
อาบอรุณแรกแห่งอันดามัน หลับตาฟังเสียงธรรมชาติเรไร ล้อมวงร้องรำ กล่าวขานบทกวี ดนตรีแบบฉบับชาวทุ่งหยีเพ็ง ชุมชนมุสลิมร้อยปีเล็กจ้อยบนเกาะลันตาใหญ่ ต้นแบบแห่งการร้อยเรียงเรื่องราวการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนให้หวนคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
ตั้งขึ้นตามนามบุรุษผู้แรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ทุ่งกว้าง คือ "โต๊ะหยีเพ็ง" (โต๊ะ เป็นภาษาถิ่นชาวมุสลิม แปลว่า ตา) ซึ่งภายหลังก่อตั้งหมู่บ้านโต๊ะหยีเพ็งเสียชีวิตลง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านทุ่งหยีเพ็ง" ตามลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นทุ่งกว้าง และเพื่อให้เกียรติโต๊ะหยีเพ็ง
อาบอรุณแรกแห่งอันดามัน หลับตาฟังเสียงธรรมชาติเรไร ล้อมวงร้องรำ กล่าวขานบทกวี ดนตรีแบบฉบับชาวทุ่งหยีเพ็ง ชุมชนมุสลิมร้อยปีเล็กจ้อยบนเกาะลันตาใหญ่ ต้นแบบแห่งการร้อยเรียงเรื่องราวการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนให้หวนคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
บ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นชุมชนขนาดเล็กริมทะเลทางฝั่งตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่ ชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นกลุ่มชนมุสลิมที่เข้ามาตั้งรกรากเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ชื่อหมู่บ้านมาจาก “โต๊ะหยีเพ็ง” ชื่อของบุรุษชาวมาเลเซียผู้หนึ่งที่ได้เดินทางมาอยู่อาศัย ณ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นคนแรก สร้างบ้านเรือนในทุ่งหญ้ากว้าง บนลานทรายขาวละเอียด โดยโต๊ะหยีเพ็งเป็นคนที่ใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ แต่อาศัยอยู่อย่างสงบ ใจเย็น และทําให้ชาวบ้านที่ผ่านมาเห็นก็จะขนานนามบริเวณที่โต๊ะหยีเพ็งอาศัยอยู่ว่า เป็น “ทุ่งหญ้าของโต๊ะหยีเพ็ง” และเมื่อเวลาผ่านมา “โต๊ะหยีเพ็ง” ได้สิ้นชีวิตลง พื้นที่แห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “ทุ่งหยีเพ็ง”
ปัจจุบัน บ้านทุ่งหยีเพ็งเป็นชุมชนฝั่งตะวันออกของเกาะลันตา ตั้งอยู่ในหมู่ 4 ตําบลศาลาด่าน โดย “ศาลาด่าน” มีที่มาจากในอดีตมีผู้นําเรือสินค้าและเรือของชาวบ้านที่สัญจรไปมา แวะพักจอด เพื่อหลบมรสุมบริเวณศาลาที่ชาวบ้านสร้างขึ้นและบริเวณด่านตรวจเรือเข้าออกเป็นจํานวนมาก เมื่อมีการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ จึงได้มีการรวบรวมหมู่บ้านเป็นตําบลในปัจจุบัน โดยองค์การบริหารส่วนตําบลศาลาด่านตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอําเภอเกาะลันตา ตามเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4245 ตอนศาลาด่าน–สังกาอู้ ห่างจากที่ว่าการอําเภอเกาะลันตา ประมาณ 5 กิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ตําบลศาลาด่าน มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลแคบ ๆ ที่เกิดจากการปรับระดับของตะกอนที่ทับถมชายฝั่งทะเล ทำให้พื้นที่มีลักษณะเป็นดินทราย ในบริเวณทางด้านตะวันตกมีลักษณะเป็นชายหาดโค้งเว้าและมีแหลมยื่นออกมาสวยงาม ส่วนฝั่งตะวันออกของมีแนวป่าชายเลนปกคลุมแนวยาวตามชายฝั่งทะเล และในตอนกลางของพื้นที่มีแนวเทือกเขาทอดยาวในแนวเหนือใต้ คือ แนวเทือกเขาเกาะลันตา
ลักษณะภูมิอากาศ
บ้านทุ่งหยีเพ็งตั้งอยู่ในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลอันดามัน ทําให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านตลอดปี โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดผ่านตั้งแต่เดือนเมษายน–เดือนกันยายน จะทําให้ฝนตก นําความชุ่มชื้นให้เกิดขึ้นกับพื้นที่เกาะลันตา
- ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดผ่านตั้งแต่เดือนตุลาคม–เดือนมีนาคม จะทําให้จํานวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นการสร้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลศาลาดาน หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งหยีเพ็ง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 431 ครัวเรือน จำนวนประชากร 1,246 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 641 คน และประชากรหญิง 605 คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
อาชีพหลักของชาวบ้านทุ่งหยีเพ็งในปัจจุบัน คือ การทำประมงพื้นบ้านและการทำสวนยางพารา และสืบเนื่องจากบ้านทุ่งหยีเพ็งมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชายเลน ซึ่งเป็นผืนป่าอนุรักษ์กว่า 7,000 ไร่ ประกอบกับการเกิดขึ้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านทุ่งหยีเพ็งที่ได้พัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนผืนดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมความงามของทัศนียภาพป่าชุมชนทุ่งหยีเพ็งและเกาะลันตา อาทิ ล่องเรือแจวโบราณกับโปรแกรมอาบอรุณ ราคาบริการ 750 บาท/ท่าน ล่องเรือหางยาวชมป่าชายเลน ราคาบริการ 1,500 บาท/ท่าน พายเรือคายัคชมธรรมชาติ ราคาบริการ 1,350 บาท/ท่าน นอกจากนี้ยังมีมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนทุ่งหยีเพ็งให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงความเขียวขจีของแมกไม้นานาพรรณ ชมป่าโกงกาง ลิง นกสายพันธ์ต่าง ๆ ปูก้ามดาบสีน้ำเงิน ตลอดจนร่วมสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวมุสลิม และอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้าน อาหารทะเลสด โดยแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชน เช่น คลองเตาถ่าน อ่าวลันตา คลองทะ บ่อน้ำในป่าชายเลน เกาะตะละเบ็ง เกาะอุง แหลมชาวเล (ชุมชนลิงแสม) โรงเรียนฝึกลิงกังแห่งเดียวบนเกาะ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- กะปิกุ้งแท้เกาะลันตา
- ปลากระบอกแดดเดียว
- ชาลำเพ็ง
บ้านทุ่งหยีเพ็ง เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่ชาวบ้านในชุมชนทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลาม ฉะนั้นแล้ว รูปแบบประเพณี วัฒนธรรม ขนบ พิธีกรรม และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของชาวทุ่งหยีเพ็งจึงขึ้นอยู่กับหลักศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ โดยจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติจะมีลักษณะเช่นเดียวกับชาวมุสลิมทั่วไปในภาคใต้ โดยปกติตามประเพณีของชาวมุสลิม เมื่อมีคนเสียชีวิตชาวบ้านจะช่วยกันขุดหลุมศพ ปั้นลูกดินขนาดใหญ่เพื่อใส่ในหลุม ในการอาบน้ำศพผู้เสียชีวิต ญาติที่เป็นชายหรือบุตรผู้ตายจะเข้าไปช่วยอาบน้ำศพให้พ่อ ส่วนบุตรสาวหรือญาติที่เป็นสตรีจะเป็นผู้อาบน้ำศพให้แม่ ผู้ชายเมื่อเสียชีวิตจะห่อด้วยผ้าขาว 3 ผืน ส่วนผู้หญิงจะห่อด้วยผ้าขาว 5 ผืน ลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีวิถีปฏิบัติเช่นเดียวกัน ด้วยเป็นข้อปฏิบัติที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอาน ในส่วนของการปฏิบัติตามหลักศาสนาจะมีการถือศีลอด การไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย การออกทานบังคับหรือซะกาต และถือว่ามัสยิดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ ฉะนั้นมัสยิดจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ เป็นสถานที่รวมตัวกัน เวลาละหมาดจึงต้องไปทำที่มัสยิด ซึ่งในข้อนี้ก็เป็นคำสอนที่มีบัญญัติไว้ในอัลกุรอานเช่นเดียวกัน
น้ำเกิด น้ำตาย ภูมิปัญญาการทำประมงชาวทุ่งหยีเพ็ง
