
แลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมผ้าทอนาหมื่นศรี
จากคําบอกเล่ามีข้อสันนิษฐาน คือ ทราบว่า หลังจากการบุกเบิกพื้นที่เพื่อการทํานาขึ้นแล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มาจากบ้านหัวเขาได้แยกครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้กับนาหลวง และตั้งชื่อบ้านตามชื่อของผู้นําคือ “ท่านหมื่น” ซึ่งเรียกกันว่า “หมื่นศรี” เพราะท่านมีภรรยาชื่อ “ศรี” แต่อีกนัยหนึ่งก็ว่า ชื่อบรรดาศักดิ์นั้นต้องมาจากราชทินนามต่อท้ายเสมอตามหน้าที่รับผิดชอบ เช่น หมื่นศรีเสนาหมื่นศรีเสาวรักษ์ หมื่นศรีสงคราม หมื่นศรีดูแลที่นาหลวง โดยท่านหมื่นศรีผู้นี้อาจมีราชทินนามอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น แต่มาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า หมื่นศรี เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ “นาหมื่นศรี”
แลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมผ้าทอนาหมื่นศรี
การเกิดขึ้นของชื่อ “นาหมื่นศรี” สันนิษฐานว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ภายหลังที่มีการจัดระเบียบการปกครองและตั้งกรมการเมือง ซึ่งปรากฏในทําเนียบกรมการเมืองของเก่า พ.ศ. 2355 กล่าวถึง ตำบลต่าง ๆ ฝ่ายตะวันออกของแม่น้ำตรัง 34 ตำบล พร้อมทั้งบอกจํานวนครัวเรือน แต่ไม่มีชื่อบ้านนาหมื่นศรี แสดงให้เห็นว่านาหมื่นศรีอาจเกิดขึ้นภายหลังและมีอายุไม่ถึง 200 ปี โดยทางบ้านนาหมื่นศรีก็มีตํานานความเป็นมาของชื่อว่า มีบุคคลบรรดาศักดิ์ชั้นหมื่นผู้หนึ่ง เป็นผู้ดูแลปกครองบ้านหัวเขา ชาวบ้านเรียกกันว่า “แก่หมื่น” โดยท่านหมื่นเป็นผู้ที่เกณฑ์ชาวบ้านให้บุกเบิกถางป่าเพื่อให้เป็นสถานที่สําหรับทํานา ชาวบ้านจึงเรียกที่บริเวณนั้นว่า “นาหลวง” ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 2 ตำบลนาหมื่นศรี เมื่อปลูกข้าวได้ ท่านหมื่นได้ให้ชาวบ้านช่วยกันทําฉางข้าวขนาดใหญ่เพื่อเก็บข้าวเปลือก โดยข้าวเปลือกที่ได้นั้นแบ่งส่วนหนึ่งเป็นของทางการอีกส่วนหนึ่งไว้แจกจ่ายชาวบ้าน จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “บ้านฉาง”
สาเหตุที่ได้ชื่อนาหมื่นศรีนั้น จากคําบอกเล่ามี 2 ข้อสันนิษฐาน คือ ทราบว่า หลังจากการบุกเบิกพื้นที่เพื่อการทํานาขึ้นแล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มาจากบ้านหัวเขาได้แยกครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้กับนาหลวง และตั้งชื่อบ้านตามชื่อของผู้นําคือ “ท่านหมื่น” ซึ่งเรียกกันว่า “หมื่นศรี” เพราะท่านมีภรรยาชื่อ “ศรี” เหตุที่ต้องนําชื่อภรรยามาต่อท้ายจากการบอกเล่าทราบว่า เหตุผลการเรียกชื่อคนโดยมีฉายากํากับท้ายชื่อ เพราะคนในสมัยก่อนไม่มีนามสกุล และมีชื่อซ้ำกันมากจึงต้องมีการกําหนดลักษณะบุคคล ชื่อบ้าน อาชีพ หรือชื่อสามีภรรยา มาเพื่อเป็นการต่อท้ายชื่อเพื่อให้ทราบว่าเป็นคนไหน อีกกรณีจากการสันนิษฐาน คือ ชื่อบรรดาศักดิ์นั้นต้องมาจากราชทินนามต่อท้ายเสมอ เช่น ชื่อหมื่นราชเสนี และหมื่นศรีเสนา เรียกตามหน้าที่รับผิดชอบ เช่น หมื่นศรีเสนาหมื่นศรีเสาวรักษ์ หมื่นศรีสงคราม หมื่นศรีดูแลที่นาหลวง โดยท่านหมื่นศรีผู้นี้อาจมีราชทินนามอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น แต่มาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า หมื่นศรี เหล่านี้จึงเป็นที่มาของบ้านนาหมื่นศรี
ที่ตั้งและอาณาเขต
