Advance search

ชุมชนเก่าแก่ริมคลองวัดประดู่ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของตำบลวัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงคราม กับตำบลจอมประทัด จังหวัดราชบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มที่มีลำคลองหลายสายไหลผ่าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนส้มโอ นาข้าว และเลี้ยงปลา และมี “วุ้นมะพร้าว” เป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของชุมชน

วัดประดู่
อัมพวา
สมุทรสงคราม
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 ส.ค. 2023
ปากคลองวัดประดู่


ชุมชนเก่าแก่ริมคลองวัดประดู่ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของตำบลวัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงคราม กับตำบลจอมประทัด จังหวัดราชบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มที่มีลำคลองหลายสายไหลผ่าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนส้มโอ นาข้าว และเลี้ยงปลา และมี “วุ้นมะพร้าว” เป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของชุมชน

วัดประดู่
อัมพวา
สมุทรสงคราม
75110
13.4282843567
99.8896023317
องค์การบริหารส่วนตำบลวัดประดู่

ชุมชนปากคลองวัดประดู่ตั้งอยู่บริเวณที่มีลําน้ำสองสายมาบรรจบกัน คือ คลองวัดประดู่ และคลองแควอ้อม หรือลําน้ำอ้อม บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวสวนที่เรียกว่า สวนนอก อันเป็นที่รู้จักกันมาช้านาน ซึ่งเป็นชุมชนริมน้ำที่ทําสวนไม้ผลและพืชผักจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เช่น พริก หอม กระเทียม มะม่วง มะพร้าวบางช้าง ฯลฯ ในเขตการปกครองของเมืองราชบุรี มีหลักฐานว่าในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ราวปี พ.ศ. 2173–2198 แขวงบางช้างเริ่มปรากฏมีสวนผลไม้และพืชผักที่อุดมสมบูรณ์ มีความเจริญทั้งในด้านเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม ช่วงเวลานั้นสภาพพื้นที่บางช้างเป็นป่ารกปะปนกับสวน มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง แต่ต่อมาพื้นที่ในแถบนี้ได้มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือน และทําการบุกเบิกพื้นที่ในบริเวณที่เป็นลําคลองสายย่อยสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเพื่อตั้งถิ่นฐานและทํามาหากิน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมสําหรับการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่ก่อตัวจากตะกอนแม่น้ำ

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนปากคลองวัดประดู่ได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง โดยพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ และบทบาททางด้านต่าง ๆ ของชุมชน เป็นเกณฑ์ในการกําหนดช่วงพัฒนาการ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • ช่วงที่ 1 ยุคบุกเบิกการตั้งชุมชน (พ.ศ. 2310-2449) ในยุคนี้ชาวบ้านจากอยุธยาที่อพยพลี้ภัยสงครามเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 รวมถึงมีการกวาดต้อนผู้คนเชื้อชาติต่าง ๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือนหลังเหตุการณ์สงบ ต่อมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีกลุ่มชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในบริเวณปากคลองวัดประดู่ จนกลายเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุด ระยะนี้โครงสร้างชุมชนปากคลองวัดประดู่ยังไม่ซับซ้อน มีเพียงแม่น้ำลําคลอง บ้านเรือน พื้นที่สวน และศาสนสถาน ซึ่งในยุคนี้แม่น้ำลําคลองและพื้นที่ริมน้ำจะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทุกประเภท ส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินในยุคแรกนี้พื้นที่ส่วนมากจะเป็นพื้นที่สวนปะปน กับพื้นที่ป่า ส่วนการปลูกสร้างบ้านเรือนมีทั้งที่อาศัยอยู่ตามแนวลําน้ำและอยู่ในพื้นที่สวน และศาสนสถานมักตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ริมน้ำในบริเวณใกล้กับชุมชน

