Advance search

บ้านท่าวัด

ชุมชนโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เเละปัจจุบันได้รับการยกระดับให้เป็นชุมชนการท่องเที่ยว

หมู่ 3-9
บ้านท่าวัด
เหล่าปอแดง
เมืองสกลนคร
สกลนคร
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
17 ก.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
20 ก.ค. 2023
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
1 ส.ค. 2023
บ้านท่าวัด

จากคำบอกเล่าของ นายพูลสวัสดิ์ มูลตองคะ ผู้รู้ทางด้านประวัติศาสตร์ของชุมชนเล่าว่า ชื่อ บ้านท่าวัด สันนิษฐานจากการตั้งชุมชนติดกับริมหนองหารเเละมีวัดของชุมชนจำนวน 2 วัด ที่ตั้งอยู่ริมหนองหาร ชาวบ้านในอดีตที่สัญจรทางน้ำไปมาหาสู่กันจึงเรียกที่นี้ว่า "บ้านท่าวัด" 


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เเละปัจจุบันได้รับการยกระดับให้เป็นชุมชนการท่องเที่ยว

บ้านท่าวัด
หมู่ 3-9
เหล่าปอแดง
เมืองสกลนคร
สกลนคร
47000
เทศบาลตำบลเหล่าปอแดง โทร. 0-4216-0230
17.14198735
104.2393273

บ้านท่าวัด” เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ ผู้คนใช้ชีวิตริมหนองน้ำสำคัญนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมายังยุคทวารวดี ขอม และล้านช้าง ดังเห็นจากหลักฐานเป็นกลุ่มเสมาหินทรายและพระพุทธรูปหินทรายในรูปแบบศิลปะยุคทวารวดี ฐานโยนีสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากยุคขอม ทั้งการขุดพบศิลาจารึกอักษรไทน้อยที่ใช้ในสมัยล้านช้าง แสดงหลักฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณที่รุ่งเรืองมาก่อน รัตนโกสินทร์ตอนต้นบริเวณบ้านท่าวัดกลายเป็นบ้านเมืองร้าง การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านท่าวัดที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 170 กว่าปีที่แล้ว จากนั้นกลุ่มคนเชื้อสายลาวที่เป็นบรรพบุรุษของคนรุ่นปัจจุบันรวมตัวและกลับเข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานที่บริเวณริมหนองหารตรงบ้านท่าวัดนี้ก่อนเป็นรุ่นแรก ต่อมาเริ่มมีคนจากถิ่นอื่น อย่างชาวญ้อ ชาวกะเลิง จากบ้านงิ้วด่อน และพวกกลุ่มผู้ไท โซ่ ลาว จากบ้านหนองผือ อพยพหนีแล้งที่ติดต่อกันมานานเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน กลายเป็นชุมชนบ้านท่าวัดที่มีคนหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

 บ้านท่าวัดมีคนหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันแบบพี่น้องช่วยเหลือกัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าศาลาและบ้านจอมแจ้ง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดอนยางและบ้านป่าแพง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดอนแก้ว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองสระ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ ลักษณะทั่วไปเป็นพื้นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ติดกับหนองหาร เป็นทุ่งนา ลักษณะเป็นที่ราบลุ่มสลับกับที่ดอน มีลำน้ำพุงและลําห้วยสาครไหลผ่าน พื้นที่เหมาะสําหรับการทํานาข้าวและปลูกพืชผักหลังฤดูเก็บ ใกล้ปากน้ำก่ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงจึงทำให้หมู่บ้านท่าวัดเป็นหมู่บ้านใหญ่มีคนอาศัยต่อเนื่องมาหลายยุคสมัย

ข้อมูลประชากร(จากข้อมูล จปฐ,ประจำปี 2565) ได้ระบุจำนวนครัวเรือน และจำนวนประชากรเพศชาย/หญิง ไว้ดังนี้ จำนวนครัวเรือนมีจำนวนทั้งหมด 349 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 603 คน จำนวนประชากรหญิง 610 คน รวมทั้งสิ้น 1,213 คน คนในชุมชนสัญชาติไทย แต่มีความลากหลายทางชาติพันธ์ โดยมีไทญ้อ ไทกะเลิง ผู้ไท กะโซ่ ลาว

