บ้านบางตงเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพสังคมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสถานะการกำลังพัฒนาของหมู่บ้านสู่ความเจริญแบบสังคมเมือง บ้านบางตงจึงมีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม จากความหลากหลายของศาสนา ประเพณี ทั้งกลิ่นไอของความเป็นชนบท รวมถึงภาพของสังคมเมืองที่กำลังเข้ามาเยือนชาวบางตง
บริเวณหมู่บ้านเคยเป็นพื้นที่ป่า มีต้นไม้ใหญ่และมีไม้ไผ่ตรงขึ้นตามลําคลอง จึงเรียกติดปากว่าหมู่บ้าน “บางตง” จนปัจจุบัน
บ้านบางตงเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพสังคมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสถานะการกำลังพัฒนาของหมู่บ้านสู่ความเจริญแบบสังคมเมือง บ้านบางตงจึงมีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม จากความหลากหลายของศาสนา ประเพณี ทั้งกลิ่นไอของความเป็นชนบท รวมถึงภาพของสังคมเมืองที่กำลังเข้ามาเยือนชาวบางตง
บ้านบางตงในอดีต เดิมเป็นหมู่บ้านที่อยู่รวมอยู่กันกับหมู่ 7 บ้านหน้าทับ บริเวณหมู่บ้านเคยเป็นพื้นที่ป่ามีต้นไม้ใหญ่และมีไม้ไผ่ตรงขึ้นตามลําคลอง จึงกลายเป็นชื่อหมู่บ้าน “บางตง” จนปัจจุบัน คนแรกที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่อยู่ในบริเวณพื้นที่ คือ นายเกบ มะหมีน นายดีหมาน (ไม่ทราบนามสกุล) และนายดาหมาน หวั่นหมาน แรกเริ่มประกอบอาชีพเกษตร ทํานา ปลูกผัก ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร และสําหรับแลกเปลี่ยนกับบุคคลภายนอก หลังจากนั้นจึงได้ชักชวนกลุ่มคนในละแวกใกล้เคียงมาตั้งรกรากรวมกัน โดยส่วนใหญ่มีการย้ายถิ่นฐานมาจากรัฐกลันตัน ไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งยังมีชาวไทยพุทธที่ได้ย้ายถิ่นฐานจากปากพนัง บ้านเกราะ ปากพูน และตัวอําเภอเมืองนครศรีธรรมราช เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้น จึงร่วมกันพัฒนาพื้นที่ สร้างบ้านเรือนจนเป็นชุมชนอย่างชัดเจน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสระบัว หมู่ 6 ตำบลท่าศาลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองปากพยิง และพื้นที่เขตรอยต่ออำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนสี่เลนส์ สาย 401 นครศรีธรรมราช-ท่าศาลา และบ้านหน้าทับ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าศาลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองแบ่งเขตระหว่างตำบลท่าศาลา และตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านบางตงมีทรัพยากรธรรามชาติที่สำคัญ คือ คลองบางตงและคลองปากพยิง โดยคลองบางตง เป็นคลองขนาดเล็กเชื่อมจากคลองปากพยิง ผ่านคลองบางตงต่อไปถึงคลองท่าสูง คลองบางตงในอดีตมีความสำคัญต่อคนในชุมชนอย่างมาก ใช้ในการทำเกษตรต่อมาได้ มีการทำฝายกันน้ำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 เพื่อกักเก็บน้ำและกั้นน้ำเค็มที่ไหลเข้ามา เพื่อให้คนกลางน้ำ และต้นน้ำได้มีน้ำทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
คลองปากพยิง เป็นคลองที่รับน้ำมาจากเทือกเขาหลวงปล่องลงสู่ทะเล แต่เดิมเป็นคลองที่ใช้สัญจรของเรือสําเภาหรือเรือค้าขายต่าง ๆ ที่ออกจากทะเลกลับเข้ามาในฝั่ง และเมื่อก่อนมีเส้นทางที่คดโค้งและอ้อมออกไปจากตัวหมู่บ้าน และเนื่องด้วยการตกลงพูดคุยในเส้นทางน้ำจึงได้มี การขุดคลองสายตรงที่รับน้ำจากเขาหลวงไหลตรงลงสู่ทะเล ซึ่งทำให้น้ำไหลสะดวก และเมื่อระยะเวลาผ่านไปการกัดเซาะของน้ำจึงทำให้คลองมีขนาดที่กว้างขึ้นเป็นอย่างมากหลายเท่าตัวและก็ยังเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุปลากะพงของชุมชน จึงถือว่าเป็นอีกสถานที่ที่สำคัญต่อคนในชุมชนเช่นกัน
สถิตจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลท่าศาลา หมู่ที่ 15 บ้านบางตง มีประชากรทั้งสิ้น 2,058 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,009 คน และประชากรหญิง 1,049 คน (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2566)
การประกอบอาชีพ
บ้านบางตง ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านที่กําลังเข้าสู่ช่วงการพัฒนาไปสู่ความเจริญ ทำให้สภาพสังคมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเนื่องด้วยจากพื้นที่บ้านบางตงมีประชากรมากและที่ดินทำกินน้อย จึงทำให้ปัจจัยที่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้พื้นที่ทำการเกษตรในส่วนของบ้านบางตงมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา และสวนมะพร้าว ในส่วนของอาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชน คือ รับจ้าง เช่น ก่อสร้าง แกะปู แทงปาล์ม ถางหญ้า ออกเรือหาปูเปรี้ยว เป็นต้น และอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวบ้านนิยมทำ คือ ค้าขาย อาชีพที่มั่นคงทางสังคม ได้แก่ อาจารย์มหาวิทยาลัย ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ครู พยาบาล เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นถึงการปรับตัวจากสภาพสังคมที่กําลังเข้ามาเปลี่ยนผ่าน การประกอบอาชีพรับจ้างจึงเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน แต่ด้วยอาชีพรับจ้างเป็นงานที่ไม่แน่นอนและคนในชุมชนทำกันมากจึงทำให้มองเห็นถึงปัญหาการว่างงานของคนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม แม้อาชีพรับจ้างจะเป็นอาชีพที่ชาวบ้านในหมู่บ้านบางตงส่วนใหญ่นิยมทำและยึดเป็นอาชีพหลักทว่ายังประสบหาทั่วไปในการประกอบอาชีพ เป็นในเรื่องของการจ้างงาน สุขภาพ และการดูแลบุตร หมายถึง การจ้างงานในอาชีพงานรับจ้างมีหลายงานแต่ละงานจะถูกเลือกจากความถนัดหรือเล็งเห็นว่าสามารถทำได้และค่าตอบแทนคุ้มค่า รวมถึงเรื่องสุขภาพของตนเองในการเลือกอาชีพ รับจ้างเพื่อเหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง ในส่วนของการดูแลบุตร ในชุมชนส่วนใหญ่จะมีบุตรหลานเยอะจึงทำให้ไม่สะดวกต่อการไปประกอบอาชีพที่เป็นรูปแบบเต็มเวลาเพราะจะไม่มีใครดูแลรับส่งบุตรหลานของตนเอง ข้อดี คือ เล็งเห็นว่าคนในชุมชนมีความใส่ใจต่อบุตรหลาน ข้อเสีย คือ การหารายได้เข้าครัวเรือนลดน้อยลงค่าใช้จ่ายมากขึ้น คนในครอบครัวที่ทำงานเป็นหลักได้เพียงคนเดียวซึ่งไม่เพียงพอ
รายได้ และภาระหนี้สิน
รายได้หลักของคนในชุมชนมาจากอาชีพรับจ้างถึงร้อยละ 70 นอกนั้นจะเป็นค้าขายร้อยละ 10 สวนปาล์ม ยางพารา สวนมะพร้าวร้อยละ 5 เลี้ยงสัตว์ร้อยละ 5 รับราชการ เจ้าหน้าที่วิสาหกิจร้อยละ 5 ประกอบกิจการส่วนตัวร้อยละ 3 อื่นๆ เช่น ออกเรือจับปูเปรี้ยว และหาปลา ร้อยละ 2
ภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของชาวบ้านบางตงมาจากค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าสวน และร้านค้ากับร้านน้ำชา ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสําคัญของค่าใช้จ่ายของคนในชุมชน อาหารสดในชุมชนราคาค่อนข้างถูกจึงทำให้ผู้คนในชุมชนนิยมที่จะซื้ออาหารสำเร็จรูปรับประทานทานมากกว่าจะปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายจากเสื้อผ้าที่ราคาค่อนข้างสูงทั้งชายและหญิง รายจ่ายจากการผ่อนรถและบ้าน รวมถึงหนี้สินกับทางรัฐบาล กองทุนกู้ยืมต่าง ๆ เป็นต้น
