
ชุมชนชาวมอญที่มีภูมิลำเนาเดิมจากหมู่บ้านกะมาวัก แคว้นหงสาวดี ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเวลานานกว่า 200 ปี และได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟู สืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญให้คงอยู่ ด้วยการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย-รามัญ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชาวมอญในรูปแบบการจัดนิทรรศการให้แก่กลุ่มผู้สนใจและกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชม
ชุมชนชาวมอญที่มีภูมิลำเนาเดิมจากหมู่บ้านกะมาวัก แคว้นหงสาวดี ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเวลานานกว่า 200 ปี และได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟู สืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญให้คงอยู่ ด้วยการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย-รามัญ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชาวมอญในรูปแบบการจัดนิทรรศการให้แก่กลุ่มผู้สนใจและกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชม
จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีชาวมอญอพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย มอญสมุทรสาคร จึงหมายถึง ชาวมอญที่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ หรือมีบรรพบุรุษเป็นชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ เนื่องจากปัญหาการรุกรานและการปกครองที่กดขี่ทารุณของพม่า ทำให้ชาวมอญทนไม่ไหวเดินทางหลบหนีออกมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในดินแดนสยาม แต่เดิมชาวมอญและคนไทยก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมและสังคมที่คล้ายคลึงกัน ประการสําคัญ คือ สยามมีเสรีภาพต่างจากพม่าและนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ทำให้ชาวมอญสามารถปรับตัวได้ง่าย จากหลักฐานพบว่าชาวมอญนั้นมีการอพยพเข้ามาหลายครั้ง ทั้งแบบมีการจดบันทึกและไม่ได้บันทึกไว้ จึงทำให้ไม่สามารถระบุลงไปแน่ชัดได้ว่าการอพยพของชาวมอญสู่เมืองสมุทรสาครนั้นเกิดขึ้นเมื่อใดบ้าง หรือมีกี่ระลอก อย่างไร
สำหรับชาวมอญชุมชนวัดเกาะ สันนิษฐานว่าอพยพมาจากหมู่บ้านกะมาวัก เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนที่จะมีชาวมอญมาอาศัยอยู่นั้น เดิมวัดเกาะเคยเป็นชุมชนที่มีคนจีนอาศัยอยู่มาก่อน แต่เมื่อคนมอญได้เข้ามาอยู่อาศัยก็ทำให้คนจีนที่อาศัยอยู่กลายเป็นคนส่วนน้อยไป หรือผสมกลมกลืนกันไปหมดแล้ว
ชุมชนวัดเกาะอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อําเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประกอบไปด้วย 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านพันธุวงษ์ หมู่ 2 บ้านวัดเกาะ หมู่ 3 บ้านหน้าวัด หมู่ 4 บ้านบางปลา หมู่ 5 บ้านศิริมงคล หมู่ 6 บ้านคลองแสม หมู่ 7 บ้านอ้อมโรงหีบ และหมู่ 8 บ้านปากบ่อใหญ่ ที่มาของชื่อตำบล บ้านเกาะ เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ที่แต่เดิมแม่น้ำท่าจีนมีความคดเคี้ยวอ้อมค้อมไปมา จะพายเรือไปไหนก็เสียเวลามาก ชาวบ้านจึงรวมใจกันขุดคลองเชื่อมระหว่างโค้งแม่น้ำ จึงทำให้เกิดพื้นดินที่มีน้ำล้อมรอบเป็นเกาะขึ้นมา จึงเป็นที่มาของตำบลบ้านเกาะ คลองที่ขุดใหม่กระแสน้ำไหลแรง ทำให้กว้างขึ้นกว่าเดิมเรียกว่า คลองลัดเกาะ แต่ต่อมาเรียกว่า แม่น้ำท่าจีน ส่วนแม่น้ำท่าจีนช่วงโค้งได้ตื้นเขินเล็กลงจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า คลองลัดเกาะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อราว พ.ศ. 2423 ชาวมอญจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลบ้านเกาะ และตำบลท่าทราย ได้แก่ บ้านบางปลาและบ้านเกาะ ได้อพยพเข้าไปในพื้นที่ตำบลเจ็ดริ้ว อําเภอบ้านแพ้ว เนื่องจากพื้นที่ในสองตำบลที่อาศัยอยู่เดิมเริ่มประสบปัญหาคับแคบ ที่ทำกินไม่เพียงพอ ซึ่งในระยะเริ่มแรกที่ชาวมอญอพยพเข้าไปอยู่นั้น พื้นที่บางส่วนยังคงสภาพเป็นป่าอ้อรกทึบอยู่ ชาวบ้านจึงทำการจับจองแผ้วถางให้โล่งเตียน แล้วทำการเกษตรปลูกข้าวและพืชผักผลไม้แทน ประชาชนเหล่านี้นับเป็นชาวมอญยุคแรกที่บุกเบิกที่ทำกินและเป็นบรรพชนเริ่มแรกของชาวเจ็ดริ้ว ประชากรกลุ่มแรกนี้ประกอบด้วยชาวมอญ เพียง 80 ครอบครัว รวมสมาชิกเพียงประมาณ 400 คนเศษ เท่านั้น
ปัจจุบันผู้คนที่อยู่ในชุมชนวัดเกาะ จะมีชาวมอญเป็นส่วนใหญ่ และเรียกตนเองว่า “ชาวไทยเชื้อสายมอญ” และจะไม่ชอบให้ถูกเรียกว่า “ชาวมอญพม่า” เพราะชาวมอญมักถูกคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าชาวมอญกับชาวพม่าที่เข้ามาทำงานเป็นแรงงานต่างด้าวในมหาชัยคือพวกเดียวกัน เนื่องจากคล้ายกับการดูถูกอยู่กลาย ๆ ซ้ำชาวมอญยังมีประวัติศาสตร์ที่เคยถูกพม่าย่ำยีไม่ต่างจากสยามในอดีต ชาวมอญจึงไม่พึงใจที่จะถูกเหมารวมว่าเป็นพม่า
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ห่างจากอำเภอเมืองสมุทรสาครประมาณ ตามระยะทางถนนเศรษฐกิจ 1 ประมาณ 11 กิโลเมตร และตามระยะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ประมาณ 16 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว ตำบลท่าเสา และตำบลดอนไก่อี อำเภอกระทุ่มแบน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าทราย และตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมืองสมุทรสาคร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร
ข้อมูลทะเบียนราษฎร์องค์การบริหารส่วนตำบลวัดเกาะ ณ พฤษภาคม 2558 รายงานสถิติประชากรบ้านวัดเกาะ หมู่ที่ 2 ตำบลวัดเกาะ มีจำนวนครัวเรือน 164 ครัวเรือน จำนวนประชากร 572 คน แยกเป็นประชากรชาย 283 คน และประชากรหญิง 289 คน โดยประชากรในหมู่บ้านคือกลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญที่อพยพมาจากหมู่บ้านกะมาวัก เมืองเมาะตะมะ ทั้งนี้ ชาวมอญวัดเกาะได้อธิบายตนเองว่า เป็นมอญกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนที่จะมีมอญกลุ่มอื่นอพยพเข้ามาและได้ขยายตัวไปที่อื่น