Advance search

สาขลา

บ้านสาขลา

ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือต้นอยุธยา ทำให้ภายในชุมชนจึงมีวัดเก่าอย่างวัดสาขลาที่มีโบราณสถานเจดีย์เก่าอยู่ นอกจากนี้ยังมักมีพิพิธภัณฑ์ต่างๆที่จัดแสดงของเก่าโบราณที่หาได้จากภายในชุมชน ทั้งนี้ภายในชุมชนปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีการประกอบอาชีพทำประมง เลี้ยงกุ้ง ปู หอย จับปลา ซึ่งด้วยวิถีนี้ทำให้จึงมีการผลิตสินค้าแปรรูปอันเกี่ยวกับของทะเลต่างๆมากมายในชุมชนแห่งนี้ด้วย โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ขึ้นชื่อและโดดเด่นที่สุดจนเป็นของดีของชุมชนสาขลาก็คือกุ้งเหยียดนั่นเอง

สาขลา
นาเกลือ
พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ
วีรวรรณ สาคร
31 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
31 ก.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
3 ส.ค. 2023
สาขลา
บ้านสาขลา

แต่เดิมชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่า สาวกล้า อันมาจากครั้นสงครามเก้าทัพผู้หญิงในชุมชนนี้ร่วมกันต่อสู้ต้านทานกองลาดตระเวนของพม่าได้ แต่ทว่าคำว่า สาวกล้า ได้เรียกกันต่อๆมาและได้เพี้ยนมาเป็น สาขลา ทำให้ชุมชนแห่งนี้จึงเรียกว่าชุมชนสาขลานั่นเอง


ชุมชนชนบท

ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือต้นอยุธยา ทำให้ภายในชุมชนจึงมีวัดเก่าอย่างวัดสาขลาที่มีโบราณสถานเจดีย์เก่าอยู่ นอกจากนี้ยังมักมีพิพิธภัณฑ์ต่างๆที่จัดแสดงของเก่าโบราณที่หาได้จากภายในชุมชน ทั้งนี้ภายในชุมชนปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีการประกอบอาชีพทำประมง เลี้ยงกุ้ง ปู หอย จับปลา ซึ่งด้วยวิถีนี้ทำให้จึงมีการผลิตสินค้าแปรรูปอันเกี่ยวกับของทะเลต่างๆมากมายในชุมชนแห่งนี้ด้วย โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ขึ้นชื่อและโดดเด่นที่สุดจนเป็นของดีของชุมชนสาขลาก็คือกุ้งเหยียดนั่นเอง

สาขลา
นาเกลือ
พระสมุทรเจดีย์
สมุทรปราการ
10290
องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ โทร. 0-2408-4250
13.544791
100.50155
องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ

ชุมชนสาขลา ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ หมู่บ้านสาขลา เป็นหมู่บ้านมรดกทางวัฒนธรรม เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำและลำคลอง ในอดีตเป็นที่รู้จักกันในนามของชุมชนลับแล เพราะเข้าไปแล้วหาทางออกได้ทางเดียวคือทางน้ำเท่านั้น (แต่ในปัจจุบันมีรถยนต์โดยสารเดินทางถึงหมู่บ้าน) และเป็นดินแดนที่ "ไก่บินไม่ตกดิน" กล่าวคือ เป็นหมู่บ้านที่ปลูกอยู่รวกันจนหลังคาเกยกันไม่มีที่ว่าง ชุมชนสาขลานี้ สันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นเศษเครื่องถ้วยชามประเภทต่างๆ ซึ่งมีเศษถ้วยชามสังคโลกที่อายุย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย เศษเครื่องถ้วยลายครามจากสมัยอยุธยา หรือแม้แต่เครื่องถ้วยเบญจรงค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งมายาวนาน

