Advance search

กะเหรี่ยงบ้านแม่หลอด เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายในเรื่องการนับถือศาสนา มีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ตลอดจนผู้ไม่นับถือศาสนา แต่ศาสนาของชาวบ้านยังคงอยู่ภายใต้มโนทัศน์เดียวกัน คือ ชาวบ้านทุกคนมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณและอำนาจที่ไร้ตัวตน อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของศาสนา 

แม่หลอด
สบเปิง
แม่แตง
เชียงใหม่
อบต.สบเปิง โทร. 0-5399-5043
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มี.ค. 2023
บ้านแม่หลอด


กะเหรี่ยงบ้านแม่หลอด เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายในเรื่องการนับถือศาสนา มีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ตลอดจนผู้ไม่นับถือศาสนา แต่ศาสนาของชาวบ้านยังคงอยู่ภายใต้มโนทัศน์เดียวกัน คือ ชาวบ้านทุกคนมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณและอำนาจที่ไร้ตัวตน อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของศาสนา 

แม่หลอด
สบเปิง
แม่แตง
เชียงใหม่
50150
19.10169541
98.77348021
องค์การบริหารส่วนตำบลสบเปิง

กะเหรี่ยง คือชาวเขากลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตก กะเหรี่ยง เป็นชื่อที่เรียกตามอย่างมอญซึ่งเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ว่า กะเรง และชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ แปลว่า คน ทางภาคเหนือของประเทศไทยและรัฐฉานของพม่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นที่รู้จักในชื่อ ยาง ส่วนทางภาคตะวันตกบางครั้งจะเรียกกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นว่า กะหร่าง

ตามประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยง คาดว่าชาวกะเหรี่ยงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า 200 ปี การอพยพของกะเหรี่ยงเข้าสู่ประเทศไทยครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าพิชิตอาณาจักรพะโคของมอญ แล้วทำการกดขี่ทารุณชาวมอญและกะเหรี่ยงอย่างหนัก ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนจึงได้หลบหนีการทารุณกรรมจากกองกำลังทหารพม่าเข้าสู่อาณาจักรสยาม ในปี พ.ศ. 2395 พม่ามีทรรศนะต่อชาวอังกฤษว่าเป็นพวกที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือกะเหรี่ยง พม่าจึงได้ทำการเผาบ้านเรือน ปล้นฆ่าชาวกะเหรี่ยงในรัศมี 50 ไมล์ จากนครย่างกุ้ง กระทั่งในปี พ.ศ. 2482 จ่อละผ่อ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษ อังกฤษจึงส่งกองกำลังทหารมาปราบปราม ชาวกะเหรี่ยงจึงได้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงกระจายตัวกันอย่างหนาแน่นอยู่แทบทุกจังหวัดในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะบริเวณเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งหมู่บ้านแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งชุมชนที่เป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงในปัจจุบัน 

สภาพแวดล้อม

บ้านแม่หลอดตั้งอยู่บริเวณระหว่างหุบเขา ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งซ้อนทับกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนาและเพาะปลูกพืชไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำแม่ฮาและลำห้วยสายต่าง ๆ อีกหลายสาย ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณโดยรอบยังคงความอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ปกคลุมหนาทึบ โดยป่าไม้ในบริเวณนี้เป็นป่าเบญจพรรณ สภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 26.5 องศาเซลเซียส

สถานที่สำคัญ

สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด: สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด ตั้งอยู่ที่บ้านแม่หลอดหมู่ 10 ตำบล สบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์สายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่มีสายพันธุ์จำนวนมาก งานทดสอบสาธิตการผลิตพืชผัก สมุนไพร ไม้ผล และฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสัตว์เล็ก ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนพัฒนาเป็นอาชีพอย่างยั่งยืนได้ 

ประชากรหมู่บ้านแม่หลอดส่วนใหญ่คือกลุ่มชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอ และมีคนพื้นราบปะปนอยู่ด้วย แต่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน ซึ่งข้อมูลประชากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลสบเปิงระบุว่า บ้านแม่หลอดมีประชากรทั้งสิ้น 224 ครัวเรือน 635 คน แยกเป็นประชากรชาย 321 คน และประชากรหญิง 314 คน มีนายนิคม ธูปเทียน ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน 

