แหล่งภูมิปัญญา 300 ปี มีดพร้านาป้อ ซึ่งมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากมีดพร้าอื่น คือ มีความคม แกร่ง และทนทาน จนได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วไป ถึงขั้นมีคำพังเพยที่เอ่ยสอดคล้องกับมีดพร้านาป้อว่า “กินเหมือนพร้านาป้อ”
มีเรื่องเล่าว่าในอดีตว่า มีปลาไหลทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในหนองยน (นาพรุ) เรื่องราวของปลาไหลทองเลื่องลือไปไกลถึงหูนักล่าขุมทรัพย์ชาวยุโรป จึงเป็นต้นกำเนิดชื่อเรียกบ้านนาป้อ 2 ที่มา ได้แก่
ที่มาแรก มีเรื่องเล่าว่าเนื่องจากปลาไหลทองมีขนาดตัวใหญ่มากเกินกว่าที่จะใช้คนยกได้ กลุ่มนักล่าขุมทรัพย์จำเป็นต้องใช้เครื่องทุ่นแรงที่เรียกว่า “เครื่องน้อ” จึงสามารถจับปลาไหลทองได้ ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “นาน้อ” ต่อมาเพี้ยนเป็น “นาป้อ”
ที่มาที่สอง ว่ากันว่านักล่าขุมทรัพย์ชาวยุโรปที่มาจับปลาไหลทองซึ่งเป็นของล้ำค่าของชาวบ้านไป ชาวบ้านถือว่าเป็นพวกฝรั่งมาฉ้อโกง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านนาฉ้อ” ต่อมา คือ “บ้านนาป้อ”
แหล่งภูมิปัญญา 300 ปี มีดพร้านาป้อ ซึ่งมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากมีดพร้าอื่น คือ มีความคม แกร่ง และทนทาน จนได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วไป ถึงขั้นมีคำพังเพยที่เอ่ยสอดคล้องกับมีดพร้านาป้อว่า “กินเหมือนพร้านาป้อ”
บ้านนาป้อ เป็นชุมชนที่มีประวัติมานานกว่า 200 ปี โดยชื่อบ้านนาป้อนั้นมีเรื่องเล่าว่า มีปลาไหลทองตัวหนึ่งอยู่ในหนองยน (พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพรุ) ทําให้บ้านนาป้อมีกิตติศัพท์เลื่องลือไปไกล จนกระทั่งข่าวนี้ได้รู้ไปถึงต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งในยุคนั้นเป็นนักค้นคว้าเกี่ยวกับขุมทรัพย์ลายแทงต่าง ๆ ฉะนั้นเมื่อพวกกลุ่มนักล่าขุมทรัพย์ชาวยุโรปทราบข่าวนี้เข้าพวกเขาก็เริ่มคิดค้นแผนการแก้ลายแทงเพื่อจับปลาไหลทองตัวนี้ให้ได้ แผนการถูกเริ่มขึ้นโดยการนําเอาลูกควายตัวเล็กหนึ่งตัวผูกคอเข้ากับหวายขนาดใหญ่ แล้วมัดไว้ที่ปากเหมืองซึ่งมีน้ำไหลลงไปในหนองยน ส่วนอีกด้านหนึ่งของหวายก็ผูกไว้กับต้นไม้อย่างแน่นหนา แล้วพวกเขาก็แอบอยู่ห่าง ๆ สักครู่ปลาไหลทองก็ขึ้นมาจริง ๆ ครั้นเมื่อมันเห็นลูกควาย มันก็ได้เข้าไปจับกินและกินเข้าไปทั้งตัว เสร็จแล้วมันก็จะมุดตัวลงไปในหนองยนเช่นเดิม แต่ลงไปไม่ได้เนื่องจากหวายด้านหนึ่งถูกมัดไว้กับตhนไม้อย่างแน่นหนา ครั้นเห็นดังนั้นก็รีบพากันไปจับปลาไหลทองตัวนั้นไว้ได้ แต่เนื่องจากความใหญ่ของปลาไหลจึงไม่สามารถที่จะยกแบกไปได้ จึงใช้เครื่องทุ่นแรง ซึ่งคนสมัยนั้นเรียกว่า “เครื่องน้อ” ยกเอาปลาไหลทองตัวนั้นไปได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่าบ้านนาน้อ และยังมีอีกคําบอกเล่าหนึ่งซึ่งเล่าต่อ ๆ กันว่า พวกชาวยุโรปที่มาแก้ลายแทงจับปลาไหลทองซึ่งเป็นของล้ำค่าของชาวบ้านไป ชาวบ้านถือว่าเป็นพวกฝรั่งมาฉ้อโกง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านนาฉ้อ” แต่ทั้งสองที่มามีความคล้ายคลึงกัน จึงเชื่อได้ว่าตำนานนี้มีมูลความจริง
ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2456 สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มีนายจิ ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่ที่ 3 ซึ่งในขณะนั้นยังคงเรียกว่า “บ้านนาน้อ” หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เปลี่ยนใหม่เรียกว่า “บ้านนาพ้อ” ความเดิมเป็นมาอย่างไร ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสาเหตุใดจึงได้เปลี่ยนเป็นเช่นนั้น ก็ได้แต่อาศัยคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาจนกระทั่ง “บ้านนาพ้อ” เปลี่ยนเป็น “บ้านนาป้อ” จึงพอจะสรุปได้ว่า คําว่า “นาพ้อ” กับคําว่า “นาป้อ” ชาวบ้านอาจจะคิดว่าเป็นคำเดียวกัน ชาวบ้านจึงได้เรียกว่า “บ้านนาป้อ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านนาป้อเป็นหมู่บ้านหนึ่งในจํานวน 7 หมู่บ้านของตําบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองตรัง ห่างจากอำเภอเมืองตรังประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดตรังไปทางทิศใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านโคกสะท้อน ตําบลควนปริง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านทุ่งหวัง ตําบลควนปริง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 9 บ้านโคกพลา ตําบลโคกหล่อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านเกาะปริง ตําบลควนปริง
