Advance search

ท่ามะโอ

บ้านท่ามะโอ

ชุมชนเก่าแก่ที่ในอดีตเคยเจริญอย่างมากในยุคอุตสาหกรรมค้าไม้ของไทย จึงเห็นบ้านเรือนใช้ไม้สักเก่าแก่และบ้านเรือนเก่าสไตล์ยุโรป เช่น บ้านเสาหนัก บ้านหลุยส์ ที ลีโอโนแวนส์ อันเป็นผลพวงของผู้คนต่าง ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในยุคนี้ นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองลำปาง ผ่านโบราณสถานและวัดเก่าแก่ที่มีเรื่องราว

เวียงเหนือ
เมืองลำปาง
ลำปาง
วีรวรรณ สาคร
30 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
31 ก.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
2 ส.ค. 2023
ท่ามะโอ
บ้านท่ามะโอ

เดิมในอดีตพื้นที่แถบนี้เป็นเส้นทางค้าขายทางน้ำที่ใช้เรือและแพเป็นพาหนะ ทำให้แต่ละหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวังซึ่งรวมถึงชุมชนแห่งนี้มักใช้ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ท่า” และด้วยชุมชนแห่งนี้ในอดีตมีต้นมะโอหรือส้มโอใหญ่ปลูกอยู่บริเวณริมน้ำ จึงทำให้เรียกแทนชื่อหมู่บ้านริมน้ำตรงนี้ว่า "บ้านท่ามะโอ"


ชุมชนเก่าแก่ที่ในอดีตเคยเจริญอย่างมากในยุคอุตสาหกรรมค้าไม้ของไทย จึงเห็นบ้านเรือนใช้ไม้สักเก่าแก่และบ้านเรือนเก่าสไตล์ยุโรป เช่น บ้านเสาหนัก บ้านหลุยส์ ที ลีโอโนแวนส์ อันเป็นผลพวงของผู้คนต่าง ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในยุคนี้ นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองลำปาง ผ่านโบราณสถานและวัดเก่าแก่ที่มีเรื่องราว

เวียงเหนือ
เมืองลำปาง
ลำปาง
52000
เทศบาลนครลำปาง โทร. 0-5423-7237
18.29444463491572
99.51011530878327
เทศบาลนครลำปาง

ชุมชนท่ามะโอ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของสะพานข้ามแน่น้ำปิง บริเวณสะพานเขลางค์นคร เป็นชุมชนที่เก่าแก่ของเมืองลำปาง สืบค้นได้ยาวนานถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยมนุษย์เกาะคา เรื่อยมาถึงหริภุญชัย จนมาถึงเขลางค์นคร และล้านนา จบจนเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ซึ่งเดิมในอดีตพื้นที่แถบนี้เป็นเส้นทางค้าขายทางน้ำที่ใช้เรือและแพเป็นพาหนะ ทำให้แต่ละหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวังซึ่งรวมถึงชุมชนแห่งนี้มักใช้ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ท่า” และด้วยชุมชนแห่งนี้ในอดีตมีต้นมะโอหรือส้มโอใหญ่ปลูกอยู่บริเวณริมน้ำ จึงทำให้เรียกแทนชื่อหมู่บ้านริมน้ำตรงนี้ว่า บ้านท่ามะโอ

ต่อมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ชุมชนท่ามะโอได้เริ่มเจริญและโดดเด่นขึ้น เนื่องด้วยธุรกิจค้าไม้ขณะนั้นที่มีชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งได้เข้ามาสัมปทานป่าไม้ในเมืองลำปาง และได้ตั้งบริษัททำไม้ชื่อ บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ขึ้นที่ย่านบ้านท่ามะโอ การค้าไม้นี้ทำให้มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ถิ่นนี้มากมายหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง ไทใหญ่ จีน ฝรั่ง ขมุ ไทลื้อ ฯลฯ ในที่นี้รวมทั้งชาวพม่าที่เป็นคนในบังคับอังกฤษเข้ามาทำกิจการไม้สักร่วมกับชาวอังกฤษในลำปางสมัยนั้นด้วย ซึ่งชาวพม่าที่เข้ามาได้มาสร้างบ้านเรือนไม้ในชุมชนท่ามะโออย่างมากมาย โดยบ้านเรือนต่างๆเหล่านี้ล้วนมีเอกลักษณ์สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอันงดงาม อย่างไรก็ดีเมื่อธุรกิจการค้าไม้ได้สิ้นสุดลง ผู้คนชาติต่างๆที่เคยค้าไม้ก็ได้อพยพออกไปจึงเหลือไว้เพียงร่องรอยการค้าไม้ในอดีตผ่านบ้านเรือนเก่าที่เป็นความหลังให้หวนคิดถึงอดีตเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2542 เทศบาลนครลำปางได้ประกาศจัดตั้งชุมชนท่ามะโอขึ้นมาอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีคณะกรรมการดูแลขึ้นมา ซึ่งการมีคณะกรรมการนี้ได้เป็นส่วนช่วยให้ชุมชนพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงต่อมายังช่วยให้ชุมชนพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้เนื่องด้วยความสวยงามเก่าแก่และความโดดเด่นที่หลงเหลืออยู่ของสถานที่และบ้านเรือนต่างๆภายในชุมชนเมื่อประกอบกับความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ชุมชนท่ามะโอได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของลำปางที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะพบชาวบ้านในชุมชนเองก็ตอบรับกับการเข้ามาของนักท่องท่องเที่ยวเหล่านี้อย่างดีด้วยการมีโฮมสเตย์ มีผู้ให้ความรู้ ตลอดมีกิจกรรมให้ท่องเที่ยวได้ทำ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนให้ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ชุมชนท่ามะโอตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลนครลำปาง โดยเขตเทศบาลนครลำปางนี้มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 22.17 ตารางกิโลเมตร หรือ 13,856 ไร่ ส่วนตำบลเวียงเหนือที่อยู่ในเขตนี่มีขนาดพื้นที่ 1.90 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,187.5 ไร่ ทั้งนี้อาณาเขตติดต่อของเขตเทศบาลนครลำปาง มีดังนี้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อบต. บ่อแฮ้ว และเทศบาลตำบลต้นธงชัย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลเมืองเขลางค์นคร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลต้นธงชัย, อบต.พิชัย และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทศบาลเมืองเขลางค์นคร และเทศบาลตำบลบ่อแฮ้ว

การเดินทางเข้าสู่ชุมชน

การเดินทางเข้าถึงชุมชนสามารถ สามารถขึ้นรถสามล้อมาและแท็กซี่ที่ให้บริการเข้ามาสู่ชุมชนได้ ส่วยการเดินทางด้วยรถยนต์ เริ่มจากสถานีขนส่งผู้โดยสารลำปางขับตามถนนจันทร์สุรินทร์เข้าสู่ถนนหมายเลข 1 ขับตรงไปผ่านแยกถนนดวงรัตน์ผ่านแยกป่าขาม จนถึงแยกเขลางค์นครให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 800 เมตร แล้วจากนั้นใช้ถนนไปรษณีย์ขับตรงไปอีก 100 เมตร ข้ามสะพานเขลางค์เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ป่าไม้แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปอีก 500 เมตรจะถึงที่ทำการชุมชนท่ามะโอ

ลักษณะภูมิประเทศ

ชุมชนท่ามะโออยู่ในเขตเทศบาลนครลำปาง ซึ่งเขตเทศบาลลำปางมักมีลักษณะภูมิประเทศที่พื้นที่อยู่สูงจากน้ำทะเล โดยเฉลี่ยนประมาณ 268.60 เมตร ตั้งอยู่ในแอ่งกระทะและมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบและราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ทั้งนี้ในพื้นของเขตเทศบาลลำปางจะแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำวัง แม่น้ำช่วง แม่น้ำสาขา ซึ่งตัวชุมชนท่ามะโอจะอยู่ริมแม่น้ำวังในฝั่งทิศเหนือ โดยในฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำวังนี้พบว่าจะมีระดับที่สูงกว่าพื้นดินด้านทิศใต้และลาดเอียงสู่แม่น้ำวัง ทั้งนี้ในส่วนของลักษณะของดินในพื้นที่นี้พบว่า เป็นดินลึกมาก ดินชั้นบนเป็นตินร่วนปนทรายแป้ง มีสีเทาปนชมพู หรือสีน้ำตาลปนเทาถึงสีน้ำตาลอ่อน มีจุดประสีน้ำตาลแก่หรือสีน้ำตาลปนเหลือง ในส่วนปฏิกิริยาดินพบเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดเล็กน้อย (PH 5.5-6.5) ส่วนดินชั้นล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งถึงดินร่วนปนดินเหนียว มีสีเทาปนชมพูหรือสีเทาอ่อน มีจุดประสีน้ำตาลแก่ สีน้ำตาลปนเหลือง หรือสีแดงปนเหลือง บางแห่งอาจมีศิลาแลงอ่อนและก้อนลูกรังปะปนอยู่ ปฏิกิริยาของดินชั้นนี้เป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดจัด (pH 4.5-5.5)

