Advance search

ชุมชนต้นแบบแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องทวงสิทธิและความยุติธรรมจากหน่วยงานรัฐ ให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมและสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนชาวปากมาบพึงได้รับเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นที่อยู่บริเวณโดยรอบ ภายใต้การดำเนินการของกลุ่มประมงบ้านปากมาบพัฒนา

หมู่ที่ 8
ปากมาบ
บางแก้ว
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 ส.ค. 2023
บ้านปากมาบ


ชุมชนชนบท

ชุมชนต้นแบบแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องทวงสิทธิและความยุติธรรมจากหน่วยงานรัฐ ให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมและสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนชาวปากมาบพึงได้รับเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นที่อยู่บริเวณโดยรอบ ภายใต้การดำเนินการของกลุ่มประมงบ้านปากมาบพัฒนา

ปากมาบ
หมู่ที่ 8
บางแก้ว
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
75000
13.39323345
100.0288613
องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว

ราวปี พ.ศ. 2475-2485 มีครอบครัวจาก 3 ตระกูล ได้แก่ ศิริธรรม สิทธิศักดิ์ และมีประเสริฐ ได้เข้ามาหักร้างถางพงอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านปากมาบ ตอนนั้นสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างอดอยากเพราะทำประมงไม่เป็น อีกทั้งยังไม่มีเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพ จึงทำได้เพียงแค่หาสัตว์น้ำตามคูคลองหรือเรียบชายฝั่งทะเลด้วยวิธีการตกจั่นเพื่อจับปู วางเบ็ดราวเพื่อจับปลา ปักแร้วเพื่อจับปู เป็นต้น ประกอบกับราคาที่ไม่ดี ทําให้ได้เงินจํานวนน้อยนิด และความไม่คุ้มค่ากับการตรากตรําเพื่อจะฝ่าดินโคลนเดินทางเข้าไปขายสินค้าที่ตลาด รวมทั้งซื้ออาหาร เครื่องอุปโภคต่าง ๆ กลับมาใช้ ด้วยเหตุนี้จึงทําให้คนรุ่นต่อมาคิดหาหนทางไปจากหมู่บ้านนี้ เนื่องจากเห็นว่าหากยังอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ต่อไปคงต้องอดตายเป็นแน่ ในขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านบางคนไปทำงานรับจ้างเป็นลูกจ้างเรือประมงที่แม่กลอง บ้างก็ไปทำไร่สับปะรดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่ได้ประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างที่ผ่านมา ทําให้กล้าที่จะทําประมงมากขึ้นสามารถนําเรือออกไปหาสัตว์น้ำในระดับน้ำลึก ๆ และได้นำวิชาความรู้มาพัฒนาเครื่องมือในการทำประมงของตน

 40 ปีต่อมา (ประมาณ พ.ศ. 2502) ชาวบ้านที่อพยพไปอยู่ต่างถิ่นได้กลับมาปักหลักอยู่ที่ปากมาบอีกครั้ง โดยขยายออกเป็นครอบครัวต่าง ๆ เช่น ศิริธรรม มีประเสริฐ พลูทั่วญาติ นพแก้ว คชสาร และไตรญาณ เป็นต้น และเริ่มต้นทําอาชีพประมงของตนที่บ้านปากมาบนี้ โดยเริ่มการทําอวนลอยได้เพื่อจับปลากะพง ปลากุเลา มีการวางเบ็ดราวที่แข็งแรงออกไปในน้ำลึกมากขึ้น จากนั้นก็พัฒนาเป็นอวนลอยเอ็นที่เหนียวทนทานกว่าด้าย ซึ่งช่วยให้สามารถจับสัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง ได้จํานวนมาก ทําให้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ไม่อดอยากอีก ตลอดจนมีการนําเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการออกทะเลเพื่อทําประมงอย่างกว้างขวาง ทําให้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพมากขึ้น จนทําให้มีคํากล่าวใหม่ที่ว่า “ถ้าอยู่ปากมาบแล้วอดตาย ก็ไม่ต้องไปอยู่ที่ไหนแล้ว” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้มีเป็นจํานวนมาก เพียงพอที่จะ ทํามาหาเลี้ยงชีพตัวเองไปจนตลอดชีวิต

