Advance search

ลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์

เป็นชุมชนที่โดดเด่นด้วยกายภาพเพราะมีทะเล มีแม่น้ำลำคลองลายสายและที่สำคัญมีป่าชายเลนที่กว้างมากขนาด 7,818 ไร่ ทำให้ที่ชุมชนนี้จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย 

ลีเล็ด
พุนพิน
สุราษฎร์ธานี
วีรวรรณ สาคร
31 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
1 ส.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
5 ส.ค. 2023
ลีเล็ด
ลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์

ชื่อของชุมชนเริ่มมาจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเสด็จไปประพาสภาคใต้ด้วยทางเรือไปยังบ้านดอน พระองค์ทรงเห็นว่ามีคลองสายหนึ่ง (คลองลีเล็ด) เป็นทางลัดที่ใกล้ในการเดินทาง จึงทรงเสด็จไปตามคลองสายนี้ ทำให้ต่อมาคลองสายนี้จึงได้ชื่อว่า "คลองลัด" แต่ทั้งนี้ด้วยชาวบ้านในคลองลัดส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ข้าวกันมาก จึงมีชาวจีนมาล่องเรือรับซื้อข้าวอยู่ประจำและด้วยสำเนียงของชาวจีนที่ออกเสียงยากชาวจีนจึงเรียกคลองลัดเพี้ยนเป็น คลองทีลัด ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น คลองทีเล็ด และในที่สุดก็เพี้ยนเป็น"ลีเล็ด" ซึ่งคำว่าลีเล็ดนี้ต่อมานำมาตั้งชื่อตำบลลีเล็ด ทำให้ชุมชนที่อยู่ตำบลนี้จึงชื่อลีเล็ดนั่นเอง


ชุมชนชนบท

เป็นชุมชนที่โดดเด่นด้วยกายภาพเพราะมีทะเล มีแม่น้ำลำคลองลายสายและที่สำคัญมีป่าชายเลนที่กว้างมากขนาด 7,818 ไร่ ทำให้ที่ชุมชนนี้จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย 

ลีเล็ด
พุนพิน
สุราษฎร์ธานี
84130
9.190421170766333
99.25102904734285
องค์การบริหารส่วนตำบลลีเล็ด

ชุมชนลีเล็ดคือชุมชนที่ครอบคลุมตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎ์ฐานี โดยตำบลลีเล็ดน่าจะเกิดขึ้นนับตั้งแต่ในสมัยที่มีหัวเมืองไชยาเป็นศูนย์การปกครองขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยา คือ ก่อน พ.ศ. 2439 ทั้งนี้คำว่าลีเล็ดของตำบลแห่งนี้น่าจะมาจากชื่อคลองที่อยู่ในตำบลลีเล็ด ซึ่งชื่อคลองนี้พบว่าได้มาจากเหตุการณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่พระองค์ทรงเสด็จไปประพาสภาคใต้ด้วยทางเรือไปยังบ้านดอน ทรงเห็นว่ามีคลองสายหนึ่ง (คลองลีเล็ด) เป็นทางลัดที่ใกล้ในการเดินทาง จึงทรงเสด็จไปตามคลองสายนี้ ทำให้ต่อมาคลองสายนี้จึงได้ชื่อว่า "คลองลัด" ทั้งนี้ด้วยชาวบ้านในคลองลัดส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ข้าวกันมาก จึงมีชาวจีนมาล่องเรือรับซื้อข้าวอยู่ประจำและด้วยสำเนียงของชาวจีนที่ออกเสียงยากชาวจีนจึงเรียกคลองลัดเพี้ยนเป็น คลองทีลัด ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น คลองทีเล็ด และในที่สุดก็เพี้ยนป็น"ลีเล็ด" จุดนี้จึงเป็นชื่อชุมชนแห่งนี้

ทั้งนี้ในสมัยการปฎิรูปการปกครองท้องถิ่นของรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงริเริ่มระบบการปกครองแบบหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดขึ้น โดยเริ่มที่บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่แรกและตั้งหลายๆพื้นที่เรื่อยมา จนในปีพ.ศ. 2445 บริเวณเขตชุมชนลีเล็ดแห่งนี้จึงได้มีการจัดตั้งเป็นตำบลลีเล็ดขึ้น โดยได้มีขุนลีเล็ดลัทธกิจ (นาค ธดากุล) เป็นกำนันคนแรกของตำบล ทั้งนี้ในปัจจุบันตำบลลีเล็ดได้ประกอบไปด้วย 8 หมู่บ้าน ได้แก่ 

บ้านบางใหญ่ฝั่งขวา (หมู่ 1 ) เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ประชากรส่วนมากอพยพมาจากบริเวณใกล้เคียงทั้งไชยา ท่าฉาง บ้านดอนและกาญจนดิษฐ์ ภายในชุมชนนี้มีวัดเก่าแก่ชื่อวัดบางใหญ่มีอายุประมาณร้อยกว่าปี การคมนาคมใช้เรือเป็นพาหนะเนื่องจากมีลำคลองเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านในหมู่บ้านนี้มีลำบางใหญ่ซึ่งเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกไม้เคี่ยมและเรือโกลนลำเล็กๆไปขายที่ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม สามารถเข้าจอดได้ เมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านบางใหญ่ต่อมาในปี พ.ศ.2518 มีการแยกหมู่บ้านเป็น 2 หมู่บ้าน โดยแยกเป็นบ้านบางใหญ่ฝั่งขวา(หมู่ที่ 1) และบางใหญ่ฝั่งซ้าย(หมู่ที่3)

