Advance search

บ้านใหม่ทรงคนอง

ชุมชนนี้โดดเด่นในการเป็นชุมชนที่มีสวนป่าภายในชุมชน โดยสวนป่าที่อยู่ภายในชุมชนแห่งนี้คือสวนป่าเกดน้อมเกล้า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ป่าชุมชนเมืองแห่งแรกของประเทศไทย

หมู่ 2,3
ทรงคนอง
พระประแดง
สมุทรปราการ
วีรวรรณ สาคร
6 ส.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
6 ส.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
6 ส.ค. 2023
บ้านใหม่ทรงคนอง


ชุมชนนี้โดดเด่นในการเป็นชุมชนที่มีสวนป่าภายในชุมชน โดยสวนป่าที่อยู่ภายในชุมชนแห่งนี้คือสวนป่าเกดน้อมเกล้า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ป่าชุมชนเมืองแห่งแรกของประเทศไทย

หมู่ 2,3
ทรงคนอง
พระประแดง
สมุทรปราการ
10130
องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง โทร. 0-2818-5226
13.667579596465853
100.55791606983115
องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง

ชุมชนบ้านใหม่ทรงคะนอง อยู่ในตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า บางกระเจ้า โดยพื้นชุมชนนี้ตามประวัติจะถูกอยู่ในเมืองพระประแดง ซึ่งเมืองพระประแดงแต่เดิมพบว่ามีประวัติศาสตร์ถึงผู้คนอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เคยร้างไปในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนกระทั่งในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ ลงไปสำรวจปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเมืองใหม่ ผลจากการสำรวจ ได้มีการสร้างป้อมขึ้นมา หนึ่งป้อมตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองลัดโพธิ์ ป้อมนี้ชื่อว่าป้อมวิทยาคมเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองพระประแดง อย่างไรก็ดียังไม่ทันสร้างสิ่งใดต่อก็เกิดศึกกับพม่าเสียก่อนทำให้ไม่ได้มีการดำเนินก่อสร้างสิ่งใด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระองค์ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นแม่กองเสด็จลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด เมื่อพ.ศ. 2357 ตัดเอาแขวงกรุงเทพมหานครและแขวงเมืองสมุทรปราการมาทำเมือง และพระราชทานชื่อเมืองว่า นครเขื่อนขันธ์ ทั้งนี้ในสมัยการก่อสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์พระองค์ได้โปรดเกล้าให้อพยพชาวมอญเมืองปทุมธานีที่เคยได้อพยพเข้ามาประเทศไทย ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในเมืองนครเขื่อนขันธ์ด้วยเพื่อเป็นกำลังสร้างเมือง ทำให้ต่อมาพื้นที่แห่งนี้จึงมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เมืองนครเขื่อนขันธ์สร้างแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2365 และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า พ.ศ. 2458 ได้โปรดให้เปลี่ยนเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นจังหวัดพระประแดง จนในสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าให้ยุบจังหวัดนี้ลงและเปลี่ยนเป็นอำเภอ เมื่อพ.ศ.2457 และให้อำเภอนี้ขึ้นอยู่กับสมุทรปราการ

โดยอำเภอพระประแดงนี้หลังการตั้งเป็นอำเภอแล้วได้มีการจัดตั้งตำบลขึ้นมาหลายตำบล ในที่นี้รวมถึงมีการจัดตั้งตำบลทรงคนองด้วย ซึ่งตำบลทรงคนองแต่เดิมมีสถานะเป็น สภาตำบลทรงคนอง แต่ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็น “องค์การบริหารส่วนตำบลทรง” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ภายในตำบลทรงคนองมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน ซึ่งชุมชนบ้านใหม่ทรงคนองนี้ครอบคลุมหมู่ 2และ3 ของตำบลทรงคนอง 

