ชุมชนที่ค้นพบ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 และเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
สำหรับที่มาของชื่อชุมชน “บ้านเชียง” นั้นมีการสันนิษฐานกันไปหลายแนวทาง
แนวคิดที่หนึ่ง หัวหน้าครอบครัวที่อพยพเข้ามารุ่นแรกมียศนามตามที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “เซียง” หรือ “เชียง” อันเป็นนามนำหน้าชื่อของผู้ที่เคยได้บวชเป็นสามเณรมาก่อน คนจึงนิยมเรียกหมู่บ้านกันว่า “บ้านเชียง” นอกจากนั้นยังมีนิทานพื้นบ้านเรื่อง เชียงงาม ซึ่งบางคนคิดว่าอาจเป็นต้นตอของชื่อ “เชียง” ที่นำมาตั้งเป็นนามหมู่บ้านก็ได้
แนวคิดที่สอง เล่ากันมาว่าผืนดินที่ตั้งเป็นชุมชนบ้านเชียงนั้นเคยเป็นเมืองโบราณสมัยขอม มีชายรูปงานคนหนึ่งบวชเป็นสามเณร เมื่อสึกออกมาแล้วเรียกกันว่า “เชียงงาม” เพราะเป็นหนุ่มที่มีรูปร่างสง่างาม เป็นที่รักใคร่ต้องใจหญิงทั้งหลายในหมู่บ้าน กิตติศัพท์ความงามของหนุ่มผู้นี้ได้ยินไปถึงเมียพญาขอมที่เมืองหนองหาน จนกระทั่งเมียพญาขอมได้ลุ่มหลงในเสน่ห์ของเชียงงามด้วย อันเป็นเหตุให้พญาขอมโกรธแค้นอย่างมาก จึงสั่งให้จับตัวมาประหารชีวิตเสีย ให้เอาศีรษะมาเสียบประจานไว้กลางเมือง ก่อนตายเชียงงามได้สาปแช่งว่าขอให้บ้านเมืองขอมล่มจม เพราะตนไม่มีความผิดแต่ต้องมาถูกประหารชีวิต
เมื่อพิจารณาดูเนื้อเรื่องของนิทานเรื่องเชียงงาม พอจะเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านแต่งขึ้นภายหลังจากที่อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านเชียงแล้ว คงไม่ใช่เรื่องเก่าที่เล่าถ่ายทอดกันมาก่อนนั้นเพราะเนื้อเรื่องเป็นสมัยที่ขอมยังคงเป็นใหญ่ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนที่ชาวบ้านเชียงจะเข้ามาอาศัยอยู่ นิทานพื้นเมืองเรื่องเชียงงามจึงน่าจะเป็นผลงานของคนในยุคหลังที่พยายามผูกเรื่องขึ้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของถิ่นของตน แต่สอดคล้องกับหลักฐานที่ค้นพบว่าบริเวณนี้ที่เคยมีผู้คนอาศัยอยู่ในสมัยทวารวดีและลพบุรีมาก่อน อาจจะสรุปได้ว่า ที่มาของชื่อชุมชนบ้านเชียงนั้น มาจากนิทานประจำถิ่นของชุมชน
ชุมชนที่ค้นพบ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 และเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
วัฒนธรรมบ้านเชียง เดิม "บ้านเชียง" เป็นชื่อหมู่บ้านในเขตการปกครองของ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัว จังหวัดไปทางทิศตะวันออกตามเส้นทางคมนาคมสายอุดรธานี-สกลนคร ประมาณ 60 กิโลเมตร แต่หลังจากได้มีการเผยแพร่เรื่องการพบหลักฐานของ ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีการขุดค้นทางโบราณคดีที่หมู่บ้านนี้ ชื่อบ้านเชียงก็มีความหมายเพิ่มขึ้น อีกนัยหนึ่ง คือหมายถึงวัฒนธรรม ของชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออก เฉียงเหนือประเทศไทย และเป็นวัฒนธรรมของประชากรที่ดำรงชีวิต ด้วยการเกษตรกรรม รวมทั้งได้ปรับตัวมาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยถาวรใน สภาพภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มแล้วตั้งแต่เมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว และ วัฒนธรรมนี้ได้มีการพัฒนาการสืบต่อมาอีกนับพัน ๆ ปี
บ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1966 ก่อนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1992 มีพื้นที่ราว 420 ไร่ ซึ่งข้อมูลจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกระบุว่าถึงปี 2012 มีการขุดสำรวจแล้ว 0.09 เปอร์เซนต์ โดยวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงแบ่งออกได้เป็น 3 สมัยใหญ่ ดังนี้
