงจะมีการทำพิธีเพื่อปลดทุกข์และสวดภาวนาสุขสำราญต่อไป
พิธีเสกสุสาน เป็นพิธีกรรมในคริสต์ศาสนาที่มีนัยยะระลึกถึงผู้ตายคล้ายกับเช็งเม้งของจีน ซึ่งสำหรับชุมชนชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวกจะจัดพิธีเสกสุสานในช่วงหลังวันตรุษจีนประมาณหนึ่งสัปดาห์ และมักเลือกทำพิธีในวันเสาร์เพื่อความสะดวกของผู้มาร่วมพิธี โดยเมื่อถึงวันงานมักจะพบบรรดาชาวคริสต์ที่มีบรรพบุรุษอยู่ที่บ้านบางนกแขวกมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้กล่าวได้ว่าพิธีเสกสุสานเปรียบเสมือนเป็นงานรวมเครือญาติเลยทีเดียว
ทั้งนี้ในขั้นตอนของพิธีเสกสุสานพบว่าจะเริ่มจากการทำพิธีกรรมเสกที่สุสานตั้งแต่ตอนเช้า โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ทำพิธี ในอดีตบาทหลวงจะเข้าไปประกอบพิธีเสกให้ทีละหลุมจนครบทุกหลุมในสุสาน แต่ปัจจุบันนี้เนื่องด้วยจำนวนของหลุมศพที่มีจำนวนมากการประกอบพิธีเสกจึงมีการทำรวมครั้งเดียวในสุสานเพื่อความสะดวก หลังพิธีเสกที่สุสานเสร็จสิ้นบาทหลวงจะเข้ามาทำพิธีในวัดต่อ โดยมีการสวดภาวนาอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับและการทำมิสซา จนเมื่อบาทหลวงทำพิธีกรรมที่วัดให้เสร็จ ลูกหลานของผู้ล่วงลับก็จะเดินทางมาที่หลุมศพบรรพบุรุษเพื่อมาแสดงความเคารพ โดยจะเริ่มจากการทำมหากางเขนพร้อมกับนำดอกไม้และเทียนมาปักและจุดไว้ที่หลุมศพ ซึ่งการนำเทียนมาจุดที่หลุมศพนี้นิยมใช้เทียนแท่งใหญ่สีขาว เพราะเทียนสีขาวเมื่อจุดจะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและส่องนำทางดวงวิญญาณบรรพบุรุษไปสู่สวรรค์หรือไปสู่สุคติ ซึ่งเมื่อจุดเทียนเรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นลูกหลานจะมีการสวดภาวนาถึงบรรพบุรุษก่อนที่จะจบด้วยการทำมหากางเขนอีกครั้งอันเป็นการเสร็จสิ้นพิธีกรรมเสกสุสาน
อาจกล่าวได้ว่าประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวจีนคาทอลิกทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น เป็นการประกอบพิธีตามความเชื่อเรื่องการนับถือและการปฏิบัติต่อวิญญาณบรรพบุรุษตามประเพณีจีน แต่เนื่องด้วยมีการนับถือคริสต์ศาสนาเป็นหลักจึงต้องปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับหลักคำสอนของคริสต์ศาสนาด้วย ทำให้พิธีกรรมตามประเพณีจีนบางส่วนถูกตัดทอนไปเพราะขัดกับความเชื่อทางคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรูปเคารพและเทพเจ้าต่างๆ แต่ทว่าเมื่อพิจารณาโดยเนื้อหาแล้วพิธีศพของชาวจีนคาทอลิกยังคงเดิม คือ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเป็นสำคัญ
นอกจากประเพณีเกี่ยวกับคนตายหรือศพที่ถือว่าโดดเด่นแล้วยังพบว่าชุมชนริมคลองนกแขวกยังมีประเพณีสวดสายประคำเดือนแม่พระที่ถือเป็นประเพณีที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ดังนี้
ประเพณีสวดสายประคำเดือนแม่พระ คริสตชนกลุ่มคาทอลิกบางนกแขวกจะเริ่มประเพณีในวันแรกของเดือนตุลาคมโดยจะร่วมกันสวดสายประคำ ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณและเสกรูปแม่พระในอาสนวิหารแม่พระบังเกิด ทุกค่ำตลอดเดือน (เว้นวันอาทิตย์ซึ่งจะมีการสวดสายประคำก่อนพิธีบูชาขอบพระคุณอยู่แล้ว) จะอัญเชิญพระรูปแม่พระไปสวดภาวนาตามบ้านคริสตชน เรียกว่า "แม่พระเยี่ยมบ้าน"หรือที่ถ้ำแม่พระด้านหน้าอาสนวิหารแม่พระบังเกิด เมื่อถึงสิ้นเดือนตุลาคมจะมีการสวดสายประคำ ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณและวางดอกกุหลาบที่แท่นพระรูปแม่พระในอาสนวิหารแม่พระบังเกิดเป็นการปิดเดือนแม่พระแห่งสายประคำ การสวดสายประคำเดือนแม่พระเป็นรูปแบบสำคัญแบบหนึ่งในการอุทิศตนแด่แม่พระของกลุ่มคาทอลิกบางนกแขวก
