ขับขานลำนำยิปซีแห่งผืนป่า มรดกทางภูมิปัญญาชาวมันนิแห่งเขาบรรทัด
“ลิพัง” เป็นชื่อเรียกที่ผิดเพี้ยนมาจากชื่อของช้างเชือกหนึ่งในภาษามลายู คือ “มาลีพัง” แปลว่า แม่นางขุมทรัพย์ ตามตำนานเล่าว่าช้างมาลีพังเชือกนี้เป้นช้างของนายทหารมลายูนายหนึ่งที่หลบหนีสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในตำบลแห่งนี้ ตามร่างกายของช้างมาลีพังมีเพชร พลอย และทองคํา จํานวน มหาศาลฝังอยู่ตามร่างกาย หลังจากนายทหารผู้นั้นเสียชีวิตลง ช้างมาลีพังได้หลบหนีจากการตามล่าของทหารมลายูเข้ามาซ่อนตัวอยู่ภายในถ้ำเขาติงและได้ถูกฆ่าตายในที่สุด ร่างของช้างมาลีพังถูกแบ่งออกเป็น 2 ท่อน เพื่อนําอัญมณีที่ฝังอยู่ตามร่างกายออก จนกระทั่งได้เกิดเป็นตํานานหินหัวช้างและหินท้ายช้างแห่งถ้ำเขาติง ตําบลลิพัง ที่ตั้งขึ้นตามชื่อช้างมาลีพังจนปัจจุบัน
ขับขานลำนำยิปซีแห่งผืนป่า มรดกทางภูมิปัญญาชาวมันนิแห่งเขาบรรทัด
“ลิพัง” เป็นการเรียกที่ผิดเพี้ยนมาจากชื่อของช้างเชือกหนึ่งในภาษามลายู คือ “มาลีพัง” แปลว่า แม่นางขุมทรัพย์ โดยช้างเชือกนี้เป็นพาหนะของนายทหารมลายูท่านหนึ่งที่ได้หลบหนีสงครามมายังตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ ตําบลแห่งนี้ ซึ่งจากตํานานที่ชาวบ้านได้เล่าต่อกันมานั้นพบว่า ช้างมาลีพังเชือกนี้มีเพชร พลอย และทองคํา จํานวน มหาศาลฝังอยู่ตามร่างกาย หลังจากนายทหารผู้นั้นเสียชีวิตลง ช้างมาลีพังได้หลบหนีจากการตามล่าของทหารมลายูเข้ามาซ่อนตัวอยู่ภายในถ้ำเขาติงและได้ถูกฆ่าตายในที่สุด ร่างของช้างมาลีพังถูกแบ่งออกเป็น 2 ท่อน เพื่อนําอัญมณีที่ฝังอยู่ตามร่างกายออก จนกระทั่งได้เกิดเป็นตํานานหินหัวช้างและหินท้ายช้างแห่งถ้ำเขาติง ตําบลลิพัง อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง อย่างในปัจจุบัน
ด้วยทําเลที่ตั้งของเทือกเขาบรรทัดที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตําบลลิพัง จึงทําให้พื้นที่ดังกล่าวมีชาวมันนิอาศัยอยู่รวมกันจํานวนหนึ่ง โดยชาวมันนิกลุ่มนี้ได้อพยพเคลื่อนย้ายที่พักอาศัยไปมาอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาของอําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ทําให้ชาวมันนิมีความจําเป็นต้องออกจากป่าลึกมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งสําหรับชาวมันนิในตําบลลิพังนั้น ได้เริ่มออกมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา และด้วยจํานวนสมาชิกภายในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น ทําให้เกิดข้อจํากัดทางด้านอาหารและยารักษาโรค มันนิจึงจําเป็นต้องแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ จํานวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มลิพัง กลุ่มเจ้าพะ และกลุ่มคลองตง แต่เนื่องจากระยะทางของทั้งสามกลุ่มที่ไม่ห่างไกลกันมากนักจึงทําให้ยังสามารถเดินทางติดต่อสื่อสารและพบปะกันได้
ที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์
ตําบลลิพังตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 127 ตารางกิโลเมตร หรือ 75,375 ไร่ อยู่ห่างจากอําเภอปะเหลียนประมาณ 12 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดตรัง 50.08 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตําบลทุ่งยาว อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อําเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และอําเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตําบลทุ่งยาว อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และทะเลอันดามัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อําเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
ด้วยขนาดพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ทําให้ตําบลลิพังอําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 หมู่ คือ หมู่ที่ 1 บ้านลิพัง หมู่ที่ 2 บ้านทุ่งปาหนัน หมู่ที่ 3 บ้านท่าคลอง หมู่ที่ 4 บ้านคลองแร่ หมู่ที่ 5 บ้านท่าเขา หมู่ที่ 6 บ้านหินจอก และหมู่ที่ 7 บ้านทางสาย โดยชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตําบลลิพัง อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นั้นมักจะกระจุกตัวอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านท่าเขา และหมู่ที่ 6 บ้านหินจอก เป็นส่วนใหญ่
สภาพแวดล้อม
ตําบลลิพังเป็นตําบลหนึ่งในอําเภอปะเหลียนที่มีพรมแดนบางส่วนเป็นรอยต่อระหว่างเทือกเขาบรรทัด อันสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาตินานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า นกนานาพันธุ์ และพืชสมุนไพร รวมถึงยังเป็นแหล่งที่พักอาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มาเป็นเวลากว่า 1,500-10,000 มาแล้ว
