Advance search

รำมะนาติงติงแว่วผะแผ่วเสียง สาดสำเนียงเรียงฝากสทึงสาย ล่องปาจักคืนแดนดินถิ่นพรรณราย ละเลียบชายจากฝั่งสังกาเล

หมู่ที่ 7
สังกาอู้
เกาะลันตาใหญ่
เกาะลันตา
กระบี่
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ส.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ส.ค. 2023
บ้านสังกาอู้


ชุมชนชนบท

รำมะนาติงติงแว่วผะแผ่วเสียง สาดสำเนียงเรียงฝากสทึงสาย ล่องปาจักคืนแดนดินถิ่นพรรณราย ละเลียบชายจากฝั่งสังกาเล

สังกาอู้
หมู่ที่ 7
เกาะลันตาใหญ่
เกาะลันตา
กระบี่
81150
7.485522
99.1087
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาใหญ่

ความเป็นมาของบ้านสังกาอู้นั้นสันนิษฐานว่าเริ่มขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2512 โดยชาวเลอูรักลาโวยจบ้านหัวแหลมกลางที่ได้เข้ามาจับจองที่ดินบริเวณบ้านสังกาอู้เพื่อทำสวนมะพร้าว ครอบครัวแรกที่อพยพจากบ้านหัวแหลมกลางไปตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรบริเวณอ่าวสังกาอู้ คือ ครอบครัวนายสิจา ทะเลลึก เนื่องจากขัดแย้งกับเจ้าของที่ดิน หลังจากบุกเบิกป่าและสร้างบ้านเสร็จแล้ว ครอบครัวนายสู่ดิน ทะเลลึก ก็อพยพครอบครัวมาอีก ส่วนครอบครัวนายฮูเด็น ทะเลลึก นายแกหลา ทะเลลึก และนายห้าเต็ด ทะเลลึก พากันมาตั้งบ้านเรือนบริเวณอ่าวมะเละเป็นกลุ่มแรก แล้วครอบครัวอื่น ๆ ก็ทยอยย้ายตามกันไปตั้งถิ่นฐานบริเวณดังกล่าวเกือบทั้งหมด

ในปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรอําเภอเกาะลันตา และมีพระราชดํารัสให้พระราชทานกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ชาวเลอาศัยทํากินอยู่ และพระราชทานอนุญาตให้ชาวเลได้รับการยกเว้นในการเข้ารับเลือกเกณฑ์ทหารตามคำกราบบังคมทูลของนายลู่ดิม ทะเลลึก และนายอุทาร ทุ่งใหญ่ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2518 กระทรวงมหาดไทยจึงอนุมัติ ให้ทางอําเภอเกาะลันตาจัดสรรที่ดินให้ชาวเลตามกระแสพระราชดํารัสโดยคัดเลือกบริเวณอ่าวมะเละและอ่าวคลองปอ อําเภอเกาะลันตา จํานวน 350 ไร่ เพื่อแบ่งให้ราษฎรชาวเลประมาณ 47 ครัวเรือน ชาวเลจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินประมาณครัวเรือนละ 5 ไร่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ที่ดินดังกล่าวในตอนนั้นก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนักนอกจากสร้างที่พักอาศัยมีบางครอบครัวเท่านั้นที่ ปลูกมะพร้าวและพืชพื้นเมือง

พ.ศ. 2530 บ้านสังกาอู้ได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ โดยได้รับประกาศเป็นหมู่ที่ 7 ในตำบลเกาะลันตาใหญ่ มีนายประชา ทะเลลึก ซึ่งเป็นชาวเลอูรักลาโว้ยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปกครองชาวอูรักลาโว้ยด้วยกัน และทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการมาจนถึงปัจจุบัน

สังกาอู้ เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะลันตา พื้นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลไม่กว้างนัก พื้นดินเป็นลูกรัง ทราย และหิน เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นบ้านสังกาอู้มักประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอด เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง แต่เมื่อถึงเวลาน้ำลงบริเวณที่เคยถูกน้ำท่วมจะกลายเป็นหินและดินเลน

เกาะลันตามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ อาทิ บริเวณแหลมโตนด ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ซึ่งมีทั้งหาดทรายและหาดหินอันงดงาม นอกจากนี้ยังมีแหลมคอกวาง ซึ่งเป็นหาดทรายด้านเหนือสุดของเกาะลันตาใหญ่ บริเวณด้านหลังของเกาะลันตาใหญ่มีหาดทุ่งทะเล และหาดชะอูด หาดหลังสอดของเกาะลันตาน้อย และยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยที่สวยงามอีกนับสิบเกาะ เช่น เกาะสนกลาง เกาะแดง เกาะตะละเม็ง เกาะกํานุ้ย เกาะกําใหญ่ เกาะบูบู เกาะไหง เกาะตุกนมา และเกาะรอก เป็นต้น สถานที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเกาะลันตา และยังส้างรายได้ให้กับเกาะลันตาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นรีสอร์ตเกิดขึ้นมากมายเพื่อให้บริการและรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ทําให้เกาะลันตาซึมซับความเป็นเมืองท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ประชากร