ในอดีตชาวบ้านทํามาหากินโดยการปลูกข้าวไร่ ทํานา และทําประมงเพื่อเลี้ยงชีพในครัวเรือน ซึ่งมีภูมิปัญญาชาวบ้านและความรู้ในการทํามาหากินด้วยตัวเอง โดยภูมิปัญญาการทําประมงของชาวบ้านทุ่งหยีเพ็งจะขึ้นอยู่กับ “น้ำเกิด” และ “น้ำตาย”
“น้ำเกิด” หรือน้ำใหญ่ คือ การที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เป็นแนวเดียวกัน ช่วงระหว่าง 11 ค่ำ ถึง 3 ค่ำ โดยจะเป็นช่วงระดับน้ำขึ้นและลงมากในช่วงวัน ทําให้น้ำเชี่ยวและจะพบปลา กุ้ง หมึก ปู ที่มากับสายน้ำ ชาวบ้านจะใช้อุปกรณ์ช่วยในการจับปลา เช่น อวนกุ้งใหญ่ อวนปลา ไซปูดํา ไซหมึก ซึ่งจะใช้ในช่วงน้ำใหญ่เพราะในการล่องเรือซอกแซกไปตามผืนป่าพร้อมอุปกรณ์ ถ้ามีน้ำขึ้นสูงจะสะดวกในการจับปลามากกว่า
“น้ำตาย” คือ การที่ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ตั้งฉากกัน ในช่วงระหว่าง 3 ค่ำ ถึง 10 ค่ำ เป็นช่วงที่ระดับน้ำขึ้นลงมาต่างกันมากในช่วงวัน เมื่อน้ำลงจะลงต่ำสุดในรอบเดือน หรือเรียกว่า “น้ำขอทะเล” ทําให้ในช่วงนี้เหมาะแก่การหาหอย เนื่องจากหอยมักฝั่งตัวอยู่ในโคลน เช่น หอยแครง หอยกัน หอยแว่น ฯลฯ
ชายอดลำเพ็ง
ชายอดลำเพ็ง หรือชาลำเพ็ง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากใบลำเพ็งที่นิยมนำมาปรุงอาหารใต้ “แกงเลียงยอดลำเพ็ง” ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นเครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นในลักษณะชาพื้นเมือง สรรพคุณอันทรงคุณค่าของพืชพรรณนี้ให้คุณค่าทางสุขภาพสูงด้วยหลากหลายสารที่ส่งผลบวกต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ช่วยชะลอวัย ลดความเสื่อมของอวัยวะในร่างกาย สมอง รักษาสมดุลในร่างกาย ลดไขมันในเลือด เป็นต้น ซ้ำยังมีสารสีม่วงในชาลำเพ็งแบบยอดอ่อนที่ช่วยกระตุ้นรากผม ซึ่งในที่นี้มีข้อมูลเชิงงานวิจัยช่วยยืนยันถึงคุณค่าแสนวิเศษของพืชพรรณชนิดนี้ที่เรียกว่า “ต้นลำเพ็ง” ซึ่งถูกพัฒนามาเป็น “ชาลำเพ็ง” ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากภูมิปัญญาชาวทุ่งหยีเพ็ง
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ยุคเริ่มแรกในการตั้งหมู่บ้านของชาวทุ่งหยีเพ็งนั้น ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาและทำประมงพื้นบ้านเป็นรายได้หลักในการหาเลี้ยงชีพ แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปิดสัมปทานป่าชายเลนให้ภาคเอกชนหรือ “เถ้าแก่” ชาวจีนที่อยู่นอกชุมชนเข้ามาทําธุรกิจค้าถ่านไม้ ทําให้มีการตัดไม้ทําลายป่าชายเลนไปเป็นจํานวนมาก เนื่องจากพันธุ์ไม้ชายเลนโดยทั่วไปเมื่อเผาทําถ่านไม้จะเป็นถ่านที่ให้ความร้อนสูง โดยจะเลือกใช้เพียงไม้แสม ไม้โกงกางใบเล็ก ไม้โกงกางใบใหญ่ และไม้ถั่วขาว การเปิดสัมปทานป่าไม้ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น คนในชุมชนเริ่มหันไปประกอบอาชีพรับจ้างตัดไม้เผาถ่านให้แก่กลุ่มนายทุนมากขึ้น เพราะในกระบวนการตัดไม้เผาถ่านนั้นต้องใช้กําลังคนจํานวนมาก เนื่องจากภาระงานที่มีหลายกระบวนการ ทั้งการรับจ้างตัดไม้ ขนไม้ขึ้นเรือ ขนไม้เตาผิง เอาไม้เข้าเตา เอาฟืนออกจากเตา เอาถ่านออกจากเตา ขนถ่านขึ้นเรือ และรวมถึงแม่บ้าน แม่ครัว เสมียน และคนเผาถ่านที่เรียกว่า “ไซ” แม้ในตอนนั้นชาวบ้านยังปลูกข้าวกินเองและทําประมงอยู่ แต่เมื่อเปรียบเทียบรายได้กันแล้ว รายได้จากการรับจ้างตัดไม้เผาถ่านมีมากเพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือนมากขึ้น โดยรายได้ที่ได้จากการรับจ้างเผาถ่านในขณะนั้นจะแตกต่างตามภาระงาน และกระบวนการ ดังนี้
1. ชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ในป่าโกงกาง ก่อนที่จะลําเลียงลงมาในเรือบริเวณลําคลอง และเมื่อได้ไม้เต็มเรือก็จะล่องเรือขนไม้ไปยังเตาเผา แต่ถ้าหากตัดไม้มาเกินจํานวน ก็จะคัดแยกไว้แล้วค่อยขนส่งไปในเรือลําอื่นในวันถัดไป โดยจะได้ค่าขนไม้ลําเรือละ 20 บาท