บ้านคลองราง(หมู่ที่2) ในอดีตเส้นทางคมนาคมไม่สะดวกไม่มีถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ตำบล ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางในการสัญจรโดยใช้เรือแจวหรือเรือใบเป็นพาหนะไปสู่อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา และตลาดบ้านดอน อำเภอเมือง ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือพบปะญาติพี่น้อง การเดินทางส่วนใหญ่ใช้ช่วงเวลาตอนหัวค่ำเพราะกลางคืนลมไม่แรงและไม่ร้อนต้องเดินทางผ่านทางทะเลเมื่อถึงบ้านคลองรางก็เริ่มสว่างมองเห็นท้องฟ้ารางๆจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านคลองราง ครอบครัวแรกที่ย้ายมาคือดรอบครัวของนายเสือ เกิดอุดม ย้ายมาจากอำเภอกาญจนดิษฐ์ ในช่วงแรกมีอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว

บ้านห้วยทรัพย์ (หมู่ที่4) ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่นี้อพยพมาจาก จังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี โดยอพยพย้ายถิ่นฐานลงมาเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2475 บางส่วนเดินทางมาทางเรือไปลงเรือที่สะพานพุทธ เดินทางโดยเรือนริศ มาขึ้นที่ท่าเรืออ่าวบ้านดอนแล้วเดินทางต่อด้วยเรือแจว จนในที่สุดก็มาถึงบางๆ หนึ่งในเวลาใกล้ต่ำจึงนำข้าวห่อมากินปรากฏว่าข้าวห่อบูดกินไม่ได้จึงเรียกบางนี้ว่าบางข้าวบูดและได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินที่บางข้าวบูดนี้เรื่อยมา ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าบางข้าวบูดฟังแล้วไม่เพราะเลยเปลี่ยนเป็นบ้านบางบุตร เมื่อปี พ.ศ.2495 ได้สร้างโรงเรียนขึ้นมาชื่อว่าโรงเรียนบ้านห้วยทรัพย์ ทางราชการจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านหัวยทรัพย์ตามชื่อโรงเรียน

หมู่บ้านบางพลา (หมู่ที่5) ใช้ชื่อวัดบางพลาเป็นชื่อหมู่บ้าน วัดบางพลาเดิมชื่อวัดแก้วประดิษฐาราม ใกล้ ๆวัดมีลำบางเส้นหนึ่งกว้างประมาณ 2.4 เมตร ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งแยกจากคลองลีเล็ดบริเวณปากบางมีต้นพลามากมาย ชาวบ้านเลยเรียกว่าบางพลา แล้วเรียก วัดแก้วประดิษฐารามเป็นวัดบางพลา ต่อมาชาวบ้านก็เรียกต่อๆกันเป็นชุมชนบ้านบางพลา ซึ่งแต่เดิมเรียกชื่อชุมชนว่าคลองเล็ด

บางในบ้าน (หมู่ที่6) ในอดีตเป็นถิ่นกันดารไม่มีทางเดินเท้าหรือถนนต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว หมาก และทำใบจากมวนยาเส้น เดิมมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 60 ครัวเรือนและต่อมาก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้นำหมู่บ้านคนแรกชื่อพญาคอปล้อง ชาวบ้านบางคนเล่าว่าเป็นเจ้าเมืองไชยา แต่บางคนเล่าว่าเดินทางมาจากภาคกลางและได้สร้างวัดซื่อ วัดบางในบ้านหรือวัดในบ้าน ต่อมาขุนลีเล็ดลัทธกิจ ผู้ใหญ่ขำ เพ็งมาก และชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันขุดคลองลัดจากแม่น้ำตาปีมายังบางในบ้าน ซึ่งตรงกับหน้าวัดพอดี และเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำสามสาย คือคลองบางในบ้าน คลองท่าเจริญสุข และคลองบางดูขุด จึงเปลี่ยนชื่อวัดจาก วัดบางในบ้านเป็น วัดตรีธาราราม แต่คำว่าบางในบ้านก็ยังคงเป็นชื่อหมู่บ้านต่อมา

