ชุมชนกว่าแก่อายุกว่า 200 ปี ภายในชุมชนแห่งนี้โดดเด่นในการทำเหมี้ยงที่เป็นใบชามาตั้งแต่อดีต เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน ทั้งนี้ด้วยตัวชุมชนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม โดยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนและชุมชนเองก็มีการเปิดการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน มีโฮมสเตย์ มีกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้จึงมักมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักและมาชื่นชมความสวยงามในชุมชนนี้อยู่เสมอ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลำปาง
ชื่อชุมชนมาจากเหมี้ยงซึ่งเป็นใบชาหมัก โดยชุมชนแห่งนี้มีการปลูกเหมี้ยงและทำเหมี้ยงกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่อดีต ดังนั้นชื่อชุมชนจึงมาจากการทำเหมี้ยงของชาวบ้านในชุมชน
ชุมชนกว่าแก่อายุกว่า 200 ปี ภายในชุมชนแห่งนี้โดดเด่นในการทำเหมี้ยงที่เป็นใบชามาตั้งแต่อดีต เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน ทั้งนี้ด้วยตัวชุมชนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม โดยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนและชุมชนเองก็มีการเปิดการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน มีโฮมสเตย์ มีกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้จึงมักมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักและมาชื่นชมความสวยงามในชุมชนนี้อยู่เสมอ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลำปาง
หมู่บ้านป่าเหมี้ยงหมู่ที่ 7 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง จากการบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้านป่าเหมี้ยงนำโดย "พ่อหลวงหวัน ข้อมือเหล็ก" กล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในหมู่บ้าน ว่ามีประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว โดย "หลวงธิกับหลวงเครื่อง" ซึ่งเป็นชาวน่าน เป็นพวกแรกที่เข้ามา สมัยนั้นมีชาวบ้านประมาณ 25 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนจากหลายเชื้อชาติและหลายพื้นที่ เช่น คนเมือง (คนลำปาง) ขมุ (จากลาว) ม่าน (เงี้ยว) น่าน ฯลฯ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนเหล่านี้ขึ้นมาอยู่ที่บ้านป่าเหมี้ยงในช่วงแรก ๆ นั้น สันนิษฐานว่าอาจมีสาเหตุประมาณ 2 ประการ คือ การหนีการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในช่วงเกิดสงครามหรือหนีการเก็บภาษี 4 บาท ในสมัยก่อน (ในอดีตมีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติการเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ.119" ให้ชายฉกรรจ์อายุ 18-60 ปีเสียเงินปีละ 4 บาท แทนการถูกเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วย ผู้ไม่เสียต้องทำงานแทน 20 วันส่วนไพร่ที่ถูกมูลนายเกณฑ์ให้ทำงานปีละ 1-4 เดือน ก็ให้ยกเลิก ส่วนทาสก็ต้องเสียเงินรายปีรายละ 4 บาท เช่นกัน ภายใต้กฎหมายฉบับนี้บุคคลถูกยกเว้น 4 พวก คือเจ้านายบุตรหลานข้าราชการ ภิกษุลามเณร และคนพิการ) นอกจากนี้ในอดีตช่วงแรกเนื่องจากตัวชุมชนอยู่ในป่าเขาทำให้ชุมชนแห่งนี้จึงมีชาวเผ่าม้งอยู่อาศัยด้วย แต่ทว่าด้วยชาวม้งเหล่านี้นิยมปลูกฝิ่นต่อมาจึงถูกหน่วยงานราชการเข้ามาปราบปราม ส่งผลให้ชาวม้งต้องอพยพออกไปจากชุมชน
ทั้งนี้ในช่วงแรกหลังการตั้งชุมชนของผู้คนต่าง ๆ เหล่านี้ ได้หักไร่ถางพงและประกอบอาชีพในการทำข้าวไร่กัน ต่อมาเนื่องด้วยธรรมชาติของชุมชนมีต้นชาขึ้นชุกชุม ในช่วงหลังจึงมีชาวบ้านจากตำบลแจ้ซ้อนขึ้นมาบุกเบิกและปลูกต้นชาเพื่อนำมาหมักเป็นเหมี้ยงและจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไป จากอาชีพการทำเหมี้ยงซึ่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี ต่อมาคนเหล่านี้จึงมีการอพยพครอบครัวขึ้นมาตั้งรกรากปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นการถาวร โดยอยู่ร่วมเป็นชาวบ้านกับคนกลุ่มดั้งเดิมภายในชุมชน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ป่าเหมี้ยง" กล่าวได้ว่าการประกอบอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนจึงมีทั้งชาวบ้านที่ทำข้าวไร่และมีทั้งชาวบ้านที่ทำการปลูกสวนเมี่ยง ซึ่งต่อมาเมื่อการทำสวนเมี่ยงได้รายได้ดีชาวบ้านดั้งเดิมที่ทำข้าวไร่ส่วนหนึ่งได้เห็นจึงหันเปลี่ยนมาทำสวนเมี่ยงกันมากขึ้น