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลเกาะลันตาใหญ่ หมู่ที่ 7 บ้านสังกาอู้ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 452 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 214 คน และประชากรหญิง 238 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 194 ครัวเรือน ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ คือ ชาวอูรักลาโวยจ

ระบบความสัมพันธ์ภายในชุมชน

ความสัมพันธ์ของชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ทั้งหมู่บ้านถือว่าเป็นญาติกัน ทั้งทางสายโลหิตหรือผ่านการแต่งงาน และด้วยความสัมพันธ์เครือญาตินี้เมื่อมีพิธีกรรมต่าง ๆ ของครัวเรือนใด ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากครัวเรือนอื่น ๆ ในหมู่บ้านเป็นอย่างดี โดยลักษณะครอบครัวของชาวสังกาอู้ มีทั้งที่เป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) และครอบครัวขยาย (Extened family) แต่ส่วนมากจะเป็นครอบครัวเดี่ยวเพราะหลังจากแต่งงาน แม้ว่าฝ่ายชายจะมาอยู่อาศัยร่วมบ้านกับครอบครัวฝ่ายหญิง และมีการสืบทอดอำนาจทางฝ่าแม่ แต่ไม่นานก็จะย้ายออกไปสร้างบ้านของตนเอง ทว่า บ้านที่สร้างใหม่ก็มักจะยังคงอยู่ในบริเวณบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง โดยทั่วไปแล้ว ชาวอูรักลาโวยจในหมู่บ้านสังกาอู้จะนิยมแต่งงานกับคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการที่ชาวอูรักลาโวยจไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปพบเจอกับผู้คนภายนอกมากนัก ความสัมพันธ์ที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างครอบครัวกับคนนอกชุมชนหรือต่างชาติพันธุ์จึงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ก็หาได้มีข้อบังคับว่าชาวอูรักลาโวยจจะต้องแต่งงานกับคนในหมู่บ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเท่านั้น ทุกคนในหมู่บ้านสามารถแต่งานกับชนกลุ่มอื่นนอกเหนือจากชาวอูรักลาโวยจด้วยกันได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ตาม แม่ชาวอูรักลาโวยจจะมีการสร้างระบบครอบครัวโดยที่ฝ่ายชายจะย้ายเข้าไปอยู่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิงหลังแต่งงาน หรือที่เรียกว่า Matrilocal และมีการสืบทอดอำนาจทางฝ่ายแม่ แต่ยังคงมีการนับญาติทั้งสองฝ่าย (Bilateralkinship) คือ แต่ละคนจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติฝ่ายพ่อเท่าเทียมกับแม่ อาจเป็นเพราะสังกาอู้เป็นชุมชนขนาดเล็ก แม้ลูกหลานจะแต่งงานแยกครอบครัวไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายได้สะดวก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดจึงเกิดขึ้นทั้งกับญาติของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ทั้งนี้ สังเกตจากคำเรียกญาติของทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในสถานภาพเดียวกัน ด้วยคำเรียกเดียวกัน เช่น ทวด เรียกว่า มูญัง เช่นเดียวกันทั้งหมด แสดงถึงความสำคัญที่เท่าเทียมกันต่อญาติไม่ว่าจะเป็นเพศใด หรือเป็นญาติจากฝ่ายไหน ส่วนปู่-ตา เรียก “แจ” ย่า-ยาย เรียก “แย” พ่อตา-พ่อสามี เรียก “ปะบึตูฮา” แม่ยาย-แม่สามี เรียก “มะบึตูฮา” เป็นต้น

การสืบมรดก

ในอดีตชาวอูรักลาโวยจมีเพียงเรือลําเล็ก ๆ และเครื่องมือประกอบอาชีพประเภทเบ็ด ฉมวก และสามง่ามเท่านั้น ไม่มีการสะสมทรัพย์สินส่วนเกิน แม้เมื่อขึ้นไปตั้งถิ่นฐานบนฝั่งเป็นการถาวรในยุคแรกเริ่ม ก็สร้างเพิงพักชั่วคราวง่าย ๆ ดังนั้นในอดีตจึงอาจเรียกได้ว่าชาวอูรักลาโวยจแทบจะไม่มีการสืบทอดมรดกทางทรัพย์สิน ต่อมาเมื่อชาวเลมีความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกมากขึ้น เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการปลูกสร้างบ้านเรือนที่ค่อนข้างถาวรเรือนพักอาศัยจึงเป็นมรดกทางทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่จะสืบทอดไปสู่ลูกหลานได้ในยุคนั้น แม้ในปัจจุบันเครื่องมือประกอบอาชีพจะทันสมัยขึ้น มีเรือหางยาว แห อวน เป็นอาทิ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นของนายทุน ซึ่งนายทุนมีสิทธิจะยึดคืนได้ เมื่อไม่สามารถจะหาเงินไปใช้หนี้ตามสัญญา

