หมูย่างห้วยยอด อาหารเลิศรส สินค้าเลื่องชื่อแห่งเมืองตรัง ด้วยกรรมวิธีการผลิตและสูตรเฉพาะที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดมายาวนานถึงหนึ่งศตวรรษ ทั้งการหมักด้วยเครื่องเทศ การย่างหมูทั้งตัวด้วยเตาที่ก่อจากอิฐและไม้ยางพารา จะทำให้หมูมีสีเหลืองทอง หนังกรอบ เนื้อนุ่ม มันน้อย มีกลิ่นหอม และรสชาติกลมกล่อม
“ห้วยยอด” มาจากคำว่า “ห้วย” หมายถึง ลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำตรัง และคำว่า “ยอด” หมายถึง ยอดเขาที่เรียงรายตลอดแนวทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอ ซึ่งเรียกว่า “ภูเขาบรรทัด” โดยพื้นที่ห้วยน้ำและยอดเขาสลับกันไปมา จึงได้เรียกว่า “ห้วยยอด” มาจนปัจจุบัน
หมูย่างห้วยยอด อาหารเลิศรส สินค้าเลื่องชื่อแห่งเมืองตรัง ด้วยกรรมวิธีการผลิตและสูตรเฉพาะที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดมายาวนานถึงหนึ่งศตวรรษ ทั้งการหมักด้วยเครื่องเทศ การย่างหมูทั้งตัวด้วยเตาที่ก่อจากอิฐและไม้ยางพารา จะทำให้หมูมีสีเหลืองทอง หนังกรอบ เนื้อนุ่ม มันน้อย มีกลิ่นหอม และรสชาติกลมกล่อม
เทศบาลตำบลห้วยยอด เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหน่วยงานหนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดตรัง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร มีพื้นที่ 6.11 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,818.75 ไร่ ครอบคลุมตำบลห้วยยอด และตำบลเขาปูนบางส่วน ปัจจุบันมีชุมชนในปกครองจำนวน 8 ชุมชน และ 1 กลุ่มพัฒนาสตรี ประกอบด้วย ชุมชนหน้าวัดห้วยยอด ชุมชนหลังวัดห้วยยอด ชุมชนถนนแพรก ชุมชนวัฒนา ชุมชนตลาดห้วยยอด ชุมชนตาชี ชุมชนกวนอู ชุมชนควนหนังขำ และกลุ่มพัฒนาสตรีเทศบาลตำบลห้วยยอด
ตลาดห้วยยอด เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด ที่มีชื่อเรียกว่า “ห้วยยอด” เนื่องมาจากภูมิประเทศของอำเภอห้วยยอด โดยคำว่า “ห้วย” หมายถึง ลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำตรัง อันเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดที่พาดผ่านพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของอำเภอ ส่วนคำว่า “ยอด” หมายถึง ยอดเขาที่เรียงรายตลอดแนวทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอ ซึ่งเรียกว่า “ภูเขาบรรทัด” โดยพื้นที่ห้วยน้ำและยอดเขาสลับกันไปมา จึงได้เรียกว่า “ห้วยยอด” มาจนปัจจุบัน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเขาขาว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลปากคม และตำบลปากแจ่ม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเขาปูน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลปากคม
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของชุมชนตลาดห้วยยอดมีลักษณะเป็นทางลาดชันเล็กน้อย อาคารเรือนมีลักษณะเป็นบ้านแถวไม้และคอนกรีตสองชั้น ตั้งเรียงตัวติดถนน 2 ช่องทาง ทุกอาคารมีทางเดินใต้อาคารที่เป็นทางเท้า อาคารสร้างตามความลาดชันก่อให้เกิดลักษณะพิเศษ เป็นชุมชนพาณิชยกรรมที่ยังมีกิจกรรมการค้าขายที่คึกคัก มีลำคลองเล็ก ๆ ไหลผ่านตัวเมือง คลองที่สำคัญ ได้แก่ คลองห้วยยอด และคลองห้วยแห้ง สภาพอากาศ แบ่งตามลักษณะอากาศของประเทศไทยเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน และจะร้อนจัดที่สุดในเดือนมีนาคมและเมษายน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนทั่วไปและในช่วงฤดูฝน ทั้งยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ จึงทำให้มีฝนตกมาก ซึ่งฝนจะตกหนักช่วงเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่ไม่ค่อยจะหนาวเย็นมากนัก และมักจะมีฝนตกทั่วไป