ที่ตั้งและอาณาเขต

สภาพพื้นที่ของหมู่ 8 บ้านปากมาบ มีเนื้อที่ทั้งหมด 785 ไร่ โดยมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวน 550 ไร่ อีกประมาณ 157 ไร่ ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และอีกประมาณ 78 ไร่ เป็นพื้นที่แหล่งน้ำและถนนหนทางในชุมชน ทั้งนี้ หมู่บ้านปากมาบมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 4 บ้านลัดกะปิ ตำบลบางแก้ว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเล (ดอนหอยหลอด) ตำบลบางแก้ว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 4 บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง

ลักษณะภูมิประเทศ

จากอาณาเขตพื้นที่บ้านปากมาบทั้งหมด 785 ไร่ ซึ่งมีทั้งบริเวณที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ป่าชายเลน ที่ราบชายฝั่ง และแหล่งน้ำ โดยจะอธิบายรายละเอียดของอาณาบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ที่ราบชายฝั่งทะเล มีพื้นที่ 392 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมด โดยเป็นป่าชายเลนที่ขนานไปกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีคลองปากมาบเป็นเส้นทางเข้า-ออกสู่ทะเล ในอดีตบริเวณนี้เคยอุดมไปด้วยป่าโกงกาง ป่าแสม และสัตว์น้ำนานาชนิด เพราะเป็นป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2500-2506 ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่ทำกิน โดยทำสวนจากและปลูกป่าโกงกางเพื่อทำฟืนและเผาถ่าน และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ป่าชายเลนก็ถูกแปรสภาพเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก ขนาดกลาง บ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา และบ้านเรือนจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรบริเวณป่าชายเลนและสัตว์น้ำลดจำนวนน้อยลง ทั้งนี้ ในบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลจะมีลักษณะเป็นดอนทรายขี้เป็ดที่เป็นตะกอนของแม่น้ำหลายสายมาทับถมกัน ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของหอยหลอดจำนวนมาก ทำให้การหาหอยหลอดเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านปากมาบหลายราย

  • พื้นที่ราบ 157 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ติดชายฝั่งทะเลและแหล่งน้ำในหมู่บ้าน บริเวณนี้จะมีการทำนากุ้งและทํานาเกลือจากน้ำทะเล ฉะนั้นเกลือที่ได้จึงเป็นเกลือสมุทรคุณภาพดี มีสารไอโอดีนตามธรรมชาติ ช่วงปี พ.ศ.2500 ชาวบ้านมีการประกอบอาชีพทํานาเกลือนี้กันมาก แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2532 กรมประมงฯสนับสนุนให้ทําอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดํากันมากเพราะผลตอบแทนสูง จึงมีนายทุนเข้ามาซื้อพื้นที่นาเกลือหรือเช่าที่แล้วปรับสภาพจากนาเกลือเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดํา พร้อมบุกรุกเขตป่าชายเลนประมาณ 58 ไร่ แต่ทําได้ไม่นานเพียง 5 ปี ก็เกิดปัญหามลภาวะทางน้ำ คือ น้ำเสียและเกิดโรคกุ้ง เช่น กุ้งเป็นเชื้อรา กุ้งเครียด เป็นต้น จึงทําต่อไปไม่ไหวและประสบภาวะที่เรียกว่า “กุ้งกินโฉนด” เนื่องจากการลงทุนที่สูงแต่ขาดทุนจนต้องขายที่ดินและเปลี่ยนอาชีพกัน ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวส่วนมากจึงถูกปล่อยให้เป็นที่รกร้าง และบางแห่งก็ปรับสภาพเป็นบ่อเลี้ยงปลา ตลอดจนมีบางแห่งเท่านั้นที่ปรับสภาพใหม่เพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดําเหมือนเดิม เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงทนต่อโรค มีเทคโนโลยีสนับสนุนที่เล็งเห็นความสําเร็จ เช่น สารอาหาร หรือวัคซีนตัวใหม่ ทําให้ชาวบ้านกล้าที่จะลงทุนเลี้ยงกุ้งอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