ตลาดเก่าบางนกแขวก ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางนกแขวก เป็นตลาดเก่าดั้งเดิมมีอายุกว่า 100 ปี ในอดีตตลาดบางนกแขวกเคยมีผู้คนอย่างคึกคักโดยเฉพาะในวันที่มีตลาดนัด จะพบทั้งพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าต่างเข้ามาที่นี้เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มมีถนนตัดผ่านบริเวณโดยรอบชุมชน ความคึกคักของตลาดก็เริ่มเลือนหายไปกลายเป็นความทรงจำสีจาง ๆ ให้คนแก่คนเฒ่าได้สัมผัสและคิดถึงเท่านั้น ทั้งนี้สภาพของตลาดในปัจจุบันจะพบว่ามีลักษณะเป็นเรือนแถวไม้เก่าแก่ริมฝั่งของน้ำแม่กลองและคลองบางนกแขวกที่มีบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติและมีร่องรอยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมให้เห็น โดยภายในตลาดแห่งนี้ทุกวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายสินค้าต่าง ๆ ทั้งผลไม้ สินค้าแปรรูป ขนม ของที่ระลึกและอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งในบรรดาสินค้าที่เอามาขายเหล่านี้อาหารถือว่าโดดเด่นที่สุด เพราะส่วนใหญ่เป็นอาหารโบราณและอาหารหากินยาก เช่น ข้าวแห้ง ก๋วยเตี๋ยวกะลาโบราณ ผัดไทยกุ้งสดสูตรโบราณ ก๋วยเตี๋ยวปู ขนมจีนซาวน้ำใส่แจงลอน อิ่วก้วยไส้เค็มและไส้หวาน เป็นต้น โดยเฉพาะข้าวแห้งที่ปัจจุบันถือว่าเป็นอาหารที่หารับประทานได้ยากมาก ๆ และหลาย ๆ คนไม่รู้จัก แต่ทว่าภายในตลาดบางนกแขวกแห่งนี้กับมีร้านข้าวแห้งเปิดขายให้ลิ้มรสอยู่ โดยกล่าวว่าลักษณะข้าวแห้งนี้คือเป็นข้าวต้มที่ดัดแปลงให้ไม่ใส่น้ำซุปแต่ตัววัตถุดิบต่าง ๆ ที่เคยใส่ในข้าวต้มยังคงเดิม ในอดีตข้าวแห้งเกิดจากชาวจีนใช้แรงงานที่แต่เดิมรับประทานข้าวต้มกันแต่เมื่อมีการใช้แรงงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยข้าวต้มเหล่านี้กับไม่ค่อยอิ่มท้องและทำให้หิวง่าย จึงมีการค่อย ๆ ลดน้ำข้าวต้มลงเรื่อย ๆ จนไม่ใส่น้ำและใส่ข้าวให้เยอะ ๆ แทนเพื่อให้อิ่มท้องได้นานขึ้น จุดนี้ต่อมาจึงกลายมาเป็นข้าวแห้งที่นิยมทานกันโดยเฉพาะชาวบ้านบางนกแขวกในอดีตจะนิยมรับประทานข้าวแห้งนี้กันอย่างมากและแพร่หลายในครอบครัวชาวจีนหลาย ๆ ครอบครัว ทั้งนี้ตอนที่ตลาดบางนกแขวกยังเฟื่องฟูตามคำบอกเล่าจะมีคนจีนเปิดร้านขายข้าวแห้งนี้อยู่ด้วย แต่ต่อมาเมื่อตลาดเงียบเหงาประกอบกับไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ร้านข้าวแห้งในตลาดบางนกแขวกจึงหายไป อย่างไรก็ดีเมื่อมีการฟื้นฟูตลาดขึ้นมาใหม่ นายเกียรติหรือเฮียเกียรติ ผู้ที่เคยรับรู้และเคยได้รับประทานข้าวแห้งในอดีตมองเห็นว่าควรนำข้าวแห้งนี้กลับมาเปิดขายและสืบทอดให้คนภายนอกหรือคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยรับประทานข้าวแห้งได้ลองลิ้มชิมรสข้าวแห้งที่เคยมีในอดีตนี้อีกครั้ง จุดนี้ส่งผลให้ต่อมาเฮียเกียรติจึงเปิดร้านขายข้าวแห้งภายในตลาดบางนกแขวกแห่งนี้ ทั้งนี้ด้วยความที่ข้าวแห้งเป็นอาหารที่หากินยากประกอบกับข้าวแห้งร้านเฮียเกียรติมีรสชาติที่อร่อยมาก ทำให้มีผู้คนที่เข้ามาท่องเที่ยวตลาดบางนกแขวกเมื่อรับประทานก็ส่งต่อถึงชื่อเสียงของร้านออกไปจนร้านเฮียเกียรติเริ่มมีชื่อเสียงไปถึงรายการต่าง ๆ ทำให้มีรายการมาถ่ายทำนำเสนอร้านนี้อยู่ตลอด ไม่นานนักร้านข้าวแห้งเฮียเกียรติก็เป็นโด่งดังมากขึ้นและดึงดูดให้คนภายนอกอยากจะเข้ามาลองชิมกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้นอกจากอาหารที่ถือว่าโดดเด่นดังที่กล่าวข้างต้นแล้วยังพบว่าร้านค้าภายในตลาดแห่งนี้ก็โดดเด่นไม่แพ้อาหารเลย โดยจะพบว่าเมื่อถึงวันที่มีตลาดร้านค้าต่าง ๆ ภายในตลาดบางนกแขวกที่มีลักษณะเก่าแก่ทั้งร้านที่ยังขายสินค้าอยู่และเลิกขายสินค้าแล้วบางส่วนได้เปิดให้คนภายนอกได้เยี่ยมชมความเก่าแก่ในอดีต แม้จำนวนที่เปิดให้ชมไม่มากนักแต่ก็ถือว่าทำให้ตลาดน่าสนใจขึ้นมามากเลยทีเดียว ซึ่งร้านค้าเก่าและบ้านเด่น ๆ ที่เห็นภายในตลาดบางนกแขวกแห่งนี้ เช่น ร้านขายยาแผนโบราณตงซัวฮึ้ง ที่ปัจจุบันยังคงมีการขายยาสืบทอดต่อมาแต่อาจไม่คึกคักเท่าในอดีต โดยภายในร้านแห่งนี้จะมีตู้ยาจีนแบบโบราณพร้อมกับยาจีนแปลก ๆ ตั้งเรียงรายไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ร้านต่อมาคือร้านบางคณฑีพาณิชย์ร้านนี้แม้จะไม่ได้เปิดตัวร้านให้ชมแต่หน้าร้านจะมีปั้มน้ำมันโบราณสีเหลืองตั้งอยู่ ในอดีตปั๊มนี้ถือเป็นปั้มน้ำมันแห่งที่ 2 ของจังหวัดสมุทรสงครามที่เรือต่าง