หลังจาก พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา เมื่อชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ ได้รับพระราชทานที่ดินและมีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินอย่างเป็นทางการ (นส.3) ที่ดินจึงเป็นมรดกทางทรัพย์สินอีกอย่างหนึ่งที่สําคัญนอกจากเรือนพัก ตามอุดมคติของชาวบ้านสังกาอู้ เรือนพักอาศัยมักจะให้กับลูกผู้หญิงที่เลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกผู้หญิงคนสุดท้อง แต่ในกรณีที่ไม่มีลูกผู้หญิง หรือผู้หญิงไปแต่งงานอยู่กินกับผู้ชายต่างกลุ่ม ลูกผู้ชายจะเป็นผู้รับเลี้ยงดูพ่อแม่ และมีกรรมสิทธิ์ในเรือนพักอาศัย แต่มีข้อแม้ว่าลูกสะใภ้จะต้องเป็นคนดีและดูแลพ่อแม่ของสามีได้ ต่อมาเมื่อที่ดินเป็นมรดกทางทรัพย์สิน จึงมีกฎเกณฑ์ว่าต้องยกที่ดินให้ลูกชายคนสุดท้าย แต่บางครอบครัวให้ลูกคนที่เลี้ยงพ่อแม่ ทั้งที่ดินและเรือนพักอาศัย สําหรับที่ดินนี้แม้จะระบุว่าต่อไปเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร แต่ในช่วงที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ ลูกคนอื่น ๆ รวมทั้งลูกเขย หรือลูกสะใภ้ จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อทําประโยชน์ได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ ในกรณีที่มีลูกคนเดียว พ่อแม่จะมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ลูกคนนั้น ส่วนลูกชายลำดับอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่จะไปรับมรดกทรัพย์สินจากครอบครัวภรรยา ส่วนลูกผู้หญิงที่แยกครัวเรือนออกไปสร้างเรือนพักอาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยวอยู่ในบริเวณกลุ่มครัวเรือนของพ่อแม่ จะได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือจากพ่อแม่และกลุ่มเครือญาติในการสร้างเรือนพักอาศัย หลังจากนั้นครัวเรือนใหม่ก็กลายเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือญาติที่มีส่วนในการช่วยและร่วมมือซึ่งกันและกัน แม้จะไม่ได้รับมรดกทรัพย์สิน แต่จะเป็นกลุ่มพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

แต่ในปัจจุบันการแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ของชาวอูรักลาโวยจนั้นไม่มีความเข้มงวดเหมือนเช่นในอดีต โดยมักจะได้รับการแบ่งสันปันส่วนจากพ่อแม่เท่า ๆ กัน ไม่ว่าลูกผู้หญิงหรือลูกผู้ชาย พ่อแม่ก็จะแบ่งให้ตามที่เห็นเหมาะสม เพราะระหว่างพี่น้องชาวเลด้วยกันพ่อแม่มักจะถามความคิดเห็นของลูก ๆ และมักจะตกลงกันได้โดยการประนีประนอมของคนในครอบครัว (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532 อ้างถึงใน เยาวลักษณ์ ศรีสุกใส, 2545: 65-66)

อูรักลาโวยจ

การประกอบอาชีพของชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ในปัจจุบันค่อนข้างมีความหลากหลาย เพราะต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นด้วยความจำเป็น โดยรายได้เฉลี่ยของชาวบ้านสังกาอู้เฉลี่ยประมาณ 36,600 บาทต่อปีต่อคน ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ที่ปรากฏพบในบ้านสังกาอู้ เช่น การทำประมง รับจ้าง และเกษตรกรรม

การทำประมง

การทำประมงเป็นอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านสังกาอู้มายาวนาน เนื่องด้วยวิถีชีวิตความเป็นชาวเลที่มีความผูกพันกับท้องทะเลตั้งแต่แรกเกิด การทำประมงจึงเป็นอาชีพที่ชาวบ้านถนัดมากที่สุด โดยการทำประมงของชาวบ้านสังกาอู้มีลักษณะเป็นการทำประมงชายฝั่ง ใช้เรือหางยาวติดเครื่องยนต์เป็นยานพาหนะในการออกทะเล ในอดีตอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำประมงจะมีไม่มากนัก ส่วนมากจะหาได้ในท้องถิ่น แรงงานที่ใช้ในการทำประมงก็เป็นแรงงานจากภายในครอบครัว แต่ปัจจุบันการหาปลานั้นต้องแข่งขันกับเวลา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์เป็นสำคัญ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงส่วนใหญ่จะเป็นของเถ้าแก่ เพราะชาวบ้านไม่มีเงินทุนมากพอที่จะซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพได้ภายในครั้งเดียว ชาวบ้านจึงต้องพยายามหาปลาให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างรายได้อย่างสูงสุด ส่วนหนึ่งก็เพื่อแบ่งผ่อนชำระค่าอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพกับเถ้าแก่