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านนาป้อ ตําบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มบางตอน ลักษณะดินเป็นเนื้อละเอียดที่มีก้อนกรวดหรือก้อนหินปะปนบางแห่งจะมีก้อนหินขนาดใหญ่โผล่อยู่ทั่ว ๆ ไป จะพบในสภาพพื้นที่ราบ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สําคัญ คือ คลองเมือง และห้วยโคลน ซึ่งไหลผ่านบ้านนาป้อ ทําให้มีน้ำใช้ตลอดปี
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลควนปริง หมู่ที่ 3 บ้านนาป้อ ทั้งหมด 658 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 298 คน ประชากรหญิง 360 คน และจำนวนครัวเรือน 192 ครัวเรือน
การประกอบอาชีพของชาวบ้านนาป้อส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา เนื่องจากสภาพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบซึ่งมีความเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม นอกจากมียังมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และตีเหล็ก อาชีพเก่าแก่ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และชาวนาป้อเกือบทุกครัวเรือนยังคงยึดปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันโรงตีเหล็กในบ้านนาป้อ ตําบลควนปริง อําเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ได้ตั้ง เป็นกลุ่มเครือข่ายมีดพร้านาป้อ หรือวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐทางด้านงบประมาณและการตลาด ทําให้ผลิตภัณฑ์จากการตีเหล็กได้รับความนิยมมากขึ้น ทําให้ชาวบ้านมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและทําให้เศรษฐกิจของตําบลควนปริงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมแขนงนี้ให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด รวมถึงส่งเสริมและพัฒนากิจการของวิสาหกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ
ผลิตภัณฑ์สำคัญ ได้แก่ เหล็กแทงปาล์ม มีดกรีดยาง มีดหวดสองคม มีดหวดหญ้า มีดแล่เนื้อ จอบ ขวาน เสียม กรรไกรคีบหมาก มีดอีโต้ มีดอีโต้แก้วหน้าม้า เป็นต้น โดยปกติกำลังการผลิตของวิสาหกิจชุมชนเฉลี่ยต่อวันประมาณ 200 ชิ้น รายได้ของสมาชิกประมาณ 400-500 บาทต่อวัน
ตลาดของมีดพร้านาป้อ
การตลาดของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ใช้วิธีการจำหน่ายโดยตรงด้วยการออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่จัดโดยภาครัฐและภาคเอกชน และส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลางกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เมียนมา และลาว ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเริ่มมีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น อาทิ การสร้างเพจเฟซบุ๊กสำหรับประชาสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้า ที่ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ตรา 55 OTOP จ.ตรัง” ที่จะมีการอัพเดตรูปภาพ ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนสามารถติดต่อซื้อขายกับลูกค้ารายย่อยได้โดยตรงและเป็นหนึ่งช่องทางสร้างการรับรู้สินค้าไปในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ มีการอบรมถ่ายทอดความรู้กรรมวิธี กระบวนการในการผลิต และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่นักเรียน นักศึกษา กลุ่มอาชีพองค์กรต่าง ๆ และบุคคลที่สนใจทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เพื่อรักษาภูมิปัญญาของการตีมีดพร้านาป้อให้คงอยู่และสืบสานด้วยคนในชุมชน
มีดพร้านาป้อ