ๆ จะมาจอดเติมกันอยู่เสมอ แต่ปัจจุบันตัวปั๊มได้เลิกใช้งานไปแล้วและเปลี่ยนนำเอามาตั้งโชว์เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปจนกลายเป็นแลนมาร์กของตลาดอย่างหนึ่งที่คนเข้ามาจะต้องมาเช็คอินแทน นอกจากปั๊มแล้วบนบานประตูที่ปิดของร้านแห่งนี้ยังมีโปสเตอร์รูปนักมวยไทย ซึ่งก็คือ อภิเดช ศิษย์หิรัญ ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่นี่ ในอดีตคุณอภิเดชได้สร้างชื่อไว้ในวงการมวยไว้มากมาย ด้วยการเตะที่หนักหน่วง อย่างท่าไม้ตายลูกเตะ 3 ชั้น จนได้สมญานาม “จอมเตะจากบางนกแขวก” ด้วยชื่อเสียงที่โด่งดังนี้สถานที่บ้านเกิดจึงมีโปสเตอร์ติดอยู่เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคนต่าง ๆ ได้ชม ทั้งนี้ถัดจากร้านบางคณฑีพาณิชย์จะมีร้านเฮงเฮงอันเป็นร้านกาแฟโบราณที่ยังเปิดขายอยู่ในปัจจุบัน ร้านแห่งนี้พบว่ามีอายุกว่า 90 ปี อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อของเจ้าของร้าน ภายในร้านพบยังคงกลิ่นอายความเก่าให้เห็นโดยเฉพาะป้ายร้านที่เป็นป้ายดั้งเดิมมีอักษรภาษาจีนและไทยอันเป็นเอกลักษณ์แบบป้ายสมัยก่อน ปัจจุบันร้านเฮงเฮงนอกจากขายกาแฟและเครื่องดื่มที่เป็นทีเด็ดของร้านอย่างโอวัลตินภูเขาไฟและจ้ำบ๊ะภูเขาไฟสูตรของเก่าสมัยรุ่นพ่อแล้ว ยังขายก๋วยเตี๋ยวโบราณสูตรราชบุรีและน้ำสมุนไพรเก้าสีภายในร้านอีกด้วย
ทั้งนี้ตลาดบางนกแขวกในปัจจุบันถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในย่านคลองดำเนินสะดวกและแม่น้ำแม่กลองที่เด่นด้วยบรรยากาศและรสชาติอาหาร โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในตลาดแห่งนี้นอกจากจะสามารถสัมผัสได้กับบรรยากาศความเป็นธรรมชาติจากแม่น้ำแม่กลองและความเก่าแก่จากร้านรวงที่เปิดให้ชมภายในตลาดแล้ว ยังจะได้ลองลิ้มชิมรสอาหารโบราณและอาหารหายากภายในตลาดแห่งนี้ด้วย กล่าวได้ว่าตลาดบางนกแขวกเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดของผู้คนที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายมาสัมผัสกับความสงบและความไม่เร่งรีบพร้อมทานอาหารอร่อย ๆ ภายในตลาดแห่งนี้นั่นเอง
อาสนวิหารวัดแม่พระบังเกิด หรือโบสถ์บางนกแขวก เป็นโบสถ์คริสต์ที่มีความเก่าแก่และงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ของตำบลบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม ในบริเวณปากคลองบางนกแขวกฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งโบสถ์หลังปัจจุบันนี้พบว่าที่มีการสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2433 (สมัยรัชกาลที่ 5 ) ด้วยบาทหลวงเปาโลซัลมอน มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ใช้เวลากว่า 6 ปี จึงสร้างสำเร็จและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 ทั้งนี้อาสนวิหารวัดแม่พระบังเกิดแห่งนี้มีภาพรวมของสถาปัตยกรรมเป็นแบบกอธิคหรือโกธิค (Gothic) และมีผังของโบสถ์เป็นรูปกางเกงแบบละติน (Latin Cross) โดยภายนอกของโบสถ์แห่งนี้จะประกอบไปด้วยด้านหน้าและด้านข้างที่มีลักษณะต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยด้านหน้าของอาคารจะที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงล่าง ช่วงกลาง ช่วงบน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ช่วงล่าง จะเริ่มตั้งแต่ฐานของอาคารมาจนถึงด้านบนเหนือขอบประตูโบสถ์ โดยในช่วงนี้จะเห็นถึงประตูโบสถ์โค้งแหลม 3 ประตู ซึ่งบนบานประตูนี้จะมีได้มีแผ่นดีบุกแกะสลักบรรยายเกร็ดประวัติในพระคัมภีร์คริสต์ศาสนาตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลกจนวันพิพากษาครั้งสุดท้าย
- ช่วงกลาง จะเริ่มตั้งแต่ถัดจากประตูขึ้นไปจนถึงก่อนระเบียง บริเวณช่วงนี้จะมีหน้าต่างกลม 2 บานซ้ายขวา โดยระหว่างหน้าต่างกลม 2 บานนี้จะมีประติมากรรมนักบุญอันนาที่กำลังโอบพระแม่มารีย์ขั้นอยู่ตรงกลาง ทั้งนี้เยื้องด้านหลังของประติมากรรมนี้ขึ้นไปจะมีการประดับตกแต่งผนังด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สื่อถึงความศรัทธาต่อแม่พระ เช่น รูปสมอ หมายถึงศรัทธา และรูปดอกลิลลี่ที่หมายถึงพรหมจรรย์และความบริสุทธิ์อันมีนัยยะสื่อถึงแม่พระ
