Advance search

บ้านคีรีวง

สูดหมอก ฟอกปอด ยลเสน่ห์มนต์กลหุบเขา ขานเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาบรรพวิถี สร้างเศรษฐกิจชุมชนเลี้ยงชีวี ธารธาราอีกวารี ที่แห่งนี้ "คีรีวง"

หมู่ที่ 5
คีรีวง
กำโลน
ลานสกา
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ส.ค. 2023
บ้านคีรีวง


สูดหมอก ฟอกปอด ยลเสน่ห์มนต์กลหุบเขา ขานเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาบรรพวิถี สร้างเศรษฐกิจชุมชนเลี้ยงชีวี ธารธาราอีกวารี ที่แห่งนี้ "คีรีวง"

คีรีวง
หมู่ที่ 5
กำโลน
ลานสกา
นครศรีธรรมราช
80230
อบต.กำโลน โทร. 0-7553-3111
8.432497
99.78272
องค์การบริหารส่วนตำบลกำโลน

เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน คีรีวงเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเขาหลวง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ทหารที่ถูกเกณฑ์ไปรบที่เมืองไทรบุรีได้หนีทัพโดยเลาะเรื่อยขึ้นไปตามสายคลองขุนน้ำ จนกระทั่งถึงที่ราบระหว่างหุบเขาแห่งหนึ่ง ทราบว่า คือ เชิงเขานครศรีธรรมราช หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขาหลวง” จากนั้นได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นหย่อมเล็ก ๆ สอดคล้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 1 และ 2 ซึ่งปรากฏว่ามีไพร่หลบหนีการเกณฑ์ทัพไปรบเมืองไทรบุรีถึง 400 คน และในปี 2355 ก็ปรากฏว่ามีไพร่ 800-900 คน หลบหนีนายไปอยู่สงขลาและพัทลุง เนื่องจากเวลานั้นไพร่ต้องเข้าเวรรับใช้หลวงหรือไม่ก็ต้องเสียเงินปีหนึ่งถึง 18 บาท ดังนั้นจึงสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า เหล่าทหารเกณฑ์ที่มาตั้งรกรากที่คีรีวงนี้น่าจะเป็นไพร่หนีนายมาจากนครศรีธรรมราช

ชุมชนบ้านคีรีวง ตําบลกําโลน อําเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา มีวิถีชีวิตหากินอยู่กับป่า พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน วิถีธรรมชาติทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ทําสวนสมรมเป็นหลักในการดําเนินชีวิต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ชุมชนแห่งนี้ผ่านการต่อสู้กับวิกฤตธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สามารถยืนหยัดพลิกฟื้นแผ่นดินขึ้นมาด้วยความอุตสาหะของทั้งผู้นำและสมาชิกในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง กระทั่งสามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรของชาวบ้านอย่างหลากหลาย

ชุมชนบ้านคีรีวงได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งจากความกระตือรือร้นของชาวบ้านเองและประกอบกับความช่วยเหลือของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งอาจเรียงลำดับเวลาพัฒนาการชุมชน ดังนี้

  • ปี 2518 ตํารวจตระเวนชายแดนได้เข้ามาจัดโครงการฝึกลูกเสือชาวบ้าน 700-800 คน ฝึกเยาวชน รวมทั้งฝึกไทยอาสาป้องกันชาติ

  • ปี 2523 กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาส่งเสริมและให้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตโดยผ่านทางพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอําเภอ และในปีเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนายอําเภอลานสกา ได้มีโครงการให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัฒนาถนนหนทาง และให้แนวคิดเรื่องชุมชนพึ่งตนเองแก่บ้านคีรีวง

  • ปี 2528-2529 หมู่บ้านคีรีวงโด่งดังที่สุด เนื่องมาจากการได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อ.พ.ป.) อันดับ 1 ทั้งในการประกวดของจังหวัดและภูมิภาค และได้รับรางวัลชมเชยพิเศษในระดับประเทศ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท เพื่อนํามาพัฒนาหมู่บ้าน โดยทางชุมชนคีรีวงได้ฝากเงินจํานวนนี้ไว้กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในปีเดียวกันหมู่บ้านคีรีวงได้รับรางวัลหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองอีกด้วยเนื่องมาจากพระครูนิเทศธรรมรักษ์ พระสงฆ์สายธรรมทูตได้อบรมและพัฒนาจิตใจชาวคีรีวงให้ลด ละ เลิกอบายมุข พร้อมทั้งให้ตั้งใจทํางานและประพฤติตัวในทางที่ดี นอกจากนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสมทบกับชาวบ้านในการนําไฟฟ้าจากตัวอําเภอลานสกาเข้ามาสู่ชุมชน