ในปี พ.ศ.2520 ช่วงนั้นประเทศไทยได้มีปัญหาทางการเมือง มีชาวคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปหลบซ่อนตัวตามที่ต่าง ๆ ทางการซึ่งกลัวว่าป่าเหมี้ยงจะเป็นที่หลบซ่อนตัวของคนเหล่านี้จึงได้มีการตัดถนนเข้าบ้านป่าเหมี้ยงเพื่อดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการตัดถนนนี้ได้ทำให้ชาวบ้านชุมชนป่าเหมี้ยงขยับบ้านเรือนของตนจากอยู่ริมสวนเมี่ยงหรือลุ่มแม่น้ำมาอยู่บริเวณริมถนนมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2531 ทางราชการได้ประกาศให้พื้นที่บริเวณของชุมชนป่าเมี่ยงและใกล้เคียง เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนและมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงห้ามล่าสัตว์และหาของป่า ซึ่งหลังการประกาศนี้ทางการได้มีการจัดและจำกัดพื้นที่ใช้สอยในเขตชุมชนเพื่อไม่ให้บุกรุกพื้นที่ป่าด้วย โดยการที่ทางการเปลี่ยนพื้นที่บริเวณชุมชนเป็นเขตป่าอนุรักษ์นี้จะพบว่าได้ส่งผลกับชาวชุมชนอย่างมาก เพราะทำให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป กล่าวคือ การที่ทางการมีการจำกัดพื้นที่ใช้สอยรวมถึงออกกฎห้ามบุกรุกใช้พื้นที่ป่านี้ส่งผลให้ชาวบ้านมีพื้นที่น้อยลงในการประกอบอาชีพทำข้าวไร่ จนท้ายที่สุดไม่สามารถมีเพียงพอที่จะทำข้าวไร่ได้ ชาวบ้านจึงต้องเลิกประกอบอาชีพทำข้าวไร่ที่เป็นอาชีพดั้งเดิมที่เคยมีมา นอกจากนี้การหาของป่าและการตัดไม้ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับวิถีของชาวบ้านในชุมชนนี้ก็ต้องหายไปเพราะถือว่าได้กลายเป็นสิ่งที่กระทำแล้วผิดกฎหมาย กล่าวได้ว่าชุมชนป่าเมี่ยงหลังการที่พื้นที่ชุมชนอยู่ในเขตอนุรักษ์ป่านั้น ชาวบ้านต้องมีการดำเนินชีวิตใหม่ที่ต้องปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์อย่างระมัดระวัง เพื่อให้ไม่กระทบกับพื้นที่ป่าโดยรอบที่มีข้อกฎหมายควบคุมอยู่ ซึ่งแม้ช่วงแรกจะยากอย่างมากมากแต่ต่อมาชาวบ้านก็สามารถดำเนินชีวิตกับกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ต่อมาเมื่อนโยบายภาครัฐได้มีการส่งเสริมให้อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดขึ้น ทำให้อุทยานจึงมีการประสานงานชุมชนแห่งนี้เพื่อร่วมจัดการการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งชุมชนได้มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ต่าง ๆ ร่วมกับอุทยานโดยนำตัวชุมชนอยู่ในแผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย ทำให้ไม่นานนักชุมชนป่าเมี้ยงแห่งนี้จึงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งของผู้คนจำนวนมากเดินทางเข้ามา ซึ่งชุมชนเองก็มีการรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเหล่านี้เช่นกัน โดยมีโฮมสเตย์ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ลองทำ มีอาหารให้ลองชิม มีของต่าง ๆ ขาย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้การท่องเที่ยวชุมชนโดดเด่นมากขึ้น จุดนี้ทำให้ในปัจจุบันชุมชนป่าเมี้ยงจึงมักอยู่ในแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความเป็นธรรมชาติและวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไม่น่าเบื่อนั่นเอง