ซึ่งชาวมอญวัดเกาะแห่งนี้เป็นชุมชนชาวมอญที่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นมอญไว้ได้ กล่าวคือ การมองตนเองโดยการให้ความรู้สึกต่อตนเองว่าตนนั้นคือคนมอญ มีบรรพบุรุษที่เป็นคนมอญ มีประวัติศาสตร์มอญมายาวนาน และมีความคิดความเข้าใจแบบมอญ ซึ่งแสดงออกมาผ่านทางสภาพสังคมและความเป็นอยู่เป็นรูปธรรม เพียงแต่ว่าอัตลักษณ์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถคงทนอยู่ถาวรได้ เพราะประเพณีวัฒนธรรมบางประการนั้นย่อมสูญหายไปตามกาลเวลา
มอญสืบเนื่องสภาพพื้นที่ชุมชนวัดเกาะที่มีลักษณะที่ราบลุ่มและป่าชายเลน ชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จึงมีอาชีพทำนา ทำสวน นาเกลือ ตัดฟืน เย็บจาก เผาถ่าน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ว่าพื้นที่ชุมชนจะมีลักษณะเป็นป่าชายเลน ทว่า ชาวบ้านในชุมชนกลับไม่ค่อยทำประมงสักเท่าใด อาจเนื่องมาจากชาวมอญไม่เชี่ยวชาญในการจับสัตว์น้ำ หรือทำกิจกรรมอื่นใดในขอบข่ายการทำประมง ฉะนั้นการจับสัตว์น้ำบริเวณป่าชายเลนจึงมีเพียงบางครั้งเท่านั้น ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทำสวนหรือเอาเรือออกไปขายของ ผู้หญิงมอญก็จะทำหัตถกรรม เช่น การเย็บจากเอาไว้ใช้เองในบ้านหรือเอาไปขายส่วนหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชาวบ้านที่เคยทำไร่ทำสวนก็เลิกประกอบอาชีพนี้หันไปขายของ หรือทำอย่างอื่นแทน บ้านไหนมีลูกหลานที่ได้รับการศึกษาในระดับสูง เมื่อเรียนจบก็จะเข้าเมืองไปหางานทำ ประกอบอาชีพตามสาขาที่เรียนมา นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ด้านอาชีพทำไร่ยังมี แต่ลดจำนวนน้อยลงกว่าอดีตมาก
กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและโฮมสเตย์ชุมชนวัดเกาะ
การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชนวักเกาะและกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่อยากมาใกล้ชิดกับคนในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่น พักอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ปฏิบัติตนคล้ายจำลองวิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยเชื้อสายมอญในชุมชนวัดเกาะ
นอกจากการพักอาศัยในบ้านหลังเดียวกันกับชาวบ้านแล้ว ยังมีกิจกรรมโปรแกรมพานักท่องเที่ยวแวะชมวัดเกาะ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของทั้งชาวไทยและชาวมอญ (รามัญ) มากว่า 200 ปี อีกทั้งยังมีการพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมสถานที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสาคร เช่น ศูนย์สามวัย สายใยรักตำบลอำแพง ชมสวนองุ่น ฟาร์มกล้วยไม้ในอำเภอบ้านแพ้ว รวมถึงสถานที่สำคัญของจังหวัดใกล้เคียง เช่น ตลาดน้ำอัมพวา เป็นต้น
ทั้งนี้ โฮมสเตย์บ้านมอญมีลักษณะเป็นบ้านมอญแบบขวาง คือ สร้างเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ สร้างด้วยไม้ไผ่และจาก โดยตัวบ้านจะหันขนานไปกับแม่น้ำ แต่บ้านลักษณะนี้จะปลูกเป็นหลังเล็ก ๆ ทำให้มีสัดส่วนพื้นที่จำกัด เป็นเพียงห้องกว้าง ๆ มีเตียงนอน โทรทัศน์ และห้องน้ำเท่านั้น