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดลำปางอยู่ในภาคเหนือตอนกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงมีภูเขาล้อมรอบ ตอนกลางของจังหวัดเป็นแอ่งกระทะ ซึ่งพื้นที่ของเทศบาลนครลำปางอยู่ในแอ่งกระทะ ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวตลอดปีโดยเฉพาะฤดูร้อน ซึ่งในปี 2564 ช่วงเดือนเมษายนอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงประมาณ 39-41 องศาเซลเซียสและร้อนจัดไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ต้นฤดูฝนมีปริมาณฝนน้อย ฝนจะตกมากในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ส่วนในฤดูหนาว อากาศจะหนาวเย็นในเดือนมกราคม โดยในปี 2564 อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 12-15องศาเซลเซียส

ชุมชนท่ามะโออยู่ในตำบลเวียงเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งตำบลเวียงเหนือนี้มีประชากรทั้งหมด 9,880 คน แบ่งเป็นชาย 4,483 คน หญิง 5,397 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 5,563 ครัวเรือน 

กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนท่ามะโอ มีผู้ริเริ่มคือคุณสดศรี ขัตติยวงศ์ ที่มองเห็นว่าภายในชุมชนของตนนั้นมีของดีอยู่ คือมีบ้านเรือน สถานที่เก่าแก่โบราณภายในชุมชน จึงต้องการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้เอาไว้ พร้อมกันนั้นก็ต้องการเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จึงมีการรวบรวมผู้คนก่อตั้งเครือข่ายโดยในชื่อ ‘กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนท่ามะโอ’ ขึ้นมา ซึ่งเริ่มแรกของการดำเนินงานของกลุ่มนี้คุณสดศรี ขัตติยวงศ์ที่ขณะนั้นเป็นคณะกรรมการชุมชนได้เข้าไปคุยกับชาวบ้านว่าในชุมชนมีของดีอะไรบ้างและบ้านไหนพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเปิดโฮมสเตย์บ้าง นอกจากนี้ยังไปขอความร่วมมือกับเจ้าอาวาสของวัดทั้งสองแห่ง รวมถึงทำเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งนี้ต่อมากลุ่มนี้ได้ไปพูดคุยต่อรองกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ทำให้มีหน่วยงานการท่องเที่ยวของภาครัฐหรือโครงการวิจัยเข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการไปพูดคุยกับผู้ว่าจังหวัดทำให้มีการบูรณะบ้านหลุยส์ขึ้นมา กล่าวได้ว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์ตลอดจนเกิดการท่องเที่ยวภายในชุมชนท่ามะโอ

กลุ่มโฮมสเตย์ท่ามะโอ เป็นกลุ่มย่อยที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนท่ามะโอ โดยกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 เพื่อรวบรวมบ้านที่ต้องการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทดลองอยู่อาศัยซึมซับบรรยากาศชุมชน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม จะพบว่าชุมชนท่ามะโอจะมีประเพณีต่าง ๆ ในรอบปีที่แสดงถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมคล้ายกับชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดลำปาง เช่น

  • ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านและเกษตรกรจะร่วมกัน จัดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จ โดยจะมีการรอให้ถึงวันเดือน 4 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ หรือเรียกว่าเดือน 4 เป็ง จึงจะได้กันร่วมจัดประเพณีทานข้าวใหม่ และตานข้าวจี๋ ข้าวหลาม เพื่อให้พระสงฆ์ได้ฉันภัตตาหารที่ประกอบจากข้าวใหม่ที่เพิ่งได้มาจากท้องทุ่งนา โดยชาวบ้านจะมีการทำข้าวจี๋ ข้าวหลาม ข้าวเม่า ข้าวต้ม ข้าวต้มกะทิ ขนมเทียน ไปร่วมถวายพร้อมกับอาหารคาวหวาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
  • การนับถือผีบรรพบุรุษ ทุก ๆ ปีจะมีประเพณีประจำตระกูล จัดในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน โดยงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ การเลี้ยงผีจะมีหลายรูปแบบในปัจจุบันนิยมเลี้ยงแบบเงียบ ในการเลี้ยงจะมีลาบ แกงอ่อม ขนม ผลไม้ น้ำมะพร้าว เหล้าขาว บางครั้งก็จะจัดให้มีการฟ้อนผีเพื่อเป็นการแก้บนในเรื่องสุขภาพ การเงิน การงานที่สำเร็จดังปรารถนา 
  • ประเพณีตานเปรตพลี เป็นประเพณีอุทิศหาผู้ตาย บางทีเรียกว่า ประเพณีเดือน 12 เป็ง ประชาชนในภาคเหนือรวมถึงชาวบ้านท่ามะโอ นิยมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุงป้า ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีนี้เรียกกันแต่ละท้องถิ่น ก็มีชื่อแตกต่างกันไป บางจังหวัดในภาคเหนือเรียกประเพณีอุทิศหาผู้ตายว่า ประเพณีเดือนสิบสองบ้าง ประเพณีปล่อยผีปล่อยเปรตบ้าง ตรงกับภาคกลางว่า “ตรุษสารท” ปักษ์ใต้เรียกว่าประเพณีเดือนชิงเปรต และทางภาคอีสานก็คือ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมายและจุดประสงค์เป็นอันเดียวกันต่างกันด้วยวิธีการทำตามจารีตประเพณีที่เคยทำมาในท้องถิ่นของตน
  • ประเพณีต่างข้าวซอมต่อ เป็นประเพณีของชาวลานนาในจังหวัดภาคเหนือ ตอนบน เช่น ลำปาง เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน ฯลฯ ประเพณีต่างข้าวซอมต่อ ก่อให้เกิดการจัดหาของใช้ที่จำเป็นเพื่อใช้สอยในวัดในสมัยที่ ผ่านมา เช่น ถ้วยชาม แก้วน้ำ เสื่อ เพื่อใช้กับส่วนรวม คือ ปีไหนทางวัดขาดแคลนสั่งใด ก็จัดหาสั่งนั้นมาต่างข้าวคือ เป็นภาชนะบูชาข้าวทิพย์ที่ได้กวนในวันออกพรรษา ระยะเวลาและวิธีการในประเพณีต่างข้าวซอมต่อ นิยมทำกันในวันออกพรรษา หรือ แรม 1 ค่ำ คือ ก่อนจะถึงวันงาน คณะศรัทธาจะมา ร่วมกันตกแต่งสถานที่ในวิหารของวัด เพื่อเป็นที่บูชาข้าวทิพย์ และประชาสัมพันธ์ให้ พุทธศาสนิกชนมาร่วมบุญ โดยนำเอาภาชนะหรือสิ่งของที่ทางวัดต้องการใส่ ข้าวสารเนย งา น้ำผึ้ง น้ำตาล ถั่วลิสง นม ผลไม้ขนม (แล้วแต่ศรัทธา) นำมารวมกันในตอนบ่ายของวันก่อนวันออกพรรษา 1 วัน พอวันรุ่งขึ้นตั้งแต่เวลา 04.00 น. - 05.00 น. (ตี 4 ถึง ตี 5) คณะศรัทธาจะมาร่วมกันนั่งข้าว หุงข้าว กวนข้าวทิพย์ บริเวณที่ทำพิธี หลัง จากนั้นมีพิธีสวดบูชาข้าวพ เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อชาวบ้านมาทำ บุญวันออกพรรษา ก็จะได้รับข้าวทิพย์เพื่อไปรับประทานเป็นสิริมงคลกับตนเอง ปัจจุบันพิธีการบางอย่างได้ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงสืบสานประเพณีให้คงอยู่คู่เมืองลำปาง ซึ่งในชุมชนท่ามะโอ จะจัดทำในวันออกพรรษาของทุกปีที่วัดประตูปอง ถนนป่าไม้ และ วัดท่ามะโอ ถนนราษฎวัฒนา ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
  • ประเพณีล่องสะเปา โดยคำ ว่า “สะเปา” เป็นคำเดียวกับคำว่า “สำเภา” โดยทั่วไปหมายถึงเรือเดินทะเลที่ใช้แล่นด้วยใบ แต่ล้านนาจะหมายถึงเรือบรรทุก ในด้านคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาของชาวล้านนา ให้ชื่อตามเอกลักษณ์ของสะเปาที่ชาวบ้านได้จัดทำขึ้นจากคติความเชื่อที่ว่า การล่องสะเปาคือการทำทานให้แก่ผู้ล่วงลับ ขั้นตอนประดิษฐ์สะเปาของชาวล้านนา ต้องใช้กาบกล้วย มะละกอ ไม้ไผ่ หรือกระดาษแก้ว ตกแต่งและประดับประดาด้วยดอกไม้ หรือใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายต่าง ๆ ติดด้านข้างลำสะเปา นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่น ๆ ที่มักใส่ลงไปในสะเปาด้วย เช่น ข้าวสุก กล้วย อ้อยควั่น ข้าวต้มจิ้ม น้ำตาล เกลือ ยาสูบ หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน และรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น เพราะเชื่อกันว่าผู้ล่วงลับที่ได้อุทิศส่วนกุศลหรือบุญฝากเป็นสิริมงคลของ ตนเองในภพหน้าประเพณีล่องสะเปาของชาวลำปางกระทำกันในวันเพ็ญ เดือนยี่เป็ง (ตรงกับเดือน 12 ของภาคกลาง) หรือวันเพ็ญเดือนสิบสองวันลอยกระทง และในความเชื่อของคนลำปาง เชื่อว่าการล่องสะเปาะนั้นเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำคงคา บูชาพระนารายณ์ที่รักษาแม่น้ำคงคาตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ การบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐ์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา อันเป็นการเจริญพุทธานุสติรำลึกต่อองค์ การลอยเคราะห์หรือปล่อยเคราะห์ ต้องการลดเคราะห์เสนียดจัญไรในตัวให้ไหลล่องไปตามแม่น้ำ และเป็นการลอยเพื่อส่งของแก่บรรพบุรุษ ตามคติความเชื่อของคนโบราณในนครหริภุญไชยที่ส่งให้แก่ญาติพี่น้องในนครหงสาวดี ในสมัยต่อมาประชาชนยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันจนทุกวันนี้ รวมถึงการล่องสะเปาเพื่ออธิษฐานของหนุ่มสาวที่ต้องการจะร่วมชีวิตกัน เมื่อทำกระทงแล้วก็ไปลอยในแม่น้ำและอธิษฐานที่ตนปรารถนา
  • ประเพณีปี๋ใหม่เมือง เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนาซึ่งจะตรงกับเดือนเมษายน มักจัดในช่วงวันที่ 13-16 เมษายนของทุกปี โดยจะมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี ตานขันข้าว รดน้ำดำหัวและขนทรายเข้าวัด 
  • งานหลวงเวียงละคร จัดขึ้นในช่วงก่อนวันลอยกระทงของทุกปี บริเวณวัดพระแก้วดอนเต้า และวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นงานที่เนันการแสดงออกถึงประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวลำปาง มีขบวนแห่ครัวทานตามประเพณีดั้งเดิม โดยขบวนนั้นจะมีการตกแต่ง ด้วยเครื่องใช้เช่น เสื่อ ถ้วยชาม ช้อน เก้าอี้ ของใช้จำเป็น เป็นเครื่องไทยทานไปถวายวัดตามประเพณีดั้งเดิม
  • งานสลุงหลวง จะจัดในช่วงวันที่ 12 ถึง 14 เมษายน ของทุกปี โดยวันที่ 12 จะมีการจัดขบวนแห่สลุงหลวง (สลุงหมายถึงขันน้ำ) มีการตกแต่งสวยงาม ผู้ร่วมขบวนแต่งกายแบบล้านนาโบราณเดินแห่รอบเมือง เพื่อรับน้ำขมิ้นสัมปอยจากประชาชน ไปสรงพระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จากนั้นก็จะเป็นการทำบุญที่วัด ก่อเจดีย์ทราย มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่การเล่นสาดน้ำสงกรานต์
  • งานสืบชะตาเมือง ในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีการจัดประเพณีที่ชาวเมืองลำปางจัดต่อเนื่องทุกปี โดยมีการประกอบพิธีทางสงฆ์ พิธีทางพราหมณ์ และการฟ้อนผีมดผีเม็ง อันเป็นพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม จะพบว่าภายในชุมชนท่ามะโอมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นสถานที่จำนวนมาก โดยสามารถแบ่งจำพวกวัดและอาคารบ้านเรือนได้ดังนี้

วัดภายในชุมชนท่ามะโอ

1. วัดท่ามะโอ ชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มาตุลุงุคติตุถาราม" วัดแห่งนี้ตั้งบนถนนราษฎ์วัฒนา บ้านท่มะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2437 โดย อูจันทร์โอง ซึ่งเป็นขาวพม่าที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าไม้ในจังหวัดลำปาง วัดแห่งนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องการเรียนบาลีใหญ่ ซึ่งท่านพระอาจารย์ อู ธับมานันทะ ธัมมาจริยะ อดีตเจ้าอาวาสวัดทำมะโอ ท่านได้วางรากฐาน และ เปิดสำนักบาลีสอนบาลีใหญ่ ภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลปะพม่าที่น้ำสนใจอยู่หลายอย่าง เช่น พระอุโบสถที่สร้างด้วยปูนทั้งหลัง ทรงสมัยใหม่ ภายในพระอุโบสถ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศิลปะพม่า ปางมารวิชัยแล้ว ยังมีประวัติวัดท่ามะโอและ ประวัติของท่านอาจารย์อู ธมุมานทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ทั้งนี้พระวิหารขนาดเล็กของวัดแห่งนี้มีศิลปะพม่า ผนังด้านนอกส่วนบนมีการประดับตกแต่ง ด้วยลายปูนปั้น และมีรูปปั้นพระบางอุ้มบาตร รูปปั้นเทวดา เป็นต้น ส่วนพระเจดีย์ของวัดแห่งนี้ มีศิลปะผสมผสานล้านนากับพม่า โดยรอบ ๆ พระเจดีย์ มีซุ้มศิลปะพม่าทั้ง 4 ด้าน เป็นซุ้มทางเข้าไปภายในพระเจดีย์ ซึ่งภายในพระเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าหลายพระองค์

2. วัดประตูป่อง วัดประตูป่องวัดประตูป่อง นนป่าไม้-ท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2120 เดิมชื่อว่าวัดแห่งนี้ชื่อว่า “วัดศรีรองเมืองป่องแก้ว” แต่ต่อมาได้ตั้งตามชื่อประตูเมืองเก่าลำปางที่ตั้งอยู่บริเวณวัดที่ชื่อว่า ประตูป่อง จึงทำให้วัดนี้ต่อมามักเรียกขานกันว่า วัดประตูป่อง ทั้งนี้ด้วยความที่วัดแห่งนี้มีความเก่าแก่ในปี พ.ศ. 2523 จึงได้มีการจดขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรควบคุมศิลปวัตถุโบราณวัตถุ โบราณสถานในบริเวณวัด ทั้งนี้ภายในวัดแห่งนี้จะพบว่าจะมีสิ่งก่อสร้างสำคัญต่าง ๆ ที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่และสวยงาม เช่น