แหล่งน้ำธรรมชาติ
- คลองห้วยยอด มีความยาว 3,100 เมตร เป็นลำธารที่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำตกโตนคลาน ซึ่งตกมาจากเขา หรือควนในเหยา สายน้ำนี้ไหลผ่านตัวเมืองห้วยยอด และไหลไปลงแม่น้ำตรังที่ตำบลปากคม ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง
- คลองห้วยแห้ง มีความยาว 3,400 เมตร เป็นลำธารที่มีต้นกำเนิดมาจากเขาห้วยแห้ง ไหลผ่านตัวเมืองด้านทิศเหนือ สภาพคลองปัจจุบันตื้นเขิน และขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง
- ห้วยหลักแก้ว มีความยาว 1,312 เมตร เป็นลำธารเล็ก ๆ ที่ไหลมาจากภูเขาบริเวณหมู่บ้านป่าขี้ทรายไหลอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ของที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน
- ห้วยไสถั่ว มีความยาว 1,553 เมตร
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
- น้ำตกโตนคลาน
- เจดีย์บัวเงินบัวทองภูเขาพระยอด
- ถ้ำเลเขากอบ
- สะพานเหล็ก คลองลำภูรา
- วัดถ้ำอิโส
- เหมืองมรกต
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (2565) รายงานสถิติประชากรหมู่ที่ 1 ตลาดห้วยยอด ตำบลห้วยยอด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 96 ครัวเรือน จำนวนประชากร 284 ตน โดยแยกเป็นประชากรชาย 144 คน และประชากรหญิง 140 คน ประชาชนที่อาศัยอยุ่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ คือ ชาวไทยเชื้อสายจีน
จีนสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปประชาชนประกอบอาชีพค้าขาย ทําสวนยางพารา รับราชการ และอื่น ๆ ประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขายจะมีแหล่งประกอบการอยู่ในแหล่งชุมชนซึ่งตั้งอยู่ตลอดสองฟากถนนเพชรเกษม ส่วนใหญ่เป็นกิจการค้าปลีก เช่น ร้านขายอาหาร ร้านขายของชํา หาบเร่ แผงลอย และร้านเสริมสวย รวมถึงหมูย่างห้วยยอดที่เป็นสินค้าเลื่องชื่อเมืองตรัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่หลายร้าน และบางร้านก็ได้รับรางวัลสุดยอด OTOP ระดับห้าดาวของจังหวัดตรังด้วย คือ หมูย่างโกแก่ ซึ่งเป็นต้นตำรับหมูย่างเมืองตรัง สำหรับราคาการขายหมูย่างจะมีทั้งที่ขายเป็นตัวเริ่มต้นที่ประมาณตัวละ 4,000 บาท และแบ่งขายเป็นกิโล เริ่มต้นที่กิโลกรัมละประมาณ 400 บาท ทั้งนี้ ราคาหมูย่างจะผกผันขึ้นลงตามราคาของหมูสด ณ ช่วงเวลานั้น ๆ
ประชากรในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม มีประเพณีที่สำคัญ ดังนี้
- ประเพณีถือศีลกินเจ : ในช่วงเดือน 9 ของทุกปี ศาลเจ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตเทศบาล ได้แก่ ศาลเจ้ากิ๊วอ๋องไต่เต่ ศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้าตั๋วแป๊ะก๋ง จะจัดให้มีการกินเจและประทับทรงของบรรดาเทพเจ้าต่าง ๆ ที่ลงมาอวยชัยให้พรแก่ประชาชน
- ประเพณีขึ้นปีใหม่ : ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เทศบาลจะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรบริเวณหน้าสำนักงานเทศบาล ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่งที่ชาวห้วยยอดชาวห้วยยอดให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอ
- ประเพณีตรุษจีน (ปีใหม่) : ในเดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานประเพณีตรุษจีนไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและเยี่ยมญาติพี่น้อง โดยเทศบาลจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวันจ่ายก่อนถึงวันตรุษจีน 2 วัน โดยภายในงานจัดให้มีการส่งเสริมการซื้อขายพืช ผัก ผลไม้ ของเซ่นไหว้ของพ่อค้า แม่ค้า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมตามประเพณีเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าที่ปลอดสารพิษและถูกหลักอนามัย ฯลฯ
- ประเพณีเช็งเม้ง (ไหว้สุสาน) : ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ได้ปฏิบัติสืบกันมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนของตนที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่าง ๆ ไว้ อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสรวมญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล จะได้กลับมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตนทุกปี ซึ่งตามสุสานต่าง ๆ บรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนจะนำอาหารคาว หวาน ผลไม้ รวมทั้งหมูย่าง ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อประจำเมืองตรังมาเซ่นไหว้ และได้มีการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสามัคคีเป็นประจำทุกปี
หมูย่างห้วยยอด
ตรัง เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่น คือ หมูย่างเมืองตรัง ซึ่งเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลห้วยยอด หรือที่รู้จักกันในนาม หมูย่างห้วยอด ผลิตภัณฑ์สินค้าเลื่องชื่อของเมืองตรัง จากภูมิปัญญาการผลิตที่รับสืบจากบรรพบุรุษชาวจีนมาเป็นเวลากว่า 100 ปี สินค้า OTOP ระดับห้าดาวประจำจังหวัดตรัง สิ่งที่ทำให้หมูย่างห้วยยอดแตกต่างจากหมูย่างที่อื่น และกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวห้วยยอดมาอย่างยาวนานนั้นอาจเป็นเพราะหมูย่างห้วยยอดมีวิธีการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสรรพันธุ์หมูที่จะต้องใช้หมูขี้พร้าเท่านั้น เพราะจะไม่มีมันมากเท่าหมูสายพันธุ์ทั่วไป ทั้งการหมักด้วยเครื่องเทศ การย่างหมูทั้งตัวด้วยเตาที่ก่อจากอิฐและไม้ยางพารา จะทำให้หมูมีสีเหลืองทอง หนังกรอบ เนื้อนุ่ม มันน้อย มีกลิ่นหอม และรสชาติกลมกล่อม ซึ่งกระบวนการผลิตหมูย่างห้วยยอดมีดังนี้
- การคัดเลือกขนาดหมูที่จะนำมาย่าง น้ำหนักหมูตัวเป็น ประมาณ 30-50 กิโลกรัม น้ำหนักหมูทั้งตัว ขนาด 50-70 กิโลกรัม จำหน่ายเป็นชิ้น เมื่อย่างเสร็จแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของน้ำหนักหมูเป็น
- ก่อนการชำแหละ ถ้าเป็นหมูพันธุ์ทั่วไปจะต้องพักหมูไว้ 2 วันก่อน โดยให้กินอาหารประมาณร้อยละ 20 ของอาหารปกติ แต่ถ้าเป็นหมูขี้พร้าสามารถชำแหละเลย
- การชำแหละหมูทั้งตัว จะต้องนำหมูมาลวกในกระทะใบบัว อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส
- ขูดขนล้างให้สะอาด ผ่าตลอดแนวตั้งแต่คอด้านล่างลำตัวจนถึงหน้าท้อง เลาะกระดูกข้อบางส่วนออก เอาเครื่องในและเนื้อส่วนที่หนาออก ทำความสะอาดล้างเลือดออกให้หมด และทำการขูดขนหมูออก แขวนให้สะเด็ดน้ำ นำมีดรีดเป็นริ้วตามแนวขวางและแนวยาวให้ลึกถึงชั้นหนัง แขวนผึ่งให้แห้ง
