Advance search

สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านที่เรียบง่ายบนเกาะที่เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ด้วย “สะพานคอยร้อยปี” ชุมชน OTOP นวัตวิถี ทะเลทรายแสงแรกบนเกาะยาว เชยสุนทรียรสจากข้าวหอมกระดังงา อัตลักษณ์ของชาวตากใบ  

หมู่ที่ 1
เกาะยาว
เจ๊ะเห
ตากใบ
นราธิวาส
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 ส.ค. 2023
บ้านเกาะยาว


ชุมชนชนบท

สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านที่เรียบง่ายบนเกาะที่เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ด้วย “สะพานคอยร้อยปี” ชุมชน OTOP นวัตวิถี ทะเลทรายแสงแรกบนเกาะยาว เชยสุนทรียรสจากข้าวหอมกระดังงา อัตลักษณ์ของชาวตากใบ  

เกาะยาว
หมู่ที่ 1
เจ๊ะเห
ตากใบ
นราธิวาส
96110
6.263856825
102.0568527
องค์การบริหารส่วนตำบลพร่อน

ชุมชนเกาะยาวเป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 8 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีลักษณะเป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำตากใบและทะเลจีนใต้ มีปากอ่าวที่บรรจบด้วยแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำตากใบและแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งการเดินทางเข้าออกในอดีตของชาวบ้านเกาะยาวและคนภายนอกต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ ความเป็นมาของชุมชนเกาะยาวนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ปรากกฏเพียงว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลเจ๊ะเหเท่านั้น ซึ่งตําบลเจ๊ะเห เป็นตําบลหนึ่งของอําเภอตากใบ เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาชนติดต่อไปมาค้าขายกับประเทศมาเลเซีย มีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นภาษาสำเนียงที่มีความไพเราะแตกต่างจากภาษาถิ่นใต้ทั่วไป คือ ภาษาเจ๊ะเห ภาษาเอกลักษณ์ของชาวตากใบ

ชุมชนเกาะยาว เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่บนแนวสันทรายที่ทับถมก่อตัวจนกลายเป็นเกาะคั่นระหว่างทะเล และแม่น้ำตากใบ โดยจะมีปากแม่น้ำเชื่อมลงสู่ทะเล และด้วยสภาพภูมิประเทศที่ติดทะเลและแม่น้ำ ทําให้พื้นที่บริเวณเกาะยาวมีทรัพยากรชายฝั่งที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ริมฝั่งแม่น้ำมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าโกงกาง ป่าแสม ต้นลําพู และป่าจาก ส่งผลให้สัตว์น้ำในบริเวณนี้ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย สัตว์น้ำที่ได้จากแม่น้ำและทะเล ชาวเกาะยาวส่วนหนึ่งจะนําไปขายให้กับแม่ค้าในตลาดชุมชน และขายบริเวณชายฝั่งแม่น้ำ

การตั้งบ้านเรือนของผู้คนบนเกาะยาวจะสร้างบ้านเรือนติด ๆ กัน เนื่องจากคนในชุมชนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง บ้างก็มาอยู่บนที่ดินเพื่อมาอยู่เฝ้าสวนมะพร้าว บ้างก็เช่าที่ดินของผู้อื่น โดยจะสร้างบ้านเรือนเป็นกลุ่มญาติพี่น้องจะอยู่ติด ๆ กัน ทุกบ้านจะมีเรือประมงเกือบทุกหลัง แต่ปัจจุบันอาชีพการประมงในเกาะยาวลดน้อยลง เนื่องจากหนุ่มสาวส่วนมากไปทํางานรับจ้างตามร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย เพราะรายได้ดีกว่าการทำประมง

เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่อดมสมบูรณ์ และวิวทิวทัศน์ชายฝั่งที่งดงามสมกับคำขนานนามว่าเป็น “ทะเลทรายแห่งตากใบ” ทำให้เกาะยาวเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในอำเภอตากใบและเหล่านักท่องเที่ยว ในอดีตการจะเดินทางข้ามฝั่งไปเกาะยาวนั้นต้องใช้เรือในการโดยสาร แต่ด้วยความสามัคคีกันของชาวบ้าน จึงได้ลงเงินลงแรงร่วมกันทําสะพานเพื่อใช้ในการสัญจร 

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากร ตำบลเจ๊ะเห หมู่ที่ 1 บ้านเกาะยาว มีประชากรทั้งสิ้น 700 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 350 คน และประชากรหญิง 350 คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายกับประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับเปอกาลังกูโบร์ รัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยติดกับแม่น้ำจะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และจะมีประชาชนบางส่วนทํานาข้าว โดยข้าวที่นิยมปลูก คือ ข้าวหอมกระดังงา ผลผลิตทางการเกษตรอัตลักษณ์ของชาวตากใบ และปลูกพืชไร่เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน เหลือจําหน่ายบ้างเพียงเล็กน้อย รวมถึงมะพร้าวและพืชไร่ต่าง ๆ ผลผลิตส่วนใหญ่นํามาบริโภคภายในครัวเรือนเหลือจากการบริโภคจึงนำไปจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ ไก่ ฯลฯ การลอกใบจาก ซึ่งเป็นอาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้านบนเกาะยาว

อนึ่ง เนื่องจากชุมชนเกาะยาวเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรชายฝั่งอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีหาดทรายที่งดงาม ทำให้การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งภาคงานที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวเกาะยาว แต่ส่วนมากแล้วผู้ที่เข้ามาดำเนินการประกอบธุรกิจบริเวณชายหาดเกาะยาวนั้นจะเป็นคนนอกชุมชน ส่วนชาวบ้านเกาะยาวมีบทบาทเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น และจะยังมีบางส่วนที่นำเอาผลผลิตทางการเกษตร สัตว์ทะเล เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลและสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวบริเวณริมชายหาด 

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม รองลงมานับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดทางภาคใต้ที่มีความหลากหลาย ดังต่อไปนี้

  • ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี เป็นวันขอขมาต่อพระแม่คงคาด้วยการทํากระทงที่มีความสวยงามลอยลงในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งภายในวันนี้จะมีกิจกรรมการประกวดกระทง และการประกวดนางนพมาศด้วย

  • ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ภายในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งประเพณีดังกล่าวนี้เป็นประเพณีที่ประชาชนชาวไทยยึดถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  

  • ประเพณีการเข้าสุนัต เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนจะต้องขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเพื่อรักษาความสะอาด โดยจะกระทํากับเด็กที่มีอายุระหว่าง 7-13 ปี ภาษาท้องถิ่น เรียกว่า “มาโซะยาวี”

  • ประเพณีรดน้ำผู้สูงอายุ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13- 15 เมษายนของทุกปี โดยจะมีกิจกรรมทําบุญตักบาตร รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และรดน้ำพระพุทธรูป เป็นต้น

  • ประเพณีการจัดการแข่งขันเรือกอและ เรือยอกอง และเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานหน้าพระที่นั่งฯ ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีของจังหวัดนราธิวาสที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ ตําหนักทักษิณราชนิเวศน์

  • ประเพณีถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือเดือนที่ 9 ของปี ฮิจเราะฮ์ศักราช เป็นข้อปกิบัติว่าชาวไทยมุสลิมทุกคนจะถือศีลอดเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยการไม่รับประทานอาหารและน้ำในเวลากลางวัน เพื่อให้รู้จักความอดอยากยากจน และเพื่อให้คนที่มีอันจะกินได้เกิดจิตสํานึกมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และให้การช่วยเหลือหรือบริจาคทาน (ซากาต) ให้กับคนยากจน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สะพานคอยร้อยปี

