Advance search

ริมแควอ้อม

สภาพแวดล้อมนเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชน มีความผูกพันกับสายน้ำอย่างใกล้ชิด มีการตั้งบ้านเรือนตามแนวยาว ขนานกับแม่น้ำหรือลำคลอง และปลูกสร้างบ้านเรือนไว้ริมน้ำ การทำสวนยกร่อง เป็นเมืองสามน้ำ

แควอ้อม
อัมพวา
สมุทรสงคราม
เขมชาติ ชนะไพร
1 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
16 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 ก.ค. 2023
ริมแควอ้อม

ชื่อชุมชนมาจากชื่อคลองที่ตัดผ่านกลางชุมชนคือคลองแควอ้อม


สภาพแวดล้อมนเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชน มีความผูกพันกับสายน้ำอย่างใกล้ชิด มีการตั้งบ้านเรือนตามแนวยาว ขนานกับแม่น้ำหรือลำคลอง และปลูกสร้างบ้านเรือนไว้ริมน้ำ การทำสวนยกร่อง เป็นเมืองสามน้ำ

แควอ้อม
อัมพวา
สมุทรสงคราม
75110
องค์การบริหารส่วนตำบลแควอ้อม โทร. 0-3470-2129
13.440397767949031
99.94309488435766
เทศบาลตำบลแควอ้อม

คลองแควอ้อม ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางการขยายเส้นทางคมนาคมทางน้ำเพื่อการขนส่งทางด้านเศรษฐกิจจนเกิดเป็นย่านชุมชนริมน้ำที่แวดล้อมไปด้วยสวนยกร่องสูง บรรดาสวนผลไม้บริเวณชุมชนริมน้ำคลองแควอ้อมจังหวัดสมุทรสงครามและราชบุรี เรียกว่า "สวนนอก" เป็นของที่คู่กันกับ "สวนใน" ที่อยู่ในฝั่งกรุงธนบุรี จากลักษณะทางกายภาพในอดีตพื้นที่เดิมของชุมชนเป็นพื้นที่ทะเลตม อันเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพามาสะสมและทับถมตามปากแม่น้ำ การสร้างบ้านแปงเมืองที่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมได้

ในเรื่องของน้ำและคมนาคม ชุมชนคลองแควอ้อมจึงเป็นชุมชนชาวสวน และการทำสวนที่ต้องมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งระบบน้ำขึ้นน้ำลงและเครือข่ายลำน้ำขนาดใหญ่ ที่มีระบบสวนที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ซึ่งการตั้งถิ่นฐานริมคลองแควอ้อมเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งสองฝั่งริมน้ำคลองแควอ้อมตั้งแต่บริเวณปากคลองวัดประดู่จนถึงปลายคลองแควอ้อมที่บรรจบกับแม่น้ำแม่กลองที่ตำบลบางกุ้ง และตำบลแควอ้อม 

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากสภาพภูมิประเทศ แม่น้ำอ้อม หรือ คลองแควอ้อม คือ แม่น้ำแม่กลองสายเก่า ที่ออกสู่ทะเลบริเวณอำเภอวัดเพลงในอดีต ขณะที่แม่น้ำแม่กลองแยกจากแม่น้ำอ้อมที่เมืองราชบุรี คือ เส้นทางน้ำที่เกิดขึ้นสมัยหลังไหลผ่านที่ราบลุ่มเกิดใหม่ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกไปออกสู่อ่าวไทย จึงมีแม่น้ำแม่กลอง 2 สาย คือ ลำพะยอมและแม่น้ำอ้อมสายเก่าและสายใหม่ที่ผ่านอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมือง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา ออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม ลำน้ำเก่าแก่ที่สัมพันธ์กับการตั้งหลักแหล่งที่การทำมาหากินของผู้คนในแต่ละยุคก่อนประวัติศาสตร์ 

โดยร่องรอยของโบราณวัตถุในบริเวณลุ่มน้ำแม่แม่กลองนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการเกิดและการเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งและถิ่นฐานเป็นกระบวนการที่คลี่คลายมาจนปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในเส้นทางที่มีการขยายเส้นทางคมนาคมทางน้ำเพื่อรองรับการขนส่งเชิงเศรษฐกิจ  จนกระทั่งกลายเป็นพื้นที่ตั้งของชุมชนริมน้ำที่มีอาชีพเป็นชาวสวนผลไม้ ปลุกผัก และอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลมะพร้าวจำนวนมาก  

จากสภาพแวดล้อมนเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในจังหวัดสมุทรสงครามมีความผูกพันกับสายน้ำอย่างใกล้ชิด ดังนั้นลักษณะการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสมุทรสงครามดั้งเดิม จึงมีการตั้งบ้านเรือนตามแนวยาว ขนานกับแม่น้ำหรือลำคลอง และปลูกสร้างบ้านเรือนไว้ริมน้ำ เนื่องจากบริเวณริมตลิ่งโดยปกติจะมีระดับที่สูงกว่าพื้นที่ตอนใน ซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนของน้ำที่เอ่อลันตลิ่งเข้ามา เมื่อน้ำลดลงตะกอนจะตกลงทับถมกันบริเวณริมตลิ่ง จึงทำให้มีระดับที่ สูงกว่าพื้นที่ตอนใน และเหมาะสมสำหรับการปลูกสร้างบ้านเรือน โดยชุมชนริมน้ำคลองแควอ้อม มีการตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่หนาแน่น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยกเว้นบริเวณที่เป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำ เช่น บริเวณที่บรรจบกันของคลองวัดประดู่กับคลองแควอ้อม เป็นที่ตั้งของชุมชนตลาดปากคลองวัดประดู่ หรือบริเวณที่เป็นกลุ่มเรือนเครือญาติใกล้ชิดกันจะมีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยมากกว่าบริเวณอื่น

พัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมของชุมชนคลองแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม สามารถแบ่งช่วงพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานออกเป็น 3 ช่วง คือ ยุคแรกของการตั้งถิ่นฐาน (พ.ศ. 2300-2419) ยุคชุมชนขยายและตลาดน้ำรุ่งเรือง (พ.ศ. 2450-2500) และยุคการเปลี่ยนผ่านของชุมซนริมน้ำและเกษตรกรรม (พ.ศ. 2501-ปัจจุบัน) 

โดยในยุคแรกของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนคลองแควอ้อม สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ป่าปะปนกับพื้นที่สวน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วง พ.ศ. 2300 การตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมน้ำในบริบทสวนยกร่องบริเวณสองฝั่งริมน้ำคลองแควอ้อมก่อกำเนิดขึ้น จากหลักฐานการก่อตั้งวัดเก่าแก่ที่ปรากฏเรียงรายบริเวณริมสองฝั่งลำน้ำทั้งสายหลักและสายรอง ได้แก่ วัดบางวันทอง วัดโบสถ์ วัดบางกุ้ง วัดบางสะแก วัดแก้วเจริญ วัดท้องคุ้ง และวัดอมรเทพ เป็นต้น ที่เกิดจากชาวบ้านจากอยุธยาและบริเวณอื่นอพยพหนีภัยสงครามด้วยการบุกเบิกพื้นที่เข้ามาในบริเวณที่เป็นลำคลองสายย่อย การกวาดต้อนผู้คนเชื้อชาติต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 2-3 ตามหลักฐานการย้ายถิ่นเข้ามาในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองอย่างต่อเนื่อง 

ในยุคที่สองนั้นเป็นช่วงที่ชุมชนได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น (พ.ศ. 2450-2500)  อันเป็นผลมาจากการอพยพของผู้คนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทำให้มีการสร้างบ้านเรือนริมน้ำ เรือนทรงไทย บ้านขัดแตะ (เรือนเครื่องผูกสร้างด้วยไม้ไผ่) เพิ่มมากขึ้น ผนวกกับความชำนาญทางการเดินเรือและการค้าขาย ทำให้มีชาวจีนเริ่มเข้ามาค้าขายมากขึ้น เกิดตลาดน้ำภายในชุมชน และเริ่มเป็นที่กล่าวถึงและนิยมในเวลาต่อมา ทำให้มีผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงคนจีนที่เข้ามาค้าขายในบริเวณนี้ ทั้งนี้คนจีนส่วนมากแล้วนิยมสร้างเรือนแพเพื่ออยู่อาศัยและค้าขายสินค้า

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยุคการเปลี่ยนผ่านของชุมชนริมน้ำและเกษตรกรรม (พ.ศ. 2501-ปัจจุบัน)  มีสถานการณ์ในสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ บทบาทศูนย์กลางของตลาดน้ำถูกเปลี่ยนบทบาทและแทนที่ด้วยพื้นที่ท่องเที่ยวในรูปแบบของ “ตลาดน้ำ” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นพลวัตเปลี่ยนไปตามสังคมวัฒนธรรมในเชิงสถานที่ เวลา และยุคสมัยซึ่งพื้นที่พาณิชยกรรมดั้งเดิมของชุมชนริมน้ำก็มีรูปแบบการใช้งานในพื้นที่สาธารณะ ผู้คนในชุมชนบ้างก็เปลี่ยนบ้านเรือนเป็น บ้านพักโฮมสเตย์ ประกอบกอบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีต ล้วนเกิดจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดวิถีการดำเนินชีวิต แบบแผนอาชีพ ซึ่งปัจจุบันนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านภายในชุมชนมีตัวเลือกที่หลายหลายมากขึ้นทำให้ชาวบ้านบางส่วนนั้นเลิกที่จะทำเกษตรกรรม หรือ ค้าขายในบริเวณพื้นที่ในชุม รวมถึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปประกอบอาชีพที่อื่น แต่ก็ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ยังอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรม และการการค้าขายในบริเวณตลาดน้ำ

"คลองแควอ้อม" ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตอนบนของจังหวัดสมุทรสงคราม แต่เดิมเป็นเส้นทางหลักของแม่น้ำแม่กลองสายเก่า ก่อนที่เส้นทางการไหลของน้ำจะเปลี่ยนทิศทาง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยคลองแควอ้อมแยกจากแม่น้ำแม่กลองบริเวณตำบลบ้านไร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแม่กลองอีกครั้งที่ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา และตำบลบางกุ้งอำเภอบางคนที ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยคลองแควอ้อมที่บริเวณปากคลองในตำบลบางกุ้งอำเภอบางคนมี มีความกว้างประมาณ 4 เมตร ความลึกประมาณ 2.8 เมตร และบริเวณสุดเขตจังหวัดสมุทรสงครามที่ตำบลบ้านปราโมทย์ อำเภอบางคนที่ มีความกว้างประมาณ 8 เมตร ความลึกประมาณ 2 เมตร รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 7 กิโลเมตรบริเวณที่คลองแควอ้อมไหลผ่านจังหวัดสมุทรสงคราม มีทั้งหมด 5 ตำบล ใน 2 อำเภอคือ ตำบลแควอ้อม  ตำบลเหมืองใหม่ ในพื้นที่อำเภออัมพวา และตำบลบางกุ้ง ตำบลบางสะแก ตำบลบ้านปราโมทย์ ในพื้นที่อำเภอบางคนที โดยที่ทั้ง 2 อำเภอจะอยู่คนละฝั่งของคลอง

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ ติตต่อกับ ตำบลบางสะแก ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนทีจังหวัดสมุทรสงคราม

ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 

ทิศใต้   ติดต่อกับ ตำบลสวนหลวง ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จรดตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 

ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้มีการระบุเกี่ยวกับจำนวนประชากรใรพื้นที่ชุมชนแควอ้อมมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,169 คน แยกเป็นชาย 1,019 คน หญิง 1,150 คน จำนวน 647 ครัวเรือน 

จากการศึกษาพื้นที่ ชุมชนริมแควอ้อม ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบกว่ากลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ส่วนมากยังคงประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับ การทำการเกษตรกรรม การทำสวน และการทำประมง เป็นหลัก โดยอาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ณ  อย่างไรก็ตามนอกจากอาชีพพื้นฐานในข้างต้นนี้แล้ว ชาวบ้านในชุมชนริมแควอ้อม ยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ OTOP, สินค้าแปรรูป หรือ บ้านพักโฮมสเตย์ เป็นต้น

กลุ่มอาชีพเกษตรกร/ชาวสวน

กิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลฐานของชาวแม่กลองนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ การทำสวนเป็นหลัก การตั้งถิ่นฐานริมน้ำจึงมีความเหมาะสม และสามารถในจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการทำสวนต้องอาศัยทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ สำหรับสวนของชาวแม่กลองจะใช้วิธีการที่เรียกว่า "สวนยกร่อง"  

โดยเป็นการขุดคู คลองแพรก ลำราง และลำประโดง นำดินที่โกยขึ้นมาสุมเป็นคันดินสลับไปกับร่องสวน ทำให้ยามน้ำทะเลหนุนขึ้น น้ำเค็มจึงไม่ดันตัวสูงขึ้นไปตามลำแม่น้ำ หากแต่จะแผ่กระจายน้ำเข้าไปยังลำรางขนาดต่างๆ ที่ขุดผสานกันดังใยแมงมุม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวสวนแม่กลอง อันเกิดจากความรู้ความเข้าใจ และปรับตัวอย่างเหมาะสม และสมดุลกันระหว่างวิถีชีวิตกับสภาพแวดล้อม

สวนยกร่องจะมีลักษณะเป็นคูน้ำ หรือลำประโดงที่ขุดแยกออกมาจากคลองสายหลัก โดยนำดินที่ได้จากการขุดลำประโดง และยกร่องสวนมาพูนเป็นคันดินเตรียมสำหรับการปลูกพืช ลำประโดง นอกจากจะใช้เพื่อการชักน้ำเข้าพื้นที่สวนแล้ว ยังเป็นการแสดงขอบเขตความเป็นเจ้าของสวนโดยการแบ่งพื้นที่สวนออกเป็นแต่ละเจ้าของนั้น จะแบ่งพื้นที่ด้วยลำประโดง หรือร่องสวน โดยแต่ละฝ่ายจะสละที่ดินคนละครึ่งหนึ่งของร่องสวนที่ขุดขึ้น ทำให้ลำประโดงกลายเป็นเส้นทางสัญจรสาธารณะขึ้นมาโดยปริยาย และใช้เป็นทางสัญจรเพื่อลำเลียงผลผลิตอีกด้วย โดยระหว่างเส้นลำประโดงจะแบ่งออกเป็น "ขนัด" ซึ่งแต่ละแนวลำประโดงจะมีหลายขนัดสวนตามแต่ลักษณะของพื้นที่ภายในแต่ละขนัดจะแบ่งเป็นร่องสวนเพื่อทำการเพาะปลูก โดยขนาดพื้นที่ของสวนแต่ละขนัดนั้น ไม่ได้มีขอบเขตที่เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับกำลังในการดูแลรักษา และการเก็บผลผลิตของชาวสวนที่สามารถจะทำได้' และในแต่ละขนัดจะเชื่อมต่อกับลำประโดง โดยมีประตูเปิด-ปิด เรียก"หับ" เพื่อควบคุมระดับน้ำภายในลำประโดง เพื่อให้ยามฤดูกาลที่มีน้ำจืดมากจะเปิดน้ำเข้าไปกักไว้เป็นน้ำอุปโภค และกักเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงขนัดสวนยามฤดูแล้ง ประเพณีที่สำคัญของชาวสวน   คือ "การลอกเลน" ซึ่งเป็นการเอาเลน หรือดินเหลวขึ้นจากก้นท้องร่อง แล้วนำไปคลุมบนหลังร่อง ซึ่งเลนเหล่านี้เกิดจากการฝนที่ชะล้างหน้าดินบริเวณหลังร่องลงไปกองรวมอยู่ที่ท้องร่อง ประกอบกับเศษหญ้าเศษใบไม้ที่ทับถลงไป ทำให้กลายเป็นปุยตามธรรมชาติอย่างดีของชาวสวน อีกทั้งการลอกเลนในร่องสวนเป็นการบำรุงรักษาไม่ให้ร่องสวนตื้นเขินด้วยในอีกทางนึง เนื่องจากการลอกเลนจะทำในช่วงรอยต่อก่อนเข้าฤดูฝน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆก่อนที่ฝนจะมา และทุกๆสวนจะต้องทำเช่นเดียวกัน ดังนั้นการลอกเลนในอดีตนั้นจะใช้การ "ลงแขก" ขอแรงญาติพี่น้องเพื่อนบ้านเพื่อให้เสร็จโดยรวดเร็ว และย้ายไปช่วยสวนอื่นๆ ต่อไป 

การทำสวนยกร่อง

1. การลอกท้องร่องเอาตมปุ้ยอันโอชาขึ้นไปโปะบนหลังร่อง

2. การเก็บเกี่ยวผลมะพร้าว

3. การลากแพมะพร้าวในท้องร่องสวนเพื่อประหยัดแรงงาน

4. ยามจะลากมะพร้าวต้องทดน้ำโดยการกั้นเขื่อนในท้องร่องเพื่อไม่ให้น้ำขึ้น-ลงอิสระ เช่นปกติ เพื่อให้นำค้างในท้องร่องมากพอที่จะลากแพมะพร้าวได้

นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ริมคลองแควอ้อม สามารถแบ่งสวนยกร่องออกเป็น 3 ประเภท คือ "สวนเตียน" "สวนผลไม้" และ "สวนมะพร้าว" โดยสวนแต่ละประเภทมีปัจจัยทางสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดกล่าวคือ สวนเตียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ และมีการสร้างคันล้อมที่สูงกว่าหลังร่องสวนตามปกติเพื่อให้สามารถสู้น้ำได้ในฤดูน้ำหลาก10 ซึ่งแตกต่างจากสวนมะพร้าวที่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อยได้ แต่ไม่ชอบแช่น้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็ม ดังนั้นในสวนมะพร้าวจึงต้องมีการเคลื่อนไหวของน้ำอยู่เสมอ 

สภาพวิถีชีวิตปัจจุบันนั้นจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าทางหน่วยงานภาครัฐได้มุ่งเน้นให้มีการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม โดยเป็นเสน่ห์ชวนให้สัมผัสถึงบรรยากาศและกลิ่นอายแห่งความสุข มุ่งเน้นการนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาเป็นส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดกิจกรรมนำชมวิถีชีวิตแบบชุมชนริมน้ำตลอดช่วงเวลา โดยจะแบ่งเป็นรอบเช้า กลางวัน และเย็น ซึ่งชาวบ้านภายในชุมชนก็ได้อนุรักษ์วิถีชีวิตแบบเดิม เช่น บ้านที่ค้าขายอาหารพื้นถิ่น ขนมพื้นถิ่น ก็ยังคงทำอาชีพนี้ต่อไปเพราะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในชุมชนได้ ส่วนชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำการเกษตร/ชาวสวน ก็ยังสามารถเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้ในการนำเสนอรูปแบบวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1.วัด

จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานอย่างยาวนานในพื้นที่เขตเมืองแม่กลอง ทำให้เมืองแม่กลองมีวัดอยู่จำนวนมากมาย พบว่า วัดส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมน้ำด้วยความสะดวกของการเข้าถึงทางน้ำเป็นหลัก และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของภูมิทัศน์วัฒนธรรม และศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชุมชนอีกด้วย และจะมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเรียงรายตามลำน้ำไม่ได้ตั้งกระจุกตัวเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลฐานของชาวแม่กลองนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ การทำสวนเป็นหลัก จึงกำหนดพื้นที่สวนให้อยู่ล้อมรอบเรือน ทำให้บ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกันไปโดยปริยาย ยกเว้นชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงชุมชนทางการค้า หรือกลุ่มเรือนเครือญาติใกล้ชิดกันความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของทำเลที่ตั้งของวัด เมื่อดำเนินการบรรจุข้อมูลลงในแผนที่ที่ตั้งวัด (Temple Mapping) และการจัดทำแผนที่ที่อยู่อาศัยทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในคลองแควอ้อม ร่วมกับการสำรวจภาคสนามโดยใช้การสัญจรทางเรือ พบว่า วัดที่ตั้งอยู่ในคลองแควอ้อมส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ทางฟากซ้ายมือ หรือทิศใต้ อาทิเช่น วัดปากน้ำ วัดบางเกาะเทพศักดิ์ วัดเหมืองใหม่ วัดอินทราราม วัดเสด็จ วัดราษฎร์บูรณะ วัดบางวันทด วัดแก้วเจริญ เป็นต้น และมีระยะห่างของจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งใกล้เคียงกัน ในขณะที่เรือนทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมจะอยู่ฝั่งขวามือ หรือทิศเหนือของแม่น้ำ

จากข้อมูลข้างต้นสามารถสันนิษฐานได้ว่า การที่วัดเลือกที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของลำแควอ้อมคงมีสาเหตุมาจากคติเรื่องทิศตะวันออกเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในการรับรู้ทางพื้นที่ของชุมชนริมน้ำนั้น ทิศทางที่น้ำไหลลงมาจึงเปรียบได้กับทิศเหนือ ดังนั้นฝั่งขวา-ซ้ายของแม่น้ำจึงเปรียบเสมือนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องสร้างอาคารให้หันหน้าเข้าหาลำน้ำ เพื่อรับกับการสัญจรทางน้ำ 

ดังนั้นวัดส่วนใหญ่นิยมสร้างอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ซึ่งทำให้วัด และอาคารสำคัญสามารถหันหน้าไปทางทิศตะวันออกได้ตามคติ ถึงแม้จะเป็นทิศตะวันออกเสมือนก็ตาม เมื่อสร้างวัดย่อมต้องมีพื้นที่สำหรับสร้างเสนาสนะอื่นๆ ประกอบขึ้นเป็นผังบริเวณจึงอาจเป็นมูลเหตุให้บ้านเรือนของผู้คนที่ต้องมีพื้นที่สวนอยู่ล้อมรอบถูกจัดให้อยู่ยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโดยปริยาย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงพบว่า บ้านเรือนทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าแก่นั้นมักตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำแควอ้อม 