พื้นที่ส่วนใหญ่ของตําบลลิพังเป็นพื้นที่เนินสูง มีคลองลําพังไหลผ่าน ทางทิศเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบสูงและเนินสูง ส่วนทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นที่ราบลาดลงมาจากเทือกเขาบรรทัดจดป่าชายเลนทะเลอันดามัน ดังจะเห็นได้ว่าตําบลลิพังเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ที่ราบลุ่มไปจนถึงที่ราบชายฝั่งป่าชายเลน และด้วยทําเลที่ตั้งบางส่วนของตําบลลิพังมีพื้นที่ติดต่อกับเทือกเขาบรรทัด อันเป็นแหล่งที่พักอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 5 และ 6 ที่ปรากฏมีชาวมันนิอาศัยอยู่หลายครัวเรือน
สําหรับสภาพภูมิอากาศของตําบลลิพังมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม กล่าวคือ มีฝนตกชุกสลับกับฤดูแล้งสั้น ๆ ไม่มีฤดูหนาว เนื่องจากทําเลที่ตั้งของตําบลลิพังตั้งอยู่ในเขตลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ทําให้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี โดยตําบลลิพังมีฤดูกาลเพียง 2 ฤดูกาล เช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์–เดือนพฤษภาคม และฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–เดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาสูงและลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นแถบมรสุม ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้ในตําบลลิพังส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น ไม้เป็น ไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ผืนป่ามีสีเขียวขจีตลอดทั้งปี นอกจากนี้แล้วจากการที่พื้นที่บางส่วนของตําบลลิพังมีอาณาเขตติดต่อกับเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นแหล่งต้นกําเนิดของแหล่งต้นน้ำลําธารสายสําคัญหลายสายที่ไหลผ่านในพื้นที่ตําบลลําพังและตําบลอื่น ๆ ของอําเภอปะเหลียน อาทิ คลองลิพัง คลองน้ำเค็ม คลองลําปะดง และคลองลําขัน เป็นต้น
การรวมกลุ่มประชากรชาวมันนิ
การรวมกลุ่มประชากรชาวมันนิในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ จะอยู่รวมกันไม่มากนัก เนื่องด้วยปัจจัยที่เกิดจากทรัพยากรทางด้านอาหารและยารักษาโรคที่มีอย่างจํากัด ชาวมันนิจึงมักอาศัยอยู่ร่วมกันประมาณไม่เกินกลุ่มละ 45-50 คน สำหรับชาวมันนิในพื้นที่ตำบลลิพังนั้นมีการกระจายตัวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มลิพัง กลุ่มเจ้าพะ และกลุ่มคลองตง เนื่องจากจํานวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทําให้ไม่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงดูสมาชิกทุกคนในชุมชนได้ ชาวมันนิจึงจำเป็นต้องแยกจำนวนประชากรออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลกันมากนัก เพี่อที่จะยังคงสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อยู่
ประชากรชาวมันนิในตำบลลิพัง
ประชากรชาวมันนิตำบลลิพังจากทะเบียนบ้านมันนิตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี 2561 พบครัวเรือนชาวมันนิอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวน 26 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 41 คน เป็นเพศชาย 24 คน และเพศหญิง 17 คน มีนายแมว ศรีลิพัง เป็นผู้นำกลุ่มคนปัจจุบัน โดยนามสกุล “ศรีลิพัง” เป็นนามสกุลที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดให้ เพื่อแสดงว่าตัวตนว่าเป็นชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในตำบลลิพัง ขณะที่ชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นก็จะใช้นามสกุลที่แตกต่างกันไป เช่น มันนิที่อาศัยอยู่ในตำบลปะเหลียน ก็จะใช้นามสกุลศรีปะเหลียน และมันนิในตำบลสันติราษฎร์ ก็จะใช้นามสกุลศรีสันติราษฎร์ ฯลฯ
รูปพรรณสัณฐานชาวมันนิในชุมชนมันนิตำบลลิพัง
รูปพรรณสัณฐานของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิมีความแตกต่างไปจากคนท้องถิ่นทางภาคใต้ทั่วไป กล่าวคือ มันนิจะมีกะโหลกศีรษะกว้างกลม ผมสีดําหยิกกร้อติดศีรษะ หรือหยิกฟูเป็นกระเซิง คิ้วโตดกหนา ตาโต ขนตายาวงอน จมูก แบน ผิวกายสีดําคล้ำ ริมฝีปากหนา ฟันซี่โต ๆ ใบหูเล็ก นิ้วมือนิ้วเท้าใหญ่ และโดยทั่วไปจะมีส่วนสูง ประมาณ 140-150 เซนติเมตร เป็นต้น
มานิแต่เดิมการประกอบอาชีพของชาวมันนิเป็นเรื่องยากพอสมควร เนื่องจากอุปสรรคในด้านต่าง ๆ อาทิ อุปสรรคทางด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มันนิกับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ อุปสรรคทางด้านระยะทางและการเดินทางจากที่พักมายังสถานที่ทํางาน ตลอดจนอุปสรรคที่เกิดจากอุปนิสัยของชาวมันนิที่รักสันโดษ ชื่นชอบความอิสระ ไม่ซับซ้อนวุ่นวาย จึงทําให้คนภายนอกมองว่ามันนิเป็นคนเกียจคร้าน ทําอะไรไม่เป็นหลักแหล่ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอาชีพที่ชาวมันนิในตําบลลิพัง อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นิยมมีทั้งหมด 3 อาชีพ ดังต่อไปนี้
อาชีพกรีดยางพารา
