Advance search

เขมราฐ

“ต้นตํารับรําตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฏร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลากหลาย กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง"

เขมราฐ
เขมราฐ
อุบลราชธานี
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
4 ส.ค. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
4 ส.ค. 2023
เขมราฐ

เมือง "เขมราษฎร์" ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น "เขมราฐ" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็มีความหมายเดียวกัน คือ "ดินแดนแห่งความเกษมสุข" (ราษฎร์ = รัฐ,รัฎฐ์ = แว่นแคว้นหรือดินแดน ส่วนคำว่า "เขม" หมายถึง ความเกษมสุข)


“ต้นตํารับรําตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฏร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลากหลาย กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง"

เขมราฐ
เขมราฐ
อุบลราชธานี
34170
เทศบาลตำบลเขมราฐ โทร. 0-4549-1184
16.0433040345296
105.223065018653

อำเภอเขมราฐเดิมมีฐานะเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคนี้พอสมควร เนื่องจากเป็นเมืองที่เทียบได้กับหัวเมืองเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มิได้ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีเช่นเมืองอื่นๆ นอกจากนั้นเมืองเขมราฐยังมีเมืองขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองอำนาจเจริญ เมืองคำเขื่อนแก้ว เป็นต้น

สำหรับการตั้งเมืองเขมราฐ ปรากฏในเอกสารที่เป็นหลักฐานว่าใน พ.ศ.2357 ซึ่งเป็นปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองยโสธรขึ้น อุปฮาด (ก่ำ) ซึ่งเป็นอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี ไม่พอใจที่ทำราชการกับพระพรหมราชวงศา (ท้าวทิศพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 จึงอพยพไพร่พลไปหาทำเลที่เหมาะสมตั้งเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในการตั้งเมืองขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลานั้นๆ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านโศกกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองเขมราฐธานีขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2357 พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) เป็นพระเจ้าเทพวงศาเมือง

ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองเขมราฐมีความสำคัญและขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครตลอดมา ครั้นถึง พ.ศ.2371 เมื่อเสร็จสิ้นสงครามปราบกบฏเจ้าอนุแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เมืองโขงเจียม ซึ่งเคยขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองจำปาสักมาขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เป็นผลให้เมืองเขมราฐมีบทบาทมากขึ้น เมื่อโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองคำเขื่อนแก้วในปี พ.ศ.2388 เมืองอำนาจเจริญในปี พ.ศ.2401 ก็โปรดเกล้าให้ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐเช่นกัน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กำหนดใน “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116” มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 8 บริเวณ สำหรับเมืองอุบลราชธานีที่อยู่ 3 เมือง คือเมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร แต่ละเมืองมีพื้นที่ขึ้นตรงหลายอำเภอดังที่ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2445 เมืองเขมราฐมีพระเขมรัฐเดชธนีรักษ์ (คำบุ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง และมีอำนาจอยู่ในปกครอง 6 อำเภอ คือ อำเภออุทัยเขมราฐ อำเภอประจิมเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ อันแสดงให้เห็นว่าเมืองเขมราฐยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก

ต่อมาใน พ.ศ.2452 ได้มีการปรับปรุงการปกครองภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นอำเภอและรวมอำเภออุทัยเขมราฐกับอำเภอประจิมเขมราฐเข้าด้วยกันเป็นอำเภออุทัยเขมราฐขึ้นกับเมืองยโสธร แต่ก็ยังเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เหมือนเดิม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็นมณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานีกับมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2455 และมีการปรับปรุงให้เหมาะสม เมืองยโสธรถูกยกเลิกไป เมืองอุทัยเขมราฐก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้ตั้งบ้านกงพะเนียง ขึ้นเป็นเมืองชื่อ “เมืองเขมราษฎร์ธานี” ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนั้นได้ตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) เป็นเจ้าเมืองคนแรกในปี พ.ศ. 2357 แม้ว่าเมืองเขมราษฎร์ธานี จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเขมราฐในภายหลัง แต่ก็มีความหมายเดียวกันคือ “ ดินแดนแห่งความเกษมสุข” (ราษฎร์) เป็นคำที่มาจากภาษาลีสันสกฤตมีความหมายตรงกับ “รัฐ”หรือ“รัฏฐ” ซึ่งมาจากภาษาบาลี หมายถึง แว่นแคว้นหรือดินแดนนั้นเอง ส่วน “เขม” เป็นคำมาจากภาษาบาลี หมายถึง ความเกษมสุข ซึ่งหมายความตรงกับ เกษม ที่มาจากภาษาสันสกฤต)

