งานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก และมีประเพณีบุญพวงมาลัยไม้ไผ่ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวผู้ไทที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาของชื่อชุมชนมาจากการที่นายพรานสามพี่น้องได้ออกมาล่าสัตว์บริเวณนี้ซึ่งมีป่าไม้สูงหนาทึบ มีสัตว์ชุกชุม มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และมีต้นหว้าใหญ่ขนาดสามคนโอบ มีน้ำพุไหลออกจากโคนต้นไม่ขาดสาย สัตว์ไม่ว่าน้อยใหญ่จึงมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ จึงอพยพมาอยู่ที่นี่ คือ วันอังคารขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2399 มีชื่อบ้านคำหว้าตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ยกฐานะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จึงโอนมาขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์และเปลี่ยนให้บ้านคำหว้า มาเป็นบ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
งานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก และมีประเพณีบุญพวงมาลัยไม้ไผ่ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวผู้ไทที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของบ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
เดิมผู้คนอาศัยอยู่กันบริเวณบ้านนากะแตบ ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์เผ่าผู้ไท มีอาชีพทำนาทำสวน เลี้ยงสัตว์ และล่าเนื้อเพื่อยังชีพ บ้านนากะแตบนี้อยู่ระหว่างกลางเมืองบก กับเมืองวัง คือถ้าจะออกเดินทางจากเมืองบกไปเมืองวัง จะต้องผ่านบ้านนกกะแตบเสียก่อน ที่บ้านนากะแตบนี้มีพี่น้องสามคนเป็นนายพรานล่าเนื้อและจับสัตว์ป่าขาย ซึ่งมีอายุอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ รู้จักภูมิประเทศจากเมืองวังจนถึงเมืองล้าน้ำแดนแกว เมื่อครั้งเกิดศึกสงครามในเมืองวังจนทำให้เมืองแตกทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยครอบครัวญาติพี่น้องประมาณ 60 กว่าคน ได้อพยพหนีสงคราม ขึ้นไปถึงหลุบเพ็กซึ่งเป็นสถานที่ที่มีภูเขาล้อมรอบมีทางขึ้นลงเขาเพียงทางเดียว จึงตั้งหลักอยู่ที่นั่น เพื่อดูความเคลื่อนไหวของข้าศึกและเขาทั้งสามพี่น้องได้สู้รบกับข้าศึกจนได้รับชัยชนะหลายครั้ง ด้วยการใช้อาวุธเพียงหน้าไม้และปืนเพลิง จนข้าศึกไม่กล้าเข้ามารุกรานอีก หลังจากนั้นจึงพาครอบครัวและญาติพี่น้องอพยพกลับมายังบ้านนากะแตบ
หลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ สมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2370 ราชวงศ์เมืองวังก็แตก ปี พ.ศ. 2387 ชาวผู้ไทจากเมืองวัง จำนวน 3,443 คน ถูกกวาดต้อนมาที่เมืองกุดสิมนารายณ์ (อำเภอกุฉินารายณ์ในปัจจุบัน) เจ้าเมืองวัง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์นามว่าพระธิเบศวงศ์ษา (กอ) พอได้ทราบข่าวราชวงศ์ เมืองวังต่างก็พากันยินดียิ่งนัก จึงอพยพครอบครัวและญาติพี่น้องข้ามแม่น้ำโขงตามมาฝั่งไทย ตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่หลายแห่ง เช่น บังเฮือก บังทรายวังน้ำเย็น หนองแสง และสามพี่น้องได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหนองแสง โดยมีอาชีพล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารและขายได้ เที่ยวออกล่าเนื้อเป็นประจำในเขาภูผาผึ้ง ภูมะตูม ภูผาโง สามพี่น้องได้มาเห็นภูมิประเทศบริเวณ คำหว้า ซึ่งเป็นป่าไม้สูงหนาทึบ มีสัตว์ชุกชุม มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะที่คำหว้ามีต้นหว้าใหญ่ขนาดสามคนโอบต้นหนึ่ง มีน้ำพุไหลออกจากโคนต้นมิได้ขาด สัตว์หลายชนิดชอบมาอยู่อาศัยในบริเวณนี้มาก เมื่อเห็นดังนั้นแล้วจึงกลับไปบ้านหนองแสงจัดการกับเนื้อสัตว์ที่ได้ มาตากแห้งแจกจ่ายแก่ญาติพี่น้องได้กินกัน
