ผู้คนในชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการเกษตร
พื้นที่ที่มาตั้งหมู่บ้านเดิมเป็นป่าไผ่ที่แก่เต็มที่และมีดอก จึงเรียกดอกนั้นว่า ดอกขี ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อหมู่บ้าน
ผู้คนในชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการเกษตร
ชุมชนบ้านขี ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2315 โดยนายสุโพธิ์ และชาวบ้านอีก 4 ครอบครัว เดินทางมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อมาหาที่ปลูกสร้างบ้าน และที่ทำมาหากิน คนในชุมชนอยู่กันแบบฉันท์พี่น้อง เคารพผู้อาวุโสเป็นที่ตั้ง ต่อมามีลูกหลานมากขึ้นจนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2469 ชาวบ้านได้เชิญให้นายหอม นาสุริวงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก การปกครองสมัยนั้นมีผู้ใหญ่บ้านแต่ไม่มีการสมัครแข่งขันกันเพียงเห็นว่าคนใด เหมาะสมที่จะปกครองหมู่บ้านให้เป็นสุข คนเฒ่าคนแก่ก็ร่วมกันนำเกราะไปแขวนไว้ที่หน้าบ้านคนนั้น แสดงว่ายกให้คนนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านเลย
ในปี พ.ศ. 2490 นายจวง วงหาแทน เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำหน้าที่จนเกษียณอายุราชการ เมื่อตำแหน่งว่างลงได้ให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือนายเคน พรรณภักดี ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ปกครองจนเกษียณอายุ ต่อมาได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นคนแรก โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแบบประชาธิปไตย การปกครองของชาวบ้านสมัยนั้นขึ้นตรงต่อตำบลท่าขอนยาง ต่อมาก็ได้แยกการปกครองเป็นตำบลนาสีนวน บ้านขีก็ขึ้นตรงกับตำบลนาสีนวน และเป็นตำบลเขวาใหญ่ โดยนายพล ไชยรัตน์ ได้เป็นกำนันคนแรกของตำบลเขวาใหญ่
หมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,250 ไร่ พื้นที่บ้านเรือน 137 ไร่ บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของหมู่บ้าน หมู่ 19 เป็นที่ค่อนข้างราบ ลักษณะการตั้งหมู่บ้านรวมกันเป็นกลุ่มปลูกบ้านใกล้เคียงกัน ยกพื้นสูง แต่ปัจจุบันมีหลายครอบครัวทำสร้างบ้านก่อด้วยคอนกรีตหรือบ้านแบบสองชั้น เช่นเดียวกับในเมือง ลักษณะของบ้านเรือนเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงฐานะของครอบครัว
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขี หมู่ที่ 13
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่ทุ่งนา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านขี หมู่ที่ 5
บ้านขี หมู่ที่ 19 ข้อมูลครอบครัว ปี พ.ศ 2564 มีประชากรทั้งหมด 233 คน และจำนวน 81 ครัวเรือน
ในหมู่บ้านมีการรวมกลุ่ม องค์กรต่า งๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มผู้ใช้น้ำการเกษตร กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน
อาชีพหลักของสมาชิกในหมู่บ้านคือ เกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์วิธีการผลิต ยังคงยึดถือระบบเก่าสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ คือการเกษตรอาศัยแรงงานตามธรรมชาติ จากคนเป็นหลัก นอกนั้นผลผลิตยังคงต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ประชากรที่มีอาชีพทางการเกษตร แม้ว่ามีอิทธิพลของเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมจะแพร่ขยายเข้ามาและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ชาวบ้านมาเป็นชุมชนแบบอุตสาหกรรมก็ตาม แต่มิได้หมายความว่า วิถีชีวิต โครงสร้างของชุมชน ทัศนคติ ตลอดจนค่านิยมของชาวบ้านจะเป็นอุตสาหกรรมไปด้วย
วิถีชีวิตของคนในชุมชนยังคงทำเกษตรกรรม พึ่งพาธรรมชาติในการทำเกษตร
ผู้คนในชุมชนใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน และใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการ
การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกกิจในชุมชน ตั้งแต่การมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านขีมีการดำรงชีพโดยการปลูกข้าวซึ่งมีทั้งนาดำและนาหว่าน เป็นการผลิตที่เน้นการบริโภคและแลกเปลี่ยนสิ่งของ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเป็นอาชีพเสริม เลี้ยงไหมในปริมาณเล็กน้อยเพื่อสืบทอดวัฒนธรรม
ทรัพยากรบ้านขี คือ ดิน น้ำ และป่าไม้ตามที่สวนและไร่นา ซึ่งเหลือน้อยมาก พื้นที่ดินค่อนข้างเป็นดินทราย ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างน้อย มีแหล่งน้ำตามที่นาสวนป่ามีบ้า งไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ส่วนทางด้านการเกษตรชาวบ้านทำนาโดยอาศัยธรรมชาติ น้ำฝนและปลูก พืชผักตามฤดูกาล
สภาพทางกายภาพของบ้านขีเปลี่ยนแปลงจากป่าไม้เคยอุดมสมบูรณ์และทุ่งหญ้าที่เหมาะสมเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันเป็นหุ่นนามีผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้จำนวนสัตว์เลี้ยงในแต่ละครัวเรือนลดลง สภาพแหล่งน้ำธรรมชาติช่วงแรกอุดมสมบูรณ์ ก็เกิดการขาดแคลน แต่เมื่อมีการขุดคลองน้ำขนาดใหญ่ก็เพียงพอต่อการใช้งาน
อรวรรณ ทองเจริญ. (2545). การจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านขี หมู่ 19 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
อรวรรณ ทองเจริญ. (2545). รายงานการศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านขี หมู่ที่ 19 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม