ภายในชุมชมมีสิมโบราณวัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ช่างพื้นถิ่นเขียนเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติ พระมาลัย เวสสันดร และนิทานปาจิต-อรพิมพ์ นอกจากนั้นแล้วช่างยังวาดภาพวิถีชีวิตของคนอีสานเข้าไปในภาพนิทาน/พุทธประวัติด้วย จึงทำให้สิมวัดบ้านยางได้รับยกย่องว่าเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
ที่ตั้งชื่อว่าเป็นบ้านยางก็เพราะมีสระน้ำที่เก่าแก่ ซึ่งมีน้ำขังตลอดทั้งปีและมีต้นยางขนาดใหญ่กระจายโดยรอบ ชาวบ้านจึงเรียกสระนี้ว่าหนองยาง จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนบ้านยาง ตำบลยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
ภายในชุมชมมีสิมโบราณวัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ช่างพื้นถิ่นเขียนเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติ พระมาลัย เวสสันดร และนิทานปาจิต-อรพิมพ์ นอกจากนั้นแล้วช่างยังวาดภาพวิถีชีวิตของคนอีสานเข้าไปในภาพนิทาน/พุทธประวัติด้วย จึงทำให้สิมวัดบ้านยางได้รับยกย่องว่าเป็นโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
ก่อนที่จะตั้งหมู่บ้านยางขึ้นมาสภาพเดิมนั้นหมู่บ้านรวมกันอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน ตั้งอยู่คุ้มหนองคูแล้วย้ายคุ้มไปทั้งหมด และแตกแยกออกเป็นสองคุ้ม คือคุ้มอาฮาม และคุ้มบ้านแป ต่อมาทั้งสองคุ้มจึงย้ายมารวมกันเป็นคุ้มกกขามชุม
ขณะอยู่คุ้มกกขามชุม ได้เกิดอหิวาตกโรคชาวบ้านส่วนใหญ่จึงล้มหายตายจากกันไปชาวบ้านบางส่วนเชื่อว่าเกิดจากผีดอนปู่ตา จึงกล่าวหาว่าเกิดจากดอนปูตาออกอาละวาดชาวบ้านจึงพากันย้ายครอบครัวทั้งหมดไปอยู่บ้านโคกโหล่น (ทิศเหนือบ้านยาง) อยู่ได้ไม่นานก็ย้ายกลับคืนมาอีกเป็นคุ้มเหนือและได้ตั้งชื่อเป็นบ้านยาง
ที่ตั้งชื่อว่าเป็นบ้านยางก็เพราะมีสระน้ำที่เก่าแก่ ซึ่งมีน้ำขังตลอดทั้งปีและมีต้นยางขนาดใหญ่กระจายรอบๆชาวบ้านจึงเรียกสระนี้ว่าหนองยาง ผู้มาก่อตั้งบ้านยางให้เป็นปึกแผ่นและขยายใหญ่โตนั้นก็คือนายกอง นางขุ่ม มาจากบ้านหานหก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดบ้านยางตั้งมานานกว่าเรา 200 ปี ระยะหลังหลังมามีแต่กุลหนึ่งคือหม่อมมีเป็นภรรยาของข้าหลวงจังหวัดหนองคายถึงแก่กรรมหม่อมหมีก็มาเป็นอนุภริยาของพระเจริญราชณเดทข้าหลวงจังหวัดมหาสารคามเมื่อข้าหลวงถึงแก่กรรมหม่อมหมีก็มาเป็นภรรยาของนายฮาดวงศ์ศึก(นักมวยชื่อดัง) หม่อมมีจึงได้มาอยู่พร้อมกับสามีที่บ้านยางพร้อมกับบุตรของทั้งสองคน
ผู้บุกเบิกครั้งสำคัญในอดีตคือ ญาคูน้อย (ทวง)ชาวบ้านเชื่อว่าท่านมีอภินิหารพิเศษ ญาคูทวงมีความรู้ภาษาขอมมากเป็นพิเศษ ต่อมาญาคูทวงหนีไปศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยจนมีความรู้พอสมควรจึงกลับมาวัดบ้านยางและได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นที่วัดต่อมาย้ายโรงเรียนจากวัดมาตั้งแห่งใหม่ในหมู่บ้านยางชื่อว่าโรงเรียนบ้านยางเพื่อที่จะนึกถึงผู้วางฐานการจัดตั้งโรงเรียนบ้านยางครั้งแรกจึงเติมชื่อทวงผู้ก่อตั้งโรงเรียนต่อท้ายอีกเป็นโรงเรียนบ้านยางทวงวิทยา ต่อมาได้มีประชากรหนาแน่นขึ้นจึงต้องแบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้านคือ 1) บ้านยาง หมู่1, 2, 2) บ้านโพธิ์ หมู่ 7 (แยกออกเมื่อ พ.ศ. 2509), 3) บ้านมะแงว พ.ศ. 2514 หมู่9, 4) บ้านดอนจันทร์ หมู่ 10 พ.ศ. 2517
สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบส่วนใหญ่และที่ราบลุ่มบางส่วน ประชาชนมีการทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก ส่วนที่ราบสูงมีการปลูกพืชไร่ มันสำปะหลัง ถั่วลิสง ไม้เศรษฐกิจ ยางพารา
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบัวค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันออก ตำบลแคน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันตก ตำบลหนองม่วง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
ปัจจุบันจำนวนประชากรชุมชนบ้านยาง หมู่ที่ 1 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 323 คน
- กลุ่มจักสานบ้านยาง
- กลุ่มผลิตสินค้า OTOP ผ้าไหมมัดหมี่
ชาวบ้านชุมชนบ้านยางมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันคือ ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ โดยมีการประกอบพิธีกรรมตลอดทั้ง 12 เดือนในพิธีกรรมเหล่านี้เกิดจากความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่มีมานานปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อมา ประเพณีที่เด่นของชุมชนบ้านอย่างคือบุญซำฮะ (บุญเบิกบ้าน) บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือนเจ็ดเป็นบุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรอันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมืองการชำระล้างสิ่งที่สกปรกรุงรังให้สะอาดปราศจากมลทิน คือ ความมัวหมองเรียกว่า การชำระสิ่งที่ต้องชำระให้สะอาดนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ หนึ่งความสกปรกภายนอกได้แก่ร่างกายเสื้อผ้าอาหารการกินที่อยู่อาศัยสองความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตใจที่เกิดจากความโลภโกรธหลงจำเป็นต้องชำระ โดยการทำบุญการทำทาน เพื่อนจะไม่ให้บ้านเมืองเดือดร้อน
