
หมู่บ้านสันติชลเป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนานที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และประเพณีที่พวกเขารักษาไว้อย่างเหนียวแน่น
แต่เดิมชื่อของหมู่บ้านสันติชล คือ บ้านน้ำฮูจีน (หนั่งฝู่ชวิน) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อภายหลัง ในปี 2535 พันเอกปัญญา เทพวัลย์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 5 กรมทหารราบที่ 7 ร่วมกับทหารในหน่วยงานและชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านและเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านสันติสุข ที่มีความหมายว่า แม่น้ำแห่งสันติ
หมู่บ้านสันติชลเป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนานที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และประเพณีที่พวกเขารักษาไว้อย่างเหนียวแน่น
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมาได้มีคนจีนนับแสนนับหมื่นคนอพยพหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อหาสถานที่อยู่ใหม่โดยการอพยพหลายเส้นทางเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลเส้นทางอพยพจึงขึ้นอยู่กับความสะดวก และลักษณะทางภูมิประเทศ บรรพบุรุษของชาวจีนในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดอพยพมาจากมณฑลยูนนานซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับพม่า โดยมีการอพยพผ่านเข้าพม่ามาก่อนมาเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ายังมีชาวจีนยูนนานจำนวนไม่น้อยตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า จากการสนทนากับผู้รู้ในชุมชนแบบการสนทนากลุ่ม พบว่าชาวจีนยูนนานได้อพยพเข้ามาในเมืองไทยด้วยสาเหตุหลายประการ แต่เหตุผลหลักที่สำคัญ คือ ต้องการลี้ภัยจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศจีน สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเชคกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตง จนก่อให้เกิดการปฏิวัติทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่
หมู่บ้านสันติชล ตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เดิมชื่อของหมู่บ้านสันติชล คือ บ้านน้ำฮูจีน (หนั่งฝู่ชวิน) ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านน้ำฮู ประชากรร้อยละ 90 เป็นชาวจีนอพยพ และอีกร้อยละ 10 เป็นชนเผ่าลีซู บริเวณพื้นที่หมู่บ้านสันติชลได้มีการตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ. 2518 โดยคนจีนชื่อ นายเลาล่อ มาจากบ้านดอยผีหลู หมู่ที่ 9 ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้มาหาทำเลที่ตั้งบ้านใหม่ หลังจากที่ได้ส่งบุตรจำนวน 3 คน มาเรียนหนังสือที่ตัวอำเภอปาย แต่บุตรไม่ยอมเรียนถ้าบิดาไม่ย้ายมาอยู่ด้วย ดังนั้น นายเลาล่อ และครอบครัวทั้งหมดจึงย้ายจากบ้านผีหลูมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ ๆ มัสยิดอำเภอปาย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เดิมผูกพันกับการเกษตรจึงจำเป็นต้องหาทำเลที่ตั้งซึ่งเหมาะแก่การทำเกษตร นายเลาล่อ จึงไปปรึกษาเพื่อนคนจีนที่อพยพมาจากเมืองจีนด้วยกัน ซึ่งได้แต่งงานกับชาวเขาเผ่าละหู่ที่บ้านหมอแปง หมู่ที่ 4 ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งสองได้เดินสำรวจทำเลที่ตั้งบ้านใหม่ จนมาถึงลำห้วยม่วงก่อน โดยด้านหน้าเป็นแม่น้ำ และด้านหลังเป็นภูเขา ซึ่งตรงกับหลักฟงซุ่ย นายเลาล่อ จึงชักชวนคนจีนครอบครัวอื่นให้ย้ายมาอยู่ด้วยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนั้นภายในชุมชนมีการปลูกข้าวและข้าวโพดเป็นหลัก แต่นายเลาล่อ เห็นว่าการปลูกข้าวโพดและข้าวไม่อาจนำรายได้ที่เพียงพอมาสู่ครอบครัว จึงคิดทำสวนลิ้นจี่ขึ้น โดยซื้อกล้าพันธุ์มาจากชาวจีนยูนนานบ้านยาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเพื่อนบ้านเห็นว่าลิ้นจี่นั้นขายได้ราคาดี จึงทำให้ครอบครัวอื่น ๆ ปลูกด้วย ตั้งแต่นั้นมาบ้านสันติชลจึงกลายเป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่มากที่สุดในแม่ฮ่องสอน
บ้านสันติชล ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา มีพื้นที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร มีลำน้ำห้วยก้อนและลำห้วยป่าเป่าล้อมรอบ ลักษณะดินเป็นดินแดงมีความเหนียวในบางพื้นที่ และบางพื้นที่เป็นดินดำร่วนซุย ซึ่งเหมาะแก่การทำการเกษตร พื้นที่เกษตรภายในหมู่บ้านมีทั้งหมด 800 ไร่ ด้านหลังของหมู่บเานเป็นเนินเขาอันอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งชาวบ้านได้ใช้ผืนป่าแห่งนี้ในการหาของป่าเพื่อดำรงชีวิต