ในปัจจุบันชาวมันนิหลายพื้นที่มีสวนยางพาราเป็นของตนเอง เฉกเช่นเดียวกันกับมันนิในตําบลลําพังที่มีต้นยางพาราเป็นของตนเองกว่า 300 ต้น โดยจะทําการกรีดต้นยางเพื่อให้ได้น้ำยางออกมา โดยทั่วไปหากจะขายน้ำยาง ชาวมันนิจะนําไปขายกับชาวบ้านละแวกใกล้เคียง แต่ส่วนใหญ่นั้นมันนิจะนิยมนําน้ำยางมารีดให้เป็นแผ่นโดยใช้เครื่องรีดยาง ซึ่งจะสามารถทำได้วันละประมาณ 6-7 ผืน จากนั้นจะนําไปขายให้กับพ่อค้ารับซื้อแผ่นยางในตําบลทุ่งยาว อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง อย่างไรก็ดี ด้วยราคาของยางพาราในตลาดที่ไม่สูงมากนัก กอปรกับพ่อค้าที่อาจมองว่าฝีมือของชาวมันนิที่รีดแผ่นยางได้ไม่ค่อยละเอียดอ่อนและประณีตเท่าที่ควร เมื่อนําแผ่นยางไปขายจึงได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป คือ ประมาณ 50-60 บาทต่อผืนเท่านั้น
อาชีพขายของป่า
การขายสินค้าที่หามาได้จากในป่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวมันนินิยมทําในช่วงที่เว้นว่างจากการกรีดยางพารา โดยของป่าที่ชาวมันนิมักนํามาขายให้กับชาวบ้าน เช่น ยาสมุนไพร น้ำผึ้ง หวาย ไม้กฤษณา และหน่อไม้สินค้าที่ขายดี และเป็นที่ต้องการของชาวบ้านมากที่สุด คือ ยาสมุนไพร เนื่องจากชาวบ้านในตําบลลิพังยังคงนิยมรักษาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตนเอง ตลอดจนยาสมุนไพรแต่ละชนิดที่ชาวมันนินํามาขายก็ ล้วนมีคุณภาพสูงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงทําให้ยาสมุนไพรของชาวมันนิต่างเป็นที่ต้องการของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ซึ่งในบางวันชาวมันนิสามารถขายได้ถึง 400-500 บาท นอกจากนี้ น้ำผึ้งก็เป็นสินค้าอีกหนึ่งชนิดที่ชาวบ้านนิยมซื้อรองลงมาจากสมุนไพร โดยมักจะขายในช่วงฤดูแล้ง ราคาขวดละ 200 บาท โดยในหนึ่งปีสามารถหาน้ำผึ้งป่าขายได้กว่า 300 ขวด
อาชีพรับจ้างทั่วไป
รับจ้างทั่วไป เป็นอาชีพที่ชาวมันนินิยมทําในช่วงฤดูยางผลัดใบ หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งก็จะมีทั้งการรับจ้างถางป่า ทำสวน หรือรับจ้างจิปาถะอื่น ๆ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ค่าตอบแทนของการทํางานอาจเป็นเงินหรืออาหารก็ได้
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวมันนิเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีการนับถือศาสนาใด ๆ มีเพียงความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวมันนิกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นข้อปฏิบัติและระเบียบวิธีคิด ตลอดจนเป็นแหล่งรวมจิตใจให้สมาชิกในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ชาวมันนิจังศรัทธาและเกรงกลัวต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวมันนิเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการกระทําของสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งสิ้น โดยความเชื่อของชาวมันนิสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ความเชื่อหลัก ๆ ดังนี้
ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ
ความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณเป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ชาวมันนิยังคงมีการสืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน เนื่องจากชาวมันนออาศัยอยู่ภายในป่าเป็นหลัก ทั้งยังไม่มีการนับถือศาสนาใด ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งส่งผลให้ชาวมันนิหวาดกลัวต่ออำนาจของภูตผีวิญญาณอย่างมาก โดยเชื่อว่าวิญญาณมักจะอยู่ในที่มืดทุกแห่ง ดังนั้น มันนิจึงมักก่อไฟไว้ในที่พักตลอดทั้งคืน รวมถึงห้อยไพลติดตัวไว้ตลอดเอวลา ด้วยเชื่อว่าหัวไพลสามารถป้องกันและขับไล่สิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคล รวมถึงภูตผีวิญญาณได้ ผีตามความเชื่อของชาวมันนิแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผีชั้นสูง ผีชั้นต่ำ และผีชั้นต่ำที่สุด
- ผีชั้นสูง ได้แก่ โต๊ะปาวัง ผีตนนี้เป็นผีชั้นดี ไม่หลอกหลอนและทําอันตรายแก่ผู้อื่น ชาวมันนิเชื่อว่าโต๊ะปาวังเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งภายในป่า ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์ป่า แม่น้ำ ลําธาร ทุกครั้งที่จะเข้าป่าไปหาอาหาร ชาวมันนิจะต้องเอ่ยขออนุญาตบอกกล่าวแก่โต๊ะปาวังก่อนเสมอ
- ผีชั้นต่ำ เป็นที่มักทําทําอันตรายแก่ผู้อื่น ได้แก่ ญา คือ วิญญาณที่ออกมาจากคนตาย สามารถล่องลอยไปสิงสถิตที่ได้ก็ได้ และสามารถไปทําอันตรายแก่ผู้ที่วิญญาณไม่ชอบขณะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ในพิธีฝังศพของชาวมันนิจึงมีการเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายให้ไปสิงสถิตอยู่บริเวณต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นที่พักอาศัยแก่วิญญาณนั้น ๆ ต่อไป
- ผีชั้นต่ำที่สุด ได้แก่ บาดี คือ วิญญาณของสัตว์ที่ตายไปแล้ว ทุกครั้งที่ชาวมันนิไปล่าสัตว์จึงจะต้องมีการทำพิธีถอนรังควาน หรือขอขมาต่อวิญญาณสัตว์เหล่านั้น ซึ่งชาวมันนิเชื่อว่าหากไม่ขอขมาต่อวิญญาณสัตว์ วิญญาณเหล่านั้นสามารถเข้าสิงร่างของมนุษย์ได้ และเมื่อเข้าสิงผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะมีอาการคล้ายกับสัตว์ตัวนั้น ๆ
ความเชื่อเรื่องเจ้าป่าเจ้าเขา หรือโต๊ะปาวัง