บ้านคลองกอ (หมู่ที่7) ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี โดยอพยพย้ายถิ่นฐานลงมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2โดยเดินทางมาทางรถไฟมาลงที่สถานีท่าฉาง เพราะสะพานข้ามแม่น้ำตาปีถูกทำลายโดยการทิ้งระเบิดของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี พ.ศ. 2486 ทำให้ไม่สามารถข้ามไปยังสถานีพุนพินได้ เมื่อลงที่สถานีท่ฉางแล้วเดินทางต่อโดยเรือแจวมายังชุมชนแห่งนี้ ชุมชนแห่งนี้มีลำคลองไหลผ่านลงสู่ทะเลและมีตันน้ำเชื่อมกับแม่น้ำตาปี แรกมาอยู่ประกอบอาชีพทำไร่ข้าว ทำสวนมะพร้าวตลอดแนวลำคลองจนถึงปากน้ำและสองฝั่งมีต้นไม้น้อยใหญ่ปกคลุมตลอดทางประกอบกับน้ำในลำคลองไหลเชี่ยวทำให้ตลิ่งพังต้นไม้ตอไม้พังลงสู่ลำคลองจึงทำให้ตลอดลำคลองมีตอไม้ตันไม้ทั้งใด้น้ำและเหนือน้ำมีแต่ตอไม้เต็มไปหมด ทำให้ชาวบ้านเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางกับเรือและข้าวของเสียหายอยู่เป็นประจำชาวบ้านจึงเรียกคลองตอ เพราะมีแต่หัวตอไม้ ต่อมานานวันเข้าจึงเรียกเพี้ยนจากตอเป็นกอ จากคลองตอจึงเปลี่ยนมาเป็นคลองกอ

บ้านบางทึง (หมู่ที่8) แยกมาจากบ้านบางพลา ชาวบ้านช่วยกันตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่าบ้านบางทึงเนื่องจากมีต้นทึงตันใหญ่และสูงเด่นมากอยู่ที่ลำบางพลา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าชุมชนต่างๆทั้ง 8 ชุมชนจะมีชื่อเรียกทางการแต่ล่ะชุมชนต่างกันไป แต่ทว่าผู้คนต่างเรียกโดยรวมของชุมชนทั้ง 8 ชุมชนนี้ว่า ชุมชนลีเล็ด ตามชื่อของตำบล ไม่ว่าจะไปส่วนไหนของตำบลก็ล้วนอยู่ในส่วนประกอบของชุมชนลีเล็ดทั้งสิ้น ดังนั้นจุดนี้อาจกล่าวได้ว่าชุมชนลีเล็ดจึงครอบคลุมทั้งหมดของตำบลลีเล็ดนั่นเอง

ทั้งนี้การที่ชุมชนลีเล็ดได้เริ่มมีการอนุรักษ์และเปิดเป็นการท่องเที่ยว จนได้ชื่อว่าชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์นั้น มาจากการที่โครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง (CHARM) ได้เข้ามาในพื้นที่ตำบลลีเล็ดในปี 2547 เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่ง ทั้งนี้เป็นเพราะลีเล็ดมีพื้นที่ที่อยู่ติดกับป่าชายเลน หลังจากที่โครงการซาร์มเข้ามาดำเนินงานได้ช่วงระยะหนึ่ง ได้นำแนวคิดในการที่จะใช้ "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" มาเป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง นอกเหนือจากการสนับสนุนชาวบ้านในด้านต่างๆ โดยทางโครงการซาร์มได้ให้โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ (REST) เข้ามาเป็นครูและพี่เลี้ยงกับชาวบ้านในการดำเนินงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากการดำเนินงานของโครงการนี้ต่อมาชุมชนลีเล็ดจึงมีการก่อตั้ง “กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์” ขึ้น ซึ่งมีกำนันประเสริฐ ชัญจุกรณ์ เป็นประธานของกลุ่ม โดยการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมามีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริมและเพื่อประชาสัมพันธ์ลีเล็ดให้เป็นที่รู้จักแก่คนภายนอก ซึ่งภายหลังการก่อตั้งกลุ่มนี้และมีสมาชิกจำนวนหนึ่งแล้วจึงมีการดำเนินงานต่างๆ ทั้งดูแลรักษาสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทั้งประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ชักชวนผู้คนเข้ามาท่องเที่ยว จัดทำแผนท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆในชุมชน นอกจากนี้ทางกลุ่มเองได้มีการแบ่งการจัดการต่างๆในการรองรับการท่องเที่ยวแก่สมาชิกเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น บ้านพัก เรือ รถ ผู้นำเที่ยวท้องถิ่น และฝ่ายติดต่อประสานงาน ซึ่งจากการดำเนินงานต่างๆของกลุ่มนี้ทำให้ต่อมาชุมชนลีเล็ดจึงเป็นที่รู้จักของคนภายนอก มีผู้คนเข้ามาศึกษาดูงาน รวมถึงเข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติและวิถีชีวิตภายในชุมชนแห่งนี้เสมอ จนทำให้ในปัจจุบันชุมชนลีเล็ดถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สำคัญแห่งหนี่งของประเทศไทยนั่นเอง

ชุมชนลีเล็ดเป็นชุมชนที่ครอบคลุมพื้นที่ของตำบลลีเล็ด ที่อยู่ในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยตำบลลีเล็ดห่างจากตัวอำเภอไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 26.66 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,661 ไร่ มีหมู่บ้านภายในชุมชน 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบางใหญ่ฝั่งขวา (หมู่ 1 ), บ้านคลองราง (หมู่ 2 ), บ้านบางใหญ่ฝั่งซ้าย (หมู่ 3 ), บ้านบางบุตร (หมู่ 4 ) บ้านบางพลา (หมู่ 5 ) บ้านบางในบ้าน (หมู่ 6 ) บ้านคลองกอ (หมู่ 7 ) บ้านบางทึง (หมู่ 8 ) 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ่าวบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบางโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของตำบลลีเล็ด มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำและลำคลองไหลผ่าน ได้แก่ คลองพุนพิน คลองลีเล็ด คลองกอ บางส่วนอยู่ติดกับทะเลเหมาะแก่การทำประมง มีน้ำเค็มท่วมถึง เป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีป่าชายเลนกว่า 7,818 ไร่

ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะของภูมิอากาศจะมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน เป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากบริเวณจีนใต้ที่ผัดผ่านอ่าวไทย ในช่วงฤดูฝนจะพบว่าค่อนข้างยาวนานโดยนับตั้งแต่พฤษภาคมยาวจนถึงมกราคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1.578 มิลลิเมตร และมีอุณภูมิเฉลี่ย คือ ต่ำสุด 21.16 องศาเซลเซียส สูงสุด 34.51 องศาเซลเซียส

การเดินทางเข้าสู่ชุมชน

เส้นทางที่ 1 หากเดินทางจากกรุงเทพฯ ให้เดินทางมาตามถนนสายเพชรเกษม และต่อมาตามถนนสายเอเชีย (A2 หรือเส้นทางหมายเลข 41) ถึงกองบิน 7 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 417 ถึงสี่แยกไฟแดง เลี้ยวซ้ายไปบ้านบางพลาประมาณ 6 กิโลเมตร กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ตั้งอยู่ทางขวามือก่อนถึงสี่แยกบ้านบางพลา

เส้นทางที่ 2 หากเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ให้ข้ามสะพานแม่น้ำตาปีตรงศาลหลักเมือง มาประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกบ้านบางพลา (สี่แยกที่สอง) ประมาณ 20 เมตร กลุ่มชุมชนลีเล็ดจะตั้งอยู่ซ้ายมือ

เส้นทางที่ 3 หากเดินทางจากกระบี่ ให้เข้าเส้นทาง Southern Seaboard เลี้ยวซ้ายสู่ถนนสายเอเชีย (มีป้ายบอกว่าไปพุนพิน, ชุมพร) ผ่านสหกรณ์สุราษฎร์ธานี และสนามบิน เลี้ยวขวาตรงสามแยกไฟแดง เข้าสู่ถนนหมายเลข 417 เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไปแดงไปบ้านบางพลา ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ตั้งอยู่ทางขวามือก่อนถึงสี่แยกบ้านบางพลา

ตำบลลีเล็ดมีจำนวนประชากรทั้งหมด 4,142 คน ชาย 2,097 คน หญิง 2,045 คน มีจำนวนครัวเรือน 1,803 ครัวเรือน แบ่งเป็นแต่ละหมู่บ้าน ดังนี้

  • หมู่ 1 ทั้งหมด 213 คน ชาย 107 คน หญิง 106 คน มีจำนวนครัวเรือน 112 ครัวเรือน
  • หมู่ 2 ทั้งหมด 805 คน ชาย 423 คน หญิง 382 คน มีจำนวนครัวเรือน 293 ครัวเรือน
  • หมู่ 3 ทั้งหมด 410 คน ชาย 199 คน หญิง 211 คน มีจำนวนครัวเรือน 169 ครัวเรือน
  • หมู่ 4 ทั้งหมด 723 คน ชาย 343 คน หญิง 380 คน มีจำนวนครัวเรือน 306 ครัวเรือน
  • หมู่ 5 ทั้งหมด 696 คน ชาย 363 คน หญิง 333 คน มีจำนวนครัวเรือน 358 ครัวเรือน
  • หมู่ 6 ทั้งหมด 608 คน ชาย 312 คน หญิง 296 คน มีจำนวนครัวเรือน 236 ครัวเรือน
  • หมู่ 7 ทั้งหมด 420 คน ชาย 209 คน หญิง 211 คน มีจำนวนครัวเรือน 203 ครัวเรือน
  • หมู่ 8 ทั้งหมด 267 คน ชาย 141 คน หญิง 126 คน มีจำนวนครัวเรือน 126 ครัวเรือน

นอกจากประชากรที่กล่าวมานี้ยังพบประชากรแฝงไม่ต่ำกว่า 500 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่อพยพจากภาคอีสานและประเทศพม่ามาทำงานเป็นลูกจ้างให้กับกลุ่มนายทุนประมง นากุ้งและสวนปาล์มในพื้นที่

การประกอบอาชีพการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนลีเล็ดที่มากที่สุดคือประมง รองลงมาเป็นเกษตรกรรม เช่น สวนมะพร้าว สวนปาล์ม กล้วย นอกจากนั้นก็จะประกอบอาชีพ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และรับราชการ

ชุมชนลีเล็ดพบมีการรวมกลุ่มของผู้คนภายในชุมชนทั้งรูปแบบกลุ่มทางการ ไม่เป็นกลุ่มทางการและการรวมกลุ่มอาชีพ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มทางการ

คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เพื่อจัดการปัญหาของสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีการบุกรุกป่าชายเลน ทำประมงผิดกฎหมายและการปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้งลงสู่ทะเล โดยมีการรวมกลุ่มคนจาก 8 หมู่บ้านตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาระยะแรกมีจำนวน 45 คน ซึ่งหลังการก่อตั้งกลุ่มได้มีการดำเนินงานทั้งตรวจตราไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่า และไม่ให้ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งออกมาตรการข้อบังคับต่างๆ เพื่อรักษาผืนป่าชายเลนและทรัพยากรที่มีอยู่ ในคณะกรรมการหมู่บ้านนี้จะมีการแยกออกไปอีกหลายชุดและมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น มีคณะกรรมการชุมชนประมงต้นแบบ คณะกรรมการหมู่บ้านทุกส่วน คณะกรรมการดูแลป่าชายเลน สภาเด็กและเยาวชน สภาที่ปรึกษาการจัดการทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งผลจากความร่วมมือร่วมใจดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบัน มีพื้นที่ป่าชายเลน หรือป่าอนุรักษ์ภายในชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 8,000 ไร่ 

กลุ่มไม่เป็นทางการ

กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่ หมุ่ 5 บ้านบางพลา ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2547 โดยแกนนำการก่อตั้งคือ นายประเสริฐ ธัญจุกรณ์ กำนันตำบลลีเล็ด วัตถุประสงค์หลักๆของกลุ่มนี้คือหวังให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือ เป็นกุลโลบาย ในการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งหลังจากก่อตั้งกลุ่มและดำเนินงาน กลุ่มนี้ก็ได้รับรางวัลมากมาย เช่น มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย รางวัลกินรีทองคำประเภทการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรางวัลที่ 1 ระดับประเทศ ปี 2551 ในปี 2553 ได้รับรางวัลการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ในระดับประเทศ กล่าวได้ว่าการดำเนินงานของกลุ่มนี้นอกจากก่อให้เกิดการอนุรักษ์ภายในชุมชนแล้ว ยังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนแห่งนี้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นอีกด้วย

กลุ่มอาชีพ

กลุ่มใบจาก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านลีเล็ด มีหัวหน้ากลุ่มคือนางอุไร ประตูใหญ่มีสมาชิก 15 คน อายุ 20 ปีขึ้นไป จัดตั้งกลุ่มเมื่อปี พ.ศ.2520 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของใบจาก และป้องกันการกดราคาของพ่อค้าคนกลาง เพื่อสร้างอาชีพและแก้ปัญหาความยากจน หลักการคือต่างคนต่างทำมารวมกันขายไม่มีองค์กรใดสนับสนุน

กลุ่มกะปิ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 หัวหน้ากลุ่มคือนางพวงศรี ขาวสุวรรณ มีสมาชิกประมาณ 10 คน ตั้งกลุ่มมาประมาณ 10 ปี มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเพื่อแบ่งงานกันทำ เพราะกะปิวิธีการทำหลายขั้นตอน ถ้าทำคนเดียวต้องใช้เวลานาน วิธีการทำงานของสมาชิก คือ รวมกลุ่มกันทำงานมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และพัฒนาชุมชน

กลุ่มเลี้ยงด้วง เจ้าของคือคุณสุภา เริ่มทำมาประมาณ 1 ปี เพื่อเป็นอาชีพเสริม เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีรายได้ดี ส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลาง และขายปลีกในหมู่บ้าน ราคากิโลกรัมละ 150 บาท พัฒนาชุมชนให้ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงและแม่พันธุ์

กลุ่มสมุนไพร หัวหน้ากลุ่มคือนางอรศรี จันทรทาโพ มีสมาชิกทั้งหมด 25 คนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 มีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนได้ปฐมพยาบาลด้วยยาสมุนไพร ส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน ต่างคนต่างปลูกสมุนไพรที่บ้าน แล้วนำมาแปรรูปที่กลุ่ม ขายส่งที่โรงพยาบาลพุนพิน ขายปลีกในหมู่บ้าน ได้รับการสนับสนุนจากเกษตรตำบล และโรงพยาบาลพุนพิน ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีฟ้าทะลายโจรแค็ปซูล ตะไคร้หอมกันยุง ยาสระผม ดอกอัญชัน น้ำยาล้างจานมะกรูด ฯลฯ

กลุ่มจักสาน หัวหน้ากลุ่มคือคุณจำเนียร มีสมาชิก 25 คน ตั้งกลุ่มเมื่อปี พ.ศ.2532 มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ สร้างงานสร้างรายได้ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ เช่น เสวียนหม้อ ตะกร้าผลไม้ ส่งขายตามงานทั่วไป

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

พบว่าในรอบปีชาวบ้านในชุมชนลีเล็ดจะมีประเพณีต่างๆที่แสดงถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ดังนี้

  • วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม ของทุกปี ชาวบ้านจะนำอาหารไปทำบุญตักบาตรที่วัด เพื่อเสริมสิริมงคลให้ตนเอง และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ววันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตอนเช้าก็จะมีการทำบุญตักบาตรตอนเย็นร่วมกันเวียนเทียนเพื่อทำบุญและสืบทอดประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา
  • วันสงกรานต์ วันที่ 13 - 15 เมษายน ของทุกปี ตอนเช้าทำบุญตักบาตร เมื่อเสร็จพิธีมีการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ สาดน้ำสงกรานต์ เพื่อแสดงความเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่สืบทอดประเพณีไทย
  • วันจบปีจบเดือน ตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือน 5 มีการทำบุญตักบาตรการละเล่นพื้นบ้าน เล่นสะบ้าหญิงไหว้ชายรำ โดยมีติกาว่าถ้าฝ่ายชายแพ้ต้องรำ แต่หากฝ่ายหญิงแพ้ต้องไหว้ ปัจจุบันมีการแข่งขันปืนเสาน้ำมัน แข่งพายเรือหัวใบ้ท้ายบอด พายกระทะเป็นการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไทย
  • วันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วัน ตอนเช้านำอาหารไปทำบุญตักบาตร ตอนเย็นเวียนเทียนที่วัด
  • วันสวดคลอง นิยมทำในเดือน 6 ของทุกปี แต่ละหมู่บ้านมีการจัดไม่ตรงกัน โดยตอนเช้าชาวบ้านทำแพเล็ก ๆ ด้วยกาบกลัวย แล้วให้คนในหมู่บ้านนำดอกไม้ธูปเทียนข้าวสาร เส้นผม เล็บ และเศษเสื้อผ้าใส่ลงในแพ นำไปลอยในคลอง เชื่อว่าเป็นการนำเอาสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว ชาวบ้านเรียกแพนี้ว่า "เรือเจ้าเรือนาย" จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือเพื่อสวดทำพิธี ชาวบ้านจะขับเรือให้พระสงฆ์สวดไปตลอดทางในคลอง เป็นการสะเดาะเคราะห์ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากคลอง แต่หากหมู่บ้านใดมีการตายที่มากผิดปกติก็อาจทำการสวดคลองเร็วขึ้น
  • วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เช้าทำบุญตักบาตร เย็นชาวบ้านนำเงินห่อกระดาษ ดอกไม้ธูปเทียนไปวัด มีการทำพิธีในโบสถ์
  • วันรับตายาย วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่เชื่อว่ายมทูตปล่อยวิญญาณบรรพบุรุษมารับส่วนบุญจากลูกหลาน จึงทำพิธีรับวิญญาณเหล่านั้น ด้วยการนำอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด
  • วันส่งตายาย (วันสารทไทย) วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับ ชาวบ้านจึงให้ความสำคัญมากกว่าวันรับ ชาวบ้านเตรียมอาหาร ขนมผลไม้ และกระดูกของบรรพบุรุษไปทำบุญที่วัด ตอนบ่ายสวดบังสุกุลที่วัด
  • วันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด
  • งานชักพระทอดผ้าป่า วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คืนวันพระ 15 ค่ำ พระสงฆ์ร่วมกับซาวบ้านจะทำเรือพนมพระ และรถพนมพระ ตกแต่งพุ่มผ้าป่า วันรุ่งขึ้นจะนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือเพื่อประพรมน้ำมนต์ไห้กับชาวบ้านทั่วไป
  • วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร ตอนเย็นชาวบ้านจะนำกระทงดอกไม้ไปลอยในลำคลอง การลอยกระทรงเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาเพื่อสะเดาะเคราะห์
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดบางพลา ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลลีเล็ด สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 100 ปี เดิมวัดนี้ชื่อวัดแก้วประดิษฐาราม แต่ด้วยมีต้นพลาขึ้นชุกชุมชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดบางพลา โบสถ์หลังเก่าของวัดนี้มีการฝังลูกนิมิตร 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดเสมาวิบัติบวชพระไม่เป็นองค์จึงทำให้ต้องมีการฝังใหม่ ซึ่งการฝังอีกครั้งนี้ประมาณปีพ.ศ.2450 โดยมีพ่อท่านครื้นเป็นเจ้าอาวาส สมันก่อนมีองค์เจดีย์อาสยุประมาณ 100 กว่าปี ซึ่งชาวจีน ชื่อ เช็ก ดายดิ้นเป็นผู้สร้าง แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว ทั้งนี้วัดนี้สำคัญกับชาวชุมชนหมู่ 5 ลีเล็ดมากเพราะเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่างๆของชาวชุมชน

วัดบางใหญ่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลลีเล็ด เป็นวัดเก่าแก่ ที่คาดว่าสร้างเมื่อประมาณ 2452 สมัยพระครูชลาธรธำรง เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด โดยการสร้างวัดนี้น่าจะได้รับการร่วมมือจากชาวบ้าน พระสงฆ์ เจ้าอาวาสในการสร้าง สมัยแรกอุโบสถของวัดแห่งนี้เป็นไม้ ซึ่งไม้ที่นำมาสร้างได้มาจากตำบลบ่อกรัง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเข้าด้วยการล่องเรือมา ต่อมาประมาณปีในปี พ.ศ.2510-2515 ได้มีการบูรณะอุโบสถใหม่เป็นปูนโดยสร้างครอบหลังเก่าเอาไว้ ทั้งนี้วัดแห่งนี้มีความสำคัญกับในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย เพราะเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในปีพ.ศ. 2484 และกองทัพพันธมิตรก็ทิ้งระเบิดใส่กองทัพญี่ปุ่น รวมถึงทำลายเส้นทางคมนาคมอย่างสะพานจุลจอมเกล้าที่ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นต้องอพยพหนีกันมา โดยมาอยู่ที่วัดบางใหญ่แห่งนี้ ถือว่าเป็นวัดในการหลบสงครามของผู้คนในสมัยนั้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนี้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวหมู่ 1 ตำบลลีเล็ดที่เมื่อมีวันสำคัญทางศาสนาต่างๆก็จะไปทำกิจกรรมกันอย่างคึกคักเสมอ

