ชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล” ด้านวัฒนธรรมยังคงสืบสานและปฏิบัติตามจารีตประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่
ชุมชนบ้านโนน ตั้งถิ่นฐานบริเวณที่มีลักษณะเป็นที่เนินสูง ซึ่งภาษาท้องถิ่น เรียกว่า "โนน" จึงกลายเป็นชื่อของชุมชนบ้านโนน
ชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล” ด้านวัฒนธรรมยังคงสืบสานและปฏิบัติตามจารีตประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่
ประวัติความเป็นมาของบ้านโนน หมู่ที่ 4 ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้ บ้านโนน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2185 คนกลุ่มแรกที่มาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านโนน ได้แก่
- นายเสมอ บัวเรียน
- นายเกด ดอนเมือง
- นายแสวง เกาะแก้ว
- นายบุญศรี เปาะแก้ว
ภายหลังได้มีกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้ คือ กลุ่มคนที่เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี สาเหตุที่ต้องย้ายไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่าง ๆ เพื่อต้องการหาแหล่งทรัพยากรที่มีความอุดมสบูรณ์ เพื่อดำรงชีพล่อเลี้ยงตนเองเเละสมาชิกในครอบครัว บางส่วนได้โยกย้ายจากอุบลราชธานีไปอยู่ที่ศรีสะเกษ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่จันทบุรี อาศัยอยู่จันทบุรี 30 ปี จึงย้ายมาอยู่ที่บุรีรัมย์ ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ที่พยัคฆภูมิพิสัย ย้ายลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเลา และมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโนนงิ้ว มีบางส่วนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโนนน้ำล้อมซึ่งก็คือ บ้านโนน ในปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ จดกับ บ้านหนองงัวบา ตำบลงิ้วบา อำเภอวาปีปทุม ประมาณ 2 กิโลเมตร
- ทิศใต้ จดกับ บ้านโนน หมู่ที่ 3 ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม
- ทิศตะวันออก จดกับ บ้านหนองแวง หมู่ที่ 6 ตำบลขามป้อม ประมาณ 2 กิโลเมตร
- ทิศตะวันตก จดกับ บ้านโนนหมู่ที่ 12 ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม
ชุมชนบ้านโนนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว ประกอบด้วยจำนวนประชากร 342 คน จำนวนครัวเรือน 104 ครัวเรือน มักตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเครือญาติเรียงติดต่อกัน วัสดุที่ใช้สร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่จะ เป็นไม้-อิฐบล็อก-ปูน ภายในบริเวณหมู่บ้านมีทั้งบ้านไม้ชั้นเดียว และบ้านสองชั้น ซึ่งสร้างด้วยครึ่งไม้ครึ่งปูน
ประชาชนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก รายได้ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน มาจากการทำนา บ้านโนน หมู่ที่ 4 มีพื้นที่ทำการเกษตรทำหมด 1336.5 ไร่ แยกเป็น พื้นทีป่า1 (นาดำ)1334.2 ไร่ ที่สวน 2.3 ไร่ น้ำที่ใช้ทำนาอาศัยน้ำฝนและจากห้วยทองหลาง อาชีพเสริมรายได้เลี้ยงสัตว์ โค-กระบือ หมู เป็ด ไก่ เลี้ยงไหม ทําเครื่องจักสาน (สานตาข่าย, สานกระติบข้าว)
การทำบุญหรือประเพณีต่าง ๆ โดยอาศัยหลักในการปฏิบัติคือ "ฮีตสิบสอง" ซึ่งหมายถึงประเพณีการทำบุญและพิธีกรรมในรอบ 1 ปีหรือ 12 เดือน ปัจจุบันประเพณีบางอย่างได้เลิกปฏิบัติไปแล้ว เนื่องจากขาดผู้นำในการปฏิบัติและบางประเพณีมีเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติไปเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยประชาชนในหมู่บ้าน มีการไปทำงานยังต่างถิ่นกันมาก ประเพณีที่หายไป เช่น ประเพณีสู่ขวัญข้าว, ลงแขกเกี่ยวข้าวบุญบั้งไฟ เป็นต้น ประเพณีที่ยังถือปฏิบัติกันในรอบหนึ่งปีของหมู่บ้าน มีดังนี้
- เดือนมกราคม : ทำบุญขึ้นปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ : บุญข้าวจี่
- เดือนมีนาคม : บุญพระเวชสันดรและเทศน์มหาชาติ
- เดือนเมษายน : เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม : ประเพณีบุญบังไฟ