วัดที่สำคัญ ได้แก่

1.วัดบางวันทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 บ้านหัวหาด ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หน้าบริเวณวัด คือ คลองแควอ้อม และคลองบางวันทอง ทางทิศตะวันตก วัดบางวันทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณหลายร้อยปี ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานจากโบราณวัตถุเก่า ๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น สถานที่ตั้งพระอุโบสถ แผ่นสิลาแดงเก่า ๆ พระพุทธรูปที่ปรักหักพัง วัดนี้เดิมอยู่ในคลองบางวันทอง ไม่ทราบว่าชื่อวัดอะไร จนกระทั่ง พ.ศ. 2248 ได้มีคหบดีมั่งคั่งครอบครัวหนึ่ง สามีชื่อ วัน ภรรยาชื่อ ทองได้ดำริว่า วัดนี้อยู่ในคลองไม่สะดวก แก่สาธุชนที่จะบำเพ็ญกุศล จึงได้บริจาคทรัพย์ของตนออกใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายวัดมาอยู่ปากคลอง และริมฝั่งแม่น้ำแควอ้อม (ปัจจุบันคือคลองแควอ้อม) และได้ตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดบางวันทอง” ตามนามของผู้บริจาค (มีจารึกอยู่ที่ฐานของพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ) วัดนี้ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2494 วัดบางวันทอง ตั้งเป็นวัดมาไม่น้อยกว่า 300 ปี มีทั้งความเจริญ และความเสื่อมโทรมลง ต่อมาได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ จน วัดบางวันทองเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน ภายในวัดมีโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูปนาคปรก เป็นพระศิลาแดง พระพุทธรูปเก่าแก่คู่มากับวัด ถือว่าเป็นพระพุทะรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก และพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย แกะสลักจากศิลาแดง อาราธนามาจากวัดเดิมในคลองบางวันทอง เมื่อ พ.ศ. 2477 สมัยพระอธิการ ชื่อ หลวงพ่อโต ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าวัดชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแดงก็มี ประชาชนให้ความเคารพมาก มีงานประจำปีปิดทองเป็นประจำ คือ เดือน 11 แรม 7-8 ค่ำ

2.วัดบางกุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านค่าย หมู่ที่ 4 ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม วัดบางกุ้ง เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จากหลักฐาน ที่คงเหลืออยู่ ประมาณว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2250 – 2300 แต่เดิมวัดบางกุ้งมี 2 วัดใกล้เคียงกัน คือ วัดบางกุ้งน้อย และวัดบางกุ้งใหญ่ ผู้สร้างเป็นพี่น้องกัน ต่อมาวัดบางกุ้งน้อยได้รกร้างไป จึงได้รวบรวมเนื้อที่ของวัดบางกุ้ง 2 วัดเข้าเป็นวัดเดียว คือ วัดบางกุ้งใหญ่ และชื่อว่าวัดบางกุ้ง ในปัจจุบัน

มีเรื่องเล่าว่า วัด 3 วัดในสมัยโบราณ มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ วัดโบสถ์ วัดบางกุ้งใหญ่ และวัดบางกุ้งน้อย ตั้งอยู่เรียงกันไป เจ้าของวัดเป็นเศรษฐี และภรรยาของเศรษฐี  เศรษฐีชื่อ ทอง (ชื่อเดียวกับบิดาของคุณนาก หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 เศรษฐีทองมีภรรยา 2 คนพี่ชื่อใหญ่ คนน้องชื่อน้อย และเป็นภรรยาน้อย ต่อมาเศรษฐีทองมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อว่า วัดโบสถ์ ริมคลองแควอ้อม ส่วนภรรยาหลวงก็สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ชื่อ วัดบางกุ้ง (บางกุ้ง เป็นชื่อของหมู่บ้านโบราณเรียกกันว่า “บ้านบางกุ้ง” เพราะหมู่บ้านในย่านนี้มีกุ้งชุกชุมมาก ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชี ดักกุ้ง รอกุ้ง ช้อนกุ้ง มาทำกะปิขายอยู่ทั่วไปจึงเรียกว่าบ้านบางกุ้ง) ตามชื่อของหมู่บ้านนี้ น้องสาวซึ่งเป็นภรรยาน้อยก็มีศรัทธาสร้างวัดเล็กๆ ขึ้นวัดหนึ่ง อยู่ระหว่างวัดโบสถ์กับวัดบางกุ้ง มีอุโบสถหลังเล็กๆ เป็นโบสถ์มหาอุด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดบางกุ้งน้อย ส่วนวัดบางกุ้งของพี่สาวก็เรียกว่า วัดบางกุ้งใหญ่ วัดทั้งสองพี่น้องนี้มีผืนดินติดต่อกัน ภายหลังวัดบางกุ้งน้อยเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นป่ารก กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญก็ผุพังตามกาลเวลา ยังเหลืออุโบสถ์  หลังน้อยกับ หลวงพ่อนิลมณี (หลวงพ่อดำ) ซึ่งมีรากไม้หลายชนิดช่วยกันโอบอุ้มอุโบสถ ไว้ให้คงสภาพอยู่ได้มาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แลเห็นได้ชัดเจน คือ รากของต้นโพธิ์ จึงเรียกกันว่า อุโบสถปรกโพธิ์ อีกชื่อหนึ่ง อุโบสถหลังนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ส่วนวัดบางกุ้งใหญ่ หรือวัดบางกุ้งปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาดีขึ้นมาก เพราะเป็นสถานที่สำคัญ แหล่งประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว วัดบางกุ้ง เมื่อแรกก่อสร้างตั้งวัดมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะได้เจ้าอาวาสที่มีความสามารถมาปกครอง อาทิ

หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แย้ม (พ.ศ. 2398) มีความสามารถเรื่องแร่แปรธาตุ เป็นผู้สร้างตำหรับฆ่าปรอทได้สำเร็จ มรณภาพ พ.ศ. 2444, หลวงพ่อเพิ่ม (พ.ศ. 2444) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะหลายสาขา เช่น การเขียนภาพเหมือน การวาดภาพวิจิตรต่างๆ ภาพฝาผนัง การปั้นรูปเหมือนต่างๆทั้งสัตว์ และผลไม้ มีความสามารถมากในการทำดอกไม้ไฟ และวิชาการช่าง ได้ย้ายกุฏิสงฆ์เข้าเป็นหมวดหมู่ มีระเบียบ บริเวณสระน้ำใกล้อุโบสถ, หลวงพ่ออธิการรอด (พ.ศ. 2460) หลวงพ่อรอดมีความรู้ทางแพทย์แผนไทย เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมมาก หลวงพ่อรอดมีชื่อเสียงมาก เช่น ยาเขียว ยาหอม ยาธาตุโสฬส ยาธาตุบรรจบ ยาสำหรับเด็ก เช่น ยามหานิลแท่งทอง ยาเทพมงคล ยากวาดเม็ดแดง ซึ่งกลายเป็นยาตำราหลวงในการต่อมา นอกจากนี้ท่านยังช่วยกวาดยาเด็ก สูญฝี เป่ากระหม่อมเด็ก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของสาธุชนทั่วไป มรณภาพ พ.ศ. 2470

หลัง พ.ศ. 2470 เป็นต้นมาวัดบางกุ้งเริ่มเสื่อมลงจนกระทั่งไม่มีพระอยู่และหาเจ้าอาวาสไม่ค่อยได้

พ.ศ. 2485 ได้พระครูสังฆรักษ์สุธนมาเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการย้ายกุฏิสงฆ์จากข้างโบสถ์ออกมาอยู่ใกล้แม่น้ำ สภาพของวัดก็ยังไม่เจริญขึ้นมากนัก พ.ศ. 2501 ท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าราบ ราชบุรี

พ.ศ. 2501 พระครูสกลวิสุทธิ์ เจ้าคณะตำบลมารักษาการเจ้าอาวาส พระสมุทรสุธีเจ้าอาวาสวัดกลางเหนือ พร้อมด้วยทายกทายิกาพากันไปนิมนต์ พระอาจารย์เยื่อ ฉตฺตโป จำพรรษาอยู่วัดบางแคใหญ่อยู่กับหลวงปู่กอน โฆสโก (พระครูโฆสิตสุตคุณ) มาเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2503 พระอาจารย์เยื่อ ฉตฺตโป (พ.ศ. 2503) พระอาจารย์เยื่อ เมื่ออยู่วัดบางแคใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังในการเทศน์มหาชาติ เมื่อพระอาจารย์เยื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ท่านได้พัฒนาวัดให้ดีขึ้นเป็นอันมาก เช่น สร้างถนนจากหน้าโบสถ์ถึงท่าน้ำ, ย้ายกุฏิสงฆ์ไปปลูกในที่ใหม่มาบังพุทธาวาส, สร้างหอสวดมนต์, สร้างกุฏิเจ้าอาวาสจากเรือนบริจาค, สร้างหอฉัน, สร้างศาลาท่าน้ำ 2 หลัง, ซ่อมอุโบสถใหม่ทั้งหมด และสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีพระบรมราชโองการให้เป็น “พระครูสมุทรสัททาภรณ์” มรณภาพเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 อายุ ๘๐ ปี พรรษา 60 วัดบางกุ้งจึงได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่ 1. อุโบสถ และพระประธานในอุโบสถ ฝีมือประณีตงดงามมาก องค์พระประธาน และพระอัครสาวก งดงามน่าชม พระประธานสลักด้วยศิลาแดงปางมารวิชัย เลียนแบบสุโขทัย พระพักตร์ค่อนข้างแปลก พระนามว่า “หลวงพ่อเทพนิมิตมงคล” 2. หลวงพ่อแดง หน้าอุโบสถ สลักด้วยศิลาแดงปางมารวิชัย ชาวบ้านนับถือกันมาก 3. อุโบสถปรกโพธิ์ และหลงพ่อนิลมณี 4. อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 5. สระน้ำโบราณ 6. วังมัจฉาหน้าวัด ฯลฯ

3. วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่บ้านวัดโบสถ์ หมู่ที่ 5 ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม วัดโบสถ์เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง มีแต่ประวัติที่เล่าสืบทอดกันมาว่ามีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อทอง มีภรรยาสองคนเป็นพี่น้องกัน คนพี่เป็นภรรยาหลวงชื่อใหญ่ คนน้องเป็นภรรยาน้อยชื่อน้อย ภรรยาหลวงมีลูกสาวคนหนึ่ง ต่อมาหนีตามทาสในบ้านไปอยู่อยุธยา มีบุตรชายคนหนึ่ง เศรษฐีโกรธมาก ตัดออกจากกองมรดก และไม่ให้กลับบ้านอีกต่อไป ต่อมาเศรษฐีทองได้สร้างวัดโบสถ์ขึ้น แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ถูกโจรปล้นฆ่าเศรษฐีตายายตาย วัดนี้จึงไม่มีช่อฟ้าใบระกา และไม่มีผู้มดสร้างต่อให้เสร็จ ส่วนนางใหญ่ ภรรยาหลวง ก็สร้างวัด บางกุ้งใหญ่ นางน้อย ก็สร้างวัดใกล้ๆ กัน ชื่อวัด บางกุ้งน้อย วัดโบสถ์ วัดบางกุ้งน้อย และวัดบางกุ้งใหญ่ จึงตั้งอยู่เรียงกันไม่ห่างไกลกันนัก มีเรื่องเล่าต่อมาว่า ลูกสาวเศรษฐีที่หนีตามทาสไป มีลูกชายคนหนึ่ง ชื่อ สิน เมื่อเจริญวัยขึ้นได้บวชสามเณรศึกษาพระธรรมวินัยถึงชั้นบาลี และต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ทราบจากโยมบิดามารดาว่า บ้านเดิมอยู่บางกุ้ง จึงเดินทางมาเยี่ยมโยมตายาย เป็นเวลาเดียวกับเศรษฐีทองกำลังสร้างวัด ชื่อวัดโบสถ์ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ เศรษฐีทองดีใจมากจึงนิมนต์พระมหาสินให้จำวัดอยู่ ณ วัดโบสถ์ ซึ่งจะพยายามสร้างให้เสร็จ และให้พระหลานชายไปบอกโยมบิดามารดาว่าให้อภัยแล้ว และยินดีให้กลับมาอยู่บ้านดังเดิม

