Advance search

ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณนครจำปาศรี ปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดี จากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีพบฐานของโบราณสถานมากกว่า 30 แห่ง และเป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินโบราณล้อมรอบถึง 7 แห่ง

หมู่ที่ 6
บ้านสระบัว
กู่สันตรัตน์
นาดูน
มหาสารคาม
ไกรวิทย์ นรสาร
24 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 ก.ค. 2023
ไกรวิทย์ นรสาร
30 ก.ค. 2023
บ้านสระบัว

เนื่องจากพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านนั้น มีสระน้ำล้อมรอบและในอดีตมีบัวขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า “ชุมชนบ้านสระบัว” แม้ในปัจจุบันต้นบัวจะไม่มีหลงเหลือให้เห็นแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขุดลอกหนองน้ำต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณนครจำปาศรี ปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดี จากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีพบฐานของโบราณสถานมากกว่า 30 แห่ง และเป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินโบราณล้อมรอบถึง 7 แห่ง

บ้านสระบัว
หมู่ที่ 6
กู่สันตรัตน์
นาดูน
มหาสารคาม
44180
15.72790498
103.2748787
องค์การบริหารส่วนตำบลกู่สัตนรัตน์

ก่อนที่จะมีกลุ่มคนมาตั้งชุมชนบ้านสระบัวในปี พ.ศ. 2417 นั้น ในพื้นที่บริเวณนี้และใกล้เคียงได้ปรากฏ อารยธรรมทวารวดี ซึ่งหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ คูน้ำรอบ ๆ บ้านตลอดจนพระพิมพ์ดินเผาและสำริดมากมาย แต่อย่างไรก็ตามชุมชนที่เคยอยู่ในยุคโบราณก็ได้เสื่อมและศูนย์หายไปอย่างไม่มีสาเหตุ จวบจนการเข้ามาของกลุ่มคนซึ่งถือว่าเป็นประชากรหลัก ในช่วงปี พ.ศ. 2417

ข้อมูลทางโบราณคดี ที่ตั้งของนครจำปาศรีในอดีต ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกู่ บ้านดงสวรรค์ บ้านหนองแคน บ้านหนองทุ่ม ชุมชนบ้านสระบัว ตำบลกู่สันตรัตน์และบ้านโพธิ์ทอง ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอนาดูนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดมหาสารคามไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร จากการศึกษาสภาพทางภูมิประเทศที่ตั้งเมืองโบราณ มีลักษณะเป็นพื้นที่รูปไข่ยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ พื้นที่เป็นสูง ๆ ต่ำ ๆ มีหนองน้ำขาดตอนเป็นห้วง ๆ อยู่มากมายหลายแห่ง ชาวบ้านเรียกว่า กุด เช่น กุดทอง กุดฮีเหนือ กุดฮีใต้ กุดโด กุดลอบ กุดหลุ่ม กุดนาม่อง กุดอ้อ หนองกุดบอน กุดสระบัว กุดฟ้าฮ่วน เป็นต้น กุดหรือหนองน้ำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากการขุดเป็นคูเมืองของนครจำปาศรีโบราณ

ชุมชนบ้านสระบัว ตั้งขึ้นเมือง พ.ศ. 2417 โดยการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ การเข้ามาของคนกลุ่มใหม่นี้นั้นเริ่มจากการที่ พ่อเซียง ซึ่งเป็นครอบครัวหนึ่งที่อยู่อำเภอสุวรรณภูมิ มีอาชีพในการทำนา เห็นว่าพื้นที่การทำนาทำไร่ ไม่เหมาะสมและมีความแห้งแล้งจึงอพยพครอบครัว ย้ายจากสุวรรณภูมิ มาตั้งหลักฐานอยู่ที่บ้านโพธิ์การทำมาหากินยังขาดแคลนอยู่ พ่อเซียงจึงเที่ยวหาแหล่งที่สมบูรณ์ มาพบแหล่งหนึ่งคือโนนสูงซึ่งยังไม่มีคนอาศัยอยู่ในแหล่งนั้น ขณะนั้นไม่มีใครหวงห้ามที่ดินเพราะบ้านเมืองยังไม่เจริญ พ่อเซียงจึงชักชวนชาวบ้านโพธิ์ย้ายมาอยู่ที่โนนสูง พากันบุกเบิกอยู่ที่นั้น 30 ปีเศษ ในหมู่บ้านเดือดร้อนเกิดโรคระบาด จึงมีการอพยพไปอยู่บ้านกู่และชุมชนบ้านสระบัว ครอบครัวที่อพยพมาในคราวนี้ประกอบไปด้วยครอบครัวของพ่อใหญ่เซียงพัน เซียงลี เซียงลา ทิดน้อย ทิดอ้วด และลูกหลานอพยพมาอยู่ที่ชุมชนบ้านสระบัว มาตั้งบ้านบริเวณตรงข้ามกับวัดชุมชนบ้านสระบัวในปัจจุบัน โดยมีถนนเส้นแรก คือถนนบริเวณหน้าวัดซึ่งในอดีตเคยเป็นทางเกวียนมาก่อน