ระหว่างเดือนเจ็ดนอกจากบุญชำระแล้ว ประชาชนในบางพื้นที่ของบ้านยางยังมีการทำพิธีบวงสรวงผีปู่ตาผีประจำหมู่บ้านตลอดจนผีตาแฮกก่อนลงมือทำนาด้วย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขทำไร่ทำนาได้ผลดีการเลี้ยงผีปู่ตานั้นได้กระทำทุกปี เห็นได้ว่าชาวบ้านชุมชนบ้านยางมีวิถีชีวิตที่มีความเป็นอีสานชนบท มีการนับถือผีบูชาผีและยังมีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่กันไป มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ หาปลาเพื่อจำหน่ายและบริโภคภายในครัวเรือนและได้มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายในชุมชนมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของความรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามสังคมของชาวอีสานจนมาถึงปัจจุบัน
1. นายกอง : ผู้มาก่อตั้งบ้านยาง
2. นางขุ่ม : ผู้มาก่อตั้งบ้านยาง
3. หลวงปู่ทวง ธัมมโชโต (ญาครูทวง) : อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านยาง ต.ยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม และผู้ก่อตั้งโรงเรียนบ้านยาง (ยางทวงวิทยา) และยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้และการรักษาในเรื่องสมุนไพรให้แก่ชาวบ้านโดยไม่คิดค่ารักษา
- สิมวัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) เป็นวัดที่มีสิมและฮูปแต้มสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ลวดลาย งดงามที่ยังคงปรากฏเด่นชัดนั้น นอกจากพุทธ ประวัติที่อยู่ด้านบนของภาพแล้ว ด้านล่างยังคงเป็นภาพวิถีชีวิตของคนอีสาน ด้านในแตกต่างด้วยฮูปแต้มพระองค์ใหญ่สลับแจกันดอกไม้โดยรอบ
ชุมชนบ้านยางใช้ภาษาลาว-อีสานเป็นภาษาประจำท้องถิ่น และใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการ
หลวงปู่ทวง ธัมมโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านยาง ต.ยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคอีสาน ร่วมสมัยกับหลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม วัดบ้านเหล่าเกิดในสกุล รักษาชาติ เมื่อ ปี พ.ศ. 2421 ณ บ้านยาง ต.ยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ชื่อบิดา-มารดา ไม่สามารถสืบค้นได้ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา จนอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบ้านแดง อ.บรบือ โดยมีหลวงพ่ออุทา วัดบ้านแดง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงเดินธุดงค์ข้ามไปขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนไสยเวทกับสำเร็จลุน ควบคู่กับการศึกษาบาลี อักษรขอม ไทยน้อย อักษรลาว ทำให้มีความรู้ทางด้านอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง
หลังจากนั้นเดินทางกลับมาจำพรรษาเรียนปริยัติธรรม และเรียนภาษาไทยอยู่สำนักเรียนวัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม ช่วงนั้นวัดบ้านยาง ขาดแคลนพระผู้ใหญ่ ชาวบ้านยาง จึงนิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด
หลังกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านยาง ด้วยความที่ท่านต้องการพัฒนาการศึกษาสงฆ์ รวมทั้งพัฒนาการศึกษาให้กับชุมชนท้องถิ่น ท่านทราบดีว่าพระภิกษุ-สามเณร ที่มาบวชเรียนล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน ท่านจึงได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนประชาบาลขึ้น ที่วัดบ้านยาง โดยหลวงปู่รับหน้าที่เป็นครูสอนทั้งปริยัติธรรมและวิชาสามัญ หลวงปู่ให้การสนับสนุนการเรียนของพระภิกษุ-สามเณร หากรูปใดเรียนเก่งตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจะมอบทุนการศึกษาให้ทุกปี ยุคนั้นสำนักเรียนวัดบ้านยาง มีชื่อเสียงโด่งดังมาก แต่ละปีมีพระภิกษุ สามเณร สอบได้นักธรรมบาลีได้เป็นจำนวนมาก
เพ็ญผกา นันทดิลก. (2536).โลกทัศน์ต่อประเพณีบุญซำฮะของชาวบ้านยาง ตำบลยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
องค์การบริหารส่วนตำบลยาง. (2564). ภาพจิตกรรมฝาผนังสิม (ฮูปแต้ม) วัดบ้านยาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566. จาก http://www.yang.go.th/
พุทธศิลป์อีสาน. (2556). ภาพสิมวัดยางทวงวราราม วัดยางทวงวราราม (วัดยาง). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.esanart.com/wat_yangchuang/