ทั้งนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พม่ายกกองทัพมาประชิดกรุงเทพ โดยยกมาถึง 9 ทัพ จึงเรียกกันว่า สงคราม 9 ทัพ พม่ามีกำลังรี้พลถึง 140,000 คน เข้าตีกรุงเทพ 5 ทัพ ตีเมืองเหนือ 2 ทัพ ปักษ์ใต้ 2 ทัพ ซึ่งเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ ในการสงครามครั้งนี้ไทยพยายามมิให้ข้าศึกเข้าถึงพระนครได้ ส่งกองทัพออกไปตั้งรับนอกพระนคร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและบ้านเมืองเป็นหลัก ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร ดังนั้นในพระนครหมู่บ้านต่าง ๆ รวมทั้งชุมชนสาขลา จึงมีแต่ผู้หญิงเด็กและคนชราเท่านั้น ทำให้เมื่อกองทัพพม่าโอบล้อมกรุงเทพโดยทางบกและทางเรือ และมีการส่งกองลาดตระเวรออกกวาดต้อนคนไทย และเสบียงอาหารในบริเวณนี้ ภายในชุมชนสาขลาที่เหลือแต่ผู้หญิงเด็กและคนชรา จึงต้องร่วมใจกันจับอาวุธเท่าที่จะหาได้เข้าสู้รบกับกองลาดตระเวนพม่าเหล่านี้ ซึ่งการสู้ครั้งนี้แม้จะมีแต่ผู้หญิงที่เป็นกำลังหลักแต่ก็พบว่าได้รับชัยชนะจนสามารถขับไล่กองลาดตะเวรพม่าได้สำเร็จในบริเวณคลองชัย จุดนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้เรียกคลองบริเวณนี้ว่าคลองชัย และทำให้เรียกชุมชนแห่งนี้ว่า "ชุมชนสาวกล้า" ซึ่งต่อมาได้เพี้ยนและกลายมาเป็น “สาขลา” นั่นเอง

ในด้านวิถีชีวิตของชาวบ้านสาขลา พบว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนหนึ่งที่มีการทำประมง โดยอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านนับแต่อดีตที่พบคือการทำการประมงและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล เช่น กะปิ กุ้งแห้ง กุ้งตัวเหยียด ปูเค็ม หอยพิมพ์เค็ม ปลาเค็ม โดยของที่ขึ้นชื่อในชุมชนนี้ที่สุดคือกุ้งตัวเหยียด ซึ่งคือกุ้งที่ชาวบ้านนำทั้งตัวมาต้มกับเกลือและน้ำตาล อาจเป็นกุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หรือกุ้งทะเลก็ได้ แต่จะนำตัวกุ้งมาจับให้ตรงแล้วจัดเรียงก่อนนำไปต้ม ทำให้กุ้งมีลักษณะตัวตรงสวยแตกต่างจากกุ้งหวานในพื้นที่อื่นๆ

ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าชุมชนสาขลาเป็นชุมชนหนึ่งที่สามารถดำรงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างน่าชื่นชม แม้ว่าบริเวณโดยรอบใกล้เคียงชุมชนที่เป็นหมู่บ้านชาวประมง ส่วนใหญ่จะจ้างชาวพม่ามาเป็นแรงงาน จนกลายเป็นชุมชนพม่าขนาดใหญ่ที่มีปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมาแล้ว แต่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้กับหมู่บ้านสาขลาเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมู่บ้านสาขลาเป็นเหมือนกึ่งๆ ชุมชนปิด ที่แต่เดิมเข้าถึงได้ทางเรือเท่านั้น โดยแม้ในปัจจุบันที่มีถนนเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว แต่ว่าหมู่บ้านสาขลาก็มีองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีประสิทธิภาพ และพยายามที่จะพัฒนาดูแลรักษาความบริสุทธิ์ของความเป็นหมู่บ้านดั่งเดิมให้ยังคงอยู่ต่อไป จุดนี้ทำให้ชุมชนสาขลาจึงสามารถรักษาความเป็นดั้งเดิมของตนได้อย่างดีต่อเนื่องนั่นเอง

ชุมชนสาขลาตั้งอยู่ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยตัวชุมชนห่างจากจังหวัดสมุทรปราการ ประมาณ 15 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 23,711 ไร่ ครอบคลุมหมู่ 3, 4, 5, และ7ของตำบลนาเกลือ 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ  คลองสรรพสามิต
  • ทิศใต้ ติดกับ  หมู่ที่ 10 ตำบลแหลมฟ้าผ่า
  • ทิศตะวันออก ติดกับ  ชุมชนหมู่ที่ 1 บ้านขุนสมุทรไทย ตำบลนาเกลือ
  • ทิศตะวันตก ติดกับ  ชุมขนหมู่ที่ 6 บ้านคลองทะเล ตำบลนาเกลือ