  • ช่วงที่ 2 ยุคชุมชนขยายตัวและตลาดน้ำคึกคัก (พ.ศ. 2450-2500) เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานของบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้น และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบริเวณพื้นที่ริมน้ำอย่างมาก ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488) มีประชาชนจากกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตร ได้อพยพหลบภัยมาอยู่กับญาติพี่น้อง บ้างก็มาเช่าบ้านอาศัยอยู่บริเวณปากคลองวัดประดู่ การอพยพครั้งนี้ส่งผลให้ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เกิดการบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อเพาะปลูกจนกลายเป็นที่สวนมากขึ้นจนแทบไม่มีป่าเหลืออยู่เลย ในยุคนี้อาคารบ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มีลักษณะที่ถาวรมากขึ้น ซึ่งบ้านเรือนในบริเวณตลาดปากคลองประดู่จะมีการใช้ประโยชน์ทั้งเพื่ออยูอาศัยและเพื่อประกอบกิจการร้านค้าแทบทุกหลังคาเรือน

  • ช่วงที่ 3 ยุคเปลี่ยนผ่าน ชุมชนริมน้ำซบเซา (พ.ศ. 2501-2541) ในช่วงที่สามนี้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ชุมชนปากคลองวัดประดู่และชุมชนรอบข้างต่างได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ เส้นทางสัญจรทางบกเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการสัญจรของชุมชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ้านเรือนที่แต่เดิมเคยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่บริเวณริมน้ำเริ่มขยายออกมาสู่พื้นที่ริมถนนมากขึ้น บริเวณริมถนนสายหลักมีการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชยกรรม ส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงเกษตรกรรมลดน้อยลง

  • ช่วงที่ 4 ยุคกระแสฟื้นฟูชุมชนริมน้ำ (พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน) ในยุคนี้การตั้งถิ่นฐานของชุมชนปากคลองประดู่และชุมชนโดยรอบเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าของชุมชนรอบข้าง ได้กลายเป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย มีการประกอบกิจการร้านค้าขนาดเล็กสำหรับพอเลี้ยงตนเองได้ การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาคารในพื้นที่ริมน้ำจากเดิมที่เคยมีอาคารประเภทที่อยู่อาศัยกึ่งพาณิชยกรรมอยู่หนาแน่นได้ลดจำนวนลง เปลี่ยนเป็นอาคารที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว 

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่โดยทั่วไปของชุมชนปากคลองวัดประดู่และชุมชนใกล้เคียงมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีลําคลองธรรมชาติหลายสาย เหมาะสําหรับการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เช่น ทํา สวนทั้งสวนไม้ล้มลุก และสวนไม้ยืนต้น เช่น มะพร้าว กล้วย ลิ้นจี่ ฯลฯ และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ ส่วนพื้นที่ริมน้ำโดยมากจะเป็นร้านค้า คลองวัดประดู่นี้เป็นเส้นแบ่งอาณาเขตจังหวัดสมุทรสงครามและราชบุรี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่การบรรจบกันของลําน้ำสําคัญสองสาย คือ คลองวัดประดู่และคลองแควอ้อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แม่น้ำอ้อม โดยลําน้ำทั้งสองจะมีลักษณะแบบสามน้ำ คือ เมื่อน้ำทะเลขึ้น น้ำทะเลจะดันน้ำจืดในลําน้ำและลําคลองย่อยต่าง ๆ ที่ไหลมาจากราชบุรีและกาญจนบุรีกลับขึ้นไปก่อน ในช่วงหัวน้ำขึ้น 1-2 ชั่วโมงแรก น้ำในลําคลองจะเป็นน้ำจืด ในชั่วโมงที่ 3- 4 น้ำทะเลเข้าคลุกเคล้ากับน้ำจืดมากแล้ว น้ำในลําคลองก็กลายเป็นน้ำกร่อย หรือน้ำลักจืดลักเค็ม เมื่อถึงชั่วโมงที่ 5- 6 น้ำก็จะกลายเป็นน้ำเค็ม คือ เป็นสามน้ำในสายน้ำเดียวกัน เป็นเพราะอิทธิพลจากน้ำทะเลขึ้นและลง ในหนึ่งวันน้ำจะขึ้น 2 ครั้ง และลง 2 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 6 ชั่วโมง โดยปริมาณน้ำขึ้นและลงอย่างละ 2 ครั้ง มีปริมาณน้ำไม่เท่ากัน ต้องดูข้างขึ้นข้างแรมของพระจันทร์ด้วย นอกจากนี้ในอดีตจะมีชุมชนจากแถบคลองโคน คลองช่อง แพรกทะเล คลองขุดยี่สาร พายเรือมาล่มน้ำจืดจากคลองวัดประดู่ใส่เรือไป เนื่องจากคลองดังกล่าวเป็นคลองหรือลําน้ำที่ต่อตรงกับระดับน้ำทะเล จะเป็นระบบน้ำเดียว คือ เป็นน้ำเค็มอย่างเดียว