สะพานคอยร้อยปี สะพานเชื่อมต่อระหว่างอำเภอตากใบกับชุมชนเกาะยาว มีความยาว 345 เมตร เดิมเป็นสะพานไม้เก่าที่ทอดยาวข้ามผ่านแม่น้ำตากใบจากตัวอำเภอตากใบไปสู่เกาะยาว แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานปูนทอดยาวขนาบไปกับสะพานไม้สายเก่า ชื่อของสะพานมาจากที่ว่าเมื่อก่อนชาวบ้านเกาะยาวจะเดินทางมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอต้องใช้เรือ กว่าจะมีการสร้างสะพานระหว่างเกาะยาวไปยังฝั่งที่ว่าการอำเภอต้องคอยเป็นเดือนเป็นปี จึงเป็นสาเหตุให้เรียกสะพานดังกล่าวว่า “สะพานคอยร้อยปี”

สะพานคอยร้อยปีแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำชุมชนเกาะยาวแล้ว ยังเป็นสถานที่ซึ่งมีเรื่องราวอันอาบด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตาจากความผิดหวังของชาวเกาะยาว เพราะกว่าจะได้มาซึ่งสะพานแห่งนี้นั้นช่างยากเย็นแสนเข็ญ

พ.ศ. 2527 นายวิรุณ อายารีฮา ผู้ใหญ่บ้านเกาะยาวในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำจากแผ่นดินใหญ่อำเภอเมืองตากใบมายังเกาะยาว โดยมีการประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้การเข้าออกมายังชุมชนเกาะยาวได้ง่ายและสะดวกขึ้น อีกทั้งยังเล็งเห็นประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การขนส่งผลิตภัณฑ์จากอาชีพของชาวบ้าน และด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนที่ไม่ต้องขึ้นเรือไปกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของชาวบ้าน ช่วงเวลานั้นผู้ใหญ่วิรุณได้มีการประชุมร่วมกับชาวบ้านในประเด็นการสร้างสะพานเชื่อมจากแผ่นดินใหญ่กับชุมชนเกาะยาว ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับชาวบ้านในสมัยนั้น เพราะนั่น คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านในการใช้ชีวิตใหม่บนเกาะที่จะมีสะพานมาเป็นตัวเชื่อม แต่ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่หวัง วันเดือนเคลื่อนผ่านเดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ก็ยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าจากหน่วยงานจังหวัดที่รับผิดชอบแต่อย่างใด จนมีชาวบ้านคนหนึ่งเอ่ยปากออกมาว่า “หรือเราต้องรอคอยเป็นร้อยปีก่อนถึงจะมีการสร้างสะพาน” ซึ่งต่อมาประโยคนี้กลายเป็นชื่อของสะพานดังกล่าว

ต่อมา ความฝันของชาวบ้านในชุมชนเกาะยาวก็เป็นจริง โครงการการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองตากใบกับชุมชนเกาะยาวได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการจนสร้างเสร็จสำเร็จลุล่วง แต่ชาวเกาะยาวก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เพราะสะพานที่สร้างขึ้นเป็นเพียงสะพานที่สร้างด้วยไม้ และใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึ พ.ศ. 2547 เป็นเวลาถึง 20 ปีเต็ม จนเสียหายพุพังไปตามกาลเวลา รถจักรยานยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ ชาวบ้านต้องข้ามด้วยการเดินเท้า แต่ก็ไม่เห็นวี่แววที่จะได้รับการซ่อมแซมแต่อย่างใด

เวลาล่วงเลยมาถึง 20 ปี ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบเมื่อปี 2547 หลังจากเกิดเหตุการณ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการสร้างสะพานใหม่ด้วยปูนซีเมนต์ กลาย ๆ เป็นการเยียวยาจิตใจชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ชาวบ้านเกาะยาวจึงได้มีสะพานปูนซีเมนต์เชื่อมต่อระหว่างบ้านเกาะยาวกับอำเภอเมืองตากใบดังเช่นปัจจุบัน 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงตากใบ หรือภาษาเจ๊ะเห