  • ปี 2531 ชาวคีรีวงประสบอุทกภัย ซึ่งถือว่าเป็นภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ชาวคีรีวงเคยประสบมา ในครั้งนั้นชีวิตและทรัพย์สินของชาวคีรีวงเสียหายเป็นจํานวนมาก การพัฒนาในช่วงนั้นจึงเป็นการพัฒนาและ ช่วยเหลือชาวคีรีวงและชุมชนคีรีวงที่ประสบอุทกภัยเป็นหลัก

  • ปี 2532 มีโครงการฟื้นฟูและบรรเทาอุทกภัยบ้านคีรีวงโดยกรมชลประทาน เป็นโครงการตามแนวพระราชดําริให้ขุดลอกคลองและป้องกันตลิ่งเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะและลดแรงปะทะของน้ำในคลอง นอกจากนี้มูลนิธิศุภนิมิตยังได้มาสร้างที่พักพิงชั่วคราวประมาณ 300 หลัง ให้กับชาวบ้านที่บ้านถูกอุทกภัยทําลายไป ก่อนที่ชาวบ้านเหล่านี้จะสร้างบ้านใหม่ และมูลนิธิหมู่บ้าน ได้เข้ามาให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ

  • ปี 2533 กรมชลประทานได้ทําโครงการประปาเพื่อใช้ในการเกษตร โดยสร้างและวางท่อประปามาจากน้ำตกวังไม้ปักเข้ามาสู่ ชุมชนคีรีวง

  • ปี 2534 กรมโยธาธิการได้ทําโครงการสร้างสะพานข้ามคลองมาสู่ชุมชนคีรีวง สะพานนี้มีความยาวประมาณ 100 เมตร

  • ปี 2535 ได้มีโครงการอบรมและสร้างผู้นํา ซึ่งดําเนินการโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง โครงการก่อสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 74 (ชุมชนคีรีวง) โดยการสนับสนุนจาก มูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นอกจากนี้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาให้ความรู้ทางด้านการประกอบอาชีพและช่วยฝึกผู้นําเช่นกัน

  • ปี 2536 องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ทําโครงการก่อสร้างสะพานสู่ชุมชนคีรีวงข้ามคลองบ่งเข้ามา

  • ปี 2537 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับสถานทูตออสเตรเลียได้สนับสนุนในการทําโครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้ชาวบ้านลดการทําลายธรรมชาติและให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในการจัดการอาชีพรวมถึงธุรกิจชุมชน

  • ปี 2538 ชุมชนคีรีวงได้รับการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการมอบรางวัลกินรีทองคําให้กับชุมชน

  • ปี 2543 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ทําโครงการก่อสร้างถนนในชุมชนระยะทาง 10 กิโลเมตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

  • ปี 2544 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ทําโครงการสร้างป้ายสื่อความหมายในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในชุมชนคีรีวง

บ้านคีรีวงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอลานสกาไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทือกเขาหลวง อําเภอพรหมคีรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตําบลเขาแก้ว อําเภอลานสกา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตําบลท่าดี อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทือกเขาหลวง อําเภอพิปูน

บ้านคีรีวงตั้งอยู่บนที่ราบเล็ก ๆ ในหุบเขาท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม หันหลังชนกับเทือกเขาหลวงหรือเทือกเขานครศรีธรรมราช ในหมู่บ้านมีธารน้ำสายใหญ่ไหลผ่านกลาง 2 สาย คือ คลองปง และคลองท่าหา ซึ่งต้นน้ำมาจากยอดเขาหลวงบริเวณที่เรียกว่า ขุนน้ำท่าดี บริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นเชิงเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ทั้งพืชเศรษฐกิจที่เรียกว่า สวนสมรม ที่มีสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน ละมุด สะตอ หมาก เป็นต้น และพันธุ์ไม้ในป่าดงดิบ ซึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้