เมืองเขมราฐเปลี่ยนมาเป็นอำเภอเขมราฐ ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2452 โดยมีพระเกษมสำราญรัฐ เป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอเขมราฐ ได้แบ่งเขตการปกครองแยกเป็นอำเภอต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ.2511

  2. อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2525

  3. อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2537

ปัจจุบันมี นายสะอาด วงศ์รักษ์ เป็นนายอำเภอเขมราฐ

อาณาเขตและพื้นที่

อำเภอเขมราฐ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 526.75 ตารางกิโลเมตรและมีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ: จดแนวฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณตรงข้ามเมืองสองคอน แขวงสะหวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นแนวยาวตามลำน้ำโขง

  • ทิศตะวันออก: จดแนวฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามเมืองคอนพะเพ็ง แขวงสาละวัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี

  • ทิศใต้: ติดต่อกับอำเภอนาตาล และอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี

  • ทิศตะวันตก: ติดต่อกับอำเภอปทุมราชวงศา และอำเภอชานุมานจังหวัดอำนาจเจริญ

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอเขมราฐ มีสภาพพื้นที่โดยทั่วๆไปเป็นที่ราบสูงสลับเนินเขา ลักษณะเป็นดินรวนปนทราย และมีสภาพเป็นดินเหนียวตามไหล่เขา มีป่าไม้เบญจพรรณอยูทั่วไป เป็นลักษณะป่าโปร่ง มีแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวชายแดนทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออกตลอดแนวประมาณ 43 กิโลเมตร

สภาพภูมิอากาศ

สภาพอากาศโดยทั่วไปมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน ช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว

  • ฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนตุลาคม มีฝนตกโดยทั่วไป

  • ฤดูหนาว ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน-เดือนมีนาคม อากาศจะเริ่มเย็นลงจนกระทั่งมีอากาศหนาว

เป็นสังคมการเกษตร ซึ่งอาชีพหลักของคนในชุมชนคือ ทำนา ทำไร่ ทำสวน และมีรายได้เสริมจากการรับจ้าง ค้าขาย ประมง เนื่องจากที่อยู่อาศัยอยู่ติดแม่น้ำโขง พบว่า วิถีชีวิตของคนในชุมชนสอดคล้องกับธรรมชาติ ใช้ชีวิตแบบเงียบสงบและพอเพียง ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นยึดถือประเพณีฮีตสิบสอง ซึ่งมีในแต่ละเดือนทั้งสิบสองเดือน เรียกว่า ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อารามสำคัญในเขตเทศบาลเขมราฐนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมถนนกงพะเนียง และด้วยความเป็นเมืองเก่า แต่ละวัดจึงอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่ร้อยเมตร

กลุ่มองค์กร

กลุ่มบริษัท ส.เขมราฐ เริ่มก่อตั้งในปี 2525 จากการร่วมกันระหว่างกิจการสถานีบริการเติมน้ำมันในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัดชนะชัยเขมราฐ กับโรงโม่หินในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชรานี

ต่อมาในปี 2529 ได้ขยายธุรกิจและก่อตั้งบริษัท ส.เขมราฐ อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและระดับประเทศ ด้วยผลงานที่การันตีความสำเร็จมากกว่า 33 ปี บริษัทจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาท บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างสรรค์ผลงานมากกว่า 1,000 ผลงาน บริษัทมีความเชี่ยวชาญในด้านการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีบุคลากรคุณภาพ มีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญ มีเครื่องจักรมากกว่า 500 ชิ้น เพื่อรองรับในการทำงานทุกระดับ บริษัทได้รับความไว้วางใจในด้านความสามารถการบริหารจัดการโครงการ และระยะเวลาในการทำงานที่ดีเยี่ยม มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้การดำเนินงานอย่างไม่หยุดนิ่ง ด้วยมุมมองและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร และนอกจากนั้น บริษัทยังมีความเข้มแข็งและมั่นคงทางด้านการเงิน รวมไปจนถึงการใส่ใจในด้นความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

ในปี 2559  บริษัทได้รับการรับรองให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นพิเศษ และได้รับการรับรองให้เป็น 1 ใน 10 ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เติบโตเร็วที่สุด บริษัทได้รับความไว้วางไว้ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสระบุรี-บางปะอิน ตอนที่ 13 , โครงการทางหลวงหมายเลข 2050 สายตระการ-บ้านห้วยยาง, โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายอุบลฯ-อำนาจ ตอน 2, โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 208 แยก ทล.2 ท่าพระ-มหาสารคาม , โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริม โครงการก่อสร้างฝ่าย และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย

และในปี 2561–ปัจจุบัน ได้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นในนาม “กลุ่มบริษัท ส.เขมราฐ” ประกอบด้วยบริษัทในเครือทั้งหมด 3 บริษัท และมีพนักงานมากกว่า 700 อัตรา อันได้แก่ บริษัท ส.เขมราฐอินดัสตรี จำกัด บริษัท ส.เขมราฐทรานสปอร์ต จำกัด และบริษัท ชนะชัยเขมราฐ จำกัด การดำเนินธุรกิจแบ่งออก เป็น 3 ประเกท ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง & ผลิตวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจบริการ

ตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

  • วิสาหกิจชุมชนชมรมตลาดน้ำริมโขงเขมราฐ

  • กลุ่มทอผ้าฝ้ายแท้ทอมือเขมราฐ

  • ผู้ปลูกพืชสมุนไพรทางการเเพทย์บ้านท่ากกทันเมืองเขมราษฏร์ธานี

  • กลุ่มส่งเสริมและอนุรักษ์พัฒนาควายไทย ตำบลเจียด

  • ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจเขมราฐธานี

  • เวชศาสตร์สมุนไพรศึกษาเพื่อพัฒนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครู กลุ่มที่ 1 อ.เขมราฐ
  • กล้วยตากแสงแรกเขมราษฎร์ธานี

