
“วิถีชีวิตริมน้ำ ลำคลองแห่งชีวิต” ชุมชนริมน้ำคลองชักพระ เส้นทางที่จอแจไปด้วยเรือที่สัญจรไปมาตลอดทั้งวัน ห้อมล้อมด้วยบรรยากาศคึกคักของบ้านเรือนและวิถีชีวิตริมน้ำดั้งเดิมแบบไทย และยังคงประเพณีชักพระ ณ วัดนางชี ประเพณีชักพระแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร
“สมัยโบราณ พอแรม 2 ค่ำ เดือน 12 จะมีประเพณีชักพระ โดยมีเรือที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่จะถูกชักลากจากวัดนารี ปากคลองภาษีเจริญ ไปตามลำคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองบางกอกน้อย อ้อมมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปที่วัดนางชี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคลองชักพระ” จากความเป็นมาของการตั้งชื่อ “คลองชักพระ” มีที่มาและความสัมพันธ์กับประเพณีทางพุทธศาสนา จึงนำไปสู่การเรียกหรือตั้งชื่อชุมชนที่อยู่ในพื้นทีนี้ว่า “ชุมชนริมคลองชักพระ”
“วิถีชีวิตริมน้ำ ลำคลองแห่งชีวิต” ชุมชนริมน้ำคลองชักพระ เส้นทางที่จอแจไปด้วยเรือที่สัญจรไปมาตลอดทั้งวัน ห้อมล้อมด้วยบรรยากาศคึกคักของบ้านเรือนและวิถีชีวิตริมน้ำดั้งเดิมแบบไทย และยังคงประเพณีชักพระ ณ วัดนางชี ประเพณีชักพระแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร
แต่เติมเขตตลิ่งชันเป็นอําเภอหนึ่งของจังหวัดธนบุรี ตั้งอยู่บริเวณคลองบางกอกน้อย ตําบลบางบําหรุ ท้องที่อําเภอบางกอกน้อย ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่ปากคลองวัดไก่เตี้ย ริมคลองบางกอกน้อย อําเภอตลิ่งชัน และราวปี พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอําเภอมาตั้งอยู่ที่ริมทางรถไฟสายใต้ ตําบลคลองชักพระ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในเขตนครหลวง โดยการรวมเอาจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาคเป็น “จังหวัดนครหลวง กรุงเทพธนบุรี” และรวมเอาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรีซึ่งเป็นราชการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็น “องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 พ.ศ. 2514 นอกจากนั้นยังรวมเอาเทศบาลนครกรุงเทพกับเทศบาลนครธนบุรีซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นเป็นเทศบาลนครหลวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครใหม่ โดยกําหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวงเพียงองค์กรเดียว อําเภอตลิ่งชัน จึงเป็นอําเภอหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเขตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับชุมชนริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน ประกอบด้วย ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมคลองชักพระ ชุมชนวัดช่างเหล็กเรไร ชุมชนวัดรัชฎาธิษฐาน ชุมชนหลังวัดกาญจนสิงห์หาสน์ และชุมชนวัดปาแม่น้ำฝั่งเหนือ ซึ่การพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการตั้งบ้านเรือนกันอยู่ตามริมน้ำในบริเวณริมคลองชักพระกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว คลองชักพระนั้นเป็นคลองที่มีความยาว 8 กิโลเมตร ไหลต่อจากคลองบางกอกน้อยบริเวณวัดสุวรรณคีรีไปเชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่ บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ สําหรับที่มาของชื่อ “คลองชักพระ” นั้น ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่า ในอดีตทุกวันแรม 2 ค่ำเดือน 12 จะมีประเพณีชักพระ มีเรือที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ถูกชักลากจากวัดนารี ปากคลองภีเจริญไปตามลำคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย อ้อมมาตามลำน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปที่วัดนางชี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “คลองชักพระ”