เกษตรกรรม

พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านสังกาอู้จะอยู่บริเวณเชิงเขา พืชที่ปลูก ได้แก่ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ และสะตอ แต่มีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเนื่องจากไม่มีเวลามาดูแลเอาใจใส่ไร่สวน เพราะชาวบ้านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการออกทะเลเป็นหลัก ในอดีตมะพร้าวมีราคาดี มีทั้งที่ขายเป็นมะพร้าวสดและแปรรูปเป็นมะพร้าวแห้ง โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงภายในหมู่บ้าน เป็นเหตุให้ชาวบ้านหันมาปลูกมะพร้าวกันมากขึ้น ทำให้ในเวลาต่อมามะพร้าวราคาต่ำลง การปลูกมะพร้าวจึงปรับเปลี่ยนจากการปลูกเพื่อการค้ามาเป็นการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก หากแต่มีผู้มาขอรับซื้อก็จะขายให้ในราคาไม่แพง ส่วนมะม่วงหิมพานต์และสะตอยังคงขายได้ราคาดีและมักมีผู้เข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน

รับจ้าง

อาชีพรับจ้างเป็นหนึ่งอาชีพที่กำลังเป็นที่นิยมของชาวบ้านสังกาอู้เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะลันตา รวมถึง ชาวบ้านจึงนิยมเข้าไปประกอบอาชีพรับจ้างเป็นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวหรือในรีสอร์ต โดยเฉพาะผู้หญิง ส่วนผู้ชายในหมู่บ้านจะเข้าไปเป็นแรงงานแบกหาม ตัดหญ้าที่เทศบาล ก่อสร้าง ฯลฯ และด้วยอาชีพรับจ้างเป็นอาชีพที่มีรายได้ประจำแน่นอนในแต่ละวันและไม่ต้องออกเสี่ยงภัยในทะเล ทำให้อาชีพดังกล่าวได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมของชาวอูรักลาโวยจในบ้านสังกาอู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และพบเป็นอยู่เป็นประจำในพื้นที่เกาะลันตา

ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี

บ้านสังกาอู้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอูรักลาโวยจ มีประเพณีความเชื่อเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ และปัจจุบันก็ยังคงมีประเพณีบางอย่างที่ได้สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ แต่อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามยุคตามสมัยอันเกิดจากการได้ติดต่อกับคนภายนอก และได้รับเอาวัฒนธรรมบางอย่างของคนภายนอกเข้ามาปฏิบัติ ทําให้รายละเอียดที่ปรากฏในพิธีกรรมเหล่านั้นปรับตัวไปตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลา

ชาวอูรักลาโวยจเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ทําให้คนในสังคมนั้น ๆ รู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกันทําให้เกิดความรักและความสามัคคี แน่นแฟ้นภายในกลุ่ม เพราะการประกอบพิธีหรือประเพณีบางอย่างร่วมกันทําให้ได้มีโอกาสกระชับความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มได้ โดยจะกล่าวถึงพิธีกรรมสำคัญของชาวอูรักลาโวยจ ดังต่อไปนี้

พิธีบูชาศาลบรรพบุรุษ

ศาลบรรพบุรุษของชาวอูรักลาโวยจในหมู่บ้านสังกาอู้ มีชื่อว่า ศาลโต๊ะจันทร์ พิธีบูชาบรรพบุรุษจะจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบอกกล่าวให้บรรพบุรุษช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข ในวันนี้ชาวบ้านจะเตรียมอาหารคาวหวานทั้งเหล้าขาว ข้าวปลาอาหาร ข้าวเหนียว ข้าวตอก และดอกไม้ธูปเทียน เพื่อมาเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ มีโต๊ะหมอเป็นผู้ทำพิธีบอกกล่าว เมื่อโต๊ะหมอทำพิธีเสร็จ จะมีวงรำมะนาบรรเลงสร้างความสนุกสนานรื่นเริง ชาวบ้านจะเข้าไปล้อมวงรำร่วมกันถือว่าได้บุญ และถือว่าเป็นการรำฉลองให้บรรพบุรุษพอใจ และเพื่อดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  จากนั้นชาวบ้านผู้เข้าร่วมพิธีทุกคนร่วมกันรับประทานอาหาร เป็นการเสร็จสิ้นพิธี

พิธีบูชาแม่ย่านางเรือ

พิธีบูชาแม่ย่านางเรือ เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตชาวเล โดยเฉพาะครอบครัวใดที่มีเรือใช้ในการออกทะเลถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องทําเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยชาวอูรักลาโวยจในหมู่บ้านรวมถึงชาวเลกลุ่มอื่น ๆ เชื่อกันว่าการทําพิธีบูชาแม่ย่านางเรือนี้ จะเป็นการบอกกล่าวให้แม่ย่านางประจําเรือแต่ละลําได้คุ้มครองเวลาออกทะเลไม่เกิดอุบัติเหตุทางทะเล และจะได้จับปลาหรือสัตว์ทะเลต่าง ๆ ได้มาก ในการเลือกวันเพื่อประกอบพิธีนั้นไม่มีการกำหนดวันแน่นอนตายตัว หากมีความพร้อมที่จะทําพิธีเมื่อใดก็ให้ไปบอกโต๊ะหมอให้ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวในการทําพิธี แต่เวลาที่จะทําต้องเป็นเวลาในช่วงที่น้ำขึ้น เพราะถือว่าจะได้โชคดีหรือดวงดีเหมือนน้ำขึ้น