สภาพดินบริเวณปากคลองวัดประดู่มีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและการขึ้นลงของน้ำทะเล สมรรถนะของดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ระดับปานกลางถึงสูงมาก เหมาะแก่การทําเกษตรกรรม ทําสวนผลไม้ ดังจะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม เช่น ทําสวนมะพร้าว ปลูกลิ้นจี่ ส้มโอ กล้วย ฯลฯ

เส้นทางคมนาคม

เส้นทางสัญจรทางบก: การเดินทางเข้าสู่ชุมชนปากคลองวัดประดู่ทางฝั่งตะวันออก เริ่มจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 (สายสมุทรสงคราม-ดําเนินสะดวก) ผ่านตัวเมืองแม่กลอง แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ ตําบลคลองสวน อําเภออัมพวา เข้าสู่ถนนผลไม้ หรือทางหลวงชนบท สส. 4004 ผ่านวัดสําคัญ ๆ ของจังหวัดสมุทรสงครามหลายแห่ง เช่น วัดบางนางลี่ วัดบางแคน้อย ฯลฯ เข้าสู่เขตเทศบาลตําบลเหมืองใหม่ ผ่านวัดเสด็จ วัดบางวันทอง แล้วจึงบริเวณชุมชนปากคลองวัดประดู่ ส่วนทางทิศตะวันตกจะสามารถเดินทางเข้ามาได้โดยใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3088 (ถนนสายราชบุรี-วัดเพลง-ปากท่อ) ซึ่งเป็นถนนเลียบคลองวัดประดู่ตลอดแนวเลาะเลียบคลองแควอ้อมในเขตจังหวัดราชบุรีไปตลอด

เส้นทางสัญจรทางน้ำ: ปัจจุบันคงเหลืออยู่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต แต่ก็ยังคงมีให้พบเห็นได้บ้าง โดยเป็นชาวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองวัดประดู่และชาวบ้านที่อยู่ริมคลองแควอ้อม ในส่วนของการเดินทางเมื่อมาจากทางทิศตะวันออกและตะวันตกเฉียงเหนือจะใช้เส้นทางสัญจร คือ คลองแควอ้อม ส่วนการเดินทางมาจากทางด้านทิศใต้จะใช้เส้นทางหลัก คือ คลองวัดประดู่ ในการจอดเรือสามารถจอดได้ตามบันไดท่าน้ำหน้าบ้านที่อยู่ริมน้ำทั้งสองฝั่งคลอง และบริเวณหน้าวัดแก้วเจริญจะมีศาลาริมน้ำข้างป้อมตํารวจ ในอดีตจะเป็นท่าเรือโดยสาร แต่ในปัจจุบันไม่มีเรือโดยสารแล้วคงเหลือแต่ศาลาเป็นที่นั่งเล่น

ประชากรในชุมชนปากคลองวัดประดู่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยที่มีเชื้อสายจีน และประชากรบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ถัดจากตลาดปากคลองวัดประดู่ เข้าไปในคลองวัดประดู่และคลองบางนางสูญ ส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายเป็นไทยแท้ แต่ปัจจุบันนี้ประชากรทั้งสองเชื้อชาติก็ได้ผสมผสานกันจนเกิดความกลมกลืนทางวัฒนธรรมไปแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงนับว่าเป็นเชื้อชาติไทย สัญชาติไทยแทบทั้งสิ้น ในส่วนของการนับถือศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ 95 ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 5 นับถือศาสนาคริสต์

ความสัมพันธ์ของชาวชุมชนที่อยู่ต่างเขตการปกครองกันนั้นมีความสมัครสมานกันดีตามสมควร ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกใด ๆ ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามโอกาส ตลอดจนประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันตามประเพณีเสมอมา เช่น งานบวช งานแต่งงาน การทําบุญตามวันสําคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น โดยมีวัดเป็นสถานที่หลักในการจัดกิจกรรม