พื้นที่บริเวณชุมชนริมน้ำคลองชักพระประกอบไปด้วยคลองเล็กคลองน้อย ทั้งที่เป็นคูคลองโดยธรรมชาติ และคูคลองที่ขุดขึ้นมาเพื่อการชลประทาน การเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค และเพื่อการคมนาคม ดังนั้นในอดีตการตั้งถิ่นฐานของประชาชนจึงยึดเอาการตั้งใกล้ริมน้ำทั้งนี้จะเห็นได้จากบ้านเรือนของประชาชนและวัดต่าง ๆก็จะตั้งอยู่ตามริมน้ำเพราะสะดวกแก่การเดินทาง ทําให้ชุมชนริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระในอดีตมีเส้นทางการคมนาคมทางน้ำหนาแน่น
ซึ่งการคมนาคมส่วนใหญ่ใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางหลัก โดยมีเรือเป็นพาหนะในการสัญจรไปมา ลักษณะการใช้ที่ดินในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการทําเกษตรกรรมเป็นหลัก ประกอบไปด้วยการทํานา จากสภาพพื้นฐานทางธรรมชาติของพื้นที่และสมรรถนะของดินทําให้พื้นที่บริเวณนี้เหมาะสําหรับการทํานาอย่างยิ่ง การทํานาจึงเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรซึ่งอาศัยในบริเวณนี้มาตั้งแต่อดีต การทํานาจะมีทั้งนาปีและนาปรัง นอกจากนี้ยังมีการทําไร่ สวนผัก
โดยส่วนใหญ่พื้นที่การเกษตร จะใช้ทําไร่ปลูกผัก และทํากันทั่วไปในทุกแขวงรวมทั้งแขวงคลองชักพระด้วย ส่วนผลผลิตที่ได้รับนั้นเกษตรกรจะส่งขายที่ปากคลองตลาดทั้งที่ส่งขายเอง และที่มีพ่อค้าหรือแม่ค้ามารับซื้อจากไร่ สวนผัก มีการทําสวนไม้ผลไม้ยืนต้น การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดจนขยายพันธุ์ไม้ดอกและไม้ประดับด้วย
ประชากร
สถิติประชากรจากแผนปฏิบัติราชการ เขตตลิ่งชัน ประจำปี พ.ศ. 2564 รายงานจำนวนประชากร แขวงคลองชักพระ จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 4,604 ครัวเรือน จำนวนประชากร 10,371 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 4,885 คน และประชากรหญิง 5,486 คน
ความสัมพันธ์ในชุมชน
ความสัมพันธ์ของประชาชนรวมถึงลักษณะสังคมของคมในเขตตลิ่งชันยังไม่ค่อยมีความซับซ้อนมากนัก เนื่องจากยังมีการพัฒนาความเป็นเมืองในพื้นที่ไม่สูงมาก ประชาชนมีชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย พิจารณาได้จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม มีวัดเป็นจุดศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และในการพบปะกันของชาวบ้านยังคงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี มีความสามัคคีกัน เวลามีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง ขึ้นปีใหม่ หรือเทศกาลวันสําคัญทางศาสนา ประชาชนชาวตลิ่งชันก็จะมาร่วมกิจกรรมกันโดยพร้อมเพรียง
ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมน้ำ ชุมชนส่วนใหญ่ในเขตตลิ่งชันเป็นชุมชนริมน้ำดั้งเดิม ซึ่งอาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ปัจจุบันนี้ชาวชุมชนริมน้ำส่วนใหญ่ก็ยังคงมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำดังเช่นในอดีต จากภาพของชาวบ้านที่อาบน้ำในคลอง เด็ก ๆ ที่เล่นน้ำในคลองกันอย่าง สนุกสนาน เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่ยังคงมีความผูกพันกับสายน้ำอย่างแยกจากกันไม่ได้ถึงแม้ว่าเวลาได้ล่วงเลยผ่านพ้นมานานแล้วก็ตาม ภาพเหล่านี้ก็ยังสามารถพบเห็นได้ตามชุมชนริมน้ำในเขตตลิ่งชัน นอกจากนี้ชาวชุมชนริมน้ำก็ยังได้อาศัยการคมนาคมทางน้ำ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตร โดยใช้คลองต่าง ๆออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปยังตลาดสดปากคลองตลาดอีกด้วย