นาหมื่นศรี เป็นตําบลหนึ่งในอําเภอนาโยง ห่างจากที่ว่าการอําเภอไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร มีเนื้อที่โดยประมาณ 12,500 ไร่ พื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลนาพละ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลนาหมื่นศรี เป็นพื้นที่ราบลาดเอียงจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน คือ ลำห้วยจำนวน 6 สาย ลำคลองจำนวน 2 สาย และมีระบบชลประทานจำนวน 1 สาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา รองลงมาเป็นที่นา และมีภูเขาลูกโดด ซึ่งภายในมีถ้ำหินงอกหินย้อย คือ ถ้ำเขาช้างหาย แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของตำบลนาหมื่นศรี
ถ้ำเขาช้างหาย
ถ้ำเขาช้างหาย ตั้งอยู่ในตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เขาช้างหายอยู่ภายใต้เขาหินปูนเล็ก ๆ เรียกว่า เขาช้างหาย เป็นภูเขาโดดเดี่ยวกลางที่ราบลุ่ม ภายในมีโถงถ้ำเล็กใหญ่อยู่ประมาณ 6 ห้อง มีหินงอกหินย้อยที่ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก บางส่วนยังคงก่อตัวอยู่ภายในถ้ำได้รับการปรับปรุงทางเดิน จัดแต่งแสงไฟจำลองใว้ให้สำหรับผู้มาเที่ยวถ้ำ ในช่วงฤดูกาลเกี่ยวข้าว หรือตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม บริเวณริมถนนหน้าทางเข้าถ้ำเขาช้างหายจะเต็มไปด้วยการประดับประดาเสาลูกลม ตั้งเรียงรายสวยงามอยู่ริมถนนตลอดสาย เนื่องจากบริเวณลานถ้ำเขาช้างหายจะถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีแข่งขันลูกลมประจำทุกปี
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลนาหมื่นศรี หมู่ที่ 2 บ้านนาหมื่นศรี มีจำนวนประชากร 269 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 126 คน ประชากรหญิง 143 และจำนวนครัวเรือน 94 ครัวเรือน (ข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2566)
อาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ในบ้านนาหมื่นศรี คือ อาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาข้าวและสวนยางพารา รวมถึงการทำเกษตรผสมผสานอื่น ๆ แต่ข้าวที่ปลูกส่วนมากจะปลูกเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น การทำนาเพื่อการพาณิชย์ในชุมชนนับว่ามีน้อยมาก ทั้งนี้ ในยุคหลังได้มีการนำผลผลิตจากนาข้าวของชาวบ้านในชุมชน คือ ข้าวเบายอดม่วง ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรในชุมชนผ่านการดำเนินการของศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรหัตถกรรมผ้าทอนาหมื่นศรี นอกจากนี้ ชาวบ้านนาหมื่นศรีหลายครัวเรือนยังมีอาชีพทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชาวบ้านมาอย่างยาวนาน กระทั่งมีการรวมตัวกันของชาวบ้านในตำบลนาหมื่นศรีก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับผาทอนาหมื่นศรีแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต รับซื้อ จำหน่าย กระทั่งการแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าจากผ้าทอนาหมื่นศรี เช่น ชุดพวงกุญแจผ้าทอแบบยกดอก จากเศษผ้าทอนาหมื่นศรี โดยปัจจุบันศูนย์วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลนาหมื่นศรี