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง พื้นดินเป็นดินเต็ม และเค็มจัดในฤดูแล้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เหมาะแก่การทำป่าจาก ป่าฝืน จากต้นแสมและโกงกาง สภาพพื้นดินส่วนใหญ่เป็นบ่อกุ้งและบ่อปลา

สภาพอากาศ

บ้านสาขลามีลักษณะภูมิอากาศแบบชายทะเลทั่วไป คือมีอากาศเย็นสบายไม่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อน มีความชื้นในอากาศสูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมทะเลของอ่าวไทย และอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม

การเดินทางเข้าถึงชุมชน

โดยการเข้าถึงชุมชนสาขลาสามารถเดินทางได้ 2 วิธี ดังนี้

1. ทางน้ำผ่านคลองสรรพสามิต โดยการนั่งเรือหางยาวจากหลังตลาดปากน้ำ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาข้างฝั่งตะวันตกเข้าคลองสรรพสามิต และเลี้ยวช้ายเข้าคลองสาขลา มาจอดที่ท่าเรือหน้าวัดสาขลา แต่การเดินทางโดยเรืนี้จะมีข้อจำกัด คือ เวลาในการวิ่งเรือ ในช่วงเช้าเรือจะวิ่งตั้งแต่ดี 3 จนถึง 9 โมงเช้า และเริ่มอีกทีตอนบ่ายโดยวิ่งทุกๆ 20 นาที ขึ้นอยู่กับจำนวนคนถ้าคนน้อยมากก็ยังไม่ออก  เรือรอบสุดท้ายจากปากน้ำไปสาขลา ออกเวลา 18.00 น. และเรือรอบสุดท้ายจากสาขลาไปปากน้ำออกเวลา 16.00 น. ค่าโดยสาร 20 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที

2. ทางบก จากถนนสุขสวัสดิ์-นาเกลือ สามารถโดยสารรถรับจ้างประจำทางสายเจดีย์-อำเภอ-สาขลา เข้าสู่ชุมชนได้โดยตรง 

การที่ชุมชนสาขลาครอบคลุมหมู่ที่ หมู่ 3, 4, 5, และ7ของตำบลนาเกลือ ทำให้ประชากรโดยรวมของชุมชนนี้มาจากการรวมของประชากรของหมู่บ้านต่างๆข้างต้น กล่าวคือ หมู่ที่ 3 บ้านสาขลา มีประชากรรวม 1,137 คน แบ่งเป็น ชาย 537 คน หญิง 600 คน และมีจำนวนครัวเรือน 444 หลัง หมู่ที่ 4 บ้านสาขลา มีประชากรรวม 925 คน แบ่งเป็น ชาย 431คน หญิง 494 คน และมีจำนวนครัวเรือน 371 หลัง หมู่ที่ 5 บ้านสาขลา มีประชากรรวม 720 คน แบ่งเป็น ชาย 360 คน หญิง 360 คน และมีจำนวนครัวเรือน 274 หลัง หมู่ที่ 7 บ้านสาขลา มีประชากรรวม 994 คน แบ่งเป็น ชาย 474 คน หญิง 520 คน และมีจำนวนครัวเรือน 378 หลัง ดังนั้นเมื่อรวมหมู่บ้านทั้งหมดนี้แล้วจะพบว่าชุมชนสงขลามีประชากรรวม 3,776 คน แบ่งเป็น ชาย 1,802 คน หญิง 1,974 คน และมีจำนวนครัวเรือน 1,467 หลัง 

ชาวบ้านชุมชนสาขลานี้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยพบชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ เช่น ทำนากุ้ง นาปู และนาหอย นอกจากนี้ก็จะทำประมงทั้งการประมงทะเลทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น ส่วนผู้ที่เป็นชาวบ้านในชุมชนแต่ออกไปอยู่นอกหมู่บ้านจะประกอบอาชีพรับจ้าง เช่น รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม รับจ้างทั่วไป เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

พบว่าชาวชุมชนสาขลาได้มีประเพณีในรอบปีที่แสดงถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ดังนี้

1. งานทำบุญองค์หลวงพ่อโต ตรงกับวันที่ 6 มกราคมของทุกปี ในงานชาวบ้านจะมีการจัดถวายภัตตาหารเพลแก่ภิกษุ -สามเณรหมดวัด พร้อมทั้งแจกทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนเรียนดีแต่ยากจน

2. งานสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี ในงานจะมีการแห่ขบวนสงกรานต์ไปรอบหมู่บ้านเสร็จแล้วมีการละเล่นพื้นบ้านของคนพื้นที่ โดยจัดให้มีการแข่งชันเป็นหมู่คณะ เช่น การแข่งมัดปู่ทะเล ปิดตาตีหม้อ แข่งกินหอยแครง ชักเย่อ เป็นต้น ช่วงเย็นเวลาประมาณ17.00 น. จะมีการสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้เฒ่าผู้แกในหมู่บ้าน

3. งานเทศน์มหาชาติ ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี ในช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรพระภิกษุ-สามณรเสร็จแล้วจะมีการร่ายพระคาถา 1000 ในช่วงบ่ายมีการเทศน์มหาชาติใน พระเวศน์สันดรชาดก (ทรงเครื่อง) และในเวลาประมาณ 19.00น.จะมีการเวียนทักษิณารอบพระอุโบสถ พระวิหาร รับพรจากภิกษุสงฆ์เป็นอันจบพิธี

4. งานก่อพระเจดีย์ทรายและห่มผ้าเจดีย์เอียง โดยในเดือน 6 ของทุกปีอันตรงกับวัน แรม 1 ค่ำ จะมีการจัดงานขึ้นที่วัดสาขลาอันเป็นวัดประจำชุมชน ซึ่งในงานจะเริ่มจากการบรวงสรวงองค์พระปรางค์เอียงในตอนเช้า จากนั้นก็จะแห่ผ้าแดงหรือผ้าห่มรอบชุมชน เมื่อแห่ผ่าเสร็จชาวบ้านก็จะก่อกองทรายบริเวณวัด พร้อมทั้งมีการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย 4 ประเภท เช่น ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด ประเภทเงินมาก ประเภทกองใหญ่ โดยเมื่อก่อกองทรายเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านก็จะมีการห่มผ้าองค์เจดีย์อย่างสวยงาม จากนั้นก็จะมีงานจะมีมหรสพสมโพชให้ชาวบ้านได้ชมฟรี

5. งานแห่หลวงพ่อโต ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปื ในงานวันแรกจะมีการตักบาตร เทโวพระภิกษุ-สามเณร 2 รอบโดยรอบแรกจะเป็น ข้าวสารอาหารแห้ง รอบ 2 ข้าวสวยอาหารคาว-หวาน ช่วงสายจะแห่หลวงพ่อโตทางบก จากวัดสาขลาไปถึงวัดพระสมุทรเจดีย์แล้วจึงกลับมาที่วัดสาขลา ในวันที่ 2 แรม 2 ค่ำ จะมีการแห่องค์หลวงพ่อโตไปทางน้ำ จากวัดสาขลาไปถึงท่าเรือตลาดปากน้ำแล้วจึงแห่กลับมาถึงวัดสาขลา ช่วงบ่ายจะมีการแข่งขันเรือประเภทต่าง ๆ เช่น ประเภทความเร็ว ประเภทสวยงาม ประเภทความคิดสร้างสรรค์ ประเภทตลกขบขัน นอกจากนี้ทุกวันตามเทศกาลสำคัญทางศาสนาจะมีการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