ในอดีตประชาชนในชุมชนบางส่วนยังคงมีการประกอบอาชีพทางการเกษตรอยู่ ทว่าในปัจจุบันประชาชนกลุ่มนี้เริ่มย้ายงานมาประกอบอาชีพในภาตงานการบริการแล้ค้าขายมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสถานประกอบการขนาดใหญ่ ร้านค้า ภัตตาคาร กิจการค้าส่ง ศูนย์สรรพสินค้า การขยายตัวทางด้านพาณิชยกรรมส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายตัวของบ้านจัดสรร นอกจากนี้ก็ยังมีกิจการร้านอาหาร และสวนอาหารเกิดขึ้นเป็นจํานวนมากเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่ของเขตตลิ่งชันด้านในยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ จึงทําให้ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ได้แก่ การทําสวนผัก สวนดอกไม้ต่าง ๆ อาชีพรองลงมา ได้แก่ ค้าขาย รับจ้าง และอื่น ๆ
การทําสวนผัก: เกษตรกรในเขตตลิ่งชัน ปัจจุบันมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการทําสวนผักเพิ่มขึ้นด้วยวิธีการตอนและเพาะชํา เพราะทําให้ผลคุ้มค่ากว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตตลิ่งชันจะมีการปลูกพืชผัก โดยเฉพาะผักจีน เช่น คะน้า กุยช่าย เป็นต้น ส่วนพืชผักสวนครัวจําพวกตะไคร้ โหระพา ขิง ข่า มะกรูด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจทว่ามีรายได้แน่นอน แต่เนื่องจากปัจจุบันหมู่บ้านจัดสรรเข้ามาในพื้นที่เขตตลิ่งชันเป็นจํานวนมาก ทําให้ราคาที่ดินในเขตตลิ่งชันมีราคาสูง เกษตรกรบางรายจึงหันมาขายที่ดินและยกเลิกการทําสวน ทำให้พื้นที่วนลดน้อยลง
สวนผลไม้และไม้ยืนต้น: การทำสวนไม้ยืนต้นครั้งหนึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของประชาชนในเขตตลิ่งชัน ซึ่งนิยมทำกันมาก แต่ปัจจุบันลดระดับลงเนื่องจากประสบกับภาวะน้ำท่วมอย่างหนักเมื่อ พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2526 ทําให้การเปลี่ยนแปลงใช้ที่ดินจากการปลูกพืชเพื่อหวังผลเป็นการขยายพันธุ์ไม้ด้วยวิธีการตอนและเพาะชําอันได้แก่ มะม่วง กระท้อน กล้วย มะพร้าว เป็นต้น เพราะให้ผลรวดเร็ว คุ้มค่ากว่า อย่างไรก็ตามพื้นที่ปลูกไม้ผลก็ยังมีเหลืออยู่บ้างรองลงมาจากการทําสวนผัก
สวนไม้ดอกไม้ประดับ: การทำเกษตรประเภทนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการทํานา การทําสวนไม้ยืนต้นมาเป็นการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและขยายพันธุ์ไม้ ได้แก่ ดวงเงิน ชวนชม เตย กล้วยไม้ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ที่ดินคุ้มค่ากว่าการทํานา
จากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น อาจสรุปได้ว่าเศรษฐกิจของเขตตลิ่งชันขึ้นอยู่กับการทําเกษตรกรรมและ พาณิชยกรรมเป็นหลัก ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การพาณิชยกรรมมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของที่พักอาศัย โดยเฉพาะบริเวณที่มีถนนตัดผ่าน การพัฒนาเส้นทางการคมนาคมทําให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน มีชุมชนใหม่ ๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจการร้านค้า ร้านอาหาร และสวนอาหารเกิดขึ้นเป็นจํานวนมาก
ชุมชนริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ เป็นชุมชนริมน้ำที่มีวัดเป็นจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ ซึ่งวัดที่สําคัญที่เป็นพระอารามหลวงมี 3 วัด คือ วัดชัยพฤกษ์มาลา วัดกาญจนสิงหาสน์ (วัดทอง) และวัดรัชฎาธิษฐาน (วัดเงิน) ในวันสําคัญทางศาสนา ชาวบ้านก็จะไปรวมตัวกันที่วัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การทําบุญ การเวียนเทียน การฟังเทศน์ เป็นต้น การไปวัดนั้นชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปจากบ้านของแต่ละคน เมื่อไปถึงวัดก็จะนําไปถวายพร หลังจากที่พระฉันท์อาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านที่ไปร่วมทําบุญกันก็จะมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันและพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง
ชาวบ้านชุมชนริมน้ำคลองชักพระมีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมายาวนานและเป็นประเพณีที่สําคัญไม่เฉพาะแต่ชาวชุมชนริมน้ำคลองชักพระเท่านั้น แต่ยังเป็นประเพณีของชาวฝั่งธนบุรีทั้งหมด จัดขึ้นที่วัดนางชี โดยประเพณีชักพระที่วัดนางชีจัดกันเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ จนถึงแรม 3 ค่ำ เดือน 12 ในวันแรกคณะกรรมการวัดจะอันเชิญองค์พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกออกมาประดิษฐานที่หน้าโบสถ์ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและสักการบูชา ส่วนตอนกลางคืนจัดให้มีภาพยนตร์ ดนตรีในงานพอถึงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นวันสำคัญที่สุดของงาน ในวันนี้จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกลงเรือ ซึ่งเป็นเรือดั้งที่ใช้ในพระราชพิธีของกองทัพเรือ จากนั้นเคลื่อนขบวนออกจากศาลาท่าน้ำหน้าวัด จากคลองด่านไปเข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย ระหว่างทางผู้เข้าร่วมขบวนจะร้องรําทําเพลงเป็นที่สนุกสนานครึกครื้นไปตลอดทาง ถ้าเจอสะพานขวางอยู่ข้างหน้าก็ต้องหยุดขบวนแล้วอัญเชิญพระธาตุขึ้นบกข้ามสะพานมาลงเรือพิธีอีกฟากหนึ่ง เพราะถือว่าพระธาตุเป็นของสูงจะลอดสะพาน หรือสิ่งอื่นใดมิได้
กว่าจะถึงวัดไก่เตี้ยก็จวนจะเพล ที่วัดไก่เตี้ยนี้จะมีประชาชนมารอนมัสการพระธาตุอย่างคับคั่งไม่แพ้วัดนางชี มีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ อาทิ ฟันดาบ รำมวย หัวล้านชนกัน ขากลับแห่ไปทางปากคลองบางกอกน้อยเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ววกเข้าคลองบางกอกใหญ่ที่หน้าวัดกัลยาณมิตร มุ่งหน้ากลับวัดนางชีที่ริมคลองด่าน เป็นที่น่าสังเกตว่าเส้นทางการอัญเชิญพระพุทธรูปชักลากไปตามลำน้ำนั้นเป็นการเวียนทักษิณาวรรต ทั้งนี้เชื่อว่าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เมืองด้วย และเมื่อกลับถึงวัดนางชีจะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกประดิษฐานในพระอุโบสถให้ชาวบ้านมาสักการบูชาจนถึงรุ่งเช้า แล้วจึงอัญเชิญกลับที่เดิม เป็นอันสิ้นสุดงาน
ภาษาพูด: ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน: ภาษาไทย
ในปัจจุบันจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของเขตตลิ่งชันนับจากการขยายเส้นทางการคมนาคม ซึ่งก็ส่งผลกระทบมายังชุมชนริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระด้วย การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การค้า การบริการต่าง ๆ ทําให้มีการย้ายถิ่นของประชากรเกิดขึ้นเนื่องจากมีการสร้างงานเพิ่มมากขึ้น ทําให้มีประชาชนบางส่วนเดินทางมาทํางานในพื้นที่เขตตลิ่งชันและมาพักอยู่ในรูปแบบของบ้านเช่า อพาร์ทเมนท์ ทําให้คนในพื้นที่เขตตลิ่งชันมีทั้งคนดั้งเดิมและคนต่างถิ่น อันเป็นมูลเหตุแห่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาน้ำในลําคลอง ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นต้น