  • พื้นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ 236 ไร่ เป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำ หรือลำคลองไหลผ่าน ซึ่งมีทั้งน้ำจืดจากคูคลองและน้ำเค็มสลับกันตามช่วงเวลา เช่น ช่วงเดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์ จะมีน้ำเค็มจากทะเลหรือแม่น้ำแม่กลองหนุนเข้ามา ทําให้บริเวณนี้ดินเป็นโคลนช่วงน้ำหนุนท่วม และเป็นดินโคลนแข็งในช่วงน้ำลด ชาวบ้านจึงมีอาชีพเกี่ยวกับการเพาะปลูก ส่วนมากแล้วจะเป็นการปลูกมะพร้าว แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ในปี พ.ศ. 2526 น้ำจืดจากเหนือเขื่อนก็ไม่สามารถไหลผ่านลงมาหนุนน้ำทะเลได้ ทําให้น้ำในลําคลองมีแต่น้ำเค็ม ทําให้ปลูกมะพร้าวไม่ได้อีกต่อไป

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านปากมาบ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,435 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 702 คน และประชากรหญิง 733 คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

การประกอบอาชีพโดยทั่วไปของชาวบ้านปากมาบมีลักษณะเป็นการหมู่บ้านชาวประมงในลักษณะของการทำประมงชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก ประมงพื้นบ้าน ทั้งอวนลากแคระ อวนรุน อวนลอย เก็บหอย และตักแมงกะพรุน รวมถึงการทำประมงเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยหรือหอยแมลงภู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบางส่วนประกอบอาชีพค้าขายในลักษณะร้านค้าชุมชนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร และทำนาเกลือ

การทำอวนรุน : เป็นอาชีพที่ต้องใช้ภูมิปัญญาอย่างมาก เนื่องจากการออกทะเลแต่ละครั้ง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถส่วนตัวของชาวประมงในการดูน้ำ ดูลม และชาวประมงที่ทําอวนรุนต้องสามารถที่จะดูน้ำและบอกได้ว่า “วันนี้จะมีกุ้งหรือปลาหรือไม่” ทั้งนี้ จะมีอุปกรณ์ในการทําอวนรุน ได้แก่ คันรุน อวนรุน เหล็ก เสียบเขาหัวเรือและท้ายคัน เกี๊ยะ โซ่ เชือก (เชือกที่มัดติดกันเป็นวงกลม) และเขา (เสาสี่เหลี่ยมที่วางพาดร้อยติดกับหน้าเรือ) โดยวิธีการจะเริ่มตั้งแต่นําคันรุนที่ผูกอวนไว้เรียบร้อยแล้วมาวางพาดอยู่บนฟากเรือ จากนั้นเข็นอวนลงไปในทะเลโดยให้เหลือตอนท้ายของคันรุนไว้บนเรือ จากนั้นนําเชือกปี๋มารัดท้ายคันรุนติดกับเหล็กที่เสียบติดกับเขาหัวเรือจนแน่น โดยใช้ไม้ท่อนขันชะเนาะอย่างแน่นหนา เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เดินเครื่องยนต์เรือเพื่อให้อวนรุนดันไปข้างหน้า ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที จากนั้นจึงจะเบาเครื่องยนต์ลง แล้วดึงเชือกปี๋ที่ติดอยู่กับถุงอวนเรือตอนท้ายขึ้นมาเพื่อต้อนเอาสัตว์น้ำที่ติดอวนให้เข้าไปอยู่ในถุง จากนั้นยกอวนขึ้นมาจากน้ำวางไว้ที่หน้าหัวเรือ และให้คนงานช่วยกันคัดแยกสัตว์น้ำแต่ละชนิดออกจากกัน พร้อมกับนําไปแช่ในน้ำแข็งที่เตรียมเอาไว้ โดยจะทําเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมาตลอดคืนจนถึงประมาณตี 5 ชาวประมงก็จะเก็บคันเรือขึ้น โดยแก้เชือกปี๋ที่มัดเอาไว้กับหัวเรือออก แล้วจึงเดินเครื่องยนต์ช้า ๆ เพื่อทําการเก็บกู้อวนขึ้นจากน้ำ แล้วนำสัตว์น้ำที่จับไก้ไปจำหน่ายที่ตลาดแม่กลอง