ประเพณีบูชาเรือนี้ทํากันมานานแล้ว เพียงแต่ในรายละเอียดบางประการเปลี่ยนไปบ้างเนื่องด้วยยุคสมัย เช่น ของที่ใช้ในการเซ่นไหว้ในอดีตจะไม่มีน้ำอัดลม เบียร์ และไม่มีเงินที่วางอยู่ในพิธี แต่ระยะหลัง ของเซ่นในพิธีก็มักจะเปลี่ยนไปตามของที่มีอยู่และหาได้ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนที่ไม่ขัดต่อความเชื่อและขนบธรรมเนียม แต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัย

ขั้นตอนในการประกอบพิธี

  • โต๊ะหมอเริ่มจุดกระถางกํายาน ว่ามนต์คาถา แล้วให้เจ้าของเรือนำกระถางกำยานเดินวนรอบเรือ 3 รอบ เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าจะเริ่มทําพิธี
  • โต๊ะหมอจุดเทียน (เทียนนี้โต๊ะหมอจะนำมาเอง เชื่อว่าเป็นเทียนลงอาคม) โรยข้าวตอกลงไปบนเรือเพื่อให้ข้าวตอกนั้นเอาสิ่งไม่ดีออกไป
  • นําใบพลูมาห่อหมากและบุหรี่ จากนั้นจุดไปตั้งบูชาที่หัวเรือ
  • นําน้ำมะนาวและใบมะกรูดมาประพรมที่หัวเรือและท้ายเรือ เพื่อเป็นการไล่สิ่งอัปมงคล
  • นําผ้าแดงมาผูกที่หัวเรือเพื่อความเป็นสิริมงคล
  • โต๊ะหมอเอากระถางกํายานให้เจ้าของเรือและเจ้าของเรือก็นํากระถางกํายานนั้นไปวนรอบเรือ จํานวน 3 รอบ นําน้ำอบขวดเล็ก ๆ มาประพรมจนหัวเรือและท้ายเรือ
  • เสร็จพิธี ร่วมกันรับประทานอาหารในเรือลํานั้น ๆ

พิธีลอยเรือ

พิธีลอยเรือ เป็นพิธีกรรมที่ความสำคัญมากที่สุดพิธีกรรมหนึ่งสำหรับชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ จัดขึ้นทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 2 วัน คือ ในวันขึ้น 14 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน 6 และเดือน 11 (ประมาณเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม) เรือที่นําไปลอยเรียกว่า “เรือปาจั๊ก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้ผีร้าย ความเจ็บไข้ทั้งหลายทั้งปวงหายไปจากชุมชน เพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษไปสู่แดนสถิตคือ “กูนุงเยอรัย” ตามความเชื่อ และเพื่อส่งวิญญาณสัตว์ที่เคยฆ่าเป็นอาหารคืนให้เจ้าของเดิม

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

ชาวอูรักลาโวยจหมู่บ้านสังกาอู้ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ประกอบกับมีพื้นที่น้อย การสร้างบ้านจึงปลูกสร้างติด ๆ กันเป็นแถวตามแนวชายทะเลโดยหันหน้าบ้านเข้าหาฝั่ง ส่วนหลังบ้านยื่นลงไปในทะเล บางหลังมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ และมักไม่มีรั้วกั้นแสดงอาณาเขต บ้านอีกลักษณะหนึ่งที่พบในบริเวณหมู่บ้านสังกาอู้ คือ บ้านที่ไม่ได้สร้างติดชายฝั่ง แต่จะขยับถัดจากฝั่งขึ้นมาบนเนิน แล้วหันหน้าบ้านเข้าหาทะเล ยกพื้นสูง มีใต้ถุนสูงประมาณ 1 เมตร บางบ้านมีการเลี้ยงเป็ด ไก่ ไว้ใต้ถุน ลักษณะเด่นของบ้านชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ คือ ทุกบ้านจะมีชานยื่นออกมาหน้าบ้านเพื่อใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้านหรือญาติมิตร เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงเด็ก หรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ยามว่าง เช่น นั่งซ่อมเครื่องมือในการทำประมง ฯลฯ

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ชาวอูรักลาโวยจไม่มีชุดแต่งกายประจํากลุ่มและไม่นิยมสวมเสื้อ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักนุ่งผ้าปาเต๊ะกระโจมอกเพียงผืนเดียว ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยวโดยใช้ผ้าปาเต๊ะหรือผ้าขาวม้าผืนเดียวเช่นกัน ความนิยมเช่นนี้สืบเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันซึ่งมีลักษณะร้อนชื้น ประกอบกับวิถีการดํารงชีวิตที่เรียบง่าย และต้องทํามาหากินกับทะเล ซึ่งพร้อมที่จะต้องสัมผัสกับทะเลตลอดเวลา จึงไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้า อีกทั้งในอดีตเสื้อผ้าเป็นสิ่งที่หายาก หากอยากได้เสื้อผ้าต้องนําอาหารทะเลไปแลกเสื้อผ้าเก่า ๆ จากบุคคลภายนอก ดังนั้น การแต่งกายของชาวอูรักลาโวยจในอดีตจึงมุ่งที่จะปกปิดร่างกายเท่าที่จําเป็น มากกว่าต้องการความสวยงาม