- ช่วงบน จะเริ่มตั้งแต่ระเบียงขึ้นไปจนถึงสุดของยอดโบสถ์ ช่วงนี้จะพบตรงบริเวณระเบียงจะมีอักษรจีนประดับติดกับราวระเบียงด้านหน้า ซึ่งเมื่อนำอักษรจีนเหล่านี้มาแปลจะได้ความหมายว่าบ้านของพระเจ้า ทั้งนี้ตรงราวระเบียงมุมซ้ายและมุมขวาจะมีประติมากรรม นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลตั้งอยู่ ซึ่งนักบุญทั้งสองนี้มีความสำคัญอย่างมากกับคริสต์ศาสนา ถัดจากราวระเบียงเข้าไปด้านในจะพบว่ามีหอระฆังตั้งอยู่ โดยหอระฆังนี้จะมีหน้าต่างโค้งแหลมติดอยู่ 3 บาน และมียอดกรวยแหลมสูงสวยงามโดดเด่นที่ด้านบนประดับไม้กางเขนเอาไว้
ในส่วนด้านข้างของอาคารโบสถ์ จะพบว่ามีการแบ่งออกเป็น 11 ช่วงเสา โดยแต่ละช่วงเสาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนด้านล่างที่เป็นหน้าต่างโค้งแหลมและส่วนด้านบนที่เป็นหน้าต่างกลม ซึ่งสิ่งที่แบ่งสองส่วนนี้เอาไว้คือลวดบัว ทั้งนี้ในตอนปลายสุดของอาคาร ได้มีมุขชั้นเดียวที่เป็นรูปโค้งขนาด 3 ช่วงเสาโอบล้อมรอบตัวอาคาร ผนังของมุขจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ด้วยแนวเสาเก็จ ซึ่งในแต่ละช่วงของแนวเสาเก็จจะเจาะช่องหน้าต่างเป็นลักษณะโค้งแหลม แต่จะมีช่วงหนึ่งที่จะเจาะเป็นช่องสำหรับประตู ทั้งนี้ผนังด้านข้างอาคารส่วนบนพบว่ามีการประดับด้วยลายซุ้มโค้งแหลมปูนปั้นเป็นแนวตลอดอาคาร ด้านบนของเสาเก็จทุกต้นรอบอาคารมักพบว่าจะเป็นยอดแหลมเหมือนกันหมด ในส่วนของหลังคาจะพบว่าตัวอาคารจะเป็นหลังคาจั่วคลุมยาวตลอดอาคาร แต่ในส่วนมุขชั้นเดียวทั้งด้านช้างและด้านหลังจะมีหลังคาที่คลุมด้วยโวลท์ครึ่งวงกลม
ในส่วนภายในของโบสถ์แห่งนี้พบว่าค่อนข้างสวยงามและน่าสนใจอย่างมาก โดยในด้านสถาปัตยกรรมจะมีการสร้างอาคารให้สูงโปร่งโอ่งอ่างและมีการตกแต่งต่าง ๆ อย่างงดงามโดยเฉพาะส่วนบนของอาคารที่จะมีการประดับลวดลายแกะสลักสีทองและปูนปั้นสีทองจนทำให้โบสถ์มีบรรยากาศที่อลังการและดูหรูหรา นอกจากนี้ภายในโบสถ์ภายในโบสถ์ยังพบว่าได้มีการประดับตกแต่งกระจกสี ชนิด Stain Glass ที่ช่องแสงภายในอาคารกว่า 54 ภาพด้วย โดยแต่ละกระจกสีจะมีขนาดและเรื่องราวต่าง ๆ ของภาพ ที่สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
- 1. กระจกวงกลมขนาดใหญ่จำนวน 21 ภาพ จะบอกเล่าถึงชีวประวัติของพระแม่มารีย์
- 2. กระจกสามเหลี่ยมทรงสูงจำนวน 6 ภาพ จะแสดงภาพของนักบุญต่าง ๆ
- 3. กระจกสามเหลี่ยมทรงโค้งจำนวน 27 ภาพ จะแสดงภาพนักบุญชาย-หญิงและเหตุการณ์สำคัญ
โดยภาพกระจกสีต่าง ๆ เหล่านี้สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างโบสถ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ต่อมาอาจจะมีบางส่วนที่ซ่อมแซมใหม่ไปบ้าง เนื่องจากผลกระทบของในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างความเสียหายแก่กระจกบางส่วน แต่โดยรวมแล้วกระจกเหล่านี้ถือว่ามีความเก่าแก่ดั้งเดิมทั้งหมด ในสมัยก่อนกระจกสีที่มีเรื่องราวเหล่านี้ล้วนต้องสั่งมาจากฝรั่งเศสแล้วส่งมาทางเรือ เพราะในประเทศสยามขณะนั้นไม่สามารถผลิตเองได้เนื่องจากต้องอาศัยโรงงานผลิตกระจกและต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญ มีความอดทนใจเย็น มีความประณีตและมีฝีมือโดยเฉพาะในการนำกระจกชิ้นเล็ก ๆ แต่ละสีมาต่อเชื่อมกันให้ได้ภาพตามที่ต้องการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการต่อจิ๊กซอร์แต่เป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก กล่าวว่างานรูปแบบนี้พบว่าคนทั่วไปยากที่จะเลียนแบบได้ ทำให้หากต้องการงานศิลปะกระจกสีในสมัยก่อนจะต้องสั่งนำเข้ามาอย่างเดียว กล่าวได้ว่างานกระจกสีเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ายิ่งทรงคุณค่าอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันถือเป็นงานฝีมือที่หาชมได้ยากแล้ว ซึ่งในประเทศไทยจะพบงานกระจกสีใหญ่ ๆ ที่ทำด้วยฝีมือช่างอย่างประณีตอย่างนี้แค่เพียงโบสถ์คริสต์เก่าแก่อายุ 