กะเลิง, ญ้อ, ผู้ไท, โส้

มีกลุ่มอาชีพเสริมต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น กลุ่มแปรรูปอาหาร (ปลาร้า, ปลาส้ม, ปลาแดดเดียว) กลุ่มอาชีพแพหนองหาร เนื่องจากการนิยมเที่ยวบึงน้ำ ทำให้คนในชุมชนทำอาชีพแพท่องเที่ยว

วิถีชีวิตของคนในชุมชนมีความผูกพันธ์กับหนองหารและศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังนับถือผีเรียกว่า "ผีปู่ตา" ซึ่งดูแลรักษาไร่นา โดยมีการทำพิธีบูชา มีการสืบทอดประเพณีฮีตสิบสองคลองสิบสี่

ประเพณีสำคัญที่ผูกพันกับคนบ้านท่าวัดและแถบลุ่มน้ำหนองหารมาอย่างยาวนาน คือ ประเพณีการแข่งเรือยาว บ้านท่าวัดถือเป็นหมู่บ้านแรกเริ่มที่จัดประเพณีแข่งเรือ ชาวบ้านเล่ากันว่า ผู้ริเริ่มประเพณีแข่งเรือและสร้างเรือขึ้นลำแรกชื่อ "เรือนางก้อนคำไหล" คือ นายไก่ นนท์สะเกษ ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านท่าวัด พอนายไก่เสียชีวิตลง ประเพณีการแข่งเรือก็ซบเซา จนมาถึงสมัยนายทอง ดาบสีพาย ได้ฟื้นฟูประเพณีแข่งเรือขึ้นอีก และต่อ "เรือนางคำไหล" เป็นลำที่ 2 จนเมื่อหมดช่วงอายุของนายทอง เรือนางคำไหลชำรุดผุพังจึงต่อเรือขึ้นอีกเป็นลำที่ 3 โดยนายเกียน หอมจัน ใช้ชื่อว่า "เรือนางคำไหลหงษ์ทะยาน" และลำที่ใช้แข่งปัจจุบันเป็นลำที่ 4 สร้างโดยนายชู ชมจันทร์ มีชื่อว่า "เรือนางพญาคำไหล" เรือนางคำไหลที่เห็นในภาพน่าจะมีอายุเก่าแก่ที่สุดในสกลนคร เป็นการพายโชว์ผู้หลักผู้ใหญ่ก่อนการแข่งเรือ มีการตีฆ้องร้องรำฟ้อนกันเพื่อความฮึกเหิมและสนุกสนาน บริเวณพื้นที่หัวเรือจะมีขนาดยาวและมี เป้ามดแดง ห้อยประดับ นายหัวเรือจะนั่งและขย่มหัวเรือเพื่อปลุกใจฝีพาย เมื่อชนะจะลุกขึ้นยืนรำฟ้อนบนหัวเรือ โดยมีกองเชียร์ร้องรำกันอย่างสนุกสนาน เป็นการรำพื้นบ้านธรรมดา ปัจจุบันกลายเป็นการรำแข่งขันเพื่อเอารางวัล ส่วนตรงกลางเรือจะเป็นที่นั่งของ แม่ย่านางเรือ ใส่ชุดสีขาวนุ่งโสร่ง มีผ้าโพกหัวและผ้าลายพาดบ่า จะเป็นคนทรงเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาลงเรือไปด้วย เชื่อว่าจะนำชัยชนะและความสำเร็จมาให้

1. นายพูลสวัสดิ์ มูลตองคะ : มีความโดดเด่นด้านประเพณี วัฒนธรรม

2. นายเหลือ หลาบเหมทุม : มีความโดดเด่นด้านจักสาน

3. นายขันธ์ มูลทองสุข : มีความโดดเด่นด้านจักสาน

แหล่งโบราณคดีบ้านท่าวัด แหล่งโบราณคดีแบ่งเป็น 3 แห่ง ตามที่ตั้งของวัด ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุ ดังนี้