วัดโบสถ์ยังสร้างไม่เสร็จดังกล่าวมาแล้ว สมัยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. 2310 ก็เป็นวัดร้าง กำแพงอุโบสถเป็นกำพงสองชั้น ถูกพม่าทำลายแล้วรื้อเอากำแพงอิฐไปสร้างค่ายคราวศึกบางกุ้ง อิฐที่เหลือทางวัดได้รื้อมาสร้าง เป็นกำแพงชั้นเดียว วัดโบสถ์ได้ตั้งเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2300 และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2305 มีเจ้าอาวาสปกครองต่อๆ กันมาทั้งเจริญรุ่งเรือง และเสื่อมทรุด สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่

1. อุโบสถหลังเก่า มีลักษณะท้องสำเภา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สมัยอยุธยา

2. พระประธานในอุโบสถหลังเก่า (ปัจจุบันสร้างใหม่อีกหนึ่งหลัง) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ งดงามแปลกตา

3. ลวดลายของอุโบสถหลังเก่า หัวเสาทุกเสาลวดลายแบบกลีบขนุนหลายชั้น สมัยอยุธยาสวยงามมาก

4. หลังอุโบสถหลังเก่า มีสุวรรณเจดีย์ และพระปรางค์เก่า แบบอยุธยา 3 องค์

5. กุฏิสงฆ์ทั้งทรงไทยโบราณ (กำลังทรุดโทรมมาก) และทรงฝรั่งเป็นตัวตึกเรียงรายมีแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม พระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นผู้สร้างให้

4. วัดบางสะแก ตั้งอยู่ที่บ้านบางสะแก หมู่ที่ 6 ตำบลบางสะแก ริมฝั่งตะวันออกของคลองแควอ้อมปากคลองบางสะแกใหญ่ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม วัดบางสะแกเป็นวัดโบราณ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยามีอยู่ 2 วัด คือวัดบางสะแกใน และบางสะแกนอก ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง เป็นวัดร้างมาประมาณ 200 ปีเศษ สมัยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า (พ.ศ. 2310) เหลือแต่วิหารหลังเดียว มีหลักฐานว่าพวกพม่าได้งัดเอาเพดานวิหารวัดบางสะแกนอกไปใช้ ต่อมาขุนวิสูตรโยธามาตย์ภักดี บ้านอยู่คลองบางสะแกน้อย ได้มาสร้างวัดใหม่ทั้งหมด และรวม 2 วัดเป็นวัดเดียวกัน ได้สร้างอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ จึงมีพระจำพรรษา ตั้งแต่นั้นมา

ในสมัยรัชการที่ 4 เจ้าคณะจังหวัด คือ ท่านเจ้าคุณวินัยธรรม (บัว) ได้ส่งพระครูวิมลเกียรติมุนี (เกลี้ยง) มาเป็นเจ้าอาวาส วัดนี้จึงได้เจริญขึ้นอย่างมั่นคง เพราะท่านได้เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองราชบุรีด้วย สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจคณะสงฆ์ในมณฑลราชบุรีได้เสด็จมาทอดพระเนตรวัดนี้ด้วย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 สมัยพระอธิการดำเป็นเจ้าอาวาส มีบันทึกไว้ว่า “เสด็จขึ้นวัดบางสะแก ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป (จากวัดเสด็จ) วัดนี้พระอธิการชื่อดำ รักษาสู้วัดเสด็จไม่ได้ เมื่อทอดพระเนตรและประทานของแจกแด่พระสงฆ์ และราษฎรเหมือนอย่างที่อื่นตามเคยแล้ว เสด็จต่อไปอีกราว 20 นาที เสด็จกลับโดยทางเดิม บ่าย 3 โมงเศษ เรือออกแม่น้ำใหญ่...”

วัดนี้ขออนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2323 และได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2323 ปีเดียวกันสิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่ 

1. พระปรานในอุโบสถ เป็นพระปูนปั้น ปางมารวิชัย ขุนวิสูตรฯ เป็นผู้สร้างไว้ อุโบสถเดิมเป็นอุโบสถฐานตันในเมืองสมุทรสงครามมี 2 วัด คือวัดบางสะแก กับวัดเสด็จ

2. พระประธานในวิหาร เป็นพระศิลาแลง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก 6 นิ้ว สูง 4 ศอก 6 นิ้ว เป็นพระโบราณเก่าแก่ อยู่ในวิหารเดิม เรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” หลวงพ่อใหญ่มีบริวารอีก 10 องค์ อยู่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปโบราณทั้งสิ้น นับถือกันว่าท่าน ศักดิ์สิทธิ์มาก

3. รูปแกะสลักไม้สักที่หน้าบัน เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ฝีมืองดงามมากเป็นของเก่าจากอุโบสถหลังเดิม

2. ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นถิ่น

  • น้ำตาลมะพร้าว

เนื่องด้วยต้นมะพร้าวเปรียบเสมือน ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม ดังนั้นชาวบ้านในพื้นที่ทุก ๆ ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง จึงมีความคุ้นเคยกับผลิภภัณฑ์ที่ทำมาจากมะพร้าว อย่างไรก็ตาม น้ำตาลมะพร้าวของชุมชนริมแควอ้อมนั้น ถือได้ว่าเป็นของขึ้นชื่อเรื่องความเข้มข้นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันยังใช้กรรมวิธีในการผลิตที่เป็นรูปแบบเดิมที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

