ชุมชนที่มีการผลิตและจำหน่ายผ้าไหมแพรวาซึ่งเป็นผ้าทอที่เอกลักษณ์ของชุมชนและจังหวัดกาฬสินธุ์ และได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าทอที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
ตั้งชื่อชุมชนตามลักษณะภูมิศาสตร์ คำว่า "โพน" หมายถึง พื้นที่สูงในภาษาพื้นถิ่นของชุมชน เนื่องจากชุมชนบ้านโพนตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นที่สูง จึงได้นำจุดเด่นทางลักษณะภูมิศาสตร์นำมาตั้งเป็นชื่อของชุมชน
ชุมชนที่มีการผลิตและจำหน่ายผ้าไหมแพรวาซึ่งเป็นผ้าทอที่เอกลักษณ์ของชุมชนและจังหวัดกาฬสินธุ์ และได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าทอที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 บรรพบุรุษของชาวบ้านโพนซึ่งมีเชื้อสายชาวผู้ไท ได้อพยพมาตั้งถิ่นที่อาศัยเดิมแถบกุดบาก จังหวัดสกลนคร การอพยพมาครั้งนั้น มีผู้นำอพยพแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเฒ่าพรหมบุตร กลุ่มเฒ่าโพธิ์ และกลุ่มเฒ่าขุน ทั้งสามกลุ่มได้มาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่บริเวณหนองจอก อยู่ห่างจากบ้านโพนสมัยปัจจุบันไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตรประมาณสิบปีต่อมา สถานที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่กันมาแต่แรกนั้นคับแคบลงพื้นที่ไม่เพียงพอแก่การก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และการถากถางไร่นา ทำนา เพราะมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงมีคนบางกลุ่มขยับขยายมาสร้างบ้านเรือนที่อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านหนองจอกในปัจจุบัน ซึ่งมีทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าที่อยู่เดิม โดยเรียกพื้นที่ใหม่นี้ว่า บ้านโพนไท ตามสภาพพื้นที่ภูมิประเทศที่เป็นเนินกว้างใหญ่ อยู่ใกล้หนองน้ำขนาดใหญ่ ต่อมาบ้านโพนไทได้ยกขึ้นเป็นอำเภอโพนไท เมื่อปี พ.ศ. 2462 อำเภอโพนไทได้ยุบเป็นตำบล เรียกว่าตำบลโพน นับจากนั้นเป็นต้นมา บ้านโพนไทก็มีฐานะเป็นบ้านโพน อำเภอสหัสขันธ์
บ้านโพนในช่วงก่อน พ.ศ. 2515 อยู่พื้นที่การปกครองของอำเภอสหัสขันธ์ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2515กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอคำม่วง จึงแยกพื้นที่การปกครองบางส่วนจากอำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอเขาวง ประกอบด้วยตำบลทุ่งคลอง ตำบลโพนทองและตำบลสำราญ ต่อมา พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทยยกฐานะกิ่งอำเภอคำม่วงเป็นอำเภอคำม่วง เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2516 โดยมีตำบลโพนอยู่ในสังกัด ในปี พ.ศ. 2539 บ้านโพน ตำบลโพน ไดยกฐานะเป็นสุขาภิบาลโพน และในวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลโพน เป็นเทศบาล ชั้น 7 ตามพระราชบัญญัติ เขตเทศบาลโพน ครอบคลุมพื้นที่ 7.66 ตารางกิโลเมตร ปกครองครอบคลุมพื้นที่บ้านโพนทั้งหมด เป็น 5 หมู่บ้านใน 5 หมู่บ้านได้เลือกตั้งผู้รับผิดชอบ คือ กำนันผู้ใหญ่บ้านขึ้นเพื่อเป็นที่ปรึกษาดูแลสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้าน หมู่ที่ 1 คือ นายมูล ราชติกา ซึ่งเป็นต่อจาก นาย วิเศษ ศรีบัว ซึ่งเป็นต่อ ๆ กันมาตั้งแต่รุ่นก่อน ๆ ตั้งแต่เริ่มเป็น หมู่บ้านแต่รายละเอียดไม่ปรากฏชัดเจน พอนายมูล ราชติการเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2516 จนถึงปี พ.ศ. 2534 จึงเกษียณ อายุ 60 ปี แล้วก็มี นายสวัสดิ์ วงศ์เจริญ เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อมา นายสวัสดิ์ วงศ์เจริญได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2543 ต่อมาชาวบ้านได้คัดเลือก นายประวิทย์ วงศ์เจริญ ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน จนปี 2548 ก็ได้เป็นกำนันต่อจาก นายนิพนธ์ อิงภู ซึ่งเป็นกำนันอยู่ก่อนแล้ว แล้วต่อมาก็ได้ลาออกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีของตำบลโพน
ในส่วนของหมู่ที่ 2 ชาวบ้านได้คัดเลือก นายชม ไชยมหา เป็นผู้ใหญ่บ้านและต่อมาได้รับคัดเลือกเป็นกำนันต่อจาก นายทา สันวิลาศ ซึ่งเป็นกำนันมาก่อนนายชม ไชยมหาได้ดำรงตำแหน่งมาจนถึงปี พ.ศ. 2516 นายชม ไชมหา ก็เกษียณ อายุชาวบ้านหมู่ที่ 2 เลือก นายที ราชติกา เป็นผู้ใหญ่บ้านแทนและได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกำนันต่อ จนถึงเดือนมกราคม 2524 ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งส่วน นายชม ไชยมหา หลังจากเกษียณอายุแล้วก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.)ได้เป็น ส.