1.วัดเหนือ หรือปัจจุบันมีชื่อว่า วัดมหาพรหมโพธิราช วัดเหนือหรือวัดมหาพรหมโพธิราช ป็นวัดที่มีโบราณวัตถุที่สำคัญหลายอย่าง เช่น เศียรพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี ศิลาทรายศิลปะแบบทวาราวดี นอกจากนั้นยังมีเนินดินเชื่อว่าเป็นสิมร้างมาก่อน ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดสมัยเดียวกับวัดกลางและวัดใต้และยังมีวัตถุโบราณที่พบภายหลังอีกหลายอย่าง 

2.วัดกลาง หรือวัดกลางศรีเชียงใหม่ เป็นแหล่งที่มีเสมาหินจำนวนมากปักอยู่ 8 ทิศซ้อนกัน เสมาหินทั้งหมดมีแกนกลางเป็นรูปสถูป มีหม้อน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์นับว่าเป็นเสมาหินรุ่นเก่าในจำนวน 3 รุ่นของสมัยทวาราวดี คือรุ่นที่ 1 มีสถูปหรือพระพุทธรูปยืนเป็นแกนกลาง รุ่นที่ 2 มีภาพพุทธประวัติหรือชาดกอยู่กลาง รุ่นที่ 3 ฐานเสมาหินจำหลักบัวคว่ำบัวหงายกับรูปเทวดามนุษย์ ทรวงทรงงามกว่ารุ่นที่ 3 กลุ่มเสมาหินวัดกลางศรีเชียงใหม่เป็นกลุ่มเสมาหินที่ปักอยู่บนแผ่นดิน มีบางส่วนที่ปักจมเหลือแต่ส่วนยอด แต่บางส่วนวางตั้งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าเป็นของดั้งเดิม มิได้นำมาจากที่อื่น นอกจากเสมาหินแล้วยังมีเนินดินที่เชื่อว่า เป็นสิมร้างมาก่อน แสดงว่าเป็นวัดวาอารามยุคสมัยเดียวกับวัดใต้และวัดเหนือ 

3.วัดใต้ หรือวัดป่าเอวขันธ์วิปัสสนาวาส วัดใต้แต่เดิมเป็นวัดร้างเหลือแต่ฐานสิม คาดว่าปล่อยให้ร้างมานานแล้วนอกจากจะไม่มีการบูรณปฏิสังขรณ์มานานแล้ว ในฤดูน้ำบางปีน้ำก็ท่วมตลิ่งกัดเซาะทำให้สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ชำรุด จึงเหลือแต่ฐานโบสถ์กับฐานชุกชีที่เป็นที่ตั้งพระพุทธรูป ที่ชาวบ้านเรียกว่า "เอวขันธ์" จึงตั้งชื่อว่า "วัดป่าเอวขันธ์วิปัสสนาวาส​" ทะเลสาบหนองหาร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาตะวันออกเฉียงเหนือ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองจากบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของคนในชุมชน ชาวบ้านมีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับหนองหาน ทั้งการใช้ชีวิตและการหากิน

ในท้องถิ่นพบการใช้ภาษา ไทญ้อ ไทกะเลิง เเละผู้ไท


การนิยมเที่ยวแหล่งธรรมชาติทำให้บ้านท่าวัดมีความเปลี่ยนแปลง ปรับทัศนียภาพในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว การทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีกิจกรรมการล่องแพหนองหาร การชมพระอาทิตย์ขึ้นริมหนองหาร ซึงอยู่บริเวณท่าน้ำของบ้านท่าวัด การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

ชาวบ้านมีการนำปลามาแปรรูปอาหารต่างๆ เช่น ปลาส้ม ปลาร้า ปลาแดดเดียว 

นิยม เวชกามา. (2534, 11 ธันวาคม). ริมหนองหาร แหล่งทวาราวดีที่ใหญ่ที่สุด บ้านท่าวัด. มติชน, น. 11.

สุรัตน์ วรางรัตน์. (2537). ประวัติศาสตร์สกลนคร. ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยลัยครูสกลนคร

องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าปอแดง. (2565). ข้อมูลพื้นฐานชุมชน(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.laopodaeng.go.th/