Advance search

ตลาดร้อยปีลาดชะโด

ชุมชนตลาดการค้าริมน้ำเก่าแก่ที่มีการขายสินค้าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ภายในชุมชนแห่งนี้จะมีร้านค้าเรือนแถวไม้เก่าแก่เปิดขายสินค้าต่างๆ เช่น อาหาร ของฝาก เสื้อผ้า ให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในตลาดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของบริเวณพื้นที่ชุมชน รวมถึงยังมีห้องชมภาพยนต์ที่เป็นภาพยนต์ที่ถ่ายทำในตลาดแห่งนี้เปิดให้ชมฟรีอีกด้วย ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางการศึกษาวิถีชีวิตแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมู่ 1
หนองน้ำใหญ่
ผักไห่
พระนครศรีอยุธยา
วีรวรรณ สาคร
5 ส.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 ส.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
6 ส.ค. 2023
ตลาดลาดชะโด
ตลาดร้อยปีลาดชะโด

เดิมบริเวณที่ตั้งตลาดนี้เรียกว่า “บ้านจักราช” แต่เนื่องจากในบริเวณนี้มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดริมน้ำ มีคูคลองจำนวนมาก ในแม่น้ำลำคลองอุดมไปด้วยปลานานาชนิด โดยเฉพาะปลาชะโด ถือเป็นปลาเจ้าถิ่นที่เยอะเป็นพิเศษ จึงทำให้ผู้คนมักเรียกพื้นที่นี้กันว่า ลาดชะโด ซึ่งเมื่อมีการตั้งตลาดที่นี้จึงใช้ชื่อว่าตลาดลาดชะโดนั่นเอง


ชุมชนชนบท

ชุมชนตลาดการค้าริมน้ำเก่าแก่ที่มีการขายสินค้าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ภายในชุมชนแห่งนี้จะมีร้านค้าเรือนแถวไม้เก่าแก่เปิดขายสินค้าต่างๆ เช่น อาหาร ของฝาก เสื้อผ้า ให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในตลาดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของบริเวณพื้นที่ชุมชน รวมถึงยังมีห้องชมภาพยนต์ที่เป็นภาพยนต์ที่ถ่ายทำในตลาดแห่งนี้เปิดให้ชมฟรีอีกด้วย ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางการศึกษาวิถีชีวิตแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมู่ 1
หนองน้ำใหญ่
ผักไห่
พระนครศรีอยุธยา
13280
14.460371595226544
100.32118554249605
เทศบาลตำบลลาดชะโด

ตลาดลาดชะโด เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนลาดชะโด ในตำบลหนองน้ำใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตัวตลาดแห่งนี้จะตั้งอยู่ริมคลองลาดชะโดฝั่งทิศเหนือ เป็นตลาดริมน้ำมีลักษณะแบบท่าเรือศูนย์รวมของการคมนาคมทางน้ำ  ในอดีต ตัวเรือนค้าขายเป็นเรือนไม้สองชั้นยกใต้ถุนสูง โดยลักษณะการเกิดของตลาดลาดชะโดนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับการเกิดตลาดน้ำและตลาดริมน้ำในภาคกลางซึ่งมีอยู่ทั่วไปคือเกิดจากการคมนาคมสัญจรทางน้ำที่คึกคัก ทำให้มีคนจีนเข้ามาตั้งร้านค้าขายและกลายเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ผลิตผลทางการเกษตร เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยของชาวชุมชนริมน้ำและบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของคนริมน้ำ ตลาดลาดชะโดพบว่าสมารถแบ่งเป็นพัฒนาการของตัวชุมชนได้ประมาณ 4 ยุค ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ยุคเริ่มแรก

ตลาดลาดชะโดพบว่าได้เริ่มต้นมาตลาดทางเรือที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดลาดชะโดก่อน โดยในอดีตพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วจากอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง จะล่องเรือเข้ามาและหยุดขายสินค้ารวมถึงหยุดพักอาศัยอยู่บนเรือบริเวณหน้าวัดลาดชะโด โดยสาเหตุที่ชาวจีนเลือกหยุดบริเวณนี้เพราะด้วยคลองมีขนาดกว้างพอที่เรือลำใหญ่จะผ่านเข้ามาได้และพื้นที่บริเวณนี้ก็อุดมสมบูรณ์ผู้คนอยู่อาศัยจำนวนมากเหมาะกับการขายสินค้าของตนจึงได้เลือกที่จะหยุดอยู่บริเวณนี้ โดยพบว่าชาวจีนได้ดำเนินค้าขายเช่นนี้เรื่อยมาจนต่อมาเมื่อขายสินค้าดีจึงได้เริ่มมีการขยับขยายสร้างเป็นแพที่พักและที่ค้าขายอยู่บริเวณหน้าวัด ซึ่งสินค้าที่มีจำหน่ายในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ชาวบ้านในพื้นที่ผลิตเองไม่ได้ ได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน โอ่ง ไห หม้อดิน อุปกรณ์ทำประมง ถ่าน เป็นต้น 