ชุมชนป่าเหมี้ยง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 7 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง โดยพื้นที่ของชุมชนอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตัวชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 1,369 ไร่ ทั้งนี้บ้านป่าเหมี้ยงอยู่ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแจ้ซ้อน ประมาณ 25 กิโลเมตร.และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองปาน ประมาณ 34 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่แจ๋ม หมู่ที่ 1 ตำแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านดอนไชย หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านศรีดอนมูล หมู่ที่ 2 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านป่าเหมี้ยงส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นป่าดิบเขาตั้งอยู่ช่องเขาบนพื้นที่สูง โดยมีภูเขาล้อมรอบทางสันปันน้ำทิศตะวันออกของเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตกซึ่งทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ เป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่ มียอดเขาสูงสุดคือ ดอยล้าน ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,830 เมตร พื้นที่โดยเฉลี่ยของบ้านป่าเหมี้ยง มีความสูงประมาณ 1,010 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดลำห้วยใหญ่ๆ ได้แก่ แม่น้ำแม่ปานหลวงและแม่น้ำแม่ปานน้อยซึ่งไหลจากขุนแม่ปานและแม่น้ำแม่กะ มาบรรจบที่ปางแม่กะใต้กลายเป็นแม่น้ำสายเดียว แล้วไหลต่อไปลงสู่แม่น้ำแม่วังซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดลำปาง
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศ โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ฤดู คือ
- ฤดูฝน จะมีลมพัดมาจากทางตอนใต้ของหมู่บ้านในระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นเหมาะสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อน
- ฤดูร้อน ลมจะพัดมาจากทางใต้ของหมู่บ้านในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน แต่เนื่องจากหมู่บ้านป่าเหมี้ยงตั้งอยู่บนภูเขาสูงและพื้นที่เป็นลักษณะป่าดิบเขามีป่าไม้คลุมมากจึงทำให้อากาศเย็นสบาย ตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 26 องศาเซลเซียส โดยต่ำสุดที่ 7 องศาเซลเซียสและสูงสุดที่ 36 องศาเซลเซียส
การเดินทางเข้าสู่ชุมชน
การเข้าถึงหมู่บ้านป่าเหมี้ยง มีเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้าน จำนวน 2 เส้นทาง
- เส้นทางที่ 1 เดินทางโดยรถส่วนตัว จากตัวเมืองมาประมาณ 60 กิโลเมตรถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จากนั้นจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนเป็นระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตรจะถึงหมู่บ้านป่าเหมี้ยง โดยเส้นทางจะเป็นทางลาดยาง 6 กิโลเมตร และทางคอนกรีตอีก 10 กิโลเมตร ลัดเลาะตามภูเขาสูงใช้เวลาประมาณ 30 นาที
- เส้นทางที่ 2 เดินทางโดยรถส่วนตัว จากตัวเมืองเชียงใหม่มาตามเส้นทาง ตำบลห้วยแห้ว กิ่งอำเภอแม่ออน ผ่านบ้านแม่กำปองเข้ามายังบ้านป่าเหมี้ยง โดยเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างชันและแคบแต่เส้นทางระยะทางจะสั้นกว่า
ชุมชนป่าเหมี้ยงมีจำนวนประชากรรวม 416 คน เป็นชาย 221 คน เป็นหญิง 195 คน และมีจำนวนครัวเรือน 216 ครัวเรือน
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านภายในชุมชนส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพหลักคือการทำสวนเมี่ยง โดยทุกหลังคาเรือนจะมีสวนเมี่ยงเป็นของตนเอง เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 10 ไร่ โดยชาวบ้านรายบุคคลจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท นอกจากทำสวนเมี่ยงแล้วบางรายมีอาชีพเสริม ทั้งการทำโฮมสเตย์ การขายสินค้าต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
ระบบเครือญาติ
ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยงมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ สังเกตได้จากนามสกุลอย่าง “ไทยใหม่” และ “ข้อมือเหล็ก” ที่มีการใช้กันหลายครอบครัว โดยหากมีการสืบไปถึงบรรพบุรุษจะพบว่าส่วนใหญ่จะเกี่ยวดองกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากลักษณะบ้านเรือนที่มีการปลูกใกล้ชิดกันและไม่มีรั้วกันเขตชัดเจนอันเป็นลักษณะบ้านของคนที่มักเป็นกลุ่มเครือญาติกัน กล่าวได้ว่าการที่ชุมชนป่าเหมี้ยงมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาตินี้ จึงทำให้ภายในชุมชนค่อนข้างมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและมีความร่วมมือทำสิ่งต่าง ๆ ภายในชุมชนกันเป็นอย่างดี