100 ปีขึ้นไปเท่านั้น ส่วนโบสถ์ใหม่ ๆ จะพบว่าไม่ค่อยมีการทำลักษณะเช่นนี้อีกแล้วเพราะไม่สามารถหาแหล่งในการทำและไม่สามารถหาช่างที่มีฝีมือทำได้สวยงามเท่าที่มีในอดีต ดังนั้นโบสถ์เก่าที่มีภาพกระจกสีเหล่านี้จึงมักมีการดูแลอนุรักษ์กระจกสีที่มีกันเอาไว้เป็นอย่างดีในที่นี้รวมถึงอาสนวิหารวัดแม่พระบังเกิดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมภายในโบสถ์นี้แห่งนี้มีการสร้างและตกแต่งตามแบบฉบับโกธิคเกือบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามยังมีส่วนที่ไม่ได้สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิคด้วยเช่นกันในที่นี้คือชั้นเพดานหลังคาที่ไม่ได้สร้างแบบ Rib Vault หรือไม่ได้สร้างแบบหลังคาก่ออิฐเป็นซุ้มแหลมที่นิยมในสถาปัตยกรรมโกธิค แต่มีการสร้างเป็นเพดานฝ้าไม้พร้อมประดับลวดลายสีทองแทน ซึ่งจุดนี้แม้เพดานของโบสถ์จะไม่ตรงตามในแบบเดิมของลักษณะโกธิค แต่การที่สร้างเพดานในลักษณะนี้ก็ไม่ได้ลดทอนความงามของโบสถ์ลงไป ยิ่งไปกว่านั้นการที่สร้างเพดานเป็นฝ้าไม้ยังไปเพิ่มให้โบสถ์แห่งนี้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนมีความโดดเด่นสวยงามและแตกต่างจากโบสถ์รูปแบบโกธิคในพื้นที่อื่น ๆ
ทั้งนี้นอกจากสถาปัตยกรรมแล้วสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ภายในโบสถ์แห่งนี้ก็น่าสนใจเช่นกัน โดยสิ่งของส่วนใหญ่ที่พบในโบสถ์แห่งนี้มักเป็นของเก่าทางศาสนาคริสต์ที่มีมาพร้อม ๆ กับการสร้างอาสนวิหาร เช่น ธรรมาสน์ไม้สวยงามเก่าแก่ที่อยู่กลางโบสถ์ รูปปูนปั้นนักบุญที่ตั้งตามจุดต่าง ๆ ภายในโบสถ์ รูปแกะสลักไม้พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน ขาเทียนเก่าลักษณะต่าง ๆ ที่สวยงาม ตู้สารภาพบาปเก่าแก่ ภาพเก่าที่เกี่ยวกับเรื่องราวทางคริสต์ศาสนาตามฝาผนัง เป็นต้น โดยสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อประกอบเข้ากับสถาปัตยกรรมรูปแบบโกธิคจะพบว่าได้ส่งเสริมให้อาสนวิหารแห่งนี้โดดเด่น สวยงาม ดูมีมนต์ขังและน่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากขึ้นอีกด้วย
กล่าวได้ว่าอาสนวิหารวัดแม่พระบังเกิดแห่งนี้ด้วยความสวยงามและความเก่าแก่ขององค์ประกอบต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม ได้ดึงดูดให้ผู้คนภายนอกจำนวนมากเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมอยู่เสมอ จุดนี้จึงทำให้สถานที่แห่งนี้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชนริมคลองบางนกแขวกตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงครามในที่สุด
วัดเจริญสุขารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านบางนกแขวก หมู่ที่ 5 ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยแต่เดิมเป็นพบว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างเก่าแก่ที่ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2426 ชาวบ้านได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมาใหม่และเรียกกันว่า"วัดกลางคลอง" หรือ "วัดต้นชมพู่" ต่อมาเมื่อกระทรวงเกษตราธิการได้สร้าง "ประตูน้ำขึ้นบางนกแขวก" ขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้กันว่า "วัดประตูน้ำบางนกแขวก" อย่างไรก็ตามสมัยพระอธิการอาจ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินการขออนุญาตเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่อีกครั้งว่า วัดเจริญสุขาราม ซึ่งชื่อนี้จึงเป็นชื่อที่เรียกกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน
วัดเจริญสุขารามได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2471 และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารในปี พ.ศ. 2500 โดยปัจจุบันจะพบว่าวัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดอันได้แก่