การทำอวนลอย : การทำอวนลอยของชาวบ้านปากมาบมีอยู่หลายชนิด เช่น อวนลอยปู อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง เป็นต้น แต่การทำอวนลอยที่ชาวปากมาบนิยมมากที่สุด คือ การทำอวนลอยปลากระบอก ปลากุเลา และอวนลอยปูม้า ทั้งนี้การทำอวนลอยปลากระบอกของชาวปากมาบจะมีลักษณะเฉพาะ คือ การดูฝูงปลาด้วยตาเปล่า เมื่อเห็นฝูงปลาแล้วจะโยนทุ่นอวนลอยลงไปทันทีขณะที่เรือยังแล่นอยู่ ซึ่งการปล่อยอวนลักษณะนี้คนขับเรือต้องชำนาญทิศทางการว่ายของฝูงปลาเป็นอย่างดี และเมื่อปล่อยอวนจนเกือบหมดแล้วคนขับเรือก็จะขับเรือวนทิศทางหัวธงเรือเพื่อกันฝูงปลาว่ายทวนออกไป จะทำให้สามารถจับปลาได้ทั้งฝูง

การทําอวนลากแคระ : เป็นอาชีพที่ผู้ทําต้องมีฐานะค่อนข้างดี เพราะต้องใช้เงินทุนและคนจํานวนมาก ดังนั้นชาวบ้านปากมาบที่ทําประมงอวนลากแคระนี้จึงมีประมาณ 10 ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งบางรายก็ประสบผลสําเร็จ แต่บางรายก็ล้มเหลวจนหมดเนื้อหมดตัว ในการทําอวนลากแคระจะใช้คนงานตั้งแต่ 2-20 คน ตามขนาดของลําเรือ ถ้าเรือขนาดไม่เกิน 10 เมตร จะใช้คน 2-4 คน และขนาดเกินกว่า 14 เมตร ขึ้นไป ใช้คน 7-20 คน นิยมทําประมงกันในช่วงกลางคืนมากกว่าในช่วงกลางวัน และในหนึ่งเดือนจะออกเรืออวนลากแคระประมาณ 20-25 วัน

ทั้งนี้ ชาวบ้านจะต้องประสบปัญหาในเรื่องคนงาน จึงต้องจ้างแรงงานต่างด้าว เช่น พม่า มอญ ลาว และเขมร ทําให้ถูกรีดไถค่าปรับในการขึ้นทะเบียนแรงงานจากเจ้าหน้าที่และต้องจ่ายค่าภาษีอากรเรือ (คันลากรุน) ประจํา 2 ครั้งต่อปี เป็นจํานวนเงินครั้งละ 1,000-1,500 บาท ซึ่งอุปกรณ์ในการทําอวนลากแคระ ประกอบด้วย 1) อวน ขนาดปาก 3 เมตร 2) ปลีกฟรี 1 คู่ เป็นสายลวดสลิงที่พันด้วยเชือกเพื่อยึดติดกับอุปกรณ์ต่าง ๆ 3) แผ่นตะเฆ่ 1 คู่ เป็นแผ่นไม้กระดานที่ติดตั้งอยู่หน้าปากอวน 4) จิ้งจก 1 คู่ มีลักษณะเป็นเหล็กแท่งรูปสามเหลี่ยม มีหูเหล็ก ตามมุมทั้ง 3 มุม เพื่อไว้ร้อยเชือกติดกับอวน 5) เชือกยาวขนาดใหญ่ที่ต่อเชื่อมระหว่างตัวอวนกับจิ้งจก ทั้งนี้ ในการทําอวนลากแคระ จะใช้เชือกยาวขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างตัวอวนกับจิ้งจก และมีแผ่นตะเฆ่ต่อลงมา โดยมีปลีกฟรีมัดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เชื่อมติดกัน ชาวบ้านจะมีการวางอวนลากแคระแล้วใช้เรือในการลากอวนเพื่อจับสัตว์น้ำ ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการทําหลายรอบจนได้ปริมาณสัตว์น้ำมากพอสมควรจึงจะกลับเข้าฝั่ง จากนั้นจึงนําสัตว์น้ำไปขายที่ตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านปากมาบจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางทะเลที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญ ทว่า รายได้จากการทำประมงนั้นไม่แน่นอน เนื่องจากการทำประมงต้องใช้ต้นทุนสูง ประกอบกับบางครั้งต้องจ้างแรงงานชาวพม่า อีกทั้งปริมาณสัตว์น้ำทาจับได้แต่ละครั้งยังไม่มีความแน่นอน จึงส่งผลให้ชาวบ้านปากมาบมีฐานะเพียงปานกลางเท่านั้น กล่าวคือ มีกินมีใช้แต่ละวัน แต่ไม่มีเพียงพอให้เหลือเก็บ และอาจมีหนี้สินเพิ่มเข้ามาด้วย 