ชุมชนป่าเหมี้ยงพบว่ามักมีการรวมกลุ่มกันแบบทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงกลุ่มอาชีพขึ้นมา ดังนี้
กลุ่มทางการ
กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านป่าเหมี้ยง กลุ่มนี้มีนายประสิทธิ์ เหรียญทอง เป็นประธานกลุ่ม โดยกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนและเพื่อประสานงานกับทั้งอุทยานแห่งชาติซ้อนแจ้ รวมถึงกลุ่มไม่เป็นทางการต่าง ๆ ภายในชุมชนเพื่อจัดการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว โดยกลุ่มนี้จะมีกำหนดประชุมกันเดือนล่ะ 1 ครั้งภายในกลุ่ม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าร่วมด้วยและเมื่อได้ข้อสรุปประชุมต่าง ๆ ก็จะมีการนำผลที่ได้ไปเข้าร่วมประชุมหมู่บ้านอีกทีจนได้ข้อกำหนดต่าง ๆในการจัดการท่องเที่ยวแต่ละปีของชุมชน
กลุ่มไม่เป็นทางการ
กลุ่มโฮมสเตย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานแจ้ซ้อน มี ศุภชัย รักวงศ์ เป็นประธาน ระยะแรกมีสมาชิกจำนวน 8 หลัง ต่อมาได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 14 หลัง โดยกลุ่มนี้จะแล้วแต่ความสมัครใจของชาวบ้านที่จะร่วม ซึ่งชาวบ้านที่ร่วมส่วนใหญ่ก็เพื่อหารายได้เสริม ทั้งนี้การดำเนินงานของกลุ่มนี้พบว่าผู้จัดการหรือประธานกลุ่มนี้จะรับการติดต่อจากนักท่องเที่ยวในการเข้ามาพักจากนั้นก็จะกระจายนักท่องเที่ยวไปตามบ้านสมาชิกกลุ่มที่เข้าร่วมต่าง ๆ โดยเรียงลำดับรายชื่อของบ้านพักหมุนเวียนกันไปจนครบทุกหลัง
กลุ่มอาชีพ
กลุ่มจักสาน ประธานกลุ่มคือ นายเตี๋ยม ปวงสายใจ มีสมาชิกจำนวน 11 คน ด้านกิจกรรมของกลุ่มคือฝึกหัดให้สมาชิกมีความสามารถในการจักสาน โดยใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านสามารถใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ซ่า เป๊อะ แจ้ก (ภาชนะใส่ของ) ทอต่าง (ภาชนะที่เอาไว้ใส่เมี่ยงที่หมักแล้ว) น้ำคอก (กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำกิน) ไม้กวาด หมวกและตะกร้าขนาดต่าง ๆ นอกจากผลิตภัณฑ์จักสานที่ทำจากไม้ไผ่แล้ว ทางกลุ่มยังสามารถสานเสื่อตองหรือสาด สามารถใช้งานได้ทนทานและเมื่อนำมาใช้ปูนอนจะรู้สึกเย็นสบาย ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้สามารถจัดจำหน่ายได้ทั้งภายในหมู่บ้านและสำหรับผู้ที่มาชมหมู่บ้าน
กลุ่มสมุนไพรพื้นบ้าน ประธานกลุ่มคือ นายยอด ต๊ะคำ มีสมาชิกจำนวน 3 คน ด้านกิจกรรมของกลุ่มคือการปลูกพืชสมุนไพรและจัดเก็บพืชสมุนไพรกายในหมู่บ้านและในป่ามาทำเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อจัดจำหน่าย ซึ่งบ้านป่าเหมี้ยงมีพืชสมุนไพรอยู่หลายชนิด เช่น ฟ้าทลายโจร พญาเสือโคร่ง รางจืด หอมด่วน แส้ม เป้าน้อย เป้าหลวง ต้นขอ ม้ากะทืบโรง รากเดือยเห็น เสลดพังพอน ต้นครั่ง ปะคำดีกวาย สรพิษคำ สามารถนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆได้
กลุ่มการทำเมี่ยง ประธานกลุ่มคือ นายธวัช คำมุงเมือง และทุกหลังคาเรือนจะเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ โดยมีกิจกรรมที่ประกอบเป็นอาชีพหลักทุกหลังคาเรือนได้แก่ การทำเมี่ยงแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่ ปลูกต้นเมี่ยง เก็บใบเมี่ยงเพื่อนำไปแปรรูปเป็นใบชาตากแห้งรวมถึงเมี่ยงหมัก เพื่อจัดจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้าน
กลุ่มทำเห็ดหอม ประธานกลุ่มคือ นายศุภชัย รักวงศ์ มีสมาชิกจำนวน 28 คนและกิจกรรมกลุ่มคือการเพราะปลูกเห็ดหอม ด้วยไม้ก่อ เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นสบายของบ้านป่าเหมี้ยงจึงเหมาะแก่การเพาะเห็ดหอมและสามารถเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่ายได้เกือบตลอดปี แต่ในระยะหลังไม้ก่อเริ่มหายากจึงทำให้การเพาะปลูกเห็ดหอมมีผลผลิตที่ลดลง