1. วัดสาขลา ตั้งอยู่ที่ 19 หมู่ 3 ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ วัดสาขลานี้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2325 สันนิษฐานว่าชาวบ้านช่วยกันสร้างเมื่อคราวรบชนะพม่าได้ แต่เดิมวัดแห่งนี้เรียกว่าวัดสาวกล้าตามชื่อชุมชนแต่ต่อมาเมื่อชื่อชุมชนเพี้ยนว่าสาขลาวัดแห่งนี้จึงเรียกว่าวัดสาขลาตามชื่อชุมชน ทั้งนี้วัดสาขลาได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ. 2375 มีพระประธานในวิหาร คือ หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยอู่ทอง ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านสาขลาอย่างมาก โดยหลวงพ่อโตนี้มีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจากเหตุการณ์ภายในชุมชนด้วยว่า มีอยู่คืนหนึ่งของวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2526 เวลาประมาณ 21.00 น. ได้มีเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในหมู่บ้านชาวบ้านต่างช่วยกันดับไฟแต่ก็เป็นที่ยากลำบาก ไฟลุกโหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ชาวบ้านที่ออกไปหาปู ปลา ไม่ไกลจากหมู่บ้านนักได้เห็นองค์หลวงพ่อโตยืนเอาจีวรโบกไฟที่กำลังไหม้จนค่อยๆ ดับลงพร้อมกับได้ยินเสียงสวดมนต์อย่างต่อเนื่องจนรุ่งเช้า โดยชาวบ้านที่ทราบข่าวว่ามีคนเห็นองค์หลวงพ่อโตช่วยดับไฟ ทุกคนจึงแห่ไปที่วัด ซึ่งเมื่อถึงที่วัดชาวบ้านถึงกับน้ำตาไหล เพราะได้เห็นองค์หลวงพ่อโตดำเป็นเขม่าไปทั้งองค์ผ้าที่ห่มองค์หลวงพ่อกรอบเหมือนโดนไฟไหม้ ใบหน้าของท่านมีร่องรอยเหมือนน้ำตาไหล ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญให้กับหลวงพ่อโต และได้ให้ทุกวันที่ 6 มกราคม ของทุกปีมีการจัดทำบุญหลวงพ่อโต (เป็นที่มาของงานทำบุญหลวงพ่อโต) ทั้งนี้นอกจากหลวงพ่อโตที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วภายในวัดสาขลายังพบว่ามีสถานที่สำคัญต่างที่น่าสนใจอีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • พระปรางค์เอียงหรือเจดีย์เอียง เป็นองค์พระปรางค์เก่าแก่ ตั้งอยู่ริมคลอง มีขนาดความสูงประมาณ 13 วา โดยพระปรางค์นี้สร้างขึ้นภายหลังมีวัดแล้วคือในปีพ.ศ.2427 ซึ่งเมื่อก่อนนั้นไม่ได้เอนเหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน จนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ได้เกิดน้ำท่วม ทำให้พื้นดินลอยตัวอยู่บนโคลนนั้นเกิดการทรุดตัว องค์พระปรางค์เลยเกิดเอียงไปด้านตะวันตกราวๆ 15 องศา แต่หลังจากครั้งนั้นก็ไม่ได้เอียงเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้ลักษณะรูปแบบภายนอกโดยรวมของพระปรางค์องค์นี้คือ เป็นลักษณะทรงฝักข้าวโพด ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฐานทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนกลางของพระปรางค์ ทำเป็นซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรไว้ทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันแตกหักไปทำให้เหลือให้เห็นบนพระปรางค์เพียง 2 ด้านเท่านั้น ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่โดยรอบพระปรางค์ พบว่าได้มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบขึ้นใหม่ มีการกั้นกำแพงแก้วเป็นแนวสี่เหลี่ยมจตุรัสไว้โดยรอบ ตรงกลางเป็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่ มุมทั้ง 4 ของกำแพงแก้วประดับด้วยปรางค์ประจำทิศทั้ง 4 มีขนาดย่อมลงมา แต่ละด้านของกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเดิม เป็นทางเข้าสู่ลานประทักษิณารอบองค์พระปรางค์
  • พระอุโบสถ และ วิหาร พบว่าพระอุโบสถและวิหารแห่งนี้มีการสร้างอยู่ติดกันและมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เหมือนกันเกือบทั้งหมด กล่าวคือ ในส่วนหน้าบันนั้นจะประดับปูนปั้นเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนฐานตัวอาคารจะทำเป็นชุดฐานบัว 1 ชั้น ด้านหน้าและด้านหลังของวิหารและอุโบสถจะมีการสร้างบันไดทางขึ้นสู่ประตู ที่ผนังจะมีการสร้างสาติดผนังและที่ยอดของเสาแต่ละต้นจะมีการประดับบัวหัวเสา ที่หน้าต่างของทั้งวิหารและอุโบสถยังมีการสร้างซุ้มแบบทรงปราสาทยอด ที่โครงหลังคามีการสร้างเสาพะไลเพื่อรองรับหลังคาปีกนกและมีการประดับคันทวย รวมถึงบัวเสาที่เสาพาไล อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถาปัตยกรรมของอุโบสถและวิหารจะเหมือนกันเกือบหมดแต่ทว่าก็มีข้อแตกต่างเช่นกัน โดยอุโบสถและวิหารจะแตกต่างกันแค่ตรงหลังคา ซึ่งหลังคาวิหารจะสร้างเป็นหลังคาซ้อนชั้น แต่หลังอุโบสถนั้นไม่ได้สร้างซ้อนชั้นกัน นอกจากนี้ยังต่างกันที่อุโบสถจะมีใบเสมาที่ทำเป็นรูปพญานาคแผ่พังพานรายล้อมอยู่รอบอุโบสถอีกด้วย ทั้งนี้ภายในอุโบสถจะพิเศษกว่าวิหารตรงที่ว่าได้เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต ที่ชาวบ้านศรัทธาอย่างมากนั่นเอง