ลักษณะความเป็นอยู่โดยทั่วไปของชุมชนปากคลองวัดประดู่ มีความสงบสุข ร่มเย็น ชาวบ้านส่วนมากดําเนินชีวิตแบบเรียบง่าย มีอัธยาศัยไมตรีต่อกันและกัน ตลอดจนผู้มาเยี่ยมเยือนเป็นอย่างดี ลักษณะสังคมมีทั้งลักษณะของสังคมเมืองและสังคมแบบชนบทผสมผสานกัน เช่น การประกอบอาชีพของประชากรบางส่วนเป็นอาชีพของสังคมเมือง เช่น การค้าขาย การบริการ รับราชการ ฯลฯ ในขณะที่บางส่วนยังประกอบอาชีพที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพของสังคมชนบทอยู่ และในการทํามาหากินเลี้ยงชีพนั้นยังนับว่าไม่เคร่งเครียดกับการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเท่ากับการดําเนินชีวิตของคนในเมืองใหญ่ ส่วนวิถีชีวิตของชาวชุมชนที่อยู่ริมน้ำส่วนใหญ่ก็ยังคงความผูกพันกับลําคลองอยู่บ้าง เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ การซื้ออาหารหรือสินค้า การซักล้างต่าง ๆ เป็นต้น เพียงแต่ไม่ใกล้ชิดกับลําคลองมากเหมือนในสมัยอดีต

ประชากรชุมชนปากคลองวัดประดู่มีการประกอบอาชีพที่ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบด้วย การค้าขาย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงการรับจ้าง และการรับราชการ สําหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ริมน้ำที่ยังคงเหลือให้พบเห็นได้บ้าง เช่น การพายเรือขายกาแฟ ขายก๋วยจั๊บ เรือขายน้ำปลาจากแม่กลอง หรือเรือริมน้ำที่เป็นร้านโชห่วย ร้านขายยาดั้งเดิม เป็นต้น แต่กิจกรรมการค้าบริเวณนี้จะไม่คึกคักเท่ากับร้านค้าที่อยู่ตามแนวถนนสายหลักหรือถนนสายรอง โดยเฉพาะในวันที่มีตลาดนัดทั้งตลาดลุงเพิ่ม และตลาดนัดวัดศรัทธาราษฎร์ กิจกรรมการค้า จะมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าจากที่อื่นมาขายสินค้าด้วย ส่วนด้านเกษตรกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการทําสวนมะพร้าว ปลูกส้มโอ ลิ้นจี่ กล้วย มะม่วง ซึ่งเจ้าของสวนจะนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายตามตลาดด้วยตนเองหรือมีพ่อค้าคนกลางมารับไปจําหน่ายต่อ หรือบางรายมีการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น วุ้นมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปที่มีชื่อเสียงประจำชุมชนและตำบลวัดประดู่ และอาชีพรับจ้างนั้นมีทั้งการรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างดายหญ้า รับจ้างก่อสร้าง ฯลฯ ตลอดจนการรับจ้างขึ้นมะพร้าว และการรับจ้างเก็บลิ้นจี่ ซึ่งถือเป็นการรับจ้างเฉพาะทาง มีเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถรับจ้างงานประเภทนี้ได้ เนื่องจากการรับจ้างในลักษณะนี้ต้องอาศัยความชํานาญเฉพาะด้าน เช่น การหักกิ่งลิ้นจี่ จะต้องรู้ว่าจะหักอย่างไรไม่ให้กิ่งช้ำ ถ้ากิ่งลิ้นจี่ช้ำ ปีหน้าผลผลิตอาจออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เป็นต้น และผู้ที่รับจ้างงานประเภทนี้บางคนก็มีสวนเป็นของตนเอง แต่ก็รับจ้างไปทํางานให้สวนคนอื่นด้วย แต่คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอายุเลยวัยกลางคนขึ้นไปและนับวันจะเหลือน้อยลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจทํางานในลักษณะนี้

นอกจากนี้ บทบาททางเศรษฐกิจของชุมชนที่ยังปรากฏใช้การคมนาคมทางน้ำ ทำให้มีตลาดนัดทางน้ำที่ปากคลองวัดแก้วหรือปากคลองวัดประดู่ เป็นเสมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับชุมชน เป็นชุมชนที่คับคั่ง และทำเลการค้าขายหนาแน่นคึกคัก มีการจับจ่ายหาซื้อข้าวของตลอดทั้งวันและทุกวัน เรือแพทุกชนิดบรรทุกสินค้าและรับคนโดยสารเข้าออกซอยต่าง ๆ มีเรือต่อขนาดกลางขายส่งสินค้า เรียกว่า เรือส่ง แต่การเดินทางในปัจจุบันประชาชนจะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกเป็นหลัก ซึ่งเป็นการสัญจรที่สะดวกกว่าทางน้ำ ทั้งระยะใกล้และไกล กิจการค้าขาย การบริการต่าง ๆ จึงหันมายึดทําเลที่อยู่ติดกับเส้นทางถนนมากกว่า บทบาทด้านการค้าและบริการของชุมชนริมน้ำปากคลองวัดประดู่จึงค่อย ๆ ลดน้อยลง จนเป็นสภาพดังเช่นปัจจุบัน

กิจกรรมที่ชาวชุมชนกระทําร่วมกันโดยมากคือ การทําบุญที่วัดในวันสําคัญ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และตามเทศกาลต่าง ๆ ส่วนประเพณีหนึ่งที่แตกต่างจากที่อื่นซึ่งวัดแก้วเจริญจัดขึ้นเป็นประจําทุกปี คือ งานวันครบรอบมรณภาพของหลวงปู่หยอด อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ ซึ่งจัดขึ้นประมาณช่วงวันที่ 12 เดือนมีนาคม นอกจากนี้ในวันพระ โดยเฉพาะในระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา ชาวพุทธ ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีศรัทธาทั้งหลายจะไปค้างคืนที่วัดเพื่อฟังพระสวดมนต์และฟังเทศน์ตอนกลางคืน ตลอดจนปฏิบัติสมาธิภาวนาร่วมกันก็นับเป็นประเพณีอันดีงามที่ได้ปฏิบัติสืบมาถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทย

ภาเขียน : ภาษาไทย


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับพลวัตทางสังคมชุมชนปากคลองวัดประดู่

ตลอดยุคสมัยการพัฒนาชุมชนปากคลองวัดประดู่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกันมาตลอดโดยไม่สามารถแยกจากกันได้ การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทําให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงเป็นลําดับ ในช่วง 2 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ป่าไม้ถูกทําลายลงปีละหลายร้อยไร่ ที่ดินทํากินถูกชะล้างพังทลายจนไม่สามารถจะนํามาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ดังเห็นได้ชัดเจนที่สุดในช่วงการขยายตัวของชุมชนในยุคที่ 2 และ 3 ที่สภาพแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ “โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่” (โครงการนี้เกิดขึ้นในช่วงแผนพัฒนาฯ 1-2) รวมถึงการพัฒนาเส้นทางถนนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างสะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัยข้ามแม่น้ำแม่กลองในช่วงแผนพัฒนาฯ 3 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดสมุทรสงครามกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯกับจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชุมชนริมน้ำ รวมถึงชุมชนปากคลองวัดประดู่อย่างเห็นได้ชัด และยังได้ส่งผลกระทบต่อลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนปากคลองวัดประดู่อีกด้วย ทั้งนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการขยายตัวของงานภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจนทำให้เกิดภาวะน้ำเสียในลำน้ำแม่กลองซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้านชุมชนปากคลองวัดประดู่ ระบบนิเวศที่ถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติบางส่วนเกิดความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีปัญหาการดูดซับแรงงานออกไปจากพื้นที่ โดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตรที่หันหน้าเข้าสู่การเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดโดยรอบ เช่น สมุทรสาคร ราชบุรี และนครปฐม ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 2 เป็นต้นมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์. (2562). ผลิตภัณฑ์ : วุ้นมะพร้าวเส้นในน้ำผลไม้. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://dcr.dip.go.th/th/category/

บ้านทิพย์สวนทอง. (ม.ป.ป.). ชมวิถีชีวิตของชาวบ้านในสวนมะพร้าว จังหวัด สมุทรสงคราม. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.baantip.com/

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม. (ม.ป.ป.). ชุมชนริมคลองวัดประดู่. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

อรุณวรรณ ศิริวชิราภรณ์. (2550). ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของชุมชนปากคลองวัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.