- 1. พระอุโบสถ จะพบว่ามีขนาดใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ศิลปะโดยรวมเป็นแบบไทยประเพณี หน้าบันจะสลักลวดลายเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงสุบรรณ (ครุฑ) ในส่วนหลังคาพบการสร้างซ้อนกัน 3 ชั้น และมุงกระเบื้องด้วยดินเผา ด้านสกัดหน้าและหลังมีการชักปีกนกยื่นออกมาบรรจบกับตับหลังคาด้านข้างจนคลุมโดยรอบอาคาร มีเสาซีเมนต์ตั้งรับชายคาเป็นระยะ มีประตูทางเข้าที่เป็นซุ้มบรรแถลง 3 ประตู ส่วนภายในพระอุโบสถพบการมีศิลปะการก่อสร้างเฉพาะตัว คือเพดานโบสถ์มีลักษณะเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ
- 2. หลวงพ่อโต พบว่าพระประธานในพระอุโบสถที่มีนามว่า หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปางมารวิชัย แบบศิลปะสมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.79 เมตร สูงจากฐานรองประทับนั่งจนถึงยอดรัศมี 2.09 เมตร โดยหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปโบราณที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งสมัยพระอธิการอาจเป็นเจ้าอาวาส ได้มีเรื่องเล่าว่าท่านได้นิมิตเห็นองค์พระพุทธรูปถูกทิ้งไว้ภายในวัดร้างแห่งหนึ่งในราชบุรี และในนิมิตนี้องค์พระพุทธรูปยังได้กล่าวกับท่านว่าให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดแล้วจะทำให้วัดเจริญรุ่งเรือง ซึ่งหลังจากนิมิตนี้ในตอนเช้าพระอธิการอาจจึงได้นั่งสมาธิเพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่นิมิตอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงชวนชาวบ้านส่วนหนึ่งแจวเรือไปตามแม่น้ำแม่กลองเพื่อหาวัดร้างและองค์พระตามนิมิต ซึ่งเมื่อแจวเรือเข้าเขตราชบุรีท่านได้เจอกับวัดร้างที่ชื่อวัดหลุมดิน (วัดสุรชยาราม) ที่ตั้งอยู่ในตำบลท่าแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และได้พบกับองค์พระพุทธรูปจริงตามนิมิต ซึ่งองค์พระพุทธรูปนี้ก็คือหลวงพ่อโต โดยหลังเจอองค์พระพุทธรูปนี้แล้วท่านจึงได้มีการทำพิธีและอัญเชิญเอามาประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถของวัดเจริญสุขาราม จุดนี้จึงทำให้หลวงพ่อโตเป็นพระประธานของวัดมาจนถึงปัจจุบัน
- 3. พระวิหารจัตุรมุข มีความสวยงามมาก สร้างขึ้นมาประมาณกว่า 40 ปีแล้ว โดยหลังวิหารจะมีเจดีย์ที่บรรจุอัฐิเจ้าอาวาสองค์แรกอยู่
- 4. อุทยานมัจฉา โดยบริเวณหน้าวัดที่ติดกับคลองดำเนินสะดวกจะพบว่าเป็นเขตอภัยทานที่มักจะมีฝูงปลามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้เป็นจำนวนมากนับหมื่นตัวจนเปรียบเสมือนวังมัจฉา ซึ่งเมื่อมีการให้อาหารฝูงปลาเหล่านี้จะขึ้นมาให้เห็นเต็มไปหมด เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างมากจนกลายเป็นจุดหนึ่งที่คนชอบมานั่งเล่นกันอยู่เสมอ
อนุสรณ์สถานลูกระเบิด ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร โดยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คลองดำเนินสะดวกได้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของเรือกองทัพญี่ปุ่นที่ใช้เดินทางลำเลียงขนอาวุธยุทโธปกรณ์และอาหาร ต่าง ๆ ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งระหว่างการเดินทางในเส้นทางนี้เรือของกองทัพญี่ปุ่นจะมีจุดหยุดพักของเรือจะอยู่ที่บริเวณประตูน้ำบางนกแขวก ทำให้ใน พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันมิตรที่เล็งเห็นว่าบริเวณประตูบางนกแขวกนี้เป็นจุดหยุดพักของเรือที่ขนยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จึงได้มีการทิ้งระเบิดลงมาเพื่อทำลายเส้นทางการขนอาวุธและทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือที่จอดอยู่ในบริเวณนี้ แต่ทว่าระเบิดกับไม่ทำงานและจมสู่ก้นคลอง จนต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ขณะทำการซ่อมแซมประตูน้ำบางนกแขวก ชาวบ้านจึงได้เจอกับลูกระเบิดที่จมอยู่ก้นคลองบริเวณนี้จำนวน 3 ลูก และได้มีการลำเลียงขึ้นมาบนฝั่ง ซึ่งในบรรดาระเบิดทั้ง 3 ลูกหนึ่ง มีลูกหนึ่งระเบิดขณะนำดินปืนออก ส่วนอีก 2 ลูกทางการได้มีการนำสลักออกและมอบให้แก่ทางวัดเจริญสุขารามวรวิหาร ต่อมามีคนมาขอจากเจ้าอาวาสไป 1 ลูก ทำให้ทางวัดจึงเหลือระเบิด 1 ลูก ซึ่งระเบิดลูกนี้ต่อมาทางวัดได้มีการนำมาจัดแสดงภายในบริเวณวัดเป็นอนุสรณ์สถานลูกระเบิดให้ผู้คนได้ชม