ความเชื่อและประเพณี
ชาวไทยเชื้อสายมอญชุมชนวัดเกาะมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและถือคติความเชื่อเรื่องผี ดังจะเห็นได้จากเมื่อชาวมอญย้ายมาอยู่ที่ชุมชนวัดเกาะ ก็มีการสร้างวัดเกาะขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญสําหรับรวมตัวประกอบประเพณีทางศาสนา อาทิ งานบวช เทศกาลสงกรานต์ หรือพิธีศพ ฯลฯ ในปัจจุบันความเชื่อและประเพณีเหล่านั้นบางอย่างก็ยังคงสามารถดํารงอยู่ได้ แต่ประเพณีบางอย่างก็ไม่ได้มีการปฏิบัติอีกต่อไปแล้ว เช่น การตักบาตรน้ำผึ้ง
ในชีวิตประจําวันชาวมอญมีความเกี่ยวข้องกับวัดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว และในส่วนของพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงมีการสวดหรือปฏิบัติแบบมอญอยู่ เช่น พิธีบวช ก็จะบวชแบบมอญ มีทัดดอกไม้ทําให้เหมือนประเพณีมอญ ชุดที่สวมใส่มาในงานนั้น ผู้หญิงมอญก็จะสวมเสื้อมีสไบพาดที่ไหล่ เกล้าผมมวยอันเป็นเอกลักษณ์ ฯลฯ
- ประเพณีสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13-19 เดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งจะเริ่มเตรียมงานกันตั้งแต่ก่อนวันที่ 13 เมษายน โดยการทําความสะอาดจัดเก็บบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บรรดาหนุ่มสาวจะไปรวมตัวกันที่วัดเกาะเพื่อกวนขนมกาละแม ซึ่งถือเป็นขนมสำคัญประจำเทศกาลสงกรานต์ตามวัฒนธรรมชาวมอญ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมข้าวแช่รับประทานคู่กับอาหาร 7 อย่าง และเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้สำหรับทำบุญ
- ประเพณีการสรงน้ำพระ ชาวมอญเรียกประเพณีนี้ว่า “หะ-เหลิบ-ซัง” พิธีสรงน้ำพระเป็นพิธีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลสงกรานต์ หลังจากทําบุญวันสงกรานต์แล้ว ชาวมอญได้กําหนดวันสรงน้ำพระเป็นที่แน่นอน คือ วันที่ 16 17 และ 18 เมษายนของทุกปี พิธีสรงน้ำพระของชาวมอญนี้มีลักษณะรูปแบบ คือ จะจัดเตรียมสถานที่สรงน้ำพระ โดยจัดทํารางยาว ๆ ประมาณ 6 วา ยื่นออกจากห้องน้ำ และมีการตกแต่งอย่างสวยงาม รางน้ำนี้ส่วนใหญ่จะทําจากไม้ไผ่ที่มีปล้องใหญ่ ๆ นํามาผ่าครึ่งแล้วเจาะส่วนที่เป็นปล้องให้ทะลุเป็นรางยาวเพื่อให้เป็นทางน้ำไหลได้สะดวก และน้ำที่ชาวบ้านเทลงในรางนั้นจะไหลกลับเข้าสู่ภาชนะที่รองรับในห้องน้ำเพื่อให้พระสรงน้ำได้สะดวก การสรงน้ำพระ พิธีจะเริ่มจากอัญเชิญพระพุทธรูปและทําพิธีบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระพุทธรูปเป็นอันดับแรกแล้วจึงตามด้วยการสรงน้ำพระสงฆ์ ในการสรงน้ำพระสงฆ์นี้ชาวบ้านจะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ชาย และกลุ่มผู้หญิง กลุ่มที่เป็นผู้หญิงจะถือขันน้ำยืนรออยู่ใกล้ ๆ รางพอได้ยินสัญญาณจึงเทน้ำใส่ในรางให้พระสงฆ์ได้สรงน้ำ พระสงฆ์แต่ละรูปก็จะทยอยเข้าสรงน้ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะครองผ้าออกจากห้องน้ำเดินมาตามทาง