บ้านควนโอมีทรัพยากรท้องถิ่นเชิงนิเวศพรรณไม้นานาชนิดโอบล้อมตลอดแนวเทือกเขาหินปูนทอดยาวกับแนวทะเล ทั้งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนผ่านภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผนังถ้ำเทือกเขากาโรส ที่ร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมาของอำเภออ่าวลึกและจังหวัดกระบี่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ความ
ชื่อ “ควนโอ” เรียกเพี้ยนมากจาก “ควนอู่” เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือขนาดใหญ่สมัยนานมาแล้ว
บ้านควนโอมีทรัพยากรท้องถิ่นเชิงนิเวศพรรณไม้นานาชนิดโอบล้อมตลอดแนวเทือกเขาหินปูนทอดยาวกับแนวทะเล ทั้งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนผ่านภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผนังถ้ำเทือกเขากาโรส ที่ร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมาของอำเภออ่าวลึกและจังหวัดกระบี่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ความ
บ้านควนโอ เป็น 1 ใน 6 หมู่บ้านในปกครองตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก อำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนถึง 6 ชุมชน มากที่สุดในตจังหวัดกระบี่ เดิมได้รับจัดตั้งเป็นแขวงเมือง เรียกว่า แขวงปากลาว ที่ตั้งแขวงเดิมตั้งอยู่บริเวณตำบลนาเหนือในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนเดิมตั้งแต่สมัยพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราชได้มาตั้งเพนียดจับช้างป่าที่แขวงปกาไส ต่อมาได้เปลี่ยนจากแขวงปากลาวตั้งเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอปากลาว ตั้งอยู่บริเวณตำบลนาเหนือ โดยมีขุนมโนทิพย์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก ต่อมาพระยารักษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมนฑลภูเก็ต ปกครองเขตอำเภอปากลาว เห็นว่าสถานที่ตั้งอำเภอปากลาวขณะนั้น สถานที่ตั้งไม่อยู่ศูนย์กลางของชุมชนตลอดจนการคมนาคมไม่สะดวก จึงให้ย้ายที่ทำการอำเภอปากลาวไปอยู่ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกใต้ ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นและให้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่เป็น อำเภออ่าวลึก จนปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านควนโอนั้นคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งของชาวน้องมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ บริเวณอ่าวพังงา โดยการอพยพมาทางเรือเป็นส่วนใหญ่เมื่อกว่า 100 ปี มาแล้ว รกรากสายเดิมมาจากมาเลเซีย ปีนัง และตรังกานู ช่วงแรกอาศัยการดํารงชีพด้วยวิถีประมง มีการต่อเรือขึ้นใช้เอง จึงเรียกว่า “บ้านควนอู่” เพราะการมีสภาพพื้นที่เป็นชายฝั่งเนินสูงและเป็นแหล่งต่อเรือหรืออู่ต่อเรือในยุคนั้น ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนหนทางเชื่อมกับตัวอําเภออ่าวลึกเมื่อหลายกว่าสามสิบสี่สิบปีก่อน ความเจริญจึงเกิดขึ้น ทําให้ผู้คนอพยพโยกย้ายเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น และได้ตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 5 ตําบลอ่าวลึกน้อย และชื่อหมู่บ้านก็เรียกเพี้ยนจาก “ควนอู่” มาเป็น “บ้านควนโอ” (สุณิสา ศิริพรจุฑากุล, 2559: 78)
หมู่บ้านควนโอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตําบลอ่าวลึกน้อย อําเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ห่างจากอําเภออ่าวลึก ประมาณ 18 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดกระบี่ ประมาณ 61 กิโลเมตร มีขนาดเนื้อที่ 8,733 ไร่ พื้นที่ทําการเกษตร 5,133 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อหมู่บ้านและทะเลอันดามัน ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 1 บ้านนาเหนือ