ปฏิทินท้องถิ่น: ประเพณีฮีตสิบสอง

เดือนประเพณี
เดือนอ้าย หรือเดือนเจียงประเพณีงานบุญเข้ากรรม มีการเข้าปริวาสกรรมของพระภิกษุ สงฆ์เพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส
เดือนยี่หรือเดือนสองงานบุญคูณลาน งานนี้เกี่ยวเนื่องกับการทำมาหากินเพราะปกติแล้ว เดือนยี่จะเป็นเดือนแห่งการเก็บเกี่ยว เมื่อเกี่ยวข้าวส่งมาถึงลานนวดข้าวแล้วก็จะมีการทำบุญกันที่ลานนวดข้าว จึงเรียกว่าบุญคูณลาน
เดือนสามงานบุญข้าวจี่ ซึงจะมีคำพูดประโยคหนึ่งว่า “เดือนสามคล้อย เจ้าหัวคอย บุญข้าวจี่” และมีพิธีเลี้ยงผีตาแฮก ตามประเพณีแล้วหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งฉางก็จะมีการทำบุญ เช่น บวงสรวงบูชาเจ้าที่ในนา
เดือนสี่งานบุญเผวดหรือบุญเทศน์มหาชาติ แห่พระอุปคุต ตั้งศาลเพียงตา ทำบุญแจกข้าวอุทิศให้ผู้ที่ตายไปแล้ว
เดือนห้าบุญสรงน้ำ หรือเทศกาลสงกรานต์ชาวอีสานเรียกว่า “สังขานต์” งานบุญสรงน้ำของชาวอุบลราชธานีจะมีการทำบุญ ฟังเทศน์สรงน้ำ พระพุทธรูปและพระภิกษุสงฆ์ตลอดจนสรงน้ำญาติผู้ใหญ่ มีการเข้าวัดฟังเทศน์ติดต่อกันถึง 7 วัน และเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
เดือนหกงานบุญวิสาขบูชาและงานบุญบั้งไฟ เกือบตลอดเดือนหกชาวอีสานทุกจังหวัดจะจัดงานบุญบั้งไฟเพื่อเป็นการบูชาพญาแถน (เทวดา) ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
เดือนเจ็ดงานบุญซำฮะบ๋าเบิก มีพิธีเลี้ยงผีตาแฮก ผีปู่ผีตา ศาลหลักเมือง 
เดือนแปดงานบุญเข้าพรรษา มีพิธีหล่อเทียนพรรษา ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะจัดงานหล่อเทียนพรรษาและประดับประดาให้สวยงาม แล้วจัดเป็นขบวนแห่ไปถวายเป็นพุทธบูชา
เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เป็นงานบุญเพื่ออุทิศไปให้กับพวกผีเปรตไม่มีญาติ จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 นับตั้งแต่เช้ามืดจะจัดอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ใส่กระทงเล็กๆ นำไปวางตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นการให้ทานแก่เปรต
เดือนสิบบุญข้าวสาก หมายถึง การกวนกระยาสารทคล้ายงานบุญสลากภัตในภาคกลาง ถวายผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องไทยทาน ตอนบ่ายก็ฟังเทศน์เป็นอานิสงส์
เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา มีงานบุญตักบาตรเทโว กวนข้าวทิพย์และงานแข่งขันเรือยาวกันอย่างสนุกสนาน
เดือนสิบสองบุญทอดกฐิน พิธีถวายกฐินเหมือนกับประเพณีของท้องถิ่นอื่นๆ

เมืองเขมราฐมีการจัดเทศกาลต่างๆ ขึ้นตามประเพณี ได้แก่ ประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีสองฝั่งโขงไทย-ลาว ลำน้าโขงหน้าเทศบาล ต.เขมราฐ เดือนตุลาคมของทุกปี ประเพณีสงกรานต์ แก่งช้างหมอบ เทศบาลตำบลเทพวงศา 13-15 เมษายน และประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา เทศบาลตำบลเขมราฐ เดือนกรกฎาคม

  • นางธนิษฐา วงศ์ปัดสา

สัญชาติ/เชื้อชาติ: ไทย  ศาสนา: พุทธ

วัน เดือน ปีเกิด: 1 มิถุนายน พ.ศ.2514  ภูมิลำเนา: อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี

บิดาชื่อ: นายอำพร สมบูรณ์  มารดาชื่อ: นางนารี สมบูรณ์

สำเร็จการศึกษา: ระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านกองโพน ตำบลกองโพน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2526

สถานภาพสมรสกับ: นายรังสฤษฎ์ วงศ์ปัดสา มีบุตรธิดารวม 4 คน

อาชีพและหน้าที่ปัจจุบัน: ประธานกลุ่มผ้าฝ้ายแท้ทอมือเขมราฐ

ที่อยู่ปัจจุบัน (ที่สามารถติดต่อได้): เลขที่ 7 ถนนวีระเกษม ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ 34170