  • ซุ้มประตูวัด หรือซุ้มประตูโขง เป็นซุ้มประตูที่มีการก่อสร้างด้วยลักษณะการก่ออิฐถือปูน โดยภายนอกของประตูมีความงดงามอย่างมาก เนื่องจากฉาบด้วยปูนสีขาวไม่ทาสีและแต่งลวดลายด้วยปูนปั้นเก่าที่อ่อนช้อยวิจิตรแบบศิลปะแบบล้านนา โดยในส่วนบนของประตูเริ่มจากเหนือประตูขึ้นไปบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นซุ้มโค้งปูนปั้นที่ประดับรูปธรรมจักรอยู่ตรงกลาง เหนือขึ้นไปอีกชั้นจะเป็นยอดซุ้มประตูที่มีการทำเป็นยอดแหลม 7 ชั้น ซึ่งในแต่ละชั้นจะประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ หงส์และสัตว์ในหิมพานต์อย่างสวยงาม ทั้งนี้ในส่วนบริเวณใต้ซุ้มประตูในบริเวณช่วงกลางเพดานพบว่าจะมีรูปพระราหูประดับอยู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลกับผู้เดินลอดผ่าน 
  • พระวิหารหลวง ของวัดประตูป่องมีลักษณะเป็นอาคารปูนหลังคาสามชั้นที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามมาก โดยวิหารแห่งนี้พบว่าผู้คือเจ้าวรญาณรังสี ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2409 อันเป็นช่วงล้านนายุคหลังจากมีการฟื้นฟูบ้านเมืองที่เคยถูกปกครองด้วยพม่า ในสมัยแรกวิหารแห่งนี้สร้างเป็นวิหารโปร่งไม่มีฝาผนังแต่ต่อมาเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารจากเจ้าอาวาสของวัดหลาย ๆ รุ่น จึงทำให้วิหารแห่งนี้ค่อย ๆ พัฒนาและกลายมามีผนังปูนทึบแบบในปัจจุบัน ทั้งนี้สถาปัตยกรรมของวิหารนี้ทั้งภายในและภายนอกพบว่ามีการผสมผสานศิลปะล้านนากับศิลปะจีนอย่างลงตัว โดยส่วนประกอบต่าง ๆ ของวิหารจะมีทั้งงานไม้กะสลักและงานปูนปั้นอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถอธิบายแต่ละส่วนให้เข้าใจได้ดังนี้ 

สถาปัตยกรรมภายนอกวิหาร

1. หน้าบันวิหาร ส่วนใหญ่จะเป็นงานไม้แกะสลักที่มีการประดับกระจกจีนและลงรักปิดทอง ลักษณะเป็นช่องลูกฟักตามโครงสร้างชื่อม้าต่างไหม ช่องดอกคอหน้าบันแกะสลักเป็นลายดอกไม้ประดิษฐ์ที่มีเครือเถาเชื่อมโยงกันกับดอกอื่น ๆ ลายพื้นหลังหน้าบันวิหารรวมถึงแผงแลมีลายแกะสลักเป็นลาย อวั้นจื้อจิ่น ของจีน ในส่วนบ่างข้างจะมีการแกะสลักเป็นลายดอกไม้ประดิษฐ์ ที่มีกิ่งก้านและใบไม้แทรกในกรอบสามเหลี่ยม ทั้งนี้แม้ว่าหน้าบันของวิหารส่วนใหญ่จะมักเป็นงานแกะสลักไม้แต่ก็พบมีปูนปั้นผสมอยู่ในงานศิลป์นี้ด้วย โดยในส่วนล่างของหน้าบันที่เหนือประตูจะพบปูนปั้นนูนสูงที่เป็นรูปพระราหู ซึ่งปูนปั้นรูปพระราหูนี้จะมีการปั้นให้สัมพันธ์สอดคล้องกับลายไม้แกะสลักที่มีอยู่ในหน้าบันด้วย

2. คันทวย บริเวณคันทวยของวิหารที่มีอยู่ภายนอกจำนวน 12 อันรอบวิหาร พบมีการแกะสลักเป็นรูปวานรจับเถาวัลย์ประดับตกแต่งด้วยกระจกจีนและลงรักปิดทอง ทั้งนี้ในบางตัวอาจมีการทาสีให้สวยงามด้วย 

3. ประตูและหน้าต่างของวิหาร จะพบว่ามีความสวยงามอย่างมาก โดยบานประตูและบานหน้าต่างจะมีการแกะสลักไม้อย่างวิจิตร ในลักษณะคือ ในประตูด้านหน้าส่วนที่เป็นประตูบานใหญ่ที่อยู่ตรงกลางจะแกะสลักเป็นรูปทวารบาลยืนถือพระขรรค์เหนือสิงห์ ส่วนประตูเล็กที่มีทั้งด้านหน้าและด้านข้างของวิหารรวม 6 บานจะแกะสลักเป็นรูปวานรและยักษ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหนุมานกำลังต่อสู้กับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ในด้านหลังของรูปวานรและยักษ์นี้ยังพบมีการแกะสลักเป็นลายกนกผูกลายต่อเนื่องจนจรดส่วนบนของประตูอีกด้วย ทั้งนี้ในส่วนของบานหน้าต่างจำนวน 6 บานรอบวิหารพบมีการแกะสลักในลักษณะเดียวกับประตูเล็กคือสลักเป็นเรื่องราวในเรื่องรามเกียรติ์แต่เป็นฉากต่อสู้ต่าง ๆ ภายในเรื่อง ซึ่งงานแกะสลักที่หน้าต่างนี้จะมีการลงรักปิดทองทับอีกทีจนบานหน้าต่างมีความสวยงาม อย่างไรก็ดีสิ่งเสริมสร้างให้ประตูและหน้าต่างของวิหารแห่งนี้มีความอลังการวิจิตรมากขึ้นก็คือกรอบและซุ้มของประตูและหน้าต่าง โดยกรอบประตูจะเป็นงานปูนปั้นนูนที่ตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษาและหม้อปูรณฆฎะ ส่วนในหน้าต่างจะมีซุ้มปูนปั้นลวดลายพฤกษาสวยงามขนาดใหญ่ ที่มีฐานเป็นลักษณะบัวลูกแก้วอกไก่หรือฐานปัทม์ มีกรอบเป็นลักษณะเสารองรับพร้อมบัวที่หัวเสา และมีส่วนบนเป็นลักษณะซุ้มหยักโค้งอันมีปลายเป็นตัวเหงาที่ภายในจะมีปูนปั้นนูนรูปหม้อปูรณฆฎะอยู่ตรงกลาง เหนือด้านบนขึ้นไปเป็นปูนปั้นตัวลวงหางพันพาดลงมาสองตัว ซึ่งหางของตัวลวงที่พันอยู่นี้จะพันสูงขึ้นจนทำให้มีลักษณะเป็นยอดของซุ้มหน้าต่าง อาจกล่าวได้ว่างานประตูหน้าต่างนี้แม้ว่าบานประตูหน้าต่างจะเป็นงานไม้และกรอบรวมถึงซุ้มจะเป็นงานปูนปั้นก็ตามแต่จะพบว่าเมื่อนำมาประกอบกันแล้วประตูและหน้าต่างของวิหารนี้กับมีความลงตัวของงานศิลป์อย่างมากและไม่ได้ดูแปลกตาเลย 

4. หลังคาวิหาร ในบริเวณหลังคาของวิหารจะพบช่อฟ้าและป้านลมของวิหารเป็นงานแกะสลักไม้ โดยช่อฟ้าจะเป็นรูปช่อฟ้าแบบปากหงส์ ลักษณะปลายจงอยทู่หงายขึ้นยื่นไปช้างหน้าแบบศิลปะล้านนายุคหลัง ส่วนป้านลมจะเป็นแบบลำยองนาคสะดุ้ง หางหงส์และมีใบระกาอันเป็นแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ ในส่วนของเมฆตั้งที่อยู่บริเวณสันหลังคาพบเป็นงานปูนปั้นลอยตัวที่มีลักษณะเหมือนเมฆพริ้วไหวสวยงาม ถัดจากเมฆตั้งไปตรงกึ่งกลางหลังคาจะพบปราสาทเฟื้องหรือช่อฟ้าปราสาท ที่เป็นงานปูนปั้นลอยตัว โดยงานปูนปั้นปราสาทนี้จะมีรูปช้างอยู่เป็นฐานรองรับและมียอดเป็นฉัตรที่ทำจากโลหะซ้อนชั้นกันขึ้นไปจนเป็นยอดของวิหาร 