เนื่องด้วยชาวมันนิมักตั้ง "ทับ" หรือที่อยู่อาศัยในป่า ทำให้ชาวมันนิมีความเชื่อเรื่องเจ้าป่าเจ้าเขา หรือโต๊ะปาวัง สิ่งศักด์สิทธิ์ที่ชาวมันนิเชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งทุกสรรพสิ่งในป่า ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ลำธาร สัตว์ป่า ล้วนแต่เป็นบริวารของโต๊ะปาวังทั้งสิ้น ดังนั้น ทุกครั้งที่ชาวมันนิจะข้าไปหาอาหารหรือใช้ประโยชน์ใดจากผืนป่าจึงต้องมีการเอ่ยขอโต๊ะปาวังทุกครั้ง โดยเชื่อว่าหากเอ่ยขอสิ่งที่ต้องการต่อโต๊ะปาวัง จะทำให้สมปรารถนาในสิ่งที่ต้องการเสมอ เช่น หากจะไปล่าสัตว์ ก็ให้เอ่ยขอสัตว์ต่อโต๊ะปาวังแล้วจะได้สัตว์ตามที่ขอ ฯลฯ
ความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา
ความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถาที่ปรากฏในชุมชนชาวมันนิตำบลลิพัง เป็นเวทมนต์คาถาที่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยให้แก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งนอกจากจะรักษาอาการเจ็บป่วยให้หายแล้ว ยังเป็นการรักษาสภาพจิตใจ สร้างความเชื่อมั่น และความศรัทธาให้กับผู้ที่เจ็บไข้ได้ นอกจากนี้ เวทมนต์คาถายังมักปรากฏมีบทบาทในประเพณีดั้งเดิมของชาวมันนิ เช่น “พิธีซังย่อล” ในประเพณีการตายของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ โดยขั้นแรกหมอยาจะปลุกเสกหัวไพล จากนั้นจะเคี้ยวและพ่นลงไปบนร่างของศพ ซึ่งชาวมันนิเชื่อว่าพิธีนี้จะช่วยชี้ทางให้ผู้ตายไปสู่สุคติไม่มาตามหลอกหลอนสมาชิกคนอื่น ๆ
ประเพณีและพิธีกรรม
กลุ่มชาติพันธุ์มันนิเป็นชนพื้นเมืองที่มีจารีต ประเพณี และพิธีกรรมเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติและเชื่อถือกันมาอย่างยาวนานจนรูปแบบประเพณีเหล่านั้นได้กลายมาเป็นแบบอย่างทางความคิดของสมาชิกในชุมชน รวมถึงยังคงอิทธิพลอยู่จนถึงในทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ชาวมันนิในพื้นที่ดัตำบลลิพังยังคงมีการ ประกอบประเพณีและพิธีกรรมแบบดั้งเดิมอยู่บ้าง ได้แก่ ประเพณีการเกิด ประเพณีการแต่งงาน และประเพณีการตาย ดังต่อไปนี้
ประเพณีการเกิด
ในปัจจุบันชาวมันนิบางส่วนยังนิยมทําคลอดตามประเพณีดั้งเดิมของตน แม้ว่าจะเข้าถึงระบบการแพทย์สมัยใหม่แล้ว แต่การทําคลอดโดยโต๊ะบิดันหรือหมอตําแยยังคงปรากฏอย่ในกลุ่มชาวมันนิตำบลลิพัง โดยโต๊ะบิดันจะนําสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ผมคนป่า” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้คลอดง่ายมาซาวกับน้ำซาวข้าวให้ผู้ตั้งครรภ์รับประทาน พร้อมกับใช้น้ำลูบพรมตามตัวและตามท้อง จากนั้นจะเริ่มสวดคาถา เมื่อคลอดแล้วโต๊ะบิดันจะนําน้ำอุ่นที่ผสมยาสมุนไพรและใบเตยอาบให้ทารก เมื่ออาบน้ำเสร็จจะใช้ไม้ไผ่บาง ๆ ตัดสายสะดือ ขณะเดียวกันสามีของผู้ตั้งครรภ์จะต้องขุดหลุมใกล้ ๆ กับแคร่ที่ทําคลอด ลึกประมาณ 1 ศอก เพื่อฝังรกเด็ก สำหรับแม่เด็กหลังจากคลอดลูกจะต้องอยู่ไฟประมาณ 7 วัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่ไฟนี้จะต้องรับประทานยาต้ม เช่น ยาร้อน มีสรรพคุณช่วยขับน้ำคาวปลา ขับเลือดเสียออกจากร่างกาย กล้วยหมูสัง มีสรรพคุณเป็นยาบํารุงช่วยให้ร่างกายแข็งแรงหลังคลอด รวมถึงช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วยิ่งขึ้น และยาตั้งยับเยา มีสรรพคุณช่วยให้มีน้ำนมมาก
ประเพณีการแต่งงาน
พิธีกรรมการแต่งงานของชาวมันนิมีขั้นตอนที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อทั้งสองฝ่ายชอบใจซึ่งกันและกัน ฝ่ายชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ของตนไปสู่ขอฝ่ายหญิง หากผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงตกลงก็จะมีงานเลี้ยงฉลอง ซึ่งในขั้นตอนและพิธีการนั้นจะเริ่มด้วยการให้ญาติผู้ใหญ่อวยพร จากนั้นแขกในงานก็จะรับประทานอาหารที่ฝ่ายชายหามาได้เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี แต่ในปัจจุบันนี้ มันนิในตําบลลําพังได้ลดขั้นตอนของพิธีการแต่งงานลงจากเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ ทําให้หาอาหารได้ยากขึ้น โดยในปัจจุบันหากทั้งสองฝ่ายชอบใจซึ่งกันและกันก็จะมีการพูดคุย และตกลงกับผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย หากอยู่ด้วยกันได้ก็อยู่กินกันอย่างสามีภรรยาได้เลย
ประเพณีการตาย
ประเพณีการทำศพของชาวมันนิตำบลลิพังในปัจจุบันนั้นนับว่าค่อนข้างมีความแตกต่างจากในอดีต ในอดีตมันนิจะนําศพนอนตะแคงหันศีรษะไปทางทิศที่นอนเดิม แล้วพับศพแค่เข่าให้ส้นเท้าอยู่ที่สะโพก เมื่อพับศพเรียบร้อยแล้วก็จะนําเสื้อผ้าของผู้ตายทั้งหมดห่อศพอย่างมิดชิด จากนั้นญาติจะรวบรวมสมบัติที่มีของผู้ตายมาตั้งไว้หน้าศพเพื่อจะฝังไปพร้อม ๆ กับศพ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวมันนิที่เชื่อว่าผู้ตายจะสามารถนําไปใช้ต่อไปได้ ต่อมาจะจุดคบไว้ที่ศีรษะของผู้ตายเพื่อเป็นแสงสว่างให้ผู้ตาย หมอผีประจํากลุ่มจะทําพิธี “ซังย่อล” โดยการเสกคาถาชี้ทางให้ผีไปสู่สุคติก่อนจะยกศพลงหลุมขนาดลึกประมาณ 3 ศอก กว้าง 2 ศอก เมื่อฝังเสร็จแล้วก็จะนําดวงวิญญาณของผู้ตายไปฝากไว้ที่ต้นใหญ่ให้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ต่อไป ทว่า ในปัจจุบันมีการลดขั้นตอนเกี่ยวกับการทําศพลง กล่าวคือ หากชาวมันนิเห็นว่าผู้ป่วยภายในชุมชนมีอาการไม่ดีขึ้น ก็จะนําร่างของผู้ป่วยห่อมาด้วยผ้าถุงหรือผ้าโสร่งของผู้ป่วย จากนั้นจะหามด้วยไม้ไผ่ความยาวเลยตัวของผู้ป่วยมาปล่อยไว้ที่ตามป่า และจะให้ผู้ชายประมาณ 1-2 คน คอยกลับมาดูผู้ป่วยทุกวัน หากผู้ป่วยเสียชีวิตก็จะทิ้งไว้อย่างนั้น