โทรศัพท์มือถือ: 080–4710987

ประสบการณ์การทำงาน: (ในสาขาที่ได้รับการคัดเลือก) 30 ปี

นางธนิษฐา วงศ์ปัดสา นำเรื่องราวของลายผ้าโบราณเมืองเขมราษฎร์ธานีมาสืบสาน ต่อยอด พัฒนาเป็นผ้าฝ้ายทอมือมัดหมี่ย้อมครามใหม่จนประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในวงการผ้าฝ้ายของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีผู้สนใจติดต่อมาศึกษาดูงานจากหลายกลุ่ม หลายจังหวัด ที่สนใจการทำผ้าฝ้ายจากธรรมชาติ อีกทั้งยังมาเรียนรู้เรื่องเล่าตำนานที่มาของลายผ้าแต่ละลายที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวชุมชนเขมราฐที่มีมายาวนาน ปัจจุบันได้ใช้บ้านพักเปิดเป็นศูนย์การเรียน แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านสืบสานวัฒนธรรม สอนและถ่ายทอด “ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าฝ้ายย้อมครามธรรมชาติ” โดยการจัดการอบรมและเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ดูงานกันอย่างต่อเนื่อง

วัดโพธิ์: ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2331 โดยแม่ชีขาว ที่หนีภัยสงครามมา และนำผู้คนอพยพลงมาจากเวียงจันทร์มาตามลำน้ำโขง และยึดชัยภูมิแห่งนี้ ตั้งหมู่บ้านและวัดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี มีพระพุทธรูปที่สำคัญรูปหนึ่ง คือ พระเจ้าใหญ่องค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.09 เมตร สูงรวมเกตุ 1.59 เมตร สร้างด้วยอิฐโบราณ ถือด้วยน้ำเกสรดอกไม้ผสมน้ำเปลือกไม้ ตามภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเขมราฐมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน และเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี

วัดตาดใหญ่: เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนลานหิน ภายในบริเวณวัดมีการกั้นลำน้ำทำฝายน้ำล้น เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในชุมชนและหมู่บ้านห่างไกล ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี คนส่วนใหญ่จะมาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

วัดพิชโสภาราม: ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 100 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2050 สายอุบลราชธานี-เขมราฐ แล้วเลี้ยวที่ทางแยกหน้าสถานีตำรวจภูธรม่วงเฒ่าเข้าไปอีกประมาณ 7 กม. วัดนี้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2456 มีการพัฒนามาโดยลำดับ มีการก่อสร้างศาสนสถานถาวรวัตถุขึ้นมาตามยุคตามสมัย ปัจจุบันมีพระบวรปริยัติวิธาน รองเจ้าคณะอำเภอเขมราฐ เป็นเจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม พระบวรปริยัติวิธาน เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก และเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะสงฆ์ว่าเป็นพระเถระผู้มีความสามารถทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ

วัดบ้านเหนือเขมราฐ: เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระอุโบสถหลังเดิมเป็นโบราณสถาน หน้าบรรณมีรูปปั้นพระราหูอมจันทร์ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก

วัดอูบมุง: มีพระพุทธรูปพระเจ้าใหญ่องค์หมื่นประดิษฐานอยู่สร้างตั้งแต่สมัยใดไม่ประกฏแน่ชัด ค้นพบครั้งแรกเมื่อ 200 กว่า ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยดินแดนแห่งนี้ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดเข้ามาอยู่อาศัยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2499 มีท้าวจันทรศรีสุราช พร้อมครอบครัวได้อพยพตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในบริเวณที่ตั้งบ้านอูบมุงในปัจจุบันและได้ค้นพบพระพุทธรูปโบราณโดยบังเอิญเป็นพระพุทธรูปนาคปรกประดิษฐานอยู่ในสถูป โดยองค์พระมีจอมปลวกพอกขึ้นมาจนถึงพระอุระ (อก) จึงได้ทำการบูรณะและเรียกว่า พระอูบมุง ซึ่งสันสันนิษฐานว่าเรียกตามที่องค์พระประดิษฐานอยู่ในสถูป ซึ่งคำว่า “สถูป” ชาวบ้านเรียกว่า “อูบ” ตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา เชื่อว่าพระเจ้าใหญ่อูบมุง สร้างขึ้นสมัยเดียวกันกับพระเจ้าใหญ่ปากแซ่ง (พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ)และพระเจ้าใหญ่วัดโพธิ์ (พระเจ้าองค์แสน) ส่วนพระเจ้าใหญ่อูบมุง เป็นพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น อีกทั้งยังมีศาลหลักเมืองเขมราฐ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองซึ่งเป็นศาลปู่ตา เป็นที่เคารพสักการะของชาวเขมราฐอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์เมืองเขมราษฎร์ธานี: เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลเมืองเขมราฐ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองเขมราฐ และเป็นที่เก็บรวบรวมของเก่าแก่ในอดีตไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้แก่ ของใช้ของคนสมัยก่อนได้ใช้ดํารงชีพ รูปภาพในอดีต ตาชั่งโบราณ รูปปั้นโบราณ ถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