อนึ่ง บ้านนาหมื่นศรี ยังมีผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญาอีกชนิดหนึ่ง คือ ลูกลม ของเล่นของลูกชาวนาในสมัยก่อน จะมีการทำขึ้นมาในช่วงที่ข้าวออกรวงจนเหลืองสุกอร่าม และเป็นช่วงหน้าแล้งที่ลมพัดแรง ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงมีการทำลูกลมขึ้นมา เพื่อนำไปปักไว้กลางทุ่งนา เมื่อลูกลมโต้ลมก็จะมีเสียงดังออกมาลั่นทุ่ง ใช้สำหรับการไล่นก ไล่กาที่จะบินมากัดกินข้าวในนา โดยลูกลมที่ทำเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจสั่งซื้อนำไปประดับตกแต่งร้านค้า บ้านเรือน และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจิ๋ว ลูกลมประเภทนี้จะใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติทั้งหมด เช่น ไม้ไผ่ ไม้กระดาน กาบทางมะพร้าว หวาย ย่านลิเภา ฯลฯ โดยนำไม้ไผ่หรือไม้กระดานมาผ่าแล้วเหลาให้แบนและบางเบา หรือตกแต่งให้มีลักษณะเป็นแผ่นยาว ดัดและบิดให้มีลักษณะโค้งงอ บิดเบี้ยว สำหรับใบพัดเพื่อรับลมใช้ไม้ไผ่หรือหวายตัดสั้นทำเป็นแกนกลางสำหรับหมุน อีกด้านใช้ไม้ไผ่ตัดกลมเป็นเหลี่ยมปากเป็ดนำไปผูกติดไว้บริเวณด้านข้างของใบพัด เพื่อใช้สำหรับรับลมและจะมีเสียงหวูดดังเกิดขึ้น เวลาต้องลม โดยมีเชือกมัดที่ทำจากย่านลิเภาซึ่งมีความแข็งแรง จากนั้นประดับตกแต่งด้วยเครื่องทรงสีสันต่าง ๆ ส่วนหางทำจากทางหวาย หรือใบไม้ ส่วนบนประดับตกแต่งด้วยธงเพื่อความสวยงาม สีสันสดใส แต่ละเดือนมียอดสั่งซื้อจำนวนมาก สร้างรายได้เสริมหลักหลายพันบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีลูกลมที่แกนกลางทำจากอะลูมิเนียมหรือเหล็ก สำหรับจำหน่ายให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการลูกลมที่มีความคงทนไปประดับตกแต่งบ้านเรือนหรือสถานที่ โดยจะขายเป็นลูกลมตัวใหญ่พร้อมเครื่องทรง ราคาตัวละ 5,000 บาท แต่คนซื้อต้องไปติดตั้งเอง หรือหากให้ไปติดตั้งให้ด้วยต้องคิดเพิ่มตามระยะทางใกล้ไกล ทั้งนี้ มีลูกค้าสั่งซื้อจากต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทั้งจาก จังหวัดพัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช รวมทั้งจังหวัดกระบี่ด้วย
ประเพณีการแข่งขันลูกลม
ลูกลม หรือ กังหันลม ที่เอาไว้ไล่กาด้วยเสียง มีลักษณะเป็นกังหัน เมื่อมีลมพัดจะทำให้เกิดเสียง ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบต่อมายาวนานจนถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ต่อเนื่องมา 17 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่มีกระแสลมแรงเทศกาล ลูกลม จัดตรงกับช่วงเกี่ยวข้าวของตำบลนาหมื่นศรี ในทางวิทยาศาสตร์อาจมองได้ว่าลูกลมมีหลักการทำงานเดียวกันกับหุ่นไล่กา คือ ใช้ไล่นกที่ลงมากินข้าวในแปลงนา แต่ลูกลมที่ตำบลนาหมื่นศรีแห่งนี้ มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อและการเคารพในธรรมชาติผ่านตัวแทนความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพธรรมชาติ
ประวัติความเป็นมาของลูกลม เป็นเทพนิยายโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาถึงเรื่องของครอบครัวเล็ก ๆ ของพระพายบนสวรรค์ วันหนึ่งเป็นวันฤดูเก็บข้าว ซึ่งบนสวรรค์มีฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเหมือนกัน ลมพัดแรง เมื่อข้าวในนาเริ่มสุก มีนกลา นกไผ นกกระจาบ และนกอื่น ๆ ออกมากินข้าว พระพายไม่มีเวลาเฝ้าทุกวัน เพราะต้องไปอยู่เวรทำพัดลมทำความเย็นให้เทวดา จึงมอบให้ลูกลมลูกของพระพายทำหน้าที่โห่นก ไล่กาแทน ลูกลมซึ่งขี้เกียจแต่มีปัญญา จึงคิดวิธีที่ไม่ต้องใช้เสียงของตัวเองในการไล่นก จึงทำสิ่งที่มีลักษณะแบบนี้ขึ้นมาพระพายมาเห็นก็ชื่นชมและบอกเทวดา และเห็นว่าควรเผยแพร่ไปยังเมืองมนุษย์ จึงแพร่หลายมาตั้งแต่นั้น และสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะที่นาหมื่นศรี จังหวัดตรัง มีประเพณีแบบนี้ที่นี่ที่เดียว