ต่อมาวันหนึ่งสามพี่น้อง คือบ่าวโฮ้ง (พี่ชายคนโต) บ่าวโต้น (พี่คนกลาง) และบ่าวเต้ง (น้องสุดท้อง) ได้ปรึกษาหารือกัน บ่าวโค้งผู้เป็นพี่ชายคนโตกล่าวว่า เราทั้งสามคนพี่น้องไม่มีที่พึ่งพาอาศัย ถ้าอยู่ที่บ้านหนองแสงต่อไปก็อาจเกิดความทุกข์ยากตามมา การทำมาหากินก็ฝืดเคืองเพราะเรา อพยพมาทีหลังทำให้มีที่ทำกินน้อย ที่นาก็มีน้อยไม่พอที่จะแบ่งปันให้ลูกหลาน ดินก็เป็นดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ทำนาไม่ค่อยได้ผล เราควรไปหาแหล่งที่ทำมาหากินใหม่ บ่าวโต้น (พี่คนกลาง) ก็เห็นด้วยกับที่พี่ชายคนโต เพราะว่าที่อยู่อาศัยมีแหล่งน้ำไม่สมบูรณ์ บ่าวโต้นจึงได้เสนอสถานที่ทำมาหากินแหล่งใหม่ ซึ่งได้ไปพบทำเลแห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือ แฮดหนองห้าง ซึ่งบ่าวโต้นได้ขัดห้าง เพื่อยิงสัตว์ริมหนองน้ำ เป็นทำเลที่เหมาะสมที่จะปลูกบ้านแปลงเมืองได้ บ่าวโฮ้งจึงถามต่อว่า ที่ตรงนั้นเป็นดงป่ายาง หรือเป็นโคกป่ากุงมีน้ำตลอดปีหรือไม่ บ่าวโต้นได้ตอบว่าที่พบนั้นเป็นโคกป่ากุงไม่มีบ่อน้ำแต่มีลำห้วยไหลผ่าน (ห้วยหลักทอด) บ่าวโฮ้งจึง ถามบ่าวเต้งว่า ได้พบที่ใดเหมาะสมอีกบ้าง บ่าวเต้งจึงตอบว่า ยังมีอีกที่หนึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก คือบริเวณคำหว้า อยู่ใกล้ภูผาผึ้ง มีลำห้วยอยู่ทางตะวันออก (ห้วยจุมจัง) เป็นดงป่าทึบต้นไม้สูง ห้วยเล็ก ๆ ล้อมรอบ มีน้ำบ่อน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ทั้งสามพี่น้องปรึกษากัน แล้วจึงเตรียมการตั้งบ้านใหม่จัดเสบียงอาหารเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้พร้อมแล้วออกเดินทาง ได้มีการถากถางป่าเตรียมสถานที่เหนือต้นหว้าใหญ่ไปทางทิศตะวันออก เมื่อถึง ฤกษ์งามยามดีก็พาเพื่อนบ้านรวมกันเดินทางมาตั้งบ้านเรือนในวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารขึ้น เดือน 4 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2399 มีชื่อว่า บ้านคำหว้า ตั้งแต่นั้นมา
เชื้อสายของคนบ้านคำหว้าเป็นผู้ไทกะแตบ ซึ่งต่างจากผู้ไทเวียง ผู้ไทวัง ผู้ไทหอ ผู้ไทโฮง ชาวผู้ไทกะแตบ เป็นชาวบ้านธรรมดามีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย กินสบาย ๆ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง จะพึ่งตนเอง เป็นคนขยันขันแข็ง สร้างฐานะของตนเองด้วยลำแข้งของตนเองไม่ชอบขอความช่วยเหลือจากใคร ทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้วยความสุจริต เมื่อมีภัยมาถึงมักจะหลบหลีกไม่ต่อสู้ ในตอนแรก ๆ ที่มาตั้งบ้านเรือนในครั้งนั้น มีผู้คนน้อย การสร้างตัวเองให้เป็นหลักฐานนั้นลำบากมาก อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นสำคัญ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวผู้ไทที่เคยปฏิบัติกันมาอย่างไรก็ยังคงยึดปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ในช่วงเวลา 15 ปีแรกที่ตั้งหมู่บ้านนั้นยังไม่มีบ้านเรือนมากนัก ต่อมาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วเนื่องจากการแต่งงานและการขยายครอบครัว การออกเรือนของชาวผู้ไทเมื่อจะมีการ แต่งงาน เจ้าบ่าวจะต้องปลูกเรือนหอขึ้นมาก่อนจึงจะเข้าพิธีแต่งงานได้ จึงมีบ้านเรือนมากขึ้นมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2399 มีบ้านเรือนรูปทรงทันสมัยเพิ่มขึ้นอีก นับไม่ถ้วน รวม ๆ แล้วเป็นพันกว่าหลังคาเรือนและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 5,000 กว่าคน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ยกฐานะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์จึงโอนมาขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์และเปลี่ยนให้บ้านคำหว้า มาเป็นบ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