ระหว่างทางกลุ่มผู้ชายก็จะเทน้ำอบน้ำปรุงราดรดที่มือและเท้าของพระสงฆ์ที่เดินมาเพื่อที่จะขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ ในปัจจุบันการสรงน้ำที่วัดเกาะจะมีการอัญเชิญจะพระพุทธรูปและพระสงฆ์นั่งไปบนรถเป็นขบวนยาวในแต่ละหมู่บ้านจนครบทั้ง 8 หมู่บ้าน เพื่อประพรมน้ำมนต์ให้แก่ชาวบ้าน เป็นการให้พรและความเป็นสิริมงคล เมื่อชาวบ้านได้ไปสรงน้ำพระเสร็จเรียบร้อย วงดนตรีก็จะบรรเลงเพลงและมีชาวบ้านเข้าไปล้อมรถและรําวงอย่างสวยงาม
- พิธีศพมอญ จะใช้วิธีเผาศพเช่นเดียวกับไทย เว้นแต่ว่าผู้ตายมิได้ตายตามปกติ กล่าวคือ ประสบอุบัติเหตุ เป็นโรคตาย หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ญาติจะต้องรีบนําศพไปฝังที่วัดโดยเร็วที่สุด จนครบปีจึงนําศพไปเผาได้ เนื่องจากเชื่อว่าหากเผาศพผู้ตายทันทีอาจทําให้มีผู้ตายเพิ่มขึ้นอีก และผีนั้นจะลอยขึ้นท้องฟ้าในเวลาเผา อันเป็นลางร้ายซึ่งจะทําให้เกิดเคราะห์ร้ายแก่ครอบครัวและญาติพี่น้องเนือง ๆ ตามธรรมเนียมชาวมอญจะไม่นําโลงศพเข้าบ้านเด็ดขาด หากแต่จะทําการตั้งศพผู้ตายไว้บนแคร่หรือเตียงเตี้ย ๆ ภายในบ้าน พร้อมตกแต่งประดับประดาด้วยไม้ให้งดงามตามฐานะของเจ้าภาพ เมื่อครบกําหนดจึงนําศพไปประกอบพิธีที่วัด
- ความเชื่อเรื่องผี จะแยกออกเป็นผีประจําหมู่บ้าน เชื่อกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาและคุ้มครองคนในหมู่บ้านทั้งหมด โดยมากจะสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานไว้ในหมู่บ้านบริเวณชายทุ่ง ซึ่งผู้คนสามารถมาเซ่นไหว้ได้อย่างสะดวก และจะต้องทําพิธีเซ่นไหว้อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในหมู่บ้าน โดยมี “คนทรง” เป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนการเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน เป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องจากความเคารพนับถือผีตั้งแต่ผีประจําหมู่บ้าน ผีบ้านผีเรือน ผีเต่า ผีปลาไหล ผีไก่ ผีข้าวเหนียว เป็นต้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคคลในครอบครัว
การละเล่นพื้นบ้าน
- การละเล่นทะแยมอญ เป็นการละเล่นที่เล่นได้เกือบทุกโอกาส ตั้งแต่โกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฉลองพระ ขึ้นบ้านใหม่ แก้บนเจ้า งานศพ ฯลฯ ประกอบด้วยผู้เล่นซึ่งทําหน้าที่ทั้งร้องและรํา ฝ่ายชายและหญิงฝ่ายละ 1 คน มีเครื่องดนตรีประกอบ 5 ชนิด คือ ซอสามสาย ขลุ่ย จะเข้ กลองเล็กสองหน้า ฉิ่ง ผู้เล่นจะร้องโต้ตอบกันด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นภาษามอญตามที่นิยมกัน หรือตามความประสงค์ของเจ้าภาพ เช่น เรื่องทศชาติชาดก ธรรมสอนใจ วัฒนธรรมสิบสองเดือน และเพลงเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ทํานองที่ใช้ประกอบการร้องใช้เดียวกันกับเล่นลําตัดของไทย จึงมีชาวมอญบางคนเรียกทะแยมอญว่า ลําตัดมอญ ในปัจจุบันนั้นหาดูได้ยากมาก แต่ที่โฮมสเตย์ในชุมชนวัดเกาะมีการรื้อฟื้นการละเล่นนี้ขึ้นมาใหม่