1. นายประเสริฐ คงหมุน อายุ 77 ปี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำลูกลม เจ้าของลิขสิทธิ์ประเพณีการแข่งขันลูกลม และผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนลูกลมนาหมื่นศรี
ผ้านาหมื่นศรี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง จากเอกสารจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวันวันที่ 29 มิถุนายน 2458 กล่าวถึงในสมัยที่รัชกาลที่ 6 เสด็จจังหวัดตรัง ว่า “สมุหเทศาภิบาลมณฑล ได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร” และได้ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง ข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก” ย่อมแสดงว่าผ้าทอเมืองตรังมีมาก รวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่แห่งบ้านนาหมื่นศรี ทำให้รู้ว่าการทอผ้าได้ขาดหายไปช่วงหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเพราะขาดเส้นด้ายที่จะใช้ทำวัตถุดิบ รวมทั้งการทอผ้าประจำบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติปั่นฝ้ายย้อมสีเองก็ลดลง เนื่องจากการมีเส้นใยย้อมสีสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่ หรือการมีผ้าจากโรงงานและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สามารถซื้อได้ง่ายกว่าการลงมือทอเอง การทอผ้านาหมื่นศรีฟื้นคืนมาอีกครั้งเมื่อราว พ.ศ. 2514 โดยยายนาง ช่วยรอด ผู้อาวุโสของหมู่บ้านรวบรวมคนทอผ้าอายุรุ่นเดียวกันได้ 3 คน คือ ยายผอม ขุนทอง ยายอิน เชยชื่นจิตร และยายเฉิ่ม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซม กี่ กับเครื่องมือเก่า ๆ ให้ใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอและวิธีทอผ้าแบบดั้งเดิม ต่อมา นางกุศล นิลลออ บุตรสาวของยายนาง เป็นผู้รับช่วงกิจกรรมงานทอผ้า จากนั้นหน่วยงานราชการได้ให้ความสนใจและเข้ามาส่งเสริมให้ผ้าทอนาหมื่นศรีกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนประจำตำบลนาหมื่นศรีด้วย
ผ้าทอนาหมื่นศรี แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของผืนผ้าได้ 3 ชนิด ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งย่อยเป็นชื่อลายต่าง ๆ ได้อีกหลายลาย
- ผ้าพื้น เป็นผ้าที่ใช้ด้ายยืนสีเดียว แบ่งเป็นผ้าพื้นสีเรียบและผ้าพื้นสีเหลือบ ผ้าหางกระรอก และผ้าล่อง หรือผ้าริ้ว มีลายต่าง ๆ ได้แก่ ลายหัวพลู ลายดอกเข็ม ลายดอกข่อย
- ผ้าตา เป็นผ้าที่ใช้ด้ายยืนสลับกันตั้งแต่สองสีขึ้นไป ลายตาสมุก ลายลูกโซ่ตาราง ลายตานก และลายดอกมุด
- ผ้ายกดอก เป็นผ้าที่ใช้ด้ายพุ่ง 2 ชนิด เกิดจากการทอด้วยวิธียกดอก หรือการสร้างลวดลาย โดยการเพิ่มด้ายพุ่ง มักใช้ลวดลายดั้งเดิมที่มีความซับซ้อน ใช้จำนวนตะกอ (เขา) มาก ในอดีตมีการทอผ้าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีจำนวนตะกอนับร้อย ลวดลายเฉพาะของผ้ายกนาหมื่นศรี ได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายแก้วชิงดวง ลายลูกแก้วโข่ง ลายลูกแก้วสี่หน่วยใน ลายราชวัตร ลายดอกจัน ลายเกสร ลายดอกกก ลายดอกพิกุล ปัจจุบันมีลวดลายที่นิยมทอเพิ่มอีกกว่า 30 ลาย เช่น ลายดาวล้อมเดือน ลายลูกแก้วลูกศร ลายท้ายมังคุด ลายเม็ดแตง ลายทีนัด ลายครุฑ ลายนกเหวก (นกการะเวก) ลายตุ๊กตาถือดอกบัว ลายตัวหนังสือ และลายประสม ฯลฯ
กี่ที่ใช้ทอผ้านาหมื่นศรีมี 2 ชนิด ดังนี้