กลุ่มแม่บ้าน ประธานกลุ่มคือนางทรายคำ เหรียญทอง สมาชิกได้แก่ แม่บ้านของทุกหลังคาเรือน เป็นกลุ่มการการผลิตแปรรูปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในหมู่บ้าน ได้แก่ การนำเห็ดหอมมาประกอบเป็นอาหาร เช่น ไส้อั่วเห็ดหอมน้ำพริกเผาเห็ดหอม และการนำดอกเสี้ยวมาประกอบเป็นอาหารเช่น ขำดอกเสี้ยว น้ำพริกหนุ่มกับดอกเสี้ยวลวก รวมถึงการนำใบเมี่ยงมาประกอบเป็นอาหารและอาหารว่าง เช่น ส่าใบเมี่ยงเมี่ยงสามรส และนอกจากนี้ยังมีการนำใบเมี่ยงไปตากแห้งหรือที่เราเรียกกันว่าใบชามาทำเป็นหมอนใบชาเพื่อไปจำหน่ายยังนอกชุมชน ทั้งนี้กลุ่มแม่บ้านยังพบว่าเป็นแกนนำในการสืบสานวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง เช่น การฟ้อนเล็บ การฟ้อนเก็บเมี่ยงอีกด้วย
วิถีชีวิต
วิถีชีวิตของคนในชุมชนป่าเมี่ยงก่อนปี พ.ศ. 2531 จะพบว่าชาวบ้านมีการทำมาหากินกับการทำเมี่ยง โดยตื่นเช้ามาชาวบ้านก็จะออกไปสวนเมี่ยงเพื่อเก็บใบเมี่ยง โดยบางคนอาจไปเก็บคนเดียว ในขณะที่บางคนอาจออกไปกับลูกและภรรยาพอตอนเย็นก็จะเอาใบเมี่ยงที่ได้มานึ่ง พอนึ่งเสร็จก็นำมามัด แล้วเอาไปขาย ชาวบ้านจะทำเมี่ยงไปถึงประมาณเดือนธันวาคม พอถึงช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมช่วงนี้จะไม่มีเมี่ยงออกชาวบ้านก็จะหันไปเก็บไม้มาจักตอก (สำหรับมัดเมี่ยง ตีหลัว (ทำฟืน) และเข้าไปหาของป่ามาเพื่อบริโภค โดยการหาของป่านั้นถ้าเป็นพวกพืช ผักและผลไม้กี่จะไปเก็บคนเดียว ส่วนสัตว์ป่าถ้าเป็นสัตว์เล็กจำพวก กระรอก อีเห็น ก็มักจะไปล่าคนเดียว แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่อาทิเช่น หมู่ป่า ก็จะไปกันเป็นกลุ่ม พอถึงประมาณเดือนเมษายน ชาวบ้านที่บ้านป่าเหมี้ยงก็จะมีการไปตีผึ้งกัน หลังจากเดือนเมษายน ชาวบ้านก็จะเริ่มเก็บเมี่ยงกันอีกเก็บไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงที่เมี่ยงไม่ออกชาวบ้านก็จะเข้าป่าไปหาไม้มาจักตอก และเก็บของป่ามาบริโภคอีก กล่าวว่าวิถีชีวิตลักษณะนี้พบว่าได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งภายหลังปี พ.ศ. 2531 เมื่อพื้นที่ป่าทั้งหมดของชุมชนป่าเหมี้ยงถูกประกาศอยู่ในพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนวิถีชีวิตบางประการที่เหล่านี้จึงได้เปลี่ยนไป โดยเนื่องด้วยกฎหมายที่ควบคุมผืนป่าและสัตว์ป่า รวมไปถึงของป่า ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปในป่าเพื่อเก็บของป่าหรือล่าสัตว์ได้ ดังนั้นช่วงที่ว่างจากการเก็บเหมี้ยงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยต้องไปเข้าป่าก็หายไป เหลือเพียงการเก็บจักตอกและตีหลัวที่ทำในสวนเหมี้ยงเท่านั้น ส่วนการตีผึ้งแม้วิถีชีวิตยังอยู่แต่ก็พบว่าชาวบ้านทำได้เพียงตีผึ้งที่อยู่ในสวนเมี่ยงตน ส่วนผึ้งที่อยู่ในป่าก็ไม่สามารถเข้าไปตีได้ อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมหลังพ.ศ. 2531 วิถีชีวิตบางประการดั้งเดิมที่เคยมีได้ยกเลิกไป โดยแม้ชาวบ้านยังคงต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมต่อแต่ก็ต้องลดทอนวิถีชีวิตบางประการที่ไม่สามารถทำได้แล้วออกไป ซึ่งลักษณะวิถีชีวิตที่เป็นอย่างนี้ได้สืบมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2531จวบจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
พบว่าเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธชาวบ้านชุมชนป่าเหมี้ยงที่ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ จะปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญต่าง ๆ ที่วัดบ้านป่าเหมี้ยงอยู่ตลอด ทั้งนี้ในชุมชนแห่งนี้ยังพบว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่บ้านคือ ในวันพระชาวบ้านจะหยุดเก็บเหมี้ยงและจะไปทำบุญที่วัด เนื่องเพราะมีความเชื่อว่าถ้าเก็บใบเหมี้ยงในวันพระต้นเหมี้ยงจะตาย หรือ เจริญเติบโตช้าไม่สมบูรณ์หรือบ้างก็ว่าเป็นการงดทำบาปจากการเก็บใบเหมี้ยง แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วอาจเป็นการสร้างกลอุบายในสมัยก่อนที่สร้างเพื่อจะให้ในวันพระมีชาวบ้านไปทำบุญและประกอบพิธีทางรวมถึงอาจเป็นกลอุบายเพื่อคนที่ไปทำบุญที่วัด ในตอนเซ้ามีเวลาจัดเตรียมอาหารไปทำบุญโดยไม่ต้องรีบเร่งไปทำงานในสวนเหมี้ยง อีกทั้งอาจสร้างกลอุบายให้ชาวบ้านจะได้หยุดพักผ่อนอยู่บ้านบ้างนั่นเอง