บ้านกุดหว้าตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 85 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอกุฉินารายณ์ ประมาณ 10 กิโลเมตร
ลักษณะของดินเป็นดินร่วนหยาบลึกถึงลึกมาก เกิดจากตะกอนลำน้ำหรือวัตถุต้นกำเนิดเนื้อหยาบ การระบายน้ำดีปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สภาพการเพาะปลูกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนา ทำไร่ เหมาะสำหรับปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปอ ข้าวโพด และถั่วลิสง
ประชากรส่วนใหญ่อยู่กันแบบเครือญาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างญาติพี่น้อง โดยประชากรส่วนใหญ่คือ กลุ่มชาติพันธ์ผู้ไทกะแตบและลาวอีสาน
ผู้ไท- กลุ่มแม่บ้านเกษตรรวงทอง
- กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีบ้านกุดหว้า
- กลุ่มสตรีบ้านโคกโก่ง
- กลุ่มอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมมาลัยไม้ไผ่บ้านกุดหว้า
คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัด 3 แห่ง ได้แก่ วัดกกต้องกุดหว้า ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 วัดป่ากุดหว้า ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 วัดกุดหว้าเก่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ชุมชนกุดหว้ามีประเพณีที่คนในหมู่บ้านได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือ ฮีตสิบสอง ประเพณีทั้ง 12 เดือนของสังคมอีสาน นอกจากบุญทั้ง 12 เดือนที่คนในชุมชนกุดหว้าปฏิบัติกันแล้ว ประเพณีที่ชุมชนทำกันในทุก ๆ ปี คือ ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน จัดพิธีบวงสรวงขึ้นที่วัดกกต้องกุดหว้า ทุกอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี และประเพณีบุญพวงมาลัยไม้ไผ่ (บุญข้าประดับดิน)
1. นายพิศดา จำพล : ปราชญ์ชาวบ้าน คิดค้นวิธีทำบั้งไฟตะไลแสน ตะไลล้าน
2. นายพาราม แย้มไสย : นายกเทศมนตรีคนแรกของตำบลกุดหว้า
3. นางบุญเลิง พันธุโพธิ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้าพื้นเมืองผู้ไท
4. นางวัลย์นา กาฬว้า : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้าพื้นเมืองผู้ไท
5. นางไกรศรี หนองสูง : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้าพื้นเมืองผู้ไท
6. นายนารี ศรีกำพล : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำมาลัยไม้ไผ่
- ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน
- ประเพณีบุญพวงมาลัยไม้ไผ่
- ภูมิปัญญาการทำมาลัยไม้ไผ่
- เสื้อเย็บมือปักลายผู้ไท มาลัยไม้ไผ่ ตะไลล้าน
คนในชุมชนกุดหว้าใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาผู้ไท ในการพูดสื่อสารในชีวิตประจำวัน และใช้ภาษาไทยสำหรับใช้ติดต่อราชการ
สายหยุด ภูปุย, ศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิลัน, วรนุช นิลเขต, และสุชานาถ สิงหาปัด. (2564). การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นการทำผลิตภัณฑ์“มาลัยไม้ไผ่”ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากครูภูมิปัญญา. วารสารวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย. 11(1) มกราคม มีนาคม, 2-3