สมัยต้น (Early Period) มีอายุตั้งแต่ราว 5,600-3,000 ปีมาแล้ว มีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว มีภาชนะวางอยู่ที่เท้าหรือศีรษะศพ ฝังงอตัว มีหรือไม่มีของฝังรวมอยู่ด้วย ภาชนะดินเผาระยะแรก ๆ ของสมัยต้น คือ ภาชนะดินเผาสีดำ-เทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ย ๆ ตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง ในระยะที่ 2 ของสมัยต้น มีภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุศพเด็ก ในระยะที่ 3 ของสมัยต้น มีภาชนะแบบที่มีผนังด้านข้างตรงถึงเกือบตรง รูปร่างเป็นภาชนะทรงกระบอก (Beaker) และในระยะที่ 4 ของสมัยต้น มีภาชนะประเภทหม้อก้นกลม ตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมกับการระบายสี มีการตั้งชื่อเรียกว่า "ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว" เนื่องจากได้พบเป็นครั้งแรกที่บ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง
สมัยกลาง (Middle Period) มีอายุตั้งแต่ราว 3,000-2,300 ปีมาแล้ว มีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว มีเศษภาชนะดินเผาที่ถูกทุบคลุมศพ ภาชนะดินเผาประเภทเด่นที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ผิวนอกสีขาว ทำส่วนไหล่ภาชนะหักเป็นมุมหรือโค้งมากจนเกือบเป็นมุมค่อนข้างชัด มีทั้งแบบที่มีก้นภาชนะกลมและก้นภาชนะแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสีที่บริเวณใกล้ปากภาชนะ ในช่วงปลายสุดของสมัยกลางเริ่มมีการตกแต่งปากภาชนะดินเผารูปแบบนี้ด้วยการทาสีแดง
สมัยปลาย (Late Period) มีอายุตั้งแต่ราว 2,300-1,800 ปีมาแล้ว การฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว มีภาชนะดินเผาเต็มใบวางอยู่บนลำตัว ภาชนะดินเผาที่พบในช่วงต้นของสมัยปลายได้แก่ ภาชนะเขียนลายสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ต่อมาในช่วงกลางสมัยเริ่มมีภาชนะดินเผาเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง ถัดมาในช่วงท้ายสุดของสมัยจึงเริ่มมีภาชนะดินเผาทาด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน
จากข้อมูลเบื้องต้นมีข้อสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนบ้านเชียงมีกลุ่มอาศัยมาแล้วจำนวน 3 พวก สรุปได้ดังนี้
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คงเริ่มตั้งแต่ยุคหินใหม่ก่อนปลายจนถึงยุคโลหะสำริดและเหล็ก ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้คนเหล่านี้มีเชื้อชาติอะไร อย่างไรก็ตามผู้คนกลุ่มนี้ได้มีการอพยพไปจากบริเวณนี้ไปมากกว่าสองพันปีแล้ว
สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นคงมีผู้คนอาศัยอยู่บริเวณบ้านเชียงเนื่องจากมีการค้นพบสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรวมถึงภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคนี้ด้วย จากลักษณะของศิลปวัตถุที่ค้นพบทำให้พอจะประมาณอายุได้ว่าอยู่ในสมัยทวาราวดีและลพบุรี สันนิษฐานกันว่าวัฒนธรรมสมัยนี้เป็นของคนเชื้อชาติมอญและขอมรุ่นเก่า ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ศูนย์กลางความเจริญของวัฒนธรรมมอญและเขมรในสมัยหลังรุ่งเรืองมากในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงเขตของประเทศกัมพูชาในปัจจุบันหลังจากนั้นบ้านเชียงก็รกร้างไปอีกระยะหนึ่ง