- ทิศใต้ ติดกับ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านป่างาม ตําบลคลองหิน
- ทิศตะวันตก ติดกับ ทะเลอันดามัน
โดยการเดินทางสามารถใช้ทางหลวงชนบทสายในยวนแขก-อ่าวลึกน้อย ระยะทาง 18 กิโลเมตร และทางหลวงสายท้องถิ่นหนอง หลุมพอ-บากัน ระยะทาง 16 กิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปของหมู่บ้านควนโอนั้นเป็นที่ราบสลับกับภูเขาสูงต่ำ พื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด ด้านทิศตะวันตกเป็นทะเลอันดามัน มีพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ทะเลมีเกาะมากมาย เหมาะสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงอนุรักษ์ มีลําคลอง ลําห้วย น้ำไหลผ่านตลอดปี เหมาะแก่การประกอบอาชีพการเกษตร จากการที่หมู่บ้านควนโอมีอาณาเขตบริเวณที่ติดกับหมู่บ้านอื่นและติดกับฝั่งทะเล จึงมีเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เทือกเขาหินปูนนั้นมีชื่อว่า “เทือกเขากาโรส” เทือกเขาที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะมีลากูนหรือแอ่งทะเลสาบน้ำเค็ม รวมทั้งเวิ้งถ้ำต่าง ๆ และยังประกอบไปด้วยพื้นที่เป็นป่าชายเลน มีต้นโกงกาง แสม ลําพูน เหงือกปลาหมอ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่วางไข่และแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาเก๋า ปลากระพงขาว กระพงแดง ปลาดุก ปลากระบอก หอยนางรม ปูม้า ปูทะเล ปูก้ามดาบ ปูเปรี้ยว รวมถึงนกกระยาง และลิงแสม เป็นต้น
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านควนโอ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่ดินดอนและการตั้งบ้านเรือนบริเวณฝั่งคลอง เนื่องจากประชาชนไม่มีที่ดินสําหรับปลูกสร้างบ้าน และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือความสะดวกในการประกอบอาชีพประมง ซึ่งชาวประมงสามารถจอดเรือไว้ที่บ้านตนเองได้ และสะดวกต่อการขึ้น-ลงเรือและเวลาออกทะเล
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลอ่าวลึกน้อย หมู่ที่ 5 บ้านควนโอ ทั้งสิ้น 1,411 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 697 คน ประชากรหญิง 714 คน และจำนวนครัวเรือน 355 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
ประชากรประมาณร้อยละ 60 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ที่เห็นได้เด่นชัดและเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คือ อาชีพประมง อาชีพที่เลี้ยงดูประชาชนชาวตําบลอ่าวลึกน้อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น การทําประมงของประชาชนเป็นการประมงขนาดเล็กใกล้ชายฝั่ง ทั้งการวางอวนกุ้ง อวนปลา ไซปลา ไซปู โป๊ะ การตกปลา การทํากะปิ กุ้งแห้ง ปลาเค็ม
วิถีชีวิตและขนบธรรมเนียม
บ้านควนโอเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิมที่ประชาชนทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลาม เป็นเหตุให้วิถีชีวิต ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ จึงต้องเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นด้านการแต่งกาย สตรีจะนุ่งผ้าถุงและมีผ้าคลุมศีรษะ บุรุษแต่งกายโดยนุ่งผ้าโสร่ง ใส่หมวกขาว แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะแต่งกายแบบสากลนิยม และจะแต่งกายตามแบบอย่างทางศาสนาเมื่อกระทําพิธีหรือกิจกรรมทางศาสนาอิสลามเท่านั้น ลักษณะการบริโภคอาหารที่เห็นได้เด่นชัด คือ การกินอาหารโดยใช้มือแทนช้อน เพราะประชาชนยึดถือหลักปฏิบัติของศาสดามาเป็นแนวทาง
ประเพณี