โรงแรมสุขสงวน: เป็นโรงแรมแห่งแรกของอําเภอเขมราฐ สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีการตกแต่งอย่างสวยงาม ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้บริการในส่วนของห้องพักแล้ว แต่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมเมืองเขมราฐ

บ้านขุนภูรีประศาสน์: เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ด้านหน้าบ้านตกแต่งอย่างสวยงามให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ด้านบนบ้านจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยรวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่จํานวนมากให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต

ภาษาไทย ภาษาลาวใต้ 


วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 นายปัญญา เศวตธรรม นายอำเภอเขมราฐ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องขอยกฐานะอำเภอเขมราฐขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานีว่า การที่จังหวัดอุบลราชธานีได้พิจารณารายงานการยกฐานะอำเภอเขมราฐ ขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานี ว่าอยู่ระหว่างการทบทวนความคิดเห็นของประชาชน สำหรับความคิดเห็นส่วนราชการ ทางอำเภอได้มีมติเห็นชอบในการยกฐานะอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นเป็นจังหวัดเขมราษฎร์ธานี และในหนังสือขอยกฐานะฯ ดังกล่าว อำเภอเขมราฐได้ส่งข้อมูลที่ดินสำหรับใช้เป็นศูนย์ราชการจังหวัดเขมราษฎร์ธานี เพื่อใช้ก่อสร้างสถานที่ราชการจำนวน 4 แห่งได้แก่

  • สถานที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเขมราษฎร์ธานี
  • สถานที่ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดเขมราษฎร์ธานี
  • สถานที่ตั้งศาลจังหวัดเขมราฐธานี
  • สถานที่ตั้งแขวงศาลแขวงและศูนย์ราชการอื่นๆ

สำหรับการขอตั้งจังหวัดใหม่นั้น จะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2524 คือ

  1. ต้องมีไม่น้อยกว่า 8 อำเภอ
  2. มีประชากรไม่น้อยกว่า 3 แสนคน และ
  3. หน่วยงานราชการที่จะมาเป็นจังหวัดใหม่มีความพร้อมหรือไม่ ที่สำคัญต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนทั้งจังหวัด

และมีขั้นตอนการขอตั้งจังหวัดใหม่ อาทิ อำเภอที่จะขอตั้งเป็นจังหวัดใหม่ต้องเสนอเรื่องไปยังจังหวัด จากนั้นต้องมีการตั้งเรื่องมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำแบบสอบถามไปยังประชาชน และสอบถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆ ว่าเห็นชอบหรือไม่ หากส่วนใหญ่เห็นด้วยถือว่าผ่านเกณฑ์ ทางกระทรวงมหาดไทยจะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เมื่อ ครม.พิจารณาเห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดต่อไป

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือ มีพื้นที่ทั้งหมด 22,686 ตารางกิโลเมตรเศษ แบ่งการปกครองเป็น 21 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ (มากที่สุดในประเทศไทย) มีประชากรประมาณ 1,450,000 คน (นับเป็นที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร)

พ.ศ.2515 จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติในตอนนั้น ออกประกาศคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 70 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2515 โดยให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว รวม 5 อำเภอ ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี รวมจัดตั้ง เป็นจังหวัดยโสธร ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2515 เป็นต้นไป