ลักษณะที่พักอาศัย
กลุ่มชาติพันธุ์มันนี้เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ได้ถือกําเนิดและอาศัยอยู่ในป่าเขาของคาบสมุทรภาคใต้มาเป็นระยะเวลายาวนาน พวกเขามักจะสร้าง “ทับ” หรือที่พักอาศัยบริเวณพื้นที่เนินสูงสลับเชิงเขาใกล้กับลําธารหรือน้ำตก และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติหลากหลายชนิด อาทิ สัตว์ป่า หัวเผือก และหัวมัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การที่ชาวมันนิถือกําเนิดและอาศัยอยู่ในป่ามายาวนานจึงทําให้ชาวมันนิมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ และพึ่งพิงทรัพยากรทางธรรมชาติภายในป่าเป็นหลัก สําหรับในด้านที่อยู่อาศัยนั้น ชาวมันนิส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านที่พักอาศัยและสภาพความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การใช้วัสดุที่หามาได้จากในป่า อาทิ กิ่งไม้ ใบไม้ มาสร้างเป็นที่พักอาศัยแบบง่าย ๆ ไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ซึ่งสำหรับชาวมันนิตำบลลิพังนั้นสามารถจำแนกพัฒนาการด้านที่อยู่อาศัยได้ 3 ยุค ดังนี้
- ยุคดั้งเดิม ทําเลที่พักของยุคนี้มักจะสร้างใกล้กับแหล่งน้ำ มีเนินสูง มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการสร้างที่พักอาศัยจะใช้วัสดุจากธรรมชาติทั้งหมด มีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงน โดยใช้กิ่งไม้ต่อเป็นเสาบ้าน ยกแคร่สูงจากพื้นประมาณ 1 ศอก มุงด้วยใบไม้ เช่น ใบกล้วย ใบตาล ใบจาก ป้องกันแสงแดด แต่ไม่สามารถป้องกันน้ำฝนได้ เมื่อฝนตกจะอพยพเข้าไปหลบฝนภายในถ้ำบริเวณใกล้เคียง ภายในบ้านจะมีกองไฟสําหรับไล่สัตว์ร้ายและช่วยคลายความเหน็บหนาวเพื่อไม่ให้สมาชิกในบ้านป่วยไข้ ในยุคสมัยนี้ชาวมันนิจะมีการอพยพโยกย้ายที่พักอาศัยบ่อยครั้ง โดยปัจจัยหลักมาจากการภาวะอัตคัดขัดสน เนื่องจากชาวมันนิไม่มีความคิดที่จะกักตุนอาหารไว้มาก ๆ นอกจากนี้แล้วอาจมาจากปัจจัยเสริมอื่น ๆ อันเกิดจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวมันนิ เป็นต้น
- ยุคปรับตัว เป็นยุคที่ความเจริญจากภายนอกเข้ามาภายในป่า ชาวมันนิจึงต้องหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดํารงชีวิตของตน รู้จักการเพาะปลูก และอยู่กับที่ได้เป็นเวลานาน ไม่อพยพเร่ร่อนทุกครั้งที่อาหารใกล้หมดอย่างที่ผ่านมา ลักษณะที่พักอาศัยของชาวมันนิในยุคนี้จะมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าเก่า หลังคามีลักษณะเป็นจั่ว มุงด้วยใบไม้ที่แข็งแรงสามารถป้องกันแสงแดดและน้ำฝนได้ดีกว่าในยุคก่อนหน้า
- ยุคพัฒนา ชาวมันนิหลายกลุ่มเริ่มหันมาใกล้ชิดกับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในยุคนี้ชาวมันนิเริ่มได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ของทางภาครัฐ และสามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคเฉกเช่นเดียวกันกับชาวบ้านละแวกโดยรอบ อาทิ การไฟฟ้า การประปา การคมนาคม ฯลฯ การสร้างที่พักอาศัยของมันนิในยุคพัฒนาจึงมีความคล้ายคลึงกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ สร้าวบ้านยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี ใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นฝาผนังบ้าน และปูพื้นบ้านด้วยไม้กระดาน รวมไปถึงในยุคนี้ยังมีการก่อกองไฟภายในบ้าน แต่เป็นกองไฟที่ถูกจุดมาจากเตาถ่าน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ลักษณะที่พักอาศัยของชาวมันนิในตําบลลิพัง อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นั้นมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป ทั้งที่มีลักษณะเป็นบ้านที่มีการมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ยกพื้นสูง และบ้านยกพื้นสูงไม่มากนัก ปูพื้นด้วยไม้กระดาน มุงหลังคาด้วยใบจากหรือวัสดุอื่น ๆ แต่เนื่องด้วยวัฒนธรรมของชาวมันนิที่ไม่นิยมอาบน้ำ ชาวมันนิจึงไม่ได้สร้างห้องน้ำไว้สําหรับใช้งานภายในบ้านพัก หน่วยงานภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่จึงเห็นสมควรที่จะสร้างห้องน้ำแยกออกมาจากที่ตัวบ้านพักเพื่อสุขลักษณะที่ดีของชาวมันนิในตําบลลิพัง
อาหาร
สำหรับชาวมันนิ หน้าที่การหาอาหารหาใช่หน้าที่ของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่การหาอาหารคือหน้าที่ของทุกคน โดยชาวมันนิทุกคนจะมีหน้าที่หาวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ผู้หญิงและเด็กจะไปหาวัตถุดิบที่ง่าย ๆ ไม่ต้องใช้พละกําลังมาก อาทิ หัวเผือก หัวมัน ปลา ขณะที่ผู้ชายจะไปล่าสัตว์ภายในป่าลึก อาทิ หมูป่า หมูดิน (ปัจจุบันไม่รับประทานแล้ว เนื่องจากมีกลิ่นสาบที่ค่อนข้างรุนแรง ชาวมันนิจึงหลีกเลี่ยงไปบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน) กระต่าย และค่าง เป็นต้น สําหรับการล่าสัตว์ของกลุ่มผู้ชายจะมีอาวุธที่ใช้ คือ บอเลา หรือกระบอกตุ๊ด ทํามาจากไม้ซาง ปกติแล้วมักใช้คู่กับลูกดอกอาบยาพิษที่ทํามาจากยางของต้นอิโป๊ะ เมื่อเป่าลูกดอกอาบยาพิษไปโดนสัตว์ตัวใด สัตว์ตัวนั้นจะยังไม่ตายในทันที ต้องรอจนยาพิษนั้นจะออกฤทธิ์เสียก่อน และเมื่อได้สัตว์มาก็จะตัดเนื้อสัตว์ส่วนที่โดนลูกดอกทิ้ง ก่อนจะนํามาประกอบอาหาร