ปฎิทินชุมชนป่าเหมี้ยงในรอบปี
เดือน | เดือน (พื้นเมือง) | ประเพณีที่สำคัญและกิจกรรมต่าง ๆ |
มกราคม | สี่เป็ง | ทานข้าวจี่, ทำบุญข้าวใหม่, งานวันเด็ก |
กุมภาพันธ์ | ห้าเป็ง | เทศกาลวันดอกเสี้ยวบาน (โดยงานนี้เริ่มครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) |
มีนาคม | หก | ตีผึ้ง, ตีหลัว, จักตอก (สำหรับไว้กำเหมี้ยง) |
เมษายน | เจ็ด | เทศกาลปีใหม่ (สงกรานต์) ในเทศกาลนี้จะมีการรดน้ำดำหัว, ขนทรายเข้าวัดป่าเหมี้ยง, สรงน้ำพระเลี้ยงผีปู่ย่า |
พฤษภาคม | แปด | เก็บเหมี้ยง |
มิถุนายน | เก้า | บุญเดือนเก้า, บุญบ้องไฟ (จิ๊บอกไฟ) |
กรกฎาคม | สิบ | เข้าพรรษา |
สิงหาคม | สิบเอ็ด | วันแม่ (ในงานวันแม่นี้พัฒนาหมู่บ้านจะมีการจัดการแข่งขันกีฬาของนักเรียนและกลุ่มแม่บ้านภายในชุมชน) |
กันยายน | สิบสองเป็ง | ตานเมี่ยง (แทนตานก๋วยสลาก โดยเป็นการใช้เมี่ยงทำบุญที่วัดหรือนำเหมี้ยงไปขายและนำเงินเข้าวัดนั่นเอง) |
ตุลาคม | เกี๋ยง | ออกพรรษา |
พฤศจิกายน | ยี่ (เป็ง) | แห่โคมสาย (แห่จากบ้านปางใต้จนถึงวัด), ลอยกระทง |
ธันวาคม | สาม | วันพ่อ, พัฒนาหมู่บ้าน |
ทุนทางวัฒนธรรม
วัดป่าเหมี้ยง แต่เดิมชื่อ วัดศรีบุญชุม อันมีความหมายว่าวัดที่มีคนหลายหมู่บ้านมาทำบุญ สาเหตุที่มีความหมายนี้เพราะในอดีตมีคนหลายๆแห่งอพยพขึ้นมาอยู่หมู่บ้านนี้และมาร่วมทำบุญที่วัดแห่งนี้ ต่อมาชื่อวัดได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าเหมี้ยงตามชื่อหมู่บ้าน ทั้งนี้วัดป่าเหมี้ยงพบว่าถือเป็นศูนย์รวมจิตรใจของชาวบ้าน รวมถึงเป็นศาสนาที่ประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆของชุมชนนี้ ทั้งนี้สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้พบว่าที่โดดเด่นที่สุดคืออุโบสถที่สวยงามมาก มีรูปแบบงานกลิ่นอายศิลปะภาคเหนือ ทั้งที่ผนังของอุโบสถภายนอกจะมีงานจิตรกรรมที่วาดเกี่ยวกับธรรมชาติและวัดอย่างวิจิตรสวยงาม นอกจากนี้ที่หอระฆังของวัดยังพบการก่อสร้างคล้ายเจดีย์อยู่บนยอดของหอระฆังทำให้รูปทรงของหอระฆังดูแปลกตาอย่างมากอีกด้วย
เหมี้ยงชุมชนป่าเหมี้ยง พบว่าเหมี้ยงถือเป็นภูมิปัญญาแปรรูปที่สืบทอดทำมาอย่างยาวนานของชุมชนแห่งนี้ โดยชุมชนป่าเหมี้ยงมีชื่อเสียงที่สุดในการทำเหมี้ยงและเป็นแหล่งที่ทำเหมี้ยงใหญ่ที่สุดที่ทำเหมี้ยง ซึ่งจะพบว่าเหมี้ยงของชุมชนแห่งนี้ขึ้นชื่อว่ารสชาติอร่อยกว่าเหมี้ยงในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงมีคุณภาพดีกว่าที่อื่นๆจนเป็นที่ต้องการของตลาดในภาคเหนืออย่างมากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การทำเหมี้ยงของชุมชนแห่งนี้จะมีวิธีการคือ อันดับแรกชาวบ้านจะมีการเก็บใบชาแต่ก่อนจะเก็บจากป่าแต่ปัจจุบันจะเก็บจากสวนของชาวบ้านปลูกเอง โดยการเก็บชาวบ้านจะเก็บจากต้นชาพันธุ์อัสสัม ซึ่งชาวบ้านจะเลือกใบชาที่มีความแก่สม่ำเสมอจากนั้นจะใช้ปอก (ทำจากแผ่นสังกะสีม้วนใส่ที่ปลายนิ้ว โดยปลายปอกจะมีการติดใบมีดโกนเอาไว้) ตัดที่ใบตามยอด โดยการตัดจะเว้นก้านใบเอาไว้อย่างระวังเพื่อให้ใบเหมี้ยงได้หายใจไม่อย่างนั้นรอบต่อไปเหมี้ยงจะไม่แตกยอดอีก ชาวบ้านจะเน้นเก็บยอดสามใบแรกเท่านั้นและไม่เก็บยอดอ่อนเหมือนการทำชา เมื่อเก็บใบเหมี้ยงได้จำนวนนึงชาวบ้านจะใช้ตอกมัดรวมไว้เป็นกำๆ เมื่อได้จำนวนที่พอเหมาะชาวบ้านก็จะกลับไปที่เรือนตนและเข้าสู่การทำหมัก โดยชาวบ้านจะนำมัดเหมี้ยงแต่ละมัดที่เก็บได้มานึ่งในไหเหมี้ยงที่ทำจากไม้มะเดื่อหรือไม้เนื้อแข็ง เมื่อนึ่งจนสุกใบเหมี้ยงจะเป็นสีเหลือง จากนั้นชาวบ้านจะนำใบเหมี้ยงมาวางเรียงบนเสื่อผิวไม้ไผ่ เมื่อเหมี้ยงเย็นตัวก็จะนำไปเรียงในเข่งที่ที่มีถุงครอบเมื่อเรียงเรียบร้อยจะปิดปากถุงโดยระวังไม่ให้อากาศเข้า จากนั้นทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วนำเหมี้ยงไปหมักไว้อีก1-3 เดือน เมื่อเหมี้ยงได้ที่ก็จะนำออกมาขายได้ ทั้งนี้ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยงจะมีการขายเหมี้ยงทั้งส่งขายภายนอกแก่ตลาดต่างๆที่รับซื้อ รวมถึงขายเป็นผลิตภัณฑ์ภายในให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนป่าเหมี้ยงอีกด้วย
