
ในชุมชนบ้านโนนสำราญ ยังคงมีสังคมที่ช่วยเหลืออาทรกัน ทั้งยังมีแหล่งเรียนรู้ศูนย์วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถังเช่า ซึ่งปัจจุบันหันมาเพาะเนื้อเยื่อแอปเปิ้ล ที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
บริเวณที่ตั้งชุมชนมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม ชาวบ้านจึงพากันอพยพมาที่นี่ ชื่อเรียกขานของชุมชนถูกปรับเปลี่ยนกันเรื่อยมาตามแต่ผู้นำและความต้องการของคนในชุมชน จาก บ้านโนนศิลา ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านโคกค้อ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2480 นายฉลอง สูตรสุวรรณ นายอำเภอบรบือ ได้ออกตรวจเยี่ยมประชาชนและได้มาเห็นสภาพหมู่บ้านความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และในวันนั้นก็มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน จึงมีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้เป็นทางการตามความเหมาะสมว่า บ้านโนนสำราญ มาจนถึงปัจจุบัน
ในชุมชนบ้านโนนสำราญ ยังคงมีสังคมที่ช่วยเหลืออาทรกัน ทั้งยังมีแหล่งเรียนรู้ศูนย์วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถังเช่า ซึ่งปัจจุบันหันมาเพาะเนื้อเยื่อแอปเปิ้ล ที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
ก่อนการเข้ามาตั้งชุมชนบ้านโนนสำราญบริเวณแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นป่าทึบซึ่งมีสัตว์ป่ามากมายเช่นช้าง กระทิง ละมัง หมูป่า กวางและสัตว์นานาชนิด ชาวบ้านที่อยู่อาศัยอยู่บ้านเชียงคำได้ออกมาล่าสัตว์ป่าเป็นประจำซึ่งหมู่บ้านเชียงคำนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของบริเวณบ้านโนนสำราญในปัจจุบันชาวบ้านเชียงคำยังได้นำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในบริเวณนี้ ดังนั้นชาวบ้านจึงมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเหมาะแก่การทำนาทำไร่จึงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมาถากถางป่าเพื่อทำการเกษตรเมื่อได้ที่นาทำมาหากินเป็นหลักเป็นแหล่งแล้วก็พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและสร้างบ้านอยู่ใกล้ที่นาของตน ซึ่งมีบุคคลที่เป็นผู้นำในการตั้งหมู่บ้าน ดังนี้
- นายนนท์ สืบมา
- นายกัณหา สีไชย
- นายพรม รัตนา
- นายบาง ศรีกะกูล
- นายโท รัตนา
- นายใหม่ รัตนเมือง
- นายคำ พุทธวงศ์
- นายจันทา พุทธวงศ์
- นายโซ่
- นายบุญมี
กลุ่มบุคคล ที่กล่าวมานี้ส่วนมากอพยพมาจากหมู่บ้านเชียงคำตำบลกำพี้ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม อพยพมาในปีพุทธศักราช 2475 ในเวลาต่อมาก็มีบุคคลอีกหลายกลุ่มอพยพมาอยู่เรื่อย ๆ และครอบครัวต่าง ๆ ก็มีลูกหลานแยกครอบครัวออกไปอีกมากมายแล้วพากันเรียกหมู่บ้านของตนเองว่าบ้านโนนศิลา ต่อมาบ้านโนนศิลาได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโคกค้อ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2480 นายฉลอง สูตรสุวรรณ นายอำเภอบรบือ ได้ออกตรวจเยี่ยมประชาชนและได้มาเห็นสภาพหมู่บ้านความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม และในวันนั้นก็มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน จึงมีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้เป็นทางการตามความเหมาะสมว่า บ้านโนนสำราญ มาจนถึงปัจจุบันนี้
บ้านโนนสำราญเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนโนนหรือที่ดินสูง หากยืนอยู่บนถนนหลวงสายบรบือ-นาเชือกมองเข้าไปก็เห็นหมู่บ้านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น พื้นที่โดยรวมของชุมชนบ้านโนนสำราญมีทั้งที่เป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น ที่ราบและที่ราบลุ่ม พื้นที่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ของตำบล มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ระหว่าง 150-200 เมตร ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกของตำบลวังไชยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 200 เมตร พื้นที่ราบบางส่วนของตำบลมีการทำนา ส่วนพื้นที่ราบสูงมีการทำไร่
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหัวหนอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านศูนย์กลางของตำบลวังไชย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโนนเกษตร ตำบลวังไชย และตำบลคูขาด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวังหินบ้านดู่น้อย ตำบลวังไชย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองบอน ตำบลเลิงแฝก
ปัจจุบันจำนวนประชากรบ้านโนนสำราญ ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีจำนวน 482 คน อาชีพหลักของประชาชนในหมู่บ้าน คือ การทำนาการทำไร่ การทำสวน จะมีครอบครัวที่ทำการค้าขายอยู่บ้างเพียงสามครอบครัวเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลางพออยู่พอใช้ ประชาชนมีการพึ่งพาอาศัยกัน
- กลุ่มการเลี้ยงโค : การเลี้ยงกระบือและการเลี้ยงสุกร
- กลุ่มอาชีพเกษตรกร : ได้แก่ ทำนา ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง
- กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า
ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านโนนสำราญ นับถือศาสนาพุทธและมีประเพณีและงานประจำปีดังต่อไปนี้
- ประเพณีบุญมหาชาติ : ประมาณเดือนมีนาคม
- ประเพณีวันสงกรานต์ : ประมาณเดือนเมษายน
- ประเพณีบุญบั้งไฟ : ประมาณเดือนมิถุนายน
- ประเพณีบุญเข้าพรรษา : ประมาณเดือนกรกฎาคม
- ประเพณีบุญทอดเทียนโฮม : ประมาณเดือนตุลาคม
- ประเพณีลอยกระทง : ประมาณเดือนธันวาคม
วิถีชีวิตของชุมชนบ้านโนนสำราญเป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความเรียบง่ายตามแบบสังคมอีสาน มีการทำการเกษตรกรรมเป็นเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำพืชไร่พืชสวน หลังจากจบฤดูกาลทำนาการเก็บเกี่ยว ผู้หญิงก็จะพากันหาสิ่งของไปขายในตลาดอำเภอบรบือ ส่วนในเรื่องของสังคมชาวบ้านจะอยู่กันแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีความสามัคคีกันดีโดยอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ใหญ่บ้าน คือ คุณพ่อสวง ชินโคตร
- ศูนย์วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดถังเช่า
- โรงอนุบาลต้นพืชวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสำราญ
ภาษาที่ประชาชนชาวบ้านโนนสำราญใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในหมู่บ้าน คือ ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาประจำท้องถิ่น และมีการใช้ภาษากลางหรือภาษาไทย เป็นภาษาทางราชการ
สุนันทา เขียวสลุง. (2530). คติชาวบ้าน บ้านโนนสำราญ ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
เนชั่นออนไลน์. (2564). สารคามไม่ธรรมดาปีหน้าจะปลูกแอปเปิ้ล. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. เนชั่นออนไลน์. ค้นจาก https://www.nationtv.tv/