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าชาวมันนิจะมีภาพลักษณ์ที่ดูล้าหลัง ไม่ทันสมัย แต่ชาวมันนิก็เป็นชนกลุ่ม หนึ่งที่ไม่นิยมรับประทานของดิบ มันนิรู้จักใช้ไฟและความร้อนเพื่อทําให้วัตถุดิบเหล่านั้นสุก รวมถึงรู้จักนําผักหญ้าที่สามารถหาได้จากในป่ามาประกอบอาหารร่วมด้วย อาทิ หยวกกล้วย มะละกอ และตําลึง ฯลฯ นอกจากนี้ ในปัจจุบันชาวมันนิยังรู้จักที่จะนําเครื่องปรุงต่าง ๆ อาทิ น้ำตาล น้ำปลา ผงชูรส เกลือ มาใช้เพื่อให้อาหารมีรสชาติที่อร่อยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
นายแมว ศรีลิพัง ผู้นำชุมชนชาวมันนิตำบลลิพัง
ภูมิปัญญามันนิในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย
เนื่องจากลักษณะที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของพื้นที่ที่พักอาศัยของชาวมันนิในตำบลลิพังที่ติดต่อกับบางส่วนของเทือกเขาบรรทัด ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้นานาชนิดที่สามารถนํามาใช้เพื่อบําบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้ ตลอดจนมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ กอปรกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวมันนิที่เชื่อว่าสาเหตุของการเจ็บป่วย เป็นผลจากการกระทําของสิ่งเหนือธรรมชาติ ชาวมันนิจึงได้นําความเชื่อตามหลักไสยศาสตร์มาปรับใช้ไปพร้อมกับหลักการแพทย์สมุนไพร เกิดเป็นภูมิปัญญาชุมชนเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โดยพฤติกรรมการบำบัดรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรมี 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- การวินิจฉัยอาการเจ็บป่วย เริ่มจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วยและญาติ อาทิ อาการของโรค ระยะเวลาที่เจ็บป่วย และสถานที่ที่ไปก่อนหน้า สืบเนื่องมาจากชาวมันนิเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยเกิดมาจากการกระทําของสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเมื่อสอบถามข้อมูลแล้ว หมอจะทําการกล่าวขอขมาถึงสิ่งที่ผู้ป่วยได้กระทําลงไปต่อภูตผีหรือวิญญาณ
- ความเชื่อและพิธีกรรมในการรักษา เมื่อหมอวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยได้แล้ว หมอก็จะรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ โดยการใช้เวทมนตร์คาถา หรือที่ชาวมันนิเรียกว่าการทําพิธีกรรม “ซาโฮส”
การทํา “ซาโฮส” ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวมันนิ โดยหมอจะใช้หมากพลูจํานวน 4 คํา มาเคี้ยวแล้วพ่นไปที่ร่างกายบริเวณที่ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บป่วยทั้งหมด 3 ครั้ง เช่น หากผู้ป่วยเจ็บคอก็จะพ่นหมากพลูไปบริเวณคอของผู้ป่วย แต่ก่อนจะพ่นลงไปนั้นหมอจะสวดคาถาที่ว่า “ปะลัก เอว อะเบ็ด” อย่างไรก็ดี การนําหมากพลูจํานวน 4 คํา มีนัยถึงการขอขมาต่อเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 และเพื่อให้เทพเหล่านั้นช่วยรักษาอาการให้หาย ซึ่งเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 4 ประกอบไปด้วย ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งป่า ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งก้อนหิน ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งต้นไม้ใหญ่ และผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน
- การใช้ยาสมุนไพรในการรักษา หลังจากการทําพิธีซาโฮสแล้วนั้น หมอจะจัดยาสมุนไพรที่ตรงกับอาการของโรคให้แก่ผู้ป่วยเพื่อกลับไปดูแลตนเองต่อที่บ้านพัก แต่หากผู้ป่วยรับประทานยาสมุนไพรที่หมอจัดให้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะนิยมไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลใกล้กับชุมชนของตน
การใช้ยาสมุนไพรของชาวมันนิสามารถจำแนกได้ทั้งหมด 5 รูปแบบ ได้แก่ การนำสมุนไพรมาใช้สด ๆ การต้ม การพอก การคั้นเอาแต่น้ำ และการดอง โดยจะอธิบายรายละเอียดของการใช้สมุนไพรรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การนํามาสมุนไพรมาใช้สด ๆ เพื่อรักษาโรคมีหลายชนิดและประเภท ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรที่มาจากพืชหรือจากสัตว์ อาทิ หัวไพล มีสรรพคุณแก้คัน โดยการนําหัวไพลมาเคี้ยวแล้วพ่นไปบริเวณจุดที่รู้สึกคัน ต้นหัวยาริ้น มีสรรพคุณแก้วิงเวียนศีรษะ ยาลูกขาด มีสรรพคุณคล้ายคลึงกับยาคุมฉุกเฉิน เมื่อรับประทานแล้วจะทําให้ลูกขาดหรือไม่ท้อง วิธีรับประทานให้นําใช้รากของสมุนไพรมาเคี้ยวสด ๆ เป็นต้น