หมู่บ้านนาป้อเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก เนื่องด้วยการคมนาคมระหว่างบ้านนาป้อกับตัวเมืองไม่สะดวกเท่าที่ควร จึงทำให้บ้านนาป้อมีโอกาสได้รับความเจริญของสังคมเมืองตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ น้อย หากเปรียบเทียบกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่รายรอบตัวเมือง ด้วยเหตุนี้เองทำให้หมู่บ้านนาป้อสามารถรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังคงรักษามรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดไว้เพื่อเป็นอาชีพแก่คนในท้องถิ่น คือ การตีเหล็ก การตีเหล็กของบ้านนาป้อที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ มีดพร้า ซึ่งมีความคม แกร่ง และทนทานถึงขั้นมีคําพังเพยว่า “กินเหมือนพร้านาป้อ” เรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า พร้านาป้อ
การตีเหล็กที่นาป้อมีมานานแล้วประมาณ 300 ปี จากการที่ชาวอินเดียซึ่งอพยพเข้ามาและได้นําวิชาการตีเหล็กมาถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานและคนในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างอาชีพและมีรายได้เป็นอย่างดี ผลงานการตีเหล็กของบ้านนาป้อเป็นที่เลื่องลือไปเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นการสร้างชื่อเสียงและเอกลักษณ์ให้แก่จังหวัดตรังด้วย ในอดีต เมื่อเสร็จจากหน้านา คนนาป้อจะลงมือตีพร้า แทบทุกครัวเรือนมีโรงตีเหล็กเป็นของตัวเอง การตีเหล็กของบ้านนาป้อในอดีตมีการทำมีดพร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันช่างตีเหล็กได้ผลิตงานออกมาหลายรูปแบบตามความต้องการของตลาดทุกขั้นตอน และในการผลิตจะใช้มือเพียงอย่างเดียวไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าเหมือนปัจจุบันนี้
วัสดุและอุปกรณ์ในการตีมีดพร้านาป้อ
- เหล็กแหนบรถยนต์เก่า : หาซื้อจากร้านขายเศษเหล็ก เหล็กแหนบรถยนต์ราคาจะขึ้นอยู่ระดับความหนา เพื่อใช้ทำตัวมีด
- เหล็กเส้นหรือเหล็กวิทยาศาสตร์ : ใช้ทำบ้องหรือด้าม ซื้อได้จากร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป
- ถ่านไม้เคี่ยม : เป็นถ่านที่มีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว ร้อนสม่ำเสมอ แต่มีความแตกต่างจากถ่านไม้ชนิดอื่น ๆ ตรงที่มอดเร็ว และต้องอาศัยพัดลมเป่าเพื่อให้ระอุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ประหยัดถ่านไม้ ไม่ต้องปล่อยให้มอดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
- สูบลม : เดิมเป็นกระบอกสูบทำจากลำต้น (ลำตรง) ของไม้เนื้อแข็งที่แกนในผุ ช่างจะเจาะกลางลำต้นให้กลวง ต่อมาได้เปลี่ยนใช้ไม้แผ่นมาประกบเป็นกระบอกสูบสี่เหลี่ยม ชักสูบด้วยมือ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมอเตอร์หอยโข่ง
- ทั่ง : เป็นเหล็กตันที่ใช้รองเวลาตีเหล็ก ทำมาจากหูเรือยนต์
- คีม : ใช้คีบเหล็กในกระบวนการตีเหล็ก
- ค้อน : เป็นเครื่องมือของช่างใช้ในการตี
- เตาเผา : เดิมก่อด้วยดินผสมแกลบยกสูงขึ้นจากพื้น ในระดับที่พอเหมาะ ปัจจุบันก่อด้วยอิฐ
ขั้นตอนการตีมีดพร้านาป้อ
- ขั้นการตัดเหล็ก : เพื่อให้ได้แผ่นเหล็กตามขนาดที่ต้องการ
- ขั้นการขึ้นรูปหรือการแปรรูป : เพื่อตกแต่งโครงร่างให้เป็นรูปโค้งตามลักษณะของมีดพร้า
- ขั้นการแต่งรูป : ทำให้ได้มีดพร้าที่มีรูปร่าง รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์และสวยงาม
- ขั้นการตีตรา : เป็นการประทับตราหรือยี่ห้อลงบนมีดพร้า
- ขั้นการแต่งผลิตภัณฑ์ : เป็นขั้นตอนสำคัญการทำให้มีดพร้ามีความคมและเรียบสวยงาม
- ขั้นการชุบ : เป็นขั้นตอนที่ทำให้มีดมีความคม ความแกร่ง และความทนทาน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
กรมการปกครอง. สำนักบริหารการทะเบียน. (2565). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้. (2561). มีดพร้านาป้อ. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://clib.psu.ac.th/southerninfo/
ผอบ ชนะวรรณโณ. (2546). วัฒนธรรมการตีเหล็กบ้านนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.
สุภาพร หมุนแก้ว. (2564). วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ตำนานที่ยังคงอยู่ สู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/
Anonymous. (2561). มีดพร้านาป้อ ภูมิปัญญา 300 ปีที่เมืองตรัง : FB/Youtube Thai Touch สัมผัสไทย. สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก http://thaitouchsampasthai.blogspot.com/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 23 กรฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/