ยุคการก่อตั้งตลาดและยุคที่ตลาดเฟื่องฟูสูงสุด

ต่อมาราวปี พ.ศ.2497 ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม การค้าขายของบรรดาแพสินค้าเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ทำให้สถานที่เดิมเริ่มคับแคบชาวจีนเจ้าของแพสินค้า 4 ตระกูล อันได้แก่ ตระกูลอุย (ปัจจุบันใช้นามสกุล อัจจิมานนท์ ตระกูลโต๋ว (ปัจจุบันใช้นามสกุล โตพันธานนท์) ตระกูลจึง (ปัจจุบันใช้นามสกุล ศรีสุวนันท์) และตระกูลเตีย (ปัจจุบันใช้นามสกุล พิมพันธ์ดี) จึงได้รวมตัวกันสร้างตลาดไม้ริมคลองลาดชะโด ในบริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดถัดจากบริเวณเรือนแพเดิมมาประมาณ 100 เมตร (พื้นที่ตั้งตลาดในปัจจุบัน)

โดยเดิมบริเวณนี้พบว่าเป็นที่ตั้งของตลาดตาเฟื่อง ซึ่งตลาดนี้ได้หยุดดำเนินการไปหลังจากเกิดเพลิงไหม้ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ว่างชาวจีนจึงเลือกที่จะตั้งตลาดอีกครั้งในบริเวณนี้ ซึ่งก่อนการตั้งตลาดชาวจีนได้มีการขออนุญาตวัดในการใช้ที่ดินเพราะบริเวณนี้ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ซึ่งวัดเองก็อนุญาต ทำให้มีการเริ่มสร้างตลาดขึ้นมา โดยการก่อสร้างตลาดนั้นพบว่าเริ่มสร้างจากบริเวณพื้นที่ริมน้ำก่อน แต่ต่อมาเมื่อมีร้านค้าจำนวนมากขึ้นจึงมีการขยายพื้นที่ตลาดเข้าสู่ฝั่งเรื่อย ๆ ซึ่งในการก่อสร้างนั้นคนในตลาดจะใช้ระบบเรือนค้าของผู้ใดผู้นั้นก็ออกค่าก่อสร้างเองหรือปลูกกันเอง ส่วนในพื้นที่บริเวณสาธารณะประโยชน์สวนรวม อาทิ ท่าขนส่งสินค้า หลังคาคลุมตลาดนั้นผู้คนจะรวมเงินกองกลางในการก่อสร้างกัน

ทั้งนี้หลังก่อสร้างตลาดแล้วเสร็จพบว่าได้มีผู้คนจากบริเวณชุมชนใกล้เคียงหรือจากบริเวณชุมชนลาดชะโด (ชุมชนมอญ) เข้ามาซื้อสินค้าภายในตลาดกันอย่างคึกคัก โดยภายในตลาดหลังการก่อตั้งจะมีร้านขายสินค้า เช่น ร้านขายของใช้ในชีวิตประจำวัน ร้านขายอุปกรณ์ทำประมง น้ำมันเรือ ร้านขายอาหาร ร้านขายน้ำแข็ง เป็นต้น จนต่อมาตลาดเมื่อตลาดเจริญมากขึ้น  นอกจากสินค้าดังที่กล่าวมาแล้วภายในตลาดยังมีโรงสี มีกิจการโรงไม้ ร้านถ่ายรูป ร้านทอง โรงหนัง ร้านตัดเสื้อ ร้านตัดผม ร้านยา ฯลฯ เกิดขึ้นมาอีกด้วย ทั้งนี้ในช่วงตลาดมีคนเข้ามาจำนวนมากพบว่าที่ตลาดแห่งนี้จะมีบริการเรือเมล์บริษัทสุพรรณ ตาฮี้ เปิดบริการรับส่งคนบริเวณตลาดนี้อยู่เสมอด้วย อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมช่วงเวลานี้หลังการตั้งตลาด พ.ศ.2497 เรื่อยมาจนถึงก่อนพ.ศ.2526 ตลาดแห่งนี้ถือได้ว่ามีความเจริญสูงสุดและเฟื่องฟูที่สุด มีคนเข้ามาตลาดแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย และพ่อค้าแม่ค้าก็มีการค้าขายกันอย่างครึกครื้น