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

19 ปี เหตุการณ์ตากใบ : ความเกี่ยวโยงที่ไม่เกี่ยวข้องกับชาวเกาะยาว

ย้อนกลับไป 19 ปีก่อน ประชาชนกว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน มาชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน ซึ่งถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้ไป 6 กระบอก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่าแจ้งความเท็จ นำไปสู่เหตุการณ์การชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมสมทบมากถึงหลักพัน มีการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง มีผู้เสียชีวิตในทันที 7 ราย 1,370 คน ถูกจับกุมนอนซ้อนทับกันหลังรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย ศาลสงขลามีคำสั่งในสำนวนว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจและคดีไม่มีการสั่งฟ้อง ในจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้ง 1,370 คนนี้ มี 6 คน เป็นชาวเกาะยาว ซึ่งเหตุการณ์นี้ชาวเกาะยาวมองว่าเป็นตราบาปติดตัวทั้งที่ชาวเกาะยาวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมแต่อย่างใด เพียงแค่สงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเข้าไปมุงดูด้วย เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นฝั่งตรงข้ามของชุมชนเกาะยาว แต่กลับถูกเหมารวมไปด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเหตุการณ์การชุมนุมในครั้งนั้น เพียงเพราะว่าชุมชนเกาะยาวอยู่ใกล้ ๆ กัน

วันหนึ่ง อยู่ ๆ กระสุนปืนที่ถูกยิงข้ามฟากมาจาก สภ.ตากใบ แล้วมาโดนที่ขาของชาวบ้านคนหนึ่ง ทำให้บาดเจ็บสาหัสจนพิการ ซึ่งแม้จะได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องเกิดคำถามตามมาว่า แล้วเงินเยียวยาดังกล่าวนั้นคุ้มค่าหรือไม่กับชีวิตคน ๆ หนึ่งที่ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ต้องพิการไปตลอดชีวิต หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเท้าข้ามสะพานคอยร้อยปี จากหน้า สภ.ตากใบ เพื่อมายังชุมชนเกาะยาว พอมาถึงปลายทางของสะพานเจ้าหน้าที่ก็ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อไล่ต้อนให้ชาวบ้านที่หลบกระสุนอยู่ในขณะนั้นออกมารวมตัวกันข้างนอกบ้านเพื่อป่าวประกาศหาว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมบ้าง ทว่า โชคดีที่การปิดล้อมในครั้งนั้นไม่มีชาวบ้านคนใดโดนจับกุมตัวกลับไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 19 ปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนเกาะยาวกลับไม่เคยมีใครพูดถึง ทั้งที่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ ผลที่ชาวเกาะยาวได้รับหลังจากนั้น คือ ถูกจับกุม บ้านเรือนเสียหายจากกระสุนปืน บางคนถึงขั้นพิการเพราะโดนลูกหลง แต่การเยียวยาจากภาครัฐมีเพียงการสร้างสะพานคอยร้อยปีขนาบข้างกับสะพานไม้เก่าที่ผุพังใช้งานสัญจรไม่ได้เพื่อปลอบประโลมขวัญ และภาพชาวเกาะยาวก็ยังคงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมชุนตากใบมาจนปัจจุบัน 

เจอนี่เจอนั่น. (2564). “สะพานคอยร้อยปี” เกาะยาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://journeyjournal24.com/

ชุมชนท่องเที่ยววัดชลธาราสิงเห. (2561). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

ประจักษ์ เทพคุณ และคณะ. (2559). แนวทางการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนรากฐานของภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชุมชนวัดชลธาราสิงเห ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ทั่วถิ่นแดนไทย. (2564). ที่นี่ตากใบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

อาทิตย์ ทองจันทร์. (2565). 18 ปี สลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 โศกนาฏกรรมของมลายูปตานี. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://plus.thairath.co.th/

Google Earth. (2560). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Mimp Kunphai. (2564). และที่นี่คือตากใบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/