ชุมชนที่คนส่วนใหญ่รับจ้างตัดเย็บผ้า หมอน ผ้าห่ม จนเกิดการสร้างอาชีพใหม่ นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ด้านการเรียนให้กับบุตรหลานในชุมชน
ที่มาชื่อบ้านนามเมืองของหมู่บ้าน เล่าสืบกันมาว่าบ้านหนองมะแปบตั้งชื่อชุมชนมาจากหนองน้ำที่มีเครือมะแปบเกิดขึ้นในหนองน้ำเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านหนองมะแปบ"
ชุมชนที่คนส่วนใหญ่รับจ้างตัดเย็บผ้า หมอน ผ้าห่ม จนเกิดการสร้างอาชีพใหม่ นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ด้านการเรียนให้กับบุตรหลานในชุมชน
ชุมชนบ้านหนองมะแปบตั้งขึ้นในปี 2494 มีจำนวนผู้คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ประมาณ 10 ครัวเรือน โดยมีพ่อใหญ่จันชาโสเป็นผู้พามาทำการก่อตั้งชุมชนและมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายบาง ศรีหามาถ ในช่วงนั้นการเดินทางใช้เกวียนเป็นพาหนะหลัก ส่วนสภาพของถนน (ทางเวียน) เป็นขี้โคลน หมู่บ้านยังมีป่าล้อมรอบอยู่ ผู้คนต้องพาอาศัยน้ำฝนในการเกษตร อุปโภค-บริโภค การหาอยู่หากินเป็นแบบพี่งพาธรรมชาติ
ในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ผู้คนได้ลงทุนกับการปลูกปอทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีการปลูกปอและนำไปขายทำให้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การทำปอขายทำให้มีเงินเก็บประมาณปีละ 3 ล้านบาท ในช่วงนั้นทำให้หมู่บ้านมีการขยายตัวมากขึ้นและเริ่มขยายตัวมากขึ้นอีกจากบ้านที่มุงหญ้าก็มีการมุงสังกะสี และเมื่อปอราไม่ดีก็มีการเลิกปลูกประมาณ ปี พ.ศ.2510
ปี 2514 มีการทำนาเพิ่มมากขึ้น ผู้คนนำข้าวไปขายโรงสี ส่วนน้ำที่ผู้คนใช้อุปโภค-บริโภค ได้รวมแรงร่วมใจกันขุดบ่อน้ำหนองมะแปบ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการใช้น้ำของผู้คน นอกจากนี้หนองมะแปบยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถมาจับปลา สำหรับนำไปเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว กรณีเกิดภัยแล้งผู้คนไม่สามารถทำนาได้ ทำให้บางครอบครัว ต้องนำปลาที่หาได้ไปแลกข้าวเปลือกที่จังหวัดกาฬสินธุ์
ปี 2527 ได้เริ่มมีการทำถนน ขุดสระอยู่ที่วัด รับจ้างทำมาหากินจากการทำถนนของหมู่บ้าน ผู้คนในหมู่บ้านยังคงใช้น้ำส่างในหมู่บ้านในการกิน จำนวนหลังคาเรือนในตอนนั่นก็เพิ่มขึ้นประมาณ 40 หลังคาเรือน แต่ยังรวมกับบ้านโนนข่า และมีการเริ่มขุดสระทำถนนดีขึ้นเป็นถนนลูกรัง เริ่มมีไฟฟ้าและน้ำประปา แต่ชาวบ้านยังคงใช้น้ำส่างอยู่ คนเริ่มเข้ามาอยู่ประมาณ 40-50 หลังคาเรือน ประมาณปี 2539 แยกการปกครองตั้งมาเป็นบ้านหนองมะแปบ มีประมาณ 80 หลังคาเรือน นายศรี เป็นผู้ใหญ่บ้าน เริ่มมีการทำถนนเป็นคอนกรีตและขยายให้กว้างขึ้นเปลี่ยนการปกครองมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลและเริ่มมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านหนองมะแปบมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำการเกษตร การเพาะปลูก การปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์เลี้ยงโคกระบือ คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเกษตรกรและมีอาชีพเสริมคือการรับจ้างตัดเย็บชุดเครื่องนอน หมอน จากโรงงานขายผ้าห่ม ชุดเครื่องนอนบ้านเสียว อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ชุมชนบ้านหนองมะแปบมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 90 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 300 คน แบ่งเป็นชาย 145 คน และหญิงจำนวน 155 คน
คนในชุมชนบ้านหนองมะแปบมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันคือ ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ โดยมีการประกอบพิธีกรรมตลอดทั้ง 12 เดือน ในพิธีกรรมเหล่านี้เกิดจากความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่มีมานานปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อมา ประเพณีที่มีความสำคัญของชุมชน ได้แก่ บุญซำฮะ (บุญเบิกบ้าน) บุญซำฮะ นิยมทำกันในเดือนเจ็ดเป็นบุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจันไรอันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง การชำระล้างสิ่งที่สกปรกรุงรังให้สะอาดปราศจากมลทินคือความมัวหมองเรียกว่าการชำระ สิ่งที่ต้องชำระให้สะอาดนั้นมีอยู่สองอย่างคือ หนึ่งความสกปรกภายนอก ได้แก่ ร่างกายเสื้อผ้าอาหารการกินที่อยู่อาศัย สองความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตใจที่เกิดจากความโลภ โกรธ หลง จำเป็นต้องชำระโดยการทำบุญการทำทาน เพื่อจะไม่ให้บ้านเมืองเดือดร้อน
ภาษาที่ประชาชนชาวบ้านหนองมะแปบใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในหมู่บ้านคือ ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาประจำท้องถิ่น และมีการใช้ภาษากลางหรือภาษาไทยเป็นภาษาทางราชการ
นายสมพงศ์ หลวงเงิน (ผู้ให้สัมภาษณ์). ไกรวิทย์ นรสาร (ผู้สัมภาษณ์). สถานที่ศาลาประชาคมบ้านหนองมะแปบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564.
นายมุน ศรีหานาถ (ผู้ให้สัมภาษณ์). ไกรวิทย์ นรสาร (ผู้สัมภาษณ์). สถานที่ศาลาประชาคมบ้านหนองมะแปบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564.