  • พิพิธภัณฑ์ใต้อุโบสถและวิหาร พบว่าอุโบสถและวิหารได้มีการบูรณะเมื่อปีพ.ศ.2551 จากเหตุน้ำท่วม ซึ่งการบูรณะนี้ได้ทำให้มีการยกตัววิหารและอุโบสถขึ้น ราว 3.5 เมตร ซึ่งระหว่างยกขึ้นทางวัดและชาวบ้านได้เจอของเก่าจำนวนมาก เช่น ลูกนิมิตโบราณ กรุพระต่างๆเป็นต้น ดังนั้นเมื่อยกตัววิหารและอุโบสถเรียบร้อยและมีช่องว่างด้านใต้วิหารและอุโบสถ ทางวัดจึงเห็นว่าจะนำของที่เจอเหล่านี้มาจัดแสดงโดยใช้ช่องว่างด้านใต้จากการยกอุโบสถที่มีนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ จึงมีการทำให้ต่อมาเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ใต้อุโบสถและวิหารขึ้นมาในบริเวณนี้ ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้มีการจัดแบ่งเป็นห้องๆเพื่อจัดแสดงของเก่าที่เจอระหว่างยกโบสถ์ รวมถึงของใหม่ที่นำเข้ามาให้พิพิธภัณฑ์นี้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งห้องต่างๆที่มีการแบ่งจัดแสดง อาทิเช่น ห้องพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ห้องพระสองพี่น้อง ห้องพระพุทธรูปศิลา ห้องลอยบัว เป็นต้น ทั้งนี้กล่าวว่าพิพิธภัณฑ์ใต้อุโบสถและวิหารนี้พบว่าทางวัดได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกวัน แต่คนที่เข้ามาจะต้องดูแลรักษาและไม่สร้างความเสียหายแก่ของต่างๆที่ทางวัดจัดแสดงด้วย
  • พิพิธภัณฑ์เทพศรีสาขลา อยู่บริเวณริมด้านข้างรอบนอกอาคาร ภายในห้องจะจัดแสดงเทวรูปตามความเชื่อของพราหมณ์ฮินดู และเทพต่างๆเช่น พระตรีมูรติ องค์พระพิฆเนศปางต่างๆ พระอิศวร(พระศิวะ) พญาครุฑ พระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นต้น
  • ห้องพระเกจิอาจารย์ เป็นห้องอยู่บริเวณริมด้านข้างรอบนอกอาคาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ส่วนด้านข้างเป็นตู้โชว์ จัดแสดงรูปปั้นขนาดเล็กของเกจิอาจารย์ต่างๆ มากมาย
  • พิพิธภัณฑ์รอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นอาคารไม้แบบเรือนไทยใต้ถุนสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499 ตั้งอยู่ถัดจากอาคารโบสถ์วิหาร ชั้นล่างเป็นห้องสมุดเล็กๆ ทางขึ้นมีบันไดอยู่ด้านหน้า ด้านบนเป็นที่เก็บพระพุทธรูปโบราณ และรอยพระพุทธบาทจำลอง
  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสาขลา เป็นอาคารปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ถัดจากพิพิธภัณฑ์รอยพระพุทธบาทจำลอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยพระปลัดสันทาน ธมฺมสนฺทโน เจ้าอาวาสวัด โดยภายในจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องหาปลา คบเพลิงขวด ตะเกียงแก๊ส อุปการณ์ทำนาเกลือ เช่นลูกระหัดวิดน้ำเข้านาเกลือ เป็นไม้ที่เป็นลูกมีใบพัด ใช้คู่กับกังหันลม มีลูกกลิ้ง ใช้กลิ้งพื้นนาให้พื้นเรียบ ไสแถว (คือกวาดเกลือออก) โอ่งเก่า ครกตำข้าว หินโม่แห้ง เขาและกระดูกสัตว์ พระพุทธรูปเก่า ตะเกียง กระจาด กระด้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงสิ่งของอันเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พระพุทธรูป (มีทั้งรูปแบบศิลปะอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะรัชกาลที่ 3) ที่บางส่วนเป็นวัตถุทีได้จากการก่อสร้างและขุดพบภายในวัด บางส่วนพบอยู่บนเพดานอุโบสถ และได้มาจากซุ้มจระนำของเจดีย์เก่า หีบพระคัมภีร์ หีบพระธรรม ลงรักปิดทอง และตะลุ่มไม้ลงรักปิดทอง ใบเสมาหิน กระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์เก่า (กระเบื้องกาบกล้วย) ภาชนะดินเผา อิฐแบบโบราณ และระฆังเก่าของวัด เป็นต้น
  • ศาลาเรือนไทยสาวกล้า เป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับองค์พระปรางค์ เป็นศาลาเรือนไทยทรงจตุรมุข ด้านหน้ามีสิงห์คู่แบบจีน ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เชิดชูวีรกรรมในการสู้รบกับพม่า ทั้งยังเป็นที่มาของคำว่า สาขลา ด้านในมีรูปปั้นสาวไทยถือสากตำข้าว อันเป็นตัวแทนบรรพบุรุษชาวสาขลา ซึ่งจะพบว่าชาวบ้านนิยมมาไหว้ขอพรที่รูปปั้นนี้อยู่เสมอ

2. พิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ ตั้งอยู่ในตัวตลาดบ้านสาขลา ก่อตั้งโดยคุณลุงประธาน แม้นเหลืองอ่อน ภายในจัดแสดง ซากสัตว์สต๊าฟ ซึ่งเป็นซากสัตว์ที่เป็นงานธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวของคุณลุงประธาน ทั้งนี้นอกจากซากสัตว์แล้วยังมีของเก่าหายาก เช่น ถ้วย จาน ชามโบราณ ธนบัตร พระพุทธรูป และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินของชาวบ้านสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นตะคร้อง สะลักแทงปู ตะเกียงแก๊ส ไห เป็นต้น ให้ได้ชมอีกด้วย โดยพิพิธภัณฑ์นี้สามารถเข้าชมได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

3. ตลาดโบราณสาขลา เป็นตลาดเก่าที่ตั้งอยู่ติดกับวัดสาขลา โดยตลาดแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2556 อันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันจากส่วนราชการ ท่านเจ้าอาวาสวัดสาขลา ผู้นำชุมชนสาขลาและชาวบ้านในชุมชนสาขลาที่ต้องการปักหมุดบ้านสาขลาให้เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกที่หนึ่งบนแผนที่การท่องเที่ยวของชุมชนสาชลา โดยภายในตลาดแห่งนี้จะพบว่ามีชาวบ้านมาขายสินค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านสาขลาที่ขึ้นชื่อและอาหารต่างๆมากมาย อย่างอาหารทะเลสด และอาหารทะเลแห้ง เช่น กะปิ กุ้งเหยียด น้ำปลา หอยหวาน หอยแครง อาหารสำเร็จรูปของคาว ของหวาน และสินค้าอื่นๆ อีกมาก

4. ปูรามเกียรติ์ เป็นศิลปะภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีฝีมือในการรังสรรค์ผลงานวิจิตรบรรจงง โดยการนำเอากระดองปูทะเลที่ทิ้งแล้วจากบริเวณชุมชนมาตากแห้ง จากนั้นนำมาเคลือบแล้วทำการวาดรูปรามเกียรติ์ลงบนกระดองปูให้สวยงาม ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ใม่ใช้แล้ว โดยปัจจุบันเป็นสินค้า OTOP 5 ดาว ของชุมชนสาขลาที่มีราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน

5. กุ้งเหยียด ถือเป็นภูมิปัญญาชาวประมงแห่งบ้านสาขลาและเป็นอาหารขึ้นชื่อประจำสาขลา โดยวิธีการทำกุ้งเหยียดของคนสาขลา คือ นำกุ้งขาวหรือกุ้งต่างๆ มาดัดหลังให้ตรง และเรียงใส่หม้อทีละชั้น อย่างเป็นระเบียบโรยน้ำตาลทราย และเกลือป่น ลงไประหว่างชั้นทับด้วยของหนัก เช่น เขียงไม้ ครกหิน เพื่อให้กุ้งเหยียดตรง ไม่งอตัว ก่อนจะไปต้มให้สุก ซึ่งเมื่อสุกดีแล้วก็จะกลายเป็นกุ้งเหยียด ปัจจุบันนี้กุ้งเหยียดได้ถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อที่สำคัญของชาวบ้านภายในชุมชนสาขลา โดยคนที่เข้ามาต่างมาซื้อกุ้งเหยียดเป็นของฝากกลับไปเสมอ