ปฏิทินเศษฐกิจ การประกอบอาชีพ
- รับจ้างทั่วไป : ตลอดทั้งปี
- รับราชการ : ตลอดทั้งปี
- ปลูกปาล์มน้ำมัน : มกราคม-กุมภาพันธ์ และพฤศจิกายน-ธันวาคม
- กรีดยาง : มีนาคม-กันยายน
- จับปูเปรี้ยว : ตลอดทั้งปี
- เด็ดก้านพริก : ตลอดทั้งปี
- เหลาทางมะพร้าว : ตลอดทั้งปี
- ฉีกใบจากทำมวนยาสูบ : ตลอดทั้งปี
- เย็บมุ้งเขียว : ตลอดทั้งปี
- ทอหางอวน : ตลอดทั้งปี
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
เส้นทางการคมนาคม
เส้นทางการสัญจรภายในหมู่บ้านบางตงเป็นถนนคอนกรีต ทั้งหมด 10 ซอย ได้แก่
-
ซอยหลังตลาดพุธ
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มซึ่งฝั่งหนึ่งจะติดกับถนนหลัก
401 คลองปากพยิงและติดกับตลาดนัดเช้าวันพุทธ
-
ซอยสระกก
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
-
ซอยปลากะพง
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และสุดทางของซอยจะจรดกับคลองปากพยิงและมีการเลี้ยงปลากะพงเป็นกระชัง
-
ซอยดารุ้ล
ติดกับเขตบ้านสระบัว
หมู่ 6 ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สุดซอยจะซอยศูนย์เด็กเล็กบ้านบาง
-
ซอยบางตงฟาร์ม
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพทําการเลี้ยงสัตว์และการเกษตร
-
ซอยบ้านรองนายก
(อบต.)
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
-
ซอยราชนุเคราะห์ 1
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีคลองแบ่งเขตกับหมู่ 7
เชื่อมต่อกับซอยศูนย์เด็กเล็ก
-
ซอยราชนุเคราะห์ 2
ส่วนใหญ่ผู้อาศัยเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีคลองแบ่งเขตกับหมู่ 7
เชื่อมต่อกับซอยศูนย์เด็กเล็ก
-
ซอยประทีปศาสน์
เป็นซอยของโรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาของชาวอิสลาม
ไฟฟ้า : ปัจจุบันได้มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าแบบมีหม้อแปลงและเสาหลักขนาดใหญ่และกระจายไฟฟ้าสู่ทุกครัวเรือน
ประปา : มีการสร้างประปาหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2557 และวางท่อบาดาลเมื่อ พ.ศ. 2558 ได้มีการขยายเขตในฝั่งบางตงใต้ก่อน คือ ในแถบตั้งแต่ซอยหลังตลาดพุธจนถึงซอยปลากะพง กระทั่ง พ.ศ. 2561 ได้ขยายเขตไปในซอยดารุ้ลและซอยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว
ปูแสม/ปูเปรี้ยว/ปูเค็ม/ปูดอง. (2565). สืบค้นเมื่อ 23 กรกาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 23 กรกาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
อริสรา ขวัญเวียน. (2560). การพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อสร้างสำนึกรักชุมชนและความสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัย ไทยพุทธ-มุสลิม ผ่านกระบนการมีส่วนร่วมของชมชน: กรณีศึกษาหมู่ 15 บ้านบางตง ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช. ปริญญาประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสามสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรกาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
NationPhoto. (2565). คนตัดปาล์ม รายได้ที่อยู่เหนือกลไกการตลาด. สืบค้นเมื่อ 23 กรกาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
Yazeen Surat. (2563). สืบค้นเมื่อ 23 กรกาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/photo/