ภาษาเเละวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้
ในประวัติศาสตร์ของอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร มีลำดับเหตุการณ์ในเเต่ละช่วงเวลาดังต่อไปนี้ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2381 ราชวงศ์คำ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนคร จึงได้นำกำลังไพร่พลไปเกลี้ยกล่อมเอาครอบครัวหัวเมืองลาวที่ค้างอยู่ทางฟากฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกให้ข้ามมาเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสนับสนุนของกองทัพญวน พ.ศ. 2384 ท้าวโรงกลางบุตรเจ้าเมืองวังท้าวเพี้ยเมืองสูง ท้าวเพี้ย บุตรโคตรหัวหน้าข่ากะโซ่กับครอบครัวบ่าวไพร่ได้เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมากและตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่แถบฝั่งแม่น้ำโขง และรอบเมืองสกลนคร พ.ศ. 2387 พระยาประเทศธานี นำหัวหน้าครอบครัวกลุ่มต่าง ๆ ลงไปเฝ้าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านประขาวพันนาและบ้านกุสุมาลย์ขึ้นเป็นเมือง ให้ท้าวโรงกลางเป็นพระเสนาณรงค์เจ้าเมืองพันนา ท้าวเพี้ยเมืองสูง เป็นหลวงอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งให้ขึ้นตรงต่อเมือง
พ.ศ. 2405 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองโพธิไพศาล (ปัจจุบันเป็นตำบลโพธิไพศาล) เพราะเกิดการขัดแย้งชิงตำแหน่งหน้าที่ราชการกัน ให้ท้าวขัตติยะเป็นพระยาไพศาลเสนานุรักษ์เจ้าเมืองโพธิไพศาล และในปีเดียวกันได้ย้ายเมืองกุสุมาลย์จากที่เดิม (ปัจจุบันคือบ้านเมืองเก่า) เพราะเกิดความแห้งแล้งและเกิดโรคระบาดมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน พ.ศ. 2419 หลวงอรัญอาสาได้ถึงแก่กรรม ท้าวกิ่งบุตรชายหลวงอรัญอาสา ซึ่งเคยไปเรียนวิชาการปกครองจากกรุงเทพฯ ได้เป็นเจ้าเมืองกุสุมาลย์สืบต่อและได้บรรดาศักดิ์เป็น “พระอรัญอาสา” พ.ศ. 2439 ในรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนแปลงให้เมืองกุสุมาลย์และเมืองโพธิไพศาล ไปขึ้นกับเมืองนครพนมต่อมาเมื่อมีการส่งเจ้านายมาเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ เมืองต่าง ๆ จึงเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอเจ้าเมืองดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอ
พ.ศ. 2446 ทางราชการยุบอำเภอกุสุมาลย์ แล้วโอนท้องที่ไปขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนครรบ้าง อำเภอเมืองนครพนมบ้าง กุสุมาลย์จึงมีฐานะเป็นตำบลมาจนกระทั่ง วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 จนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ พ.ศ. 2510 ได้มีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 มีพื้นที่ 454 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสกลนคร ระยะทางห่างจากจังหวัดสกลนคร 42 กิโลเมตร ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 53 หมู่บ้าน มีการปกครองในการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเทศบาล 1 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5 แห่ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองเผ่าไทโส้ อาชีพหลักคือ การเกษตรกรรม มีฐานะยากจนมีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในเรื่องของผี ไสยศาสตร์
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลนาตงวัฒนา อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
ในเรื่องของความสัมพันธ์ทางเครือญาตินั้นยังคงเป็นในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกัน ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โส้
โส้ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพทำเกษตร-ไร่นา ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง
วิถีชีวิตของผู้คนที่กุสุมาลย์ยังคงเรียบง่าย เเละอยู่กันอย่างสงบสุข ส่วนงานด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวไทโส้ อำเภอกุสุมาลย์ พบว่าด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยโส้ พบว่าชาวไทโส้ มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง ดังเช่น การละเล่นพื้นบ้าน การเล่นโส้ ทั้งบั้ง การเล่นรำลายกลอง และภาษาพูดของตนเอง
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทโส้ พบว่า มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทโส้ให้เกิดความรัก ความผูกพันและสามัคคีกัน เช่น พิธีกรรมการเหยาเลี้ยงผีประจำปี เหยาเลี้ยงผีมูล เหยาเลี้ยงผีน้ำ พิธีกรรมการเหยาเรียกขวัญ เหยารักษาคนป่วย เหยาแก้บนส่วนในด้านประเพณี ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การแต่งงาน การตาย และประเพณีอื่น ๆ ด้านความเชื่อ พบว่า ชาวไทโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ ภูตปีศาจ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา และมีความศรัทธาในการทำบุญควบคู่กับการนับถือผีประเภทต่าง ๆ และพิธีกรรมจนกลายเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต
ชาวบ้านตำบลกุสุมาลย์ ประกอบด้วยบ้านกุสุมาลย์ หมู่ที่ 1, บ้านอีกุด หมู่ที่ 2, บ้านกกส้มโฮง หมู่ที่ 3, บ้านหนองหอย หมู่ที่ 4, บ้านกุสุมาลย์ หมู่ที่ 5, บ้านกุสุมาลย์ หมู่ที่ 10, บ้านโนนหอม หมู่ที่ 11 และบ้านอีกุดหมู่ที่ 13 มีภาษาพูด คือ ภาษาโซ่ ส่วนบ้านนิรมัย หมู่ที่ 4, บ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 5, บ้านนาล้อม หมู่ที่ 7, บ้านนิรมัย หมู่ที่ 12 จะพูดภาษาไทยอีสาน หรือภาษาลาว และมีภาษาภูไท ปะปนเล็กน้อย และการติดต่อศูนย์ราชการใช้ภาษาไทย
ความโดดเด่นเเละท้าทายท่ามกลางกระเเสการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ เช่น ภาษาถิ่น (โส้) ค่อย ๆ สูญหายไปจากชุมชน ถูกลดความสำคัญลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล ส่วนประเพณีพิธีกรรมยังได้รับการอนุรักษ์สืบสานกันเรื่อยมา
องค์การบริหารส่วนตำบลกุสุมาลย์. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565) องค์การบริหารส่วนตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร. สืบค้นจาก https://www.kusuman.go.th/
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกุสุมาลย์. (2564). พช.กุสุมาลย์ ติดตามสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP อาหารปลอดภัย. สืบค้นจาก https://district.cdd.go.th/kusuman/