การฟ้อนรำเก็บเมี่ยง พบว่าการฟ้อนรำเก็บเหมี้ยงเป็นท่ารำที่นางอุไร เหรียญทองและนางทรายคำ เหรียญทอง ซึ่งเป็นประธานกลุ่มแม่บ้านเป็นผู้ประดิษฐ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการใช้แสดงในงานรื่นเริงของชุมชนและเพื่อใช้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนเกี่ยวกับการเก็บเหมี้ยงแก่คนภายนอก โดยท่าฟ้อนเก็บเหมี้ยงนี้ ประกอบไปด้วย 10 ท่ารำ ได้แก่
- ท่าหน่องเมี่ยง (แสดงถึง ท่าทางการโน้มกิ่งเหมี้ยง)
- ท่าทางเก็บใบเมี่ยง (แสดงถึง ท่าทางการเก็บใบเมี่ยง)
- ท่าเปาะใบเมี่ยง (แสดงถึง ท่าทางการนำใบเมี่ยงมารวมกัน)
- ท่ามัดใบเมี่ยง (แสดงถึง ท่าทางการนำใบเมี่ยงมามัดรวมกัน)
- ท่าโยนใส่แจ่ก (แสดงถึง ท่าทางการโขนมัดใบเมี่ยงใส่ภาชนะคล้ายตะกร้า)
- ท่าเดินกลับ (แสดงถึง เมื่อเก็บใบเมี่ยงเสร็จ ก็เดินทางกลับบ้าน)
- ท่าเช็ดเหงื่อ (แสดงถึง ความเหดเหนื่อยหลังจากการกลับจากเก็บใบเมี่ยง)
- ท่านั่งล้อมมัดเมี่ยง (แสดงถึง ขั้นตอนการนั่งล้อมมัดเมี่ยงหลังจากนึ่งเสร็จแล้ว)
- ท่าพักผ่อนนอนหลับ (แสดงถึง หลังจากทำงานเสร็จก็พักผ่อนนอนหลับ)
- ท่าตบกระเป๋า (แสดงถึง ความยินดีที่มีรายได้จาการขายเมี่ยง)
กล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้ท่ารำเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาและเป็นทุนอย่างหนึ่งของชุมชนที่สำคัญ ที่ชาวบ้านต้องเก็บรักษาให้ดี เพราะท่ารำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดให้เห็นวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวบ้านให้ออกมาให้เข้าใจง่ายขึ้นผ่านการใช้ศิลปะการแสดงที่โดดเด่น ซึ่งในอนาคตคาดว่าท่ารำเหล่านี้จะเป็นท่ารำที่ไม่ว่านำไปฟ้อนรำที่ไหนบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนป่าเหมี้ยงได้ด้วยนั่นเอง
ทุนทางกายภาพ
พบว่าชุมชนป่าเหมี้ยงถือเป็นชุมชนหนึ่งที่มีทุนทางกายภาพอย่างมากเพราะตัวชุมชนตั้งอยู่กลางป่าเขตอนุรักษ์ กล่าวคือ สภาพภูมิประเทศของชุมชนป่าเหมี้ยงที่อยู่ในที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีป่าไมั สัตว์ป่าและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่นไม่เหมือนที่อื่น สภาพป่าประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และบำเบญจพรรณ ป่าแต่ละชนิดจะขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ตามความสูงของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง ไม้ก่อ สนสองใบ สนสามใบ ประดู่ ฯลฯ และที่สำคัญ กฤษณา หรือ ปอแต ที่ชาวบ้านเรียกกันก็ขึ้นอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและหลากหลายชนิดคลอดจนระดับความสูงที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าด้วย ซึ่งในอดีตมีอย่างชุกชุมมาก ปัจจุบันพบเห็นประกอบด้วย เก้ง กระจง หมู่ป่า เลียงผา กระต่ายป่า กระรอก กระแต บ่าง และนกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดอยล้าน มีแหล่งที่เป็นถิ่นที่อยู่ของหมีด้วย