ทั้งนี้ชุมชนบ้านใหม่ทรงคนองพบว่าโดดเด่นขึ้นมาได้จากการที่ภายในชุมชนมีสวนป่าชุมชนเมืองหรือสวนป่าเกดน้อมเกล้าขึ้นมา โดยสวนแห่งนี้เป็นสวนที่ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันทำให้เกิดขึ้น กล่าวคือ พื้นที่สวนป่าน้อมนี้เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ดูแล ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของประชาชนทำการเกษตรแต่ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างไปเนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อย ทางภาครัฐจึงได้ขอซื้อพื้นที่เหล่านี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ซึ่งหลังการซื้อแล้วพื้นที่นี้ยังไม่ได้มีการจัดสรรใดทางชุมชนจึงได้ขออนุญาติเข้ามาร่วมพัฒนาร่วมกับภาครัฐ โดยขอพื้นที่ 55 ไร่ทำการพัฒนาเป็นป่าจนมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ซึ่งจะพบในป่าแห่งนี้มีไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันพัฒนามีถึง 100 สายพันธุ์ ทั้งนี้ชาวบ้านได้พัฒนาพื้นที่นี้ขึ้นเรื่อยๆและจัดตั้งในนามชื่อสวนป่าเกดน้อมเกล้า ต่อมาชาวบ้านนอกจากอนุรักษ์ดูแลสวนป่าแห่งนี้แล้วยังใช้สวนป่าน้อมเกล้าพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์แก่คนภายนอกด้วย โดยชาวบ้านมีการจัดสรรพื้นที่ภายในจุดหนึ่งของพื้นที่สวนป่าน้อมเกล้าทำพื้นที่กิจกรรม ซึ่งจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น การทำผ้ามัดย้อม การทำสปาสมุนไพร ทำน้ำสมุนไพร เป็นต้น จากการพัฒนานี้ทำให้เกิดการเข้ามาท่องเที่ยว เยี่ยม ศึกษาดูงานของผู้คนภายนอกในสวนป่าแห่งนี้เสมอ กล่าวได้ว่าสวนป่าชุมชนแห่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์ป่าไม้ให้ศูนย์หลายไปในชุมชน ปัจจุบันสวนป่าน้อมเกล้านี้ถือเป็นจุดเด่นของชุมชนบ้านใหม่ทรงคนอง ทำให้ชุมชนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักเริ่มเป็นที่รู้จักแก่คนภายนอกมากขึ้นนั่นเอง

ชุมชนบ้านใหม่ทรงคนอง เป็นชุมชนที่ครอบคลุมหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ของตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนแห่งนี้อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพระประแดงไป 2.78 กิโลเมตร 

สภาพภูมิประเทศ

พื้นที่ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มักรับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลงเป็นประจำ ดินของพื้นที่ตำบลทรงคนองค่อนของอุดมสมบูรณ์เพราะเป็นดินที่เกิดจากทับถมของตะกอน ในสมัยก่อนจึงมักพบเห็นชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

สภาพอากาศ

พื้นที่ทั้งตำบลทรงคนองเป็นแบบร้อนชื้น โดยมี 3 ฤดูกาล ได้แก่

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมิถุนายน และมีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 35-38.9 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนและมีฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยภายในพื้นที่จะมีอากาศเย็นแบบชื้น เนื่องจากมีต้นไม้เป็นจำนวนมากและอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ บางปีอาจจะมีอากาศหนาวเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยภายในพื้นที่จะมีอากาศเย็นและหนาวมากเป็นบางครั้ง เนื่องจากมีต้นไม้เป็นจำนวนมากและอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

จำนวนประชากรภายในชุมชนบ้านใหม่ทรงคะนองจะเป็นประชากรที่รวมจากจำนวนของ หมู่ 2 และ หมู่ 3 ของตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง โดยมีรายละเอียดคือ หมู่ที่ 2 มีประชากรรวม 373 คน ชาย 164 คน หญิง 209 คน  ส่วนหมู่ที่ 3 มีประชากรรวม 716 คน ชาย 335 คน หญิง 381 คน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางกายภาพ

สวนป่าเกดน้อมเกล้า ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลทรงคนอง เป็นพื้นที่ป่าชุมชนเมืองแห่งแรกในเมืองไทย สวนป่าแห่งนี้ริเริ่มโดยชาวบ้านในชุมชนโดยรอบสวนป่าอย่างชาวบ้านหมู่ 2 และหมู่ 3 ของตำบลทรงคนอง ชาวบ้านเหล่านี้ได้ขอภาครัฐพัฒนาพื้นที่จนกลายมาเป็นสวนป่าที่มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ พันธุ์พืชต่างๆ กว่า 100 สายพันธุ์ และนกกว่า 30 ชนิด ทั้งนี้ปัจจุบันชาวบ้านยังพัฒนาให้ภายในสวนป่าแห่งนี้มีกิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้นอกตำราให้กับนักเรียน และนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวที่สนใจในธรรมชาติด้วย จนทำให้สถานที่นี้เปรียบเสมือนแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเล็กๆแห่งหนึ่งใกล้เมืองกรุง

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดป่าเกต เดิมชื่อ วัดถนนเกด ตั้งชื่อตามตาเกดผู้ขุดถนนเข้าวัดเป็นคนแรก ต่อมาเรียกว่า "วัดป่าเกด" โดยวัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ที่ชาวบ้านเล่าว่า สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์กรุงเทพฯ เป็นผู้สร้างขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2360 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวัดแห่งนี้พบที่โดดเด่นที่สุดคือพระอุโบสถที่มีลักษณะเป็นโบราณสถานเก่าแก่ ที่หน้าบันเป็นลักษณะทำด้วยไม้แกะสลักรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคล้อมรอบลายเครือเถาวิจิตรงดงามด้านหน้าและด้านหลังมีเสาเหลี่ยมปลายสอบขนาดใหญ่ ทั้งนี้ภายในพระอุโบสถยังมีพระประธานปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารที่เล่าเรื่องการผจญมารของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งเป็นศิลปะแบบประเพณีนิยมของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). วัดป่าเกด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดป่าเกด.

ทรูไอดี. (2565). เที่ยววัดไหว้พระชมโบราณสถานศิลปรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดป่าเกด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/6lxyGMrkWNKL.

ทัวร์วัดไทย. (ม.ป.ป.). วัดป่าเกด ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://tourwatthai.com/watthai/watpaket/.

ประวัติความเป็นมาเมืองพระประแดง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก http://phrapradaeng.samutprakan.doae.go.th/oldsite/pravat.htm.

ป่าชุมชนเมือง“สวนป่าเกดน้อมเกล้า” ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชน. (2562). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://thaitimeonline.com/content0112036203/.

พระประแดง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.travel2guide.com/ท่องเที่ยวชุมชน-พระประแดง-จังหวัดสมุทรปราการ.html.

เมธิดา อาคมธน. (2561). อัตลักษณ์ของชาวมอญ หมู่บ้านมอญทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. (รายงานศึกษาเฉพาะบุคคล). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปกร.

วิกิพีเดีย. (2565). วัดป่าเกด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดป่าเกด.

วิกิพีเดีย. (2566). อำเภอพระประแดง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอพระประแดง.

สวนศรีนครเขื่อนขันธ์บางกระเจ้า. (ม.ป.ป.). การมีส่วนร่วม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.suansri-bangkachao.com/th/home/lesson3/การมีส่วนร่วม.

หลงเสน่ห์ชุมชนคลาสสิค แวะเที่ยว 18 ชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดาจาก 6 จังหวัดน่าเที่ยวภาคตะวันออก. (2561). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.tripgether.com/อัปเดตเรื่องเที่ยว/หลงเสน่ห์ชุมชนคลาสสิค-แวะเที่ยว-18-ชุมชนเล็กๆ-ที่ไม่ธรรมดาจาก-6-จังหวัดน่าเที่ยวภาคตะวันออก.

องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2561-2565. สมุทรปราการ: องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง.

อาสาปลูกป่าชุมชนเมืองแห่งแรกในเมืองไทย จ.สมุทรปราการ. (2562). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.jitarsabank.com/job/detail/5452.