ชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ บ่อพันขันและแหล่งเกลือโบราณ
บ้านตาเณรเดิมชื่อบ้านว่า "ตาเด็น" มาจากตำนานการเกิดบ่อพันขันที่มีพญานาครบกวนพื้นที่และคนในพื้นที่ต้องต่อสู้กับพญานาคแทบเลือดตากระเด็นจึงตั้งชื่อบ้านว่า "ตาเด็น" ต่อมาเพี้ยนเป็น "ตาเณร"
ชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ บ่อพันขันและแหล่งเกลือโบราณ
บ้านตาเณรเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณบ่อพันขันชายขอบของทุ่งกุลาร้องไห้ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและใกล้กับลำน้ำเสียว มีชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงหลายชุมชน เช่น บ้านเด่นราษฎร์ บ้านหนองคูณ บ้านปลาคร่าว บ้านหญ้าหน่อง ซึ่งบางชุมชนเป็นชุมชนที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งพบลักษณะการตั้งชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบคือชุมชนโบราณจำปาขันหรือบ้านตาเณร ซึ่งห่างจากพื้นที่บ่อพันขันเพียง 1 กิโลเมตร อีกทั้งยังพบเครื่องปั้นดินเผาและเศษภาชนะดินเผากระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ของชุมชนเมืองโบราณจำปาขัน ตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเพียงแห่งเดียวที่ทำให้ทราบถึงการพัฒนาการเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตร์ในช่วงแรก ๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวคือชุมชนโบราณแห่งนี้มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายและต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ (สุกัญญา เบาเนิด,2553:46) เมื่อคนในวัฒนธรรมลาวเริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ของอีสานโดยเฉพาะกลุ่มของเจ้าแก้วมงคลที่เข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในช่วง พ.ศ. 2256 เป็นต้นมา ส่งผลให้คนในกลุ่มวัฒนธรรมลาวเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ เช่น บ้านท่ง หรือเมืองสุวรรณภูมิซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณบ่อพันขัน รวมทั้งมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านตาเณรและรอบบ่อพันขันซึ่งการเข้ามาของกลุ่มคนลาวยังคงเกี่ยวข้องและมีสัมพันธ์กับการทำเกลือเช่นเดิม หลักฐานการเข้ามาของกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานปราสาทเขมรในศาสนาฮินดูมาเป็นพระธาตุพันขันในศาสนาพุทธและใช้ชื่อเรียกปราสาทหลังนี้ว่า “พระธาตุบ่อพันขัน” จนถึงปัจจุบัน ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมเกลือเริ่มเฟื่องฟูและเป็นที่นิยมของผู้คนในบ่อพันขันเป็นอย่างมาก การต้มเกลือไม่เพียงแต่เพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้นยังมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอื่น ๆ รวมทั้งเงินตราอีกด้วย จากรายงานการขุดค้นที่พจน์ เกื้อกูล อธิบายว่า ระยะที่ชาวบ้านเคี่ยวเกลืออยู่นี้ จะมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ นำเอาสินค้าที่ตนมีอยู่มาแลกเปลี่ยน เช่น เครื่องปั้นดินเผาและสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งพ่อค้าคนกลางที่ซื้อทีละมาก ๆ ด้วย เป็นการช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น บ่อพันขันระยะนี้จะคึกคักไปด้วยผู้คนจากถิ่นต่าง ๆ (พจน์ เกื้อกูล,วารสารเมืองโบราณฉบับที่1 ปีที่2,2518:72) ทำให้สามารถมองเห็นสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ของบ่อพันขันได้อย่างชัดเจน
ความเฟื่องฟูของเกลือในพื้นที่บ่อขันในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ตามที่ปรากฏ ผู้คนทั้งภายนอกและภายในบริเวณบ่อพันขันเข้ามาต้มเกลือในพื้นที่อย่างหนาแน่น สร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนในบริเวณบ่อพันขันและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกผ่านการค้าเกลือและแลกเปลี่ยนสิ่งของต่าง ๆ กับเกลือ รวมถึงการสร้างผลกระทบในด้านต่าง ๆ หลังจากการต้มเกลือไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงทำให้จำนวนต้นไม้บริเวณบ่อพันขันลดลงจำนวนมาก การต้มเกลือยังส่งผลถึงพื้นที่ทางการเกษตร กล่าวคือเมื่อมีการต้มเกลือมากขึ้นพื้นที่ทางการเกษตรที่อยู่ใกล้เคียงไม่สามารถเพาะปลูกได้เพราะดินมีความเค็มจนเกินไป ประกอบกับในช่วงระยะดังกล่าวนี้ทุ่งกุลาร้องไห้ได้เริ่มมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุงพื้นที่การจัดสรรที่ดิน รวมถึงการผลักดันให้เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ อีกทั้งยังมีการปลูกพืชทดแทนคือยูคาลิปตัสและกระถินณรงค์ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล การพัฒนาดังกล่าวส่งผลกระทบมายังบ่อพันขันและผู้คนในพื้นที่บ่อพันขันต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตครั้งใหญ่หลังจากการสร้าง อ่างเก็บน้ำบ่อพันขันขึ้นใน พ.ศ. 2524
การต้มเกลือที่เคยเป็นอาชีพหลักของคนชุมชนบ่อพันขันสิ้นสุดลงเมื่อการพัฒนาของรัฐเข้ามาจัดการพื้นที่ การเข้ามาของนโยบายการพัฒนาของรัฐไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับพื้นที่บ่อพันขันที่เป็นแหล่งต้มเกลือที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เพียงเท่านั้น ยังส่งผลไปยังพื้นที่ทั้งหมดของทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งการปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตร การนำข้าวหอมมะลิเข้ามาปลูก การผลักดันการปลูกต้นยูคาลิปตัส การบริหารจัดการชลประทาน การสร้างอ่างเก็บน้ำบ่อพันขัน พ.ศ. 2524 จากนโยบายของรัฐที่เข้ามาจัดการพื้นที่ในท้องถิ่น ส่งผลให้บ่อพันขันจากแหล่งเกลือที่ใหญ่ที่สุดในทุ่งกุลาร้องไห้ และเป็นพื้นที่ทางสังคมของกลุ่มคนที่ผลิตเกลืออีกทั้งพื้นที่ทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นต้องหายไป การไม่มีแหล่งต้มเกลือส่งผลให้อาชีพหลังฤดูกาลทำนาของชุมชนบ้านตาเณรและชุมชนบริเวณบ่อพันขันหายไป เป็นผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนในชุมชนออกไปภายนอก
บ้านตาเณรเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณบ่อพันขันชายขอบของทุ่งกุลาร้องไห้ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและใกล้กับลำน้ำเสียว มีชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงหลายชุมชน เช่น บ้านเด่นราษฎร์ บ้านหนองคูณ บ้านปลาคร่าว บ้านหญ้าหน่อง
- เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
- เดือนยี่ : บุญคูนลาน
- เดือนสาม : บุญข้าวจี่
- เดือนสี่ : บุญเผวส
- เดือนห้า : บุญสงกรานต์
- เดือนหก : บุญบั้งไฟ
- เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ
- เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง : บุญกฐิน
พระธาตุพันขัน โบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15
ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ขาว สมอาษา. (2552). การต่อรองเชิงอำนาจเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาวชุมชนบ่อพันขัน. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาไทศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
พจน์ เกื้อกูล. (2518). บ่อพันขัน.วารสารเมืองโบราณฉบับที่1 ปีที่ 2. (ออนไลน์)
สุกัญญา เบาเนิด. (2553). โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. กรมศิลปากร : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี.