หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว พุทธทาสปราชญ์โลก สร้างสวนโมกข์ประกาศธรรม ไข่เค็มมีประจำ ของฝากล้ำไชยาเรา
สาเหตุที่เรียกว่าบ้านปากด่าน เพราะสถานที่ตั้งบริเวณนี้เป็นปากทางเข้าสู่เมืองไชยาเป็นที่ตั้งด่านตรวจคน รวมทั้งในครั้งที่เกิดสงครามพม่าในสถานที่ตรงบริเวณที่เป็นหน้าด่านของเมืองไชยา จึงเรียกว่า “บ้านปากด่าน”
หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว พุทธทาสปราชญ์โลก สร้างสวนโมกข์ประกาศธรรม ไข่เค็มมีประจำ ของฝากล้ำไชยาเรา
บ้านปากด่านก่อตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏขึ้นแน่ชัด มีเพียงคำบอกเล่าจากนายสุวรรณ คชเวช อดีตผู้ใหญ่บ้านและนายคล่อง อยู่นุ้ย ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเล่าว่า บ้านปากด่านในอดีตเป็นเส้นทางสำหรับลากไม้ไปตำบลเสวียด ไม่มีรถวิ่ง บริเวณสองข้างทางมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลายชนิด บริเวณนี้เดิมทีเรียก “ด่านน้ำไหล” เป็นช่องแคบสำหรับดักจับผู้ร้าย ด้านหนึ่งเป็นป่าทึบ (ปัจจุบัน คือ สวนโมกข์) อีกด้านหนึ่งเป็นป่าพรุลึก (ปัจจุบันเป็นท้องทุ่งนาและหมู่บ้าน) ต่อมาส่วนลึกนี้ตื้นเขิน ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำนาได้ แล้วทำคันนากั้นเป็นถนนสำหรับใช้สัญจรไปมา ขณะเดียวกัน มีคลองสายหนึ่งไหลผ่านหมู่บ้าน เรียกว่า “คลองปากด่าน” และตรงทางด่านตัดผ่านคลองมีสะพานข้ามเรียกว่า “ปากด่าน” ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกจนติดปากว่า “บ้านปากด่าน” มาจนปัจจุบัน
อีกที่มาหนึ่งปรากฏในบทสัมภาษณ์ของหลวงพ่อพุทธทาส โดยพระประชา ปสนฺโน และได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา อัตชีวประวัติของท่าพุทธทาส” ที่ได้กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณรอบ ๆ วัดสวนโมกพลารามเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นที่ว่างที่คนเข้ามาจับจองไว้นานแล้ว แต่ไม่ได้เข้ามาอยู่เพราะการเดินทางไม่สะดวก แต่หลังตากมีการสร้างวัด ชาวบ้านก้อพยพตามมาอยู่รอบ ๆ วัด จนกลายเป็นหมู่บ้านในที่สุด จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าบ้านปากด่านอาจก่อตั้งขึ้นพร้อมการก่อตั้งวัดสวนโมกพลาราม หรืออาจหลังจากนั้นไม่นาน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลเขาถ่าน และตำบลท่าฉาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลเลม็ด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 ตำบลเสวียด อำเภอท่าฉาง
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านปากด่านมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบสูงเชิงเขา โดยทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทํานาและเลี้ยงสัตว์ มีคลองปากด่านไหลผ่าน ทางทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นที่ราบสูงเหมาะแก่การทําสวนยางพารา มีทิวเขานางเออยู่ทางทิศตะวันตก บริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ ส่วนป่าไม้ที่อยู่ติดกับสวนโมกข์เป็นแหล่งต้นน้ำธารน้ำไหล ซึ่งชาวบ้านสามารถใช้น้ำได้ตลอดปี
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
บ้านปากด่านมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณสถาน คือ สวนโมกขพลาราม และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแหล่ง เช่น บ่อน้ำพุร้อนในจุดชมวิวเขานางเอ-สวนรุกขชาติ ในขณะที่กลุ่มอาชีพและผู้ประกอบการ OTOP ส่วนใหญ่เน้นทำไข่เค็มเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของอำเภอไชยา นอกจากนี้ยังเป็นหมู่บ้านที่มีถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 41 ตัดผ่าน ทำการคมนาคมสะดวกง่ายต่อการเดินทาง โดยมีผลิตภัณฑ์ “ไข่เค็มไชยา” เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ
- สวนโมกขพลาราม เป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมะที่หลวงพ่อพุทธทาสได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น ภายในสวนโมกข์ได้จัดให้มีการเรียนรู้มากมาย เช่น มีโรงมหรสพทางวิญญาณ มีการเรียนรู้ด้วยตนเองจากธรรมชาติ เป็นต้น
- สวนโมกข์นานาชาติ คือ สวนโมกข์แห่งที่สาม (สวนโมกข์แห่งแรกตั้งอยู่ที่พุมเรียง แห่งที่สอง คือ สวนโมกข์ปัจจุบัน และแห่งที่สาม คือ สวนโมกข์นานาชาติ) เป็นสถานที่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะของชาวต่างชาติ เป็นสาขาของสวนโมกขพลาราม อยู่ห่างจากสวนโมกข์ปัจจุบันไปทางทิศตะวันออก ระยะทาง 1 กิโลเมตร
- บ่อน้ำพุร้อน อยู่ติดกับสวนโมกข์นานาชาติ ห่างจากถนนสายเอเชียประมาณ 500 เมตร โดยทางเข้าเป็นถนนลาดยาง มีบ่อน้ำร้อนอยู่ด้วยกัน 3 บ่อ ลักษณะเป็นบ่อดิน กว้างประมาณ 20 เมตร ยาว 15 เมตร มีน้ำแร่ร้อนไหลผ่านบ่อน้ำตลอดทั้งปี เป็นบ่อน้ำแช่เพื่อสุขภาพ ผู้คนนิยมอาบและแช่ในตอนเย็นของทุกวัน มีที่สําหรับอาบน้ำร้อน ตามความเชื่อของชาวบ้านเชื่อว่าสามารถแก้โรคเหน็บชาและโรคผิวหนังต่าง ๆ ได้
- สวนรุกขชาติเขาพุทธทอง อยู่ติดกับสวนโมกข์ มีพื้นที่ประมาณ 490 ไร่ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2523 โดยสํานักงานป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีได้เสนอไปยังกรมป่าไม้เพื่อขออนุมัติจัดสร้างสวนรุกขชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพุทธทอง สวนรุกขชาติแห่งนี้จึงมีทัศนียภาพที่สวยงามในสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์
- เขานางเอ เป็นภูเขาที่ถือกันว่าเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อ สมัยพันกว่าปีที่แล้วเขาแห่งนี้เคยเกาะอยู่กลางทะเล แต่ปัจจุบันนี้อยู่บนบก ชาวบ้านอธิบายว่าเพราะบกมันงอกออกไปหุ้มไว้เป็นภูเขา เป็นจุดชมทิวทัศน์บริเวณรอบอ่าวบ้านดอนทั้งหมด
การตั้งบ้านเรือน
ในปัจจุบันบ้านเรือนได้มีการปลูกสร้างกระจัดกระจายไปตามเส้นทางคมนาคม และ ตามพื้นที่ทําการเกษตรของแต่ละคน ลักษณะของบ้านเรือนที่ปลูกสร้างใหม่จะเป็นแบบถาวร คือ ก่ออิฐถือปูนทั้งหลังหรือบ้านเก่าที่ยกใต้ถุนสูงมีการต่อเติมชั้นล่างเป็นก่ออิฐถือปูน
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา ตำบลเลม็ด หมู่ที่ 6 บ้านปากด่าน มีประชากร 1,158 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 554 คน และประชากรหญิง 604 คน
การที่บ้านปากด่านเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเพราะเป็นที่ตั้งของสวนโมกขพลาราม และเป็นศูนย์กลางการผลิตและจําหน่ายไข่เค็มไชยา ส่งผลให้จํานวนประชากรและบ้านเรือนได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะของครอบครัวขยายหรือมีการย้ายถิ่นของเครือญาติที่ย้ายเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ หรือเพื่อความสะดวกในการเรียนหนังสือของบุตรหลาน เพราะบ้านปากด่านมีสถานศึกษาทั้งระดับประถมและมัธยม ทําให้ระบบความสัมพันธ์มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้อง นอกจากนี้ ยังมีระบบความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ผู้คนบ้านปากด่านได้ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน คือ ความสัมพันธ์ในลักษณะของระบบ “โซแรง” ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการทํานากันน้อย แต่กิจกรรมเช่นนี้ยังคงมีอยู่
กาประกอบอาชีพ
ชาวบ้านปากด่านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักมาอย่างยาวนาน เนื่องจากระบบนิเวศที่เอื้อให้สามารถเลี้ยงเป็ดแบบปล่อยทุ่งได้ จนบ้านปากด่านกลายเป็นแหล่งศูนย์กลางไข่เป็ดของเมืองไชยา ต่อมาเมื่อไข่เป็ดมีชื่อเสียง ความต้องการไข่เป็ดก็มีมากขึ้น ทําให้ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงแบบฟาร์ม โดยที่วิธีการเลี้ยงดังกล่าวต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของไข่สดที่ต้องแดง มัน ฟองโต จึงต้องใช้วิธีให้อาหารเช่นเดียวกับการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง คือ การใช้ข้าวเปลือก กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น ผู้เลี้ยงเป็ดต้องอาศัยวัตถุดิบเหล่านี้จากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทําการประมง และซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทํานามาเลี้ยงเป็ดเช่นกัน
เนื่องจากบ้านปากด่านมีชื่อเสียงเรื่องไข่เป็ดสด อีกทั้งยังมีจำนวนมาก เพราะชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดเพื่อเก็บไข่ขาย ต่อมาชาวบ้านได้มีแนวคิดที่จะนำไข่เป็ดมาแปรรูปเป็นไข่เค็ม คณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้ประสานงานกับนายทุนเพื่อดำเนินการสร้างตลาดไข่เค็มเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในหมู่บ้านได้มีงานทําและมีรายได้อย่างยั่งยืน กระทั่งบ้านปากด่านกลายเป็น “ศูนย์กลางไข่เค็มเมืองไชยา” เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านได้จัดสถานที่จําหน่ายไข่เค็ม ทําให้ประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้เลี้ยงตนเองและสมาชิกในครอบครัวดีขึ้นตามลําดับ สามารถพึ่งตนเองได้ มีเงินหมุนเวียนวันละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท เดือนละกว่า 1 ล้านบาท และปีละ 1,440,000 บาท ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านมีร้านขายไข่เค็มจํานวน 207 ร้าน กระจายอยู่ตามตลาดต่าง ๆ โดยที่แต่ละตลาดจะตั้งอยู่ตามคุ้มต่าง ๆ เช่น คุ้มป่ายาง คุ้มปากด่าน 1 คุ้มปากด่าน 2 และคุ้มห้วยรากไม้
กลุ่มองค์กรชุมชน
สืบเนื่องจากลักษณะการบริหารงานของกลุ่มผู้นำชุมชนที่เน้นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านและได้จัดให้มีองค์กรประชาชน ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตและจําหน่ายไข่เค็มไชยา ซึ่งสมาชิกเป็นชาวหมู่ 6 บ้านปากด่านทั้งหมด กลุ่มเกษตรกรทําสวนเลม็ด กลุ่มสตรีอาสา กลุ่มผู้เลี้ยงเป็ดบ้านปากด่าน กลุ่มเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง โดยมีเงินทุนที่คอยสนับสนุนการดําเนินงานจากกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน และกองทุน กข.คจ. ซึ่งกองทุนต่าง ๆ เหล่านี้มีการจัดการด้านสวัสดิการชุมชน ให้สมาชิกชาวบ้านปากด่านมีสวัสดิการครบทุกด้าน ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่น
1) สมาชิกที่เกิดใหม่จะมีเงินฝากเข้าบัญชีเป็นขวัญถุง 500 บาท
2) ผู้สูงอายุได้รับเงินสงเคราะห์ ปีละ 300 บาท/คน
3) ค่ารักษาพยาบาล คนละ 500 บาท/ปี
4) สมาชิกที่เสียชีวิตจะปลดหนี้ที่เหลือทั้งหมดและได้รับเงินช่วยเหลือ จํานวน 3 เท่า ของเงินออมที่มีอยู่
5) เงินสวัสดิการผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจะได้ศพละ 3,000 บาท จากกองทุน อสม.ศพละ 5,000 บาท
ประเพณีวัฒนธรรมของหมู่บ้าน
เนื่องจากชาวบ้านทุกหลังคาเรือนนับถือพระพุทธศาสนา จึงทําให้บ้านปากด่านมีประเพณีวัฒนธรรมเฉกเช่นเดียวกับหมู่บ้านที่เป็นไทยพุทธทั่ว ๆ ไปในภาคใต้ คือ
- งานบุญเดือนสิบ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบุญสารทเดือนสิบ หรืองานทําบุญรับ-ส่งตายายที่ชาวบ้านเรียกกัน เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวภาคใต้ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ชาวบ้านจะนําอาหารหวานคาวประกอบด้วยขนมลา ขนมพอง ขนมเทียน หรือขนมชนิดอื่น ๆ ที่เป็นขนมเฉพาะสําหรับทําบุญตามเทศกาลไปทําบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ญาติพี่น้องที่ไปทํางานต่างถิ่นจะกลับมารวมตัวกันที่ภูมิลําเนา และจะไปร่วมกันทําบุญที่วัดเป็นประจําทุกปี
- ประเพณีสวดประจําปีของหมู่บ้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สวดกลางบ้าน” เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ชาวปากด่านได้ร่วมปฏิบัติสืบทอดกันมานาน โดยจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็นและฉันภัตตาหารเช้าของวันถัดที่ศาลากลางบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา
- ประเพณีรดน้ำดําหัวผู้ใหญ่ ในวันสงกรานต์เป็นกิจกรรมที่ยกย่องผู้อาวุโสในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีพระคุณ เป็นประเพณีที่บ่งบอกถึงการให้ความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ของหมู่บ้าน
- การทําขวัญข้าว ทําบุญให้พระแม่โพสพ แต่ปัจจุบันเริ่มมีน้อย เพราะการทํานาได้ลดน้อยลงไป คนที่ยังทํานาก็ยังมีการทํากิจกรรมเช่นนี้อยู่
- การไปวัดทําบุญในวันพระและวันสําคัญทางพระพุทธศาสนาและงานบุญอื่นที่วัดจัดขึ้นเป็นประจํา เช่น การอบรมเยาวชนหรือบุคคลทั่วไป การต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นต้น เป็นสิ่งที่ชาวบ้านล้วนเข้าไปช่วยกันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับสมัยที่หลวงพ่อพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่
ภูมิปัญญาชาวบ้าน ไข่เค็มไชยาจากดินจอมปลวก
ดังที่ทราบกันแล้วว่าบ้านปากด่าน ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงเรื่องการผลิตไข่เป็ดสดฟองโต สีแดง รสมัน นำไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไข่เค็ม ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นสินค้าเลื่องชื่อจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ศูนย์กลางไข่เค็มไชยา”
การทำไข่เค็ม เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการเก็บรักษาไข่ให้ได้ยาวนาน สามารถทำได้สองแบบ คือ การทำไข่เค็มโดยดองในน้ำเกลือและการทำไข่เค็มโดยการพอกด้วยดินจอมปลวกและแกลบ แต่สำหรับไข่เค็มไชยานั้นจะใช้วิธีพอกด้วยดินจอมปลวกและแกลบ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไข่เค็มไชยา ประกอบด้วย ไข่เป็ด เกลือ ดินจอมปลวกสำหรับพอกและแกลบ ขั้นตอนการผลิตมีลำดับ ดังนี้
- การเตรียมไข่เป็ด โดยคัดขนาดของไข่
- การเตรียมดินจอมปลวกสำหรับพอก สามารถเตรียมได้โดยการผสมดินและเกลือตามสูตรเฉพาะ เติมน้ำต้มสุก คลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้ 1 คืน
- การพอกไข่เค็มและคุกด้วยขี้เถ้าแกลบ โดยนำไข่ที่เตรียมไว้คลุกลงในดินที่ผสมเอาไว้แล้ว แล้วนำออกมาคลุกขี้เถ้าแกลบอีกที
- การบรรจุไข่เค็มในบรรจุภัณฑ์ มีการบรรจุไข่ที่พอกแล้วถุงพลาสติกหูหิ้ว เมื่อผูกถุงแล้วจึงบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูก ระยะเวลาในการนำมาประกอบอาหาร คือ 3-7 วัน นำมาทอดไข่ดาว 10-17 วัน นำมาต้ม 19-30 วัน ทำไส้ขนมหรือนำมารับประทาน แต่ถ้าต้องการความเค็มคงที่ให้ล้างดินที่พอกไข่ให้สะอาดแล้วเก็บในตู้เย็น
สำหรับมาตรฐานของไข่เค็มไชยาซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป คือ เนื้อไข่แดงของไข่เค็มจะต้องมีสีแดงและเป็นไข่ที่ได้จากพื้นที่อำเภอไชยาเท่านั้น ใช้ดินจอมปลวกในการพอก ไข่แดงมีมากกว่าไข่ขาว มีไขมันเนื่องจากเป็นไข่ที่เลี้ยงจากอาหาร เช่น ข้าวเปลือก หัวกุ้ง ปลา และไข่ขาวนิ่ม