ด้านสภาพภูมิอากาศ บ้านคีรีวงเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบป่าฝนเมืองร้อนซึ่งมีความชื้นสูง มีมรสุมพัดผ่าน 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคมและฝนจะตกชุกในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลกำโลน หมู่ที่ 5 บ้านคีรีวง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 338 ครัวเรือน จำนวนประชากร 902 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 422 คน และประชากรหญิง 480 คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)

เศรษฐกิจชุมชน

ชาวคีรีวงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทําการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ การทําสวนสมรม การปลูกไม้ผลหลาย ๆ ชนิดไว้ด้วยกัน ซึ่งผลไม้ที่ปลูกกันมาก คือ มังคุด เงาะ หมาก ทุเรียน ละมุด ชมพู่ สะตอ มีการปลูกยางพารา และไม้อื่น ๆ สําหรับรายได้หลักของชาวคีรีวงก็จะได้จากการขายผลผลิตจากสวนสมรม ซึ่งมีผลผลิตจําหน่ายได้ตลอดปี นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนยังมีการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาชีพเสริม เช่น กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มทุเรียนกวน กลุ่มแปรรูปถนอมอาหาร (ทําขนม) เป็นต้น และมีชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ทํารายได้ให้แก่ชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะมีรายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยว เช่น บริการด้านอาหารและที่พัก เป็นมัคคุเทศก์ เป็นลูกหาบ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทน ตามอัตราที่ชมรมกําหนดไว้ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวเป็นจํานวนมาก

กลุ่มองค์กรชุมชน

ชุมชนบ้านคีรีวงมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมหลากหลายกิจกรรม เช่น กลุ่มทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการกลุ่มองค์การต่าง ๆ ได้มีการกําหนดระเบียบข้อบังคับกลุ่มอย่างชัดเจน มีการปรึกษาหารือ ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทำให้กลุ่มมีความเหนียวแน่น มั่งคง กลุ่มเกิดความรักใคร่ สามัคคี มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

กิจกรรมที่ดําเนินการในแต่ละประเภท กลุ่มองค์กรจะเน้นผลผลิตที่ได้จากวัตถุดิบในชุมชนเป็นหลัก ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนคีรีวงจะมีความสัมพันธ์กับป่าและสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมายาวนาน เช่น บรรพบุรุษมีการทำสวนสมรม มีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำโดยชุมชนจากทรัพยากรที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ ชุมชนคิดว่าควรจะได้มีการนําวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มหัตถกรรมจักสานคลุ้มมาใช้แปรรูปเป็นตะกร้า กระเป๋า กระจาด กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติมีการนําใบไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ มาใช้ในการย้อมสีผ้า กลุ่มสมุนไพร นำเปลือกมังคุดมาทำสบู่ สมุนไพรเปลือกมังคุด เป็นต้น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมามีการกล่าวขานเป็นที่ยอมรับของชาวคีรีวงและผู้มาเยี่ยมเยียน ผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏจํานวนไม่น้อยเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากบรรพบุรุษจนถึงรุ่นลูกหลาน เช่น การจักสานโตร๊ะเพื่อใส่หาบผลไม้ลงจากภูเขา การทำหมาต้อมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ขนม การนํากะลามะพร้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สมัยใหม่ เช่น กระดุม สร้อยคอ เข็มขัด กระเป๋า ต่างหู โคมไฟ ซึ่งสามารถจําหน่ายได้แพร่หลาย

1. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2523 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของชาวบ้านในชุมชนคีรีวง มีรูปแบบการดําเนินงานภายใต้กลุ่มคณะกรรมการในลักษณะกองทุนธนาคารชุมชน ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 26 ล้านบาท โดยมีการปล่อยเงินกู้ให้แก่สมาชิกกลุ่ม ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีการปันผลรายปีให้กับสมาชิก ปัจจุบันการดําเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์มีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงทำให้มีผู้สนใจมาศึกษาดูงานเป็นจํานวนมาก