บ้านเชียงไม่มีผู้คนอาศัยมานานจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้มีชาว "ไทยพวน" อพยพจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นประเทศราชของไทย) พบสภาพบ้านเชียงว่าเหมาะสมที่จะตั้งเป็นบ้านเรือน เพราะเป็นที่เนินสูง น้ำท่วมไม่ถึงในฤดูฝน นอกจากนั้นบริเวณรอบ ๆ ยังเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ทำไร่ และมีแหล่งน้ำสำหรับกินและใช้อย่างเพียงพอ จึงพากันถากถางป่าและตั้งบ้านเรือนอยู่เรื่อยมา ในระยะหลังมีญาติอพยพเข้ามาสมทบ ทำให้มีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่นขึ้นตามลำดับในเวลาต่อมา
บ้านเชียงเริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2360 มีชนกลุ่มพวกหนึ่งเรียกตนเองว่าไทยพวนมีภูมิลำเนาเดิมอยู่แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ได้พากันอพยพลงมาทางทิศใต้ รุ่นแรกมี 4 ครอบครัว คือ ท้าวเชียงใหญ่ ท้าวเชียงนา ท้าวเชียงคะ ท้าวเชียงพิน
ความเป็นมาของชุมชนบ้านเชียงในยุคหลัง เมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเชียงหนาแน่นขึ้น จึงได้จัดระบบการปกครองภายในหมู่บ้านขึ้นคล้ายกับแบบที่เคยใช้ในประเทศลาว คือ มีตาแสง (กำนัน) และกวนบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยภายในชุมชน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง หัวเมืองต่าง ๆ ขึ้น บ้านเชียงได้ถูกจัดให้เป็นตำบลบ้านเชียง ขึ้นต่ออำเภอหนองหาน กำนันบ้านเชียงบางคนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหมื่น และขุน มาจนกระทั่งถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 จึงหมดไป ชาวบ้านได้ดำเนินชีวิตไปด้วยการประกอบอาชีพในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และทาน เรื่อยมา หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวก็ทำการค้าขายกับหมู่บ้านใกล้เคียง จนกระทั่งการค้าขายได้เจริญ ก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้รวมกันจัดเป็นขบวนกองเกวียนไปค้าขายกันในระยะทางไกลยิ่งขึ้น คนบ้านเชียงจึงเป็นผู้ที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกมากพอสมควร
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการตัดถนนหนทางภายในหมู่บ้าน ต่อมามีการพัฒนา หมู่บ้าน สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อกับหมู่บ้านอื่นและถนนสายอุดรธานี-สกลนคร คมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น บ้านเชียงได้ถูกตั้งเป็นเขตพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 มีการตั้งกรรมการ พัฒนาหมู่บ้าน และจัดกลุ่มต่าง ๆ ขึ้น ปรากฏว่าการปฏิบัติงานได้ผลดี ยังความเจริญก้าวหน้าทางด้าน วัตถุและการบริหารหมู่บ้านดียิ่งขึ้น จนได้รับการสนับสนุนให้จัดระบบการปกครองท้องถิ่นในรูปของ องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2509 จึงนับว่าเป็นความก้าวหน้าของชาวบ้านเชียงที่ตื่นตัวในการมีส่วนในการบริหารท้องถิ่นของตน นอกจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลของบ้านเชียง ยังก่อให้เกิดความเจริญในชุมชนในด้านจัดส่งบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน น้ำบาดาล ไฟฟ้า เป็นต้น
ในเวลาต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2517-2518 ได้มีการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบ้านเชียง มีผู้คนเดินทางไปชมการขุดค้นทางโบราณคดีและซื้อสินค้าจากบ้านเชียงเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าขายคล่องตัวและชาวบ้านมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นอย่างมาก มีการก่อสร้างและปรับปรุงบ้านเรือน ตลอดจนสาธารณสมบัติในหมู่บ้านอย่างคึกคักในปัจจุบันบ้านเชียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่ให้ความสนใจในเรื่องโบราณคดีบ้านเชียง