- การหมักหมู จะต้องหมักด้วยเครื่องปรุง “อู่เซียงฝัน” และส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่ เกลือ น้ำตาล ซีอิ๊วขาว กระเทียม พริกไทย ใช้เวลาหมักอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- เตาย่าง เป็นเตาที่ก่อด้วยอิฐ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50-2 เมตร ทรงกลม ย่างได้ครั้งละ 3-4 ตัว ใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง
- การย่างจะใช้วิธีแขวนห้อยหัวหมูลงด้วยความร้อนที่พอเหมาะ จนกระทั่งหนังเริ่มตึงนำออกจากเหล็กแหลมแทงให้ทั่ว ราดด้วยน้ำเย็น ตั้งให้สะเด็ดน้ำ ทาด้วยน้ำผึ้ง แล้วนำไปย่างอีกสองครั้งเพื่อให้หนังมีจุดขยายตัว ใช้เวลาย่างครั้งละ 30-40 นาที พอหมูสุกก็ยกออกจากเตา พร้อมบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
ต้นกำเนิดหมูย่างเมืองตรัง
ประมาณ 100 ปี ก่อนหน้านี้ ชาวจีนในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ใกล้ทะเลได้เริ่มอพยพออกจาก ประเทศจีนโดยทางเรือเพื่อเสาะหาแผ่นดินทางทะเลใต้ คือ ประเทศไทย ซึ่งร่ำลือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าประเทศจีน จึงได้ลงเรือมาผจญภัยพร้อมกันทั้งหมู่บ้านและมีบางส่วนได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยขึ้นฝั่งที่อําเภอกันตัง หรือปากแม่น้ำตรัง และได้มาบุกเบิกตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดตรัง ชาวจีนที่อพยพมานี้มีหลายอาชีพ ส่วนใหญ่จะบุกเบิกทําไร่พริกไทย จึงได้ตั้งชื่อจังหวัดตรังว่า “เมืองพริกไทย” ชาวจีนเหล่านี้ได้มีการเลี้ยงหมูพันธุ์เล็ก ซึ่งได้นําลงเรือมาด้วยในตําบลทับเที่ยง ปัจจุบันก็คืออําเภอเมือง จังหวัดตรัง ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาได้มีคนกลุ่มหนึ่งนําหมูมาชําแหละขาย ซึ่งก็คือต้นตระกูลของร้านฟองจันทร์ (นายฟอง ไทรงาม) หลังจากนั้นร้านฟอง จันทร์ ได้รับชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งมาจากมณฑลกวางตุ้งชื่อว่า นายซุ่น ซึ่งมีความสามารถในการย่างหมู หมูที่ย่างมีรสชาติกลมกล่อม และหนังที่กรอบ สมัยนั้นจังหวัดตรังมีแต่นายซุ่น เป็นผู้ที่ย่างหมูได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อนายซุ่นมีอายุมากขึ้น ก็ได้ฝึกฝนผู้ช่วยขึ้นมา วิชาย่างหมูนั้นจึงได้แพร่หลายตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
เทศบาลตำบลห้วยยอด. (ม.ป.ป.). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎคม 2566, จาก http://www.huaiyodcity.go.th/
หมูย่างโกแก่. (2553). หมูย่างโกแก่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
วิทยา โลกุตตระ. (2553). ภูมิปัญญาการผลิตหมู่ย่างเมืองตรัง ในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Bank. (ม.ป.ป.). ห้ ว ย ย อ ด เที่ยว “ตรัง” ไม่ซ้ำใคร ออกไปหามุมใหม่ๆ ให้ปังยิ่งกว่าเดิม!!. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎคม 2566, จาก https://www.konlongtang.com/
FINDPLACES. (ม.ป.ป.). แหล่งชุมชนเก่า ตลาดห้วยยอด ตรัง. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎคม 2566, จาก https://maps.thaitravelloc.com/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎคม 2566, จาก https://earth.google.com/web/