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่อาศัยในชุมชนเป็นจำนวนมาก แต่จะพบว่า คนที่พอจะอ่าน เขียน หรือพูดภาษาจีนได้มักจะเป็นผู้สูงอายุที่นับถือคริสต์ศาสนาเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นส่วนน้อยของชุมชน ส่วนคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นจะไม่สามารถ อ่าน พูดหรือเขียนภาษาจีนได้แล้ว เนื่องจากคนเหล่านี้เมื่อเกิดและเติบโตก็จะได้รับการศึกษาแบบไทยและพูดแบบไทยเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ใฝ่จะศึกษาภาษาจีนอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันภาษาจีนในชุมชนแห่งนี้จึงอยู่เฉพาะกลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งในอนาคตคาดว่าภาษาจีนในชุมชนแห่งนี้น่าจะค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา
ในอดีตนับตั้งแต่ตั้งชุมชนริมคลองบางนกแขวกจะพบว่าชาวบ้านภายในชุมชนแห่งนี้ได้มีการประกอบอาชีพที่โดดเด่นอย่างการค้าขาย โดยตามริมคลองจะมีบ้านเรือนเปิดเป็นร้านค้าตั้งอยู่ประปราย ส่วนบริเวณปากคลองจะมีตลาดริมน้ำและตลาดนัดทางเรือที่เปิดขายสินค้า ซึ่งในช่วงที่การสัญจรทางน้ำยังคงเป็นคมนาคมหลักตลาดและร้านค้าในบริเวณนี้ถือว่าเฟื่องฟูอย่างมาก เพราะผู้คนที่เดินทางสัญจรบริเวณคลองจะเข้ามาจับจ่ายซื้อของกันทั้งอย่างคึกคักอยู่ตลอด อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงทางการค้าของชุมชนริมคลองบางนกแขวกก็ได้เข้ามาเมื่อรอบชุมชนมีการพัฒนาคมนาคมทางบกโดยตัดถนนเชื่อมไปยังกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งการตัดถนนนี้ได้มีผลให้ผู้คนเดินทางสัญจรทางน้ำลดลงเพราะหันไปเดินทางคมนาคมทางบกที่สะดวกแทน ลูกค้าที่จะเข้ามาในร้านค้าริมน้ำรวมถึงตลาดริมน้ำบริเวณชุมชนริมคลองบางนกแขวกเริ่มลดน้อยลง ยิ่งเมื่อต่อมาร้านค้าที่ขายสินค้าต่าง ๆ ได้เริ่มมีการเปิดขายของริมถนนและมีตลาดริมถนนเกิดขึ้น ร้านค้ารวมถึงตลาดริมน้ำในบริเวณนี้จึงเริ่มซบเซาลงอย่างมาก ไม่นานนักร้านค้าต่าง ๆ ทั้งริมน้ำและในตลาดของชุมชนแห่งนี้ก็ได้ปิดตัวลง โดยจะพบว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาวิถีชีวิตทางการค้าของชาวบ้านแห่งนี้ รวมไปถึงบรรยากาศการค้าต่าง ๆ ที่เคยคึกคักในชุมชนได้หายไปจนเกือบหมด จนทำให้ชุมชนแห่งนี้ที่ในอดีตได้ขึ้นชื่อว่าโดดเด่นทางการค้าก็ได้สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตามต่อมาใน พ.ศ. 2552 เมื่อกระแสความหวนคิดถึงตลาดเก่าเกิดขึ้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงได้รื้อฟื้นตลาดที่เคยซบเซาลงไปในชุมชนให้กลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยจะเห็นถึงร้านค้าต่าง ๆ ของชาวบ้านมีการเปิดขึ้นใหม่เพื่อขายสินค้าต่าง ๆ อาจกล่าวว่าแม้การฟื้นฟูนี้จะไม่ได้ทำให้การค้าในชุมชนเจริญเท่าในอดีต แต่การฟื้นฟูนี้ได้ทำให้วิถีชีวิตทางการค้าขายของชาวบ้านในชุมชนที่เคยหายไปได้กลับมา ถือว่าหวนคืนวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่เคยโดดเด่นในชุมชนนั่นเอง
กระปุกดอทคอม. (ม.ป.ป.). เที่ยว 4 ตลาดน้ำ เมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.kapook.com/
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. (ม.ป.ป.). อาสนวิหารแม่พระบังเกิด โบสถ์คริสต์กลางดงสวน ณ บางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.finearts.go.th/
กิตตินันท์ นาคทอง. (2561). 150 ปี คลองดำเนินสะดวก ยุคถนนลาดยางเข้ามาแทนที่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/
จากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การท่องเที่ยวตำบลบางนกแขวก. (2562). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://ref.codi.or.th/
ดวงรัตน์ ด่านไทยนํา. (2553). คู่มือการท่องเที่ยวด้วยตัวเองของชุมชนบางนกกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ราชภัฏสวนสุนันทา.