2. กลุ่มมัดย้อม เป็นกลุ่มอาชีพเสริมของชาวคีรีวง มีกิจกรรมเกี่ยวกับการนําผ้ามามัดแล้วย้อมสีธรรมชาติ มีลวดลายสวยงามแปลกตาจากเทคนิคการมัดย้อมง่าย ๆ ของภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ผ้ามัดย้อมมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สวยงาม สามารถนํามาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ เหมาะสําหรับการซื้อไปใช้สอยหรือเป็นของฝาก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป มีการจัดจําหน่ายทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง

3. กลุ่มใบไม้ เป็นกลุ่มอาชีพเสริมทำผ้ามัดย้อมที่แยกตัวมาจากกลุ่มมัดย้อมและมาตั้งกลุ่มใหม่ เน้นการจัดการในเชิงธุรกิจ นําผ้าที่ผ่านการมัดย้อมแล้วมาออกแบบ ตัดเย็บเป็นเครื่องใช้สอยหลากหลายชนิดและหลากหลายรูปแบบ เช่น นํามาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าม่าน หมวก เป็นต้น เพื่อสามารถนําผ้าเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์และทำของที่ระลึกได้มากขึ้น เป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นเดียวกับกลุ่มมัดย้อม

4. ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมการ ท่องเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติของเขาหลวง และมีการขยายรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเพิ่มการศึกษาวิถีชีวิตชุมชน การทำ home stay โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน

5. กลุ่มแม่บ้านทุเรียนกวน เป็นกลุ่มอาชีพเสริมอีกกลุ่มหนึ่ง ทำกิจกรรมแปรรูปทุเรียนกวน โดยนําทุเรียนบ้าน ซึ่งแต่ละปีให้ผลผลิตจํานวนมาก นํามากวนจนแห้งดีได้ที่แล้วปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ห่อด้วยต้อหมากนําไปย่างไฟให้หอม ซึ่งเป็นการปรับปรุงโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิม ปัจจุบันเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปจนมีผู้สนใจลอกเลียนแบบไปทั่วประเทศ

6. กลุ่มหมาต้อ เป็นการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยนําวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้ ประโยชน์ผลิตเป็นสินค้านําออกจําหน่าย ส่วนใหญ่จะนํากาบหมาก (ต้อ) มาทำเป็น “หมา” เพื่อส่งให้กลุ่มแม่บ้านทุเรียนกวน สําหรับนําไปห่อทุเรียนกวน

7. กลุ่มทำขนม เป็นกลุ่มอาชีพเสริมที่ทำขนมต่าง ๆ ส่งจําหน่ายตามร้านค้าในชุมชน เพื่อชุมชนจะได้ไม่ต้องไปซื้อขนมจากภายนอกมาจําหน่ายและผู้บริโภคในชุมชนได้รับประทานขนมที่ใหม่ สด และไม่เจือจางสารกันบูด

8. กลุ่มหัตถกรรมจากกะลามะพร้าว ที่ผลิตเป็นเครื่องใช้ของชําร่วย ของใช้ในครัวเรือนและของประดับตกแต่งที่ทำมาจากกะลามะพร้าว

9. กลุ่มบ้านสมุนไพร เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีการนําสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติชนิดต่าง ๆ เช่น สบู่มังคุด สบู่ส้มแขก เทียนตะไคร้หอม ฯลฯ กลุ่มสมุนไพรมีรูปแบบการดําเนินงานที่มีการติดต่อร้านค้าภายนอกและทำการตลาดเอง ทำให้อัตราการขายส่งผลิตภัณฑ์มีมากกว่ากลุ่มองค์กรอื่น ๆ

10. กลุ่มแปรรูปน้ำผลไม้ เป็นกลุ่มอาชีพเสริมที่นําสมุนไพรและผลไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีอยู่จํานวนมากในชุมชนคีรีวงมาทำการแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม เช่น น้ำขิง น้ำกระเจี๊ยบ ฯลฯ ปัจจุบันมีการขยายรูปแบบการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง เป็นต้น