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อได้มีการก่อสร้างถนนทางหลวงสายสําคัญเข้ามายังเขตตลิ่งชัน เพื่อเชื่อมพื้นที่เมืองชั้นในและเชื่อมเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดทางภาคตะวันตกและจังหวัดทางภาคใต้ ทั้งถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ถนนวงแหวนรอบนอก ถนนพุทธมณฑลสาย 2 และถนนพระรามที่ 5 ฯลฯ ส่งผลให้มีการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานของประชากรเมืองมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย การเข้ามาของถนนสายหลักและการขยายตัวของประชากรเมืองทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเขตตลิ่ง ซึ่งก็มีผลกระทบมายังชุมชนที่อยู่ริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ ลักษณะการใช้ที่ดินในพื้นที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากชุมชนเกษตรกรรม มีแนวโน้มในการเข้าสู่ชุมชนอุตสาหกรรม จากการเป็นพื้นที่ทํานา ทําสวน ปลูกผักผลไม้ เปลี่ยนมาเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินในรูปแบบพาณิชยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยแบบหมู่บ้านจัดสรร อพาร์ทเมนท์ อาคารพาณิชย์ สถานประกอบการค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะให้ผลคุ้มค่ากว่าการเกษตรกรรมแบบเดิม
การเกิดขึ้นของที่ดินในเชิงพาณิชยกรรมนั้นเนื่องมาจากพื้นที่แขวงคลองชักพระมีถนนฉิมพลีและถนนชักพระเป็นเส้นทางที่สะดวกในการเข้าถึงและเชื่อมต่อมาจากถนนสายหลัก ทําให้สะดวกในการเดินทาง และบริเวณนี้ก็เป็นแหล่งชุมชน มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี อย่างไร ก็ตามการเพิ่มขึ้นของที่ดินในเชิงพาณิชยกรรมของแขวงคลองชักพระยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ในแขวงบางระมาด แขวงบางพรม แขวงบางเชือกหนัง และแขวงฉิมพลี ที่มีการเพิ่มขึ้นของหมู่บ้านมากมายและมีผู้นิยมเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก
เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีถนนสายหลักตัดผ่านจากการขยายตัวของเมืองชั้นใน แต่พื้นที่ของแขวงคลองชักพระจะอยู่เลียบคลองชักพระตลอดแนวและเป็นพื้นที่ที่อยู่ด้านในของเขตตลิ่งชัน การสร้างถนนสายหลักไม่ได้ตัดผ่านพื้นที่ในบริเวณนี้ จึงทําให้แขวงคลองชักพระมีการเพิ่มของที่ดินในเชิงพาณิชยกรรมไม่สูงนัก แต่อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ได้ทําให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรได้ผลตอบแทนน้อยลง อีกทั้งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพอาชีพ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ทำกินอีกด้วย
ช่างภาพดอกไม้และใบหญ้า. (2564). ประเพณีชักพระวัดนางชี ประเพณีชักพระแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2564. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bloggang.com/
ธนบุรี มี คลอง. (2563). ย่านคลองตลิ่งชันในปัจจุบัน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
แผนปฏิบัติราชากรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานเขตตลิ่งชัน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.oic.go.th/
ศรัณยพงศ์ โชติวรรณ์. (2549). ผลกระทบของตลาดน้ำตลิ่งชันต่อชุมชนริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุย์และสังคม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Google Earth. (2566). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
PYONG. (2564). งานศิลปะแห่งวิถีชีวิตริมคลองฝั่งธนบุรี EXPLORING THE KHLONGS OF THONBURI. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://pyongtravellerxdoctor.com/