ปัจจุบัน วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวอูรักลาโวยจเปลี่ยนไปมาก หญิงสาวมักจะสวมเสื้อปกปิดร่างกายอย่างมิดชิดและเป็นเสื้อผ้าที่มักจะซื้อหามาจากตลาด แต่ยังเป็นการนุ่งผ้าถุงเหมือนเดิม หากอยู่ในหมู่บ้าน การนุ่งกระโจมอกจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่เมื่อจําเป็นต้องเดินทางไปติดต่อสัมพันธ์กับสังคมภายนอกก็จะแต่งกายเหมือนชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะในพิธีลอยเรือของชาวเล ปัจจุบันจะพบเห็นชาวเลหรืออูรักลาโวยจที่ไปร่วมงาน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ทันสมัย และผลัดเปลี่ยนกันวันละหลาย ๆ ชุด หนุ่มสาววัยรุ่นนิยมนุ่งกางเกงยีนส์ สวมเสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย หรือเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ซึ่งมักจะไปซื้อในตลาด เด็กวัยรุ่นได้รับอิทธิพลจากโทรทัศน์และสื่อจาก หนังสือมาก ทําให้การแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อารี ปาจั๊ก หรือพิธีลอยเรือชาวเล เป็นประเพณีปฏิบัติจัดขึ้นเพื่อให้เรือนำสิ่งไม่ดีในหมู่บ้านฝากบรรพบุรุษไปให้ถึงกูนุงเยอรัย ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษอูรักลาโวยจ เชื่อว่าตั้งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งทางทิศตะวันตก ในที่นี้ อาจจะหมายถึงภูเขากูนุง เจอรัย (Gunung Jerai) ที่รัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย บริเวณเชิงเขากูนุงเจอรัยมีหุบเขาบูจัง (Bujang) ที่ตั้งอาณาจักรเก่าแก่ แหล่งกำเนิดอารยธรรมยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดูรุ่งเรือง ก่อนถึงยุคศาสนาอิสลามของรัฐเคดาห์ ที่เชื่อกันว่าเป็นถิ่นฐานเดิมที่ชาวอูรักลาโวยจ ก่อนจะแยกกันไปสร้างชุมชนใหม่อย่างถาวรตามชายฝั่งบนเกาะต่าง ๆ ชาวอูรักลาโวยจทุกที่จะมีพิธีลอยเรือเช่นเดียวกันแต่อาจจะมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อย ซึ่งชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้เล่าเรื่องราวไว้ในบทเพลงลงปง ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ร้องในพิธีรำมะนาว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเดินทางมาจากกูนุงเยอรัย จนถึงทะเลอันดามัน และมาหยุดจอดที่เกาะกฺาจี ก่อนจะย้ายไปที่หาดราชา เกาะรัง จากนั้นลอยเรือเรื่อยมาจนถึงหาดปูเตะ เกาะลันตา ตั้งหมู่บ้านที่หาดปูเตะได้ไม่นานชาวบ้านก็เริ่มล้มป่วยลง เจะซีนัยและเจะเจด ผู้อาวุโสสองคนในหมู่บ้านคิดกันว่าควรขึ้นเขาตัดไม้ตีนเป็ดและไม้กำ (ระกำ) มาต่อเรือขนาดกลางให้ชาวบ้านมาทำพิธีร่วมกัน ให้ทุกคนเอาข้าวสาร เครื่องครัว และสิ่งไม่ดีมาใส่ในเรือ เพื่อถึงเวลาอันเสร็จพิธีจะนำไปปล่อยทะเล ฝากข้าวสารอาหารและสิ่งไม่ดีไปกับบรรพบุรุษ ให้เรือไปส่งให้ถึงกูนุงเยอรัย เมื่อทำพิธีแล้ว ชาวบ้านก็เริ่มดีขึ้น ชาวบ้านสังกาอู้จึงยึดเป็นประเพณีปฏิบัตินับตั้งแต่นั้นมา

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าพิธีกรรมลอยเรือชาวเลเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญที่สุดต่อวิถีชีวิตของชาวเลอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ ที่จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านฤดู ในเดือน 6 เป็นการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน และในเดือน 11 เปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูร้อน อูรักลาโวยจมีความเชื่อว่า การทำพิธีลอยเรือนั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านรอดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ด้วยการขออำนาจจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านให้ช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลให้ลอยออกไป รวมถึงเป็นการแสดงความขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองพวกเขาให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดฤดูมรสุม โดยใช้เรือเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งชั่วร้ายออกไปแล้วปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ ขั้นตอนของการทำพิธีลอยเรือนั้น มีแบบแผนการทำพิธีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยจะต้องเริ่มจากการแต่งตั้งหัวหน้าการจัดงาน 3 คน คนแรกทำหน้าที่ติดต่อกับโต๊ะหมอ (ผู้นำทางจิตวิญญาณ) ว่าจะทำพิธีหรือไม่ คนที่สองทำหน้าที่ประกาศให้ชาวบ้านรู้เพื่อเตรียมตัวร่วมกันจัดงาน คนที่สามทำหน้าที่แบ่งงานให้ชาวบ้าน