- การเล่นสะบ้า เดิมนิยมเล่นกันในหมู่หนุ่มสาวชาวมอญที่ยังเป็นโสด โดยจะใช้เวลาเล่นตอนเย็น หลังจากว่างงาน หรือเสร็จสิ้นการทําบุญสงกรานต์แล้ว จะนัดหมายกัน ณ บริเวณลานบ้านใดบ้านหนึ่ง ภายในหมู่บ้านของตน พร้อมกับแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายหญิงและชายในจํานวนที่เท่ากัน และใช้ลูกสะบ้าซึ่งทําด้วยไม้ลักษณะกลม ๆ แบนๆ สําหรับทอย หรือเขย่งเตะ หรือโยนด้วยเท้า เป็นเครื่องมือประกอบการเล่นโยต้องคำนวณระยะให้ถูกคู่เล่นของตนเพื่อจะได้ออกมาเล่นกันเป็นคู่ต่อไป
- แป๊ะตั้งเจี๋ย เป็นการละเล่นคล้ายเป็นการอันเชิญองค์แป๊ะตั้งเจี๋ยให้มาเข้าคนที่เล่น โดยจะมีหุ่นไว้เรียกองค์แป๊ะตั้งเจี๋ย จะมีการร้องรําเป็นภาษามอญ มีการเอากะลามาเคาะรัว ๆ ให้เกิดเสียงดัง โดยผู้เล่นจะเล่นกันเป็นกลุ่มใหญ่ และจะต้องไปเล่นกันในสวนในที่มืด ๆ เท่านั้น ถ้าคนที่เรียกองค์แปะตั้งเจี๋ยไม่มาเข้า คนนั้นก็จําเป็นที่จะต้องแสดงเหมือนว่าว่ามีองค์แป๊ะตั้งเจี๋ยมาเข้า จุดประสงค์ใช้เล่นกันเพื่อความสนุกเฮฮาและถามในเรื่องที่อยากรู้ บ้างดูดวง บ้างก็ถามเรื่องหวย
- ผีสุ่มปลา การละเล่นผีสุ่มปลาจะให้ผู้ชมนั่งเป็นวง ใช้ผู้หญิงเป็นคนเข้าผี โดยจะมีผู้เล่นนั่งยอง ๆ นั่งบนหัวสุ่มอยู่ที่กลางวง ให้สะพายข้อง ในมือถือสุ่ม เจ้าพิธีใช้ผ้าขาวม้าปิดตาผู้เล่น จุดธูปเทียน เชิญผีเข้าสิง แล้วให้ผู้เล่นช่วยกันร้องเพลง โดยจะร้องซ้ำ ๆ จนผีเข้า ผู้เล่นจะสุ่มปลาจับปลาในสุ่มใส่ข้อง ซึ่งผู้ชมอาจโยนเปลือกมะพร้าว หรือกิ่งไม้เล็ก ๆ สมมติเป็นปลา ผู้เล่นแย่งกันสุ่ม เป็นที่สนุกสนาน ถ้ายุให้ผีรำผีก็จะรำ และถ้าจะให้ผีออกจะต้องตบหูข้างเดียว หากล้มลงแสดงว่าผีออกไปแล้ว
- ระบำเย็บจาก เกิดจากการรวมกลุ่มของคนในตําบลบ้านเกาะ เป็นชมรมผู้สูงอายุจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งชมรมนี้จะเอาจุดเด่นของวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนในชุมชนไปแสดงให้คนที่อื่น ๆ นอกพื้นที่ได้รู้จัก การแสดงระบําเย็บจากจะแสดงตามงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมคนมอญ ระบําเย็บจากที่คิดขึ้นนั้นเป็นการประกอบท่ารำที่อ่อนช้อยงดงาม โดยแสดงท่าทางที่กําลังเย็บจากบ่งบอกให้ทราบถึงวิถีชีวิตของมอญวัดเกาะ การร้องเพลงประกอบจะร้องเป็นภาษามอญ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำจากของชาวไทยเชื้อสายมอญวัดเกาะ
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวไทยเชื้อสายมอญในชุมชนวัดเกาะนั้นยังคงมีลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนแบบมอญขวางอยู่ คือ หันตัวบ้านขนานไปกับแม่น้ำ ส่วนบ้านที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำก็จะเป็นบ้านปลูกติด ๆ กัน ลักษณะบ้านชั้นล่างเป็นปูนส่วนชั้นบนเป็นไม้เหมือนกับบ้านของคนไทยปกติ ส่วนภายในบ้านของคนไทยเชื้อสายมอญที่มีการนับถือผีนั้น ความเชื่อที่ว่าแต่ละบ้านต้องมีห้องที่มีเสาผีอยู่นั้น ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างในอดีตเพราะว่าบางบ้านก็ไม่ได้นับถือผีบรรพบุรุษแล้ว บางคนไม่ก็ไม่แน่ใจว่าตระกูลตนเองเป็นผีอะไร หรือบางครอบครัวมีแต่ลูกสาวไม่มีลูกชาย ทําให้ผีประจําตระกูลต้องหมดไปโดยปริยาย แต่โดยปกติแล้วชาวไทยเชื้อสายมอญที่วัดเกาะส่วนมากเป็นตระกูลที่นับถือผีเต่า และมีความเชื่อเกี่ยวกับผีเต่า