ชาวบ้านปากมาบมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาและถือเป็นความศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเคารพนับถือต่อธรรมชาติ รวมทั้งระดมการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านปากมาบเอาไว้ ได้แก่ งานบุญกลางบ้าน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการแห่เพื่อเอาความทุกข์โศก ความไม่ดีทั้งหลายให้หายออกไปจากหมู่บ้าน ให้ชีวิตคนในหมู่บ้านมีแต่ความสุขและความโชคดี ในการประกอบพิธีกรรมชาวบ้านจึงมักจะปั้นตุ๊กตาเป็นรูปคน หรือสัตว์เลี้ยงลอยไปกับทะเล รวมทั้งใส่อาหารทั้งของคาว ของหวาน และสิ่งของเครื่องใช้ลงไปด้วย นอกจากภายในวันเดียวกันนั้น ยังมีประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการทําบุญกลางแจ้งร่วมกันของคนในหมู่บ้าน มีการร้องรําทําเพลง งานฉลองรื่นเริงกันตลอดคืน และหลังจากนั้นก็จะช่วยกันแห่เรือสําเภาออกไปลอยกลางทะเลลึกในวันรุ่งขึ้น โดยกำหนดฤกษ์ในการปล่อยเรือในเวลาลงท้ายด้วยเลขเก้า พร้อมตะโกนว่า “ชีวิตของฉันจะดีขึ้น โชคร้ายและความทุกข์โศกให้หมดไปกับเรือ”

อีกหนึ่งศรัทธาที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมของชาวปากมาบไม่น้อยไปกว่างานบุญกลางบ้าน คือ ศาลปู่ขุน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเชื่อว่าทำหน้าที่ปกปักคุ้มครองคนในหมู่บ้าน และดลบันดาลปรารถนาให้แก่ชาวบ้านที่เข้าไปบนบานศาลกล่าว ปู่ขุนท่านนี้มีชื่อเสียงมากโดยเฉพาะเวลาเกณฑ์ทหาร ทุกคนในหมู่บ้านมีความเชื่อว่าถ้าได้ลอดใต้ศาลปู่ขุนแล้วหลังไม่ติดศาลจะจับได้ใบดําไม่ต้องไปเป็นทหาร แต่ถ้าใครลอดแล้วหลังติดใต้ถุนศาลต้องจับได้ใบแดงทุกคน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าความเชื่อของชาวบ้านเรื่องการลอดใต้ศาลปู่ขุน ก็ล้วนเป็นไปตามที่กล่าว เพราะใครที่ลอดแล้วหลังติดใต้ถุนศาลมีอันต้องติดทหารทุกราย ฉะนั้น เวลามีการเกณฑ์ทหารจะมีคนมาเข้าคิวรอที่จะลอดใต้ถุนศาลนี้เป็นประจําทุกปี นอกจากเรื่องเกณฑ์ทหารแล้ว ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น ใครไม่มีลูกชายต้องไปบนที่ศาลปู่ขุนแล้วจะได้ตามที่หวัง ดังนั้น ในช่วงท้ายวันสงกรานต์ทุกปีนอกจากจะมีประเพณีทำบุญกลางแจ้งประจำหมู่บ้านแล้ว ยังมีพิธีแห่ขุน (ปู่ขุนเป็นไม้แก่นแสม รูปร่างคล้ายเพศชาย) ไปตามลําคลองในหมู่บ้านเพื่อออกไปทําพิธีฉลองที่ท่าเทียบเรือ พร้อมกับมีการต่อเรือสําเภา (ทําด้วยไม้ไผ่กับกระดาษขาว) เป็นแท่นวาง โดยกลางวันจะมีการละเล่นของเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน และกลางคืนจะมีมหรสพตลอดคืน พอรุ่งเช้าจะมีการตักบาตรทําบุญร่วมกัน และตอนบ่ายก็จะแห่เรือสําเภาออกไปทิ้งทะเล จากนั้นก็แห่ขุนวนรอบหมู่บ้านแล้วนําออกไปไว้ ณ ลานกลางบ้านพร้อมกับทําความสะอาดและให้ชาวบ้านปิดทองกันจนเสร็จพิธีแล้วนําปู่ขุนไปไว้ที่ศาลอย่างเดิม