ยุคการตัดถนนและยุคความซบเซาของตลาด

ในปี พ.ศ. 2526-2527 ช่วงนี้มีการเปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นแบบสุขาภิบาลมีการตัดถนนเกิดขึ้น โดยมีการตัดถนนสายผักไห่-สุพรรณบุรี รวมถึง มีการตัดถนนถนนสายเอเชีย ซึ่งเป็นทางหลักที่ให้เดินทางมากรุงเทพฯ การตัดถนนบริเวณใกล้เคียงตลาดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของตลาดลาดชะโด เพราะตลาดแห่งนี้เป็นตลาดริมน้ำที่ฐานลูกค้ามาจากผู้สัญจรทางน้ำเป็นหลัก แต่เมื่อการสัญจรของผู้คนจากที่เคยสัญจรทางน้ำเปลี่ยนไปเป็นการสัญจรทางบกผู้คนที่จะเข้ามาถึงตลาดแห่งนี้ก็น้อยลงเรื่อยๆ

เมื่อการตัดถนนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถออกไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆในเมืองที่มีความหลากหลายกว่าได้สะดวกขึ้น ผู้คนต่างๆก็ไม่นิยมจะเข้ามาตลาดแห่งนี้อีกส่งผลให้ตลาดมีความเจริญที่ลดลง ในที่สุดตลาดแห่งนี้ก็เข้าสู่ความซบเซา ร้านหลายร้านปิดตัวลงและเปลี่ยนเป็นอาคารบ้านพักอาศัย พ่อค้าแม่ค้าบางรายที่เคยอยู่ในตลาดก็มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกันออกไปจนมีบางร้านถูกทิ้งร้าง อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางส่วนที่ยืนหยัดและเปิดขายสินค้าดังเดิม แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกร้านสินค้าผลผลิตการเกษตรเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมตลาดหลังการตัดถนนมีความซบเซาลง ร้านหลายร้านปิดตัวลง ส่วนร้านที่เปิดอยู่ก็ขายของเล็กๆน้อยไม่ได้มีความหลากหลายเท่ากับที่มีในอดีตนั่นเอง 

ทั้งนี้แม้ว่าตลาดการค้าจะซบเซาลงแต่ทว่าด้วยความเก่าแก่และความคลาสสิคของตลาดแห่งนี้ที่ยังคงสวยงามอยู่ จึงมักมีหนังเข้ามาใช้สถานที่ถ่ายทำเสมอ โดยหนังที่เข้ามาถ่ายทำที่ตลาดแห่งนี้ อาทิเช่น “บุญชู” “รักข้ามคลอง” “สตางค์” “ชื่อชอบชวนหาเรื่อง” “ดงดอกเหมย” “ความสุขของกะทิ” เป็นต้น 

ยุคพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว

ในช่วงของกระแสการท่องเที่ยวตลาดริมน้ำเป็นที่นิยมและได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างมาก ราวปี พ.ศ. 2551 ทางเทศบาลตำบลลาดชะโด ทางภาครัฐจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางชาวบ้านในชุมชนตลาดลาดชะโด ได้มีการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพยายามพลิกฟื้นตลาดลาดชะโดขึ้นมา โดยพยายามทำให้ตลาดแห่งนี้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวตลาดน้ำ ซึ่งการพยายามพลิกฟื้นตลาดนี้ทำให้เกิดการเข้ามาส่งเสริม พัฒนาต่างๆ ในตลาดให้น่าสนใจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น มีการเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านกลับมาเปิดขายสินค้าและเปลี่ยนรูปแบบสินค้ามาเป็นการขายสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างการขายของที่ระลึก ขายเสื้อผ้า ขายอาหารต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาสร้างดัดแปลงเรือนแถวค้าขายบางหลังเพื่อเป็นโฮมสเตย์สำหรับรองรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเช่าพัก มีการพัฒนาให้มีบริการล่องเรือชมบรรยากาศคลองลาดชะโด มีการทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาดชะโด มีการทำสะพานข้ามคลองและทางคอนกรีตเชื่อม มีการทำที่จอดรถ โดยจากการพัฒนาและส่งเสริมต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดลาดชะโดคึกคักอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่งคือประมาณ 1-2 ปีแรก แต่อย่างไรก็ตามด้วยตลาดแห่งนี้ไม่ได้มีสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ที่กว้างขวางพอ 

นอกจากนี้ยังขาดการประสานงานที่ดีระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน รวมถึงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆก็ก่อสร้างโดยขาดการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศและอัตลักษณ์ชุมชน ส่งผลให้ไม่นานหลังจาก 2 ปีแรกนักตลาดชะโดก็ซบเซาลงอีก แม้ว่าจะไม่หนักเท่าในอดีตเพราะยังพอมีผู้คนเข้ามาอยู่เรื่อยๆแต่ผู้คนที่เข้ามาก็ไม่ได้คึกคัก เม็ดเงินที่เข้าสู่ตลาดแห่งนี้จึงไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นในอนาคตหากตลาดแห่งนี้ยังไม่มีการจัดการที่ดีกว่านี้คาดว่าอาจจะกลับไปซบเซาเช่นในอดีตอีกครั้ง จุดนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐที่รับผิดชอบและชาวบ้านตลาดลาดชะโดแห่งนี้จึงควรตระหนักอย่างมากก่อนที่จะสายไปนั่นเอง

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่สนใจในการท่องเที่ยวชื่นชมสัมผัสบรรยากาศความความเก่าแก่พร้อมกับซื้อของกินของใช้ในตลาดลาดชะโดแห่งนี้สามารถเข้ามาตลาดได้เสมอ โดยภายในตลาดจะมีร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าเปิดขายสินค้าอยู่ทุกวัน ในเวลา 08.00-17.00 น. แต่ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะมีร้านค้าเปิดจำนวนมากกว่าวันธรรมดา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกสรรได้ตามความสะดวกของตน

ชุมชนตลาดลาดชะโดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนลาดชะโด โดยชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวตลาดแห่งนี้ตัวอยู่ห่างจากอำเภอผักไห่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5.05 เมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ 40 กิโลเมตร 

อาณาเขตติด

  • ทิศเหนือ ต่อติดกับ คลองลาดชะโด 
  • ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนลาดชะโด 
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ชุมชนลาดชะโด
  • ทิศตะวันตก ติดกับ คลองย่อย บ้างคลี่

ลักษณะกายภาพของชุมชน

ชุมชนตลาดลาดชะโดตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำหลากแต่ด้วยชุมชนแห่งนี้มีการสร้างเรือนให้ใต้ถุนสูงจึงไม่ประสบปัญหาน้ำหลากนี้ หน้าตลาดจะมีคลองชื่อว่าคลองลาดชะโดไหลผ่าน ส่วนด้านหลังชุมชนมีคลองย่อยบ้างคลี่ไหลผ่าน ภายในตลาดแห่งนี้พบว่ามีการแบ่งการสัญจรภายในตลาดเป็นระบบซอย โดยแบ่งซอยออกเป็น 3 เส้นทาง ได้แก่

  • ซอยเส้นทาง ก ซอยนี้ถือเป็นเส้นทางหลักของตลาด โดยจะเริ่มจากบริเวณที่จอดรถตลาดผ่านตัวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาดชะโดหรือตัวตลาดไปจรดยังท่าเรือลาดชะโดที่อยู่ติดกับคลอง โดยตลอดริมสองฝั่งเส้นทางนี้ที่ผ่านตัวตลาดที่จะมีร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าขายของตลอดสองริมฝั่ง ทั้งนี้ซอยนี้พบว่าแต่เดิมปูด้วยพื้นไม้แต่ต่อมามีการเปลี่ยนมาเป็นการปูพื้นด้วยคอนกรีต ตัวเส้นทางกว้างประมาณ 5-6 เมตร มีหลังคาสังกะสีคลุมตลอดเส้นทาง
  • เส้นทาง ข ซอยนี้จะเริ่มจากบริเวณร้านนำชัย ซึ่งเป็นร้านสังฆภัณฑ์ ที่อยู่ภายในตลาด ผ่านไปจรดยังสะพานข้ามคลองลาดชะโด ตลอดสองข้างทางมีร้านค้าขายของเช่นเดียวกับซอย ก เส้นทางซอยนี้พบว่าปูด้วยพื้นไม้ กว้างประมาณ 9-10 เมตร มีหลังคาสังกะสีคลุมตลอดเส้นทาง
  • เส้นทาง ค ซอยนี้จะเริ่มจากตั้งแต่ฝั่งวัดลาดชะโดผ่านตัวตลาดไปจรดยังศาลเจ้าลาดชะโด ตลอดริมสองเส้นทางนี้จะมีร้านค้าขาย ทั้งนี้เส้นทางนี้พบว่าปูด้วยคอนกรีต กว้างประมาณ 3-4 เมตร มีหลังคาสังกะสีคลุมแค่บางช่วง ทำให้พบบางช่วงตัวหลังคาก็จะเปิดโล่ง 

ลักษณะภูมิอากาศ

ฤดูต่างๆของชุมชนแห่งนี้คล้ายกับภาคกลางทั่วไป คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ กุมภาพันธ์ – เมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ พฤษภาคม – ตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ พฤศจิกายน – มกราคม

การเดินทางเข้าสู่ชุมชน

การเดินทางเข้าสู่ชุมชนตลาดลาดชะโดสามารถเดินทางมาได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถสารธารณะ ดังนี้

