Advance search

ชุมชนท่องเที่ยวที่มี “ฮูปแต้ม” อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ซึ่งเป็นภาพเขียนสีบนผนังของพระอุโบสถหรือ “สิม” ในภาษาอีสาน เป็นท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคาม

หมู่ที่ 5, หมู่ที่ 8 ถนนไทยนิวซีแลนด์ (2040)
บ้านดงบัง
ดงบัง
นาดูน
มหาสารคาม
ไกรวิทย์ นรสาร
12 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
ไกรวิทย์ นรสาร
30 ก.ค. 2023
บ้านดงบัง

ที่มาของชื่อหมู่บ้านดงบังเพราะที่ตั้งหมู่บ้านล้อมรอบไปด้วยป่าไม้และไม้ที่มีปริมาณมากคือ ต้นยาง ซึ่งเป็นไม้ขนาดใหญ่โอบล้อม และกลุ่มบ้านเรือนยังมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นกระท่อมชั้นเดียวแทรกตัวอยู่ทำให้มองไม่เห็นหมู่บ้าน ไม่ว่าจะมองจากทิศใด ต้องเดินทางผ่านป่าเข้ามาจึงจะเห็นชุมชน ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้เองจึงได้ชื่อชุมชนว่า "ชุมชนบ้านดงบัง" เพราะคำว่า "ดง" ในภาษาอีสานหมายถึง ป่า นั้นเอง


ชุมชนชนบท

ชุมชนท่องเที่ยวที่มี “ฮูปแต้ม” อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ซึ่งเป็นภาพเขียนสีบนผนังของพระอุโบสถหรือ “สิม” ในภาษาอีสาน เป็นท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคาม

บ้านดงบัง
หมู่ที่ 5, หมู่ที่ 8 ถนนไทยนิวซีแลนด์ (2040)
ดงบัง
นาดูน
มหาสารคาม
44180
15.65858126
103.2484804
องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง

ประมาณปี พ.ศ. 2530 ในสมัยอาณาจักรลาวล้านช้างมีกลุ่มคนอพยพหนีภัยสงครามจากเวียงจันทน์มาอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2252 ได้อพยพมาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน คือ อำเภอสุวรรณภูมิ พอถึงช่วงปี พ.ศ. 2256 ได้กระจายการตั้งถิ่นฐานไปยังร้อยเอ็ด อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอวาปีปทุม และอำเภอพยัคภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ส่วนชุมชนบ้านดงบังนั้นย้ายจากเมืองทุ่งศรีภูมิ มาอยู่บ้านศรีทองหลางก่อนมายังถิ่นฐานที่บ้านเก่าน้อย อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และในช่วงปี พ.ศ. 2316 กลุ่มที่อพยพมาจากลาวเวียงจันทน์ได้มาอยู่บ้านเก่าน้อยเป็นกลุ่มแรกก่อนย้ายมาอยู่บ้านดงบังปัจจุบัน สาเหตุเพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำ ป่าไม้ที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานและการเลี้ยงชีพ โดยอาชีพของชุมชนในช่วงแรก ได้แก่ การล่าสัตว์ การหาของป่า จนในเวลาต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งจำหน่าย ได้แก่ การปลูกฝ้าย ปลูกปอ เพื่อนำไปผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมอย่างมากในสมัยนั้น ต่อมาเริ่มมีการปลูกข้าวมากขึ้นประกอบกับการปลูกพืชอื่น ทำให้มีการขยายพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้นและเป็นสาเหตุให้ป่าไม้ในพื้นที่ลดลง

ดงบังเป็นหมู่บ้านที่โดนล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ และไม้ที่มีปริมาณมากคือ ต้นยาง ซึ่งเป็นไม้ขนาดใหญ่ หมู่บ้านดงบังถูกโอบล้อมไปด้วยต้นยางและกลุ่มบ้านเรือนในขณะนั้นยังมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นกระท่อมชั้นเดียวแทรกตัวอยู่ทำให้มองไม่เห็นหมู่บ้าน ไม่ว่าจะมองจากทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก หรือทิศใต้ หากจะเห็นหมู่บ้านต้องเดินทางผ่านป่าเข้ามาจึงจะเห็น ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงเรียกว่า “บ้านดงบัง” คำว่า “ดง” ในภาษาอีสานหมายถึง “ป่า” 