กิจกรรมที่ศาสนาอิสลามบัญญัติมีทั้งสิ่งที่ต้องปฏิบัติและควรปฏิบัติ เช่น การละหมาดวันศุกร์ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน กิจกรรมในวันฮารีรายอ (ออกจากการถือศีลอด) กิจกรรมเมาลิดนบี (ฉลองวันประสูติของศาสดามูฮัมหมัด) ประเพณีเข้าสุนัต (การขลิบอวัยวะเพศสําหรับเด็กผู้ชาย) ฯลฯ สําหรับประเพณีอื่น ๆ ที่สําคัญ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง จะมีการละเล่นอยู่บ้างแต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นประเพณีของศาสนาอื่น ส่วนงานเทศกาลที่อําเภออ่าวลึกจัดขึ้นเป็นประจําทุกปี คือ เทศกาลงานรักอ่าวลึก
- เทศกาลงานรักอ่าวลึก เป็นงานวัฒนธรรมย้อนยุคประจำปีของประชาชนอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภออ่าวลึก จะมีพิธีบวงสรวงศาลพระพรหม ทำบุญเมือง มีขบวนแห่แสดงถึงวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านแต่ละตำบล ในบริเวณงานมีกิจกรรมแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวอำเภออ่าวลึกในรูปแบบของขนำ (ขนำ เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง กระท่อมชั่วคราวในทุ่งนา เป็นต้น) นิทรรศการภาพถ่ายเมืองเก่าเล่าเรื่องเมืองอ่าวลึก การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน นิทรรศการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นิทรรศการปาล์มน้ำมัน ยางพารา นิทรรศการของส่วนราชการและภาคเอกชน ตลาดโก้งโค้ง ตลาดคนเมือง ทำให้ชุมชนเกิดความรัก ความหวงแหน เกิดการอนุรักษ์ และรักษาไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ตลอดถึงการสืบทอดเผยแพร่กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ แต่ละค่ำคืนจะมีการแสดงแบบการแต่งกายย้อนยุคตามวีถีแห่งบรรพชน ถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีแห่งวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ให้คงอยู่สู่คนรุ่นหลัง วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ทุนทางทรัพยากร
จากการที่บ้านควนโอมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับกับภูเขาสูงต่ำ พื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด ด้านทิศตะวันตกเป็นทะเลอันดามัน มีพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ทะเลมีเกาะมากมาย ซึ่งชาวบ้านได้บริหารจัดการทรัพยากรดังกล่าวให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรทางธรมชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนแล้ว ยังมีนัยยะเพื่อสร้างความตระหนักให้ชาวบ้านควนโอเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่เป็นแหล่งรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว สร้างสำนึกให้ช่วยกันดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนให้คงความอุดมสมบูรณ์และงดงามคู่การดำรงอยู่ของชุมชนบ้านควนโอต่อไป
ทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญ
- ท่าเรือท่องเที่ยวหมู่บ้าน เป็นท่าเรือใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถลงเรือได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องคํานึงถึงน้ำขึ้นน้ำลง โดยก่อนที่จะเดินทางถึงท่าเรือจะต้องผ่านเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีระยะทางประมาณ 600 เมตร
- เทือกเขากาโรส มาจากคําว่า กาลูน ในภาษามาลายูแปลว่า ไม่เรียบไม่สวย จากลักษณะของภูเขาหินปูนที่ตะปุ่มตะป่ำเป็นรูโพรง ทําให้มีลักษณะหน้าตาคล้ายปีศาจ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะว่าบางครั้งจะมองเห็นรูปร่างของเทือกเขาในลักษณะปีศาจยิ้มใจดี แต่บางครั้งก็เป็นปีศาจที่ทําหน้าเศร้า อาจเรียกว่า “ปีศาจสองอารมณ์” หรือ “ปีศาจสองหน้า” ซึ่งสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ภายในผนังถ้ำของเทือกเขากาโรสยังปรากฏภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งมีการอธิบายว่าภาพวาดดังกล่าวสามารถอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของอำเภออ่าวลึกและจังหวัดกระบี่ได้เป็นอย่างดี อนึ่ง หมู่บ้านควนโอและเทือกเขากาโรสตั้งอยู่ในทําเลยุทธศาสตร์ที่ดีอยู่ทะเลใน ซึ่งปราศจากคลื่นลม ทําให้มีความเงียบสงบ นักท่องเที่ยวสามารถทํากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างส่วนตัว เช่น กิจกรรมพายเรือคายัค ถัดออกไปบริเวณใกล้เคียงกับหน้าปีศาจจะมีหินรูปร่างแปลกตามีลักษณะคล้ายผีตาโขน และไม่ห่างกันมากนักจะมีหินที่มีรอยสีดําลักษณะคล้ายรูปภาพแม่มดอยู่ด้วย