11. กลุ่มงดสูบบุหรี่ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการปรับปรุงตนเอง สมาชิกทุกคนต้องงดสูบบุหรี่ตลอดระยะการสมาชิก นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน เช่น การพัฒนาสวนสาธารณะของชุมชน การเข้าวัดฟังธรรม การทำกิจกรรมบําเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ ให้กับชุมชน

12. กองทุนเติมสีเขียวใส่เขาหลวง สังกัดมูลนิธิเพื่อการศึกษาไทยรัฐวิทยา 74 ก่อตั้งขึ้นหลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2531 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงผลกระทบจากการทำลายธรรมชาติและสร้างจิตสํานึกด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยมีกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ชาวบ้านรักษาสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ในบริเวณชุมชน ตลอดจนพื้นที่ป่าบนภูเขาที่ดินถล่มได้ง่าย

บ้านคีรีวงเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 วัด คือ วัดคีรีวง ซึ่งชาวบ้านจะอาศัยเป็นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ทั้งด้านศาสนกิจและกิจกรรมทั่วไป ประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านคีรีวงที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีทำบุญวันสารท ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประเพณีชักพระ ประเพณีทอดกฐิน และประเพณีตามวาระโอกาสต่าง ๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ประเพณีสงกรานต์

ชาวคีรีวงจะจัดงานสงกรานต์ขึ้นทุกปี ในวันที่ 13 เมษายน โดยจะมีทั้งพิธีทางศาสนา การทําบุญตักบาตรตอนเช้าเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว และมีพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมไทย คือ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ เพื่อถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษและบุพการี สอนให้รู้จักการให้อภัยกัน ในอดีตชาวบ้านจะแช่ครกและสากในวันว่าง มีการออกทอดเพลงบอกเพื่ออวยพรเจ้าของบ้านตอนหัวค่ำ 3 คืน ในเวลากลางวัน ชาวบ้านจะเล่นอีควัด เล่นสะบ้า เล่นหมากขุม และการพนันอื่น ๆ เพื่อความสนุกสนานครึกครื้นให้สมเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง และโอกาสอันดีที่ญาติพี่น้องได้มาพบปะพร้อมหน้ากัน

ประเพณีทำบุญวันสารท หรือบุญเดือนสิบ

เป็นประเพณีทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ โดยจัดเป็นประจําทุกปีในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ บุญเดือนสิบของชาวคีรีวงมีจุดเด่น คือ การจัดหมรับขนาดใหญ่ด้วยผลไม้ที่คัดสรรมาจากสวนเพื่อถวายวัด ทั้งยังมีการนำผลไม้จากสวนไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้ถวายวัด

ประเพณีชักพระ

จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี กลางคืนมีการสมโภชพระลาก มีมหรสพการละเล่นต่าง ๆ เช่น เล่นจู้จี้ การเล่นดอกไม้ไฟ เล่นตรวด เล่นโคมลอย แมงขี้ ลูกประทัด ตีกลอง ตีโพน รุ่งเช้าชาวบ้านจะมาร่วมตักบาตรหน้าล้อหรือตักบาตรเทโวและประกอบพิธีทางศาสนา จากนั้นจึงร่วมกันชักพระนมของวัดคีรีวง โดยใช้ คานไม้ขนาดใหญ่รูปพญานาค 2 ท่อน ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม ไม่ใส่ล้อ วางบนพื้น มีซุ้มมณฑปเรือนใหญ่ยอดสวยงาม ประดิษฐานพระลากเก่าแก่ของชุมชน มณฑปนี้มีน้ำหนักมาก ต้องอาศัยคนชักลากจํานวนมากและมีความพร้อมเพรียงกัน มีคนแห่พระให้จังหวะจึงชักไปได้ เมื่อถึงเวลาบ่ายจึงชักพระกลับวัด ทําพิธีสรงน้ำพระลาก เป็นที่ครึกครื้น สนุกสนาน

งานรําลึกอุทกภัยปี 2531

จัดขึ้นทุกวันที่ 22 พฤศจิกายนของทุกปี ชาวคีรีวงจะร่วมกันทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมคีรีวงปี 2531 เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจชาวคีรีวงไม่ให้กระทําในสิ่งที่เป็นสาเหตุของภัยพิบัติมาสู่ชุมชนอีก ในบางปีอาจมีกิจกรรมการเรียนรู้ หรือการบําเพ็ญประโยชน์เป็นกรณีพิเศษเพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างจิตสํานึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประเพณีทําบุญเจ้าอาวาส

เป็นประเพณีทําบุญให้กับอดีตเจ้าอาวาสวัดคีรีวง พ่อท่านเถื่อน สุชาโต ซึ่งเคยมีบทบาทสําคัญในการเป็นผู้นําการพัฒนาชุมชน จนกระทั่งเจริญก้าวหน้าเป็นหมู่บ้านพัฒนาในปัจจุบัน โดยจัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีพิธีที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น คือ การกวนข้าวมธุปายาสตลอดวัน และการให้ทานไฟในเวลารุ่งเช้า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากความเป็นต่อของลักษณะภูมิประเทศที่แวดล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และทัศนียภาพอันงดงาม ผนวกร่วมกับศักยภาพความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนของชาวบ้านคีรีวง ประกอบร่างให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่โดยรอบชุมชนกลายเป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เพียงแต่มีคุณช่วยในผืนดินบริเวณบ้านคีรีวงบริบูรณ์ แต่ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้าง ทั้งชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ชาวบ้านคีรีวง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

  • หนานหินท่าหา : เป็นลานหินแกรนิต บริเวณริมคลองท่าหา เหมาะสําหรับการเล่นน้ำ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และใช้เป็นท่าน้ำข้ามไปสวนสมรมรายรอบชุมชน รวมทั้งเป็นตลาดกลางซื้อขายผลไม้ของชุมชน
  • น้ำตกวังไม้ปัก : ต้นน้ำอยู่บนยอดเขาหลวง มี 4 วัง คือ วังปราง วังไม้ปัก วังฝาแฝด และวังหัวเหว มีแอ่งน้ำตกลักษณะคล้ายจากุซซี่ มีร่องน้ำและแอ่งน้ำเล็ก ๆ เล่นสไลเดอร์ได้ รอบน้ำตกวังไม้ปักเป็นพื้นที่สวนสมรม
  • น้ำตกสอยดา : เป็นน้ำตกขนาดใหญ่บริเวณสายคลองท่าแร่ มีความสูงประมาณ 100 เมตร ไหลมาจากยอดเขาหลวง กระทบก้อนหินใหญ่ แล้วไหลลดหลั่นมาตามชั้นหิน รวมตัวกันเป็นแอ่งน้ำเล็ก ๆ ก่อนจะไหลลงสู่น้ำตกท่าแร่ เหมาะสําหรับเล่นน้ำและปีนป่ายก้อนหินใหญ่ไปตามสายน้ำ สามารถเดินเท้าเลียบคลองท่าหาและผ่านสวนสมรมไปจนถึงน้ำตกได้อย่างไม่ยากลำบาก
  • น้ำตกกินรี : เดิมชื่อน้ำตกคลองท่าชาย เมื่อครั้งมีการประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง เมื่อปี 2528 และหมู่บ้านได้รับรางวัลกินรี คุณประวัติ เจริญยิ่ง จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นน้ำตกกินรี ซึ่งไหลมาจากคลองท่าชาย มี 5 วัง คือ น้ำตกวังกุ้ง วังอ้ายโยง วังตง วังหน้าสวนหญ้าแพรก และวังทัพสมพาน
  • น้ำตกคลองลํางา : เป็นน้ำตกยาวต่อเนื่องมาจากคลองลํางา ไหลผ่านร่องหินแกรนิตที่สูงและยาวจากภูเขาสูง มีแอ่งเล่นน้ำเป็นระยะ ๆ รวมทั้งบริเวณน้ำตกหม้อธาตุที่อยู่ต้นน้ำ เส้นทางเดินไปยังน้ำตกจะผ่านสวนสมรมซึ่งมีไม้ใหญ่มากมาย โดยเฉพาะต้นทุเรียนใหญ่กว่า 3 เมตร ซึ่งมีอยู่เป็นจํานวนมาก
  • เส้นทางเดินป่ายอดเขาหลวง : ชาวบ้านในชุมชนคีรีวงได้จัดบริการเดินป่าศึกษาธรรมชาติเขาหลวงตามระยะเวลาในการเดินทางไว้ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไปและกลับภายใน 1 วัน เส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไปและกลับ 2 วัน 1 คืน และเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไปและกลับยอดเขาหลวง 3 วัน 2 คืน