อย่างไรก็ตามการตั้งหมู่บ้านกลางป่าทำให้ประสบปัญหาการรบกวนของสัตว์ ป่า เช่น มีเสือมาจับสุนัขกิน ด้วยความกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นผสานกับความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างหลักบ้านหรือศาลเพียงตาขึ้น เพื่อให้ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป ศาลเพียงตา เป็นภูมิทัศน์เชิงสัญลักษณ์ของชุมชนอีสานที่ผสานคติความเชื่อเรื่องผี ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชาวบ้านก็มีความเลื่อมใสศรัทธาจึงร่วมกันสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวม คือ วัดโพธิ์ทองตั้งอยู่ที่บ้านเก่าน้อยซึ่งเป็นชุมชนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ต่อมาก็มีการขยายตัวของชุมชนบางส่วน มาอยู่บ้านดงบังและมีการสร้างวัดและสร้างสิมขึ้นในปี พ.ศ. 2447 ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2451 และ ได้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดโพธิ์ทอง” เป็น “วัดโพธาราม” ในปัจจุบัน

สำหรับประวัติการก่อตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านดงบังนั้น พอมีการสร้างวัดแล้ว ได้มีการสร้างสิม หรือ โบสถ์ โดยสิมแห่งนี้มีความพิเศษเพราะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือ ฮูปแต้มอยู่ด้วย โดยคาดว่าสิมแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2447 และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2451 โดยช่างที่เขียนคือ ช่างสิงห์ จากบ้านคลองจอบ อ.พยัคฆภูมิพิสัย ส่วนหอแจกหรือศาลาการเปรียญนั้น สร้างปี พ.ศ. 2460 เพราะมีเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนที่บริเวณบันไดทางขึ้นหอแจกด้านทิศตะวันออก

บ้านดงบัง เดิมเป็นป่าดงหนาทึบมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือ ช้าง บ่าง ชะนี กระรอก เป็นต้น มีหลักฐานอ้างอิงไว้ ดังนี้

  • ด้านทิศตะวันออก ห่างประมาณกิโลเมตรเศษมีหนองน้ำแห่งหนึ่งมีชื่อว่า หนองแก่นช้าง อยู่ติดกับห้วยวังดู่ซึ่งเป็นลำห้วยใหญ่และลึกมีน้ำขังตลอดฤดูกาล สันนิษฐานว่าเป็นที่อยู่อาศัยของช้างจำนวนมากปัจจุบันกลายเป็นที่นาของชาวบ้านหลายเจ้าด้วยกัน

  • ด้านทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองพอก ปัจจุบันมีหนองน้ำแห่งหนึ่งมีน้ำขังตลอดปี มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ อยู่ใกล้กับลำห้วยวังหล่อง หนองนี้ชื่อ หนองซำซ้าง เนื่องจากมีช้างป่ามาอาศัยกินน้ำ เล่นน้ำ เกลือกโคลนตม ปัจจุบันเป็นที่นาของนางตู้ หมอแคนเสาร์ เจ้าของนาได้รักษาให้มีรูปหนองให้เห็นอยู่ตรงกลางและมีน้ำขังตลอดปี เจ้าของนาจึงทำเป็นบ่อเลี้ยงปลา จนปัจจุบันยังคงเรียกว่า หนองซำซ้าง(ต้นจามจุรี) อยู่เหมือนเดิม

ชุมชนบ้านดงบัง มีทั้งหมด 2 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 มีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 700 กว่าคน ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวอีสาน

  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลาร้าแซบบ้านดงบัง

วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีการพึ่งพาอาศัยกันตามวิถีชีวิตของคนอีสาน คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

1. นายโสภณ ยอดวงษ์กอง : ปราชญ์ของชุมชน

  • ฮูปแต้มวัดโพธาราม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)
  • หอแจก (ศาลาการเปรียญ)