ปกาเกอะญอ

การประกอบอาชีพ

ในอดีตชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่หลอดประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกผัก ทำสวนเมี่ยง และรับจ้างทั่วไป แต่ชาวบ้านยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างยากจน ขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต กรมวิชาการเกษตรของประเทศไทยจึงได้ประสานความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาผ่านทางโครงการหลวงในปี พ.ศ. 2517 กระทั่งปี พ.ศ. 2527 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอดจึงได้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งเป็นไร่ทดลองกาแฟอาราบิก้าสถานีแรก ๆ ของโครงการหลวง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ทั้งคนเมืองและชาวกะเหรี่ยงในการวิจัยกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ผสม 28 สายพันธุ์ ควบคู่ไปกับการวิจัยพืชเสริมชนิดอื่น อาทิ กระวาน พริกไทย เพื่อใช้ปลูกร่วมกับการแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

เนื่องจากบ้านแม่หลอด อำเภอแม่แตง ได้มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยโครงการหลวงแม่หลอดเพื่อเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในหมู่บ้าน กาแฟที่ส่งออกจำหน่ายส่วนใหญ่จะนิยมส่งขายในรูปแบบของกาแฟกะลามากกว่ากาแฟที่แปรรูปแล้ว (เอกภพ สุทธิจิระพันธ์, 2552: 24-26)

นอกจากบ้านแม่หลอดจะอยู่ในเขตพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่หลอดแล้ว ยังอยู่ในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ซึ่งได้ดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มและการประกอบอาชีพของประชาชนในเขตพื้นที่ที่ควบคุมดูแล โดยส่งเสริมการปลูกพืชผักอื่น ๆ นอกเหนือจากการปลูกข้าว เช่น ข้าวโพด ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เช่น โค สุกร และการทอผ้าพื้นเมือง อนึ่ง ปัจจุบันหมู่บ้านแม่หลอดได้พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของโครงการหลวงฯ นำเสนอการท่องเที่ยวแบบการพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติของป่าเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตทางการเกษตร และของป่าที่หาได้ไปจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมส่วนหนึ่งเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หลอดได้เป็นอย่างดี 

ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่หลอดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และส่วนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ แม้ว่าบ้านแม่หลอดจะปรากฏประชากรที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน ทว่าศาสนาที่ชาวบ้านนับถือยังคงอยู่ภายใต้มโนทัศน์ความเชื่อเดียวกัน คือ ความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณและอำนาจที่ไร้ตัวตน อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ก่อนที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หลอดจะรู้จักการนับถือศาสนา พวกเขาให้การเคารพนับถือผีมาก่อน

ผีที่ชาวกะเหรี่ยงให้การนับถือมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ คือ ผีบ้านและผีเรือน

  • ผีบ้าน คือ ผีที่ดูแลคุ้มครองบ้าน บางครั้งเรียกว่า ผีเจ้าที่ ผีไร่ ผีนา ฯลฯ ตามแต่สถานที่ที่เชื่อว่าผีสิงสถิตอยู่ ทุกปีชาวกะเหรี่ยงจะมีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีบ้านอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมี ฮี้โข่ หรือผู้ทำทางจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม และเป็นผู้กำหนดวันในการเลี้ยงผีของหมู่บ้าน ตลอดจนการทำพิธีปีใหม่กะเหรี่ยง (กี่จึ) และการเลี้ยงผีไร่-ผีนา

  • ผีเรือน คือ ผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้หญิงสูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้าน ผีเรือนจะเป็นผีที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลกฎจารีต การประพฤติปฏิบัติตัวของลูกหลาน ตลอดจนลงโทษผู้กระทำผิดผี เช่น การได้เสียกันก่อนแต่งงาน การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น การกระทำเช่นนี้ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าแม้ผู้อื่นไม่เห็นแต่ผีเห็น ฉะนั้นจึงต้องมีการบูชาเซ่นสรวงผีเรือนหรือดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อขอให้ผีเรือนคุ้มครองดูแลไม่ให้เกิดเหตุร้ายหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้นกับตนเองและครอบครัว หรือเมื่อคนในครอบครัวเกดอากรเจ็บป่วย ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี จึงต้องมีการขอขมาโดยการฆ่าสัตว์ เช่น หมู ไก่ หรือในบางหมู่บ้านอาจมีการต้มสุราเพื่อเลี้ยงผีในพิธีกรรมนี้ด้วย  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางภูมิปัญญา

ผ้าทอกะเหรี่ยง

กะเหรี่ยง ได้รับขนานนามว่าเป็นกลุ่มชนเผ่าผู้มีฝีมือในการทอผ้าเก่งที่สุดเผ่าหนึ่ง ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงมักจะทอเสื้อผ้าไว้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน หรือทอเก็บไว้ใช้ในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งการทอผ้าถือเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมอย่างหนึ่งของชาวกะเหรี่ยงที่ยังคงรักษาสืบทอดไว้ได้จนปัจจุบัน ขณะที่ภูมิปัญญาอื่นเริ่มทยอยสูญหายไปตามกาลเวลา

ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง เป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตนของชนเผ่า ลวดลายต่าง ๆ มักเกิดจากการสังเกต การใช้จินตนาการในการนำเอาลักษณะเด่นจากสิ่งที่พบเห็นตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคตินิยมและวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์มาประยุกต์ถักทอเป็นเรื่องราวเล่าขานบนผืนผ้า ด้วยกรรมวิธีการสร้างสรรค์ลวดลายที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการจก การทอยก ดอก การมัดหมี่ การปักด้าย การปักประดับด้วยเม็ดลูกเดือย เป็นต้o

ลักษณะการทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง จะเริ่มด้วยการขึงด้ายกับไม้คาน 2 อัน ในแนวนอน คานด้านหนึ่งผูกติดกับหลัก ส่วนอีกด้านหนึ่งผู้ทอจะใช้สายหนังคล้องหัวท้ายติดกับเอวของตน ซึ่งผู้ทอสามารถบังคับให้ด้ายตึงหรือหย่อนได้ตามต้องการ ทำให้เนื้อผ้ามีความเรียบและแน่นสม่ำเสมอ สีที่นำมาย้อมผ้าจะได้จากเปลือกไม้ เช่น เปลือกไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ ต้นคราม ต้นแสด เป็นต้น

ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หลอดยังคงปรากฏการทอผ้าด้วยวิธีดั้งเดิมอยู่ แต่มีไม่มากแล้ว เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เยาวชนส่วนใหญ่ในชุมชนนิยมซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามสมัยนิยมมาใส่มากกว่าการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ ที่สำคัญคือเรื่องของราคา ระยะเวลา และความยุ่งยากในการทอ เนื่องจากการจะทอผ้าพื้นเมืองหนึ่งผืนต้องใช้ระยะเวลา และค่อนข้างยุ่งยากในเรื่องของรายละเอียด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ต้องปลูกฝ้ายเองแล้ว แต่การหาซื้อฝ้ายมาทอผ้าก็ยังคงต้องใช้ต้นทุน แต่หากจะซื้อชุดพื้นเมืองสำเร็จรูปก็มีราคาค่อนข้างสูง ฉะนั้น การทอผ้าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงจึงไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่าในอดีต จะมีเพียงบางครอบครัวเท่านั้นที่ยังคงทออยู่เพื่อส่งออกไปจำหน่ายสร้างรายได้ ถึงกระนั้นชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่หลอดจะมีข้อตกลงที่รับรู้ร่วมกันในชุมชนว่าในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันแต่งงาน ฯลฯ ผู้ที่เข้าร่วมงานจะต้องแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองกะเหรี่ยง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการธำรงรักษา และสืบทอดวัฒนธรรมการแต่งกาย อันจะเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง 

ภาษาพูด: ภาษากะเหรี่ยงสะกอ (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง (ติดต่อสื่อสารกับคนพื้นราบ)

ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง


ดอยสุเทพ-ปุย
ป่าแม่แตง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566].

มูลนิธิโครงการหลวง. (ม.ป.ป.). สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.royalprojectthailand.com/station-maelod [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566].

วิไลพร ชะมะผลิน. (2522). บทบาททางสังคมและเศรษฐกิจของสตรีชาวเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ). ศูนย์วิจัยชาวเขา กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์.

อุไร เดชพลกรัง. (2544). พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของแม่บ้านกะเหรี่ยงสะกอ: กรณีศึกษาแม่บ้านชาวกะเหรี่ยงสะกอ หมู่บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เอกภพ สุทธิจิระพันธ์. (2552). ปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการการแปรรูปกาแฟของเกษตรกรบ้านแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อบต.สบเปิง โทร. 0-5399-5043