5. บันไดและเชิงบันไดหน้าวิหาร จะพบว่าในส่วนของบันไดวิหารและเชิงบันไดที่อยู่ภายนอกวิหารนี้จะมีประติมากรรมปูนปั้นสีสันสวยงามอยู่ โดยในส่วนราวบันไดจะเป็นรูปปั้นมังกรคายนาคและส่วนของเชิงบันไดจะเป็นรูปปั้นสิงห์ ซึ่งงานประติมากรรมนี้จะมีความวิจิตรในงานมากทำให้เมื่อมาประกอบกับตัววิหารภายนอกที่เป็นไม้และปูนปั้นจึงส่งเสริมให้วิหารโดดเด่นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย 

6. พระธาตุเจดีย์ พบตั้งอยู่บริเวณในด้านหลังของวิหาร ตัวพระธาตุนี้แม้ไม่ได้เชื่อมกับวิหารแต่ก็ทำให้ด้านหลังวิหารสวยงามขึ้น โดยพระธาตุเจดีย์นี้จะมีลักษณะที่ด้านนอกหุ้มด้วยทองเหลืองสวยงามรูปทรงคล้ายกับพระธาตุลำปางหลวง

สถาปัตยกรรมภายในวิหาร

1. ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยผนังภายในของวิหารเกือบทุกด้านจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพเขียนสีเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ประเพณี 12 เดือนของล้านนา เรื่องราวพระเวชสันดรชาดก เรื่องราวการละเล่นโบราณและพิธีกรรมต่าง ๆ ในวัด เป็นต้น ซึ่งการที่วิหารมีภาพเขียนสีเหล่านี้ถือว่าได้ทำให้บรรยากาศภายในวิหารรู้สึกถึงความมีมนต์ขลังและความอลังการมากขึ้น

2. เพดานและหลังคาภายในพระวิหาร ในส่วนเพดานของวิหารในบริเวณเหนือพระประธานจะมีลวดลายดาวเพดานที่แกะสลักและลงรักปิดทองอยู่ ส่วนในเพดานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เหนือพระประธานจะพบเป็นลักษณะขื่อม้าต่างไหมเปิดให้เห็นโครงหลังคาซึ่งบริเวณโครงหลังคาเหล่านี้จะมีลวดลายประดับตามตัวไม้ของโครงหลังคาด้วย ซึ่งลวดลายเหล่านยี้จะใช้เทคนิคลายคำหรือลายวาดทองบนพื้นแดงแบบล้านนา โดยลายทองที่เขียนลงบนพื้นแดงของโครงหลังคานี้จะมีลายเช่น ลายพรรณพฤกษา ภาพต้นพระศรีมหาโพธิ์หลังพระประธาน ภาพเทวดา ภาพอดีตชาติพระพุทธเจ้า ภาพสถูปเจดีย์ ภาพหม้อปูรณฆฎะ ภาพสัตว์อย่างช้าง สิงห์ หงส์ เป็นต้น

3. เสาภายในวิหาร จะพบงานเขียนลวดลายต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ เช่น ลายหม้อปูรณฆฎะ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง ลายสิงห์ขบ ลายพญานาคเกี้ยวไขว้ ลายพรรณพฤกษา เป็นต้น ซึ่งลวดลายพวกนี้จะเขียนใช้เทคนิคแบบลายคำหรือลายวาดทองบนพื้นแดงแบบล้านนาแบบเดียวกับโครงหลังคา ทั้งนี้นอกจากการเขียนลวดลายบนเสาวิหารแล้วบริเวณตรงหัวเสายังพบงานแกะสลักอีกด้วย โดยส่วนบนของหัวเสาจะมีการแกะเป็นรูปกลีบบัวยาวซ้อนกันสามชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีการประดับกระจกจีนพร้อมลงรักปิดทองตรงขอบกลีบบัว ถัดลงมาจะแกะเป็นท้องไม้เส้นลวดลูกแก้วอกไก่และส่วนล่างสุดของหัวเสาจะแกะเป็นเฟื่องอุบะห้อยลงมา โดยงานแกะสลักหัวเสานี้ส่งเสริมให้เสามีความวิจิตรรับกับงานลวดลายบนเสาและบนหลังคาที่เป็นลายคำอีกด้วย

4. ฐานพระประธาน ในบริเวณฐานพระประธานหรือฐานชุกชีจะพบว่ามีการก่อสร้างเป็นฐานก่ออิฐฉาบปูนแบบบัวลูกแก้วอกไก่ที่มีย่อมุมด้านล่ะ 3 มุม ซึ่งฐานนี้จะมีการประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลาย เช่น ลายดอกไม้ก้านไขว้สลับกัน ลายเรขาคณิต ลายโก้งคิ้วโค้ง ในบริเวณนี้ 

กล่าวได้ว่าวิหารของวัดประตูป่องถือเป็นศาสนสถานที่โดดเด่นที่สุดของวัด เนื่องด้วยความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่มีความเก่าแก่เป็นเอกลักษณ์และการที่เป็นที่ประดิษฐ์ฐานของพระประธาน ทำให้จึงมักเป็นสถานที่สำคัญที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาภายในวัดแห่งนี้อยู่เสมอ 

  • โบสถ์ ของวัดประตูป่องจะมีลักษณะเป็นแบบปิดและห้ามผู้หญิงเข้าเด็ดขาด โดยสถาปัตยกรรมของโบสถ์แห่งนี้พบว่าเป็นแบบล้านนา ตัวหลังคาจะเป็น 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยกระเบื้องดินขอรูปเกล็ดปลา มีบานประตูเทพพนม มีหน้าบันหรือหน้าแหนบเป็นรูปเทวดาและหม้อดอก มีบันไดคชสีห์อยู่ด้านหน้า มีตุงและกระด้างด้านหน้าบันไดทางขึ้น 
  • วิหารเล็กหรือวิหารน้อย เป็นวิหารขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของโบสถ์ เป็นวิหารลักษณะโล่งมีเสาและหน้าบันที่ตกแต่งลวดลายสวยงาม โดยภายในวิหารเล็กแห่งนี้จะมีการประดิษฐานพระอุปคุต ตามความเชื่อที่เชื่อกันว่าพระอุปคุตมหาเถระเป็นพระอรหันต์ที่มีพุทธานุภาพและมีฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารและสิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ ๆ ได้ ตามวัดต่าง ๆ จึงนิยมสร้างวิหารเล็ก ๆ ประดิษฐานพระองค์ท่าน เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และมารต่าง ๆ ที่จะเข้ามาที่ภายในโบสถ์
  • กุฎิไม้ เป็นที่ชมเงาพระธาตุ ซึ่งมีเงาพระธาตุเป็นภาพสีกลับหัวให้ได้เห็น

กล่าวได้ว่าวัดประตูป่องเป็นวัดที่เงียบสงบ ไม่วุ่นวาย มีสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมล้านนาของลำปางที่งดงามหาชมได้ยากในวัดแห่งนี้ ดังนั้นหากเข้ามาที่ชุมชนท่ามะโอแล้วจึงควรจะต้องมาชื่นชมท่องเที่ยวภายวัดแห่งนี้ด้วย

3. ซุ้มวัดกากแก้วหรือกู่เจ้าย่าสุตา เป็นโบราณสถานวัดกากแก้วคาดว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 21 ตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานป่าไม้จังหวัด สันนิษฐานอายุอาจเก่าแก่กว่าโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง โขงวัดกากแก้วมีสัดส่วนโตกว่าโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่น่าเสียดายที่ส่วนยอดของโขงนี้พังทลายเหลือเพียงส่วนฐานกับส่วนที่เป็นซุ้มประตูทางเข้าเท่านั้น โดยตัวซุ้มประตูทางทิศใต้กับทิศเหนือเป็นซุ้มซ้อน 2 ชั้น ลวดลายปูนปั้นยังพอมีให้เห็น โดยลวดลายประดับบนซุ้มประตูด้านทิศเหนือ ยังหลงเหลือมากกว่าด้านทิศใต้ ทั้งสี่ด้านของประตูโขงจะทำเสารับซุ้มซ้อนกันสองชั้น ส่วนล่างและส่วนบนของเสาทำทรงงอนโค้งคล้ายจงอยปากนกแก้ว เป็นที่มาของคำช่างล้านนาที่เรียกว่า เสาปากแล หรือบ้างเรียกว่า เสาขอม กาบบนและกาบล่าง ที่เรียกด้วยคำช่างล้านนาว่า บัวคอเสื้อ และ บัวเชิงล่างเป็นลายพรรณพฤกษาในกรอบหยักเซาะร่อง ส่วนประจำยามอกเป็นลายก้านขดในกรอบขนมเปียกปูน ในส่วนของซุ้มโค้งซ้อน ยังเหลือกรอบโค้งคล้ายลำตัวนาคอยู่ ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปมกรคายนาค ตัวมกรมีขาหน้า และมีเล็ด ข้างลำตัวมีลายก้านขดประดับ ตัวนาคมีหงอน เครา เกล็ดมีลาย และที่ครีบเป็นลายก้านขด 

ทั้งนี้สำหรับการเรียกขานนามว่า "กู่เจ้าสุตา" นั้น มาจากเรื่องเล่าว่าในกาลก่อน มีแม่ชีชื่อสุตา และน้องสาวชื่อสุนา เป็นโยมดูแลปรนนิบัติพระสงค์และทำความสะอาดบริเวณในวัด เมื่อแม่ชีถึงแก่กรรมลง จึงมีการสร้างสถูปหรือคู่เก็บอัฐิและทรัพย์สินไว้ในวัดบริเวณข้างต้นโพธิ์ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกขานชื่อกู่ว่า กู่เจ้าย่าสุตา สืบสานกันต่อมา 

4. วัดประตูต้นผึ้ง ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2380 สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าน้อยขัตติยะ บุตรเจ้าคำโสม โดยชื่อวัดแห่งนี้มาจากชื่อประตูเข้าเวียงเหนือ ที่ชื่อว่าประตูต้นผึ้ง (ปัจจุบันเป็นประตูที่ตั้งทางทิศตะวันออกของวัด) ทั้งนี้วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ซึ่งลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้จะพบมีตั้งแต่ พระพุทธปฏิมาพระประธานในพระวิหาร พระธาตุประจำปีเกิด ท้าวสันดุสิตเทวราช พระพรหม พระพุทธเจ้าปางประสูติ เพื่อสื่อความหมายการเกิดแบบโอปปาติกะ คือการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมฉับพลัน พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภพต่าง ๆ พระพุทธรูปประจำวันเกิด 7 ปาง ได้แก่ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธโสธร พระเจ้าทันใจ พระเจ้าสีวลิเถระ พระอุปคุตเถระ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป 3 สมัย พระมหาสังกัจจายนะ พระแม่ธรณี หมอชีวกโกมารภัจจ์ พระราหู พระแม่นางกวัก พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ท้องฟ้าจำลองที่อยู่บนเพดานพระวิหาร 

5. วัดแสงเมืองมา ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยอยู่ในบริเวณเมืองเก่าเขลางค์นคร วัดแห่งนี้พบว่าไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากหลักฐานที่เหลือคือฐานชุกชีที่โผล่ยื่นออกไปด้านหลังวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างมานานหลายร้อยปี อาจจะสร้างในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 2 เจดีย์ที่อยู่ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ฐานบัวลูกแก้วย่อมุม ซึ่งเป็นลักษณะเจดีย์แบบล้านนาผสมพุกาม วัดแสงเมืองมาได้ชื่อว่าเป็นวัดเก๊า คือเป็นวัดเริ่มแรก ทำให้เมื่อมีงานประเพณีตานก๋วยสลากของวัดในเขตนครเขลางค์จะต้องให้วัดแสงเมืองมากิ๋นสลากก่อนวัดอื่น หรือแม้แต่การลงโบสถ์ (สวดปาติโมคข์) ของพระสงฆ์ในตำบลเวียงเหนือ ก็ต้องมาลงโบสถ์ที่วัดนี้ก่อน 

ทั้งนี้ตัววิหารของวัดแห่งนี้ เป็นวิหารทรงสูง ผังเป็นรูปสี่หลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีบันไดด้านหน้าตกแต่งด้วยประติมากรรมรูปปั้นระบายสี ตกแต่งภายนอกด้วยลวดลายวิจิตรพิสดาร แกะด้วยไม้แกะสลักประดับโลหะ และลายฉลุลงรักปิดทอง พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทองด้านบนของผนังวิหารทั้งสี่ด้านสร้างด้วยไม้ มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นเขียนบนแผ่นไม้

ส่วนเจดีย์ในวัดนี้ เป็นลักษณะเจดีย์ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในลำปาง แต่ปรากฏในจังหวัดแพร่ รอบองค์เจดีย์มีกำแพงเตี้ย ๆ ล้อมรอบมีทางเข้าเจดีย์สองด้าน ฐานล่างของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีรูปสิงห์ปูนปั้นประดับสี่มุม ฐานรองรับองค์ระฆัง ซึ่งองค์ระฆังเป็นทรงแปดเหลี่ยมส่วนต่อยอดเป็นทรงกลม ยอดฉัตรของเจดีย์พบว่าเป็นโลหะลักษณะฉลุลาย

6. วัดดอกบัว ตั้งอยู่เลขที่ 4360 ถนน ประตูม้า บ้านดอกบัว ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดนี้มีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา โฉนดเลขที่ 2404 อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ 32.7 วา จดทางสาธารณะ ทิศใต้ประมาณ 32.25 วา จดทางสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ 23 จดทางสาธารณะ ทิศตะวันตกประมาณ 26 จดทางสาธารณะ อาคารเสนาสนะประกอบ ด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญและกุฏิ 2 หลัง ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป 3 องค์และโบราณสถานมีเจดีย์วัดดอกบัวสร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2505 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 47  เมตร ยาว 68 เมตร มีโบสถ์เก่าแก่ แท่นจุดเทียนสัตตภรรณและหอพระสังกัจจายน์

7. วัดพระแก้วดอนเต้า (วัดพระแก้วชมพู) ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยวัดพระแก้วดอนเต้าเป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1979 จนถึง พ.ศ. 2011 เป็นเวลานานถึง 32 ปี วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (หมากเต้า) จึงนำมาถวายพระเจ้าอาวาสวัดนี้ ซึ่งเจ้าอาวาสจึงได้จ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง สาเหตุจากตำนานบอกว่า มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า เจ้าอาวาสและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนเจ้าอาวาสองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของนาง บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม แต่มีบางสันนิษฐานบอกว่าเนื่องจากวัดพระแก้วดอนเต้า และ วัดสุชาดาราม นั้นร้างลง แต่บางที่ก็มีการสันนิษฐานเพิ่มว่า น่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้า และเป็นที่ดอน จึงชื่อพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอน ทั้งนี้ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้าจะพบว่าได้แก่ พระบรมธาตุดอนเต้าซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ามณฑปศิลปะพม่าลักษณะงดงาม วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีอายุเก่าพอๆกับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงและพิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนาและวิหารพระเจ้าทองทิพย์

ทั้งนี้วัดพระแก้วดอนเต้า ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และในปี พ.ศ. 2527 กระทรวงศึกษาธิการ โดย กรมการศาสนา ประกาศรวมวัดพระแก้วดอนเต้า และวัดสุชาดารามเข้าเป็นวัดเดียวกัน ทำให้วัดแห่งนี้อยู่ภายใต้ชื่อ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

8. วัดสุชาดาราม วัดสุชาดารามสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2325-2352 เมื่อครั้งชาวเชียงแสนถูกกวาดต้อนมาตั้งชุมชนในเมืองเขลางค์ โดยสร้างเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนางสุชาดาหลังจากได้รับโทษประหารชีวิตด้วยความเข้าใจผิดและมาปรากฏความจริงในภายหลัง เชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดแห่งนี้คือบ้านและไร่แตงโมของ เจ้าแม่สุชาดาในอดีต ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการรวมวัดสุชาดารามเข้ากับวัดพระแก้วดอนเต้า และเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อุโบสถวัดสุชาดารามเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองฝีมือช่างเชียงแสน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยภาพจิตรกรรมลายไทยลงรักปิดทอง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานชุกชี อุโบสถแห่งนี้ได้ทำการบูรณะเมื่อพ.ศ. 2465, พ.ศ. 2503 และในปี พ.ศ.2550 เนื่องในโอกาสฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี 