- การนํายาสมุนไพรมาต้ม ทั้งเพื่อรับประทาน นํามาอาบ หรือนํามาแช่ตัว ฯลฯ โดยปกติทั่วไปยาสมุนไพรที่ชาวมันนินิยมนํามาต้มนั้นจะมีลักษณะเป็นรากไม้และเปลือกไม้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่นิยมใช้ยาสมุนไพรผ่านกระบวนการต้มมักจะเป็นเพศหญิง เนื่องจากไม่สามารถรับประทานยาที่ผสมกับเหล้าได้ ซึ่งขั้นตอนในการต้มยาสมุนไพรของชาวมันนิไม่มีความซับซ้อน มีขั้นตอนเพียงแค่นํารากไม้หรือเปลือกไม้มาต้มกับน้ำร้อน โดยระยะเวลาที่ใช้ต้มยาสมุนไพรของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ไม่มีสูตรตายตัว สมุนไพรที่สามารถนำมาต้มได้ เช่น ชินดอกเดียว บ่าวม้ามืด และไฟเดินกอง ฯลฯ
- การนํายาสมุนไพรมาพอกบริเวณบาดแผล เป็นหนึ่งรูปการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวมันนิ โดยขั้นตอนในการรักษาด้วยการพอกคล้ายคลึงกับการนําสมุนไพรมาใช้สด ๆ แต่ต่างกันที่ยาพอกจะมีการฝนหรือตําตัวยา แล้วจึงนํามาพอกบริเวณที่มีบาดแผล นอกจากนี้ยังสามารถนําตัวยาสมุนไพรมาผสมกับน้ำหรือเหล้าเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น อาทิ ใบตัดเซาะ มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลโดยนําใบมาขยี้แล้วพอกลงไปบริเวณแผล เห็ดงู มีสรรพคุณช่วยดูดพิษจากสัตว์ร้าย โดยนําเห็ดงูมาฝนกับน้ำแล้วพอกไปบริเวณแผล เป็นต้น
- การนํายาสมุนไพรมาคั้นเอาแต่น้ำ ผ่านกระบวนการโขลก การคั้น การขยี้ และการบด จนสมุนไพรเหล่านั้นละเอียดเหลวเป็นน้ำ แล้วนํามาน้ำที่ได้มารับประทาน หรือนําไปหยอดบริเวณที่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งขั้นตอนจะคล้ายคลึงกับรูปแบบการพอก แต่การคั้นเอาแต่น้ำจะใช้คุณประโยชน์ของน้ำที่ได้มาจากสมุนไพรแทน โดยสมุนไพรที่ชาวมันนินิยมนํามารักษาด้วยวิธีการคั้นเอาแต่น้ำ ได้แก่ ย่านลิเพา ด้วยการนําใบมาคั้นแล้วหยดน้ำของสมุนไพรดังกล่าวไปบริเวณลูกตา เนื่องจากใบของย่านลิเพามีสรรพคุณช่วยให้หายเคืองตาได้
- การนําสมุนไพรมาดอง เป็นรูปแบบของการปรุงยาสมุนไพรที่นิยมที่สุดของชาวมันนิ เนื่องจากสมุนไพรที่หาได้มักมีลักษณะเป็นรากไม้ เปลือกไม้ การนํามาดองจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการดึงเอาสรรพคุณของยาออกมา โดยเริ่มจากการนําสมุนไพรมาสับหรือผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนําไปตากแห้งด้วยแดดที่ร้อนจัดจนรากไม้หรือเปลือกไม้แห้งสนิทแล้วใช้ลงไปในภาชนะ การดองยาสมุนไพรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดนิยมดองด้วยเหล้าขาว นอกจากนี้รูปแบบการดองยาสมุนไพรยังเป็นวิธีการที่ชาวมันนิมักแนะนําให้กับลูกค้าผู้ที่ซื้อยาสมุนไพรด้วย
ชาวมันนิเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ภาษามันนิเป็นหนึ่งในภาษาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก โดยจะมีเพียงภาษาพูดที่ใช้สำหรับพูดคุยสื่อสารกันเท่านั้น ไม่มีภาษาเขียน ด้วยเหตุนี้จึงทําให้ภาษามันนิเกิดการลื่นไหลได้ โดยพบว่าชาวมันนิในพื้นที่ต่าง ๆ จะมีรูปแบบหรือสําเนียงการพูดที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้ 4 รูปแบบภาษา ได้แก่ ภาษาแต็นแอ็น จะพบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาบริเวณเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา ภาษาแตะแด๊น พบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในแถบอำเภอรือเสาะ และอําเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ภาษายะฮาย พบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดยะลา และภาษากันซิว พบในกลุ่มชาวมันนี้ที่อาศัยอยู่ในแถบตําบลบ้านแหร อําเภอธารโต จังหวัดยะลา
สำหรับภาษาที่ชาวมันนิในตำบลลิพังกลุ่มนี้ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษามันนิแต็นแอ็น ใช้ในการพูดคุยสื่อสารกับชาวมันนิด้วยกัน และใช้ภาษาถิ่นภาคใต้ในการสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีชาวมันนิบางคนสามารถพูดคุยและสื่อสารด้วยภาษากลางได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเคยได้รับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่มาก่อนหน้า อาทิ นายแมว ศรีลิพัง นายบ่าว ศรีสันติราษฎร์ และนายเต๊ะ ศรีสันติราษฎร์ เป็นต้น
มันนิ (Mani) มานิ หรือมาเน๊ะ เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง มนุษย์ เป็นชื่อเรียกของชนเผ่าในกลุ่มชาติพันธุ์นิกรอยด์หรือเนกริโต (Nigerito) ตระกูลออสโตร-เอเชียติก หรือที่รู้จักในชื่อ ซาไก หรือเงาะป่า แต่ทั้ง 2 คำ พวกเขาไม่ชอบและไม่อยากให้เรียก เพราะมีความรู้สึกเหมือนโดนล้อเลียน โดนดูถูก ดูแคลน และแปลกแยกไปจากสังคม
มันนิ อาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่กี่กลุ่มในประเทศไทยที่ยังดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ เก็บสมุนไพร และใช้ชีวิตอยู่ในป่า ในอดีตชาวมันนิอาจถูกเรียกว่าเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ด้วยมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเรื่อยไปตามแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนั้นช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อทรัพยากรเริ่มร่อยหรอจึงเริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่คล้ายการเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ทว่า ในความเป็นจริง การตั้งถิ่นฐานของชาวมันนิไม่ได้เป็นไปในลักษณะการเร่ร่อน เพราะการเคลื่อนย้ายของชาวมันนิเป็นการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลของพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยจะเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทย หรือบางครั้งก็อาจข้ามไปฝั่งมาเลเซียบ้าง แล้วจะเดินทางกลับมาที่เดิมในบางช่วง การมองมันนิว่าเป็นชนเผ่าเร่ร่อนนั้นจึงอาจไม่ถูกต้องทั้งหมดเสมอไป