บ้านสันติชล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอปาย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองปายประมาณ 45 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านหมอแปง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอนุรักษ์ป่าหนองกระทิง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอนุรักษ์ป่าดอยจิกจ้อง
สถานที่สำคัญ
ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน ตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้าหมู่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน นำเสนอเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนานมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยจำลองตกแต่งหมู่บ้านให้มีรูปแบบคล้ายหมู่บ้านจีนยูนนาน ภายในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนานจะมีบ้านดิน (บ้านที่ใช้ดินปั้นขึ้นมา) ตั้งเรียงรายเป็นบ้านจำลองวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเปิดเป็นร้านอาหารจีนยูนนาน ร้านขายชา ร้านจำหน่ายของที่ระลึก มีลานกว้างที่เป็นสนามหญ้า สระน้ำ และชิงช้าไม้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของการพัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ ฟื้นฟูอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนาน
ศาลเจ้าที่ของหมู่บ้าน ศาลเจ้าที่หมู่บ้านสันติชลสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2518 ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะมาไหว้สักการะเพื่อขอเรื่องความปลอดภัย โชคลาภ การค้าขาย เป็นต้น ศาลแห่งนี้มีกฎอยู่ 1 ข้อ คือ ห้ามผู้หญิงเข้าไปภายในอาณาบริเวณของรั้วศาล หากต้องการกราบไหว้บูชาต้องไหว้จากภายนอกรั้วศาลเท่านั้น
หมวดคริสต์เตียนบ้านสันติชล มีสถาปัตยกรรมเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ทำหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนาให้แก่คนในชุมชน รับอุปการะเด็กกำพร้า และเปิดสอนภาษาอังกฤษให้กับคนภายในหมู่บ้าน
จากการสำรวจครั้งล่าสุดด้วยการเดินทางสำรวจและถ่ายรูปเป็นรายครอบครัวเมื่อเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2548 มีจำนวน 190 หลังคาเรือน ประชากรทั้งสิ้น 1,071 คน โดยเป็นเพศชายจำนวน 529 คน เพศหญิง 542 คน นอกจากนี้ยังสามารถแยกตามทะเบียนบ้านได้ ดังนี้
- ทร.14 มีสัญชาติไทยจำนวน 264 คน
- ทร.13 ไม่ได้รับสัญชาติไทยจำนวน 807 คน จำแนกได้ดังนี้ จีนฮ่ออิสระ 205 คน จีนฮ่ออพยพ 133 คน อดีตทหารจีนคณะชาติ 48 คน บัตรชุมชนพื้นที่สูง 284 คน ผู้ไม่มีหลักฐาน 137 คน
ภายหลังการปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาดจากรัฐบาลไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็กลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรรมดังเดิม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ลิ้นจี่ ส้ม ลำไย ลูกท้อ ข้าว กระเทียม ถั่วเหลือง ข้าวโพด เป็นต้น ส่วนสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ หมู และไก่กระดูกดำ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ คือ กลุ่มคนเลี้ยงไก่กระดูกดำ สำหรับใช้จำหน่ายให้ร้านอาหารจีนยูนนานของชุมชน กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ และกลุ่มเย็บปักถักร้อย ทำของที่ระลึก (ทำเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวของอำเภอปาย คือ ช่วงฤดูหนาว)
ประเพณีและวัฒนธรรมที่ยังคงปิฎิบัติกันสืบมาจนปัจจุบันของชุมชน ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นปฎิทินกิจกรรมรอบปี จะมีประเพณีต่าง ๆ ดังนี้
- เดือนมกรามคม : วันส่งท้ายปีเก่า
- เดือนกุมภาพันธ์ : วันตรุษจีน
- เดือนมีนาคม : วันไหว้ศาลเจ้าเมือง (เอ่อยี่ปา)
- เดือนเมษายน : วันเชงเม้ง
- เดือนพฤษภาคม : -
- เดือนมิถุนายน : วันไหว้ศาลเจ้าพ่อและไหว้สวน (โอปาเจ)
- เดือนกรกฎาคม : วันระลึกถึงคุณครู (บะจ่าง)
- เดือนสิงหาคม : วันสารทจีน
- เดือนกันยายน : วันไหว้พระจันทร์
- เดือนตุลาคม : -
- เดือนพฤศจิกายน : วันไหว้บรรพบุรุษ (ซือยาเจ)
- เดือนธันวาคม : -
ทุนวัฒนธรม
1.หมู่บ้านวัฒนธรรมจีนยูนนาน
ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนานบ้านสันติชล หรือ หมู่บ้านจีนยูนนาน อยู่จากตัวอำเภอปายประมาณ 4.5 กิโลเมตร รอบ ๆ หมู่บ้านเป็นวิวภูเขาสวยงาม ประชากรของหมู่บ้านรุ่นบุกเบิกเป็นชาวเขาเชื้อสายจีนยูนนานที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองไทย และปัจจุบันก็ได้พัฒนาเป็นหมู่บ้าน ท่องเที่ยวคล้ายกับหมู่บ้านรักไทย จ.แม่ฮ่องสอน โดยที่ผู้คนยังมีการแต่งกายคงความเป็นเอกลักษณ์แบบชาวเขา รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมไว้
ภายในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน มีบ้านดิน (บ้านที่ใช้ดินปั้นขึ้นมา) ตั้งเรียงรายเป็นบ้านจำลองวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเปิดเป็นร้านอาหารจีนยูนนาน ร้านขายชา ร้านจำหน่ายของที่ระลึก มีลานกว้างที่เป็นสนามหญ้า สระน้ำ และชิงช้าไม้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของที่นี่ และเป็นกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบบ้านดินและที่กางเต็นท์ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ
โดยศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนานจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในชุมชน โดยการสร้างอาชีพให้กับชุมชน ไม่ให้ชาวบ้านยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และช่วยลดปัญหาการขาดรายได้ของคนในชุมชน กิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน เช่น ขี่ม้าล่อ ขี่ชิงช้า เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เลือกซื้อของที่ระลึกผลิตภัณฑ์จากชุมชน
2.ด้านอาหารของชาวจีนยูนนาน
อาหารของชาวจีนยูนนานได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษที่อยู่ในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้อาหารส่วนใหญ่มีส่วนผสมของไขมันเป็นหลัก เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และชาวจีนยูนนานยังดื่ม น้ำชาเพื่อช่วยระบบทางเดินอาหารและระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสามารถสลายไขมันได้จากอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอีกด้วย อาหารจีนยูนนานบ้านสันติชลมีความคล้ายกับอาหารจีนแหล่งอื่น ๆ เนื่องจากมีแหล่งต้นกำเนิดเดียวกัน มีวิธีการปรุงอาหาร เครื่องปรุง และส่วนประกอบคล้ายคลึงกันหรืออาจแตกต่างกันไปบ้างเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากอาหารจีนยูนนานบ้านสันติชลมีการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในรูปแบบของร้านอาหารชุมชน รายการอาหารจึงมีการปรับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงเน้นด้านความสะอาดในทุกขั้นตอน โดยอาหารที่บ้านสันติชลที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ หมูพันปี (ชินชัง) ขาหมูน้ำแดง (ต้าตุ้ง) หมั่นโถว (หมั่นทึ่ว) ไก่ดำตุ๋นยาจีน (ตุ้งจี) ไข่ยัดไส้ (ตั้งจวิ่น) รสชาติอาหารมีรสเปรี้ยวมันและเผ็ด
ชาวจีนยูนนานบ้านสันติชลมีการติดต่อสื่อสารทางด้านภาษาหลากหลาย ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ภาษาไทยใหญ่ ภาษาไทยภาคเหนือ (คำเมือง) และภาษาลีซอ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ติดกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น หมู่บ้านลีซอ จึงทำให้เกิดการผสมกลมกลืนระหว่างชาติพันธุ์อื่นด้วย อย่างไรก็ตามภาษาจีนยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่นกับชาวจีนยูนนานเสมอ สำหรับภาษาจีนที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน คือ ภาษาพูดที่เรียกว่า อิ่นหน่านหว่า ซึ่งมีความแตกต่างจากภาษาจีนกลาง (แมนดาริน) ไปบ้างด้านการออกเสียงและคำศัพท์ แต่ยังถูกจัดอยู่ ในตระกูลจีน-ทิเบต ลูกหลานชาวจีนยูนนานยุคปัจจุบันสามารถสื่อสารได้มากกว่า 2 ภาษา คือ ภาษาจีนอิ่นหน่านหว่า ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบิดามารดา ภาษาจีนกลาง ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย (กลาง) ที่ได้รับการถ่ายทอดจากโรงเรียนจีนภายในชุมชน นับว่าความรู้ทางภาษาเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเยาวชน เพราะเยาวชนบางส่วนของชุมชนที่ได้รับการศึกษามีความรู้ความสามารถไปขายแรงงานภายนอกชุมชนได้อย่างภาคภูมิใจ
ทศพิธ แป้นดวงเนตร. (2554). โครงการวิจัย ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาอาชีพ โดยชุมชนจีนยูนนานบ้านสันติชล ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
เตภิตา เสือหัน. (2557). พลวัตทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวจีนฮ่อ: กรณีศึกษา หมู่บ้านสันติชล ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนานบ้านสันติชล. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566. https://happyschoolbreak.com/
Emagtravel. (2566). หมู่บ้านสันติชล หมู่บ้านจีนยูนนาน อ.ปาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566. https://www.emagtravel.com/archive/