ภาษาพูดของชาวบ้านในพื้นนี้พบว่าเหมือนกับชาวบ้านภาคกลางทั่วไป เพียงแต่จะมีลักษณะเหน่อเหมือนภาษามอญหากพูดเร็ว และในคำศัพท์ที่พูดก็อาจมีแตกต่างจากภาคกลางไปบ้าง เช่น การเรียกชื่อของใช้ โอ่ง-โพล้, ตู้-ฮั้ว, ผ้าขาวม้า-ผ้ายี่โป, รั้ว-แตะ, ขนมจาก-ขนมผ่าง เป็นต้น นอกจากนี้คำลงท้ายของการพูดพบว่าชาวบ้านอาจมักมีการลงท้ายมีคำว่า “นิ” “เน๊อะ” “เงี๊ยะ”และ “ดี่”ในการพูด


แต่เดิมชุมชนสาขลาเป็นชุมชนลับแลหรือชุมชนปิดที่มีสัญจรเข้าออกชุมชนทางน้ำเท่านั้นแต่ต่อมาได้มีการตัดถนนจากถนนสุขสวัสดิ์เข้าไปถึงชุมชนบ้านสาขลา วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนจึงเปลี่ยนแปลงไปมาก พบมีการหันมาสัญจรด้วยรถยนต์กันมากขึ้น แม้ปัจจุบันนี้การสัญจรทางน้ำในชุมชนยังไม่หายไปเพราะยังมีคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนสัญจรทางน้ำอยู่เป็นปกติ แต่ทว่าในอนาคตคาดว่ามีแน้วโน้มที่การสัญจรทางน้ำนี้จะหายไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กีรติ นันทนาวัฒน์. (2557). การศึกษาวิเคราะห์รูปแบบศิลปกรรมวัดสาขลา อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ. การค้นคว้าอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร.

ทรูไอดี. (2562). บ้านสาขลา ที่เที่ยวสมุทรปราการ ชุมชนริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชิลได้ เช้าไปเย็นกลับ เที่ยวใกล้กรุงเทพ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/RvYqV2M9dEZv.

ไทยศึกษา. (2561). หมู่บ้านสาขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.thaistudies.chula.ac.th/2018/09/29/หมู่บ้านสาขลา/.

วงศ์วิภา โถสุวรรณจินดา. (2561). แนวทางการพัฒนาศักยภาพรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนบ้านสาขลา อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ราชภัฎพระนคร.

วัดสาขลา (พระปรางค์เอียง) ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://tourwatthai.com/watthai/wat-waterfront/watsakhla/.

วัดสาขลา ทำบุญ สักการะหลวงพ่อโต พระปรางค์เอียง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ceediz.com/th/travel/samutprakarn/sp/a/วัดสาขลา-สมุทรปราการ.1748/.

วิกิพีเดีย. (2565). บ้านสาขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/บ้านสาขลา.

ศิริวรรณ ยิ้มละมัย. (2546). วิถีชีวิตชาวบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสาขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จากhttps://db.sac.or.th/museum/museum-detail/331.

สนุกดอทคอม. (2562). หมู่บ้านสาขลา แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์อายุกว่า 200 ปี สัมผัสวิถีชุมชนริมน้ำ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sanook.com/travel/1412131/.

สัมผัสประวัติศาสตร์ ดื่มด่ำธรรมชาติ ตามหาแผ่นดินที่หายไปใน “บ้านสาขลา”. (2556). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9560000150342.

สิรินาถ เรืองชีวิน. (2542). แนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย: กรณีศึกษาชุมชนบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์เคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไป. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.nakluea.go.th/?p=3549.

“ชิมกุ้งเหยียด” บ้านสาขลา จ.สมุทรปราการ. (2560). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://unseentourthailand.com/2017/10/11/sakla/.