- กี่พื้นเมือง การทอผ้าของชาวบ้านนาหมื่นศรีในอดีตมักจะทอด้วยหูกซึ่งเป็นกี่ทอผ้าแบบพื้นเมือง เป็นกี่ขนาดเล็ก ในภาคใต้ช่างทอเรียกกันว่า กี่เตี้ย การสอดเส้นพุ่งจะใช้ “ตรน” ที่ทำมาจากไม้ไผ่ลำเล็ก ๆแทนกระสวย ปัจจุบันกี่แบบนี้มักจะทอผ้าบางชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่จะทอเป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าพานช้าง (ใช้ในพิธีศพ) ผ้าสไบ ทั้งนี้ เพราะกี่ประเภทนี้เป็นกี่ขนาดเล็ก ทอผ้าได้ช้า ลายที่ทอส่วนใหญ่เป็นลายลูกแก้ว และลูกแก้วชิงดวง
- กี่กระตุก เป็นกี่ทอผ้าชนิดหนึ่งที่มีสายกระตุกเพื่อให้กระสวยพุ่งไปได้เอง ชาวนาหมื่นศรีจะทอด้วยกี่กระตุกสำหรับผ้าที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกี่ที่ทอได้เร็วและสามารถทอผ้าหน้ากว้าง ๆ ได้ ขณะที่ทอมือและเท้าจะสัมพันธ์กัน และทอได้เร็วกว่ากี่พื้นเมือง ส่วนใหญ่จะทอผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า เช่น ลายตาหมากรุก ลายหางกระรอก ลายดอกจัน
ลักษณะพิเศษของผ้าทอนาหมื่นศรี คือ โครงสร้างของผืนผ้า ลวดลาย และสี ผู้ทอที่มีฝีมือจะสามารถนำลายหลาย ๆ ลายมารวมไว้ในผ้าผืน ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ด้านสี ถ้าเป็นประเภทผ้าห่มและผ้าเช็ดหน้ายกดอกที่ทอขึ้นใช้เอง จะใช้ด้ายยืนสีแดงยกดอกสีเหลือง มีบ้างที่ยกดอกสีขาวหรือสีเขียว หากเป็นผ้าทอเพื่อขาย จะมีการเปลี่ยนแปลงสีด้ายยืนและด้ายพุ่งตามความต้องการตลาด และในกรณีทอใช้เองยังคงเป็นสีแดงเหลืองไม่เปลี่ยนแปลง
ลูกลมนาหมื่นศรี
อำเภอนาโยงเป็นพื้นที่ทำนามาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันถือว่าเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์การทำนาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง “ลูกลม” ซึ่งเป็นของเล่นของลูกชาวนาในสมัยก่อน จะมีการทำขึ้นมาในช่วงที่ข้าวออกรวงจนเหลืองสุกอร่าม และเป็นช่วงหน้าแล้งที่ลมพัดแรง ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงมีการทำลูกลมขึ้นมาเพื่อนำไปปักไว้กลางทุ่งนา เมื่อลูกลมโต้ลมก็จะมีเสียงดังออกมาลั่นทุ่ง ใช้สำหรับการไล่นก ไล่กา ที่จะบินมากัดกินข้าวในนาได้ แต่ปัจจุบันคนที่ทำลูกลมเป็นเหลือน้อยแล้ว และเด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่เคยเห็นหรือรู้จักลูกลม แต่ที่ตำบลนาหมื่นศรี ยังมีชาวบ้านอีกหลายคนที่ยังทำลูกลมไปปักกลางทุ่งนายามข้าวออกรวง และเริ่มเก็บเกี่ยว เพื่อไล่นก ไล่กาที่มากินข้าว เพราะชาวบ้านเก็บเกี่ยวไม่ทัน จึงมีการจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนลูกลมนาหมื่นศรี” นำโดยคุณตาประเสริฐ คงหมุน ชาวบ้านนาหมื่นศรี หมู่ที่ 2 ตำบลนาหมื่นศรี แล้วใช้บ้านคุณตาประเสริฐเป็นที่ทำการวิสาหกิจชุมชนลูกลมนาหมื่นศรี สาธิตวิธีทำ ผลิต และจำหน่ายลูกลมบ้านนาหมื่นศรี โดยคุณตาได้ใส่เรื่องราวให้ของเล่นโบราณชิ้นนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยใช้เรื่องเล่านิทานพื้นบ้านเล่าถึงความเป็นมาของลูกลม ซึ่งเป็นเรื่องเทพนิยายโบราณที่เล่าสืบต่อกันมา ปัจจุบันยังมีการจัดเทศกาลการเล่นลูกลมในฤดูเกี่ยวข้าวในภาคใต้ และมีการจัดประกวดการแข่งขันลูกลมเพื่อสืบทอดเรื่องราวและการละเล่นลูกลมเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ไว้ต่อไป
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ตำนานถ้ำเขาช้างหาย
ยุคสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระสารีริกธาตุ จึงได้ประกาศไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ที่เลื่อมใสพุทธศาสนานำทรัพย์สมบัติของมีค่ามาบรรจุใต้พระธาตุ เมื่อทราบข่าวหัวเมืองต่างๆ จึงมีขบวนของนักแสวงบุญเดินทางมา คณะหนึ่งเดินทางมาและหยุดพักแรมบริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่ง ช้างตัวหนึ่งคลอดลูกออกมา ชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำแห่งนั้นเรียกว่า “หนองช้างทอก” พอลูกแข็งแรงขบวนก็เดินทางต่อ มาถึงหนองน้ำอีกแห่งหนึ่งลูกช้างก็ลงไปเล่นน้ำแล้วพ่นน้ำใส่แม่ช้าง จึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า “หนองถวายน้ำ” หรือหนองหวายน้ำ (ภาษาถิ่น) อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาช้างหายจากนั้นขบวนก็เดินทางต่อ จนมาถึงชายเขาของถ้ำแห่งนี้ จึงได้หยุดพัก เจ้าลูกช้างวิ่งซนพลัดหลงกับแม่ของมันหายเข้าไปในถ้ำแห่งนี้ ควาญช้างและผู้คนตามเข้าไปตามหาช้างแล้วพานออกมาด้วยคาถาอาคมโดยใช้ด้ายแดงขาวคีบเท้าเพียง 3 เส้นเท่านั้น ขณะนำช้างมาถึงทุ่งนา พบกับชาวนากลุ่มหนึ่ง ต่างตะโกนว่าช้างจะขาด (ด้ายจะขาด) หลายครั้ง มนต์คาถาก็เสื่อมด้ายก็ขาดทันที ลูกช้างก็หันหลังกลับวิ่งหนี ควาญช้างจึงจับหางเอาไว้แล้วฟันหางช้างขาดกลับกลายเป็นทอง ลูกช้างวิ่งหนีหายเข้าไปในถ้ำ ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนี้ว่า “ถ้ำเขาช้างหาย”
ทีมงาน Vacationist. (2564). ถ้ำเขาช้างหาย จ.ตรัง. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.vacationistmag.com/
นาหมื่นศรี. (ม.ป.ป.). กลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://namuensritextileportal.com/location
ระบบสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). เสียงในสายลม. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://tis.dasta.or.th/stisdasta/creative-tourism/
รีวิวตรัง. (2560). งานลูกลมมีอะไร? การแข่งขันลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://reviewtrang.com/looklom/
รุ้งไพลิน เยาว์ดำ. (ม.ป.ป.). ความสุข ณ นาหมื่นศรี ความสุขและวิถีชีวิต ที่ไม่สามารถหาได้จากสังคมเมือง. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.museumthailand.com/
วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี. (2566). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/trangnameunsri/
สุนิสา สัจจาเฉลียว. (2559). พัฒนาการ กระบวนการบริหารจัดการและผลกระทบจากการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน : กรณีศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน้าทอนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารการพัฒนาสังคม) คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์.
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง. (ม.ป.ป.). ผ้าทอนาหมื่นศรี. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://trang.prd.go.th/th/
ศิรินทร์พัชร์ ทองศักดิ์. (2563). ตรัง หมู่บ้านอนุรักษ์ลูกลมวิถีชาวนาไทยแต่โบราณ. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.77kaoded.com/news/
ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม. (ม.ป.ป.). ผ้าทอนาหมื่นศรี. สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://qsds.go.th/silkcotton/
Urban Creature. (2566). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/