รถยนต์ส่วนตัว

  • เส้นทางที่ 1 เริ่มจากทางด่วนแจ้งวัฒนะฯ (อุดรรัถยา) มาลงสุดสายที่บางปะอิน แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางที่ไปนครสวรรค์ วิ่งตามถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32) ผ่านบางปะหัน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนน 329 ผ่าน อำเภอป่าโมก เมื่อลงสะพานป่าโมกแล้ว จะพบสี่แยกไฟแดง ให้ตรงขึ้นมาทางไปสุพรรณฯ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดโบราณลาดซะโด. 
  • เส้นทางที่ 2 เริ่มมาจาก ถนนพหลโยธิน ให้เข้า ถนนสายเอเชีย แล้ววิ่งตามทางที่ไปนครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้า อำเภอป่าโมก (สาย 329) เมื่อลงสะพานป่าโมกแล้ว จะพบสี่แยกไฟแดง ให้ตรงขึ้นมาทางไปสุพรรณฯ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดโบราณลาดซะโด.
  • เส้นทางที่ 3 เริ่มจากบางบัวทอง วิ่งถนน 340 ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ถึงโลตัสสุพรรณฯ แล้วกลับรถ ชิดทางคู่ขนานแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนน 329 ทางไป อ.ป่าโมก, อ.ผักไห่, อ.วิเศษชัยชาญ ตรงมาประมาณ 22 กม. จะพบตลาดชะโดทางขวามือ เส้นทางนี้จะมาบรรจบกับเส้นทางที่ 1.

รถโดยสารสาธารณะ

  • รถไฟ: นั่งรถไฟจากหัวลำโพง, สามเสน, บางซื่อ, หลักสี่, บางเขน, ดอนเมือง ฯลฯ มาลงสถานีรถไฟอยุธยา จากนั้นนั่งเรือข้ามแม่น้ำป่าสัก-ลพบุรีมายังฝั่งตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา แล้วเดินไปยังตลาดเจ้าพรหม ต่อรถสายอยุธยา-ผักไห่ ลงตัว อ.ผักไห่ แล้วรอสองแถวสายผักไห่-ลาดชะโด หรือเหมารถตุ๊กๆ มาที่ตลาดโบราณลาดชะโด ระยะทาง 5 ก.ม.
  • รถประจำทาง: นั่งรถจากหมอชิตหรือฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต มาลงอยุธยา บริเวณตลาดเจ้าพรหม แล้วต่อรถสายอยุธยา-ผักไห่ ลงตัว อ.ผักไห่ แล้วรอสองแถวสายผักไห่-ลาดชะโด หรือเหมารถตุ๊กๆ มาที่ตลาดโบราณลาดชะโด ระยะทาง 5 ก.ม.

ประชากรภายในชุมชนตลาดลาดชะโดพบว่าถูกนับรวมอยู่ในประชากรของหมู่ที่ 1 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ มีจำนวนรวมทั้งหมด 601 คน ชาย 286 คน หญิง 315 คน และมีจำนวนครัวเรือน 258 ครัวเรือน 

ชาติพันธ์และเครือญาติ

ผู้คนที่อยู่อาศัยในตลาดลาดชะโดแห่งนี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากค้าขายสินค้าในอดีต ทำให้ปัจจุบันลูกหลานภายในชุมชนนี้เมื่อเกิดภายในประเทศไทยจึงเรียกว่าชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งนี้ในบรรดาลูกหลานชาวจีนในตลาดมักจะมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มตระกูลเชื้อสายจีนเก่าแก่ของตลาดด้วย ซึ่งกลุ่มตระกูลเก่าแก่ของตลาดมีอยู่ประมาณ 4 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลอุย (ปัจจุบันใช้นามสกุล อัจจิมานนท์ ตระกูลโต๋ว (ปัจจุบันใช้นามสกุล โตพันธานนท์) ตระกูลจึง (ปัจจุบันใช้นามสกุล ศรีสุวนันท์) และตระกูลเตีย (ปัจจุบันใช้นามสกุล พิมพันธ์ดี)

โดยตระกูลเหล่านี้ในอดีตบรรพบุรุษได้เป็นผู้ก่อตั้งตลาดแห่งนี้ขึ้นมา ทั้งนี้พบว่าการที่ตระกูลเก่าแก่ทั้ง 4 ตระกูลเหล่านี้สามารถดำรงมาถึงปัจจุบันได้คาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับแบบเครือญาติกันมาหรือมีการแต่งงานระหว่างกันจนมีลูกหลานสืบเป็นเครือข่ายโยงกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน

จีน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความเชื่อ

ผู้คนภายในตลาดแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีน ทำให้มีความเชื่อแบบวิถีชาวจีนในเรื่องการนับถือบรรพบุรุษและการนับถือศาลผี ทำให้บริเวณรอบตลาดแห่งนี้จึงมักมี ศาลต่างๆตั้งอยู่ เช่น ศาลเจ้าพ่อใหญ่ ศาลพ่อแก่ หมู่ 2 ศาลพ่อศรีไพร ศาลพ่อรางขุนแผน (เจ้าพ่อหนูแดง) ศาลพระกรุงสินชัย ศาลพ่อปู่พ่อหลวงพ่อทองคำ ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ ศาลตะเคียน เป็นต้น ซึ่งศาลต่างๆเหล่านี้หากผู้คนอาศัยอยู่ใกล้ที่ใดก็จะนับถือแห่งนั้นเป็นหลัก

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวบ้านตลาดลาดชะโดมีการเข้าร่วมประเพณีในรอบปีที่แสดงถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ดังนี้

ประเพณีรับวัด หรือ ประเพณีรับสี่ร้อยรับหลักแก้ว เกิดจากในอดีตนั้นใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญ ซึ่งแต่ละวัดมีรายละเอียดของประเพณีนี้แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปเมื่อชาวบ้านไปทำบุญวัดอื่น เมื่อเสร็จภารกิจงานบุญต่างก็พายเรือกลับบ้านส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปส่วนหนึ่งจะพายเรือไปรับขบวนเรือกลับหมู่บ้าน มีกิจกรรมรื่นเริงร้องเพลง สำหรับประเพณีรับวัดลาดชะโดจะแล่นเรือจากบริเวณปากคลองลาดชะโดไปจนถึงหน้าวัด เป็นประเพณีที่จะทำให้หนุ่มสาวได้รู้จักกัน ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่มีแล้วเนื่องจากการใช้การคมนาคมทางบกเข้ามาแทนที่

ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ จะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ในช่วงเข้าพรรษา โดยชาวบ้านจะตกแต่งเรือของตนอย่างสวยงามแล้วนำเทียนพรรษาล่องไปตามคลองลาดชะโดไปยังวัดลาดชะโด ซึ่งประเพณีนี้ถือว่าโดดเด่นและยังได้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเตือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 เมื่อถึงวันนี้ ชาวบ้านทั้งหลายจะพากันไปใส่บาตร รับศีล ตอนกลางคืนมีการถวายเทียนเข้าพรรษา ก่อนจะถึงวันหรือเวลาถวายเทียน มักจะมีการแห่เทียนพรรษาทางน้ำ (ประเพณีแห่เทียนทางน้ำ) ไปยังที่ต่าง ๆ ในช่วงเข้าพรรษาชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปทำบุญที่วัตกันทุกวันพระ มีการฟ้งเทศน์ ฟังธรรม คนเฒ่าคนแก่จะมีการไปนอนวัดจำศีล สำหรับคนทั่วไปบางคนก็ตั้งใจในการงดเว้นบาปและถือศีล เช่น งดเว้นดื่มสุรา เป็นต้น

ประเพณีไหว้เจ้าของชาวจีน การไหว้เจ้าของชาวลาดชะโดจะมีขึ้นปีละ 3 ครั้ง ณ ศาลเจ้าลาดชะโดที่อยู่ใกล้ตลาด ครั้งที่ 1 วันไหว้พระจันทร์ ครั้งที่ 2 วันง่วนเชียว หลังตรุษจีน 15 วัน ครั้งที่ 3 งานงิ้วประจำปีในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ของไหว้ปึงเถ่ากงม่าลาดชะโด ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ ผลไม้ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดลาดชะโด เดิมเรียก วัดดุสิตราชมัจฉา สร้างขึ้นเป็นวัดประมาณ พ.ศ. 2330 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ. 2340 ทั้งนี้การที่วัดแห่งนี้เดิมที่ใช้ชื่อว่าวัดดุสิตราชมัจฉาอันมีความหมายแปลว่าปลาของเจ้านั้น พบว่ามีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 ประการคือ ประการที่ 1 เล่ากันว่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จผ่านหน้าวัดเมื่อคราวปี พ.ศ. 2451 พระองค์ได้พบเห็นปลามากมายบริเวณวัดนี้แล้วทรงตรัสว่าวัดแห่งนี้น่าจะชื่อวัดดุสิตราชมัจฉา ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเล่าว่าเมื่อคราวสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมญาณวชิโรรสเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เจ้าอาวาสวัดลาดชะโด ในสมัยนั้นได้ไปเข้าเฝ้า พระองค์ได้ทรงตรัสถามถึงพระที่ไปเฝ้าว่าอยู่วัดใด ซึ่งพระได้ตอบถวายไปว่าอยู่วัดลาดชะโด จุดนี้ทรงปรารภว่าน่าจะเปลี่ยนใหม่เป็นชื่อวัดดุสิตราชมัจฉา ทำให้ส่งผลมาเป็นชื่อวัดนี้ อย่างไรก็ตามชื่อวัดนี้ต่อมาคนทั่วไปเรียกมักตามชื่อของพื้นถิ่นบริเวณนี้คือ ลาดชะโด จึงทำให้การเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดดุสิตราชมัจฉา ที่ออกเสียงยากกว่านั้นจึงค่อยๆหายไป 