วัสดุที่นำมาใช้ในการต่อเรือ คือ ไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด โดยก่อนจะตัดไม้มาใช้นั้นก็ต้องมีพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน เมื่อได้ไม้มาแล้วก็จะนำมาต่อเรือที่เรียกว่า “เรือปาจั๊ก” หรือปาจัก สัญลักษณ์ของยานที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง ตัวเรือปาจั๊กจะถูกแกะสลักอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ทั่วตัวเรือ อาทิ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง “โต๊ะบุหรง” บรรพบุรุษผู้สามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง “โต๊ะบิกง” บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูหมายถึง “โต๊ะอาโฆะเบอราไตย” บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิม

เมื่อการต่อเรือเสร็จสิ้น เช้าวันรุ่งขึ้นผู้ชายที่มีพละกำลังแข็งแรงจะช่วยกันแบกปาจั๊กลงทะเลลึกที่สุดเท่าที่ตีนยังหยั่งถึงผืนทราย ก่อนจะปล่อยปาจั๊กให้ลอยไปในทิศทางตามความเชื่อ แต่สมัยนี้จะนำปาจั๊กลงเรือหัวโทงแล่นออกไปไกลก่อนจะส่งลงฝ่าคลื่นลมกลางทะเล ด้วยว่าตามความเชื่อหากเรือที่ลอยไปหวนกลับมาหมู่บ้านอาจมีเคราะห์หามยามร้ายเกิดขึ้น ตกบ่ายวันเดียวกันนั้นกลุ่มผู้ชายจะช่วยกันตัดไม้เพื่อนำมาประกอบเป็นไม้กันผี ส่วนผู้หญิงจะรับหน้าที่เตรียมใบกะพ้อสำหรับตกแต่งประกอบพิธีให้สมบูรณ์ เสร็จแล้วจะจัดขบวนแห่ไปรอบเมือง  ก่อนนำกาหยูพาหะดั๊ก ไปปักไว้ในพื้นที่เดียวกับที่เคยวางเรือไม้ระกำเพื่อให้โต๊ะหมอทำพิธี จากนั้นก็เป็นห้วงเวลาแห่งการร้องเล่นรำมะนาและร่ายรำบูชาไม้กันผีกันตลอดคืน จนย่ำรุ่งจึงมีพิธีกรรมทำน้ำมนต์เพื่อชะล้างโชคร้ายทั้งปวงให้แก่ชาวอูรักลาโวยจ หลังจากนั้นจึงนำไม้กันผีไปปักไว้ตามทิศต่าง ๆ รอบหมู่บ้าน ทั้ง 7 ทิศ ยกเว้นทิศตะวันตกอันถือเป็นประตูสู่สวรรค์ และเป็นทางเข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้ามองลูกหลานอูรักลาโวยจว่าได้ประกอบพิธีกรรมตามครรลองที่เคยมีมาหรือไม่  

ชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้มีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาอูรักลาโวยจ โดยผู้ใหญ่ในหมู่บ้านทั้งหมดจะพูดภาษาอูรักลาโวยจและมักจะสอนเด็ก ๆ ให้พูดด้วย แต่บางครอบครัวก็จะพูดกับลูกด้วยภาษาไทย เพราะให้เหตุผลว่าเด็กจะได้สื่อสารกับคไทยรู้เรื่อง เนื่องจากปัจจุบันนี้ชาวอูรักลาโวยจเริ่มมีการติดต่อสื่อสารกับภายนอกมากขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งเด็กที่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนจะต้องใช้ภาษาไทยในการเรียน แต่อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของชาวอูรักลาโวยจในบ้านสังกาอู้เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนชาวเลหรือชาวอูรักลาโวยจอื่นในเกาะลันตา ชาวบ้านสังกาอู้เป็นชุมชนที่ยังใช้ภาษาอูรักลาโวยจกันอย่างเหนียวแน่น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยังใช้ภาษาอูรักลาโวยจในชีวิตประจำวันให้ได้ยินมากกว่าที่อื่น อาจเป็นเพราะการที่คนคนในหมู่บ้านในภาษาอูรักลาโวยจร่วมกัน ทำให้ทั้งหมดไม่เกิดความรู้สึกแปลกแยก และมีความรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกัน

ภาษาถิ่นใต้ เป็นอีกหนึ่งภาษาที่ชาวอูรักลาโวยจในหมู่บ้านใช้พูดคุยกัน เนื่องจากเป็นภาษาที่คนบนเกาะลันตาส่วนใหญ่ใช้สื่อสาร เมื่อต้องติดต่อกันมาก ๆ จึงเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ชาวอูรักลาโวยจสามารถพูดภาษาถิ่นใต้ได้ 