ลิเกป่าคณะพ่วงศรีวิชัย ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนาเป็นลิเกในอดีตเคยมีเล่นกันแพร่หลายในจังหวัดตรัง กระบี่และนครศรีธรรมราช โดยมักเล่นในงานวัดหรืองานศพ ในการแสดงมักนำเนื้อเรื่องจากวรรณคดีต่างๆมาแสดง จะมีเครื่องดนตรีหลักอย่างรำมะนา, โหม่ง, ฉิ่ง เป็นหลัก ส่วนเครื่องแต่งกายนักแสดงมักแต่งกายกันตามที่สามารถหาได้ไม่ยึดแบบแต่ตัวเอกอาจจะต้องแต่งกายพิเศษให้รู้ ส่วนภาษาการแสดงก็ไม่ยึดแบบเช่นกันสามารถร้องได้ตามภาษาพื้นเมืองของตน อาจกล่าวว่าภาพรวมของลิเกป่านี้คือการไม่เล่นไม่ยึดถือแบบฉบับ เน้นความบันเทิงและความสนุกสนานเป็นหลัก ซึ่งลิเกป่านี้ปัจจุบันแทบไม่มีคณะที่แสดงหรือคนที่สืบสานแล้วและหาดูได้ยากอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามในชุมชนลีเล็ดแห่งนี้ได้มีคณะลิเกป่าหนึ่งที่ยังสืบสานอยู่ ซึ่งมีชื่อว่าคณะพ่วงศรีวิชัย คณะนี้มีนายพวง ศรีเพชรพูล เป็นหัวหน้า คอยแสดงให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนลีเล็ด จะพบว่าด้วยการแสดงของลิเกคณะนี้ประกอบกับความหาดูได้ยากของลิเกป่าได้ทำให้ผู้คนต่างให้ความสนใจอย่างมาก ผู้คนต่างๆเดินทางเข้ามาชุมชนลีเล็ดส่วนหนึ่งก็เพื่อมาชมการแสดงลิเกป่าของคณะนี้ ดังนั้นจุดนี้จึงทำให้คณะลิเกพ่วงศรีวิชัยจึงเป็นทุนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชุมชน 

โครงการป่าในเมืองห้วยทรัพย์ ตั้งอยู่หมู่ 4 ของตำบลลีเล็ด เป็นแหล่งพักผ่อนและเรียนรู้ด้านระบบนิเวศป่าชายเลนบนพื้นที่ 600ไร่ โดยที่แห่งนี้จะมีทาง Walk Way ระยะทาง 800 เมตร ให้สามารถเดินชื่นชมธรรมชาติในป่าชายเลนได้ ซึ่งระหว่างทางจะมีป้ายให้ความรู้พันธุ์ไม้ตลอดระหว่างทาง

ทุนทางกายภาพ

ชุมชนลีเล็ดถือเป็นชุมชนที่มีกายภาพโดดเด่นมาก เพราะมีทะเล มีแม่น้ำลำคลองและมีป่าชายเลน กล่าวคือทางทิศเหนือชุมชนจะอยู่ติดทะเลหรืออ่าวบ้านดอนที่มีสัตว์น้ำจำนวนมาก ส่วนภายในชุมชนแห่งนี้ก็มีแม่น้ำลำคลองลายสายที่มีสัตว์น้ำจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุดชุมชนแห่งนี้ยังมีพื้นที่ป่าชายเลน ที่เป็นป่ารุกทะเลกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 7,818 ไร่ ซึ่งความกว้างใหญ่ของป่าชายเลนทำให้ถูกขนานนามว่า “ป่าอเมซอนเมืองไทย” โดยภายในป่าชายเลนแห่งนี้จะมีต้นไม้และสัตว์ป่าชายเลนนานาพันธุ์ ซึ่งพืชต้นไม้ที่ขึ้นภายในป่าชายเลนแห่งนี้ อาทิเช่น ลำพู โกงกาง แสม ถั่ว ลำพูหิน ตะบูน หลุมพอ ลำแพน เหงือก แสม จาก ปรงทะเล หน่อเซียน ตระไคร้น้ำ เป็นต้น ส่วนมีสัตว์ที่อยู่ในป่าชายเลนนี้ อาทิเช่น ลิงหางยาว นกกระยาง นกกระปูด หิ่งห้อย งู ผึ้ง ต่อ ปูทะเล ปูเปี้ยว หอยจุ๊บแจง หอยกัน กุ้งต่างกุลา กุ้งแชบ๊วย ปูม้า หอยแครง หอยตอก เป็นต้น