ภาพของชาวมันนิในสายตาคนส่วนใหญ่ที่นอกเหนือจากการเป็นชนเผ่าเร่ร่อน คือ การถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนล้าหลัง เข้าไม่ถึงความเจริญ เพราะอาศัยอยู่ในป่า ถูกมองว่าเป็นคนไม่ทันสมัย เป็นคนไม่รู้เรื่องอะไร และจับมาล้อเลียนว่าเป็นพวกเงาะป่า เป็นพวกซาไก จนบางครั้งเท่ากับการไปละเมิดดูถูก ดูแคลน หรือสร้างอคติทางชาติพันธุ์โดยที่เราไม่ตั้งใจ เมื่อมันนิถูกมองไม่ต่างจากกลุ่มคนที่ขาดโอกาส ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่เป็นกระบวนการช่วยเหลือที่ทำให้รู้สึกว่าเหนือกว่า รูปแบบวิธีการจึงไม่ต่างจากการสงเคราะห์ด้วยการนำเสื้อผ้า อาหาร หรือขนมไปบริจาคให้ แท้จริงผู้บริจาคก็มีเจตนาดี แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง ของที่นำไปบริจาคบางครั้งก็ใช้ไม่ได้จริง เช่น รองเท้าส้นสูง หรือเสื้อขนสัตว์หนา ๆ ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าสิ่งของเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์เพื่อดำรงชีพในป่าได้หรือ ?
ยุคสมัยหนึ่ง รัฐบาลเองก็เคยหวังดีด้วยความพยายามตั้ง “นิคมสร้างตนเอง” เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มาอยู่รวมกัน ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่า แต่วิถีของการอยู่อาศัยในลักษณะของนิคมฯ เป็นบ้านที่ไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา ทำให้ไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตเองได้จึงเกิดเป็นปัญหา จากเดิมที่เคยหาของป่า หาสมุนไพรเองได้ เมื่อมาอยู่เป็นนิคมฯ ต้องกลายเป็นแรงงานใช้แรงอยู่ในสวนยางบ้าง ต้องทำงานแลกเงินเอาไปซื้อข้าวสารกินบ้าง จนกลายเป็นคนที่รอการช่วยเหลืออย่างเดียว
การหยิบยื่นความช่วยเหลือที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเหล่านี้จึงคลับคล้ายการไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่เนือง ๆ สิ่งสำคัญ คือ การมองมันนิด้วยมุมมองใหม่ว่าชาวมันนิไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาส หรือคนชายขอบ แทนที่จะเข้าไปหยิบยื่นความช่วยเหลือที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างปัญหาสะสมลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่หากลองเปิดใจและเปิดโอกาสให้ชาวมันนิได้ใช้ศักยภาพที่มีในการดูแลตนเอง โดยที่ภาครัฐเข้าไปมีบทบาทในการเสริมศักยภาพให้เขาตระหนักรู้ถึงความสามารถและภูมิปัญญาของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องศาสตร์การรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพรที่ในระยะหลังมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าตัวยาสมุนไพรที่ชาวมันนิใช้เป็นประจำนั้นมีสรรพคุณเทียบเท่ากับการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้และภูมิปัญญาของมันนิที่มีอยู่ในป่า และให้การสนับสนุนเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน
ในฐานะที่มันนิก็เป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของรัฐไทย “ไม่ใช่” คนนอก เพื่อให้มันนิสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองดังที่เคยเป็นมา อาจเป็นการดีกว่าที่จะมองว่ามันนิคือผู้ขาดโอกาส แล้วเข้าไปยัดเยียดความช่วยเหลือที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ทำให้แทนที่เขาจะกลายเป็นคนที่ดูแลตัวเองได้ จะกลายเป็นว่าเขาจะดูแลตัวเองไม่ได้ และสุดท้ายรัฐต้องเสียเวลา เสียงบประมาณช่วยเหลือไปโดยเปล่าประโยชน์
จริยาพร ใคร่ครวญ. (2563). การใช้ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของชาวมันนิ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. ภาคนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ทัศนีย์ ประกอบบุญ. (2565). ‘มันนิ’ ลมหายใจแห่งผืนป่า อคติ-การพัฒนา ด้อยค่าชาติพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://theactive.net/read/marginalpeople-20220719/
ภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด. (2562). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/Mannibanthat/
อภิชญา แก้วอุทัย. (2563). มันนิ “ซาไก” : ภาพตัวแทน ชาติพันธุ์และความเป็นชายขอบ (Mani ‘Sakai’ : Representations, Ethnicity and Marginality). วารสารไทยคดีศึกษา, 17(2), 148-152.
อภินันท์ ธรรมเสนา. (2563). กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่ “คนอื่น”. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก https://theactive.net/read/the-indigenous-peoples-of-thailand/