นอกจากนี้ยังมีประเพณีเฉพาะสําหรับผู้ที่ทําอาชีพประมง คือ การไหว้แม่ย่านางเรือ โดยชาวประมงจะมีการกราบไหว้แม่ย่านางเรือเป็นประจําทุกครั้งก่อนเรือลงสู่ทะเล ในช่วงฤดูกาลทําประมง ชาวบ้านจะนําเอาอาหารคาว ขนมหวาน ผลไม้ รวมทั้งดอกไม้ และผ้าแพร 7 สี มาไหว้เรือ โดยเรือนั้นต้องหันหน้าออกทะเล เมื่อไหว้เสร็จแล้วจะนําเอาผ้าแพร 7 สีมาผูกไหว้ที่หัวเรือเพื่อเป็นสิริมงคล และทําความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองและประจําอยู่ที่เรือ เป็นความเชื่อถือที่ให้เคารพต่อธรรมชาติและสร้างขวัญกําลังใจในการออกทะเลเพื่อให้มีโชคในการจับสัตว์น้ำได้จํานวนมาก รวมทั้งสามารถเดินทางโดยสะดวก ปลอดภัย ไม่เจอกับพายุหรืออุบัติเหตุ ตลอดจนเป็นประเพณีเกี่ยวกับอาชีพที่บ่งบอกถึงการให้ความสําคัญกับเครื่องมือในการทํามาหากิน (ทําประมง) คือ เรือ

1. บุญยืน ศิริธรรม  แกนนำชาวบ้านและผู้ก่อตั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านปากมาบพัฒนา 

กลุ่มประมงบ้านปากมาบพัฒนา

กลุ่มประมงพื้นบ้านปากมาบพัฒนา เป็นกลุ่มที่มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาความยากลำบากในการดำรงชีวิต เนื่องจากความละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ และปัญหาการประกอบอาชีพประมงของชาวปากมาบซึ่งกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัว เมื่อมาถึงจุดที่ชุมชนสามารถเอาชนะต่ออิทธิพลต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และสนองตอบต่อความต้องการของชุมชนที่ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่จะสร้างพลังชุมชนจากความสามัคคี รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อระดมสมอง แพร่กระจายความคิดไปสู่การ สรรหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ตลอดจนตระหนักถึงการยืนหยัดด้วยขาของตัวเอง สามารถคิดเอง ทําเอง และแก้ปัญหาเองได้ จึงทําให้กลุ่มประมงบ้านปากมาบพัฒนาถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2533 ด้วยมีทัศนะว่าการที่ชุมชนจะอยู่รอดได้จะต้องอาศัยกลุ่มสนับสนุน เพื่อให้ชาวบ้านได้ช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม รวมทั้งใช้กลุ่มรองรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ และต่อรองในการแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก

อู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ

อู่เรือจิ๋วนี้เกิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากช่วงนั้นชาวบ้านไม่มีงานทำ สาเหตุมาจากน้ำทะเลเน่าเสีย จึงได้รวมกลุ่มกันไปเรียนทำเรือจิ๋วกับอาจารย์กมล วิบูลกิจธนากร ที่หมู่บ้านบัวขาว เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กลับมามีคนที่มีความสามารถทำเป็นอาชีพได้และได้ฝึกสอนคนอื่น จึงได้ช่างเพิ่มขึ้น จากนั้นก็ทำเรือจิ๋วจำหน่ายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แล้วได้สร้างงานการผลิตโมเดลเรือจิ๋ว มีการตั้งชื่อของชิ้นงานทั้งหลายว่าอู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ มีเรือหลายประเภทที่ช่างต้องใช้ฝีมือในการสร้างสรรค์ ซึ่งช่างสามารถต่อเรือจิ๋วได้ทุกชนิดตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ในห้องจัดแสดงมีเรือหลายชนิดที่จัดแสดงไว้ในตู้จัดแสดง ได้แก่ เรือสำเภาจีน เรือข้างกระดาน เรือด่วน เรือหลวงสมุย เรือตังเก เรืออวนรุน เรือมาดประทุน เรืออีแปะ เรืออีมาดหมู เรือมาดเก๋ง เรืออีป๊าบ เรือผีหลอก ฯลฯ สมัยก่อนเรือแต่ละชนิดจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป หากเป็นการลำเลียงพืชผลการเกษตรในร่องสวน หรือไปมาหาสู่กัน จะนิยมใช้เรืออีแปะ หรือเรืออีมาดหมู ส่วนเรืออีป๊าบสวนจะเป็นเรือใช้ขนถ่ายพืชผลในแม่น้ำลำคลองร่องสวนต่าง ๆ และมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการบรรทุก โดยการนำเครื่องหางยาวมาติดไว้ที่ท้ายเรือ เพื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายให้รวดเร็วขึ้น ส่วนเรืออีป๊าบทะเลจะมีรูปร่างคล้ายเรืออีป๊าบสวน แต่เรียวบางกว่า สามารถโต้คลื่นลมได้ดี แล่นได้เร็วสามารถหนีลมพายุได้ทัน ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านภาคกลางนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2475 บ้านปากมาบเคยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่ 4 บ้านลัดกะปิ ซึ่งตอนบนของหมู่บ้านนั้นมีความเจริญก้าวหน้าด้วยระบบสาธารณูปโภคนานาประการ ซึ่งแตกต่างกับตอนปลายของหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่พื้นปากมาบในปัจจุบัน ที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลยนอกจากไฟฟ้าเท่านั้น ไม่มีถนนออกไปสู่ภายนอกได้โดยตรง หากไม่มีเรือก็ไม่สามารถที่จะเดินทางออกจากบ้านได้ และในช่วงเวลาที่น้ำในคลองแห้ง ชาวบ้านต้องเข็นเรือฝ่าโคลนออกจากหมู่บ้านซึ่งเป็นระยะทางไกลถึง 3 กิโลเมตร บางครั้งหากมีคนป่วยที่มีอาการหนักมาก ก็มักจะเสียชีวิตระหว่างการเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับภาพความเจริญที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านอื่นโดยรอบ สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นสิ่งที่ชี้ชัดให้เห็นถึงความแตกต่าง ความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวบ้านปากมาบ นำโดยนางบุญยืน ศิริธรรม ซึ่งตั้งคำถามกับตนเองว่าเพราะเหตุใดเราจึงต้องทนอยู่ในสภาพเช่นนี้ สร้างความคับแค้นใจให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านปากมาบ แล้วค่อย ๆ สั่งสมเป็นความเกลียดชังที่มีต่อข้าราชการ เพราะเข้าใจและรับรู้ว่าหน่วยงานราชการมีหน้าที่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่และช่วยเหลือชาวบ้าน แต่กลับไม่ยอมทำหน้าที่ ละเลยต่อความรับผิดชอบ ตลอดจนไม่สนับสนุน ส่งเสริมสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ในระยะแรกชาวบ้านมีความพยายามปรับตัวให้เคยชินกับสภาพกดดันภายใต้ความอยุติธรรม ทว่าจนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถยอมรับปัญหาที่เป็นอยู่ได้แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานกว่า 10 ปี กระทั่งมีเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อปี 2531 สุนัขของนางบุญยืนอาการป่วยกำเริบ แต่น้ำแห้งจนเรือไม่สามารถไปได้ นางบุญยืนต้องอุ้มสุนัขวางไว้บนเรือ แล้วเข็นเรือฝ่าโคลนเพื่อพาสุนัขไปหาหมอในตัวเมือง เหตุการณ์ดั่งกล่าวเป็นดังฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่ นางบุญยืนอุ้มสุนัขทั้งที่ตัวเปื้อนโคลนไปที่อำเภอเพื่อประกาศให้หน่วยงานราชการรับรู้ถึงความยากลำบากของชาวปากมาบ ถือเป็นก้าวแรกที่นำชาวปากมาบให้กล้าออกมาต่อสู้ท้าทายกับอำนาจรัฐเพื่อเรียกร้องแสดงออกถึงจุดยืนของตน ด้วยต้องการให้หน่วยงานราชการให้ความสนใจและตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน อันจะเป็นการลบล้างภาพ ความด้อยโอกาส และ ความชนบท ที่รัฐพยายามหยิบยื่นให้ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของภาครัฐที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวปากมาบหันกลับมาสู่ความคิดในการพึ่งพาตนเอง