- เดือนมิถุนายน : ประเพณีเลี้ยงดอนปู่ตา
- เดือนกรกฎาคม : วันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน : บุญข้าวสารท
- เดือนตุลาคม : บุญตักบาตรเทโวและบุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน : บุญทอดกฐินและประเพณีลอยกระทง
- เดือนธันวาคม : บุญกุ้มข้าว
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม การแก้ไขพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยรัฐบาลจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกองทุนละ 1 ล้านบาท สำหรับเป็นแหล่งเงิน ทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการเงินกองทุนของตนเอง เพื่อสร้างศักยภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบาย "คิดเอง บริหารจัดการเอง โดยประชาชน เพื่อประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง" สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองบ้านโนน หมู่ที่ 4 ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้ขึ้นทะเบียนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านแล้ว เมื่อวันที่ 29 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544
ผู้คนในชุมชนใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นใช้สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน และใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการ
สภาพปัญหาที่ชุมชนประสบ
- ประชาชนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น ผลผลิตทุกอย่างต้องซื้อ-ขายทั้งนั้น
- ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาชนในหมู่บ้านต้องอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่นปล่อยให้คนชราเลี้ยงดูบุตรหลานตามลำพัง
- ปัญหาเยาวชนมั่วสุมอบายมุขและสิ่งเสพติดเนื่องจากขาดความอบอุ่นและความเข้าใจอยาก ลองอยากรู้เป็นสาเหตุของการลักขโมยเกิดขึ้นในหมู่บ้าน
สาเหตุที่ชุมชนเกิดปัญหาเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร จึงทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง อย่างมากในทุก ๆ ด้าน เป็นต้นว่าประชาชนมีค่านิยมที่เปลี่ยนไป คือ นิยมและเชิดชู เงินตรามากกว่าความดี มีความนิยมในวัตถุมากขึ้นละเลยต่อคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย ความเข้าใจวัฒนธรรมในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีของวิถีชีวิตลดลง ชุมชนโดยรวมจะขาดการประชาสัมพันธ์ การประสานงานที่ต่อ เนื่องและสม่ำเสมอ ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง เสียสละ และมีจิตสำนึกที่ดีในการพัฒนาชุมชนที่สมดุลและยั่งยืน
แนวทางการแก้ไข ควรส่งเสริมความสำคัญของครอบครัว สร้างจิตสำนึกที่ดีให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีขึ้นในชุมชน ส่งเสริมกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้มีความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ปัจจุบันป่าไม้มีจำนวนลดน้อยลง แทบจะไม่เหลือเป็นป่า เพราะชาวบ้านได้ปรับพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเกือบทั้งหมด ที่เหลือเป็นเพียงป่าละเมาะ ที่มีต้นไม้ขึ้นบ้าง แต่ก็พอที่จะหาอาหารจากป่าเหล่านั้นได้บ้าง เช่น นก ไข่มดแดง เป็นต้น หนองน้ำ มีหนองเมืองและหนองงิ้ว เป็นหนองน้ำประจำหมู่บ้านใช้สำหรับทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ สามารถใช้น้ำได้ตลอดปีสภาพดิน เป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเกษตร ถ้าปีไหนฝนไม่ตกก็จะแห้งแล้ง มาก ถ้าปีไหนฝนตกชุกก็เกิดน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มกับการลงทุน
เอมอร ประจะเนย์. (2545). การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านโนน ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวาปีปทุมจังหวัดมหาสารคาม. (2564). กิจกรรมเอามื้อสามัคคี หมู่ 4 ตำบลขามป้อม. สืบค้นจาก https://district.cdd.go.th/wapi/