จ. จนครบวาระส่วนผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ชาวบ้านได้เลือกเอา นายคำมูล ลามุล ซึ่งเคยเป็นสาวัตรกำนัน มาก่อนเป็นผู้ใหญ่บ้านแทนและเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2524 ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนันเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2524 ขณะปฎิบัติหน้าที่เป็นกำนันอยู่นั้นได้รับรางวัลในการปฎิบัติงานดีเด่นในระดับประเทศเป็นอาวุธปืนสั้นพร้อมแหนบทองคำ จาก นายบรรหาร ศิลปะอาชา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2533 ได้รับรางวัลดีเด่นในการปฎิบัติงานดีเด่นในระดับประเทศครั้งที่ 2 ได้รับรางวัลปืนสั้นพร้อมแหนบทองคำอีก จาก นายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เมื่อ วันที่ 10 สิงหาคม 2540 ได้ลาออกจากตำแหน่งกำนัน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 โดยอยู่ในตำแหน่ง 21 ปี 4 เดือน 3 วัน หลังออกจากตำแหน่งซึ่งตำแหน่งกำนันก็ว่างอยู่ประมาณ 2 ปีเศษ เพราะเป็นนโยบายของรัฐต่อมาชาวบ้านเดือดร้อนและให้มีผู้ใหญ่บ้านเหมือนเดิมทางอำเภอจึงได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นอีกครั้ง จึงได้ นายนิพนธ์ อิงภู เป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นกำนันต่อจนมาถึงปี พ.ศ. 2548 นายนิพนธ์ อิงภู ก็ลาออกเพื่อลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลตำบลโพน (สท.) และได้เลือกให้นาย ประวิทย์ วงศ์เจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 เป็นกำนัน ตำบลโพนแทนจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ชาวบ้านได้เลือก นายสำเนียง ปัสสะ แทนจนมาถึงปัจจุบันนี้
ในส่วนหมู่ 3 นั้นได้แยกออกมาจากหมู่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2517 ชาวบ้านก็ได้เลือกตั้ง นายเคียน โพนะทา เป็นผู้ใหญ่บ้านซึ่งนายเคียนได้ดำรงตำแหน่งมาจนถึงปี พ.ศ. 2527 ก็เกษียณอายุและชาวบ้านจึงได้ตั้ง นายบุตร ศรีบ้านโพน เป็นผู้ใหญ่บ้านแทนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2527 จนถึง วันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 ก็ได้เกษียณอายุ หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้เลือกตั้ง นายเสถียร สุภารี เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 แทน และนายเสถียร สุภารี ก็ได้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2548 หลังจากนั้นชาวบ้านหมู่ 3 ก็เลือกตั้ง นายอุดม หาระทา เป็นผู้ใหญ่บ้านแทนจนมาถึงทุกวันนี้
ในส่วนหมู่ที่ 4 นั้นได้แยกออกมาจากหมู่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2528 และชาวบ้านก็ได้เลือก นายหา โพนะทา เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งนายหา โพนะทาได้ดำรงตำแหน่งมาจนถึง พ.ศ. 2534 หลังจากนายหา โพนะทา เกษียณอายุชาวบ้านก็มีการเลือกตั้ง นายสม คำภูษา เป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้ดำรงตำแหน่งมาจนถึงปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่นายสม คำภูษา ออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ชาวบ้านจึงเลือกตั้ง นายทองสุข คะมิชม เป็นผู้ใหญ่บ้านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในส่วนหมู่ 5 นั้นได้แยกออกจากหมู่ 1 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 และชาวบ้านได้เลือกตั้งให้เอา นายรส พันธะลี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชน
บ้านโพน มีวัดอยู่ 3 วัด คือ 1. วัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านโพน, 2. วัดโพธิ์ศรีวิลัย (วัดป่าช้า) ตั้งอยู่หมู่ 4 บ้านโพน, 3. วัดป่ารังสีปาลิวันบ้านโพน (วัดป่า) ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 และมีอนามัย 1 แห่งตั้งอยู่ที่หมู่ 3 และมีโรงเรียนชุมชนโพนพิทยาคม 1 แห่งที่ตั้งอยู่ในหมู่ 3 ของบ้านโพน ตำบลโพน และบ้านโพนได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลเมื่อปี พ.ศ. 2539 และได้เป็นเทศบาลในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเทศบาลได้ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 และได้มีศูนย์วิจิตรแพรวา 1 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ขึ้น เพื่อส่งเสริมอาชีพของราษฎร ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวา ได้ตั้งอยู่ที่ชุมชนคลองเตย หมู่ 5 ของบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวา เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้งบประมาณก่อสร้างจากการประชุม ครม.สัญจร ตั้งอยู่ หมู่ 2 ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
สภาพทั่วไปของพื้นที่บ้านโพนเหมาะแก่การเป็นพื้นที่ทำนาและทำไร่ มีลำห้วยไหลผ่าน 3 สาย คือ ห้วยสมอทบ ห้วยยาง และห้วยกุดโค้ง ทำให้มีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์จัดเป็นที่ราบเหมาะแก่การปลูกข้าว บริเวณที่เนินเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพทำไร่และเลี้ยงสัตว์ สภาพภูมิอากาศของบ้านโพนมีสภาพเหมือนกับภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ มีอากาศแห้งแล้งจัดในฤดูแล้ง ในฤดูฝน บางปีฝนแล้งบางปีฝนชุก แต่โดยทั่วไปจะได้รับอิทธิพลความเย็นจากเทือกเขาภูพาน ในฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น
ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านโพน คือ กลุ่มชาติพันธ์ผู้ไท มีภาษาพูด และวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวคือ การทอผ้าไหมแพรวา ที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับชุมชนได้
ผู้ไท- กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน
บ้านโพนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ขณะเดียวกันก็นับถือผีบรรพบุรุษและพื้นอื่น เช่น ผีไร่ ผีนา ผีตาแฮก เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติที่ยังคงมีอยู่ในสังคมของชาวบ้านโพนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมีการประกอบอาชีพไหว้ผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า การเส้นเฮือนแก้ว และการประกอบปฎิบัติตามฮีต12 คลอง 14 และประเพณีตามคติทางพระพุทธศาสนา เช่น บุญผะเหวด บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา บุญกฐินและบุญสงกรานต์ เป็นต้น
- แม่คำสอน สระทอง : ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญในด้านการทอผ้าแพรวา
- แม่ศรีดา ไชยมงคุณ : ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญในด้านการทอผ้าแพรวา
- แม่นงลักษณ์ ศรีบุญจันทร์ : ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญในด้านการทอผ้าแพรวา
- แม่สมศรี สระทอง : ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญในด้านการทอผ้าแพรวา
- แม่ประคอง จันทมาตย์ : ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญในด้านการทอผ้าแพรวา
- ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแพรวา
ชุมชนบ้านโพนมีภาษาถิ่น คือ ภาษาผู้ไท ใช้เป็นภาษาพูด สื่อสารในชีวิตประจำวัน และใช้ภาษาไทยในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ
ปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งในครั้งนั้นสตรีชาวผู้ไทบ้านโพนที่มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จได้พร้อมใจกันแต่งกายชุดพื้นเมืองผู้ไท ห่มสไบเฉียงแพรวาสีแดงไปเฝ้ารับเสด็จ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ทอดพระเนตรเห็น ทรงสนพระราชหฤทัยในความงดงามประณีตและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมแพรวาเป็นอันมาก ต่อมาจึงทรงรับการทอผ้าไหมแพรวาเข้าไว้ในโครงการศิลปาชีพพิเศษ ซึ่งถือเป็นความโชคดีและเป็นสิริมงคลของชาวกาฬสินธุ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของจังหวัดและทรงสนับสนุนส่งเสริมการทำผ้าไหมแพรวาเป็นอย่างดีตลอดมา
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวาบ้านโพนเป็นมรดกที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวบ้านโพน และชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจิตรแพรวา ผ้าไหมผู้ไทยบ้านโพนขึ้นโดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ก่อตั้งขึ้นเป็นงบประมาณทั้งสิน 50 ล้านบาทแต่ด้วยระยะเวลาที่ดำเนินการด้านการของบประมาณยาวนานจึงถูกตัดงบประมาณก่อสร้างเหลือเพียง 39 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในรูปแบบ Package Tour / Home Stay โดยเป็นศูนย์แสดงวิถีชีวิตของผู้ไทยและจำหน่ายผ้าไหมแพรวาครบวงจร ภายในศูนย์ประกอบด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์ผู้ไทย อาคารวิจิตรแพรวา อาคารเรือนผู้ไทย 4 หลัง คือเรือนเบญจมาศ เรือนดาวเรือง เรือนทานตะวัน เรือนพุฒตาล และอาคารจำหน่ายของที่ระลึก รวมทั้งเวทีการแสดงกลางแจ้งและลานจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนหอชมเมืองซึ่งสามารถชมหมู่บ้านได้ด้วย
ดาเรศ ฆารพันธ์. (2544). ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของการประกอบอาชีพผลิตและค้าผ้าไหมแพรวาของชาวบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์. การศึกษาค้นคว้าอิสระ (ศศ.ม. ไทยคดีศึกษา กลุ่มสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สมพงษ์ สุริยา. (ผู้ให้สัมภาษณ์). ไกรวิทย์ นรสาร (ผู้สัมภาษณ์). สถานที่ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวา เทศบาลตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561.
สตรีชุมชนบ้านโพนใส่ชุดพื้นเมือง. (2563). ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าแพรวาบ้านโพน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566. จาก https://archive.sacit.or.th/
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวาบ้านโพน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566. จาก https://www.museumthailand.com/