9. วัดปงสนุก หรือวัดปงสนุกเหนือ เป็นวัดมหานิกาย ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปางมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ. 1223 วัดแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อไปตามยุคสมัยอยู่หลายชื่อด้วยกัน เช่น วัดศรีจอมไคล วัดศรีเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว (พะเยา)โดยเชื่อกันว่าในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดปงสนุกตามคำเรียกของชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาและอาศัยอยู่ในบริเวณนี้วัดปงสนุกยังเคยเป็นสถานที่ฝังเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองลำปางหลักแรกในปี พ.ศ. 2400 ก่อนที่จะอัญเชิญไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองลำปาง ความรุ่งเรืองของวัดปงสนุกยังปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้วัดเป็นจำนวนมาก อากิเช่น เจดีย์วิหารพระนอน และ "วิหารพระเจ้าพันองค์" วิหารโถงทรงจัตุรมุขที่มีอายุกว่า 120 ปี ซึ่งมีรูปแบบงดงามด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่า และจีน อย่างลงตัว ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และยังเป็นแม่แบบให้อาคารหลังอื่นในประเทศไทยเช่น หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายด้วย ภายในบริเวณวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุศรีจอมไคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ วัดปงสนุก" แห่งเขลางค์นคร ธรรมสถานหนึ่งเดียวของไทย ที่พึ่งได้รับรางวัล "Award of Merit" จาก UNESCO ในปี 2551

10. วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง อยู่ติดหอคำ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านและคุ้มอดีตเจ้าเมืองน่าน โดยประวัติการสร้างของวัดนี้พบว่ามีหลายแหล่ง แหล่งแรกระบุว่า ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยล้านนาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 20-22 อีกแหล่งระบุว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อครั้งที่ชาวเชียงแสนถูกต้องมายังเมืองเขลางค์ ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2310 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2355 

ทั้งนี้ศาสนสถานภายในวัดแห่งนี้ ได้แก่ วิหาร โดยวิหารของวัดหัวข่วงจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ช่างฝีมือชาวเชียงแสน มีลวดลายปูนปั้นประดับที่สวยงาม ลักษณะรูปทรงของวิหาร เป็นวิหารเครื่องไม้ศิลปะล้านนาหลังคาลดหลั่นซ้อนกัน 3 ชั้น ด้านหลังลดหลั่นซ้อนกัน 2 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ ด้านหน้าวิหารบริเวณหน้าบันมีลวดลายปูนปั้นประดับด้วยกระจกสี มีรูปปั้นสิงห์ด้านหน้าวิหารตั้งอยู่ 2 ตัว ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะพุทธศิลป์แบบท้องถิ่นล้านนามสกุลช่างเมืองน่าน มีหลักฐานว่าเกี่ยวกับประวัติการบูรณะครั้งแรกใน พ.ศ. 2425 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2472 ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองน่าน นอกจากวิหารแล้ววัดแห่งนี้ยังมีเจดีย์ โดยเป็นเจดีย์ที่พบจะเป็นทรงปราสาทหรือทรงเรือนธาตุ ได้รับอิทธิพลศิลปะล้านนา ทั้งนี้ยังมีหอธรรมเก็บพระไตรปิฎกและคำภีร์โบราณ ที่มีอายุหลายปีตั้งแต่สมัยก่อสร้างวัดอีกด้วย

11. วัดศรีล้อม ตั้งอยู่เลขที่ 42 ถนนพระแก้ว ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยวัดแห่งนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2356 มีชื่อเดิมว่า "วัดศรีล้อมเวียงดิน" ได้รับพระราขทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2476 โดยศาสนสถานภายในวัดแห่งนี้ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2496 ศาลาการเปรียญกุฏิ ห้องสมุดวัดและพิพิธภัณฑ์ศรีล้อมเวียงดิน นอกจากนี้ยังมีปูชนียวัตถุ คือพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน รุ่นสิงห์ 1 ทั้งนี้ภายในวัดยังมีศาลเจ้าพ่อมหายักษ์สามพันตน (ท้าวเวสสุวรรณ) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนให้ความเคารพสักการบูชาอีกด้วย

บ้านเรือนเก่าภายในท่ามะโอ 

1. บ้านเสานัก ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 6 ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2438 โดยหม่องจันโอ่ง จันทรวิโรจน์ (ต้นตระกูลจันทรวิโรจน์) ชาวพม่าที่มาตั้งรกรากในลำปางในช่วงที่ลำปางเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทำไม้สักที่เฟื่องฟูมากในภาคเหนือ โดยบ้านเสาหนักแห่งนี้เป็นบ้านเก่าที่มีโดดเด่นมากหลังหนึ่งในจังหวัดลำปาง เพราะเป็นบ้านไม้ที่มี เสาไม้สัก มากถึง 116 ต้น จึงเรียกว่าบ้านเสานัก ตามภาษาพื้นเมือง “นัก” มีความหมายว่า “มาก โดยตัวบ้านแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมของบ้านที่ผสมผสานทั้งแบบพม่าและพื้นเมืองล้านนา โดยตัวเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนหมู่ที่มีเสา 116 ต้นนั้น มีระเบียงบ้านที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบพม่า ในขณะที่หลังคาและโครงสร้างโดยทั่วไปของบ้านเป็นแบบล้านนา บ้านเสานักมีเรือนนอนสองหลังเชื่อมต่อกันด้วยหลังคา โดยส่วนพักอาศัยทอดยาวตลอดด้านหน้าของตัวบ้าน ทั้งนี้เนื้อที่ของบ้านโดยรวมทั้งหมดพบว่าตกราว 3 ไร่ ประกอบด้วยเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนหมู่ โรงรถ และยุ้งข้าว มีบ่อน้ำหน้าบ้าน 2 บ่อ หลังบ้าน 1 บ่อ ไม้ยืนต้นอายุมากกว่าตัวบ้านคือ ต้นสารภีหลวง ซึ่งยืนตระหง่านอยู่ตรงทางเข้า ทั้งนี้แต่เดิมพบว่าหลังการสิ้นของเจ้าของบ้านคนแรกทำให้บ้านได้ตกทอดมาเรื่อย ๆ แก่ลูกหลาน ซึ่งลูกหลานได้มีการซ่อมแซมบ้านนี้อยู่อย่างต่อเนื่องและได้มีการเปิดให้บ้านเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดขันโตกและงานพิธีมงคล แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนี้ด้วยการสนับสนุนของการท่องเที่ยวจังหวัดและชาวบ้านชุมชนท่ามะโอ บ้านเสาหนักจึงได้มีการเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้ชม โดยภายในบ้านจะมีการจัดแสดงของสะสมต่าง ๆ เช่น แหย่งช้าง (ที่นั่งบนหลังช้าง) ของเจ้าหลวงลำปาง หีบโบราณ เครื่องอัดกลีบผ้าม่วง กำปั่นเหล็ก เครื่องเขิน เครื่องเงิน แอ๊บหรือหมากเงินศิลปะล้านนา ศิลปะเขมร ซองพลู จัดไว้ในตู้โชว์ มีหนังสือบรรยายประกอบการชม ที่ผนังติดภาพเจ้าดารารัศมี และภาพของเจ้าของบ้านรุ่นแรก เป็นต้น