สิ่งที่บ่งบอกความเป็นมอญในชุมชนวัดเกาะ นอกจากลักษณะการปลูกบ้านแบบมอญขวางที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีเรื่องของสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวโยงมากับความเชื่อในพระพุทธศาสนา คือ ตํานานเกี่ยวกับเสาหงส์ของคนมอญ แต่เดิมสัญลักษณ์หงส์มีที่มาจากพื้นที่เมืองหงสาวดีแต่เดิมเป็นที่ลุ่ม มีลักษณะเป็นทะเลสาบ ต่อมาทะเลสาบตื้นเขินกลายเป็นดินดอน ณ ที่แห่งนั้นได้มีหงส์ตัวผู้ตัวเมียคู่หนึ่งได้พากันมาอยู่ในทะเลสาบใหญ่แห่งนี้ ชาวมอญจึงถือว่าเป็นนิมิตที่ดีจึงตั้งเมืองที่สร้างใหม่ว่า “เมืองหงสา” หรือ “หงสาวดี” ในปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นมาชาว มอญจึงนับถือหงส์ เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ให้คุณไม่ว่าชาวมอญจะอพยพไปอยู่ ณ ถิ่นฐานใด จะต้องสร้างรูปหงส์ไว้บนยอดเสาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ หรืออีกตํานานก็เล่าว่าพระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นหงส์เล่นน้ำอยู่ชายทะเล จึงทรงทํานายว่าบริเวณนั้นจะต้องกลายเป็นที่ตั้งของนครที่มีชื่อว่าหงสาวดี
รูปแบบเสาหงส์ที่วัดเกาะนั้นจะมีความแตกต่างจากที่อื่น กล่าวคือ โดยทั่วไปวัดมอญจะมีเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของคนเชื้อชาติมอญ แต่เสาหงส์ที่วัดเกาะนั้นเป็นเสาไม้แปดเหลี่ยม หัวเสาตกแต่งเป็นหัวเปิด มีเสาประกบด้านข้างทั้งสองด้าน มีรูปช้างสามเศียรและม้าสาม เศียรเป็นยอด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญที่ไม่ใช่รูปหงส์
วัฒนธรรมการแต่งกาย
ชาวไทยเชื้อสายมอญวัดเกาะในอดีตผู้หญิงจะนุ่งชุดมอญที่เป็นเสื้อแขนกระบอก และนุ่งผ้าซิ่น เกล้ามวยผมเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และจะห่มสไบต่อเมื่อมีเทศกาลหรือพิธีสําคัญ ผู้ชายจะใส่เสื้อคอกลมผ่าอก นุ่งผ้าคล้ายโสร่ง ปัจจุบันจะสวมเสื้อ กระโปรง และกางเกงทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เน้นการใส่ชุดประจําชาติมอญแล้ว แต่จะใส่ชุดมอญตามธรรมเนียมเฉพาะเวลามีงานสําคัญเท่านั้น
ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทย-รามัญ วัดเกาะ
ภายในพื้นที่วัดเกาะได้มีการจัดสร้างศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้นเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวมอญวัดเกาะในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ โดยใช้ข้อความและรูปภาพในการนําเสนอ พร้อมทั้งมีการจัดแสดงหุ่นแสดงชุดการแต่งกายของมอญ รวมถึงการสาธิตการเล่นสะบ้า ส่วนบูชาพระบรมสารีริกธาตุ รูปถ่ายกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดสมุทรสาครและชุมชนวัดเกาะ เพื่อให้คนที่เข้ามาเที่ยวชมศึกษาสามารถรับรู้พื้นเพความเป็นมาของคนชุมชนวัดเกาะ ทั้งนี้ ก็เพื่ออนุรักษ์และรักษาประเพณีวัฒนธรรมมอญไม่ให้สูญหายไป และเพื่อแสดงตัวตนของคนมอญในสังคมไทยให้ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น สร้างสํานึกให้คนมอญรุ่นใหม่ได้ตระหนักรู้ถึงรากเหง้าของตนเองว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร และมีความสําคัญอย่างไรในอนาคต
ชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดเกาะ ในอดีตยังพูดภาษามอญกันอยู่เป็นจํานวนมาก ถึงขั้นว่าคนจีนที่อาศัยอยู่หรือมาค้าขายกับชาวมอญจําเป็นต้องฝึกพูดภาษามอญ เพราะชาวมอญจะพูดแต่ภาษามอญเท่านั้น ต่อมาเมื่ออยู่มานานจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มพูดภาษาไทยมากขึ้น ดังนั้น ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายมอญชุมชนวัดเกาะจะใช้ภาษามอญพูดกันในระดับชุมชน กล่าวคือ จะใช้พูดทักทายกับคนที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคย เมื่อมีงานเทศกาลสําคัญชาวมอญจะมารวมตัวและพูดภาษามอญกัน หากเป็นเด็กเล็ก ถ้าที่บ้านยังคงพูดภาษามอญ เด็กก็จะสามารถพูดโต้ตอบได้ แต่เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาจนเริ่มโตขึ้นก็จะเริ่มพูดภาษามอญน้อยลง คือ ฟังรู้เรื่องแต่ไม่ค่อยพูด ส่วนการเขียนภาษามอญนั้นคนมอญที่พอมีอายุจึงจะพออ่านออกเขียนได้ ส่วนคนรุ่นหลัง ๆ อ่านภาษามอญได้น้อยมาก ภาษามอญจึงคงดํารงอยู่ได้เฉพาะในวัดที่มีเพียงพระสงฆ์ที่ยังอ่านเขียนภาษามอญได้อยู่
“มอญน้ำเค็ม” หรือ “มอญลุ่มน้ำเค็ม” หมายถึง คําที่คนมอญกลุ่มอื่นใช้เรียกคนมอญสมุทรสาคร เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นป่าชายเลนที่ราบน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านไปออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร ดังนั้น คนมอญที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำจึงถูกเรียกว่ามอญน้ำเค็ม และในจังหวัดสมุทรสาครจะมีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับน้ำขึ้นและน้ำลง ทําให้มีน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ช่วงไหนที่มีน้ำกร่อยไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ ชาวบ้านก็จําเป็นจะต้องรองน้ำจืดเก็บตุนเอาไว้เพื่อบริโภค นอกจากนี้ มอญน้ำเค็มยังมีความหมายถึง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมประเพณีบางอย่าง อาทิ โลงมอญน้ำเค็ม ศิลปะมอญที่มีรูปทรงสวยงาม ฝาโลงทําเป็นยอดแหลมคล้ายปราสาทที่มีความประณีตมาก ด้านข้างติดกระจกใสไว้ ทําให้สามารถมองเห็นภายในได้ และยังมีสําเนียงภาษามอญที่แตกต่างกับที่อื่น ๆ ด้วย
เพชรรัตน์ ตั้งโชคทวีคูณ. (2554). การนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นมอญ กรณีศึกษา ชุมชนวัดเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ. (ม.ป.ป.). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566ม จาก http://bankao.go.th/
Google Earth. (2566). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/