ต่อมา ในปี พ.ศ.2536 ขณะนั้นจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 25 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ รัฐบาลอันมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติตั้งจังหวัด อำนาจเจริญ พ.ศ.2536” กําหนดให้แยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอ เสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และกิ่งอำเภอลืออํานาจ ออกจากการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ ให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2536 เป็นต้นไป นับเป็นจังหวัดในลําดับที่ 75 ของประเทศไทย

ปัจจุบัน จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ 15,739 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ ต้องคอยดูว่า หากสามารถจัดตั้งจังหวัดเขมราษฏร์ธานีได้จริง จะแบ่งออกไปกี่อำเภอ เป็นเนื้อที่เท่าใด

ถนนคนเดินสายวัฒนธรรมเขมราฐ

ถนนคนเดินเขมราฐ (Khemmarat Walking Street) เป็นถนนที่เรียงรายไปด้วยบ้านไม้และร้านค้าเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีร้านขายอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ คาเฟ่สไตล์โฮมเมดเล็กๆ และร้านค้าต่างๆ ที่ขายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเช่นผ้าซิ่นและผ้าทอ และยังเต็มไปด้วยมุมถ่ายรูปสวยๆ มากมาย โดยถนนบริเวณนี้จะจัดให้เป็นถนนคนเดินทุกเย็นวันเสาร์ตั้งแต่สี่โมงเย็นไปจนถึงสามทุ่ม

ประวัติ

ถนนคนเดินเขมราฐ ตั้งอยู่ในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ถนนคนเดินแห่งนี้โดดเด่นด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่สร้างจากไม้ ซึ่งบางหลังนั้นมีอายุร่วมสองร้อยปี โดยเริ่มเปิดเป็นถนนคนเดินในปี พ.ศ.2556 เนื่องจากทางเทศบาลต้องการพัฒนาบ้านเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจที่เคยคึกคักในอดีตให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในบรรยากาศย้อนยุค โดยนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ และนอกจากการเดินจับจ่ายซื้อของ ถ่ายรูป และรับประทานอาหารท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังมีมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่จัดแสดงประวัติชุมชน และของใช้โบราณต่างๆ ให้ได้เที่ยวชมอีกด้วย และในช่วงเทศกาลอาจจะได้ดูการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การร่ายรำท้องถิ่น ที่สร้างความคึกคักให้กับถนนสายนี้อีกด้วย

การเดินทางไปถนนคนเดินเขมราฐ

รถยนต์ จากตัวเมืองอุบลราชธานีไปยังถนนคนเดินเขมราฐมีระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที เนื่องจากไม่มีรถสาธารณะให้บริการในเส้นทางดังกล่าว นักท่องเที่ยวจึงอาจจะต้องเช่ารถขับหรือเหมารถโดยสารท้องถิ่นไปยังถนนคนเดินเขมราฐ

กนกณิศา ธนาโชคพิสิษฐ์.(2564). แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.(สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566)

ฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว จังหวัดอุบลราชธานี. อำเภอเขมราฐ. ได้จาก http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubontravel.(สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566)

พีระยา สอนอาจ.(2554). ประวัติอำเภอเขมราฐ. ได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/432101 (สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม)

ส.เขมราฐ. ประวัติความเป็นมา. ได้จาก https://skhemrat.com/ (สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566)

รายงานรายชื่อและจำนวนสมาชิกของวิสาหกิจชุมชน. ได้จาก https://smce.doae.go.th/ (สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566)

ถนนคนเดินเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย. ได้จาก https://palanla.com/th/domesticLocation/ (สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2566)

ไกด์อุบล. พ่อเมืองอุบลฯ ให้ถามความเห็นประชาชน เรื่องจังหวัดเขมราษฏร์ธานี. ได้จาก https://www.guideubon.com/2.0/ubon-news/khemaratthani/ (สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2566)