หมู่บ้านสังกาอู้เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านและดูแลความสงบเรียบร้อยของลูกบ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนนี้มาจากการแต่งตั้งของทางราชการซึ่งก็เป็นชาวอูรักลาโวยจในหมู่บ้านด้วยกัน ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง คือ นายระชา ทะเลลึก ซึ่งดำรงตำแหน่งมาเกือบ 20 ปี และจะหมดวาระต่อเมื่อเกษียณอายุ มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง 2 คน คือสุทิน ทะเลลึก และตุ๊ก ทะเลลึก ผู้ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อย คือ กลาย ช้างน้ำ และวาสนา ทะเลลึก และมี อบต. 2 คน คือ นิรัตน์ หาญทะเล และสมจิตร ทะเลลึก อบต. สำหรับ อบต. นั้นจะมีกระบวนการคัดเลือกที่แตกต่างจากผู้ใหญ่บ้าน คือ อบต. มาจากการคัดเลือกของคนในหมู่บ้าน ทว่า ทั้งสองตำแหน่งต่างก็มีความสำคัญพอ ๆ กัน ผู้ใหญ่บ้านมักจะช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องที่ต้องติดต่อกับทางราชการ หรืออําเภอโดยตรง เช่น การแจ้งเกิด หรือการแจ้งตาย เป็นต้น และ อบต. ก็มักจะติดต่อกับทาง ราชการในเรื่องการกิจกรรมของหมู่บ้านในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพัฒนาหมู่บ้าน กิจกรรมรณรงค์ ป้องกันยาเสพติด กิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนระหว่างหมู่บ้าน และเมื่อมีการต้องการตัวแทนเพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมต่าง ๆ มักจะเป็นหน้าที่ของ อบต. ที่ต้องทำหน้าที่ประสานงาน เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับในหมู่บ้าน เช่น ท่อประปาแตก น้ำไม่ไหล ชาวบ้านก็มักจะไปแจ้ง อบต. อาจเป็นเพราะ อบต. ทั้งสองคนอยู่ในวัยหนุ่ม และกระตือรือร้นในการทํางาน และปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ดี จึงทําให้ชาวบ้านไว้วางใจ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาหมู่บ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ก็พยายามจะรักษาจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่ลืมประเพณีวัฒนธรรมของตนเองอยู่เสมอ

ส่วนในทางการเมืองนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวบ้านไม่มีความสนใจหรือตื่นตัวทางการเมืองเท่าที่ควร จะมีการพูดถึงบ้างก็ในเวลาที่มีการรณรงค์หาเสียงต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ชาวอูรักลาโวยจจะปรึกษาหารือกันเรื่องทํามาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมากกว่า ทั้งนี้ โดยปกติชาวอูรักลาโวยจจะมีค่านิยมทางการเมืองมีแนวโน้มยึดถือตัวบุคคลเป็นหลัก ถ้าเป็นการเลือกภายในหมู่บ้าน เช่น อบต. ชาวบ้านจะดูคนที่มีลักษณะดีเอางานเอาการเพราะคนในหมู่บ้านสังกาอู้รู้จักกันหมดจึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะพิจารณา แต่หากเป็นการเลือกผู้แทนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเกือบทั้งหมู่บ้าน จะเป็นการเลือกตามผู้นําในหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านไม่รู้จักผู้แทนเหล่านั้น บางคนอาจเคยเห็นในโทรทัศน์แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงวัฒนธรรม. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2563). งานลอยเรืออารีปาจั๊ก. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/

จิตติมา ผลเสวก. (ม.ป.ป.). ลอยเรือสู่ดินแดนนิรันดร์ ของ อูรักลาโว้ย. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566, จาก http://article.culture.go.th/

นิรัตน์ หาญทะเล. (2554). แนวทางในการศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของชาวอุรักละโวจ บ้านสังกาอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

มองลันตาผ่านเลนส์ Ko Lanta Thru Lens . (2565). ตระเตรียม...สืบสาน...ส่งต่อ..สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน 9-10 ตุลาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566 , จาก https://web.facebook.com/

เยาวลักษณ์ ศรีสุกใส. (2545). การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม : กรณีศึกษา ชาวเลสังกาอู้ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต. (2561). อารี ปาจัก (พิธีลอยเรือ). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566 , จาก https://www.langarchive-th.org/

วิถีชีวิตชาวเลอูรักลาโว้ยบ้าน สังกาอู้ . (2565). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566 , จาก https://www.facebook.com/

Thecitizen . (2565). เป็น อยู่ คืออูรักลาโว้ย เกาะลันตา. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566 , จาก https://thecitizen.plus/node/59346

Tonytui . (2557). 8-11 มี.ค. 57 ลานตาลันตา กระบี่ แล้วไปขี่จักรยานชมเมือง "ตรัง" (ภาค 2). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566 , จาก https://pantip.com/topic/