เดลินิวส์. (2557). ผงะ! ระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โผล่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://d.dailynews.co.th/
ทรูไอดี. (2563). โบสถ์สวย อัมพวา เที่ยวโบสถ์คริสต์ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.trueid.net/
ทรูไอดี. (2563). ย้อนวันวาน วัดเจริญสุขารามวรวิหาร บางนกแขวก สมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.trueid.net/
เทศบาลตำบลบางนกแขวก. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565). สมุทรสงคราม: เทศบาลตำบลบางนกแขวก.
เทศบาลตำบลบางนกแขวก. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานตำบล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://bnk.go.th/
เที่ยว 4 ตลาดน้ำเมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง. (2557). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://roommaro.blogspot.com/
เที่ยวบ้านๆ แบบ Local & Slow Life @ บางนกแขวก บนดินแดนที่เล็กที่สุดในไทย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://th.readme.me/
ไทยรัฐ. (2562). คุณชายตะลอนชิม : "ข้าวแห้งดำเนินสะดวก" อร่อยย้อนยุค. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.thairath.co.th/
บ้านสวนนวลตา. (2565). ตลาดเก่าบางนกแขวก ตลาดน้ำ ดั้งเดิมที่ต้องมา ปี2565. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://blog.bsnresort.com/
ปติสร เพ็ญสุต. (2563). อาสนวิหารแห่งสมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://readthecloud.co/
ประชาคม ลุนาชัย. (2555). ในตลาดมีชีวี ในวิถีมีชีวิต. กรุงเทพฯ: อินสปายร์.
พจน์ ใจชาญสุขกิจ. (ม.ป.ป.). อดีตริมน้ำไม่เคยจาง .. ที่บางนกแขวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก http://drphot.com/
พิชญาพร พีรพันธุ์ และ พิทักษ์ ศิริวงศ์. (2563). การวิเคราะห์วาทกรรม : การดำรงอัตลักษณ์คริสตชนของกลุ่มคาทอลิกบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. วารสารร่มพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกริก, 38(1), 67-82.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (ม.ป.ป.). ดำเนินสะดวก : คลองสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.finearts.go.th/ratchaburimuseum/
โพสต์ทูเดย์. (2559). ตลาดเก่าบางนกแขวก ฝากอนาคตไว้กับผู้นำท้องถิ่น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.posttoday.com/
รัตนวุฒิ เจริญรัมย์. (ม.ป.ป.). ตลาดน้ำบางนกแขวก ตลาดเก่าร้อยปีริมน้ำ ที่สมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.ท่องทั่วไทย.com/
รุ่งนภา พราหมณ์วงศ์. (2544). การธำรงชาติพันธุ์ของชุมชนชาวจีนคาทอลิกผ่านพิธีศพ : กรณีศึกษา ชุมชนคาทอลิกบ้านบางนกแขวก ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร.
วิกิพีเดีย. (2566). เทศบาลตำบลบางนกแขวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://th.wikipedia.org/
วิภาวัลย์ แสงลิ้มสุวรรณ. (2542). โบสถ์คาทอลิกในภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึง พุทธศักราช 2475. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2554). อนุสรณ์สถานลูกระเบิด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2561). พิธีศพชาวจีนคาทอลิก บางนกแขวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/rituals/
สมศักดิ์ คล้ายสังข์. (2554). ความสนใจของนักท่องเที่ยวต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ราชภัฏสวนสุนันทา.
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม. (ม.ป.ป.). วัดเจริญสุขารามวรวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://skm.onab.go.th/th/
สุภาวดี รัตนมาศ. (ม.ป.ป.). ชุมชนบางนกแขวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก http://www.waterfront.uni.net.th/river/
อนุตตรา มาลาวาล. (2558). อัตลักษณ์และการดํารงอยู่ของชุมชนคาทอลิกอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยบูรพา.
อัจฉราภรณ์ แก้วเกียรติยศ. (2554). แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก สังฆมณฑลราชบุรี. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อัมพวาทูเดย์. (ม.ป.ป.). วัดเจริญสุขารามวรวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก http://www.amphawatoday.com/
อาสนวิหารแม่พระบังเกิด จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย. (2564). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://palanla.com/
อาสนวิหารแม่พระบังเกิด อัมพวา โบสถ์คริสต์ที่สวยติดอันดับในประเทศไทย. (2561). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.chillnaid.com/
“ข้าวแห้งไก่” ฟื้นเมนูพื้นบ้านแจ้งเกิดตลาดเก่าบางนกแขวก. (2556). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/
Chubbylawyer. (2566). ไหว้พระ ปล่อยปลา ชมระเบิด !!!. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.wongnai.com/
Porrorchor. (2563). สงครามชีวิต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://minimore.com/
Sanook d pipat. (2561). พาชมความงาม อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ชื่อแปลกแต่อลังการ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://bsite.in/