ทั้งนี้ภายในวัดลาดชะโดแห่งนี้พบว่ามีสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดหลายประการ เช่น ท้าวเวสสุวรรณ หลวงพ่อเจ้าทันใจ หลวงพ่ออิ่ม ธัมมสาโร เป็นต้น ซึ่งสิ่งศักดิ์ที่กล่าวมานี้ล้วนมีพุทธคุณโดดเด่นและขึ้นชื่อเป็นที่รับรู้จักแก่คนทั้งในบริเวณใกล้เคียงวัดและคนภายนอก ทำให้มักมีคนเข้ามากราบไหว้ขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแห่งนี้อย่างคึกคักอยู่เสมอ ซึ่งคนที่ไหว้หลายคนต่างบอกว่าสิ่งที่ขอกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดแห่งนี้ล้วนได้ตามที่หวัง จนทำให้วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในอำเภอผักไห่ในด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีพุทธคุณ 

นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแห่งนี้ที่ถือว่าโดดเด่นแล้วภายในวัดแห่งนี้ยังมีศาลาการเปรียญเก่าแก่ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยศาลานี้เป็นเป็นศาลาสร้างจากไม้สักทั้งหลังอายุมากกว่า 100 ปี สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ ความกว้าง 18 เมตร ความยาว 42.50 เมตร ใต้ถุนสูง ประมาณ 3 เมตร หลังคาสูงจากระดับพื้นศาลาประมาณ 6-7 เมตร โดยพื้นของศาลาปูด้วยไม้สัก มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีเสาไม้สักทั้งหมดประมาณ 46 ต้น ที่บริเวณไม้คานมีจารึกว่า “สร้างเมื่อจุลศักราช 1288 ปีขาล” ในส่วนของหน้าบันศาลาการเปรียญพบลักษณะเป็นเครื่องไม้ ลายฉลุไม้ เป็นลายดอกไม้ และพันธ์พฤกษา ประดับกระจกสี ซึ่งลักษณะน่าจะเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ที่มีอายุราวรัชกาลที่ 5-6 กล่าวได้ว่าศาลาการเปรียญนี้มีคุณค่าทางศิลปะและมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นที่ค่อนข้างสวยงามมากเลยทีเดียว

ศาลเจ้าลาดชะโด ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างจากความเชื่อในสมัยที่มีการขุดคลองลาดชะโด คือ หลังจากขุดเสร็จสิ้นมักเกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่เสมอๆ ชาวชุมชนจึงได้เชิญซินแสชาวจีนมาดูเพื่อหาสาเหตุได้ความว่า จะต้องสร้างศาลเจ้าขึ้นริมน้ำจึงจะไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอีก ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ก่อสร้างศาลเจ้าเป็นอาคารไม้ริมน้ำเยื้องตลาดขึ้นมา โดยหลังการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้เสร็จได้มีการอัญเชิญเทพเจ้า โดยใช้วิธีการอัญเชิญควันรูปมาจากศาลเจ้าใหญ่ในจังหวัดสุพรรณบุรีให้มาอยู่ ณ ที่ตรงบริเวณนี้ด้วย

ทั้งนี้ต่อมาศาลเจ้าริมน้ำแห่งนี้มักประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงประสบปัญหาความไม่สะดวกในการเดินทางของสมาชิกชุมชนตลาดลาดชะโด ทำให้ต้องมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นอีกแห่งขึ้นมาในบริเวณอยู่ติดกับตัวตลาด โดยศาลเจ้าลาดชะโดแห่งใหม่นี้มักใช้จัดงานหรือประกอบกิจกรรมต่างๆของชุมชนแทนศาลหลังเก่า อาทิ งานไหว้เจ้า งานงิ้ว เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีแม้จะมีการสร้างศาลใหม่ก็ตามในช่วงการไหว้เจ้าหรือประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพบว่ายังจะมีตัวแทนไปอัญเชิญควันธูปมาจากศาลาริมคลองหลังเก่าอยู่เสมอ จุดนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเทพเจ้ายังคงอยู่ที่บริเวณศาลเก่าดังเดิมของชุมชนนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาดชะโด สร้างขึ้นในสมัยการปรับปรุงตลาดลาดชะโดประมาณ พ.ศ.2551 โดยการร่วมมือของเทศบาลตำบลลาดชะโดกับชาวบ้านและโรงเรียนลาดชะโด ซึ่งมีการสร้างขึ้นในบริเวณห้องแถวตรงทางเข้าที่ 2 ทั้งสองฟากของตลาดลาดชะโด ซึ่งห้องแถวนี้ในอดีตเคยเป็นบ้านที่อยู่ของท่านนายกเทศมนตรี แต่ท่านได้ยกห้องแถวให้เทศบาลฯ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ภายในของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้พบว่าจะมีการจัดแสดงแยกเป็น 2 ฟาก คือฟากด้านหนึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับสิ่งของพื้นบ้าน สิ่งของการประกอบอาชีพทำนา (อาชีพดั้งเดิมของคนถิ่นบ้านลาดชะโด) สิ่งของสะสมเก่าหาดูได้ยาก สิ่งของที่เป็นของดีของเมืองผักไห่ เป็นต้น ส่วนอีกฟากหนึ่งนั้น มีการจัดแสดงพันธุ์ปลาที่พบเจอได้ในคลองลาดชะโด เช่น ปลาชะโด ปลาเสือ ปลาช่อน ปลาฉลาด ปลาเนื้ออ่อน ปลาบู่ เป็นต้น