การที่ชุมชนลีเล็ดมีกายภาพและทรัพยากรที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อย่างมากเช่นนี้ถือได้ว่าส่งผลดีกับชาวบ้านและชุมชนอย่างมาก โดยในด้านของชาวบ้านพบว่ากายภาพทำให้ชาวบ้านสามารถอาศัยใช้ประโยชน์ต่างๆจากกายภาพและทรัพยากรเหล่านี้ได้ โดยชาวบ้านสามารถใช้ทะเลที่อยู่ติดชุมชนและใช้แม่น้ำลำคลองภายในชุมชนทำประมงจับสัตว์น้ำหาเลี้ยงชีพได้ รวมถึงชาวบ้านยังใช้ความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติป่าชายเลนมาจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้แก่คนภายนอก ซึ่งจุดนี้ก่อให้เกิดรายได้แก่ชาวบ้านเช่นกัน นอกจากนี้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากพืชพันธ์และสัตว์ในป่าชายเลนมาทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เช่น เกิดการทำสิ่งของ เกิดการทำอาหาร เกิดการทำยาสมุนไพร เป็นต้น ส่วนในด้านของชุมชนกายภาพเหล่านี้ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จัก ทำให้ชุมชนนี้มีเอกลักษณ์ และมีอัตลักษณ์เป็นของชุมชนที่แตกต่างจากชุมชนอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียง อาจกล่าวได้ว่ากายภาพของชุมชนลีเล็ดจึงถือเป็นทุนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้คนและต่อชุมชนลีเล็ดแห่งนี้นั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แต่เดิมสิบกว่าปีก่อนพื้นที่ของชุมชนลีเล็ดมีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าชายเลน ทำประมงผิดกฎหมายและการปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้งลงสู่ทะเล ทำให้พื้นที่สภาพแวดล้อมของชุมชนที่ติดทะเลเริ่มเสื่อมโทรม แต่ทั้งนี้ต่อมาด้วยประชาชนที่ตระหนักกับผลเสียของสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่จึงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ โดยเริ่มแรกมีการรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านในตำบลลีเล็ดเพื่อดำเนินงาน ทั้งตรวจตราไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่า และไม่ให้ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งออกมาตรการข้อบังคับต่างๆเกี่ยวกับธรรมชาติสภาพแวดล้อมของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์เพื่อให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือกุลโลบายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆภายในชุมชน กล่าวว่าจากการรวมกลุ่มจัดการและส่งเสริมต่างๆเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเหล่านี้ส่งผลให้ไม่นานนักสภาพแวดล้อมที่เคยเสื่อมโทรมของชุมชนก็กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จนทำให้ป่าชายเลนของชุมชนมีขนาดเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปัจจุบันป่าชายเลนของชุมชนแห่งนี้สามารถมีขนาดถึง 7,818 ไร่เลยทีเดียว 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). ป่าในเมือง บ้านห้วยทรัพย์ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/177/news/278/detail/49039.

กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์. (2557). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://tutapangkung.blogspot.com/2014/02/blog-post_8396.html.

กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://uppersouthcbt.sru.ac.th/show_community.php?id=21.

เกี่ยวกับ “กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนลีเล็ด”. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.takemetour.com/local-community/community/กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนลีเล็ด.

เกี่ยวกับชุมชนลีเล็ด. (2559). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.villagetotheworld.com/meetinthevillage/th/lee-led/2016/09/25/7051.

จิตศักดิ์ พุฒจร. (2556). ศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. การประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นประจำปี 2554: เรื่อง การพัฒนาอนาคตชนบทไทย : ฐานรากที่มั่นคงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ชาวบ้านลีเล็ดอนุรักษ์ป่าชายเลน ฟันรายได้เลี้ยงหอยแครง 11 ล้าน. (2558). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/news-view.php?id=5868&s=tblanimal.

ชุมชนลีเล็ด จ.สุราษฎร์ธานี. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.outingforsomething.com/company-outing/leeled-eco-tourism-community/.

ทรูไอดี. (2563). เที่ยวป่าชายเลนเดินได้ชายฝั่งอ่าวไทย ที่โครงการป่าในเมืองบ้านห้วยทรัพย์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/NJPAANmo3qe5.

นันทรัตน์ ทองมีเพชร. (2553). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กรณีศึกษาชุมชนลีเล็ด ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

นันทิกานต์ ช่วยยิ้มและคณะ. (ม.ป.ป.). ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สุราษฎร์ธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี.

เบญจมาศ ศรีมันตะ. (2554). ลิเกป่า: กรณีศึกษาคณะลิเกป่าพันปี ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยดุริยางควิทยา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ผู้จัดการออนไลน์. (2563). สัมผัสเสน่ห์ “ชนบทที่รัก” ชุมชนลีเล็ด-ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ กับกิจกรรม Media & Trade FAM TRIP โครงการ Thailand Village Academy Season 2. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000097280.

วิรตี ทะพิงค์แก. (2560). เที่ยวช้าๆ ริมป่าชายเลน ตำกะปิ เก็บหอย ลอยเรือชมหิ่งห้อยที่บ้านลีเล็ด สุราษฎร์ธานี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.greenery.org/leeled-tourism/.

สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2551). การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการวัฒนธรรม: กรณีศึกษาการแสดงมโนราห์ในกลุ่มโฮมสเตย์ ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

สุวัฒน์ หม่นมั่น. (2551). การศึกษาภูมิปัญญานิเวศวิทยาชาวประมงพื้นบ้านกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล: กรณีศึกษาประมงพื้นบ้าน ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

องค์การบริหารส่วนตำบลลีเล็ด. (2566). สภาพทั่วไป. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.leeled.go.th/front/post/107/3.