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

  • อนุสรณ์สถานวัดคีรีวงและมหาอุทกธรณีภัย : ชุมชนคีรีวงเกิดอุทกภัยใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือ ในปี 2518 และ 2531 ซึ่งครั้งหลังเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุด บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ดินโคลนจากภูเขาไหลมาทับถมเสียหายไปเป็นจำนวนมาก อุโบสถวัดคีรีวงพังเหลือเพียงครึ่งหลัง ร่องรอยเหล่านี้ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และหาแนวทางในการพัฒนาต่อไป
  • สะพานบ้านคีรีวง

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ 

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 


ชุมชนบ้านคีรีวงมีการบริหารการจัดการทุนของชุมชนอย่างมีศักยภาพ โดยมองเห็นสินทรัพย์ที่ชุมชนมีอยู่ เช่น ทุนทางปัญญา ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี ค่านิยม ทุนทางสังคม ได้แก่ ความสามัคคี เอื้ออาทร ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ป่าเขา แม่น้ำ ต้นไม้ วิถีชีวิต วัฒนธรรม นํามาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นแหล่งก่อเกิดรายได้แก่ชุมชน โดยพื้นฐานในชุมชนนี้มีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ ทุกคนมีความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมศึกษาค้นคว้าหาความรู้ นําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผนวกกับความรู้เดิม เป็นการสร้างวิทยาการใหม่ ๆ บริหารทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากสินทรัพย์ดังกล่าว บ้านคีรีวงยังมีการระดมทุนในชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีแหล่งเงินทุนเป็นทุนสํารองในการประกอบอาชีพ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นแหล่งทุนสําคัญของชุมชนที่ทําให้คนเกิดนิสัยการออม เกิดความไว้วางใจ เสียสละ ซื่อสัตย์ สร้างความรับผิดชอบในการทํากิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันในชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนหลายประเภท เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุน กข.คจ. กองทุนจากสํานักงานเคหะแห่งชาติ ทุนจาก JBIC มูลนิธิ โมล คีม ทอง กองทุนเติมสีเขียวใส่เขาหลวง กองทุนเหล่านี้มีส่วนสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนคีรีวง เกิดการสร้างวิสาหกิจชุมชนที่เติบโตก้าวหน้า สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการยกย่องมีชื่อเสียงโดดเด่นแพร่หลาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มบ้านสมุนไพร กลุ่มใบไม้ กลุ่มหัตถกรรมจักสาน การผลิตและการบริหารจัดการทุนเกิดจากคนในชุมชนจัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งเรียนรู้และปฏิบัติจริง จนเกิดบทเรียนของชุมชนในการเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนแก่กลุ่มองค์กรชุมชนที่สนใจเรียนรู้มาศึกษา ดูงานนําไปประยุกต์ใช้ได้ตามความ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จะเห็นได้ว่าวิสาหกิจชุมชนคีรีวง เป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้ที่มั่นคง และมีความสําเร็จเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชมพูนุช ประจักษ์สุนทร. (2549). การก่อตัวและกระบวนการประชาสังคม : กรณีศึกษาชุมชนคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ที่ทำการอำเภอลานสกา. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.lansakadistrict.go.th/

ไทยท็อปทัวร์. (ม.ป.ป.). P019-ทัวร์ Private100% 2 วัน 1 คืน นครศรีธรรมราช นอนคีรีวง ไหว้พระธาตุเมืองคอน ไหว้ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ พัก หมู่บ้านคีรีวง อากาศดีที่สุดในเมืองไทย. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaitoptour.com/

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://clib.psu.ac.th/southerninfo/

Amezing Thailand. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านคีรีวง. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/

Kapook. (2546). เที่ยวคีรีวง ยลเสน่ห์ความเรียบง่ายและวิถีชาวบ้านกลางขุนเขา. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.kapook.com/

Piatiawmalao. (2565). 8 กิจกรรมต้องทำ เมื่อมาบ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/

Thailandtourism. (ม.ป.ป.). บ้านคีรีวง. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/