การสร้างวัดชุมชนบ้านสระบัวเป็นธรรมดาของการตั้งชุมชนในสมัยก่อนที่มีชุมชนเกิดขึ้นที่ได้ก็จะมีการสร้างวัดขึ้นมาด้วย หลังจากการตั้งบ้านในปี พ.ศ. 2417 แล้วก็มีการสร้างวัดชุมชนบ้านสระบัวขึ้นในปี พ.ศ. 2420 โดยจากคำบอกเล่าของคนในชุนชนนั้นในสมัยก่อนภายในวัดนี้มีสิมกลางน้ำอยู่ด้วย แต่ในปัจจุบันไม่พบร่องรอยของสิมดังกล่าวแล้ว สาเหตุที่จบลงในปี 2464 นั้นเนื่องจากในยุคถัดไปได้เกิดโรงเรียนวัดสระบัวขึ้นซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน

ชุมชนบ้านสระบัวมีโรงเรียนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2465 โดยโรงเรียนนั้นอยู่ในวัดชุมชนบ้านสระบัวต่อมาในปี พ.ศ. 2487 ได้ย้ายไปสร้างบริเวณที่ดินของนายญุ๋ย ปะนาธรรมา เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ได้เปิดสอนระดับมูล ก. ถึง ป.4 เป็นหลักสูตร 6 ปี นอกจากลูกหลานนักเรียนของชุมชนบ้านสระบัวแล้ว ยังมีนักเรียนจากหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านกู่ โนนเมือง หนองทุ่ม ดงยาง และบ้านหนองโป่ง มีบ้านแยกตัวออกจากชุมชนบ้านสระบัว มาตั้งหมู่บ้านคือ บ้านดอนดู่ เป็นหมู่บ้านเล็กมีประมาณ 30 หลังคาเรือน โดยสาเหตุคือ พื้นที่ชุมชนบ้านสระบัวมีขนาดแออัด เนื่องจากชุมชนขยายตัวออก เพราะคนสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นและเนื่องจากชุมชนบ้านสระบัวมีน้ำล้อมรอบบ้านจึงทำให้ยากแก่การขยายตัวของชุมชน อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แยกตัวออกมาตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านดอนดู่ คือ เนื่องจากบ้านดอนดู่เป็นพื้นที่ที่ใกล้ที่นาที่ไร่ของคนในชุมชน บางส่วนจึงได้อพยพออกมาพร้อมกันชาวบ้าน บางส่วนจึงแยกตัวออกมาเพื่อหาพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่อยู่ในบริเวณนี้ได้ไม่นานก็มีการย้ายบ้านไปยังบ้านหนองทุ่ม ในปี พ.ศ. 2484

ราวทศวรรษที่ 2500 การเข้ามาของทุนนิยมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จากเดิมที่คนในชุมชนหากินพออยู่พอกินยังชีพในครัวเรือน กลายมาเป็นทำในด้านเศรษฐกิจมีการปลูกปอ โดยมีพ่อค้าจากวาปีปทุมมาบอกให้ปลูกพร้อมกับมารับซื้อถึงที่ เป็นรายได้ของคนในหมู่บ้านนอกจากการทำนา วิถีชีวิตของผู้คนในช่วงนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก คนในชุมชนรู้จักการซื้อขายมากขึ้น ถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิตชาวบ้านจะนำสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวสาร ปอ ฝ้าย ไหม หาบไปขายในเมืองวาปีปทุมและซื้อของใช้กลับมาใช้ในครัวเรือน