2. บ้านหลุยส์ ที ลีโอโนแวนส์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านพักองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ลำปาง ถนนป่าไม้ เขตชุมชนท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง เขตเทศบาลนครลำปาง โดยบ้านหลังนี้ผู้สร้างคือ ทมัส เลียวในเวนส์ (Louis Thomas Leonowens) บุตรชายของนางแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตอนที่หลุยส์อายุได้ 7 ปีได้ติดตามมารดาเข้ามาในสยาม และหลังจากสำเร็จการศึกษาในยุโรปแล้วก็ได้กลับเข้ามาในสยามอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2424 ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 27 ปี หลุยส์เริ่มเข้าสู่วงการค้าไม้ พ.ศ. 2427 โดยได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนของบริษัท บริติชบอร์เนียว (The British Borneo Company Limited) ในการเจรจาขอรับอนุญาตทำป่าไม้ประจำเมืองระแหง (ปัจจุบันคืออำเภอหนึ่งในจังหวัดตาก) ต่อมา พ.ศ. 2439 เขาได้ลาออกจากบริษัทบริติชบอร์เนียวเพื่อเปิดบริษัทค้าขายทั่วไปของตัวเองที่เชียงใหม่ และได้ย้ายบริษัทมาตั้งที่ลำปางเมื่อ พ.ศ. 2442 พร้อมทั้งได้รับสัมปทานทำป่าไม้ด้วย ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงปลูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นทั้งที่พักของนายหลุยส์และอาคารสำนักงานของเขาที่ลำปาง (หลุยส์ยังเปิดสำนักงานนำเข้าสินค้าต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ด้วย) เมื่อหลุยส์ที. เลียวโนเวนส์เสียชีวิตที่อังกฤษใน พ.ศ. 2462 กรมป่าไม้จึงได้รับมอบโอนกิจการทำไม้ของบริษัท บริติช บอร์เนียว จำกัด และบริษัทหลุยส์. เลียวโนเวนส์ รวมถึงบ้านหลังนี้ด้วยใน พ.ศ. 2482 บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นอาคารที่ทำการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในระยะหนึ่ง และต่อมาได้กลายเป็นบ้านพักสำหรับพนักงาน จนกระทั่งพนักงานลดจำนวนลงจึงไม่มีผู้พักอาศัยอีกและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทั้งนี้ลักษณะของบ้านหลุยส์นี้เป็นบ้านกึ่งปูนกึ่งไม้สองชั้น แบบเรือนปั้นหยา สไตล์โคโลเนียล ชั้นล่างก่อปูนแข็งแรง ส่วนชั้นบนเป็นเรือนไม้ มีจุดเด่นคือ ห้องโถงที่ทำเป็นมุขเจ็ดเหลี่ยมยื่นออกไปด้านหน้า ติดหน้าต่างบานเกล็ดไม้โดยรอบ บริเวณโดยรอบบ้านมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ทั้งนี้ในบริเวณบ้านหลุยส์ยังมีอาคารสำนักงานอีกหนึ่งหลัง เป็นอาคารถือปูนชั้นเดียว อาคารหลังนี้แต่เดิม ใช้เป็นที่เก็บตู้เซฟของบริษัทของนายหลุยส์

ทั้งนี้ในปัจจุบันบ้านหลุยส์หลังนี้อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน ซึ่งพบว่าในปี พ.ศ. 2560 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนท่ามะโอ และเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่าได้เริ่มโครงการบูรณะซ่อมแซมเพื่อให้ตัวบ้านคงสภาพดีดังเดิมให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีความพยายามของชุมชนในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ชุมชน ผ่านกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ตลาดนัด และการจัดเสวนาวิชาการ โดยบ้านหลุยส์ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ชุมชนใช้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวด้วย 

3. บ้านเลขที่ 1 หรืออาคารเรือนไม้บ้านร้อยปี ตั้งอยู่ที่ถนนป่าไม้เขต อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง สร้างเมื่อปี 2439 เดิมมีชื่อเรียกว่าสำนักงานป่าไม้ภาค ป่าไม้เขต แต่ปัจจุบันแป็นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง โดยเป็นอาคารนี้เป็นอาคารเรือนไม้ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกยุคการค้าไฟเฟื่องฟู คือเป็นเรือนปั้นหยา หลังคาทรงสูงครึ่งปูนครึ่งไม้ 

4. บ้านเก๊าม่วง ตั้งอยู่ที่ถนนป่าไม้ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง ลำปาง โดยบ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าหลังหนึ่งในชุมชนทามะโอ ที่มีการสร้างในปี พ.ศ. 2500 (สร้างปรับปรุงทับบ้านเก่าที่เคยมีมาก่อนหน้านี้) โดยลักษณะของบ้านเก๊าเป็นเรือนพื้นถิ่นประยุกต์ สร้างด้วยไม้แดงและไม้สัก จากป่าแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม ลำปาง เป็นบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เนื่องจากสมัยก่อนน้ำจะท่วมบ้านทุกปี มีเสาไม้แดงจำนวน 42 ต้น เสาคอนกรีตจำนวน 16 เสา บ้านหลังนี้ผ่านการปรับปรุงต่อเติม ซ่อมแซมในส่วนของเปลี่ยนชานหลังบ้านที่เป็นไม้ให้เป็นแบบคอนกรีตและเปลี่ยนเสาบ้านเป็นคอนกรีต ดีดตัวบ้าน ตัดเสาบ้าน หล่อคอนกรีต เปลี่ยนหลังคาบ้าน ปรับปรุงห้องน้ำ ปูพื้นใต้ถุนบ้านใหม่ โดยแม้จะมีการปรับปรุงไปมากแต่โดยรวมยังคงเป็นบ้านไม้เก่าหลังหนึ่งในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). บ้านเสาหนัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). วัดประตูป่อง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). วัดประตูป่อง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/

กิตติศักดิ์ กลิ่นหมื่นไวย. (2556). แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. วารสารศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 6(1), 131-148.

ชาวบ้านในชุมชนท่ามะโอ อ.เมืองลำปาง จัดพิธีต่างข้าวซอมต่อหรือบูชาข้าวทิพย์ถวายองค์พระพุทธรูปในพระวิหาร สีบสานประเพณีที่ดีงามเนื่องในวันออกพรรษา. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.lannapost.net/

ชุมชนท่ามะโอ ลำปาง. (2560). อาคารเรือนไม้บ้านร้อยปี / บ้านเลขที่ 1 ถนนป่าไม้เขต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/TamaoTravel/

ชุมชนท่ามะโอ ลำปาง. (2557). เรือนพื้นถิ่นประยุกต์ บ้านท่าเก๊าม่วง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/TamaoTravel/

ชุมชนท่ามะโอ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://smartdastaapp.dasta.or.th/

ฐานข้อมูลท่ามะโอ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://lampang.dusit.ac.th/

ทรูไอดี. (ม.ป.ป.). ชมวิถีชีวิตชาวบ้านผ่านจิตรกรรมฝาผนัง ณ “วัดประตูป่อง” @นครลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/

เทศบาลนครลำปาง. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570). ลำปาง: เทศบาลนครลำปาง.

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ตำนานของบริษัทค้าไม้ แห่งนครลำปาง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/

ไปด้วยกัน. (2566). วัดประตูป่อง ลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.paiduaykan.com/travel/วัดประตูป่อง

พัชราภา วิริยะตานนท์. (2562). รูปแบบสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรม วิหารวัดประตูป่อง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://issuu.com/patcharapaviriyatanon/

พาไปวัด. (ม.ป.ป.). วัดประตูป่อง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://papaiwat.com/

เมธากร ไชยมิตรชิด. (2559). กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม สำหรับการสร้างธุรกิจโฮมสเตย์ในชุมชนท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการการจัดการธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ลานนาโพสต์. (2559). ชีวิตเนิบช้าในชุมชนท่ามะโอ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://wecitizensthailand.com/

วรนันท์ น้ำใจสุข. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่ามะโอ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.museumthailand.com/

วัดประตูป่อง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.watportal.com/

วิกิพีเดีย. (2566). วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/

วิกิพีเดีย. (2566). วัดหัวข่วง (จังหวัดลำปาง). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). บ้านเสาหนัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. (2564). ชุมชนคุณธรรมฯ ลำปาง ร่วมสืบสานประเพณี "ล่องสะเปาจาวละกอน ตามรอยเจ้าหลวง". [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://thainews.prd.go.th/

อีสานร้อยแปด. (ม.ป.ป.). วัดประตูต้นผึ้ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://esan108.com/

Manaspee Nut. (2564). วัดประตูป่อง...นครลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

TANTHIKA THANOMNAM. (2565). ชุมชนคุณธรรมชุมชนท่ามะโอ จังหวัดลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://jk.tours/2022/

Wecitizens. (2565). ชุมชนท่ามะโอยังมีบ้านไม้เก่าๆ ที่เราเห็นตอนเด็กๆ เหมือนมันถูกหยุดเวลาไว้เมื่อร้อยปีก่อนเลย ซึ่งนี่แหละคือเสน่ห์ที่หาที่ไหนไม่ได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566, จาก https://wecitizensthailand.com/