คนในชุมชนบ้านดงบังใช้ภาษาอีสานเป็นภาษาพูดประจำถิ่น และใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สิมวัดโพธาราม บ้านดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

ตามประวัติแล้ววัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อว่า “วัดโพธิ์ทอง” มาเปลี่ยนเป็น “วัดโพธาราม” เมื่อ พ.ศ. 2485 โดยชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ บ้านดงบังตั้งอยู่บนโพนสูงล้อมรอบด้วยป่าไม้หนาทึบจึงชื่อว่า “ดงบัง” ประชากรเป็นชาวไท-ลาว ตั้งบ้านครั้งแรกที่บ้านเก่าน้อย โดยตั้งพร้อมกับบ้านตาบา เขต อ.ปทุมรัตน์ บริเวณที่ตั้งบ้านดงบัง มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นเมืองขอมเก่า เนื่องจากมีคูน้ำล้อมรอบ มีแท่งศิลาแลงและขุดได้ไหโบราณ กระปุกรูปช้าง และโครงกระดูกจำนวนมาก เดิมทีวัดมีหอไตรและโบสถ์เก่าสร้างอยู่กลางน้ำเป็นอุทกุกฺเขปสีมา หรือ  “สิมน้ำ” อยู่บริเวณทางทิศเหนือของโบสถ์หลังปัจจุบัน  เมื่อชำรุดพระครูจันดี เจ้าอาวาสองค์ที่ 4 เป็นผู้ออกแบบและได้สร้างสิมบกขึ้น

รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมของสิมหลังนี้เป็นรูปแบบงานพื้นถิ่นอีสาน มีฐานยกสูง  มีเสานางเรียงรองรับชายคาปีกนกตลอด หลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องไม้  มีลำยอง หางหงส์เป็นหัวนาค มีโหง่ และช่อฟ้า อยู่กลางสันหลังคา เป็นไม้แกะสลักแบบศิลปกรรมอีสานพื้นบ้าน  ผนังก่อทึบและเจาะช่องหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง เพื่อต้องการแสงสว่างโดยไม่ทำเป็นบานปิดเปิด เพิงด้านหน้านั้นน่าจะทำขึ้นใหม่ภายหลังเพื่อป้องกันฝน และพระประธานเป็นพระไม้ ที่แกะสลักอย่างฝีมือช่างพื้นถิ่น  โครงสร้างและวัสดุ เป็นอาคารก่ออิฐสอดินฉาบปูนพื้นเมือง (ปะทาย) เครื่องบนหลังคาใช้โครงสร้างไม้ทั้งหมด เดิมทีมุงกระเบื้องไม้ (แป้นเกล็ด) แล้วมาเปลี่ยนเป็นวัสดุเช่นปัจจุบัน ส่วนปีกนกยื่นแบนราบทำเป็น 2 ชั้นความโดดเด่นของสิมวัดโพธารามนี้คือ “ฮูปแต้ม” โดยมีให้เห็นทั้งภายในและภายนอก ช่างเขียนคือ อาจารย์ซาลาย และนายสิงห์ เป็นชาวบ้านดงบัง เขียนจากสีฝุ่นผสมกาวไม่มีรองพื้น ใช้สีของพื้นผนังสิมเป็นสีพื้นของฮูปแต้ม สีที่ใช้มีสีฟ้า เขียว แดง ดำ ขาว เป็นเนื้อหาของเรื่องพระเวสสันดร พระพุทธประวัติ พระป่าเลไลยก์ รามสูร-เมขลา และเรื่องสังข์ศิลป์ชัย นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งสะท้อนผ่าน เครื่องแต่งกาย การไว้ผม  การประกอบอาชีพ การหาอยู่หากิน รวมถึงประเพณีพิธีกรรมภายในท้องถิ่น ปัจจุบันสิมหลังนี้ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรทั้งตัวอาคารและจิตรกรรม  และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคามอีกแห่งที่ถูกพูดถึง

ฐานข้อมูลทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ด้านพุทธศิลป์ในภาคอีสาน. (ม.ป.ป.). วัดโพธาราม. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 จาก, https://cac.kku.ac.th/esanart/