ในช่วงมิตินี้เริ่มมีคนในชุมชนชักชวนกันไปทำงานในต่างจังหวัด โดยการชักชวนของ พ่อมหาสม ศีลา ซึ่งเป็นคนบ้านสระบัวแต่ในสมัยนั้นได้บวชเรียนและได้จำพรรษาอยู่ที่วัดดาวคะนอง คนจากบ้านสระบัวก็ได้ไปขออาศัยอยู่ที่วัดนั้นในช่วงที่รอหางานทำ จนคนละแวกนั้นเรียก ว่า “วัดลาวคะนอง” การที่คนในชุมชนออกไปทำงานในต่างถิ่นนั้นเพื่อหารายได้ เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป จึงส่งผลให้ผู้คนเริ่มออกจากหมู่บ้านเพื่อหางานทำ จะกลับมาบ้านอีกทีตอนมีงานหรือประเพณีสำคัญ โดยมีคนในชุมชนบางกลุ่มได้เดินทางไปเจียระไนพลอยที่จังหวัดจันทบุรีและได้กลับมาทำธุรกิจอยู่ที่บ้านโดยมีนายทุนจากจันทบุรีมาจ้างทำ

ความเจริญเข้ามาภายในหมู่บ้าน เริ่มมีถนนตัดผ่านเข้ามาในหมู่บ้านจากตอนแรกที่มีแต่ทางเกวียน พอเริ่มมีถนนเข้ามาทำให้การเดินทางไปมาหากันสะดวก รวมไปถึงการเริ่มมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ทีวี ตู้เย็น รวมไปถึงการมีมอเตอร์ไซค์เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น

การคมนาคมติดต่อสมัยก่อนก่อนการเข้ามาของถนนนั้นคอนข้างลำบากเนื่องจากบ้านสระบัวมีคูน้ำล้อมรอบ รถยนต์จะเข้าได้ก็ช่วงน้ำลด ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงใช้เกวียนเป็นพาหนะและการเดินเท้า แม้แต่การติดต่อทางราชการหรือซื้อสินค้าที่ตัวอำเภอวาปีปทุม ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ผู้คนก็ใช้เกวียนเป็นพาหนะ ชาวบ้านสระบัวที่ใช้เกวียนเทียมวัว (2 ตัว) เป็นคนสุดท้ายชื่อ นายบุญสอน พลภูงา เมื่อ พ.ศ. 2520 ถนนภายในหมู่บ้านและการเชื่อมต่อหมู่บ้านใกล้เคียง ถนนหนทางภายในหมู่บ้านในอดีตเป็นทรายสภาพของถนนขึ้นกับอยู่ฤดูกาล ถ้าเป็นหน้าแล้งและหน้าหนาว มีลมพัดแรงฝุ่นละอองมีมาก หลีกเลี่ยงลำบาก ประกอบกับขณะนั้นไม่มีร่องระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นแห่ง ๆ ปัจจุบันถนนหนทางภายในหมู่บ้านได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาก มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นบางสาย และหมู่บ้านได้รับงบประมาณเพื่อสร้างถนนหนทาง ร่องน้ำ

การพัฒนาแหล่งน้ำ บ้านสระบัวเป็นหมู่บ้านที่มีแหล่งน้ำที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่รอบชุมชนมากที่สุดแห่งหนึ่ง ถ้าเพียงดูอย่างผิวเผินจะเห็นว่าแหล่งน้ำเหล่านั้นเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ถ้าดูจากมุมสูง หรือแผนที่ทางอากาศจะเห็นว่าแหล่งน้ำต่าง ๆ เหล่านั้นตั้งอยู่อย่างเป็นแถวเป็นแนวเสมือนมีการจับวางโดยนักออกแบบ หรือสถาปนิก แหล่งน้ำที่ตั้งรายรอบบ้านสระบัว มีชื่อเรียกแตกต่างกันได้แก่ สระบัว สระหนองใส กุโด กุดลอบ และหนองตะคลอง เป็นต้น ส่วนแหล่งน้ำอื่น ๆ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ และใช้ร่วมกันหลายหมู่บ้าน แหล่งน้ำที่คนในชุมชนได้เก็บกักน้ำไว้บริโภค ได้แก่ หนองสระบัว เป็นสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 12 ไร่ ปัจจุบันได้รับการขุดลอกให้ลึกเพื่อเก็บน้ำไว้ผลิตประปาหมู่บ้าน ถ้าปีไหนฝนแล้ง หนองสระบัวไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำประปาหมู่บ้านก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยการใช้น้ำหนองอื่น ๆ ของหมู่บ้าน และของหมู่บ้านใกล้เคียง