ความคับแค้นใจที่มีต่อหน่วยงานราชการยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 มีชาวประมงในหมู่บ้านปากมาบถูกเรือตำรวจของกรมประมงจับไป 5 ลำ พร้อมชาวบ้านเจ้าของเรือ 10 คน ในข้อหาจับปลาโดยใช้อวนรุนในเขต 3,000 เมตร โดยที่คนในหมู่บ้านไม่รับรู้ว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐก็มิได้รับฟังเหตุผลของชาวบ้าน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นชนวนความคิดเรื่องการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของหมู่บ้าน ด้วยเห็นถึงความสำคัญที่ว่าการต่อสู้เพียงลำพังไม่สามารถเอาชนะหรือแก้ปัญหาใด ๆ ได้ ประกอบกับการที่จะกระตุ้นการทำงานของหน่วยงานราชการให้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือกันของชุมชนจึงจะประสบผลสำเร็จ และประจวบเหมาะกับการเกิดปัญหาเรื่องการทำมาหากินที่เป็นรากฐานของชีวิตของคนในชุมชน คือ อาชีพประมง กลายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยที่ชาวบ้านหาได้รับรู้ เหตุผลดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านปากมาบ นำโดยนางบุญยืน ศิริธรรม ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มประมงบ้านปากมาบพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2533 อันนับเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นบทเรียนในความเข้าใจเรื่องสิทธิของชาวปากมาบที่สามารถชี้แจงเหตุผล ซักถามมูลเหตุในการถูกจับกุมจากหน่วยงานของรัฐ (กรมประมง) และมีการเชิญสมาคมประมงจังหวัดฯ และประมงอำเภอมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกที่ที่สุดให้แก่ปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ชาวปากมาบได้เข้าร่วมจัดตั้งและเป็นสมาชิกสมาคมประมงจังหวัดฯ อันเปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันภัยและแสวงหาพันธมิตรให้แก่ตนเอง เพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรองรวมถึงแสดงสิทธิของตนเอง ทำให้สามารถต่อสู้กับอาจรัฐได้อย่างถูกต้อง เท่าเทียม กล้าที่จะตัดสินในโชคชะตาของตนเอง และทวงสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมจากราชการ เพราะบัดนี้มีสถานะเป็นองค์กรทางสังคมที่ถูกต้อง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณปากคลองบ้านปากมาบ หมู่ที่ 8 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://dmcrth.dmcr.go.th/

รัตนา. (2563). อู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://news.trueid.net/

สาวิตรี ตลับแป้น. (2555). อู่เรือจิ๋วบ้านปากมาบ. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/

ศจีรัตน์ เจตนาธรรมจิต. (2546). กระบวนการพัฒนาโดยประชาชน : กรณีศึกษาหมู่ 8 บ้านปากมาบ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/