  • แกงเขียวหวานปลากาย ใส่กะลามะพร้าวอ่อน

เป็นแกงเขียวหวานที่ขึ้นชื่อของตำบลริมแควอ้อม ซึ่งมีเคล็ดลับโดยได้คัดเลือกมะพร้าวอ่อนที่ไม่มีเนื้อ และขั้นตอนการปรุง ที่เรียกว่า “การรวนพริกแกง” เพื่อให้กะทิแตกมันและมีสีออกเขียว ซึ่งจะทำให้มีรสชาติกล่อมกล่อม

  • ต้มยำกะทิไก่บ้านหัวปลีเผา

อีกหนึ่งเมนูพื้นบ้านซึ่งมีเคล็ดลับในการเคี่ยวไก่บ้านกับน้ำกะทิ จนทำให้เนื้อไก่นั้นมีความนุ่ม (ใช้เวลาประมาณ1.30 / 2 ชั่วโมง) และต้องใส่หัวปลีเผาเท่านั้น เพราะจะทำให้ได้รสชาติไก่เพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นใส่สมุนไพรและเคี่ยวให้เข้ากันจนได้ออกมาเป็นต้มยำไก่บ้าน หัวปลีเผา

  • น้ำปลามอญ

เป็นน้ำจิ้มของที่ชาวบ้านในพื้นที่ชอบทำนำมาเพิ่มรสชาติของอาหาร มีส่วนผสมที่สำคัญ คือ “มะขามเปียก” และ “น้ำตาลปี๊บ” ซึ่งจะช่วยให้ได้รสหวานอมเปรี้ยวที่กลมกล่อม

  • เปลือกส้มโอเชื่อม

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นขนมพื้นบ้านโบราณที่ไม่สามารถที่จะพบได้บ่อยตามท้องตลาด หรือ ชุมชนอื่น แต่ที่ชุมชนริมแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงครามนั้น สามารถที่จะเข้ามารับประทานได้ โดยผ่านกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นการนำเปลือกของผลส้มโอที่เหลือนั้น นำมาลอกผิวออกและนำเนื้อด้านในที่ได้นั้น ไปทำการแช่น้ำปูนใส ต่อด้วยนำไปเชื่อม จนทำให้เปลือกส้มโอมีลักษณะที่ใส ก็สามารถทานได้

3.ภูมิปัญญาด้านการจักรสาน

  • กระถางมะพร้าว

ชาวบ้านในชุมชนริวแคมอ้อม ได้ทำการนำเอกเปลือกของมะพร้าวมาเพิ่มมูลค่า โดยการเย็บเป็นกระถางเพื่อใช้สำหรับรองรับต้นไม้ อีกทั้งเปลือกมะพร้าวยังมีคุณสมบัติช่วยในการกักเก็บน้ำให้ความชุ่มชื้น ทำให้ต้นไม้นั้นไม้นั้นดูสดชื่น ซึ่งชาวบ้านชุมชนริวแคมอ้อมหลากหลายหมู่บ้านจึงทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ครอบครัว

  • แถมครก

เป็นภูมิปัญญาในการจักรสานทางมะพร้าว เพื่อที่ใช้สำหรับห่อข้าวของ หรือ ผลไม้ แทนถุงพลาสติก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่เคยมีอยู่ในอดีต และถูกสืบทอดต่อมายังปัจจุบัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 หน่วยงานภาครัฐยังคงให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวท้องถิ่น ให้กลับมามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแควอ้อม ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การพายเรือสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ริมคลองแควอ้อม โดยจุดเริ่มต้นเริ่มจากท่าน้ำวัดอินทาราม อำเภออัมพวา เป็นต้นไปยาวจนถึง คลองแควอ้อม

โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อสำรวจและเยี่ยมชมโครงการคลองสวยน้ำใส ซึ่งคลองแควอ้อมนับเป็นอีก 1 คลอง ที่จะอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์ให้เป็นคลองที่นอกจากใช้ประโยชน์อื่นๆ แล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำโดยเฉพาะ การพายเรือ และหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงทางจังหวัดพร้อมที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กลับคืนมาอีกครั้ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกรียงไกร เกิดศิริ และกึกก้อง เสือดี. (2554). แผนที่ที่อยู่อาศัยทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

คณิตา เลขะกุล. (2556). เมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ: บริษัทด่นสุทธาการพิมพ์. 

ทั่วถิ่นแดนไทย. (2556). ทั่วถิ่นแดนไทย ตอน สัมผัสวิถีชีวิตริมคลองแควอ้อมที่บ้านหัวหาด จ. สมุทรสงคราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=7nUfdXks3N8&ab

นิธิกาญจน์ จีนใจตรง. (2555). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนริมน้ำคลองแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม. ปริญญาผังเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศรีศักร วิลลิโภดม. (2547). ลุ่มน้ำแม่กลอง : ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ "เครือญาติ" มอญ. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพมหานคร: มติชน.

สมใจ นิ่มเล็ก. (2545). เรือนชาวสวน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2549). ชื่อบ้านนามเมือง ลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

สุรจิต ชิรเวทย์. (2547). คนแม่กลอง. กรุงเทพฯ : บริษัท ส. เอเชียเพรส (1989).

องค์การบริหารส่วนตำบลแควอ้อม. (2565). ข้อมูลพื้นฐานของ อบต.แควอ้อม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.kwaeom.go.th/site/index.php?option=com

อิสรชัย บูรณะอรรจน์. (2556). การศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อวิธีคิดของชุมชนในการปรับตัวของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำคลองแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.