นอกจากการจัดแสดงปลาแล้วในฝั่งนี้ยังมีการจัดเป็นมุมรูปภาพเก่าๆที่เกี่ยวข้องกับลาดชะโดด้วย เช่น ภาพวิถีชีวิที่ผูกพันกับสายน้ำ ภาพการพายเรือมาโรงเรียน ภาพการประกวดนางงาม ภาพการประกวดกระทง ภาพการแห่งนาคทางเรือ ภาพงานสงกรานต์ เป็นต้น กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภายในตลาดลาดชะโดแห่งนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในตลาดได้ศึกษาและเข้าใจความเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณนี้มากขึ้นนั่นเอง

ห้องฉายภาพยนตร์ ตั้งอยู่ภายในห้องแถวของตลาดลาดลาดชะโด โดยห้องฉายภาพยนต์แห่งนี้มักนำเอาภาพยนตร์และละครที่มาถ่ายทำที่ตลาดลาดชะโด เช่น บุญชู สตางค์ รักข้ามคลอง ความสุขของกะทิ ดงดอกเหมย มาฉายให้ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวได้ชมกัน เพื่อเป็นการถ่ายทอดความสวยงามของสถานที่และบรรยากาศในตลาดลาดชะโดแก่คนรุ่นหลัง ซึ่งการฉายภาพยนต์ที่นี่จะมีการฉายให้ชมวันละ 2 รอบ คือรอบเช้าและรอบเย็น

โรงเรียนลาดชะโด เป็นโรงเรียนประจำชุมชนขนาดใหญ่ ที่สะอาดสะอ้านและมีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน โดยเอกลักษณ์ของโรงเรียนแห่งนี้ที่ทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคือมีอาคารเรียนที่สร้างเมื่อปีพ.ศ.2503 โดยเป็นอาคารสร้างด้วยไม้ ใต้ถุนสูง เป็นรูปตัวอี (E) เป็นอาคารไม้ที่ขึ้นชื่อว่ายาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยความขึ้นชื่อนี้ในวันหยุดมักมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมเสมอ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระปุกดอทคอม. (ม.ป.ป.). เที่ยวตลาดลาดชะโด ชมวิถีชีวิตริมคลองเมืองเก่าอยุธยา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.kapook.com/view152994.html.

ตลาดลาดชะโด ตลาดเก่าเล่าอดีต. (2552). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9520000041079.

ตลาดลาดชะโด. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://talk2trip.com/2009/05/ตลาดลาดชะโด-1.html.

เทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://thaihouse.arch.ku.ac.th/home/?page_id=49.

เทศบาลตำบลลาดชะโด. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ladchado.go.th/condition.php.

ธนกร โพธิ์นุช. (2560). ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลาดลาดชะโด. วิทยานิพนธ์สถาปัตกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

ประภาพร บำรุงไทย. (2556). การจัดการเชิงอนุรักษ์ตลาดลาดชะโด. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร.

รัตนวุฒิ เจริญรัมย์. (ม.ป.ป.). ตลาดลาดชะโด เที่ยวตลาดโบราณ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ท่องทั่วไทย.com/ตลาดลาดชะโด-ตลาดโบราณ-พระนครศรีอยุธยา/.

ลาดชะโด ตลาดเก่าจากวันวาน ถึงวันนี้. (2552). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?

วิกิพีเดีย. (2566). วัดลาดชะโด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดลาดชะโด.

ศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดลาดชะโด. (2555). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://m-culture.in.th/album/160568/ศาลาการเปรียญหลังเก่า_วัดลาดชะโด.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านลาดชะโด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/287.

สนุกดอทคอม. (2552). ตลาดลาดชะโด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sanook.com/travel/579531/.

สนุกดอทคอม. (2554). ตลาดลาดชะโด... ตลาดเก่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sanook.com/travel/942469/.