ทั้งนี้นอกจากพันธุ์พืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์ป่านานาชนิดแล้ว บ้านป่าเหมี้ยงยังมีแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามอีกหลายแห่งได้แก่ ดอยพระบาทและดอยล้าน ที่มีทัศนียภาพอันสวยงาม อากาศที่แสนบริสุทธิ์สัมผัสกับบรรยากาศบนยอดดอยที่มีเสน่ห์ให้น่าหลงใหล พอตกขามเย็นก็จะเห็นแสงทองของพระอาทิตย์ที่สาดส่องกำลังจะลาลับขอบฟ้าสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้มาเยือน นอกจากนี้ยังมีน้ำตกตาดเฮียะและน้ำตกตาดวัด ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีความสูงลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ สภาพป่าโดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ควรกู่กับการเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่ปานและอีกสิ่งหนึ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาให้พื้นที่แหล่งนี้ได้รับความน่าสนใจก็คือ ต้นเสี้ยวปา หรือ ต้นเสี้ยวขาว (Bauhinia yariegate) เป็นต้นไม้ขนาดกลางออกดอกในฤดูแล้ง เมื่อออกดอกจะผลัดใบหมดต้นจึงเห็นแต่ดอกสีขาวโพลนไปทั้งต้น ดอกเสี้ยวขาวเป็นพันธ์ไม้เฉพาะถิ่นภาคเหนือซึ่งยังไม่เคยพบในป่าภาคอื่นของประเทศไทยเลย ดอกเสี้ยวขาวเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3-4 นี้มีลักษณะมองดูคร่าว ๆ คล้ายดอกกล้วยไม้ คอกเสี้ยวขาวมักมีสีขาว แต่ก็มีบางครั้งมีสีแดงปนตรงส่วนกลางของดอกบ้าง เมื่อมองดูระยะไกลๆ อาจจะเห็นเป็นสีชมพูอ่อน ต้นเสี้ยวเป็นไม้พวกเดียวกับชงโค โยทะกา มีทั้งเป็นต้นและเป็นเถา ต้นไม้สกุลเสี้ยวมีมากกว่า 40 ชนิดในประเทศไทย ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณปางป่ายาบและหุบเขาดอยพระบาทเป็นพื้นที่ที่มีต้นเสี้ยวป่าขึ้นอย่างมากมาย ดอกเสี้ยวป่าจะบานสะพรั่งสวยสดงดงามไปทั้งหุบเขา ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตาจนชาวบ้านเรียกดอกเสี้ยวป่านี้ว่า ดอกซากุระเมืองไทย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ขาวบ้านป่าเหมี้ยงและอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ร่ามกันจัดกิจกรรมวันดอกเสี้ยวบานเป็นประจำทุกปีและเรียกบริเวณนี้ว่าลานดอกเสี้ยว ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งก็คือต้นยวนผึ้ง เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีผึ้งป่ามาเกาะทำรังกันเป็นจำนวนมาก เคยพบนับได้ถึง 30 กว่ารัง สามารถมองเห็นได้จากเส้นทางเข้าหมู่บ้านก่อนถึงบ้านป้าหมากและสามารถเที่ยวชมได้ในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์
แจ้ซ้อน
200 ปี ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง. (2565). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://anyflip.com/
Slow Life บ้านป่าเหมี้ยง ลำปาง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.nairobroo.com/travel/baan-pha-miang-lampang/
ชรินดา วิเศษรัตน์และชนาภา นิโครธานนท์. (2564). การถอดบทเรียนกระบวนการการจัดการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ กรณีศึกษา: ชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง. วารสารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, 17(3), 225-241.
พอใจ สิงหเนตรและคณะ. (2566). กลไกการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านป่าเหมี้ยง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง. วารสารเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน, 5(1), 71-91.
ทรูไอดี. (2565). บ้านป่าเหมี้ยง ที่เที่ยวลำปาง สโลว์ไลฟ์ในหมู่บ้านน่ารัก ชมดอกเสี้ยวบานสะพรั่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/
ทีมวิจัยชาวบ้าน บ้านเหมี้ยง. (2547). โครงการแนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง อ.เมืองปาน. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
บ้านป่าเหมี้ยง สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน จ.ลำปาง. (2566). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://tatcontactcenter.com/
ไปด้วยกัน. (2566). ฮีลใจที่ บ้านป่าเหมี้ยง หมู่บ้านสโลวไลฟ์ กลางป่าเขียว และลำธาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.paiduaykan.com/travel/บ้านป่าเหมี้ยง
อภิรดี ไชยเทพ. (2549). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตป่าอนุรักษ์: กรณีศึกษาชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง. การค้นคว้าอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.