- คลองเลียบเขา สุดเขาจะมีเพิงผาที่พบภาพเขียนสีอยู่ 2 จุด ซึ่งภาพเขียนสีจุดแรกอยู่สูงเกือบ 20 เมตร จะเห็นภาพคนโพกผ้าที่ศีรษะ คล้ายแขกชาวอาหรับ ถัดไปตรงเพิงผาปลาย แหลมของเทือกเขาจะพบภาพตะขาบ หรือรูปเขียนที่อาจมองเป็นรูปเรือใบกรรเชียง ตรงกลางจะมีหน้าผาสูงชันที่ด้านบนเป็นช่องว่างแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์สามารถสาดส่องลงช่องนี้เข้ามาได้ เรียกว่า ผาแสงจันทร์
- หน้าต่างมนุษย์ถ้ำ มีโพรงถ้ำเป็นช่องหน้าตาที่สามารถปีนป่ายขึ้นไปได้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของเขากาโรสที่ทอดยาวไปทางทิศใต้ตามแนวป่าชายเลนเขียวขจี
- คลองลอดเขา เป็นลําคลองที่ลอดเขาไปในเพิงถ้ำหินปูนที่มีปากทางอยู่ในอ่าวคลองกลาง เข้าสู่ลากูนขนาดใหญ่ด้านใน ซึ่งมีป่าภูเขาและป่าโกงกางที่สมบูรณ์ทั้งพรรณไม้และสัตว์น้ำ จุดนี้เป็นจุดที่ชุมชนใช้เป็นจุดพายเรือคายัคที่เงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ
- เขาเขียน แหลมท้ายแรด บริเวณนี้จะพบภาพเขียนสีที่สําคัญอยู่บนหน้าผาที่อยู่สูงจากระดับพื้นน้ำไม่มากนัก เป็นรูปของคนปีนผา มีรูปสัตว์ รูปทรงเรขาคณิตรายรอบภาพคน ซึ่งการเขียนมองดูคล้ายลิง เชื่อว่าบริเวณนี้มีรูปแผนที่เขากาโรสเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว ด้านบนเป็นทรัพย์สมบัติที่ถูกฝังไว้โดยเรือที่เข้ามาในอดีต ถัดจากภาพเขียนสีไปทางด้านปลายแหลมเขากาโรส จะพบเพิงผาแปลกตารูปคล้ายบั้นท้ายของแรดโผล่อยู่กลางเพิงผา ชาวบ้านจึงเรียนบริเวณนี้ว่า แหลมท้ายแรด
- อ่าวมะขาม อยู่บริเวณปลายสุดแหลมกาโรส มีลักษณะเป็นหาดทรายขนาดเล็กริมเชิงเขาที่ชาวเรือและนักท่องเที่ยวจะแวะพักผ่อน เล่นน้ำ และชมบรรยากาศทะเลอันดามันกว้างใหญ่ได้
- คลองขนาบน้ำ เป็นลําคลองที่มีเขาหินปูนขนาบอยู่สองข้าง ชาวบ้านจึงเรียกว่าคลองขนาบน้ำ เป็นลําคลองน้ำเค็มที่มีปลาชุกชุมแหล่งหนึ่งในเทือกเขากาโรส มีภูเขาหินปูนที่มีโถงถ้ำขนาดเล็กให้เดินสํารวจหรือปีนป่ายขึ้นไปพักผ่อน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
กรมการปกครอง. สำนักบริหารการทะเบียน. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
สุณิสา ศิริพรจุฑากุล. (2559). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนหมู่บ้านควนโอ ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ) คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์.
สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. (2562). แหล่งโบราณคดีแหลมท้ายแรด. สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวลึกเหนือ. (ม.ป.ป.). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก https://aolueknuea.go.th/
Dooasia. (ม.ป.ป.). ภาพเขียนโบราณแห่งเทือกเขากาโรส ปริศนาที่รอเวลาไข. สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก http://www.dooasia.com/
Sanook. (2564). เขากาโรส หุบเขาหน้าปีศาจแห่งกระบี่. สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก https://www.sanook.com/travel/
Thailandfestival. (2565). งานรักอ่าวลึก กระบี่. สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก https://www.thailandfestival.org/