2. การเผาไม้ 1 เตาเผานั้นต้องใช้ไม้ประมาณ 300 หาบ หรือประมาณ 18,000 กิโลกรัม ใช้เวลาเผาทั้งหมด 15 วัน แล้วจึงดึงไฟออก การดึงไฟออกนั้นคือการดึงเอาฟืนออกมา ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความรู้และทักษะ ซึ่งหากดึงไม่เป็น ถ่านจะกลายเป็นเถ้า หน้าที่นี้ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ หากพลาดจะต้องถูกไล่ออกเพราะราคาของถ่านจะสูงไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง
3. หลังจากดึงไฟออกแล้วก็ต้องรอให้ขึ้นไฟอีก 6-7 วัน จึงจะได้ถ่านที่ต้องการ แต่ถ่านในนั้นมีความร้อนสูงมากต้องใช้เวลากว่า 10 วัน รอจนกว่าถ่านเย็นลงก่อนที่จะนําถ่านออกมา ซึ่งมักเป็นหน้าที่ของผู้หญิง 4 คนต่อเตา แล้วให้ผู้ชายหาม 2 คนต่อ 1 หาม แล้วจึงส่งให้เรือสําเภาที่มารับซื้อและนําไป ขายยังประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์
หลังปี พ.ศ. 2535 สัมปทานป่าชายเลนหมดอายุ เถ้าแก่ต้องปิดกิจการเตาเผาถ่านเพื่อคืนป่าชายเลนให้แก่รัฐบาล ทำให้ชาวบ้านที่เคยรับจ้างในเตาเผาถ่านต้องกลับไปทำประมง ซึ่งประจวบเหมาะกับราคาสัตว์ทะเลที่กำลังทะยานสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์ทะเล ทำให้สัตว์ทะเลหาได้ยาก อันเป็นผลมาจากการทำประมงแบบล้างผลาญทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำอย่างหนักในระยะก่อนหน้านี้ โดยการทำประมงในช่วงนี้เป็นการทำประมงชายฝั่งเนื่องจากใช้ต้นทุนน้อยกว่าประมงน้ำลึก นอกจากนี้ยังมีการหันมาทำนาและกรีดยางมากขึ้นเช่นเดียวกัน
พ.ศ. 2543 จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับบ้านทุ่งหยีเพ็ง ชาวบ้านเลิกทำนาข้าวแล้วเปลี่ยนมาทำนากุ้ง นายทุนจากนอกเกาะเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อทำนากุ้ง ชาวบ้านบางส่วนขายที่ดินให้แก่นายทุน และบางส่วนก็เปลี่ยนนาข้าวให้เป็นนากุ้งตามนายทุน เพราะเห็นว่ารายได้ดี โดยกุ้งที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยง คือ “กุ้งกุลา” และ “กุ้งแชบ๊วย” โดยใช้บ่อเลี้ยงกุ้งจากการทลายคันนาเดิมประมาณ 4-5 คันนา เพื่อให้ได้กุ้งหนึ่งบ่อ จากนั้นสูบน้ำเค็มเข้ามาจนเต็มนาข้าวเดิม ใส่กากชาเพื่อฆ่าริ้นไรทะเลที่อยู่ในน้ำ แต่นอกจากริ้นไรจะตายแล้ว ปลาในลำน้ำธรรมชาติก็ตายด้วย ทว่า การทำนากุ้งดำเนินไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องเลิกราเนื่องจากชาวบ้านขาดความรู้ในการเลี้ยงดูและการตลาด รวมถึงราคากุ้งไม่เสถียร ชาวบ้านจึงต้องยกเลิกการเลี้ยงกุ้งไป ส่วนพื้นที่นากุ้งก็ถูกปล่อยให้รกร้าง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ภายหลังจากเลิกทำนากุ้งก็ออกไปทำงานในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับบ้านทุ่งหยีเพ็งอีกครั้งหนึ่งภายหลังเหตุการณ์ “คลื่นยักษ์สึนามิ” ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งแม้จะไม้ได้สร้างความเสียหายมากมายแก่หมู่บ้าน เนื่องจากมีแนวป่าชายเลนที่ทอดยาวคดเคี้ยวตลอดจนลำคลองหลายสายที่ทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังความรุนแรงของคลื่นที่จะเข้าสู่หมู่บ้าน แต่ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ชาวบ้านที่ออกไปทำงานตามโรงแรม รีสอร์ต หรือร้านอาหารต้องกลับมากรีดยางในชุมชน ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์คลื่นยักษ์ในครั้งนั้นยังส่งผลให้เกิดการสูญเสียสัตว์ทะเลไปค่อนข้างมาก เช่น กุ้งแชบ๊วย หอยชักตีน หอยแครง ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด มีเพียงปูม้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program : UNDP) ได้เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนต่าง ๆ บนเกาะลันตา รวมทั้งชุมชนทุ่งหยีเพ็งก็ได้รับการช่วยเหลือเป็นจํานวนเงิน 700,000 บาท ด้วยทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเห็นว่าชุมชนมีโครงการที่ชัดเจนในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่ชาวบ้านได้เริ่มดำเนินการกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ
เมื่อการฟื้นฟูป่าชายเลน ทั้งปลูกต้นโกงกางเพิ่มมากขึ้น ดูแลรักษาสภาพดิน สภาพน้ำ เกิดการรักษาแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำมากขึ้น เวลาผ่านมาประมาณ 5 ปี ชาวบ้านจึงขอให้ทางภาครัฐขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งนี้ให้เป็น “ป่าชุมชน” ทําให้ชาวบ้านเข้ามาดูแลพื้นที่ป่าชายเลนได้อย่างเต็มตัว โดยมีการแบ่งพื้นที่ป่าชายเลนออกเป็น 3 ส่วน คือ ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย และป่าฟื้นฟู นอกจากนี้ชาวบ้านยังพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศป่าชายเลน ซึ่งสร้างความตระหนักให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของป่าและหันมาดูแลป่ามากขึ้น นำไปสู่การจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านทุ่งหยีเพ็ง” โดยมีแนวคิดว่าด้วเรื่องวิสาหกิจชุมชน ให้ความสำคัญกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศทุ่งหยีเพ็ง
จากความสามารถและศักยภาพของชาวทุ่งหยีเพ็งในการบริหารจัดการพื้นที่ผ่าชุมชน พลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจอันเกิดจากมหาอุทกภัยธรรมชาติสู่วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำพาบ้านทุ่งหยีเพ็งให้ไดรับรางวัลจากความอุตสาหะต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
- รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจําปี 2560
- รางวัลอันดับหนึ่งหมู่บ้านท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Best Responsible Tourism) 2563
- รางวัลชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบของจังหวัดกระบี่ ปี 2560
- รางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมจาก อพท. (DASTA Award) 2019
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งหยีเพ็งร่วมใจ ได้รับรางวัล กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัดประจําปี 2556
- รางวัลชมเชยการประกวดลดปริมาณขยะ โครงการกรีนสปอต กรีนเจน
- รางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ในปี พ.ศ. 2558
กระบี่ ฮาลาล. (ม.ป.ป.). วิถีชีวิตของชาวมุสลิม. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก Krabi Halal
กรมการปกครอง. สำนักบริหารการทะเบียน. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
ชนบทที่รัก. (ม.ป.ป.). วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทุ่งหยีเพ็ง จ.กระบี่. สืบค้นเมื่อ 21 กรฎาคม 2566, จาก www.ชนบทที่รัก.com
ณัฏฐณิชา เอี่ยมประดิษฐ์. (2565). การศึกษาองค์ประกอบที่ผลต่อความร่วมมือแบบเครือข่ายของการท่องเที่ยวชุมชนทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ทัศนัย ใจสบาย. (2553). ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนทุ่งหยีเพ็งของประชาชนอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์การเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เทศบาลตำบลศาลาด่าน. (2564). “ชาลำเพ็ง” ทุ่งหยีเพ็ง. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.saladan.go.th/
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2565). ทุ่งหยีเพ็ง บ้านอุ่น ป่าเย็น. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.greenglobeinstitute.com/
Thailandtourismdirectory. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านทุ่งหยีเพ็ง. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/