- กลุ่มอาชีพปั้นหม้อเขียนสี บ้านเชียง หมู่ 13
คนในชุมชนบ้านเชียงยังคงปฏิบัติพิธีกรรมในรอบสิบสองเดือนหรือฮีตสิบสอง พิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้านเชียงมีทั้งพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาพุทธและความเชื่อเรื่องผีต่าง ๆ ในรอบปีหนึ่ง ๆ เขาจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า ฮีตสิบสอง ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่เมื่อยังอยู่ในประเทศลาว
1. นายชาตรี ตะโจปะรัง : ปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มปั้นหม้อเขียนไห
2. นางไพจิตร จันดาดาล : ปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มจักสาน
3. นายสมบัติ มัญญะหงส์ : ปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มทอผ้า-มัดย้อม
4. นางฉันทนา ศิริชุมแสง : ปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มฟ้อนรำ
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- ชุดแต่งกายท้องถิ่น ผ้าฝ้ายย้อมคราม
- เครื่องจักสาน แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นด้วยลวดลายที่มีความประณีตและผสมผสานกับศิลปะของชาวไทพวน
- ฟ้อนรำไทพวน เป็นศิลปวัฒนธรรมที่ท้องถิ่นของชาวไทพวนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านเชียงตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
คนในชุมชนบ้านเชียงใช้ภาษาลาว (ภาษาอีสาน) และภาษาของชาวไทพวนในการพูดสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ภาษาของชาวไทยพวนมีความคล้ายภาษาพูดในภาษาผู้ไท หรือไทยล้านนา และคําศัพท์ส่วนใหญ่จะคล้ายกับภาษาไทยอีสาน แต่ภาษาไทยพวนจะมีเสียง ญ เพิ่มเสียงนาสิกเข้าไปด้วย และจะไม่มีเสียง ช หรือ ฉ โดยจะออกเสียงเป็น ซ หรือ ส แทน ส่วนตัวรอเรือนั่นจะออกเสียงเป็น ฮอ และ ลอ แทน ดังนั้น ภาษาไทยพวนจึงไม่มีการออกเสียงควบกล้ำ ในอดีตชาวพวนจะใช้อักษรไทยน้อย จารึกเรื่องราวทางโลก นิทานพื้นบ้าน และใช้อักษรธรรมจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลงในใบลาน ปัจจุบันพบได้น้อย และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ติดต่อราชการ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเภทแหล่งอนุสรณ์สถานจัดตั้งขึ้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 13 ตำบล บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ บ้านเชียงได้จัดแสดงหลักฐานที่ ได้จากการสำรวจขุดค้นที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วยกลุ่มภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง มาจากการพบภาชนะลายเขียนสี เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยชาวบ้านเชียง ต่อมาปี พ.ศ. 2509 ชาวอเมริกัน ได้พบภาชนะดินเผาที่บ้านเชียงโดยบังเอิญจึงนำไปแจ้งที่กรมศิลปากร ปี พ.ศ. 2510 จึงได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกปี พ.ศ. 2515 ได้ขุดค้นเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในพร้อมกับแหล่งอื่นในบ้านเชียง และครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2517-2518 กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ร่วมมือขุดค้นและหาข้อมูลใหม่เพิ่มเติม โดยเรียกโครงการนี้ว่า "โครงการ โบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งชาติ บ้านเชียง จึงได้เริ่มจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา
สุมิตร ปิติพัฒน์และปรีชา กาญจนาคม.(2518).รายงานการศึกษาชุมชนและขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.