แหล่งน้ำหมู่บ้านที่ใช้เป็นแหล่งอาหาร และใช้บริโภคทั้งของตน และสัตว์ ได้แก่ สระหนองใส กุดโด กุดลอบ และหนองน้ำตะคลอง เนื่องจากแหล่งน้ำเหล่านี้มีการตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บน้ำได้ปริมาณมาก ทางราชการโดย รพช.ได้ขุดลอกให้ลึกกว่าเดิม โดยได้ขุดลอกกุดลอบ เมื่อ พ.ศ. 2530 มีเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ กุดโดมีเนื้อที่ 18 ไร่ ส่วนหนองตะคลอง มีเนื้อที่ 4 ไร่ ได้ขุดลอกเมื่อ พ.ศ. 2537 การเข้ามาของควายเหล็ก ในช่วงนี้การทำนาของคนในชุมชนบ้านสระบัวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการเข้ามาของรถไถนาที่เข้ามาแทนที่ควาย เมื่อมีรถไถเข้ามาทำให้เปลี่ยนจากการใช้แรงงานสัตว์มาเป็นเครื่องจักรแทนส่งผลให้ชาวบ้านสะดวกสบายมากขึ้น ควายเริ่มหมดความสำคัญ วิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิมหมดไป ส่งผลให้กระทบต่อชีวิตของควายทำให้ปัจจุบันควายเริ่มลดจำนวนลง

ปัจจุบันคนในชุมชนส่วนหนึ่งซึ่งอายุระหว่าง 20-50 มักไปประกอบอาชีพอยู่ต่างถิ่น จึงเริ่มมีการพัฒนาอาชีพของคนในหมู่บ้าน จากเดิมที่ชาวบ้านทุกคนมีการประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก ได้มีการนำอาชีพอื่นเข้ามาพัฒนา คือ การสานเข่งปลาทู การทำแจกันจากเถาวัลย์ เข้ามาให้ชาวบ้านทำเป็นอาชีพเสริม

ชุมชนสระบัวมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 150 หลังคาเรือน แต่มีหลังคาเรือนที่อยู่จริง 106 หลังคาเรือน เป็นบ้านว่าง 17 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 594 คน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านสระบัวได้เดินทางไปประกอบอาชีพในต่างจังหวัดซึ่งมีจำนวนถึง 200 กว่าคน จึงทำให้ในปัจจุบันประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก

  • กลุ่มจักสานบ้านสระบัว 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. นายสุภาพ บุตรวิเศษ : ปราชญ์ชาวบ้าน/กะจ้ำประจำชุมชน

2. นายมนูญ ชัยสงคราม : หาปลาเก่งที่สุดจนได้ฉายาว่า เจ้าเงาะ

พื้นที่ตั้งของชุมชนตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณนครจำปาศรี อันมีหลักฐานด้านโบราณวัตถุสถานที่ปรากฏในชุมชนและมีคูน้ำคันดินโบราณเป็นจำนวนมาก 

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านสระบัวเป็นกลุ่มชาติพันธ์ลาวอีสานจึงใช้ภาษาลาวอีสานในการสื่อสารกันในชุมชน หากต้องติดต่อราชการก็จะใช้ภาษาเขียนเป็นภาษาไทย


พ.ศ. 2526 กรุพระชุมชนบ้านสระบัวแตก การพบพระในพื้นที่ชุมชนบ้านสระบัว นั้นมีอยู่เรื่อยแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่เมื่อมีคนพอเจอก็มักจะเอาไปวางไว้บริเวณต้นไม้ใหญ่ไม่มีใครกล้านำกลับบ้าน แต่หลังจากกรุนาดุนแตกในปี พ.ศ. 2522 คนในชุมชนก็เริ่มเห็นราคาของพระมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีการขุดหาแต่อย่างไรเนื่องจากคนในชุมชนคิดว่าในบริเวณพื้นที่ชุมชนบ้านสระบัวนั้นคงไม่มีกรุแบบที่นาดูน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2526 นั้นได้มี คนในชุมชนจ้างรถไถมาปรับที่ดินบริเวณโนนเมืองเก่าและได้ไปพบกับกรุพระซึ่งไม่ใช้พระแผงแบบกรุนาดูน แต่เป็นพระพุทธรูปสำริด จึงทำให้คนในชุมชนเริ่มมีการขุดหาพระขึ้น หลังกรุชุมชนบ้านสระบัวแตกคนในชุมชนก็เริ่มหันมาสนใจพระมากขึ้น และเริ่มมีพ่อค้าจากภายนอกเข้ามารับซื้อซึ่งที่เป็นที่รู้ของชาวบ้านดี คือพ่อใหญ่หัวแดง มาจากจังหวัดร้อยเอ็ด การขุดพบพระนั้นช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก บางรายสามารถนำไปใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุนในการทำนาได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สุภาพ บุตรวิเศษ (ผู้ให้สัมภาษณ์). ไกรวิทย์  นรสาร (ผู้สัมภาษณ์). สถานที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สันตรัตน์  เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562