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาเขียน
กว่าจะเป็นไข่เค็มไชยา
เมืองไชยาเดิมนั้นอุดมสมบูรณ์ เรียกได้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หรือ “มีข้าวเต็มนา มีปลาเต็มน้ำ” มีการเลี้ยงเป็ดกันทั่วไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพราะอาหารเลี้ยงเป็ดตามธรรมชาติในนาข้าวมีมาก เช่น ข้าวเปลือก ลูกปลา หอย และอื่น ๆ ทำให้ชาวบ้านนิยมเลี้ยงเป็ดแบบปล่อยให้หากินในทุ่งนาและรอบ ๆ บ้าน ไข่เป็ดที่เหลือจากการบริโภคในครอบครัวจึงนำไปจำหน่ายในตลาดอำเภอไชยา แต่เนื่องจากไข่เป็ดไชยามีเนื้อไข่แดงสีแดง มัน อร่อย จึงเป็นที่พอใจแก่ผู้บริโภค ข้อมูลจากผู้สูงอายุเล่าว่า ในสมัยที่รัฐบาลสยามสร้างทางรถไฟสายใต้ มีคนจีนชื่อ นายจี่ แซ่ซิก เป็นช่างสะพานเหล็กสร้างทางรถไฟสายใต้ตั้งแต่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ซึ่งสืบเชื้อสายจากชาวจีนกวางตุ้ง ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโรงทอง อำเภอไชยา สมัยนั้นเห็นว่าไข่เป็ดไชยามีเนื้อแดง มัน อร่อย จึงคิดหาวิธีการที่จะนำไข่เป็ดมาแปรรูปเพื่อเก็บไว้ได้นาน ๆ ด้วยการนำไข่เป็ดดองกับน้ำเกลือแล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่งจึงนำมาต้มกินกับข้าวต้ม ไข่เค็มที่ได้มีรสเค็มมาก จึงนำไข่เป็ดไปฝังดินเค็มริมทะเลไว้ประมาณ 15 วัน แล้วนำมาล้างต้มกิน พบว่า มีรสชาติดีกว่าการดองเกลือ แต่เนื่องจากนายจี่และครอบครัวอาศัยอยู่ในตลาดอำเภอไชยา การจะนำไข่ไปฝังดินริมทะเลจึงไม่สะดวก จึงคิดค้นหาวิธีการทำไข่เค็มโดยทดลองใช้ดินเหนียวผสมเกลือป่นในอัตราส่วนพอเหมาะ คลุกขี้เถ้าเก็บไว้นานพอประมาณ เมื่อนำมาล้างแล้วต้มรับประทาน ทำเป็นอาหารก็อร่อยไม่แพ้การฝังดินริมทะเล แต่ข้อเสียของดินเหนียว คือ ไม่เกาะไข่มากนัก ต่อมาจึงได้ปรับปรุงโดยใช้ดินจอมปลวกแทนดินเหนียวทำให้ได้ผลดี แต่นั้นมาครอบครัวของนายจี่ แซ่ซิก ก็ทำไข่เค็มขาย ซึ่งขายดีมาก ทำให้คนในตลาดไชยาสนใจนำไปทำขายบ้าง ชาวเมืองอื่น ๆ ที่มาเที่ยวเมืองไชยาหลังจากได้ซื้อไข่เค็มไชยาไปรับประทานแล้วรู้สึกพอจึงสั่งซื้อไปขายต่อ ส่งผลให้ชื่อเสียงของไข่เค็มไชยาเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น หลังจากนั้นการทำไข่เค็มไชยาก็เป็นที่สนใจของชาวเมืองไชยาและเมืองอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง พ่อค้าแม่ค้าได้นำไข่เค็มไชยาไปขายยังท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งได้รับความสนใจและขายดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ผลิตไข่เค็มไชยาจึงผลิตไข่เค็มในปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้กิจการเลี้ยงเป็ดเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะตำบลเลม็ด และตำบลเวียง (สุกัญญา ไหมเครือแก้ว และคณะ, 2547: 201)
กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage. (2559). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
ธาวิดา ศิริสัมพันธ์. (2564). 7 เคล็ด (ไม่) ลับ ทำไข่เค็มกินเอง ให้อร่อยเหมือนของสุราษฎร์. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/
พงษ์ศักดิ์ เพชรสถิตย์. (2551). ทุนทางสังคมในฐานะปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินงานของธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษา กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายไข่เค็มไชยา หมู่ที่ 6 บ้านปากด่าน ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุกัญญา ไหมเครือแก้ว และคณะ. (2547). แนวทางการยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น กรณีศึกษา : การผลิตไข่เค็มไชยา. วารสารอาหาร, 34(3), 201.